นายรอบรู้ชวนเที่ยว..
ชมทุ่งกระเจียว เที่ยวป่าหินงาม
ไม่ต้องแปลกใจถ้าช่วงนี้จะมีญาติสนิท
มิตรสหายมาชวนไปเที่ยวทุ่งกระเจียว ป่าหินงาม อ. เทพสถิต
จ. ชัยภูมิ เพราะระยะต้นฤดูฝน ราวปลายเดือนมิถุนายนต่อเนื่อง
ไปจนตลอดเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงเวลาเดียวของปี ที่ดอกกระเจียวจะพากันผลิบาน
อวดดอกสีชมพูเต็มทุ่งกว้างบนสันเขาพังเหย ในช่วงเวลาเดือนเศษนี้
จึงมีนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศเดินทางไปชมความงามของทุ่งกระเจียวที่ว่ากันว่า
สวยที่สุดในประเทศไทย "นายรอบรู้" เคยไปมาหลายครั้ง ก็ยังอดใจไว้ไม่ไหว
ต้องขอเป็นแฟนคลับทุ่งกระเจียวทุกปี ปีนี้ก็คงไม่พลาดอีกตามเคย
เมื่อก่อนเราเรียกทุ่งกระเจียวแห่งนี้ว่า
"ป่าเทพสถิต" ก็ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ที่ อ. เทพสถิตนั่นเอง
ต่อมาเมื่อได้ประกาศให้พื้นที่นี้เป็นอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
ตามชื่อของลานหินกว้างที่เต็มไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่รูปทรงแปลกตา
ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจคู่กับทุ่งกระเจียว ทุ่งกระเจียวป่าเทพสถิตจึงพลอยถูกเรียกขานเสียใหม่ว่า
ทุ่งกระเจียวป่าหินงาม ตามไปด้วย สำหรับที่ตั้งของ อช.
ป่าหินงามนั้นอยู่ชายขอบสุดด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวเทือกเขาพังเหย
ภูมิประเทศจึงเต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนภายใต้อาณาเขตพื้นที่
๙๐ ตร.กม. โดยมีจุดสูงสุดเรียกว่า "สุดแผ่นดิน" และเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม
อช.
ป่าหินงามนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สามารถเดินทางไปเที่ยวชมได้สะดวกมาก
เพราะมีเส้นทางหลวงเข้าไปถึงที่ทำการฯ เลย จากกรุงเทพฯ
ก็ไปตามถนนพหลโยธิน ผ่าน จ. สระบุรี จนไปถึงแยกพุแค จึงเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข
๒๑ พอถึงลำนารายณ์ก็เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๕
จนถึง อ. เทพสถิต ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๓๕๕
ประมาณ ๑๖ กม. ก็จะถึงทางแยกบ้านไร่ทางซ้ายมือ เข้าไปอีกแค่
๑๓ กม. ก็ถึงที่ทำการฯ แล้ว ถ้านั่งรถโดยสารก็ต้องต่อรถกันหลายหนหน่อย
เริ่มจากรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์ ที่สถานีขนส่งหมอชิต
(ใหม่) ไปลงที่ลำนารายณ์ แล้วต่อรถประจำทางสายลำนารายณ์-ชัยภูมิ
ไปลงที่ อ. เทพสถิต จากนั้นเหมารถสองแถวไปส่งที่ทำการฯ
จากที่ทำการฯ
ก็มีถนนคอนกรีตต่อเข้าไปได้จนถึงทุ่งกระเจียวและป่าหินงาม
กระทั่งไปสุดทางที่หน้าผาสุดแผ่นดิน แต่ต้องมาวันธรรมดา
จึงจะสามารถขับรถเข้าไปเที่ยวชมได้จนถึงริมทุ่งกระเจียว
เพราะในช่วงเทศกาลเที่ยวทุ่งกระเจียว จะมีนักท่องเที่ยวพากันเดินทางมามากมายในวันหยุด
บางวันถึงขั้นรถติดเป็นแถวยาว อช. ป่าหินงามจึงไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวเข้าไปในวันหยุด
ต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดรถด้านหน้าที่ทำการฯ แล้วนั่งรถสองแถวที่จัดไว้บริการ
หรือจะเลือกเดินเข้าไปก็ไม่เหนื่อยนัก โดยมาตามถนนประมาณ
๑ กม. จะพบกับสามแยก ทางซ้ายไปป่าหินงาม ส่วนทางขวาไปทุ่งกระเจียวและสุดแผ่นดิน
จุดแรกที่ควรไปชมคือ ป่าหินงาม เลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๕๐๐
ม. ก็ถึงลานจอดรถแล้วมีทางเดินขึ้นสู่ป่าหินงาม ซึ่งเป็นลานหินกว้างครอบคลุมพื้นที่กว่า
๑,๐๐๐ ไร่ ล้อมรอบด้วยแนวป่าเต็งรังที่มีลำต้นแคระแกร็น
เนื่องจากลานหินมีหน้าดินตื้นและความสมบูรณ์ของธาตุอาหารต่ำ
บริเวณป่าหินงามเต็มไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่รูปทรงต่าง
ๆ ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของลมและน้ำนานนับล้านปี บางก้อนคล้ายปราสาทโบราณ
บางก้อนคล้ายสัตว์ และบางก้อนอาจจินตนาการได้กับถ้วยฟุตบอลโลก
ช่วงฤดูฝน บนลานหินจะมีหญ้าปกคลุมจนเขียวขจี บางแห่งมีดอกกระเจียวขึ้นแซม
ส่วนตามโขดหินที่ชุ่มชื้นมีพวกมอสและไลเคนขึ้นปกคลุม ตามซอกหินเปียกชื้นประดับประดาด้วยไม้ดอกเล็ก
ๆ สีสวย เช่น สาวสนม
จากป่าหินงาม
ย้อนกลับมาจนถึงสามแยก แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกไม่ไกลก็ถึงทุ่งกระเจียวริมทางมีดอกกระเจียวบานต้อนรับ
เป็นระยะ บริเวณที่มีดอกกระเจียวมากที่สุดอยู่ก่อนถึงจุดชมทิวทัศน์สุดแผ่นดินประมาณ
๑ กม. มีลานจอดรถอยู่ทางขวามือ ฝั่งตรงข้ามมีสะพานยกระดับให้เดินชมทุ่งกระเจียว
เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปเหยียบย่ำต้นกระเจียวเสียหาย
ที่นี่ดอกกระเจียวบานอวดดอกสีชมพูเต็มทุ่ง
ท่ามกลางทุ่งหญ้าและหมู่ไม้ต้นเตี้ยแคระเช่นเดียวกับที่ลานหินงาม
ระหว่างทางก็มีจุดให้พักชมดอกกระเจียวในบริเวณที่ขึ้นอยู่หนาแน่นหลายจุด
และมีป้ายให้ความรู้เรื่องทุ่งกระเจียวด้วย
เลยจากทุ่งกระเจียวมาจนสุดถนน
ก็ถึงจุดชมทิวทัศน์สุดแผ่นดิน ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของ อช.
ป่าหินงามที่ระดับความสูง ๘๔๖ ม. ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะสุดแผ่นดินเป็นหน้าผาสูงสุดชายขอบด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช
ที่เกิดจากการดันตัว ของแผ่นดินภาคกลาง (ฉานไทย) เข้าไปใต้แผ่นดินอีสาน
(อินโด-ไชน่า) จนทำให้แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นแบ่งเขตระหว่าง
ภาคกลางกับภาคอีสาน หน้าผาสูงบริเวณนี้จึงถือเป็นจุดสิ้นสุดที่ราบสูงอีสาน
เมื่อขึ้นไปยืนบนหน้าผาสุดแผ่นดิน
จะมองเห็นทิวทัศน์สวยงามด้านล่างและเข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา
ดังกล่าวได้ชัดเจน ทางซ้ายมือคือผืนที่ราบภาคกลางในเขต
จ. ลพบุรี ส่วนเบื้องหน้าเป็นทิวเขาและผืนป่าทึบ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา
ป่าผืนสุดท้ายของ จ. ลพบุรีที่มีเขตติดต่อกับ อช. ป่าหินงาม
และทางด้านขวามือ เป็นพื้นที่ของ อ. วิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์
ในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีสายหมอกปกคลุมผืนป่าเบื้องล่าง
ที่นี่จึงเป็น จุดชมทะเลหมอกที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง
อช.
ป่าหินงามอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ ๒๕๕ กม. นับว่าไม่ไกลเกินไปนัก
สามารถเลือกเดินทางไป-กลับได้ ภายในวันเดียว แต่ถ้าต้องการเพลิด
|