นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗
นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ "แมงป่องช้าง สัตว์พิษผู้ลึกลับ"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๗ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ ISSN 0857-1538  
    ชักพระโคกโพธิ์ พุทธประเพณีกลางถิ่นอิสลาม  
  วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เรื่อง / ประเวช ตันตราภิรมย์ ภาพ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ฝนหรือแดดที่กำลังยื้อแย่งกันเป็นเจ้าของเวลายามสาย ไม่อาจขวางกั้นแรงศรัทธาในจิตใจของชาวบ้านทรายขาว พอได้ฤกษ์งามยามมงคล คนทั้งหมู่บ้านก็ร่วมแรงกันลากเรือออกจากวัด ผ่านกลางชุมชน เคลื่อนไปตามทางหลวงท้องถิ่นสายที่ทอดเข้าสู่ตัวอำเภอ
      เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่บ้านทรายขาว
      คนในตลาดลือกันว่าชาวบ้านโคกกอลากเรือพระออกจากวัดมาตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า
      เรือพระของหมู่บ้านกะโผะ เคลื่อนจากวัดมะเดื่อทองช่วงสิบนาฬิกา 
      เรือพระจากวัดนาประดู่ วัดช้างให้ วัดหัวควนธรรมนิคม ก็กำลังมุ่งตามกันมาบนถนนสาย ยะลา-โคกโพธิ์ 
      ส่วนเรือพระจากวัดศรีมหาโพธิ์ และวัดสุนทรวารี จะออกจากวัดตอนหลังเพล ไม่ต้องรีบร้อน เพราะวัดทั้งสองอยู่ห่างจากหน้าอำเภอไม่มาก 
      รายนามที่กล่าวแล้ว เฉพาะในส่วนของ เรือยอด ตามแบบของท้องถิ่นโคกโพธิ์เท่านั้น ยังไม่นับเรือประเภทอื่นอีก ๖๐ กว่าลำ ที่จะมาร่วมชุมนุมในงานชักพระอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
      วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ถนนทุกสายในจังหวัดชายแดนใต้มุ่งสู่โคกโพธิ์

(คลิกดูภาพใหญ่)       กลองตะโพนคู่ ที่ดังกึกก้องอยู่ในหมู่บ้านช่วงหลายวันที่ผ่านมา ถูกพาพ่วงติดมากับเรือพระ มากระหึ่มอยู่กลางลานโล่งหน้าที่ว่าการอำเภอ ประชันกับกลองของหมู่บ้านอื่นซึ่งต่างก็นำมาพร้อมกับเรือพระ ยามเมื่อกลองเป็นร้อย ๆ ใบแข่งกันคำราม ความอึกทึกบนพื้นดินสะท้อนสะเทือนไปถึงท้องฟ้า
      ความสัมพันธ์ระหว่างกลองตะโพนกับเรือพระนั้นเป็นทั้งดนตรีประโคมและเป็นเสียงควบคุม จังหวะการตีมีอยู่ห้าท่วงทำนอง หนึ่งจังหวะสำหรับบรรเลงขณะเรือจอดอยู่กับที่ ส่วนที่เหลือมีไว้รัวกระหน่ำในยามลากเรือเดิน ให้เรือแล่น ฉุดเรือขึ้นจากหล่ม และให้หยุดเรือ !
      ระยะทางราว ๕ กิโลเมตรจากหมู่บ้านทรายขาวถึงตัวอำเภอเป็นทางลาดยาง ทอดออกมาจากตีนเขาสันกาลาคีรีผ่านไปกลางทุ่งราบ จังหวะกลองคุมเรือมาอย่างเรียบเรื่อย ต่างจากเส้นทางไม่กี่ร้อยเมตรจากวัดมะเดื่อทองในหมู่บ้านกะโผะออกมายังถนนใหญ่ ซึ่งขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เสียงกลองตะโพนเร่งรัวให้จังหวะเมื่อต้องฉุดเรือขึ้นจากหล่ม หรือยามลากเรือข้ามเนิน ส่วนเรือพระจากวัดช้างให้แม้ต้องลากมาไกลถึง ๑๕ กิโลเมตร แต่เป็นระยะทางบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๒ ที่ค่อนข้างสะดวกสบาย การต้องเดินทางไกลและคนลากล้วนเป็นคนหนุ่มๆ บางจังหวะเสียงกลองจึงปลุกเร้าให้คน-ลากเรือวิ่ง !!!
      ไม่มีเครื่องยนต์กลไกใดเลย ด้วยแรงแห่งศรัทธาเพียงอย่างเดียวที่ขับเคลื่อนเรือไม้น้ำหนักเป็นตัน เขยื้อนเลื่อนไหลกระทั่งแล่นลิ่วไปบนทางบก ก็สิ่งนี้มันมีอยู่ในตัวคนมาตั้งแต่โลกยังปราศจากไฮเทคโนโลยีโน่นแล้ว
      เล่ากันมาเป็นเชิงพุทธตำนานว่า เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีที่ล่วงแล้ว ในคราวที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา ครั้นสิ้นสมัยพรรษาจึงเสด็จกลับมายังมนุษยโลกในเช้าตรู่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธศาสนิกต่างปีติยินดีพากันไปรอรับเสด็จพร้อมเตรียมภัตตาหารไปถวายกันอย่างล้นหลาม มีคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงพระพุทธองค์ ต้องใช้ใบไม้ห่อภัตตาหารเป็นก้อนเพื่อโยนใส่บาตร 
      พุทธประวัติตอนนี้เป็นที่มาของประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะในประเทศไทย และประเพณีชักพระของภาคใต้ หลักฐานในบันทึกของพระภิกษุชาวจีนชื่ออี้จิง ที่จาริกผ่านคาบสมุทรมลายูไปศึกษาพระศาสนาในประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๑๔-๑๒๓๘ เล่าความหลังของแผ่นดินภาคใต้ว่า อาณาจักรศรีวิชัยในเวลานั้นมีประเพณีชักพระเกิดขึ้นแล้ว 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ส่วนที่โคกโพธิ์นั้น คนท้องถิ่นเล่าต่อกันมาว่า ประเพณีชักพระเริ่มต้นมาจากการทำพนมหาม ออกรับผลไม้มาถวายพระในวันออกพรรษา ต่อมาผลไม้มีจำนวนมากจนเกินหามจึงเปลี่ยนมาใช้การลาก มีการต่อเติมยอดพนม ตกแต่งด้วยดอกไม้ ใบไม้ท้องถิ่น (ใบสิเหรง) แล้วเรียกชื่อเรือที่ลากไปบนพื้นดินนั้นว่า พนมเรือพระ เป็นสัญลักษณ์ในการจำลองเหตุการณ์ วันคืนสู่โลกมนุษย์ของพระพุทธองค์เมื่อครั้งพุทธกาล การห่อภัตตาหารด้วยใบไม้ในพุทธตำนาน กลายมาเป็นขนมต้มสามมุม ที่ชาวใต้เรียกว่า ต้ม ทำด้วยข้าวเหนียวห่อใบกะพ้อ เอามาแขวนข้างลำเรือในวันชักพระ
      คงเป็นความพ้องกาลโดยบังเอิญ ในปีเดียวกับที่มีการอภิวัตน์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงเทพฯ วัดมะเดื่อทอง ในตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ก็ได้มีการปฏิวัติการทำเรือพระ จากวัฒนธรรมใบไม้มาเป็นกระดาษ 
      เริ่มจากการใช้กระดาษสีเดียวติดยอดพนมเรือยกชั้น มาสู่การใช้กระดาษหลากสีฉีกเป็นริ้วติดทับกัน แล้วพัฒนามาสู่การแกะกระหนกลายไทย-สอดสี 
      มาถึงสมัยที่พระครูมานิตสมณคุณ หรือหลวงพ่อศรีพุฒ เป็นเจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง ท่านได้พัฒนารูปแบบเรือพระอีกครั้ง โดยให้ใช้ไม้แกะรูปพญานาค ๒ ตัว ทำเป็นฐานเรือแทนไม้ไผ่ และให้ช่างออกแบบเรือพระใหม่ เป็นเรือยอดทรงสูง มีองค์ประกอบสี่ส่วน 
      แม่เรือเป็นนาคคู่ 
      ใช้ไม้ตะเคียนต้นโค้งขนาด ๘ นิ้วคูณ ๘ นิ้ว ทำเป็นรูปนาคต้นละตัว แกะส่วนโค้งเป็นส่วนหัวนาค ส่วนตรงเป็นลำตัวตั้งพื้น ปลายหางงอนขึ้น ลายของนาคสองตัวจะไม่เหมือนกัน อาจต่างกันที่ปาก หงอน คาง สื่อความหมายทางเพศสภาพของพญานาค แต่บางวัดนาคทั้งสองละม้ายกันมากจนดูไม่แตกต่าง อย่างนั้นให้ถือตามตำแหน่งที่อยู่ นาคตัวผู้อยู่ข้างขวา และนาคตัวเมียอยู่ทางซ้ายของลำเรือ
      ตัวเรือ ใช้ไม้ไผ่สานลายลูกแก้วทั้งสี่ด้าน
      บุษบก หรือห้องพระ เป็นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป หรือที่เรียกกันว่า พระลาก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัด
(คลิกดูภาพใหญ่)       และยอดเรือทรงฉิมพลี ใช้กระดาษเงินกระดาษทองแกะกระหนกลายไทยปิดประดับ
ต่อมาต้นแบบเรือพระทรงฉิมพลีของวัดมะเดื่อทอง แพร่ไปสู่วัดสุนทรวารี วัดโรงวาส วัดมะกรูด วัดปุราณประดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ทุกวัดต่างก็ลากเรือกันอยู่ในบริเวณหมู่บ้านของตัวเอง ด้วยการร่วมแรงของคนภายในชุมชน
      ใช้เชือกหวายเส้นเท่าลำอ้อยคาดท้ายเรือ ขนาบผ่านตัวนาคทั้งสองออกไปทางหัวเรือข้างละเส้น คนลากเรือจับเชือกยืนเรียงแถวไปตามความยาวเชือก จำนวนหนึ่งคอยผลักหัวเรือให้หันไปตามทาง และอีกส่วนหนึ่งแบกไม้ขนาดเล็กกว่าน่อง ยาวกว่าความกว้างเรือเล็กน้อยคนละดุ้น สำหรับวางเป็นไม้หมอนรับเรือ พอเรือเคลื่อนพ้นก็เก็บไปวางดักหน้าอีก ค่อยคืบไปทีละศอกทีละวา เส้นทางลากเรืออาจผ่านไปตามทางเดินในหมู่บ้าน ในทุ่ง ในนา ที่เขลอะหล่มโคลนในช่วงฤดูฝน ระหว่างทางจึงมีการเล่นสาดน้ำสาดโคลนใส่กันไปด้วย เป็นความรื่นรมย์ท่ามกลางไอดินกลิ่นโคลน
      ที่หมายของการลากเรืออาจเป็นจุดหนึ่งจุดใดในหมู่บ้านตามที่ตกลงกัน ถึงที่หมายก็ถวายภัตตาหารเพล แล้วลากเรือกลับวัด ร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูป อาบน้ำชำระดินโคลนออกจากร่างกายของตัวเอง 
      ส่วนจิตใจข้างในนั้นให้ธรรมะช่วยชำระล้าง
      จนถึงปี ๒๔๙๐ เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง หลังจากหลวงพ่อแดง สุนฺทโร เป็นเจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง หลวงพ่อเกิดความคิดว่าหากเรือพระของแต่ละหมู่บ้านได้มาชุมนุมในที่เดียวกัน ก็จะเห็นภาพความสามัคคีของชาวพุทธ และยิ่งกว่านั้นอำเภอโคกโพธิ์จะสามารถเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้ 
      วันชักพระปีนั้น เรือพระของวัดต่างๆ จึงได้มาชุมนุมร่วมกันเป็นครั้งแรก ณ บริเวณพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรสุริยุปราคา ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ๔ ปีต่อมา เลื่อนไปรวมกันที่โรงเรียนบ้านโคกโพธิ์ จนถึงปี ๒๕๐๒ ก็ได้ย้ายจุดชุมนุมเรือพระมายังลานหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ หลังจากทางราชการนมัสการของานชักพระมาเป็นประเพณีประจำอำเภอโคกโพธิ์ 
(คลิกดูภาพใหญ่)       งานชักพระที่มีอำเภอโคกโพธิ์เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ จอดเรือสมโภชกันหลายวันหลายคืน เรือพระถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งในส่วนฐาน จากที่เคยใช้ฝาไม้ไผ่สานลายลูกแก้ว เปลี่ยนมาเป็นโครงไม้เช่นเดียวกับบุษบกและยอดเรือ มีการจัดประกวดแข่งขันการทำเรือยอด มีเรือพระประเภทเรือความคิด และเรือโฟม เข้ามาร่วมด้วย
      เรือความคิด เกิดขึ้นในปี ๒๕๐๔ ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นสื่อถ่ายทอดเรื่องราวในพุทธประวัติหรือชาดก ๑๐ ชาติของพุทธองค์ ความวิจิตรในเชิงช่างไม่ละเอียดลออเท่าเรือยอด 
      ส่วน เรือโฟม เป็นรูปแบบการทำเรือพระของชาวสงขลา เป็นเรือจากนอกพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ มีเข้ามาร่วมงานชักพระโคกโพธิ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๒ จนบัดนี้ก็ยังคงมีมาทุกปี ปีละไม่มากลำ
      ผ่านมาถึงวันนี้ ประเพณีชักพระโคกโพธิ์กลายเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดปัตตานี เป็นงานที่คนในจังหวัดและพื้นที่โดยรอบรอคอย ลูกหลานคนโคกโพธิ์ไปอยู่ไหนไกลถิ่นจะพากันกลับมาเยี่ยมบ้านในเทศกาลนี้ บรรยากาศของความสนุกสนานและคลื่นขบวนของศรัทธาชนที่หลั่งไหลกันมาร่วมชุมนุม เป็นภาพตราตรึงซึ่งคนที่เคยได้มาเที่ยวงานไม่มีวันลบลืม
      สมัยที่บ้านเมืองยังไม่ร่ำรวยงานรื่นเริงเช่นทุกวันนี้ คนใต้เขาถึงพูดว่า "สนุกเหมือนงานชักพระ" เมื่อต้องการบอกเล่าถึงความสนุกล้นเกินคำบรรยาย
      อันหนึ่งที่ควรต้องกล่าวด้วย ปัจจุบันงานชักพระโคกโพธิ์ ถือเป็นพุทธประเพณีเพียงหนึ่งเดียวที่ยังยืนยงอยู่ได้ กลางดินแดนของอิสลามมิกชน
      เช่นนี้แล้ว คนแห่งคำถามย่อมเกิดความสงสัย--เบื้องหลังความสนุกสนาน และสีสันอันตระการตานั้น มีปัจจัยเงื่อนไขใดค้ำชูอยู่บ้าง เรือพระที่อำเภอโคกโพธิ์จึงแล่นข้ามกาลเวลามาได้เป็นร้อยๆ ปี?
      ใต้แผ่นทองคำเปลวที่ปิดอยู่บนองค์พระลาก คงมีคำตอบให้ค้นหา

(คลิกดูภาพใหญ่)       หลังเข้าพรรษา วัดต่างๆ จะเริ่มหุ้มกลองตะโพนกันแล้ว ต้องตระเตรียมล่วงหน้าก่อนถึงวันงานค่อนข้างนาน เพราะการทำมีรายละเอียดที่ต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ไม้ที่เอามาทำ "หน่วยโพน" (ตัวตะโพน) ต้องเป็นไม้แข็งเนื้อเหนียว จำพวกไม้ขนุน ไม้พะยอม ผู้เฒ่าบางคนบอกว่าหนังกลองที่ดีควรเป็นหนังวัวหรือควาย ถ้าได้หนังลูกวัวตายในท้องก็จะดี เอามาแช่น้ำข่า รากช้าพลู หมักไว้สัก ๒ วัน ให้หนังอยู่ตัวแล้วค่อยขูดขนออก เอามาหุ้มโพนจะให้เสียงก้องกังวานดีที่สุด เวลาไปตีแข่งกับเขาในวันงานก็ไม่อายกลองตะโพนของวัดอื่น
      ครั้นถึงวันงานบุญเดือนสิบ (งานบุญระลึกถึงบรรพบุรุษของชาวปักษ์ใต้) เจ้าอาวาสของวัดแต่ละแห่งมักใช้โอกาสนั้นหารือกับทายกทายิกาเรื่องงานชักพระ ถ้าคนในชุมชนเห็นร่วมด้วย การทำบุญระดมทุนทำเรือพระจะเกิดขึ้นในวันนั้น
      หลายปีมานี้การทำเรือพระที่โคกโพธิ์คึกคักขึ้นมาก คนในหมู่บ้านกระตือรือร้นที่จะมีเรือของหมู่บ้านออกไปร่วมเทศกาล มีการช่วงชิงซื้อตัวช่างฝีมือดีมาทำงาน แต่ช่างส่วนมากมักเลือกที่จะร่วมงานกับวัดที่ตนผูกพันมากกว่าเห็นแก่สินจ้าง
      ฤดูกาลทำเรือพระปี ๒๕๔๖ ช่างมือเอกอย่าง วิเชียร เภามี จึงยังอยู่กับวัดโคกกอ ตำบลโคกกอ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ฝีมือการทำเรือของเขาไม่ธรรมดา เรือยอดจากวัดโคกกอถึงได้รางวัลชนะเลิศ ๑๓ ปีติดต่อกันมาแล้ว
      เช่นเดียวกับ ช่างเจริญ อินทร์วรณะ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับช่างวิเชียร เขาทั้งสองเป็นคนบ้านโคกกอด้วยกัน แต่เพราะความนับถือและความสนิทสนมที่มีต่อพระครูไพศาลธรรมสุนทร (หลวงพ่อม็อง) เจ้าอาวาสวัดสุนทรวารี ตำบลบางโกระ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เจริญจึงยอมมาเป็นช่างทำเรือให้แก่ชาวบางโกระ
(คลิกดูภาพใหญ่)       ส่วน แคล้ว มณีพรหม ช่างอาวุโสของอำเภอโคกโพธิ์ วัย ๗๕ ปี ช่างเรือประจำวัดมะเดื่อทอง ตำบลกะโผะ อำเภอโคกโพธิ์ ถูกขอให้ทำเรือพระแบบเก่าเพื่อการสาธิตให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก เรือของวัดมะเดื่อทองในปีนี้จึงเป็นเรือพระลำเดียวที่ยังรักษารูปแบบดั้งเดิม (ฐานเป็นฝาไม้ไผ่สานลายลูกแก้ว) เป็นเรือกิตติมศักดิ์ของงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกวด แต่อีกฐานะหนึ่งช่างแคล้วยังมาเป็นที่ปรึกษาให้แก่สองศิษย์เอก อนันต์ ปานทน กับ สุพิศ แว่นแก้ว ช่างเรือของวัดศรีมหาโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากถนนกับที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์
      วัดทรายขาวซึ่งเพิ่งเริ่มทำเรือยอดมาเพียง ๕ ปี ได้ช่างมือใหม่แต่ตั้งใจจริงอย่าง นายดาบพิน แก้วทองคง มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เขาใช้เวลานอกราชการอุทิศให้แก่งานศิลป์แห่งพุทธศาสนา ช่างพินบอกว่าการที่ข้าราชการอย่างเขามาทำงานอย่างนี้มีทั้งคนที่เห็นใจและไม่เข้าใจ บางคนคิดว่าเขามารับจ้างทำหารายได้ ผู้บังคับบัญชาบางคนก็ไม่พอใจ ทั้งที่เขาไม่เคยเอาเวลาราชการไปทำเรือ แต่เขารู้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นมาแล้วไม่นานก็จากไป ต่างกับเขาที่ต้องอยู่ที่นี่ตลอดไป เขาต้องทำงานให้บ้านเกิด ก่อนหน้านี้อาจเพราะตำแหน่งหน้าที่ทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยอยากจะคุยด้วย หลังจากมาเป็นช่างเรือคนในหมู่บ้านรักเขา เด็กๆ กล้าเข้ามาเล่นด้วย เขาภูมิใจที่การทำเรือช่วยหลอมรวมความเหนียวแน่นของคนในหมู่บ้าน ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้สืบสานงานช่าง และได้งานมวลชนสัมพันธ์โดยไม่ต้องพึ่งทฤษฎีที่ซับซ้อนอันใดเลย
      มนูศักดิ์ ทองมา คนหนุ่มวัย ๓๓ ปี ช่างรุ่นใหม่แห่งวัดหัวควนธรรมนิคม ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ ก่อนจะมาทำเรือยอด เขาทำเรือประเภทความคิดเข้าร่วมงานชักพระโคกโพธิ์ หลายปีติดต่อกันมาแล้ว หลังเข้าร่วมอบรมช่างเรือยอดที่วัดสุนทรวารี เมื่อปี ๒๕๔๑ ความคิดที่จะทำเรือยอดก็คุกรุ่นอยู่ในใจตลอดมา กระทั่งคืนหนึ่งในงานชักพระโคกโพธิ์เมื่อปี ๒๕๔๔ ช่างเรือชื่อ จอน หนูผล เอาเหล็กขุด (เครื่องมือแกะลายกระหนก) มายัดใส่มือเขา "เอ็งทำเรือยอดเสียทีเถอะวะ" ช่างเรือเฒ่ารบเร้า หลังวันงานผ่านพ้นเขาขับรถไปยังหมู่บ้านโคกกอ พร้อมกับโครงร่างเรือยอดที่เขียนลงในกระดาษไข เอาไปให้ช่างเจริญดู และขอแบบลายกระหนกจากครู แล้วกลับมาลงมือทำเรือยอดทันที ข้ามขวบปีมาถึงเดือน ๑๑ ปีต่อมา เขาก็ได้เรือยอดลำหนึ่งมาร่วมงานชักพระที่หน้าอำเภอโคกโพธิ์
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความงามอย่างสมบูรณ์แบบของเรือยอด เริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างอย่างได้สัดส่วน จากฐานไล่ขึ้นไปถึงยอดสุด
      "โครงเรือต้องเข้ามุม และต้องได้สัดส่วน เรือยอดจึงจะออกมาสวย" ช่างเจริญว่าถึงพื้นฐานเบื้องแรกของการทำเรือ และต่อมา "กระหนกลายไทยที่นำมาปิดต้องวาดและแกะอย่างประณีต การสอดสีต้องรู้จักเลือกใช้กระดาษที่ทำให้ลายกระหนกเกิดมิติ และรู้จักเลือกใช้กระดาษสีที่ดูเด่นทั้งในแสงแดดและแสงไฟกลางคืน และที่สำคัญลายจะต้องอยู่ถูกที่ถูกทาง"
      ว่าแล้วก็นำเข้าไปใกล้ลำเรือ ชี้ให้ดูแต่ละส่วนตั้งแต่ฐานล่างขึ้นมา
      "ฐานใหญ่ ใช้ลายกระหนกก้านขดหางหงส์ เป็นชั้นที่รับน้ำหนักมากต้องให้ดูหนักแน่น ชั้นที่ ๒ เรียกว่าฐานนรสิงห์ มีลายเฉพาะเรียกว่าลายนรสิงห์ ถัดขึ้นไปเป็นหน้ากระดานลายก้ามปูลูกฟัก 
      "บัวคว่ำ ใช้ลายกระหนกหางนกยูง ถัดจากบัวเป็น ร่องน้ำ ใช้ลายดอกพิกุลหรือลายตาข้าวพอง ถัดขึ้นไปที่เป็นสันสามเหลี่ยมนั่นเรียกว่า อกไก่ ต้องใช้ลายกระหนกสามเหลี่ยมให้เข้ารูปกับโครง ผมใช้ลายใบไม้เรียง ถัดจากอกไก่ขึ้นไป ร่องน้ำ บัวหงาย และหน้ากระดาน ลายเดิม 
      "ส่วนต่อจากนั้น คือการทำซ้ำจากร่องน้ำถึงหน้ากระดานอีกชุดหนึ่ง แต่ย่อมุมให้เล็กลง วางต่อข้างบนอีกชั้นโดยมีทับทรวงลายกล้วยเชิงเป็นตัวเชื่อม"
      "ทั้งหมดนี้เรียกว่าส่วนฐานใช่ไหมครับ"
      "ใช่"
      "ขอบคุณครับ เชิญลุงนำดูต่อเลย"
(คลิกดูภาพใหญ่)       "หน้ากระดานตัวบนสุดของฐานเป็นรูปหน้าสิงห์ ถัดจากนี้ขึ้นไปจะไม่มีลายนี้อีกแล้ว เพราะมันเป็นสัตว์ จะอยู่สูงกว่าพระไม่ได้" 
      น้ำเสียงเนิบนาบสะท้อนบุคลิกเยือกเย็นของผู้พูด บนใบหน้ามีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา
      "ส่วนห้องพระที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่นเป็นซุ้มประตู หรือม่านแกวก"
      "คำว่า แกวก หมายถึง แหวก ในภาษากลางหรือเปล่าครับ"
      "ใช่ ดูรูปของมันสิ คล้ายกับผ้าม่านแหวกออกให้เห็นพระพุทธรูปที่อยู่ภายใน กระหนกลายไทยในส่วนนี้ใช้ลายกาบไผ่หุ้มเสา บัวรับหัวเสาลายกาบขนุน ส่วนล่างลายก้านส่งดอก ส่วนกรอบม่านแกวกเป็นลายขดสิงห์คาบดอก" ทุกคำพูดของแกหล่นออกมาจากรอยยิ้ม 
      "แล้วลายของส่วนยอดล่ะครับ"
      "เป็นส่วนที่สี่หรือส่วนบนสุดของเรือ มีรายละเอียดยิบย่อยมาก ไล่ดูจากล่างขึ้นไป ได้แก่ ระย้าใต้หลังคา หน้ากระดานลายก้ามปูลูกฟักสองชั้น และมีกระจังตาอ้อยปักอยู่ตามแนวหลังคา ต่อไปมองขึ้นไปบนหลังคา--ลายกระหนกบนนั้นลอกแบบมาจากลายของกระเบื้องดิน มีจับมุมบังมุมลายกระหนกสามตัว และรางมุม (รอยต่อระหว่างหลังคาแต่ละด้าน) ลายครีบนาค ดาดฟ้าลายรดน้ำ หน้ากระดานลายก้ามปูลูกฟักสองชั้น มีกระจังตาอ้อยและกระหนกจับมุมลายหางนาค ถัดขึ้นไปเป็นทับทรวงลายรดน้ำ ร่องน้ำลายร้อยรัก มดตามกันหรือปลาตามกัน ตามแต่จะเรียก อกไก่ลายใบไม้เรียง บัวหงายและหน้ากระดานลายเดิม กระจังลายตาอ้อย แม่เฌอ ที่รับดอกลูกล้อม ๘ ยอด ระหว่างยอดมีจั่วอยู่กลาง ๒ จั่ว หลังจั่วเป็นทับทรวงลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และก้านส่งดอก ฐานรับยอดเอกเรียกว่าระฆังหงายมีจั่วข้างละหนึ่ง ปากระฆังเป็นหน้ากระดานลายลูกฟัก กระจังตาอ้อยปักบนลายลูกฟัก ทับทรวงของยอดเอกลายกาบขนุน ใช้ทับทรวงสี่ชั้นคั่นด้วยอกไก่สามตัว"
      "ลวดลายทั้งหลายที่เอามาใช้ ลุงได้จากไหนครับ"
(คลิกดูภาพใหญ่)       "คนเราต่างเดินตามรอยเท้าช้างมาทั้งหมด" ช่างเจริญตอบเป็นปริศนาธรรม ก่อนจะขยายความต่อว่า ช้างที่เดินไปก่อนนั้นหมายถึงบรรพบุรุษของเรา เขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ฝากรูปรอยไว้ตามแผ่นผา ผนังถ้ำ บนแผ่นหิน แผ่นปูน เราต้องถอดออกมาให้ได้ เอามาทำสืบต่อ ประยุกต์ พัฒนา และถ่ายทอดให้ลูกหลานรุ่นหลัง ไม่ทำอย่างนั้นเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นก็สูญหายหมด ในชีวิตเขาเคยเป็นครูให้แก่ช่างวัดต่างๆ มาแล้ว ๑๒ แห่ง เวลานี้ศิษย์คนหนึ่งของเขาก็ทำอยู่ที่วัดหัวควนธรรมนิคม
      ที่วัดหัวควนธรรมนิคม เรือยอดลำที่ ๒ ในชีวิตของช่างหนุ่มนามมนูศักดิ์วางโครงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว เหลือแต่การประดับตกแต่ง เรามาทันเห็นการทำงานของเขากับพระสงฆ์วัดหัวควน สามสี่รูปที่มาช่วยเป็นลูกมือ
      มนูศักดิ์วาดลายลงบนกระดาษขาว นำมาวางทับบนกระดาษทองที่ซ้อนกันอยู่ ๑๕-๓๐ ชั้น แล้วใช้เหล็กขุดแกะลายตามเส้นร่าง เสร็จแล้วก็ใช้กระดาษสี สอดสลับสองสี สามสี หรือมากกว่า ทากาวด้านหลังปิดตามตำแหน่งที่ลายนั้นๆ ควรอยู่
      "แล้วนั่น...ใช้กับส่วนไหนครับ" สายตาซอกแซกเหลียวไปเห็นพวงดอกไม้ประดิษฐ์ช่อใหญ่ วางอยู่ในมุมค่อนข้างมิดชิด
      "เขาเรียกดอกท้าน เอาไว้ประดับเรือ" มนูศักดิ์ไปหยิบมาดอกหนึ่ง ขนาดของมันเท่าดอกบัวหลวง กลีบดอกทำจากกระดาษทองอังกฤษ แผ่นบาง สีสันแวววาว ก้านดอกเป็นลวดขดสปริง
      "ทำไมถึงเรียกดอกท้าน"
      "ท้าน ภาษาใต้แปลว่า สั่น ไหว ถ้าในภาษากลางน่าจะเรียกว่า ดอกไม้ไหว เวลาปักอยู่บนลำเรือมันจะเต้นไหวตามแรงสะเทือน" เขายื่นมาให้จับ กลีบดอกท้านแข็งกรอบแกรบเหมือนทำจากแผ่นโลหะ แต่เมื่อถือที่โคนก้านดอกท้านกลับสั่นไหว
      มันเป็นเพียงไม้ประดิษฐ์ดอกหนึ่ง แต่โดยสารัตถะแล้วดอกท้านมีบางด้านพ้องพานกับหลายชีวิต 
      ดูแข็งแกร่งแต่อ่อนไหว

(คลิกดูภาพใหญ่)       คืนขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ 
      พุทธศาสนิกชนแถบริมเทือกเขาสันกาลาคีรี จะไปชุมนุมกันที่วัดของหมู่บ้าน
      เรือพระต้องเสร็จสมบูรณ์ในคืนนี้
      วัดทุกแห่งเต็มแน่นด้วยคนในชุมชน หลายคนอยู่ยาวเป็นกำลังหลักในการทำเรือมาหลายวันแล้ว เหนื่อยนักก็ขอปลีกตัวไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วกลับมาใหม่ บางคนมาพร้อมกับข้าวปลาอาหาร เอามาเลี้ยงคนทำเรือกินกันอิ่มหนำ ความจริงภาพนี้มีต่อเนื่องหลายวันติดต่อกันมาแล้ว แต่คืนนี้ดูจะคึกคักมากกว่าคืนอื่น
      หลังไหว้พระเวียนเทียนคืนวันออกพรรษา ทุกคนมาช่วยกันทำเรือ วาดแบบ แกะกระหนก สอดสี ทากาว ปิดลำเรือ ประดับตกแต่ง ฯลฯ ร่วมแรงแข็งขันกันคนละไม้ละมือเหมือนผึ้งงานช่วยกันสร้างรัง 
      กล่าวกันตามความจริง หากจะนำเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาใช้ งานที่ซับซ้อนด้วยรายละเอียดก็คงจะง่ายและเสร็จเร็วขึ้นมาก แต่ไม่มีใครคิดจะทำอย่างนั้น
      เพราะโดยแท้จริง เป้าหมายของการทำเรือพระไม่ได้อยู่ที่ลำเรือ หากอยู่ในโมงยามของการทำงาน ซึ่งคนในชุมชนได้มาใช้ชีวิตรวมหมู่ด้วยกัน งานทำเรือเป็นเงื่อนไขให้คนได้มาพบปะ ความสามัคคีระหว่างพี่น้องร่วมหมู่บ้าน ความสัมพันธ์เกื้อกูลระหว่างบ้านกับวัด การถ่ายทอดข้อคิดวิชาความรู้จากคนเฒ่าสู่ลูกหลาน รวมทั้งการปลูกฝังศรัทธาในเรื่องคุณงามความดี เกิดขึ้นและงอกงามในโมงยามเหล่านั้น
      ศรัทธาสามัคคีเป็นพลังที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่นักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของโลกบางคน เชื่อว่ามันสามารถเขยื้อนขุนเขาข้ามมหาสมุทร

(คลิกดูภาพใหญ่)       ช่างแต่ละคนตาแดงก่ำ ผมยุ่งเป็นกระเซิง แต่ไร้แววความอิดโรยทั้งที่ไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน
      เรือพระของวัดศรีมหาโพธิ์ เสร็จสมบูรณ์ช่วงตีสี่กว่าๆ ครั้นได้ฤกษ์ลากเรือออกจากโรงตอนตี ๕.๕๙ เขาก็ใช้กำลังคนที่มีอยู่ ๑๐ กว่าคน ลากเรือเอาฤกษ์ชัยออกไปจอดใต้ร่มโพธิ์ หน้ารูปปั้นหลวงพ่อแดง
      "ให้หลวงพ่อแดงได้เห็นเรือของเราด้วย" ช่างแคล้วพูดเสียงดัง ทุกคนได้ยิน และรูปปั้นหลวงพ่อก็คงได้ยิน
      ออกมาอยู่ในที่โล่งแล้ว คนทยอยมาวัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยเพ่งพินิจหาจุดบกพร่องเพื่อที่จะได้รีบแก้ไขกันเสีย ไม่ให้หลุดรอดไปถึงสายตาคนนอก
      หลังทำบุญตักบาตรเช้า ช่างเรืออาวุโสขึ้นไปโบสถ์ อาราธนาพระลากมาประดิษฐานบนเรือ
      เป็นพิธีการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฤกษ์ยามด้วยเหมือนกัน
      "ต้องจุดเทียนส่องดูหน้าพระลากก่อน ถ้าหน้าพระดูขรึมยังยกมาไม่ได้ ต้องคอยจนกว่าจะเห็นยิ้มอิ่มเอิบจึงปลงลงมา โดยฆ้องตีประโคมมาด้วย" ช่างอาวุโสเล่าเคล็ดความเชื่อ
      "เมื่อมาประดิษฐานบนเรือ ต้องวางองค์พระให้พอดี หน้าพระต้องพอดีกับหัวเชือก ถ้าตั้งไม่ถูกเรือไม่เดิน หน้าพระก้มต่ำเกินเรือจะลากไม่แล่น แต่ถ้าเงยมากไปเรือจะเร็วจนแล่นทับคน"
      เรือพระแล่นเร็วจนทับคน !
      ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่เป็นเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว
      ครั้งแรกเกิดกับหลวงพ่อแดง พระสงฆ์ผู้เป็นตำนานแห่งวัดศรีมหาโพธิ์ คราวนั้นท่านเดินอยู่ในขบวนด้วย แล้วพลาดล้มลงโดนเรือแล่นทับ กดร่างหลวงพ่อจมโคลน ท่านบาดเจ็บไม่มาก ครั้งต่อมาเกิดกับชายชื่อพร้อม ปานพิมพเสร ชาวบ้านบางโกระ ชายเคราะห์ร้ายโดนเรือทับบนถนน เขาเสียชีวิตคาที่ 
      เพื่อนบ้านยังคงลากเรือต่อไปจนถึงจุดชุมนุม และพวกเขาคงรู้ว่าในเวลาเดียวกันนั้น วิญญาณดวงหนึ่งของคนบุญก็ได้เดินทางเข้าสู่สรวงสวรรค์
(คลิกดูภาพใหญ่)       ชาวบ้านจึงค่อนข้างเคร่งครัดกับการถือฤกษ์ชัย ออกเรือในยามมงคลจะช่วยให้คนลากแคล้วคลาดจากภัยอันตราย และก่อนลากเรือจะต้องไหว้ครูเสียก่อน
      เครื่องบูชาในพิธีไหว้ครู ประกอบด้วยข้าว ๑๒ ที่ หมากพลู ธูปเทียน เหล้าขาว และขันน้ำมนต์ ถูกเตรียมพร้อมสรรพ วางอยู่บนแคร่ในโรงเรือของวัดศรีมหาโพธิ์ ช่างแคล้วเรียกเหล่าลูกศิษย์และชาวบ้านที่มารอลากเรือเข้ามาพร้อมหน้ากัน แล้วแกก็เริ่มพิธีสวดมนต์ เชื้อเชิญครูบาอาจารย์รับเครื่องเซ่นไหว้ กรวดน้ำ เสร็จพิธีแล้วศิษย์ก้มลงกราบครู ปู่แคล้วใช้น้ำมนต์พรมให้ทั่วทุกคน 
      "ได้ครอบครูแล้ว เวลาทำงานตาจะเห็นลายลอยมาไม่ขาดสายเหมือนในจอหนังฉาย" ปู่แคล้วว่าถึงความสว่างไสวในดวงตาช่างที่ได้ผ่านการครอบครู และว่า "ทำงานอะไรต้องนึกถึงครู งานจะคล่อง อุปสรรคจะคลี่คลาย"
      จวนได้เวลาลากเรือของวัดสุนทรวารี พ่อเฒ่าแดง จันทร์สว่าง ผู้อาวุโสของหมู่บ้านบางโกระ ร้องขอ "ต้ม" จากปากนาคสองห่อ
      เด็กหนุ่มหยิบมายื่นให้ พ่อเฒ่านั่งลงหลังหน่วยโพน แกะห่อใบกะพ้อออก ใช้ก้อนข้าวเหนียวขีดรูปยันต์บนหน้ากลองทีละลูก ลูบลงโอบตัวโพนไว้ในอ้อมแขนแล้วเป่ามนต์ซ้ำบนรอยยันต์ เสร็จแล้วหันมาเรียกหาไม้ตี ใครคนหนึ่งส่งให้ ชายชราอายุเฉียดร้อยหวดไม้ลงบนหน้ากลองสุดแรง เสียงกลองของผู้เฒ่าก้องสะท้อนไปทั้งหมู่บ้าน
      "พ่อเฒ่าแกทำอะไร?" เด็กรุ่นใหม่ในหมู่บ้านถามพ่อของเขา
      "ลงยันต์กลอง" 
      "ทำทำไม"
      "ให้เสียงมันเข้าหูคน ใครได้ยินคนนั้นก็ชอบ"

(คลิกดูภาพใหญ่)       ฝนหรือแดด ที่กำลังยื้อแย่งกันเป็นเจ้าของเวลากลางวัน ไม่อาจขวางกั้นศรัทธาในจิตใจพุทธศาสนิกชนชาวโคกโพธิ์ พอได้ฤกษ์งามยามมงคล ผู้คนแต่ละหมู่บ้านก็ลากเรือของพวกเขาออกจากวัด มุ่งสู่ลานหน้าที่ว่าการอำเภอ ตีกลองตะโพนประโคมและโห่ร้องกันไปตลอดทางอย่างครึกครื้น เรือพระผ่านมาหน้าบ้านใคร คนบ้านนั้นก็จะออกมาช่วยลาก คนในขบวนแห่จะมีทั้งคนหนุ่มสาว หญิงชายวัยฉกรรจ์ ผู้เฒ่าผู้แก่หลังงองุ้ม เด็กเพิ่งรู้วิ่ง รวมทั้งเด็กน้อยที่ยังแนบอยู่กับอกแม่ ทุกคนแต่งกายสวยงาม ใครมีเสื้อผ้าใหม่ เครื่องประดับ ก็เอาออกมาแต่งกันเต็มตัว ยิ่งผ่านทางมาไกล จำนวนคนลากเรือแต่ละลำก็เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยๆ คน จนบางทีเชือกสองเส้นความยาวหลายสิบเมตรไม่เหลือที่จับ ต้องใช้วิธีเกาะแขนเกาะไหล่กันไป
      ในช่วงเทศกาลวันงานชักพระ อำเภอเล็กๆ ริมเทือกเขาห่างไกล รื่นรมย์และสว่างไสวคล้ายกับว่าตัวอำเภอได้กลายเป็นสวนสนุกไปชั่วคราว ทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๒ ช่วงผ่านกลางตลาดถูกปิดการจราจรเสียครึ่งซีก เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ร้านขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) หน้าโรงเรียนบ้านโคกโพธิ์เป็นส่วนของสวนสนุกกลางแจ้ง จำพวกชิงช้า ม้าหมุน ฯลฯ ถัดมาเป็นส่วนของร้านค้าเคลื่อนที่ มีตั้งแต่สินค้าทำมือเรื่อยไปจนถึงสินค้าราคาถูกจากโรงงาน ถัดมาอีกเป็นส่วนของโรงมหรสพ โนรา หนังตะลุง หนังฉาย (ภาพยนตร์) ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงลานโล่งกว้างหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เป็นที่สำหรับจอดเรือพระ หัวใจของงานชักพระโคกโพธิ์
      "เราจัดให้เรือพระอยู่โดดเด่นที่สุด" นายอำเภอโยธิน บัวทอง โต้โผงานชักพระโคกโพธิ์ยืนยัน "เพราะนี่เป็นงานชักพระ ต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับเรือพระ" 
      ตะวันเพิ่งพลบ พระจันทร์คืนแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ยังไม่โผล่จากขอบฟ้า แต่ลานหน้าอำเภอโคกโพธิ์สว่างไสวโดยไม่ต้องพึ่งแสงจันทร์หรือแสงดาว เรือยอดประดับดวงไฟตลอดทั้งลำ สีสันของลายกระหนกเปล่งประกายระยับเด่นทาบฟ้าสีเข้มของยามพลบ ดูคล้ายเวียงวังของทวยเทวาในเทวโลก 
      ความรู้สึกของผู้คนที่คลาคล่ำอยู่รายรอบก็คงไม่ต่างกับการได้มาเดินอยู่ในสรวงสวรรค์ และดวงหน้าที่แช่มชื่นอิ่มเอิบก็บอกความตามนั้น 
      คนมาเที่ยวงานชักพระโคกโพธิ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชาวพุทธเท่านั้น สังเกตจากเครื่องแต่งกายก็รู้ว่าผู้คนจำนวนหนึ่งเป็นชาวมุสลิม 
      เทศกาลของความสนุกและความดีงาม ไม่มีแบ่งแยก เรา-เขา
      แต่เบื้องหลังสีสันของความสนุกสนานเบิกบานใจก็มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ด้วยเหมือนกัน
      โดยสัดส่วนประชากรอำเภอโคกโพธิ์มีคนพุทธอยู่ไม่ถึงครึ่ง และโดยภูมิศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีถือเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม ว่าไปแล้วคนพุทธในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจะเจาะจงเฉพาะที่โคกโพธิ์ก็ตาม ต้องถือว่าเขาเป็นชนส่วนน้อย
(คลิกดูภาพใหญ่)       ความพยายามในการดิ้นรนเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนจึงมีอยู่เป็นธรรมดา
      "ไม่เคยมีความแตกแยกระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิม เขาอยู่กันอย่างกลมกลืนมาแต่ครั้งอดีต ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามโอกาส ที่นี่คนต่างศาสนาอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันอย่างปรองดองครับ" สภาพการณ์ในท้องถิ่นรายงานจากปากคำของนายอำเภอโยธิน บัวทอง พ่อเมืองโคกโพธิ์
      "ทุกวันนี้ประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีมีแต่ของมุสลิม งานชักพระโคกโพธิ์เป็นประเพณีพุทธเพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ ชาวพุทธถือเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ถ้าเรามัวคิดแก่งแย่งแข่งขันกันแต่เรื่องประกวดเรือ ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ประเพณีชักพระจะล่มสลาย ต่อไปก็จะมีแต่ประเพณีมุสลิม" ชาวบ้านโคกโพธิ์พูดกันทำนองนั้น
      ประสบการณ์ ๑๒ ปีที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นในอำเภอโคกโพธิ์ ศศิธร สุวรรณมณี สรุปภาพรวมว่า ในสายตาของเธอ การจัดงานเชิงประเพณีวัฒนธรรมของทั้งสองกลุ่มศาสนิก ไม่มีลักษณะของการแข่งขัน อวดโอ่ หรือเกทับกัน แต่เป็นไปในทำนองของการพยายามรักษาประเพณีของตนเอาไว้ให้ได้ ไม่ให้เล็กลง ไม่ให้หายไป หากต้องให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น
      "ในรอบปีมีงานเทศกาลของมุสลิมอยู่เยอะแล้ว เขาเป็นคนส่วนใหญ่ จะทำอะไรก็ทำได้เลย ทำได้บ่อยไม่ต้องรอวาระโอกาส งานแห่นก แข่งนก อะไรต่างๆ มากมาย จะจัดกันเวลาไหนก็ได้ แต่ประเพณีชักพระต้องรอวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วันเดียวในรอบปี เราต้องรักษาไว้ให้ได้ ให้อยู่คู่กับอำเภอโคกโพธิ์ เพื่อความหลากหลายของประเพณีในท้องถิ่น"
      ทัศนะของพระสงฆ์บางรูป
      เพราะเป็นที่หลอมรวมความสามัคคี และความกลมเกลียวเหนียวแน่นในหมู่ชาวพุทธ ชาวบ้านจึงมาร่วมแรงกันอย่างเต็มกำลัง ช่วยกันทำเรือให้สวยงามอย่างไม่มีที่ติ และจัดงานเทศกาลสมโภชกันให้ยิ่งใหญ่พอที่ใครๆ จะจดจำไปเป็นปีๆ หรือหลายปี 
      คนที่มาเที่ยวดูเรือพระเพียงผิวเผินอาจไม่ทันคิดว่า ลำเรืออันแพรวพราวเลื่อมระยับแลงามตานั้น โดยแท้จริงก็เพียงสัญลักษณ์ที่เปรียบเหมือนเปลือกกะพี้ของต้นไม้ 
      เป็นเรือที่จะนำศรัทธาชนข้ามไปสู่แก่นแกนแห่งพุทธธรรมที่ว่าด้วยอัตตาและภราดรภาพ คือการละวางอัตตาและรักคนรอบข้างได้โดยไม่ติดอยู่กับความแตกต่างทางศาสนา

(คลิกดูภาพใหญ่)       ล่วงถึงวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ คนของแต่ละหมู่บ้านจะชวนกันลากเรือพระกลับวัด หลังจากจอดชุมนุมอยู่ใต้แสงแดดและแสงดาว ตากน้ำค้างและน้ำฝนมา ๖ วัน ๕ คืน 
      ผลการประกวดเรือยอด เรือความคิด เรือโฟม การตีกลองตะโพน ขบวนแห่เรือ ประกาศคำตัดสินแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา หมู่บ้านที่ได้รางวัลติดมือกลับไปด้วย ขบวนแห่ก็คึกคักยิ่งกว่าตอนมา 
      แต่แม้ไม่ได้รับรางวัลใด เรือทุกลำก็คงจะหนักกว่าตอนขามา
      หนักอึ้งผลบุญที่บรรทุกมาในลำเรือ
      ตำนานอีกด้านของงานชักพระเล่าว่า นอกจากเป็นงานบุญออกพรรษา คตินิยมของประเพณีนี้ยังเกี่ยวโยงกับการบูชาฟ้าฝนด้วย 
      ช่วงวันงานชักพระจะมีฝนตกหนักทุกปี 
      ไม่วันลากเรือก็กลางงาน
      หรือไม่ก็วันกลับ 
      แต่ยามนั้น ฝนหรือแดดจะเป็นเจ้าของกาลเวลาก็คงไม่มีใครใส่ใจอีกแล้ว บางที ร้อน-หนาวกายภายนอกก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรือนใจในตัวตนต่างหากที่ต้องรู้ระลึกอยู่ทุกขณะจิต
      จะปล่อยให้ความดีหรือความชั่ว เข้าครองหัวใจ
 

เอกสารประกอบการเขียน

        สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา พ.ศ. ๒๕๒๙
      หนังสือ ฅนเฒ่าเล่าให้ฟัง ประเพณีชักพระโคกโพธิ์ ของ สุชีพ จองเดิม สำนักพิมพ์เหรียญทอง พ.ศ. ๒๕๔๑
 

ขอขอบคุณ

(คลิกดูภาพใหญ่)       วัดสุนทรวารี วัดโรงวาส วัดปุราณประดิษฐ์ วัดมะกรูด วัดหน้าเกตุ วัดหัวควนธรรมนิคม วัดช้างให้ วัดนาประดู่ วัดมุจลินทวาปีวิหาร วัดมะเดื่อทอง วัดศรีมหาโพธิ์ วัดทรายขาว
      พระครูไพศาลธรรมสุนทร, ช่างแคล้ว มณีพรหม และชาวบ้านกะโผะ, ช่างเจริญ อินทร์วรณะ และชาวบ้านบางโกระ, นายอำเภอโยธิน บัวทอง, คุณสุวิทย์ จันทรจังหวัด, คุณเอกชัย สาหลำ, ช่างมนูศักดิ์ ทองมา, ช่างวิเชียร เภามี, ช่างพิน แก้วทองคง และชาวบ้านทรายขาว, ช่างเขียว หม่นสิทธิ์ และชาวบ้านช้างให้, ช่างอนันต์ ปานทน ช่างสุพิศ แว่นแก้ว และชาวบ้านโคกโพธิ์
      ขอบคุณพิเศษ คุณศศิธร สุวรรณมณี และคุณเกษร ช่วยหนู สำหรับความเอื้อเฟื้อและการอำนวยความสะดวกทุกอย่างตลอดการทำงาน
      และขอบคุณคุณกุศล เอี่ยมอรุณ และคุณชมภูนุช ฉัตรนภารัตน์ ให้แนวคิดและข้อมูลในการเขียนสารคดีเรื่องนี้