Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
ส นั บ ส นุ น

อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินกู้ เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร
อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ
รองปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารเงินกู้ เพื่อปรับโครงสร้าง ภาคเกษตร
  • เศรษฐกิจของไทย ฟื้นตัวได้ด้วยภาคเกษตร จึงจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม เพื่อให้มีผลผลิต สำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้น

  • เงื่อนไขของเอดีบี เรื่องการเก็บค่าน้ำ ไม่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เพราะถึงแม้ต้นทุนสูงขึ้น แต่เกษตรกรจะมีน้ำใช้ อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น รายได้ดีขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกษตรกร ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ฟุ่มเฟือย

  • เงื่อนไขของเอดีบี เป็นแนวทางที่รัฐบาล ตั้งใจจะทำอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำตาม

    "เหตุที่กระทรวงเกษตรฯ ขวนขวายหาทางกู้เงินมา ก็เพราะว่าเราถูกปรับลดงบประมาณไป ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท คือ จาก ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท เหลือประมาณ ๖๕,๐๐๐ ล้านบาทหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ทุกฝ่ายเริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจของไทย อยู่รอดได้ด้วยภาคการเกษตร ถ้าคิดจะเร่งฟื้นเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ก็ต้องเร่งที่ภาคเกษตร เราจึงจำเป็นต้องกู้เงิน มาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาคเกษตรกรรม โดยการสร้าง แหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตร และทำให้เกษตรกร เข้าสู่กระบวนการผลิตในเชิงธุรกิจ เพื่อให้มีผลผลิตสำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้น 
    "กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้อยากได้เงินก้อนนี้จนตัวสั่น เราใช้เวลาเจรจาอยู่นาน โดยไม่กลัวว่าจะไม่ได้เงินกู้ มีคนบอกว่า ประเทศเราไม่จำเป็นต้องกู้เงินอีกต่อไปแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ก็รู้สึกว่าขัดสนไม่น้อย ถ้าไม่กู้ การแก้ปัญหาของเกษตรกรก็คงเป็นไปได้ช้า ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวความคิด ที่จะใช้ภาคเกษตรกรรมมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ 
    "ช่วงแรก เอดีบีส่งทีมนักวิชาการมาร่วมวางแนวทาง การปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรมกับ กระทรวงเกษตรฯ จากนั้นจึงกลับไปวิเคราะห์แล้วเสนอเงื่อนไขมาในปลายปี ๒๕๔๑ เช่น ประเทศไทยต้องออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ, ต้องออกโฉนดในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.), ต้องจัดระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ เริ่มเก็บค่าน้ำ, เลิกแทรกแซงตลาดผลผลิต และปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งถึงเอดีบีไม่มายื่นเงื่อนไข เราก็คิดจะทำตามแนวทางนี้อยู่แล้ว 
    "เอดีบีเป็นองค์กรกลางของโลกและภูมิภาค ที่ถือว่าน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก การดูแลทรัพยากรน้ำ จึงถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขหลัก เวลาที่จะปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย มีทรัพยากรน้ำใช้ได้อย่างยั่งยืน เอดีบีบอกว่า ไทยต้องมีนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างเป็นเอกภาพ และมีเงื่อนไขว่ากระทรวงเกษตรฯ ต้องศึกษาแนวทางการคิดเงินคืนทุน (เก็บค่าน้ำ) ซึ่งเราก็ไม่ขัดข้อง เพราะเรามีความพยายามจะทำเช่นนี้มานานแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง คือ รัฐบาลไม่อยากสนับสนุน