ดอกกระเจียวหายไปไหน
?
หลายคนใจจดจ่อจะไปชมความงามยามทุ่งกระเจียวบาน
แต่เผลอเพียงชั่วประเดี๋ยว ดอกกระเจียวก็โรยทั่งทุ่งเสียแล้ว
พลาดโอกาสไปเสียหลายหน จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมกระเจียวจึงออกดอกให้ชมสั้นนัก
เรื่องนี้นักพฤกษศาสตร์ให้คำอธิบายว่า
กระเจียวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae)
ในสกุลเดียวกับขมิ้น (Curcuma) ที่เรานำมาใช้ปรุงอาหารนั่นเอง
พืชจำพวกนี้เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นซ่อนอยู่ใต้ดินที่เรียกว่า
"เหง้า" ทำหน้าที่สะสมน้ำและอาหาร ส่วนที่เห็นโผล่พ้นดินขึ้นมาเหมือนลำต้นนั้น
แท้จริงเป็นลำต้นเทียมที่เจริญเติบโตขึ้น จากบริเวณตาข้างของเหง้า
ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบใบห่อตัวแน่น ในช่วงฤดูแล้งแม้กาบใบเหนือดินจะแห้งไป
แต่กระเจียวยังไม่ตาย เพราะมีลำต้นอยู่ใต้ดิน จนเมื่อฝนแรกมา
มันจะรีบแทงช่อดอกขึ้นมาอวดสีสวยล่อแมลงให้มาผสมเกสร แต่เพียงไม่นานก็เหี่ยวโรย
แล้วติดเป็นผลสำหรับขยายพันธุ์ต่อไป พอเข้าฤดูฝน มันจะแทงกาบใบขึ้นมาสังเคราะห์แสงสะสมอาหารไว้ที่ลำต้นใต้ดิน
ไว้ใช้ในฤดูแล้ง
ดอกกระเจียวมีทั้งเกิดจากปลายลำต้นเทียมและจากเหง้าโดยตรง
ลักษณะเป็นช่อดอกทรงกระบอกหรือทรงกระสวย ที่มีใบประดับเรียงซ้อนกันโอบรอบโคนช่อ
สูงประมาณหนึ่งในสามของโคน รูปลักษณ์คล้ายถ้วยซ้อนกัน
นับเป็นเอกลักษณ์ ของพืชในสกุลนี้ ถ้าลองสังเกตในถ้วยของใบประดับจะเห็นช่อดอกย่อยอยู่ภายใน
เว้นแต่ใบประดับที่อยู่ส่วนบน จะไม่มีช่อดอกย่อย
กระเจียวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปออสเตรเลีย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อยไปจนถึงแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยพบขึ้นตามพื้นดินทั้งในทุ่งหญ้า
ป่าโปร่ง และป่าดงดิบ ทั่วทุกภาค มีอยู่ทั้งหมดประมาณ
๓๐ ชนิด โดยมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น กระเจียว ปทุมมา
บัวสวรรค์ ฉัตรทิพย์ ว่านมหาเมฆ เป็นต้น แต่ละชนิดมีสีสวยงามแตกต่างกันหลายสี
คือ แดง ขาว ชมพู เหลือง และส้ม บางชนิดนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ
|