|
|
|
เรื่อง :
กุลธิดา สามะพุทธิ
ภาพ : ชัยชนะ จารุวรรณากร |
|
|
|
"เธอเกิดขึ้นจากความฝันของคนกลุ่มเล็ก
ๆ ที่รัก
และปรารถนาจะปกป้องผืนโลกเขียวชอุ่ม
ท้องทะเลสีคราม
และการดำรงอยู่อย่างสอดคล้องของสรรพชีวิต
สายรุ้งจึงเฉิดฉายอยู่บนกายเธอ
ด้วยสายรุ้งที่ทาบทาบนฟ้าหลังฝนเป็นดั่งพันธสัญญาว่า
ความหวังจะถูกถักทอขึ้นมาเมื่อมีความมืดมน
มีคนบางพวกกำลังวางยาพิษโลก
ปล่อยสารเคมีอันตรายและเชื้อโรคร้ายล่องลอยในอากาศ
พวกเขาโค่นผืนป่า
เปลี่ยนพสุธาเป็นทะเลทราย
และตัดสินประหารชีวิตดาวดวงนี้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์
นักรบสายรุ้ง...
เธอคือพลังและตัวแทนของผู้คนนับล้าน
คือความหวังของพวกเด็ก ๆ
ที่จะได้อยู่ในโลกอันหมดจดงดงาม
แม้จะมีคนที่คิดร้าย
หวังให้เธอจมหายลงสู่ทะเล
แต่จงรู้ไว้เถิดว่า
สายรุ้งไม่มีวันจะจม-ความฝันไม่มีวันถูกทำลาย"
(บทกวีบนฝาผนังห้องทำงานในเรือ
Rainbow Warrior)
|
|
|
"ไปเลย,
มาทิอัส ซิ่งเลย !"
ซาเมียร์ตะโกนแข่งกับเสียงคลื่นลม
และเครื่องยนต์ของเรือยาง
มาทิอัสหัวเราะตอบเบา ๆ
โดยไม่ละสายตาจากจุดหมายข้างหน้า--
Rainbow Warrior
สนุกเหมือนทุกครั้ง
ทั้งระลอกคลื่นที่เล่นงานเราจนกระเด็นกระดอน
สายลมแรง น้ำทะเลที่สาดกระเซ็น
และเสียงพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน
ของพวกลูกเรือ
แต่นี่เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
ที่เราจะได้นั่งเรือยางอย่างนี้
เรนโบว์วอริเออร์
(นักรบสายรุ้ง)
เดินทางออกจากอินเดียมาถึงภูเก็ต
ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าวันที่แล้ว
มุ่งหน้าลงใต้
อ้อมเกาะสิงคโปร์แล้วย้อนขึ้นเหนือ
จอดที่สงขลาหนึ่งวัน
แล่นต่อมาถึงเกาะสมุย
แถลงข่าวต่อต้านโรงงานเผาขยะ
เช่นเดียวกับที่ภูเก็ต
และหลังจากแวะให้กำลังใจชาวบ้าน
ที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ที่ประจวบคีรีขันธ์แล้ว
กัปตันจะพาเรือตรงเข้าเทียบท่า
ที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ
เปิดเรือให้เยี่ยมชมหนึ่งสัปดาห์
แล้วจึงมุ่งหน้าไปฟิลิปปินส์--
จุดหมายที่เท่าไหร่ของเรือ
เรนโบว์วอริเออร์ แล้วก็ไม่รู้
สมาชิกรุ่นก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์กรีนพีซ
ได้ชื่อเรือลำนี้มาจากตำนานเก่าแก่
ของชาวอินเดียนแดงเรื่องหนึ่ง
ซึ่งเล่าถึงคำทำนายของหญิงชราที่ว่า
เมื่อโลกถูกกระทำชำเรา
ด้วยความโลภของมนุษย์
เมื่อน้ำทะเลกลายเป็นสีดำคล้ำ
เมื่อสายน้ำถูกวางยาพิษ
เมื่อสัตว์ป่าพากันล้มตาย...
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกิน
นักรบแห่งสายรุ้งจะปรากฏตัวขึ้น
เพื่อปกป้องโลก
สอนให้ผู้คนเคารพยำเกรงต่อผืนแผ่นดิน
และชักชวนให้มวลมนุษย์ดำรงชีวิต
เยี่ยงนักรบสายรุ้งด้วยกัน
ถึงผู้ที่ต่อเรือลำนี้ขึ้นมา
เมื่อปี ๒๕๐๐
จะตั้งใจให้มันเกิดมาเป็นเรือประมง
และถึงต่อมามันจะถูกเรียก
ตามหลักสากลว่า
"เรือใบสามเสาติดเครื่องยนต์"
แต่มีเรือประมง
หรือเรือใบลำไหนบ้าง
ที่เดินทางท่องทะเลไปพร้อมกับชุดป้องกันสารเคมี
สำหรับเก็บตัวอย่างดินและน้ำ,
ชุดหมีสีขาวสำหรับใส่ในการประท้วง-
รณรงค์, สีและไม้สำหรับทำป้าย,
ผ้านับร้อยผืนที่เขียนข้อความในภาษาต่าง
ๆ ทั้ง อังกฤษ สเปน รัสเซีย
โพลินีเชีย ฝรั่งเศส ตาฮิติ
ข้อความมีเช่น
"ปลาวาฬกับน้ำมันอยู่ร่วมกันไม่ได้",
"สิ่งที่เราเผาในวันนี้คือสิ่งที่เราหายใจเข้าไปในวันหน้า",
"โปรดช่วยกันดูแลทะเล",
"ห้ามขุดเจาะน้ำมัน",
"พลังงานแสงอาทิตย์คือคำตอบ"
ฯลฯ
|
|
|
ห้องเก็บปลาใต้ท้องเรือ
ก็ถูกดัดแปลงเป็นห้องฉายหนัง
และห้องบรรยายในวันเปิดเรือ
ให้คนมาเยี่ยมชม
กั้นอีกส่วนหนึ่งเป็นห้องมืดสำหรับล้างรูป
ในห้องเก็บของ
นอกจากเครื่องไม้เครื่องมือ
ที่เรือสักลำจำเป็นต้องใช้อย่างโซ่
ผ้าใบ สีกันสนิม
อุปกรณ์ดับเพลิงแล้ว
ยังมีชั้นสำหรับเก็บแฟ้มข้อมูลเรื่องมลพิษ
ใบปลิว แผ่นพับ
และบอร์ดนิทรรศการปะปนอยู่ด้วย
เหตุผลสำคัญที่กรีนพีซเลือก เรนโบว์วอริเออร์
แทนที่จะเป็นเรือลำอื่นอย่าง
ซิริอุส, โมบีดิก,
อาร์กติกซันไรส์ หรือ
เอ็มวีกรีนพีซ
ไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า
เอ็มวีกรีนพีซ ติดงานรณรงค์
เพื่อปกป้องป่าไม้ในแอฟริกา
โมบีดิกมีงานประจำอยู่ในแถบทะเลเหนือ
และทะเลบอลติก หรือว่า
อาร์กติกซันไรส์ถูกออกแบบมา
สำหรับภารกิจในทะเลน้ำแข็ง
แต่เป็นเพราะกรีนพีซ
ถือว่านักรบสายรุ้งลำนี้เป็น "ธง" ของพวกเขาต่างหาก
นั่นหมายความว่า
กรีนพีซไม่ได้ส่งมันมา
เพียงเพื่อปฏิบัติภารกิจที่ชื่อว่า
"รณรงค์เพื่อเอเชียปลอดมลพิษ"
ซึ่งเริ่มขึ้นที่อินเดียในเดือนพฤศจิกายน
๒๕๔๒
มาถึงประเทศไทยปลายเดือนมกราคม
๒๕๔๓ ประกาศตั้งสำนักงานกรีนพีซ
ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่กรุงเทพมหานครเนื่องจากเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
การเมืองมั่นคง
และภาคประชาสังคมเข้มแข็ง
พอถึงเดือนกุมภาพันธ์
ก็ออกเดินทางต่อไปฟิลิปปินส์
ฮ่องกง
และสิ้นสุดการรณรงค์ที่ญี่ปุ่น
ในเดือนเมษายนเพียงเท่านั้น
การปรากฏตัวเป็นครั้งแรกของ
เรนโบว์วอริเออร์ ในภูมิภาคนี้
เป็นสัญลักษณ์ว่ากรีนพีซได้
"ปักธง" ลงแล้วในเอเชีย
ดินแดนที่พวกเขาบอกว่า
กำลังกลายเป็นสมรภูมิสำคัญ
ในการทำสงครามเพื่อปกป้องผืนโลก
"ได้โปรดอย่าใช้เทคโนโลยีสกปรก
ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เราไม่อยากให้เอเชียทำผิดพลาด
เหมือนกับที่ประเทศในแถบตะวันตก
เคยทำมาแล้ว
ความมั่นคงของระบบนิเวศวิทยา
จะต้องถูกทำลายลงแน่
หากไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวเอเชีย"
ข้อเรียกร้องและความวิตกกังวลของกรีนพีซ
ทำให้สิ่งที่เหมือนว่ารู้จักคุ้นเคย
หากแต่อยู่ไกลแสนไกลในความเป็นจริงปรากฏตัวขึ้นที่นี่
หนึ่งอาทิตย์บนเรือนักรบสายรุ้ง
เราตื่นเต้นทุกครั้งที่สายตาพบกับตัวหนังสือ
Greenpeace
บนเรือยางหรือหลังเสื้อชูชีพสีส้ม
ที่ลูกเรือสวมใส่ประจำ
ได้มองดูเรือลำนี้จากที่ไกล ๆ
เห็นแถบรุ้ง นกพิราบสีขาว
และชื่อ Rainbow Warrior
ที่เขียนไว้ตรงหัวเรือครั้งใดก็ยิ่งรู้สึกว่า
การได้ใช้เวลาร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งบนเรือลำหนึ่ง
ที่เต็มไปด้วยตำนาน
และออกเดินทางเพื่อสร้างตำนาน
อย่างนี้ช่างวิเศษนัก
คงเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างจากเด็กน้อยชาวฟิลิปปินส์คนนั้น
เมื่อเรือออกจากกรุงเทพฯ
และเดินทางถึงฟิลิปปินส์
ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
มีข่าวว่า คริเซล วาเลนเซีย
เด็กหญิงวัยหกขวบคนหนึ่ง
ซึ่งเกิดในเขตชุมชนที่เต็มไปด้วยโลหะหนัก
และสารพิษนานาชนิด
ได้เสียชีวิตลงระหว่างมาเที่ยวบนเรือ
เรนโบว์วอริเออร์ เธอป่วย
เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย
คริเซลใฝ่ฝันมานานแล้วว่า
จะได้พบกับตัวจริงของเรือ
เรนโบว์วอริเออร์สักครั้ง
เมื่อรู้ว่าเรือจะมาฟิลิปปินส์
เธอได้แต่นับวันรอ
ซื้อรองเท้าคู่ใหม่เตรียมไว้
และนั่งลงวาดรูปเรือนักรบสายรุ้ง
ซึ่งภายหลังถูกนำมาพิมพ์
เป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม
ของเรือในฟิลิปปินส์ด้วย
อาจเป็นจริงอย่างที่บุช
พยาบาลประจำเรือบอก
คริเซลคงจากโลกนี้ไปตั้งนานแล้ว
ถ้าไม่มีวันที่เธอจะได้พบกับนักรบสายรุ้งให้รอคอย
ใต้ผืนฟ้ากว้าง
จะมีอะไรสักกี่อย่างที่เป็นความหวัง
และมีความหมายต่อจิตใจของผู้คน
ในที่ต่างกันได้เสมอเหมือนกันเช่นนี้
|
|
|
"เรือมันก็เป็นแค่โครงเหล็กขนาดมหึมา"
มาทิอัสชวนคุยขณะที่เรือยังจอดอยู่หน้าเกาะสมุย
"แต่ เรนโบว์วอริเออร์
ไม่เหมือนลำอื่น ลูกเรือ
และตำนานของมันทำให้เรือลำนี้มีชีวิต
และจิตวิญญาณขึ้นมา"
ที่สะพานเดินเรือ
เราจะได้คุยกับใครคนใดคนหนึ่งอย่างนี้เสมอ
ถ้าไม่ใช่กัปตันเรือ
ก็จะเป็นปีเตอร์ มาทิอัส
หรือเฮ็ตตี
ผู้ช่วยกัปตันทั้งสามคน
จะผลัดกันมาประจำการที่นี่คนละสี่ชั่วโมง
บ่ายวันนี้เป็นเวรของมาทิอัส
ผู้ช่วยกัปตันชาวอาร์เจนตินาวัย
๒๘
คนนี้เคยทำงานกับเรือบรรทุกสินค้า
และเรือบรรทุกน้ำมันมานานหลายปี
(ลูกเรือ เรนโบว์วอริเออร์
หลายคนก็มีเบื้องหลังอย่างนี้)
เขาไม่ต้องการ
"เป็นแค่คนขับเรือ"
ที่เดินทางไปกลับอยู่ในเส้นทางเดิม
ๆ
แต่นึกอยากทำอะไรที่ได้ใช้ความคิด
และจินตนาการบ้าง เมื่อ
เรนโบว์วอริเออร์
เดินทางไปรณรงค์เรื่องมลพิษที่อาร์เจนตินา
เมื่อปี ๒๕๓๗
เขารู้ทันทีว่านี่คือคำตอบ
เพราะมันคือการผสมผสานกัน
อย่างลงตัวที่สุด
ระหว่างการขับเรือที่เขารัก
กับการทำงานด้านความคิดที่เขาชอบ
"เรื่องราวในอดีต"
ที่มาทิอัสพูดถึงอาจย้อนไปได้ไกลถึงปี
๒๕๑๔ ในวันที่คนกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งเรียกตัวเองว่า "Don't Make a Wave
Committee"
รวบรวมเงินซื้อเรือหาปลาผุ ๆ พัง
ๆ
ลำหนึ่งแล้วออกเดินทางฝ่าคลื่นลม
ไปประท้วงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์
ในดินแดนที่ชื่อว่า อัมชิตกา
มลรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา
ซึ่งตั้งอยู่บนรอยร้าวของเปลือกโลก
เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว
และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด
แต่ความบ้าคลั่งของท้องทะเล
และข่าวว่าสหรัฐอเมริกาเลื่อนการทดลอง
ระเบิดนิวเคลียร์ออกไปไม่มีกำหนดแน่นอน
ทำให้พวกเขาตัดสินใจล่าถอยกลับมาก่อน
แต่ยังไม่เลิกรา
เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด
นิกสัน
ตกลงใจจะทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์อีกครั้ง
คนกลุ่มนี้
ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น
"Greenpeace"
ก็ช่วยกันหาเงินซื้อเรือลำใหม่
และมุ่งหน้าไปอัมชิตกาอีกครั้ง
ปรากฏว่าในวันที่สหรัฐอเมริกาทดลองระเบิดนั้น
เรือของกลุ่มกรีนพีซยังอยู่ห่างจากจุดหมาย
ถึง ๑,๒๐๐ กิโลเมตร
ถึงจะล้มเหลวอีก
แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้เป็นชนวนให้เกิดการประท้วง
และคว่ำบาตรอย่างรุนแรง
จากสาธารณชนจนรัฐบาลสหรัฐฯ
ยกเลิกการทดลองระเบิดนิวเคลียร์
ที่อัมชิตกาอย่างสิ้นเชิง
แต่ก็อาจเป็นไปได้มากว่าเรื่องราวในอดีตที่ทำให้
เรนโบว์วอริเออร์
กลายเป็นเรือที่มีจิตวิญญาณขึ้นมานี้
จะหมายถึงเหตุการณ์ในปี ๒๕๒๘
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม เรือ
เรนโบว์วอริเออร์
จอดเทียบท่าอยู่ที่นิวซีแลนด์
เตรียมพร้อมสำหรับออกเดินทาง
เพื่อยับยั้งการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส
ที่หมู่เกาะมูรูรัว
เวลาห้าทุ่มครึ่ง
เสียงระเบิดลูกแรกดังขึ้นที่ห้องเครื่องยนต์
น้ำทะเลไหลทะลักเข้ามา
และเรือกำลังจะจม ระเบิดลูกที่ ๒
ตามมา ทุกคนหนีลงมาที่ท่า
เว้นแต่ช่างภาพคนหนึ่ง
ที่ติดอยู่ในห้อง เขาจมน้ำตาย
รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธไม่รู้เห็นในตอนต้น
แต่จากการสืบสวนอย่างเข้มข้นของตำรวจนิวซีแลนด์
และสื่อมวลชน
ท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส
ก็สารภาพว่าเป็นสายลับฝรั่งเศสเองที่จมเรือ
เธอปลอมตัวเป็นนักนิเวศวิทยา
เข้ามาเป็นอาสาสมัคร
ที่สำนักงานกรีนพีซประจำนิวซีแลนด์
ทำหน้าที่ส่งเอกสาร รับโทรศัพท์
อ่านเทเลกซ์
จึงไม่แปลกเลยที่ทางฝรั่งเศสจะล่วงรู้
ถึงแผนการของกรีนพีซโดยละเอียด
และส่งสายลับชุดอื่น ๆ
ตามมาทำลายเรือได้ไม่ยากเย็น
ศาลตัดสินจำคุกสายลับฝรั่งเศส
ที่พัวพันกับการจมเรือ
รัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศสถูกบีบให้ลาออก
และรัฐบาลฝรั่งเศสต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ให้กรีนพีซเป็นเงิน ๑๓
ล้านดอลลาร์ |
|
|
เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย
กรีนพีซได้ขอให้ชาวเมารี
แห่งเกาะคาวาลลี
ประเทศนิวซีแลนด์
ประกอบพิธีกรรม
เพื่อส่งเรืออันเป็นที่รักของพวกเขา
ลงสู่ท้องทะเลลึก
ให้เธอได้นอนพักอยู่ที่นั่นตลอดกาล
จากนั้นกรีนพีซก็นำเงินที่รัฐบาลฝรั่งเศสจ่ายชดใช้
ไปซื้อเรือประมงอีกลำหนึ่ง
แล้วเรียกเรือลำนี้ด้วยชื่อเดิม--
"นักรบสายรุ้ง"
มาทิอัสไม่ได้พูดอะไรมากนัก
เกี่ยวกับตำนานเหล่านี้
ตอนที่เรือลำแรกถูกลอบวางระเบิด
เขายังเป็นแค่เด็กมัธยม
อยู่ในกรุงบูเอโนสไอเรส
ไม่รู้ว่ากรีนพีซคืออะไร
ไม่ใส่ใจว่าพวกนักอนุรักษ์ทำอะไรกันบ้าง
เขาไม่ได้เล่าด้วยซ้ำว่า
ระฆังทองเหลือง และพังงาเรือจาก
เรนโบว์วอริเออร์
ลำนั้นถูกนำมาไว้บนเรือลำนี้ด้วย
ดูเหมือนเขาจะมีความสุขมากกว่าเวลาที่ได้คุยถึงเรื่อง
"ลูกเรือ"
งานรณรงค์หนนี้มาทิอัสอยู่บน
เรนโบว์วอริเออร์
มานานสามเดือนแล้ว
เขาบอกว่าไม่เคยรู้สึกแย่ ๆ
เลยแม้แต่ครั้งเดียว
"ลูกเรือบนเรือสินค้าที่ผมเคยทำงานด้วย
คิดอยู่ตลอดเวลาว่า
การอยู่บนเรือเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมาน
ต้องจากบ้าน จากลูกเมีย
ตรงกันข้ามกับลูกเรือ
เรนโบว์วอริเออร์
พวกเขาสนุกกับสิ่งที่ทำ
มีความสุขที่ได้อยู่บนเรือ
ซึ่งมันทำให้ผมมีความสุขไปด้วย
สิ่งนี้เองที่ทำให้
เรนโบว์วอริเออร์
แตกต่างจากเรือลำอื่น"
ปีเตอร์
วิลค็อกซ์, ปีเตอร์ แซนดิสัน, ซาชา,
หลุยส์, ทอม บริกส์, ทอม ลูนนี,
เบ็ตตี, บุช, เอมิลี, เมห์ดิ, ซาบีน,
เฮ็ตตี, ซาเมียร์, โทบี, อันเดรียส,
ยานัวร์
เขาและเธอคือคนที่มาทิอัสพาดพิงถึง
|
|
|
"รู้หรือเปล่าว่าอะไรสนุกตื่นเต้นที่สุดบน
เรนโบว์วอริเออร์"
โทบีถามขึ้นในเย็นวันแรก
ที่เรากับช่างภาพแบกเป้ขึ้นมาบนเรือ
"ลองโดดจากดาดฟ้าเรือลงทะเลดูสิ"
"พูดเป็นเล่น" เราบอก
โทบียิ้ม "ไม่เชื่อก็ลองดู"
หลังข้าวเที่ยงวันนี้ซึ่งเป็นวันที่
๓ ที่ เรนโบว์วอริเออร์
จอดอยู่หน้าเกาะสมุย โทบี
อาสาสมัครชาวออสเตรเลียวัย ๒๒
เป็นคนเริ่มก่อน
เขาเลื่อนราวเหล็กด้านข้างดาดฟ้าเรือออก
ถอยหลังไปสองสามก้าวแล้ววิ่งกระโจนลงสู่ท้องทะเลเบื้องล่าง
ท่ามกลางรอยยิ้ม
และเสียงหัวเราะของเพื่อน ๆ
ที่ยืนเชียร์
เสียงโครมใหญ่ตามมาจากดาดฟ้าท้ายเรือ
ซาชา หัวหน้าวิศวกร
ลงไปแหวกว่ายอยู่ในน้ำทะเลสีเขียวใสนั่นแล้ว
เฮ็ตตี ผู้ช่วยกัปตัน เอมิลี
กะลาสีเรือ แล้วก็คนอื่น ๆ
"เราเรียกมันว่า 'swim stop' "
หลุยส์ ผู้ช่วยวิศวกรชี้แจง
"กลางทะเลที่ไหนก็ตาม
ถ้าอากาศดี ๆ ไม่มีเรื่องเร่งรีบ
แล้วพวกเรานึกอยากว่ายน้ำขึ้นมา
กัปตันก็จะอนุญาตให้หยุดเรือเล่นน้ำกัน"
หรือคนพวกนี้ดั้นด้นไปถึงน่านน้ำต่าง
ๆ ทั่วโลก
เสี่ยงอันตรายกับการแล่นเรือยางเข้าขวางเรือใหญ่
ที่กำลังทิ้งกากนิวเคลียร์ลงทะเล
บุกพ่นสีประท้วงอุตสาหกรรม
ตัดเรือที่ปล่อยคราบน้ำมัน
และเศษเหล็กลงทะเล
ทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผืนน้ำเขียวครามนี้ไว้
เพียงเพื่อให้มันยังสะอาดใส
พอที่จะกระโจนจากดาดฟ้าเรือนักรบสายรุ้งของพวกเขา
ลงไปแหวกว่ายได้อย่างสบายใจเท่านั้น
?
มันเป็นความสุข
ความสนุกที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายเหลือเกิน
เรียบง่ายเช่นเดียวกับสิ่งอื่น
ๆ ที่ดำเนินไปบนเรือลำนี้
ทุกเช้า
ซาบีนจะเป็นคนปลุกพรรคพวก
โดยเดินเคาะประตูห้องนอนตอนเจ็ดโมงครึ่ง
(คนที่เข้าเวรกลางคืนนอนต่อได้)
อาหารเช้าแบบตัวใครตัวมัน
ที่มีบริการบนเรือ
หนีไม่พ้นธัญพืชกับแผ่นข้าวโพดอบกรอบราดนมสด
ขนมปังกับเนยแข็ง
หรือแยมกับกาแฟ และน้ำผลไม้
งานเริ่มตอนแปดโมงเช้า
ทอมจะไปขลุกอยู่ในห้องวิทยุ
และอุปกรณ์สื่อสารของเขา
ซาบีนกับเมห์ดิง่วนอยู่กับการซ่อมเครื่องยนต์เรือยาง
ลุงทอมคอยคุมพวกเด็ก ๆ คือ
ซาเมียร์ เอมิลี และโทบี
ทาสีกันสนิมบนดาดฟ้าเรือ
หรือไม่ก็ช่วยกันทำความสะอาด
เช็ดกระจก ขัดพื้นเรือ
เฮ็ตตีเอาเสื้อชูชีพที่ขาด ๆ
มาปะชุนขณะเข้าเวรที่สะพานเดินเรือ
มาทิอัสกับปีเตอร์ศึกษาแผนที่
และคุยกันเรื่องเส้นทางเดินเรือ
เบ็ตตีลงมืออบขนมปัง
แล้วลงไปเลือกวัตถุดิบที่ห้องเก็บอาหารใต้ท้องเรือ
เพื่อเตรียมทำอาหารมื้อต่อไป
บุชจัดตู้ยาอยู่ในห้องพยาบาล
หลุยส์กับซาชาผลัดเวรกันลงไป
ประจำอยู่ที่ห้องเครื่องยนต์
ส่วนแอนเดรียสก็จัดการกับม้วนวิดีโอ
ที่เขาบันทึกภาพกิจกรรมของชาวกรีนพีซไว้
พอถึงตอนเที่ยง
พวกเขาก็กลับมากินอาหารกลางวันพร้อมกัน
แล้วแยกย้ายไปทำงานต่อถึงห้าโมง
หกโมงตรงเป็นเวลาอาหารเย็น
ตกดึกเป็นเวลาพักผ่อน
ยกเว้นลูกเรือบางคน
ที่ต้องเป็นยามกลางคืน
คอยเดินตรวจดูตามที่ต่าง ๆ
ทุกชั่วโมง |
|
|
แต่ในวันที่ไม่ปรกติ เช่น
มีแผนประท้วงโรงงานเผาขยะที่ภูเก็ต
แถลงข่าวและเจรจากับเจ้าของโรงงานเผาขยะ
บนเกาะสมุย
ร่วมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
กับชาวบ้านกรูดที่ประจวบคีรีขันธ์
วันเปิดเรือให้ประชาชนเข้าชมที่กรุงเทพฯ
มีวิทยากรมาสรุปปัญหา
สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นให้ฟัง
หรือมีอะไรสนุก ๆ
อย่างวันที่พวกลูกเรือจะได้ไปเที่ยวดำน้ำ
ดูปะการังที่เกาะนางยวน
กัปตันก็จะเรียกประชุม ชี้แจง-
นัดหมาย- สั่งงานเป็นครั้ง ๆ ไป
ส่วนกฎระเบียบอื่น ๆ
เท่าที่เห็นก็มีแค่เพียงข้อความในกระดาษเก่า
ๆ
ที่แปะไว้บนบอร์ดข้างทางเดินในเรือเท่านั้น
"เรือลำนี้ทำงานตลอด ๒๔
ชั่วโมง
มีลูกเรืออยู่เวรกลางคืน
ซึ่งหมายความว่า
มีลูกเรือที่นอนหลับพักผ่อนเวลากลางวันด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้น
กรุณาอย่าส่งเสียงดัง...
ในสำนักงานมีคอมพิวเตอร์อยู่สองตัว
เชิญใช้ได้ตามสบาย
ถ้าต้องการใช้โทรศัพท์ทางไกล
ให้แจ้งกับพนักงานวิทยุสื่อสาร
ไม่ต้องเสียเงินถ้าติดต่อเรื่องงาน...
ถ้าหิวก็หาอะไรกินได้ในครัว
แม่ครัวยินดีจะเอาของว่างมาเติมไว้ให้เสมอ...
อาหาร และเครื่องดื่ม
ทุกอย่างฟรีหมด
ยกเว้นเบียร์กับน้ำอัดลม...
ล้างจาน และแก้วน้ำของตัวเอง...
แยกขยะก่อนทิ้ง...
ทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้...
เอาผ้าปูที่นอนกับปลอกหมอนไปซักก่อนกลับบ้าน...
อาสาอยู่เวรกลางคืนบ้าง...
ห้ามอาบน้ำระหว่าง ๗.๐๐-๙.๐๐ น.
จนกว่าเวรทำความสะอาดเรือ
รอบเช้าจะเสร็จงาน
และจะได้ไม่รบกวนคนที่ยังไม่ตื่นด้วย"
การเดินเรือออกสู่ทะเลไกล
ข้ามน่านน้ำ ข้ามทวีป
ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย
และการที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทั้งเพศ วัย เชื้อชาติ
และวัฒนธรรมมาอยู่รวมกัน
ทำงานร่วมกันนานนับเดือน
ก็คงยุ่งยากวุ่นวายไม่น้อยกว่ากัน
แต่พวกเขาก็ยังคงเดินทางจากจุดหมายหนึ่ง
สู่อีกจุดหมายหนึ่ง
จากงานหนึ่งสู่งานหนึ่ง
ราวกับว่าทั้งหมดนี้ช่างเป็นเรื่องง่ายดาย
อาจเพราะลูกเรือส่วนใหญ่เป็นนักเดินเรือ
"มืออาชีพ"
ที่มีประสบการณ์ทำงาน
กับเรือสินค้า
หรือเรือบรรทุกน้ำมัน
มาคนละหลาย ๆ ปี
ก่อนจะย้ายมาทำงานกับเรือของกรีนพีซ
และถ้าไม่ใช่เพราะกาลเวลา
กับประสบการณ์ที่กรีนพีซ และ
เรนโบว์วอริเออร์
ผ่านพ้นมาที่เป็นตัวขัดเกลา
ลบเหลี่ยมมุมอันเป็นอุปสรรค
ในการอยู่ร่วมกันของลูกเรือออกไปทีละน้อย
ก็คงเป็นเพราะการใช้ชีวิตเยี่ยง
"นักอนุรักษ์" และ "วิธีคิด"
บางอย่างของลูกเรือนั่นเอง
ที่ทำให้เรือลำนี้เต็มไปด้วยความเรียบง่าย
ราบรื่นและลงตัว
"ผมเตรียมใจไว้แล้ว"
มาทิอัสพูด
"ผมรู้ว่าจะต้องเจอผู้คนหลากหลายบนเรือลำนี้
เพราะพวกเรามีที่มาต่างกัน
แถมยังเดินทางไปเจอวัฒนธรรม
ที่ไม่ซ้ำกันเลย ในแต่ละประเทศ
แต่นี่คือสิ่งดี ๆ
อย่างหนึ่งของการได้อยู่บนเรือลำนี้
มันสอนให้ผมรู้จักทำตัวดี ๆ
และเคารพความคิดคนอื่น"
ซาชาก็คิดไม่ต่างจากมาทิอัส
หัวหน้าวิศวกรชาวรัสเซีย
ที่บอกว่า การอยู่ร่วมกับคนอื่น
ในพื้นที่อันจำกัดอย่างนี้
ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า
ควรจะปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นอย่างไร
"มันไม่มีประโยชน์อะไร
ที่เราเที่ยวไปทำตัวดีกับใครต่อใคร
แต่ไม่สามารถเป็นมิตรที่ดี
กับคนที่อยู่ใกล้ชิดเราได้
ผมว่าเราจะต้องเริ่ม
จากการทำให้คนข้างเคียงมีความสุขเสียก่อน"
และถึงที่สุดแล้วความเรียบง่ายที่เห็น
อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก
"ความเหมือน"
ที่หลุยส์เคยพูดถึง
"เราอาจจะแตกต่างกันไปหมดเสียทุกอย่าง
แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเรามีเหมือนกัน
และร้อยรัดเราไว้ด้วยกันก็คือ
ความเชื่อ-
เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ
เชื่อว่าทุกคนสามารถทำอะไรบางอย่าง
เพื่อปกป้องโลกใบนี้ไว้ได้
ถ้าเราปล่อยให้พวกนายทุน
หรือนักการเมืองทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป
ก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ชัด
ๆ
"เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ไม่ใช่ผู้ครอบครองเป็นเจ้าของ
เราตระหนักว่ามลพิษ
ที่เราสร้างขึ้น
จะส่งผลกระทบถึงที่อื่น ๆ ด้วย
เพราะโลกทั้งใบ
คือครอบครัวเดียวกัน
และที่สำคัญ
พวกเราอยากให้โลกดีกว่าที่เป็นอยู่"
...ปีเตอร์
ผู้ช่วยกัปตันวัย ๓๐
จะเปิดซีดีเพลงคลาสสิก
หรือไม่ก็ไอริชเสมอ
เวลาทำงานอยู่ที่สะพานเดินเรือ
ถ้าถึงเวรมาทิอัส
มันจะถูกเปลี่ยนเป็นเพลงสเปน,
โทบี อาสาสมัครชาวออสเตรเลีย
ซาเมียร์ อาสาสมัครจากอินเดีย
และซาชา
หัวหน้าวิศวกรชาวรัสเซีย
กินแต่อาหารมังสวิรัติเท่านั้น,
ป้าเบ็ตตีแม่ครัวชาวนิวยอร์กวัย
๖๐ พอใจจะหลบไปกินอาหารคนเดียว
ในห้องนอนของเธอ
ด้วยเหตุผลที่ว่า
"บางทีเราก็ต้องการเวลาอยู่คนเดียวบ้าง",
เอมิลีกับเฮ็ตตีคู่ซี้
มักจะหนีขึ้นมากินอาหารด้วยกันที่หน้าสะพานเดินเรือ,
ลุงทอมแอบมานั่งทอดอารมณ์
อยู่ที่ท้ายเรือคนเดียวทุกวันหลังมื้อเย็น,
เมห์ดิช่างเครื่องยนต์ชาวตูนิเซีย
ชวนคนโน้นคนนี้คุยไม่หยุดหย่อน,
ทอม
คนส่งวิทยุสื่อสารขลุกอยู่แต่ในห้องทำงานของเขา
และไม่ค่อยจะยอมคุยกับใครนาน ๆ
ฯลฯ
ถ้ายึดตามคำบอกเล่าของหลุยส์
ความแตกต่าง
และพฤติกรรมที่หลากหลายเหล่านี้
ย่อมไม่มีความหมายอะไรเลย
เพราะมันดำรงอยู่ภายใต้ความเหมือนที่ยิ่งใหญ่
"อยากให้โลกดีกว่าที่เป็น" |
|
|
"ผมเคยเป็นวิศวกรประจำเรือลำอื่น
ของกรีนพีซมาแล้ว
แต่บอกไม่ถูกว่าทำไมถึงชอบ
เรนโบว์วอริเออร์ มากที่สุด
สำหรับผมมันไม่ได้เป็นแค่เรือ
มันคือบ้าน
ถึงจะมาทำงานแค่คราวละสี่เดือนก็เถอะ
แต่ถ้านับรวมกันแล้ว ปี ค.ศ. ๑๙๙๘
ผมอยู่บนเรือลำนี้แปดเดือนครึ่ง
ปีที่แล้วอยู่ทั้งหมดเก้าเดือน
ผมใช้ชีวิตอยู่กับมันนานพอจะเรียก
เรนโบว์วอริเออร์
ว่าบ้านได้เต็มปากเลยละ"
หลุยส์
ผู้ช่วยวิศวกรประจำเรือ
นั่งคุยอยู่บนเปลประจำตัวที่เขาหอบขึ้นมาผูกไว้บนดาดฟ้าเรือตั้งแต่หัวค่ำ
เดี๋ยวเขาจะต้องลงไปที่ห้องเครื่องยนต์
เตรียมเครื่องให้พร้อมสำหรับออกเดินทาง
ไปประจวบคีรีขันธ์ตอนเที่ยงคืน
ตามคำสั่งของกัปตัน
ซึ่งวางแผนร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รณรงค์ภาคพื้นดิน
และผู้ประสานงานกรีนพีซประจำประเทศไทย
ที่ต้องการให้กองทัพนักรบสายรุ้ง
ไปพบชาวประจวบฯ ในตอนสาย ๆ
ของวันพรุ่งนี้
บ้านของหลุยส์อยู่ที่โคลัมเบีย
เขาเขียนจดหมายสมัครงาน
กับกรีนพีซทันทีที่เรียนจบ
แต่ต้องรอนานถึงห้าปี
กว่าที่สำนักงานใหญ่กรีนพีซในกรุงอัมสเตอร์ดัม
จะเรียกตัวไปเป็นผู้ช่วยวิศวกรประจำเรือ
เอ็มวีกรีนพีซ
แล้วจึงถูกเรียกมาทำงานกับ
เรนโบว์วอริเออร์ ในปี ๒๕๔๐
งานของหลุยส์บน
เรนโบว์วอริเออร์
หนนี้สิ้นสุดลงทันทีที่ถึงกรุงเทพฯ
จากนั้นเขาก็จะกลับบ้าน
ลูกเรือกรีนพีซส่วนมากทำงานกับเรือนานสี่เดือน
หลังจากได้หยุดพักสองสามเดือน
ก็จะถูกเรียกตัวให้ออกเดินทางไปกับเรือลำอื่น
หรืออาจเป็นลำเดิม
ซึ่งทำงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
อยู่ในทะเลใดทะเลหนึ่งตลอดทั้งปี
"ปี ค.ศ. ๑๙๙๗ เราแล่นเรือ
เรนโบว์วอริเออร์
จากเม็กซิโกไปฮาวาย
เพื่อปลุกกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในทะเลแปซิฟิก ปี ค.ศ. ๑๙๙๘
ผมลงเรือที่ออสเตรเลียแล้วไปทำงานรณรงค์
เรื่องการใช้พลังงานทางเลือกในนิวซีแลนด์
จากนิวซีแลนด์ เราใช้เวลาประมาณ
๕๐ วันเดินทางไปถึงเม็กซิโก
เพื่อรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์แนวปะการัง
หลังจากอยู่บนเรือนานถึงห้าเดือนครึ่ง
ผมก็ได้กลับบ้าน
สองอาทิตย์ต่อมา
กรีนพีซขอให้ผมกลับมาที่
เรนโบว์วอริเออร์ อีกสามเดือน
เพราะขาดแคลนวิศวกรกะทันหัน"
ลมเย็นพัดมา
หลุยส์แกว่งเปลของเขา
อย่างสบายอารมณ์
"ผมตอบตกลงทุกครั้ง
ที่กรีนพีซเรียกตัวมา"
ตำแหน่งที่ต้องอาศัย
"มืออาชีพ" อย่างกัปตัน
ผู้ช่วยกัปตัน สรั่งเรือ
คนส่งวิทยุสื่อสาร
หรือวิศวกรดูแลเครื่องยนต์อย่างหลุยส์
มักถูกกรีนพีซ
ติดต่อให้กลับมาบนเรือบ่อยกว่าเพื่อน
และอาจต้องเดินทางไปกับเรือนานกว่าสี่เดือน
เพราะกรีนพีซ
มีนักเดินเรือมืออาชีพอยู่น้อยคน
เนื่องจากน้อยคนจะไม่สนเงินค่าจ้าง
ที่เรือบรรทุกสินค้า
หรือเรือบรรทุกน้ำมัน
จ่ายให้มากกว่ากรีนพีซถึงสามเท่า
น้อยคนจะทิ้งห้องนอนกว้างขวาง
พร้อมห้องน้ำในตัว
มานอนบนเตียงสองชั้นแคบ ๆ
ในเคบินเล็ก ๆ อับ ๆ
กับลูกเรือคนอื่น
ต้องใช้ห้องน้ำรวม กวาดถูพื้น
ล้างจาน ซักผ้าปูที่นอนเอง
และน้อยคนจะคิดอย่างซาชาว่า "อยากทำอะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์บ้าง"
หรือเห็นว่า
"เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่" เหมือนกับหลุยส์
ส่วนลูกเรือตำแหน่งอื่น ๆ
รวมทั้งอาสาสมัคร
ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน
กับเรือมาก่อนก็ได้ เขาและเธอ
มักจะเป็นเจ้าหน้ากรีนพีซ
ที่ทำงานในส่วนอื่น เช่น
ฝ่ายระดมทุน ฝ่ายกิจกรรมรณรงค์
หรือประจำอยู่ในสำนักงาน
แต่อยากออกเดินทางเพื่อลองทำอะไรใหม่
ๆ ดูบ้าง
นอกจากนี้
เรนโบว์วอริเออร์
ยังมีลูกเรือขาจรอย่าง
อันเดรียส
ช่างภาพวิดีโอจากสวีเดน
ที่กรีนพีซส่งมาบันทึกภาพ ๒๓
วันของ เรนโบว์วอริเออร์
ในประเทศไทยโดยเฉพาะ
ก่อนจะถูกเรียกตัวไปบันทึกภาพประท้วง
การล่าปลาวาฬในนอร์เวย์
พี่ป้อมหนุ่มใหญ่ชาวภูเก็ต
เป็นลูกเรือขาจรอีกคนหนึ่ง
ซึ่งกรีนพีซจ้างมาเป็นพ่อครัวประจำเรือ
เฉพาะเวลาที่อยู่ในเมืองไทย
เนื่องจากมีความคิด
ที่กลายมาเป็นกฎอ่อน ๆ ว่า
ถ้าเรือไปถึงประเทศไหน
จะต้องจ้างคนท้องถิ่นมาเป็นพ่อครัวประจำเรือ
เพื่อให้ลูกเรือได้เปลี่ยนรสชาติอาหาร
และ "รู้จัก"
ที่ที่ไปเยือนมากขึ้น
เรนโบว์วอริเออร์
จึงมีลูกเรือที่เพิ่งเดินทางมาถึง
และกำลังจะจากไปเสมอ
บางคนเพิ่งเคยเห็นหน้ากัน
บางคนเคยรอนแรมด้วยกันมาก่อนแล้ว
บนเรือลำอื่น
ความรู้สึกอันหลากหลายจึงก่อตัวขึ้น--
ตื่นเต้นเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่บนเรือ
คิดถึงเมื่อต้องจากไป
อบอุ่นใจที่ได้กลับคืนมา
หรือไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะไป ๆ
มา ๆ เสียจนชิน |
|
|
ที่กรุงเทพฯ
กรีนพีซจะส่งผู้ช่วยวิศวกรคนใหม่มาแทนหลุยส์
ช่างภาพแทนอันเดรียส
ที่ฟิลิปปินส
จะมีแม่ครัวอีกคนมารับหน้าที่แทนเบ็ตตี
ผู้ช่วยกัปตันแทนมาทิอัส
อาสาสมัครแทนโทบี
ส่วนหัวหน้าวิศวกรคนใหม่จะมารับงานต่อจากซาชาที่ฮ่องกง
"ฝ่ายกิจกรรมทางทะเล"
(Marine Division)
เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดนี้
คอยจัดการว่าลูกเรือคนไหนจะไปจะมา
ใครจะลงเรือที่ไหน เมื่อไหร่
ทั้งยังเป็นผู้วางแผนการ
เกี่ยวกับเรือทุกลำของกรีนพีซอีกด้วย--
มิถุนายนถึงกันยายน ปี ค.ศ. ๒๐๐๐
ให้ อาร์กติกซันไรส์ ไปรณรงค์
เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ในแถบขั้วโลกเหนือ
จากนั้นเรือต้องไปให้ถึงลอสแองเจลีส
ภายใน ๔๐
วันเพื่อรณรงค์เรื่องสารพิษ,
กรกฎาคม ส่ง เอ็มวีกรีนพีซ
ไปอังกฤษ
คัดค้านเทคโนโลยีการตัดต่อยีน
ตุลาคมเตรียมเรือให้พร้อม
สำหรับรณรงค์
เรื่องการใช้พลังงานลมในยุโรป
ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ของ
เรนโบว์วอริเออร์
ก็สนุกวุ่นวายไม่แพ้กัน
จบงานเรื่องสารพิษในเอเชียแล้ว
ต้องไปรณรงค์เรื่องป่าไม้ในรัสเซีย
กรกฎาคมมี "แอ็กชัน"
ที่การประชุมประเทศกลุ่ม G8
กลางเดือนสิงหาคม
เรือจะอยู่ที่ออสเตรเลีย
เพื่อเติมสีเขียวให้แก่
การแข่งขันโอลิมปิก
พฤศจิกายนมันจะถูกนำไปซ่อมบำรุง
ก่อนออกตระเวนในมหาสมุทรแปซิฟิก
ตลอดเดือนธันวาคม
แม้จะมีบทบาทค่อนข้างมาก
เพราะกรีนพีซเกิดจากทะเล
และเลือกให้ "เรือ"
เป็นดารานำในเรื่องราวนับร้อยนับพัน
ที่พวกเขาสร้างขึ้นตลอด ๒๘
ปีที่ผ่านมา
แต่ฝ่ายกิจกรรมทางทะเล
คนที่ทำงานกับเรือ และ
เรนโบว์วอริเออร์
ย่อมไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของกรีนพีซ
"คนที่ทำงานหนักจริง ๆ
คือ พวกที่ทำงานบนฝั่ง"
มาทิอัสเคยบอก
"พวกเขาต้องค้นคว้าข้อมูล
และเลือกประเด็นที่จะพูดถึง
ในแต่ละพื้นที่ เขียนแถลงการณ์
คอยหา 'มุข' ที่จะใช้ในการประท้วง
เพื่อเรียกร้องความสนใจ
ประสานงานกับสื่อมวลชน
วางแผนว่าจะมีกิจกรรมอะไร
ที่ไหน เมื่อไหร่
ปวดหัวกับเรื่องกฎหมาย
และข้อจำกัดด้านสังคม
วัฒนธรรมในแต่ละประเทศที่เราไป"
สำหรับโครงการเอเชียปลอดมลพิษ
"พวกที่ทำงานบนฝั่ง" หรือ campaigners
ได้แก่
แม็ตกับทวิลลีจากกรีนพีซออสเตรเลีย
และ ธารา บัวคำศรี
เจ้าหน้าที่กรีนพีซประจำประเทศไทย
พวกเขาผลุบ ๆ โผล่ ๆ
เหมือนวิญญาณเร่ร่อน
ไม่ได้เดินทางไปกับเรือ
แต่จะปรากฏตัวขึ้นในทุกหนแห่งที่
เรนโบว์วอริเออร์
และพวกลูกเรือไปถึง
พวกเขาจะมาพร้อมกับแฟ้มข้อมูล
ใบแถลงข่าว
ป้ายผ้าประท้วงและอุปกรณ์อื่น ๆ
ที่จำเป็นต้องใช้
ในกิจกรรมแต่ละครั้ง
เป็นพวกเขานั่นเอง
ที่วางแผนเอาป้าย
"หยุดใช้เทคโนโลยีการเผา"
ไปปักรอบ ๆ
โรงงานเผาขยะที่ภูเก็ต
เข้าไปชี้แจงเหตุผล
ที่กรีนพีซต่อต้านโรงงานเผาขยะ
กับเจ้าของโรงงานที่เกาะสมุย
จัดแจงหาถังใส่ขี้เถ้าจากเตาเผาขยะไป
"คืน"
ให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกเทคโนโลยีชนิดนี้
และก่อนหน้าจะมีการประชุมสหประชาชาติ
ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)
ที่กรุงเทพฯ หนึ่งวัน
ก็เป็นพวกเขาอีก
ที่ตัดสินใจเอาป้ายผ้าผืนยักษ์
ที่เขียนว่า UNCTAD = UN Conference on Toxic Trade And Destruction
(การประชุมสหประชาชาติ
ว่าด้วยการค้าสารพิษ
และการทำลายล้าง)
ไปขึงที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เพราะกรีนพีซไม่ชอบใจ
ที่อังค์ถัดมีบทบาทในการส่งเสริม
ให้มีการส่งออกกากของเสีย
ที่เป็นพิษจากประเทศที่ก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม
มาสู่ประเทศที่ด้อยกว่า |
|
|
ทั้งหมดนี้ทำให้เรานึกถึงคำพูดของยานัวร์
"สิ่งที่พวกเราทำ คือ
การเป็นประจักษ์พยาน"
เจ้าหน้าที่กรีนพีซชาวอินโดนีเซีย
พูดขึ้นในเย็นวันหนึ่ง
"เราทำตัวเป็นพยานที่รู้เห็น
ถึงความไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย
ที่มีคนกระทำต่อโลก"
"bearing witness" หรือ
การเป็นประจักษ์พยาน คือ
การไปปรากฏตัวอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ
เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยและประท้วงอย่างอหิงสา
มันเป็นวิธีการที่กลุ่มผู้นับถือศาสนาเควกเกอร์
ใช้ต่อต้านการทดลองระเบิดไฮโดรเจน
ที่หมู่เกาะบิกินีในปี ๒๕๐๑
ชาวกรีนพีซรุ่นบุกเบิก
เห็นว่ามันเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีพลัง
จึงนำมาใช้บ้าง
ถ้ายานัวร์ไม่เอ่ยคำสำคัญนี้ขึ้นมาในเย็นวันนั้น
เราคงหลงลืมมันไปแล้ว
และไม่รู้จะหาอะไรมาอธิบาย
สิ่งที่พวกกรีนพีซ-- ทั้งคนบนเรือ
และคนบนฝั่งอย่างทวิลลี แม็ต
ธารา และคนอื่น ๆ ได้ทำลงไป
แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบาย
หรือบทสรุปที่ง่ายดาย
และสวยสดงดงามเกินไปสักหน่อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หลังจากที่เราพบเอกสารฉบับหนึ่งในห้องสำนักงาน
ของเรือ เรนโบว์วอริเออร์
เข้าโดยบังเอิญ
"...เราต้องกล้าเสี่ยง
เหวี่ยงความมั่นคงปลอดภัยทิ้งไปเสียบ้าง
แล้วยืนหยัดเพื่อประกาศ
และทำในสิ่งที่เราเชื่อ
นี่เรายังพร้อมที่จะเสี่ยงภัย
เหมือนกับในอดีตกันอยู่หรือเปล่า
เป้าหมายของเราคือ
ปกป้องสิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่ปกป้ององค์กรของตัวเอง
ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป
เราคงสูญเสียหัวใจ
และจิตวิญญาณของกรีนพีซไปแน่
ๆ"
"มันไม่ฉลาดเลยที่จะประท้วง
เพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจของผู้คน
และสื่อมวลชน
สิ่งที่เราต้องทำคือ ท้าทาย
และพยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
เพราะสิ่งนี้มักจะปกป้อง
และเอื้อประโยชน์ให้แก่คนที่ทำผิดเสมอ"
"ควรจัดอบรม
เรื่องการประท้วงแบบอหิงสา
ให้ลูกเรือบ่อยกว่านี้
พวกเขาไม่ควรมาที่นี่แบบ
'นักท่องเที่ยว"
แต่ต้องร่วมงานในฐานะ
นักกิจกรรมของกรีนพีซคนหนึ่ง"
"เราจะจัดการอย่างไรกับปัญหา
ที่เกิดจากการที่ชาวกรีนพีซส่วนใหญ่
เป็นคนผิวขาว ชาวตะวันตก
และพูดกันแต่ภาษาอังกฤษ ?"
"รูปแบบการประท้วงของกรีนพีซนั้น
ซ้ำซากเสียจนผู้คนชักจะเริ่มเบื่อกันแล้ว..."
ฯลฯ
มันเป็นบันทึกการประชุม
ระหว่างผู้บริหารระดับ "บิ๊ก"
ของกรีนพีซกับลูกเรือ
เอ็มวีกรีนพีซ และ ซิริอุส
ซึ่งจัดขึ้นบนเรือ
เอ็มวีกรีนพีซ ในเดือนกรกฎาคม ปี
๒๕๔๒
ถึงแม้จะเคยได้ยินคนวิพากษ์กรีนพีซมาบ้าง
เช่น
นักข่าวสิ่งแวดล้อมแห่งหนังสือพิมพ์
Sunday Telegraph โจมตีว่า
"กรีนพีซกำลังกลายเป็นองค์กรผลประโยชน์
ที่ถูกครอบงำด้วยขนาดอันใหญ่โตของตัวเอง
และแทนที่เงินทุนส่วนใหญ่
จะถูกนำไปใช้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
สงวนพันธุ์สัตว์ป่า
หรือป้องกันการทำลายระบบนิเวศ
ก็กลับละลายไปกับการแสดงโลดโผน
แผ่นป้ายโฆษณาชวนเชื่อขนาดยักษ์
เรือ
และเงินเดือนของเจ้าหน้าที่"
นิตยสารไทม์ (มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๖)
บอกว่ากรีนพีซ
กำลังเผชิญหน้ากับ
"วิกฤตวัยกลางคน"
และถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแนวทางชัดเจน
ไม่ใช่ทำงานแบบพวกบ้าผจญภัย
อย่างที่แล้ว ๆ มา...
แต่การได้อ่านสิ่งที่ชาวกรีนพีซวิจารณ์ตัวเอง
อย่างถึงลูกถึงคนนั้นให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก
เราไม่รู้ว่าคำตอบของคำถามจากลูกเรือเหล่านี้คืออะไร
และไม่รู้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรงนี้
จะนำไปสู่อะไร
แต่หลังจากที่แอบหยิบบันทึกการประชุมฉบับนี้
เข้ามานอนอ่านในเคบินจนจบ
เราไม่ได้รู้สึกแย่
ที่ได้พบกับข้อบกพร่องที่ซุกซ่อนอยู่
ตรงกันข้าม
เรากลับมีความหวังมากขึ้นกว่าเดิม
|
|
|
"การเดินทางของเรือลำนี้ไม่มีที่สิ้นสุดเอาเสียเลย"
อันเดรียสเอ่ยขึ้นมาลอย ๆ
ในคืนวันที่เรือกำลังมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ,
คืนสุดท้ายที่เราจะได้พักพิงอยู่บน
เรนโบว์วอริเออร์
อันเดรียสคงไม่ได้ตั้งใจจะหมายถึงอะไรทั้งนั้น
แต่คำพูดของเขาก็ทำให้เราคิด
คิดถึงข้อความอันเปี่ยมไปด้วยความหมาย
บนเสื้อยืดเก่า ๆ ที่ซาชา
หัวหน้าวิศวกรใส่เป็นประจำ "You
Can't Sink A Rainbow."
ไม่มีสิ่งใดทำให้การเดินทางเพื่อปกป้องท้องทะเล
และผืนโลกของเรือ
เรนโบว์วอริเออร์สิ้นสุดได้
เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถจมสายรุ้งลง
เมื่อ ๑๕ ปีก่อน
ทันทีที่ข่าวว่า
เรนโบว์วอริเออร์
ถูกระเบิดเสียหาย
ขณะเตรียมตัวเดินทางไปคัดค้าน
การทดลองระเบิดนิวเคลียร์
ที่หมู่เกาะมูรูรัวแพร่สะพัดออกไป
ผู้คนก็แห่กันติดต่อเข้ามาไถ่ถามว่า
จะช่วยอะไรได้บ้าง
ทางกรีนพีซเองก็ยังสับสนจนทำอะไรไม่ถูก
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงตัดปัญหา
โดยให้อาสาสมัครถือกล่องรับบริจาค
ไปตามท้องถนน
พร้อมกับสโลแกนที่คิดขึ้นมาสด ๆ
ร้อน ๆ ว่า
"พวกคุณไม่อาจจมสายรุ้ง"
หาก "สายรุ้ง"
คือตัวแทนของธรรมชาติ "You Can't Sink A
Rainbow." ย่อมเป็นดั่งคำย้ำเตือน
ที่ถูกส่งไปถึงมวลมนุษย์ว่า
ธรรมชาติเป็นวิถีทางที่เราไม่อาจฝืน
หมายเหตุ
:
อ่านเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มอนุรักษ์กรีนพีซเพิ่มเติมได้ใน
"Greenpeace
ขบวนการนักรบแห่งสมรภูมิสีเขียว"
ใน สารคดี ฉบับที่ ๑๕๗, ๑๕๘
ขอขอบคุณ :
คุณธารา บัวคำศรี และคุณอวยพร
สุธนธัญญากร
เจ้าหน้าที่กรีนพีซประจำประเทศไทย
กัปตันและลูกเรือ
เรนโบว์วอริเออร์ ทุกคน
อ่านต่อคลิกที่นี่
|
|
|
|