เพราะกลัวจะเสียคะแนนเสียง และยังมีปัญหาเรื่องระบบการจัดเก็บ จะเก็บอย่างไร คิดราคาต่อไร่หรือวัดจากปริมาตรน้ำ เก็บใครบ้าง มูลค่าเท่าไหร่ เอาเงินไปไหน ฯลฯ เราเพียงแต่มีแนวทางไว้คร่าว ๆ ว่าการเก็บค่าน้ำ ต้องไม่สร้างความเดือดร้อน ให้เกษตรกร และพวกที่ใช้น้ำเยอะ ๆ อย่างสนามกอล์ฟ หรืออุตสาหกรรม ที่ดึงน้ำจากชลประทานไป ก็ต้องจ่ายเช่นกัน นอกจากเก็บเงินแล้ว ยังต้องกำหนดปริมาณน้ำที่ใช้ด้วย ไม่ใช่ดึงไปจนกระทั่ง ภาคการเกษตรไม่มีจะใช้  แต่เอดีบีไม่ได้กำหนดว่า ต้องจัดเก็บให้ได้ภายในเมื่อไหร่ เงื่อนไขเพียงอย่างเดียว คือกระทรวงเกษตรฯ ต้องเริ่มศึกษาว่า จะเก็บอย่างไรเท่านั้น
    "มีคนตีความว่าน้ำมาจากฟ้า เพราะฉะนั้นจะไปเก็บค่าน้ำไม่ได้ แต่ถ้าน้ำนั้นไปตกในเขื่อน หรือในพื้นที่ที่ลงทุนสร้างระบบชลประทานแล้ว รัฐบาลชุดไหน ๆ ก็เห็นว่าต้องเก็บทั้งนั้น นอกจากนี้การเก็บค่าน้ำ ยังทำให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างระมัดระวัง ไม่ฟุ่มเฟือยอีกด้วย 
    "เราไม่ห่วงเรื่องผลกระทบจากการเก็บค่าน้ำ เพราะเชื่อว่าไม่มี เอ็นจีโอมองว่า เกษตรกรจะเดือดร้อนจากการเก็บค่าน้ำ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผมมองว่ามันเป็นการเพิ่มต้นทุนก็จริง แต่เกษตรกรก็จะมีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ในที่สุดต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลง เขาลงทุนเพิ่มแต่ว่าคุ้ม สำหรับเกษตรกร ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ต้องจ่ายค่าน้ำหรือไม่ ขอแค่ให้มีน้ำก็แล้วกัน 
    "ผลกระทบต่อระบบนิเวศก็ไม่มี เพราะการจัดเก็บค่าน้ำ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องสร้างอะไรใหม่ เราเพียงแต่ปรับปรุง ระบบชลประทานที่มีอยู่เดิม ไม่มีการสร้างฝาย เขื่อน หรือโครงการผันน้ำ มีเพียงการขุดคูคลองเพิ่ม เพื่อให้น้ำไปถึง ซึ่งไม่ได้เป็นการทำลายระบบนิเวศแต่อย่างใด 
    "เงื่อนไขของเอดีบีที่มีปัญหามากในขั้นเจรจา นอกจากเรื่องการเก็บค่าน้ำแล้ว ก็มีเรื่องให้รัฐบาลลดการแทรกแซงตลาด และเรื่องอัตราดอกเบี้ย คือเกษตรกรที่กู้เงินจากโครงการนี้ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เท่ากับธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) ที่ตอนนี้อยู่ที่ร้อยละ ๑๑-๑๒ ซึ่งเราจำเป็นต้องยอมรับทั้งที่กังวลอยู่เหมือนกัน เพราะเราอยากให้เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยต่ำที่สุด อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยของเอดีบีพบว่า เกษตรกรไม่ได้มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยแพง แต่มีปัญหาเรื่องไม่มีแหล่งเงินกู้ เกษตรกรที่ไปกู้จากพ่อค้าต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า ธกส. อีกแต่เขาก็ต้องยอมเพราะการกู้เงินจาก ธกส. มีเงื่อนไขมากมาย เอดีบีจึงยื่นเงื่อนไขให้ไทย จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้กู้ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับของ ธกส. แต่ไม่ยุ่งยากเหมือนกู้จาก ธกส. 
    "สำหรับเงื่อนไขให้ลดการแทรกแซงตลาด การซื้อขายผลผลิตและปัจจัยการผลิต เช่น รัฐบาลต้องไม่จ่ายเงินซื้อหอม กระเทียม ข้าว ไม่มีการซื้อปุ๋ยไปแจก หรือขายในราคาถูก เราก็บอกเอดีบีไปว่า ไม่มีรัฐบาลชุดไหน กล้ารับปากว่า จะไม่แทรกแซง เขาก็เลยตกลงว่า ยังไม่ต้องทำทันที แต่กระทรวงเกษตรฯ ต้องสัญญาว่า จะต้องทำการศึกษา เพื่อจัดทำ กระบวนการที่นำไปสู่ การลดการแทรกแซง ถึงแม้จะเลิกไม่ได้ตอนนี้ ก็ขอให้เตรียมการไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ พยายามทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่พอมันกลายเป็น เงื่อนไขของเอดีบี ก็เลยเหมือนกับ เราถูกบังคับ หรือเราไปเป็นทาสเขา 
    "บางคนโจมตีว่าเรากู้เงินมาใช้ในโครงการเก่า ๆ ที่เอามาปัดฝุ่น ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด เงินกู้ ไม่จำเป็นต้องเอาไปใช้กับ โครงการที่คิดขึ้นใหม่เอี่ยมเสมอไป จะหยิบโครงการเก่า ขึ้นมาปัดฝุ่นก็ได้ ถ้าโครงการนั้นมีประโยชน์ 
    "ตอนนี้เราได้เงินมา ๑๕๐ ล้านเหรียญหรือหนึ่งในสี่ของเงินกู้ ผมไม่เห็นด้วย ที่จะให้ยกเลิกเงินกู้ก้อนนี้ ตามที่เอ็นจีโอเสนอ เพราะยังมองไม่เห็น เหตุผลที่ควรยกเลิก ตอนนี้ยังไม่มีใคร สามารถพิสูจน์ได้ว่า มันไม่คุ้ม และถ้ายกเลิก โครงการที่คิดว่า เป็นประโยชน์ก็จะหายไป ความหวังที่จะ พัฒนาภาคเกษตร ก็เกิดขึ้นได้ช้า และการที่ฝ่ายคัดค้าน กลัวว่าจะมีการทุจริตนั้น ก็ไม่ใช่เหตุผล ที่เราต้องยกเลิกเงินกู้ เรามีมาตรการในการป้องกัน ที่ให้ความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า จะไม่มีการทุจริตขั้นรุนแรง อาจมีบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ เพราะคงห้ามกันไม่ได้ตามความเป็นจริง เรามีกระบวนการตรวจสอบ ที่คิดว่าโปร่งใสที่สุด เริ่มตั้งแต่พิจารณาโครงการ มีกรรมการที่เป็น ข้าราชการจาก กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หนี้สาธารณะ บัญชีกลาง เมื่อมีหน่วยงานต่าง ๆ มากขนาดนี้แล้ว ไม่เชื่อใจ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เหตุผลที่ เราไม่ให้เอ็นจีโอมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการตรวจสอบเงินกู้ ก็เพราะมันเป็น ระบบงานของราชการ นักการเมืองเรายังไม่ให้มาเป็น กรรมการเลย เราเสนอให้เอ็นจีโอ ตรวจสอบในระบบของท่าน ช่วยกันดูว่า โครงการที่เลือกเข้ามานั้น เหมาะสมกับ คนในท้องถิ่นหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว ก็ต้องช่วยกัน ตรวจสอบข้าราชการ ถ้าพบว่าทุจริต ก็ฟ้องร้องกัน
    "ผมไม่คิดว่าเอดีบีเป็น "คนบาปในคราบนักบุญ" อย่างที่มีผู้กล่าวหา จริงอยู่ที่ว่ามีบางประเทศ ที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของเอดีบี แต่เขาก็ไม่สามารถมามีอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ ได้ เอดีบีมีนโยบายออกมาอย่างไร แต่ละประเทศก็ต้องดูว่าเอาเอง ว่าส่งผลเสียต่อประเทศตนหรือไม่ และสิ่งที่เอดีบีทำ ก็ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ เพราะถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่เขาทำ มันขัดแย้งกับเรา เราก็อย่ารับเงื่อนไข 
    "ผมยืนยันว่า แผนการใช้เงินกู้นี้ จะเกิดประโยชน์กับภาคเกษตรมหาศาล เกษตรกรได้ประโยชน์แน่นอน เพียงแต่ว่า อาจจะได้ไม่พร้อมกันทุกคน เพราะเรามีเกษตรกรมากถึง ๓-๔ ล้านครัวเรือน เราไม่สามารถทำให้เงินกู้ก้อนนี้ เกิดประโยชน์กับ ทุกครัวเรือนได้ แต่มันจะ สร้างรากฐานการผลิต ที่มั่นคงให้เกษตรกร ช่วงแรก จะมีเกษตรกรได้ประโยชน์ เกือบพันตำบล แล้วก็ค่อย ๆ ขยายไปยังตำบลอื่น ๆ เป็นผลประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เรามั่นใจว่า เงินกู้ก้อนนี้ จะเป็นประโยชน์ แต่จะมีการทุจริตหรือไม่ กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้แต่พยายามดูแลให้ดีที่สุด"

  อ่านคัดค้าน คลิกที่นี้
ศรีสุวรรณ ควรขจร
ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

click hereอ่าน (ฝ่ายคัดค้าน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม *
*

 

สนับสนุน หรือ คัดค้าน
เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
โครงการ ขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้าย ของนักลงทุน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สิบปีเขื่อนปากมูล การต่อสู้ของกบฏคนจน | คนไม้ขาว เต่ามะเฟือง | ปลาร้าไร้พรมแดน | หลงทางและปากหนัก | เชิญดอกไม้ "ดอกว่านสี่ทิศ" | โลกสีดำของเหยื่ออุตสาหกรรม | "ดอนหวาย" ตลาดโบราณริมแม่น้ำท่าจีน | จับตาธุรกิจการพนันต่างชาติ และการพนันในประเทศไทย | เฮโลสาระพา | ซองคำถาม

Ten Years' Fighting for the Mun River | Leatherback Turtles Return | Sikkim and Years of Change on the Himalayan Ridges

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail