Click here to visit the Website
รศ. ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
"มหาวิทยาลัย
ที่อยู่ในระบบราชการ
มีระเบียบต่าง ๆ ของทางราชการ
ที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงาน
ของมหาวิทยาลัย
ไม่ว่าจะเป็นระเบียบจัดซื้อ
ระเบียบบริหารงานบุคคล
ทำให้การบริหารงาน
ของมหาวิทยาลัยไม่คล่องตัว
การออกนอกระบบ เป็นความพยายาม
ที่จะกันกฎระเบียบต่าง ๆ
เหล่านี้ออกไป
เพื่อให้หัวหน้าหน่วยงาน
สามารถสร้าง ระบบบริหารจัดการ
ที่ดีขึ้น "คำว่าออกนอกระบบ ต้องเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้กลายเป็นเอกชน แต่จะกลายเป็น องค์กรของรัฐ ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มิได้มีสถานะเป็นกรม หรือเป็นส่วนราชการแบบเดิม โดยรัฐ จะยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐ "การเปลี่ยนระบบ จะทำให้คนที่ไม่กระตือรือร้น จำเป็นที่จะต้องแข่งขัน จำเป็นที่จะต้องปรับปรุง การทำงาน ตลอดจนการสอนของตน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเป็นอาจารย์ ในมหาวิทยาลัย ภายใต้ระบบ ราชการแบบเดิม จะอยู่ไปยังไงก็ได้ การประเมินผล ก็ไม่ได้เข้มงวดอะไรมาก ฉะนั้น เราก็หวังว่า จะสร้างระบบ ที่จะทำให้คนเหล่านั้น กระฉับกระเฉงขึ้น ซึ่งตรงนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ ในการช่วยลด ความสูญเปล่า ในเรื่องต่าง ๆ ลงไปได้ "ภายใต้ระบบใหม่ อาจารย์แต่ละคน จะต้องมีพันธสัญญาว่า ในแต่ละปี หรือในช่วงสามปี แล้วแต่จะกำหนด เขาจะต้องผลิต ผลงานทางวิชาการ อะไรออกมาบ้าง จะต้องสอนเรื่องอะไรบ้าง กี่วิชา ผมคิดว่าตรงนี้ จะช่วยทำให้เกิด accountability for result คือเป็นข้อผูกพัน หรือพันธสัญญา ต่อผลงาน ซึ่งจะแตกต่าง จากระบบปัจจุบัน การที่อาจารย์แต่ละคน มีพันธสัญญา ต่อผลงานดังกล่าว ก็ทำให้เป้าหมาย ในการทำงานชัดเจนขึ้น ทั้งในด้านการสอน การทำวิจัย และการสร้างผลงานทางวิชาการ ในเรื่องของ publication ของงานทางวิชาการ ก็จะถูกกำกับ โดยเงื่อนไขทางพันธสัญญา ฉะนั้นภาพรวมที่ดี ที่จะเกิดขึ้น ก็คือ อาจารย์เอง เมื่อถูกกำกับ โดยพันธสัญญาดังกล่าว ก็จะต้องตั้งใจสอนมากขึ้น ไม่เช่นนั้น ก็อาจถูกประเมินผล การทำงานได้ ในแง่การผลิตผลงานทางวิชาการ ก็จะอยู่เฉย ๆ เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องผลิต ผลงานทางวิชาการออกมา นักศึกษา และสังคม ก็จะได้รับประโยชน์จากการสอน จากผลงาน ทางวิชาการเหล่านี้ ฉะนั้นผมคิดว่าตรงนี้ มันเป็นสภาพที่เรียกว่า ทุกคนชนะร่วม หรือ win win solution สังคมก็จะได้ประโยชน์ จากการออกนอกระบบตรงนี้ แต่แน่นอนที่สุด ที่จะต้องมีอาจารย์บางคน ไม่เห็นด้วย เพราะว่า เดิมค่อนข้างจะสบาย ถ้าเข้าสู่ระบบนี้ เขาก็จะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไข อะไรหลาย ๆ อย่าง "ข้ออ้างที่บอกว่า จะทำให้เสรีภาพทางวิชาการหายไปนั้น คงไม่จริง เพราะตัวอาจารย์ จะเป็นคนกำหนด เป้าหมายทางวิชาการเอง ว่าจะผลิตผลงานทางวิชาการ เรื่องใด จำนวนกี่เรื่อง ส่วนเนื้อหาสาระ เช่นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่ได้มีใครเข้าไป ข้องเกี่ยวตรงนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ เป้าหมายการทำงาน ที่ชัดเจนของอาจารย์เอง เสรีภาพทางวิชาการ ไม่ได้ถูกกระทบ "ที่บอกว่าออกนอกระบบแล้ว จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในสังคมนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ผมมองว่า ค่าเล่าเรียน หรือค่าหน่วยกิต ที่แพงขึ้น จะยิ่งสร้างความเป็นธรรม มากกว่าระบบเดิม ทุกวันนี้ นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยของรัฐ จ่ายค่าเทอม ค่าหน่วยกิต ถูกกว่าต้นทุนที่แท้จริงมาก ถามว่า เงินที่รัฐบาล นำมาช่วยตรงนี้ มาจากไหน ก็มาจากประชาชนทั้งประเทศ ฉะนั้นผมมองว่า การที่ค่าเล่าเรียนแพงขึ้น จะทำให้เกิดความยุติธรรม กับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าเรียน ในมหาวิทยาลัยของรัฐ "แนวทางการบริหาร มหาวิทยาลัยนอกระบบ ไม่ได้มุ่งหวังในเชิงธุรกิจ แต่เป็นการประยุกต์ แนวทางบริหารจัดการสมัยใหม่ เข้ามาใช้ โดยเป้าหมาย ในการบริหารงาน ยังคงเป็นไปเพื่อสังคมอยู่ คำว่า Public ซึ่งยังคงอยู่หน้า University แสดงว่าปรัชญาหลักของเรานั้น ยังคงรับใช้สาธารณะอยู่ แต่มหาวิทยาลัยเอง ก็จะต้องสร้างสมดุล ทั้งในการรับใช้สังคม และการดูแลตัวเองด้วย "ส่วนประเด็นที่ว่า นักศึกษา หรือมหาวิทยาลัย จะห่างจากสังคมนั้น ผมคิดว่า ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะออกนอกระบบ หรือไม่ ก็คงจะมีปัญหานั้น อยู่เหมือนกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัย จะต้องสร้างความรับผิดชอบ ให้เกิดขึ้นแก่ตัวนิสิตนักศึกษาเอง "มหาวิทยาลัยของรัฐนั้น คนเสียภาษี คือประชาชน ฉะนั้นมหาวิทยาลัย ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ กับประชาชน ระบบราชการทุกวันนี้ ไม่ได้มีการวัดผลงาน หรือตรวจสอบผลงานกัน ตรงนั้นต่างหาก ที่เอาเปรียบประชาชน การที่มหาวิทยาลัย ออกนอกระบบ จะทำให้อาจารย์กระตือรือร้น ในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้นักศึกษา ต้องกระตือรือร้นตาม ขณะที่ถ้ายังอยู่ในระบบราชการ อาจารย์ก็อาจจะสอน หรือบรรยายไปอย่างเฉื่อย ๆ ผมคิดว่า ทุกคนจะได้รับประโยชน์ จากการออกนอกระบบ แม้ตัวอาจารย์เอง จะต้องมีกรอบ กติกา และเงื่อนไข ในการทำงานมากขึ้น ต้องทุ่มเททำงาน สร้างผลงานมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็จะได้รับค่าชดเชย หรือเงินเดือนที่สูงขึ้น เป็นการตอบแทน สังคมเอง ก็จะได้ผลงานทางวิชาการมากขึ้น คนที่จะเสียเปรียบ จากการปรับออกนอกระบบ ก็คงเป็นคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คนที่ได้ประโยชน์ จากความไม่มีประสิทธิภาพ ของระบบราชการ "สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในตอนนี้ น่าจะอยู่ที่ การเตรียมความพร้อม สำหรับความเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเข้ามา มากกว่าที่จะมานั่งทะเลาะกันว่า มหาวิทยาลัยควรจะออกนอกระบบ หรือไม่ เราต้องมาดูว่า เมื่อเราตั้งเป้าไว้แล้วว่า เราจะทำมหาวิทยาลัยไทยให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพ และดีกว่าเดิม เราควรจะทำอย่างไร คำตอบอันหนึ่ง ก็คือ เปลี่ยนระบบ การบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยใหม่ ให้ชัดเจน เพราะระบบปัจจุบัน เป็นระบบราชการ ซึ่งไม่เอื้อ ต่อการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล แต่ที่มันเกิดปัญหาขึ้นมา ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ไปกระเทือนคน ซึ่งไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง" |
|
ดร. ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่าน (ฝ่ายคัดค้าน) คลิกที่นี่ |
แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]