นายรอบรู้ชวนเที่ยว..
ไปนมัสการพระพุทธบาท ร่วมตักบาตรดอกไม้
อาจเป็นเพราะคนเดี๋ยวนี้ห่างเหินจากวัดวาอารามกันมาก
สังเกตได้จากรายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์หลายแห่ง นิยมจัดทัวร์ไปเที่ยววัดกันหลากหลายรูปแบบ
โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์
วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา ฯลฯ ตามวัดจะแน่นขนัดไปด้วยพุทธศาสนิกชน
บางคนถึงกับเชื่อว่าถ้าไปไหว้พระครบเจ็ดวัดเก้าวัด แล้วจะได้บุญกุศลแรง
มีปูชนียสถานแห่งหนึ่งที่ชาวพุทธนับถือกันว่า ถ้าได้ไปสักการะแล้วจะได้อานิสงส์สูงสุด
เมื่อตายไปจะไม่ตกนรก นั่นคือรอยพระพุทธบาท จ. สระบุรี
ซึ่งเชื่อว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมากดประทับไว้
ด้วยพระองค์เอง นับแต่สมัยอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกษัตริย์หรือชาวบ้านร้านถิ่นต้องหาโอกาสไปนมัสการพระพุทธบาท
สักครั้งหนึ่งในชีวิต แม้ว่าแต่ก่อนนั้นการเดินทางลำบากทุรกันดารมาก
จะต้องเดินทางทั้งทางเรือและทางบก จากกรุงศรีอยุธยา ไปพระพุทธบาทต้องใช้เวลาเดินทางรอนแรมถึงสองวัน
แต่ปัจจุบันขับรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปแค่ ๒ ชม. ก็ถึงแล้ว
นายรอบรู้จึงอยากจะชวนคุณเกี่ยวก้อยกันไปไหว้พระพุทธบาทเสียในเดือนหน้านี้เลย
ด้วยในวันที่ ๖ ก.ค. นี้เป็นวันเข้าพรรษา มีการจัดงานประเพณีตักบาตรดอกไม้ที่พระพุทธบาท
เราจะได้ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน เผื่อว่าชาติหน้ามีจริง
จะได้ไปเที่ยวด้วยกันอีก
แต่แทนที่จะขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทอย่างคนอื่นเขา
"นายรอบรู้" จะพาคุณไปเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ ภายในวัดเสียก่อน
ด้วยรอยพระพุทธบาทนี้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน โบราณสถานต่าง
ๆ ภายในวัดจึงงดงาม ด้วยฝีมือเชิงช่างโบราณหลากยุคสมัยที่สร้างถวายพระพุทธบาทด้วยพลังศรัทธา
ถ้าไปแล้วไม่ได้ชื่นชมก็นับว่าน่าเสียดายนัก เริ่มจากทางเดินขึ้นสู่มณฑปพระพุทธบาทหรือบันไดนาคซึ่งมีสองทาง
ด้านหน้าเป็นบันไดสามสายทอดขนานกันไป หมายถึง บันไดทิพย์ที่พระอินทร์เนรมิตขึ้นเพื่อส่งเสด็จพระพุทธเจ้า
กลับสู่โลกมนุษย์หลังจากทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดา บันไดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่
๑ แต่เดิมมีเพียงสองสายเท่านั้น มาสร้างเพิ่มอีกสายหนึ่งในสมัยรัชกาลที่
๕ ที่หัวบันไดเป็นรูป เศียรพญานาคมุจลินทร์ห้าเศียร หล่อด้วยทองเหลือง
แล้วลงรักปิดทอง นอกจากนี้ยังมีบันไดนาค ที่มีอายุเก่าแก่กว่า
อยู่ทางด้านหลัง หรือด้านประตูยักษ์ เป็นฝีมือช่างโบราณสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
หัวบันไดทำเป็นเศียรพญานาคมุจลินทร์เจ็ดเศียร หล่อด้วยสัมริดเป็นนาคสวมมงกุฎ
ดูสวยงามแปลกตา
จากบันไดขึ้นสู่ชั้นบนจะเห็นมณฑป
ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท โดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขา
เครื่องบนและเสาลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ อย่างงดงาม
เสาพาไลรอบมณฑปเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุม ประดับด้วยลายปูนปั้นฝีมือประณีต
ตรงซุ้มประตูประดับด้วยลายทอง มีหน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ
บานประตูทั้งแปดบานประดับด้วยมุกลวดลายวิจิตร ทำเป็นรูปปราสาท
พระอินทร์ พระนารายณ์ และพระพรหม สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
และได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อเข้าสู่ด้านในจะเห็นรอยพระพุทธบาท
ประดิษฐานอยู่ในมณฑปน้อย รอยพระพุทธบาทมีขนาดกว้าง ๒๑
นิ้ว ยาว ๖๐ นิ้ว ลึก ๑๑ นิ้ว มีลักษณะต้องตามลักษณะของมหาบุรุษตามความเชื่อของอินเดีย
ปรากฏเป็นลายมงคล ๑๐๘ ประการ เช่น รูปสวัสติกะ ปลาคู่
หอยสังข์ หม้อน้ำ เป็นต้น ด้านข้างมีเสื่อเงินแท้ปูพื้นล้อมรอบรอยพระพุทธบาทอย่างสวยงาม
หลังจากกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทแล้ว ก็ต้องไปประกาศบุญที่ได้เดินทางมาสักการะรอยพระพุทธบาทให้เทพยดารับรู้
ด้วยการเคาะระฆังที่แขวนเรียงรายอยู่ที่ศาลาโถงด้านนอกมณฑป
คติความเชื่อนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายไม้ตะพด
ให้นักท่องเที่ยว หาซื้อได้ที่ลานจอดรถด้านล่าง ไม้ตะพดอันเล็ก
ๆ ใช้เคาะระฆังได้ถนัดมือ ส่วนอันใหญ่ ๆ ที่ประดิดประดอยเป็นลวดลายสวยงามนั้น
เหมาะจะซื้อเป็นของที่ระลึกหรือนำไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่
ถึงตอนนี้ถ้าใครรู้สึกหิว มีร้านเด็ดที่อยากแนะนำคือร้านก๋วยเตี๋ยวพี่ดาว
ตั้งอยู่ใกล้วัด เป็นก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เย็นตาโฟ ลูกชิ้นทำเอง
เนื้อตุ๋นถึงเครื่องเทศ หอมกลิ่นยาจีน คนท้องถิ่นนิยมไปกินกันมาก
ข่าวดีสำหรับคนที่ได้หยุดงานในวันเข้าพรรษา
นอกจากจะได้นมัสการรอยพระพุทธบาทตามปรกติแล้ว ยังจะได้ร่วมตักบาตรดอกไม้ด้วย
การตักบาตรดอกไม้ก็เหมือนกับการตักบาตรทั่วไป เพียงแต่ใช้ดอกไม้แทนอาหาร
ถือเป็นการถวายเครื่องบูชารอยพระพุทธบาท ดอกไม้ที่นำมาตักบาตรนี้มีชื่อว่า
ดอกข่าลิง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ดอกเข้าพรรษา เพราะจะออกหน้าฝนในช่วงเข้าพรรษา
เป็นพันธุ์ไม้ประเภทว่านในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ที่มีลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน
ลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือว่านขมิ้น สูงประมาณ ๑ คืบเศษมีหลากหลายสีสัน
เช่น สีขาว สีเหลืองแกมส้ม สีชมพู ฯลฯ แต่ก่อนหนุ่มสาวจะตื่นแต่เช้าชักชวนกันไปเก็บดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าละเมาะตามภูเขาหินปูน
ที่อยู่ใกล้วัด เช่น เขาโพธิ์ลังกา เทือกเขาวง และเขาพุ
เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้มีคนเก็บมามัดเป็นกำขายพร้อมสรรพ
ไปถึงก็ซื้อไว้เตรียมใส่บาตรได้เลย แสนสะดวกสบายไม่ต้องเหนื่อยยาก
เมื่อถึงเวลาผู้คนจำนวนมาก จะมายืนเรียงรายอยู่สองฟากถนนจากวงเวียนเจ้าพ่อเขาตก
เข้าสู่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระภิกษุสามเณร จะลงจากศาลาการเปรียญ
มารับบิณฑบาตดอกไม้เป็นแถวยาว พร้อมด้วยขบวนแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจากอำเภอต่าง
ๆ และขบวนรถบุปผชาติที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม บรรยากาศน่าตื่นตื่นใจ
พระภิกษุจะนำดอกไม้ที่รับบิณฑบาต ไปสักการะรอยพระพุทธบาท
พระเจดีย์จุฬามณี และพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
คนใส่บาตรก็จะได้อิ่มอกอิ่มใจด้วยผลบุญกุศลกันทั่วหน้า
|