Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
กำ เ นิ ด ตึ ก ร ะ ฟ้ า
วันชัย ตัน / ภาพประกอบโดย DIN-HIN
 

    เชื่อหรือไม่ว่าตึกระฟ้าที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน
    ๘ ตุลาคม ๒๔๑๔ ณ ฟาร์มโอเลียรีในเมืองชิคาโก วัวน้อยตัวหนึ่ง เตะตะเกียงน้ำมัน จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ฟาร์ม ไฟได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าเมืองกว่าครึ่งเมือง ก็ตกอยู่ในกองเพลิง บ้านไม้กว่า ๑๘,๐๐๐ หลังคาเรือน เสียหายย่อยยับ
    ฝุ่นเถ้าจากเพลิงไหม้ที่ปลิวว่อนไปทั่ว ได้ร่วงหล่นบนปลายเท้า ของวิศวกรก่อสร้างที่ชื่อ วิลเลียม ลี บารอน เจนนี ฉับพลันนั้นเขาก็ได้คิดว่า ที่พักอาศัยไม่ควรสร้างด้วยไม้ซึ่งง่ายต่อการถูกเผาไหม้ และแล้วความคิดเรื่องการสร้างแฟลตขนาดใหญ่ก็ปึ๊งขึ้นมาในสมองของเขา นับว่าเจ้าวัวน้อยตัวนั้น ซึ่งกลายสภาพเป็นวัวย่าง เป็นผู้จุดประกายความคิดใหม่ ๆ ให้โดยไม่ตั้งใจ
    ในปี ๒๔๒๒ นายบารอนได้ก่อสร้างอาคารขนาดเจ็ดชั้น สูง ๔๐ เมตร เป็นอาคารแห่งแรกของโลกที่ใช้โครงสร้างเหล็ก อันเป็นระบบโครงสร้างที่นำฐานรากมารองรับน้ำหนักโดยรวม แทนการใช้กำแพงรับน้ำหนัก นับเป็นการพลิกโฉมหน้าวงการสถาปัตยกรรมเลยทีเดียว
    นิตยสาร Architecture & Living เคยเขียนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า การพัฒนาแบบก้าวกระโดดครั้งนั้น เปรียบเสมือนการที่สัตว์พวกหอยเปลือก ได้วิวัฒนาการข้ามขั้นไปสู่สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเลยทีเดียวŽ
    ครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๙ เอลิชา โอติส ได้ประดิษฐ์ลิฟต์อันเป็นประดิษฐกรรมที่ช่วยลดภาระการตะเกียกตะกายขึ้นบันไดไปยังชั้นสูง ๆ ของตึก ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
    ในปี ๒๔๓๔ ตึกโมนาร์ดน็อกตั้งตระหง่านอยู่ในชิคาโกด้วยความสูง ๑๗ ชั้น และคำว่า "ตึกระฟ้า" เริ่มถูกนำมาใช้
    ตำแหน่งผู้ครองสถิติตึกที่สูงที่สุดในโลกนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในปี ๒๔๔๕ เจ้าของสถิติคืออาคารแฟลติรอนบนถนนบรอดเวย์ ด้วยความสูง ๘๗ เมตร ในปี ๒๔๗๔ ตำแหน่งตกเป็นของตึกเอ็มไพร์สเตตซึ่งสูง ๓๘๑ เมตร ๑๐๒ ชั้น และในปี ๒๕๑๖ อาคารเวิลเทรดเซ็นเตอร์ และทาวเวอร์แฝดของมัน ก็ได้โค่นสถิติเก่าลงด้วยความสูงที่ ๔๑๕ เมตร อาคารแห่งนี้ต้อนรับคนทำงานจำนวนแสนคนและผู้มาเยือนในแต่ละวันอีกกว่า ๘ หมื่นคน มีลิฟต์สำหรับบริการรายรอบอาคารถึง ๙๙ ตัว
    หลังจากนั้นหนึ่งปี ตึกในชิคาโกกลับมาครองแชมป์อีกครั้ง ด้วยความสูง ๔๔๓ เมตรของตึก
เซียร์ทาวเวอร์
    ในปี ๒๕๓๙ ชาวมาเลเซียตัดหน้าชาวอเมริกัน เมื่อตึกเพโทรเนสทาวเวอร์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทำสถิติไว้ที่ความสูง ๔๕๐ เมตร ในขณะที่คู่แข่งสำคัญในนครเซี่ยงไฮ้ กำลังรีบเร่งสร้างตึกสูง ๔๖๐ เมตร
    ในยุโรปนั้น พวกตึกระฟ้าดูค่อนข้างจะถ่อมตัวเล็กน้อย ถ้าเปรียบเทียบกับพวกยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เช่นตึกระฟ้าในแฟรงก์เฟิร์ตที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อ นอร์แมน ฟอสเตอร์ เป็นเจ้าของสถิติตึกสูงสุดในยุโรปด้วยความสูงเพียง ๒๕๘ เมตร
    อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของการสร้างตึกระฟ้า ที่บรรดานักสร้างทั้งหลายยังแก้ไม่ตกก็คือ ภายในตัวอาคารจะมืดและจะต้องควบคุมอากาศภายในด้วยเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้ บนยอดตึกจะแกว่งตัวไปมา ทำให้คนที่อยู่ชั้นสูงเกิดอาการเหมือนเมาเรือ ยิ่งหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ตึกระฟ้าก็จะกลายเป็นตึกนรกทันที
    แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็ไม่อาจหยุดยั้งเหล่าวิศวกร และสถาปนิกที่ชอบเอาชนะโจทย์ยาก ๆ ทุกวันนี้กำลังมีการสร้างตึกระฟ้าใหม่ ๆ หลายแห่งในโลก เช่น ตึกมหึมาสูง ๕๘๐ เมตร ๑๐๒ ชั้นในฮ่องกง และอาคารสำนักงานสูง ๖๐๙ เมตร ๑๐๘ ชั้นในชิคาโก และงานชิ้นที่ท้าทายที่สุดอยู่ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทางการเพิ่งอนุญาตให้มีการก่อสร้างตึกสูง ๖๗๐ เมตร    
    บรรดานักสร้างทั้งหลายรู้กันดีว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถทำให้มนุษย์ก่อสร้างตึกได้สูงถึง ๘๐๐ เมตร
    แต่มนุษย์คงไม่หยุดอยู่ความทะเยอทะยานอยู่แค่นั้น เมื่อนักคณิตศาสตร์ได้คำนวณไว้ในทางทฤษฎีว่า ตึกหลังหนึ่งจะมีความสูงได้สูงสุดที่ ๖,๐๐๐ เมตร ก่อนที่มันจะถล่มลงมาเพราะทานน้ำหนักตัวเองไม่ไหว
    หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แพ้ภัยตัวเอง


 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
โครงการขุดคอคอดกระ ฝันดีหรือฝันร้ายของนักลงทุน

การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | การมาถึงของ "นักรบสายรุ้ง" : จากตำนานสู่ความเป็นจริง | ทวีปเลื่อน-แผ่นดินไหว ภัยที่ไม่อาจพยากรณ์ | กำเนิดตึกระฟ้า | ปีท่องเที่ยวกับเจ้า (ลาว) | ผู้หญิงสิงคโปร์ | ทาเคชิ คิตาโน หนังยากูซ่าสายพันธุ์ใหม่ | เฮโลสาระพา

Arrival of the Rainbow Warrior: From Legend to Reality | Continental Drift, Earthquake: Unpredictable Dangers
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail