Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
คั ด ค้ า น

ศรีสุวรรณ ควรขจร ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
ศรีสุวรรณ ควรขจร
ผู้อำนวยการ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
  • การปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม ไม่ควรมีเป้าหมาย ที่การเพิ่มผลผลิตเพื่อส่งออก แต่ควรเน้นการเกษตร ขนาดย่อม พึ่งตนเอง

  • เงื่อนไขเรื่องการเก็บค่าน้ำ จะทำให้เกษตรกรรายย่อย เสียต้นทุนในการผลิตมากขึ้น บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ และโรงงานอุตสาหกรรม จะแย่งน้ำจากเกษตรกรรายย่อย ได้อย่างชอบธรรม เพราะมีเงินจ่าย

  • การกำหนดเงื่อนไข ให้รัฐลดการสนับสนุนเกษตรกร เช่น เก็บค่าน้ำ เลิกอุดหนุนสินเชื่อราคาถูก เลิกอุดหนุนปัจจัยการผลิต จะทำให้เกษตรกร ถึงขั้นล้มละลายได้

    "เราคัดค้านการกู้เงิน ไม่ใช่เพียงเพราะไม่มั่นใจในการบริหารเงินกู้ หรือกลัวการทุจริต แต่ประเทศไทยมีหนี้อยู่เยอะมาก และเราจะไม่ขัดขวางเลย ถ้ากู้เงินมาเพื่อปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ในทิศทางที่เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นด้วย ประชาชนควบคุมได้ ผลประโยชน์ตกถึงผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ เป็นประโยชน์ต่อคนที่เสียเปรียบในสังคม เช่น เกษตรกรรายย่อยหรือชาวบ้านที่เดือดร้อน จนต้องมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่การกู้เงินครั้งนี้ เป็นความต้องการของเอดีบี, กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งถูกตัดงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก และนักวางแผนพัฒนาประเทศ ที่ต้องการเห็นประเทศไทยส่งสินค้าออกมากขึ้น เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ที่กู้จากต่างประเทศ
    "การปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมตามเงื่อนไขของเอดีบ ีเป็นการปรับ เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถ ในการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น เพราะเป็นทางเดียวในการหาเงินเข้าประเทศ จึงวางแผนทุ่มงบประมาณลงไป ในส่วนที่มีศักยภาพในด้านการส่งออก เช่น พื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบชลประทานอยู่แล้ว แต่เราเห็นว่าแนวทางนี้ไม่ถูกต้อง และเกษตรกรรายย่อย ที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับระบบการผลิต เพื่อส่งออกอาจจะพังตามไปด้วย เพราะว่าตลาดส่งออกนั้น มีความไม่แน่นอนและผันผวนมาก 
    "การปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมในมุมมองของเอ็นจีโอคือ ต้องเลิกเน้นการส่งออก หยุดหรือลดการใช้สารเคมี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในไร่นา เลิกทำการเกษตรแผนใหม่ ซึ่งมีปัญหามากมายจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผูกอยู่กับตลาดโลก ใช้สารเคมีมาก มาเป็นการเกษตรแบบไม่พึ่งตลาดโลก เน้นตลาดภายในและการพึ่งตัวเอง เป็นแหล่งอาหารของประเทศ มีเหลือถึงจะส่งออก ถึงที่สุดแล้ว รูปแบบการผลิตแบบนี้ ก็อาจนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตามที่เอดีบีต้องการได้เหมือนกัน 
    "สำหรับเงื่อนไขที่เอดีบีกำหนดให้เก็บค่าน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรอย่างมากนั้น ตอนแรกกระทรวงเกษตรฯ บอกว่าจะเก็บแน่นอน แต่เมื่อมีการถกเถียงกันมากขึ้น ก็เลยพูดว่าจะไม่เก็บเกษตรกรรายย่อยที่ยากจน ซึ่งเรามองว่าแนวคิดอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ เพราะถึงอย่างไรเกษตรกรก็เสียเปรียบอยู่แล้ว ในโครงสร้างการใช้น้ำที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้เกษตรกรจะได้น้ำมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีน้ำเหลืออยู่ในสองเขื่อน (เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์) เท่าไหร่หลังจากที่ส่งไปให้คนในเมือง และอุตสาหกรรมใช้จนพอแล้ว รวมทั้งเอาไปดันน้ำเค็มด้วย ถ้าเหลือน้อย เกษตรกรก็ได้ใช้น้อย เพราะฉะนั้นถึงไม่เก็บค่าน้ำจากเกษตรกร เขาก็ไม่มีน้ำใช้อยู่ดี และจะยิ่งได้น้อยลงไปอีก เมื่อมีการเก็บค่าน้ำ เพราะรัฐต้องจัดหาน้ำให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรายใหญ ่ซึ่งมีเงินจ่ายค่าน้ำก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอด คือ อุตสาหกรรมเอาไปก่อน เกษตรกรได้ทีหลัง และในอนาคตความต้องการน้ำก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล 
    "กระทรวงเกษตรฯ อ้างว่าการเก็บค่าน้ำ ทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ผมมองว่าปริมาณน้ำ ที่ใช้ในการทำการเกษตรมีปริมาณที่ค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้ว ประหยัดอย่างไรก็คงใช้น้ำน้อยไปกว่านี้ไม่ได้ การเก็บค่าน้ำ จึงไม่น่าจะมีผลทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพขึ้น แต่จะยิ่งทำให้ความต้องการน้ำนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลไปสัญญากับพวกโรงงาน ภัตตาคาร อาบอบนวด โรงแรม ฯลฯ ว่าเมื่อจ่ายค่าน้ำแล้วจะมีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นไม่ว่านักลงทุนจะไปลงทุนที่ไหน ก็ต้องหาน้ำให้พอกับที่เขาต้องการ
    "ถ้าบอกว่าอุตสาหกรรมใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงต้องให้อุตสาหกรรมก่อน แล้วชาวนาจะทำอย่างไร ชาวนาก็คนเหมือนกัน และความต้องการน้ำของเขาก็เป็นความต้องการเพื่อการดำรงชีพและความอยู่รอด ถ้าผมเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศก็ต้องให้เกษตรกรก่อน เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ ถึงจะสร้างผลตอบแทนได้น้อยกว่า แต่เขาจะอยู่รอด ครอบครัวมีกิน ลูก ๆ ได้ไปโรงเรียน ชุมชนมั่นคง ในขณะที่ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมเป็นเพียงความต้องการเชิงพาณิชย์ คือ ยิ่งได้น้ำมาก ยิ่งผลิตได้มาก
    "รัฐบาลคิดเรื่องการเก็บค่าน้ำมานานแล้ว กฎหมายก็ให้อำนาจไว้แล้วแต่ไม่เคยเก็บได้เลย เพราะเกษตรกรไม่ยอมจ่าย นักการเมืองก็ไม่กล้า เพราะว่ากลัวเสียคะแนนเสียง ข้าราชการบางส่วนก็คงเห็นอยู่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะขนาดใช้น้ำฟรีเกษตรกรก็ยังจะไม่รอดอยู่แล้ว มีหนี้สินรุงรัง เพราะการเกษตรนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายอย่าง เช่น ดินฟ้าอากาศ และความผันผวนของตลาดโลก
    "นอกจากนี้ การปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อการเกษตรกรรมยังจะนำไปสู่การผลักดันให้สร้างเขื่อน ฝาย เพิ่มเติม ซึ่งจริง ๆ ก็เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ เพราะทุกคนต้องการน้ำแต่น้ำไม่พอ ยิ่งเมื่อเราจัดการน้ำแบบผู้ใช้ยินดีจ่ายมาใช้ คือมีหลักประกันเรื่องปริมาณน้ำสำหรับผู้ที่จ่ายค่าน้ำ ก็จะนำไปสู่การเพิ่มอุปทาน ทั้งน้ำทั้งไฟ แล้วปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรก็จะรุนแรงขึ้น
    "เงื่อนไขเงินกู้ของเอดีบีระบุว่าต้องศึกษาเรื่องการเก็บค่าน้ำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ พยายามพูดว่าเป็นการศึกษาเฉย ๆ ยังไม่มีการเก็บ หรือเกษตรกรรายย่อยที่ยากจนไม่ต้องจ่าย แต่จริง ๆ แล้วเป็นการศึกษาภายใต้กรอบที่ว่าต้องเก็บแน่นอน ถ้าจะไม่เก็บเกษตรกรรายย่อยจริง ก็ควรเขียนให้ชัดไว้ในแนวนโยบาย (Policy Matrix) เกษตรกรจะได้สบายใจ 
    "เราเสนอให้ยกเลิกหรือระงับการกู้เงินจากเอดีบี ไม่ใช่เพียงเพราะไม่ต้องการให้ประเทศมีหนี้เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าปล่อยให้นำเงินก้อนนี้มาใช้ในการปรับโครงสร้างการเกษตร เพื่อการส่งออก โดยมีเงื่อนไขเรื่องการปรับปรุงระบบการจัดสรรน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยการเก็บค่าน้ำ จะทำให้เกษตรรายย่อยเสียเปรียบมากขึ้น 
    "การกู้เงินและทำตามเงื่อนไขของเอดีบีในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะการจัดทำแผนปรับปรุงโครงสร้างภาคเกษตรกรรม และการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับเอดีบีนั้นเป็นกระบวนการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลยทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการเอาคนทั้งประเทศไปแบกรับภาระหนี้สินในอนาคต เพราะฉะนั้นประชาชนน่าจะได้มีความเห็น มีส่วนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ อย่างน้อยชาวนาที่จะต้องเดือดร้อนจากการเก็บค่าน้ำ ก็ต้องมีสิทธิ์ตัดสินใจว่า การกู้เงินมาเพื่อใช้ในโครงการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่ 
    "ภายใต้เงื่อนไข ๕๐ กว่าข้อ มีหลายเงื่อนไขที่เรารับไม่ได้ เช่น การยกเลิกการอุดหนุนภาคเกษตร ลดการแทรกแซงตลาดผลผลิตและปัจจัยการผลิต เอดีบีบอกว่าถ้ารัฐบาลลดการอุดหนุนเรื่องปุ๋ยลงจะเป็นผลดี เพราะทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีน้อยลง เอดีบีกำลังดื้อดึงและยกเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ ว่าเมื่อรัฐบาลเลิกซื้อปุ๋ยให้เกษตรกร เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยในราคาแพง ก็จะลดการใช้ปุ๋ยลง แต่ความจริงก็คือ เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยไม่ได้ เพราะถ้าไม่ใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงก็ทำการผลิตสู้เขาไม่ได้ คนเหล่านี้ไม่มีทางเลือก ต้องเดินตามแนวทางเดิมต่อไป ทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยว, การใช้ปุ๋ย และกู้เงินจาก ธกส. หรือจากนายทุน ซึ่งเอดีบีก็กำหนดไว้อีกว่าถ้ากู้จากโครงการนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่ากับ ธกส. ซึ่งแพงมาก 
    "เราไม่เห็นด้วยกับหลักการ และเหตุผลของการกู้เงิน และเราก็คัดค้านเงื่อนไขที่ให้แปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือการแปรรูปโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน เพราะในระยะยาวการกระทำเช่นนี้จะมีผลต่อคนจนมากกว่าคนอื่น เราขอให้กลับไปนับหนึ่งใหม่โดยเอาเงื่อนไขเงินกู้ และแผนงานที่รัฐบาลกำลังจะจัดทำมาเปิดเผย แล้วถามความเห็นของประชาชน 
    "รัฐบาลต้องบอกกับเอดีบีว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนคัดค้านการทำตามเงื่อนไขเงินกู้ และต้องการให้มาพูดคุยกันใหม่ว่า การปรับโครงสร้างภาคการเกษตรควรทำอย่างไร ถ้าเอดีบีไม่ยอม เราก็จะได้เห็นธาตุแท้ของเอดีบี ว่ารับใช้ประเทศที่เป็นผู้บริจาครายใหญ่ ของเอดีบีเอง คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาบังคับให้เราทำ ในสิ่งซึ่งแม้แต่ในประเทศของเขาก็ยังไม่ทำ เช่น ญี่ปุ่นกับอเมริกา เป็นประเทศที่อุดหนุนภาคเกษตรสูงที่สุด แล้วคุณมาบังคับให้เราเลิกอุดหนุนภาคเกษตรได้อย่างไร ญี่ปุ่นให้การศึกษาฟรีกับประชาชน แต่มาบังคับให้เราแปรรูปมหาวิทยาลัย แต่ถ้าเอดีบีบอกว่ายินดีให้ประชาชนกับรัฐบาลไทยตกลงกันใหม่ และไม่ว่าผลการตกลงของทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไรเอดีบีก็จะสนับสนุนเต็มที่ ก็แสดงว่าสถาบันแห่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางสร้างสรรค์ แต่ผมคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะขนาดประชาชนตั้งหลายพันคนบุกไปชุมนุมที่เชียงใหม่ (ระหว่างมีการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ ๓๓ วันที่ ๖-๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓) เอดีบียังไม่สนใจเลย ขณะเดียวกันก็จะได้พิสูจน์ว่า รัฐบาลกล้าบอกเอดีบีหรือไม่ ว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลและข้าราชการพยายามบอกว่า เราไม่ได้ตกเป็นทาสเอดีบี ไม่ได้ถูกบังคับ 
    "ผมยังหวังให้เกิดการทบทวนโครงการ โดยกระบวนการทบทวนเป็นประชาธิปไตย เปิดให้คนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง ระงับเงินงวดหลัง ๆ ไว้ก่อน แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วยังต้องกู้ทั้งหมด ผมก็หวังว่าโครงการเงินกู้นี้ จะให้บทเรียนกับคนไทย ที่จะไม่นิ่งดูดายให้รัฐบาลมาทำในสิ่งซึ่งจะสร้างปัญหาเช่นนี้อีก

  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*

 

สนับสนุน หรือ คัดค้าน
เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
โครงการ ขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้าย ของนักลงทุน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สิบปีเขื่อนปากมูล การต่อสู้ของกบฏคนจน | คนไม้ขาว เต่ามะเฟือง | ปลาร้าไร้พรมแดน | หลงทางและปากหนัก | เชิญดอกไม้ "ดอกว่านสี่ทิศ" | โลกสีดำของเหยื่ออุตสาหกรรม | "ดอนหวาย" ตลาดโบราณริมแม่น้ำท่าจีน | จับตาธุรกิจการพนันต่างชาติ และการพนันในประเทศไทย | เฮโลสาระพา | ซองคำถาม

Ten Years' Fighting for the Mun River | Leatherback Turtles Return | Sikkim and Years of Change on the Himalayan Ridges

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail