Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
จ า ก บ ร ร ณ า ธิ ก า ร
(คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)    ที่เห็นอยู่นี้คือภาพการรื้อเขื่อนแห่งหนึ่งที่ขวางกั้นลำธาร Butte Creek ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารTIME ฉบับ Earth Day 2000

    TIME ได้รายงานปัญหาผลกระทบของเขื่อน ที่มีผลต่อการแพร่พันธุ์ปลาในแม่น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณน้ำในทะเลสาบอารัล เอเชียกลาง ได้ลดลงครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๐ เป็นต้นมา เพราะแม่น้ำสองแห่ง ที่ไหลลงสู่ทะเลสาบอารัล คือแม่น้ำอามูร์ ดาร์ยา และแม่น้ำไซร์ ดาร์ยา ในประเทศอุซเบกิสถาน ได้ถูกเขื่อนปิดกั้นเพื่อนำน้ำไปใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะฝ้าย เป็นจำนวนหลายล้านเฮกตาร์

(คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
หาดไม้ขาว เต่ามะเฟือง และ ชาวบ้านผู้อารี
    ผลก็คือการสร้างเขื่อน นอกจากจะทำลายพื้นที่ประมง ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไปแล้ว ในขณะเดียวกันยังทำให้ทะเลสาบอารัลเน่า และเป็นพิษ เพราะยาฆ่าแมลง และสารโลหะหนัก จากการทำการเกษตร ที่ปนเปื้อนกับน้ำไหลลงมายังทะเลสาบ    
    TIME ยังได้ยกตัวอย่างผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ในแม่น้ำโคลัมเบียทางภาคตะวันตก ของทวีปอเมริกาเหนือ
    ในบรรดาแหล่งปลาแซลมอนทั่วโลก แม่น้ำโคลัมเบีย เคยได้ชื่อว่ามีปริมาณปลาแซลมอนมากที่สุด ก่อนการสร้างเขื่อน แต่ละปีจะมีปลาแซลมอน ๑๐-๑๕ ล้านตัวว่ายทวนน้ำจากมหาสมุทรขึ้นมาวางไข่ เพื่อแพร่พันธุ์ที่ต้นแม่น้ำโคลัมเบีย จำนวนปลาที่มีอยู่มากมายนี้ ทำให้ปลาแซลมอนในเวลานั้น ราคาถูกกว่าแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก
    มาในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๓๐-๑๙๔๐ เขื่อน ๑๒ แห่งได้ถูกทยอยก่อสร้างขึ้นกั้นขวางตลอดลำน้ำโคลัมเบีย ทั้งในเขตแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในระหว่างการสร้างเขื่อน ปลาแซลมอนยังมีปริมาณมาก คนงานสร้างเขื่อนมีปลาแซลมอนกินทุกมื้อ ถึงกับต้องขอร้องพ่อครัว ให้ลดเมนูปลาแซลมอน ให้เหลืออาทิตย์ละสามครั้ง
    แต่ภายหลังเขื่อนแกรนด์ คูลี สูง ๑๗๐ เมตร สร้างเสร็จ และมีการติดตั้งบันไดปลาโจน ปริมาณปลาแซลมอนในแม่น้ำโคลัมเบีย ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้อุตสาหกรรมการประมงทางใต้ของแคนาดา ตกอยู่ในภาวะล่มสลาย ชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพ กลายเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาดูแล
    เมื่อไม่นานมานี้ ทางการสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มเห็นความสำคัญ ของการฟื้นฟูพันธุ์ปลาแซลมอน ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล กว่าผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ ที่ได้จากการสร้างเขื่อน จึงมีแนวคิดที่จะเลิกสร้างเขื่อน และในบางแห่ง ก็ได้มีการรื้อเขื่อนทิ้ง เช่นในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีการรื้อเขื่อนขนาดเล็กสี่แห่ง ที่ขวางกั้นลำน้ำเซียรา เนวาดา เพื่อให้ปลาแซลมอนพันธุ์ชินูค ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ได้กลับคืนมา
    แต่ที่เขื่อนปากมูล คนในท้องถิ่น อยากรื้อเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ให้กำลังการผลิตเพียง ๔๐ วัตต์ จากที่ประมาณไว้ว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ๑๓๖ เมกกะวัตต์
    เขื่อนปากมูล สร้างขวางกั้นช่วงปลายสุดของแม่น้ำมูล ที่ไหลออกแม่น้ำโขง ทำให้ปลาจำนวนมาก ไม่สามารถว่ายทวนน้ำ ขึ้นมาวางไข่ตามธรรมชาติได้ จากการสำรวจของคณะกรรมการเขื่อนโลก ได้พบว่า ก่อนการสร้างเขื่อนมีพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูล ๒๖๕ ชนิด หลังจากสร้างเขื่อนแล้ว พันธุ์ปลาลดลงเหลือเพียง ๙๖ ชนิด
    ส่วนบันไดปลาโจน ที่ก่อนหน้านี้ผู้ที่รับผิดชอบมั่นใจนักหนา ว่าจะมีปลามากระโจนข้ามไป ก็มีสภาพไม่ต่างไปจาก แท่นคอนกรีตนับร้อยท่อน ริมถนนวิภาวดีรังสิต ที่ยืนโด่เด่ประจานความล้มเหลว ของโครงการโฮปเวล์
    ชาวบ้านแถวเขื่อนปากมูล ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง ก็มีสภาพไม่ต่างจากชาวประมงแห่งแม่น้ำโคลัมเบีย ที่กำลังจะอดตาย เพราะไม่มีปลาจะให้จับ
    ผิดกันตรงที่ว่ารัฐบาลของเขาเริ่มเห็นแล้วว่า มูลค่าของปลา ในเชิงเศรษฐกิจ อาจจะมากกว่าประโยชน์ ที่ได้จากการสร้างเขื่อน การรื้อเขื่อนทิ้ง จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเป็นไปได้
    ทุกวันนี้ชาวบ้านที่สูญเสียอาชีพประมง ที่พวกเขาทำมาชั่วชีวิต ได้รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณสันเขื่อนปากมูล ตั้งเป็นหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน พวกเขาร้องขอให้รัฐบาลชดเชยอาชีพ ที่เขาต้องสูญเสียไปตลอด หรือไม่ก็ขอให้ทางการ เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนทั้งหมด ให้พันธุ์ปลากลับคืนมา
    หน้าร้อนนี้ หากใครยังไม่ลาพักร้อน ขอแนะนำให้ไปพักร้อนด้วยการไปเยี่ยม ชาวบ้านแห่งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ซึ่งมีสภาพน่าสลดใจ ไม่ต่างจากแคมป์ ของผู้อพยพตามชายแดน
    แววตาของพ่อใหญ่แม่ใหญ่หลายคน สะท้อนเคราะห์กรรมความเจ็บปวด จากสิ่งที่เขาไม่ได้สร้างขึ้นมา ได้เป็นอย่างดี คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่า ทำไมอยู่ดี ๆ เขาต้องถูกให้อพยพจากบ้านเก่า ที่อยู่มาชั่วชีวิต และสูญเสียอาชีพจับปลาอย่างฉับพลัน คนส่วนใหญ่จนลง บางคนจนแล้วจนลงไปอีก
    กลับจากพักร้อน รับรองว่าปัญหา และความเครียดจากการทำงาน หรือเรื่องส่วนตัวจะหายไปทันที เพราะเพิ่งค้นพบว่า ทุกข์ของคนยากคนจน สาหัสกว่าพวกเราเพียงใด
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com

 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
โครงการขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้ายของนักลงทุน

การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | การมาถึงของ "นักรบสายรุ้ง" : จากตำนานสู่ความเป็นจริง | ทวีปเลื่อน-แผ่นดินไหว ภัยที่ไม่อาจพยากรณ์ | กำเนิดตึกระฟ้า | ปีท่องเที่ยวกับเจ้า (ลาว) | ผู้หญิงสิงคโปร์ | ทาเคชิ คิตาโน หนังยากูซ่าสายพันธุ์ใหม่ | เฮโลสาระพา

Arrival of the Rainbow Warrior: From Legend to Reality | Continental Drift, Earthquake: Unpredictable Dangers
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail