Click here to visit the Website

กลับไปหน้า สารบัญ ส า ร ค ดี พิ เ ศ ษ
ห ก ร อ บ พ ร ะ ช น ม พ ร ร ษ า
ปรารถนา วาระวรรณ์

    ๗๒ ปีที่ล่วงผ่าน สถานะเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน ภาพที่เปลี่ยนเมื่อโลกเปลี่ยน และทั้งหมด... เปลี่ยนประชาชน

    ในหนึ่งช่วงชีวิตของคน มีมากบ้างน้อยบ้าง ที่ชีวิตของคนผู้นั้น มีผลต่อส่วนรวม   และยิ่งมีน้อยมาก ที่ผลกระทบนั้น มีที่มาจากความมุ่งหวัง ยังประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และน้อยลงไปอีก หากจะหาผู้ซึ่งใช้เวลา เกือบจะตลอดชีวิต ที่ดำเนินมาถึง เกือบหนึ่งศตวรรษ... ทำ... แม้สิ่งที่อยู่เหนือความเข้าใจ และธรรมชาติ... เพื่อสังคมโดยรวม

คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงได้รับการจารึกพระนาม เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ เป็นเวลายืนยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นไปได้ว่า เรื่องราวในสิ่งที่ทรงเรียนรู้ และทรงกระทำมาโดยตลอด จะไม่เป็นเพียง บทสรรเสริญพระบารมี และพระอัจฉริยภาพ แต่เพียงในหมู่ข้า ผู้จงรักภักดี และประชาชนไทยโดยทั่วไป แต่จะเป็นตัวอย่างศึกษาที่ดีต่อใครก็ตาม ที่สนใจในแง่ของ ความเป็นผู้นำ ที่โดดเด่นมากที่สุด พระองค์หนึ่ง แห่งศตวรรษที่ ๒๐ ด้วยเหตุที่ ทรงมีพระราชสมภพ ในช่วงเวลา ใกล้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และทรงเป็นประมุข ที่มีบทบาทสำคัญ อยู่ตลอดช่วงเวลาครึ่งศตวรรษหลัง ของศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จัดอยู่ในยุค "สมัยใหม่" หรือ modern world ซึ่งนับเป็นช่วงที่สำคัญ เมื่อใครต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงไปโดยรวมของสังคมโลก
    บทความในวโรกาสพิเศษ ที่ทรงเจริญพระชนมายุ ครบหกรอบ ในพุทธศักราช ๒๕๔๒ นี้ จึงเป็นการรวบรวม พระราชกรณียกิจเพียงสังเขป ในแต่ละรอบพระชนมายุ เปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงไป โดยรวมของสังคมโลก ในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ด้วยมุ่งหวังในประโยชน์ดังกล่าว ข้างต้นเป็นสำคัญ


คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)
รอบพระชนมายุที่ ๑ (แรกประสูติ-๑๒ พรรษา)
พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๘๒
ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๓๙

ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป (Great Depression)
๒๔๗๐ The Boy from Brooklyn "พระองค์เล็ก" / ๒๔๗๗ พระอนุชาธิราชเจ้าฯ

ค.ศ. ๑๙๒๗ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก บินเดี่ยวรวดเดียวข้ามแอตแลนติกเป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์สร้างวีรบุรุษของโลกครั้งสำคัญ เมื่อต้นศตวรรษนี้ บอกให้คนในยุคต่อมารู้ว่า... อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้สิ่งที่ไม่คาดคิด ด้วยความสามารถ...และพยายาม
----------------------------------------------

    ปีเดียวกันนั้น นับเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ช่วงรัชกาลที่ พระราชสถานะกษัตริย์   ของประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ สั่นคลอนอย่างเรียกได้ว่า ถึงที่สุด ในปีนั้นเองที่ หากจะเรียก โดยถอดความจากรายงานข่าว ของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ในเวลาต่อมา --"เด็กชายชาวสยามคนหนึ่ง"-- ถือกำเนิด ในโรงพยาบาลเคมบริดจ์ หรือปัจจุบันคือ โรงพยาบาลเมาน์ทออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์   ประเทศสหรัฐอเมริกา

    ความผันแปรเคลื่อนไหวจากภายนอก มีอิทธิพลโดยตรง ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   นับแต่แรกประสูติ เพราะแม้แต่ พระราชสถานะ เมื่อแรกประสูติ ก็ทรงแตกต่างจาก พระภคินี และพระเชษฐา โดยที่ทั้งสองพระองค์ เมื่อแรกประสูติก่อนหน้า ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ เพียงหม่อมเจ้าหญิง และหม่อมเจ้าชาย ตามสายการสืบ พระราชสันตติวงศ์ แต่ทรงได้รับเลื่อน พระราชสถานะขึ้นโดย   พระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์   ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพียงไม่ถึงเดือน ก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะประสูติ ดังนั้นจึงทรงดำรงพระยศเมื่อแรกประสูติเป็น "พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า" พระราชวงศ์ และคนใกล้ชิด จะขนานพระนามว่า "พระองค์เล็ก"
    แต่แม้จะดำรงพระยศอย่างไร ในช่วงเวลาหกเจ็ดปีแรก พระองค์พร้อมทั้งพระเชษฐา และพระภคินี ทรงได้รับการเลี้ยงดู เยี่ยงสามัญชน ด้วยว่าเส้นทางระหว่าง ราชบัลลังก์สยาม กับราชสกุลมหิดล ในขณะนั้นห่างไกลเกินกว่าใครจะคำนึงถึง
    พุทธศักราช ๒๔๗๑ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบขวบพอดี ขณะอยู่บนเรือประทับ บริเวณสิงคโปร์ ขณะพระราชบิดา ทรงโยกย้ายครอบครัว กลับสู่สยาม เพื่อทรงตั้งหลักปักฐาน แต่เมื่อพระราชบิดา สิ้นพระชนม์เสียก่อน และพระพลานามัยของ พระเชษฐาไม่สู้เหมาะกับ สภาพภูมิอากาศในประเทศนัก พระมารดาจึงตัดสินพระทัย กลับสู่ยุโรปอีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทรงเลือกสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่พำนัก
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเรียกได้ว่า น่าจะมากที่สุด เท่าที่คนในครอบครัวมหิดล จะนึกถึงได้เกิดขึ้นในปีรุ่งขึ้น และดูเหมือนว่าในที่สุดทุกพระองค์ จะมีความตั้งใจ และมุ่งมั่นกับหน้าที่ใหม่ ที่จะต้องมีแก่ประเทศชาติ เมื่อพระเชษฐา ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ ของสยาม -- ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์น้อย พระชนม์เพียง เก้าชันษา จึงมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นผู้ดูแล ราชการในประเทศ ในขณะที่ยังทรงพำนัก และศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ "เด็ก ๆ" รับรู้ได้เป็นเบื้องต้นคือ บ้านที่ใหญ่ขึ้น และการมีองครักษ์ฝรั่งตัวโตติดตาม
    พุทธศักราช ๒๔๘๑ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เสด็จนิวัตประเทศ เพื่อปรากฏพระองค์ เป็นครั้งแรก ในพระสถานะสูงสุดนี้ ดังนั้น ภาพที่ประชาชนชาวสยาม ในสมัยนั้น ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ปัจจุบัน เป็นภาพแรก ๆ ในสมัยนั้น จึงเป็นขณะพระชนม์ ๑๑ พรรษา ด้วยพระสถานะ "พระอนุชาธิราชเจ้า" แม้จะเป็นเพียง ชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือนที่ทรงพำนักอยู่ แต่ทั้งสองฝ่าย คือทั้งข้าแผ่นดิน และเจ้าแผ่นดิน ต่างได้ซึมซับความรู้สึกใหม่ ที่เต็มตื้นขึ้นในหัวใจ และในอีกห้าปีต่อมา ชาวสยามจึงได้ประจักษ์ว่า กษัตริย์พระองค์น้อย กลับไปเตรียมพระองค์มาเป็น "กษัตริย์" ที่แท้ได้อย่างน่าทึ่งเพียงไร
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     สภาพทั่วไปของโลก นับแต่แรกประสูติ มีปัญหาชัดเจนที่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่ขั้วอำนาจใหญ่ อย่างยุโรป ที่มีปัญหากันเอง ในทุกเรื่อง ความล้มเหลว ของระบบเศรษฐกิจ ในทุกประเทศ ในยุโรป เป็นตัวการสำคัญ ที่สลายอาณาจักรยิ่งใหญ่ แห่งศตวรรษที่ ๑๙ ลงและ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ที่สหรัฐอเมริกา ก็เช่นเดียวกัน นับแต่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีต ล่มสลายครั้งสำคัญ ในปี ๒๔๗๒ (๑๙๒๙) สถานการณ์ก็มีแต่แย่ ... และแย่ลง เมื่อพยายามแก้ไข ในปี ๒๔๗๕ สถิติคนว่างงาน ในยุโรป และสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่โซเวียต เป็นชาติเดียว ที่แยกจากเศรษฐกิจโลกได้ ยังสามารถคง การเติบโตทางเศรษฐกิจ ของตัวเองไว้ได้ อย่างไรก็ดี สภาพความตกต่ำอย่างยิ่งเช่นนี้ ถูกมองในเวลาต่อมาว่า เป็น catalyst ให้แก่โลกในยุคต่อมา
    ช่วงที่ทรงย้ายมาสู่ยุโรป เป็นยุคฮิตเลอร์เรืองอำนาจ ด้วยความล้มเหลว ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของรัฐบาลเยอรมัน ชุดก่อนหน้า การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ (๑๙๓๓) ทำให้การเมืองโลก เปลี่ยนทิศทางไป และในที่สุด สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เกิดขึ้นในปีที่ "พระอนุชาฯ" เจริญพระชนมายุครบหนึ่งรอบพอดี

คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)


 


รอบพระชนมายุที่ ๒ (พระชนมพรรษา ๑๓-๒๔ พรรษา)
พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๙๔
ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๕๑

ช่วงสงครามโลกและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
๒๔๘๙ อย่าละทิ้งประชาชน / ๒๔๙๓ ยุวราชา ยุวราชินี / ๒๔๙๔ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมฯ

ครึ่งแรกของรอบพระชนม์คือชีวิตในระหว่างสงคราม แต่เมื่อสงครามผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่ยิ่งใหญ่และยากกว่าเพิ่งเริ่มต้น
------------------------------------------------

คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     สงครามโลกนับว่า มีผลกระทบน้อยมาก ต่อครอบครัวมหิดล และต่อพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี ของสยาม ที่พำนักอยู่ ในประเทศเป็นกลาง อย่างสวิตเซอร์แลนด์ พระมารดาเอง ทรงใช้เวลาอันมีค่า ขณะนั้นใกล้ชิด และประทานวิถีชีวิต ในรูปแบบใกล้เคียง กับคนสามัญมากที่สุด เท่าที่จะสมควรแก่ทั้งสองพระองค์
    สามปีแรกของสงคราม ฮิตเลอร์ กับความใฝ่ฝันของเขาไปได้สวย ว่ากันว่าความไม่สำเร็จในเวลาต่อมา มาจากความล้มเหลว ของกองทัพอิตาลีเป็นหลัก และสงครามเปลี่ยนโฉม เมื่อสหรัฐฯ เข้าร่วมวงในปี พ.ศ. ๒๔๘๔
    ญี่ปุ่นรอเวลาสุกงอม ที่จะเข้าครอบครองเอเชียมานาน ตั้งแต่เริ่มก้าวร้าวแมนจูเรีย เมื่อสิบกว่าปีก่อน (๑๙๓๑) เส้นทางสงครามถูกเปิดขึ้น เส้นแล้วเส้นเล่า ชัยชนะยิ่งใหญ่ เห็นอยู่แค่เอื้อม แต่พริบตาเดียว ที่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ที่สหรัฐฯ ซุกซ่อนไว้ปรากฏตัวขึ้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง และจบลงในแบบที่เรารับรู้กัน
    หลังสงครามโลกจบลง อย่างไม่เป็นทางการ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สยาม... ที่เดิมก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายอยู่แล้ว จะอยู่ในสภาพที่สับสนเพียงไร ในขณะนั้น ดูได้จากการที่เป็นประเทศเดียวในโลก ที่เป็นทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะ จากสงครามในครั้งนี้ เมื่อสงครามทางฝั่งเอเชียสงบลง ความพยายามของรัฐบาล ที่จะทูลเชิญเสด็จฯ กลับมาหลายต่อหลายครั้ง ประสบผลใน เดือนพฤศจิกายน
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     ครั้งนี้พระมหากษัตริย์ และพระอนุชาธิราชเจ้า เจริญพระชันษาขึ้นมาก ทรงมีพระสิริโฉม และพระจริยาวัตร ที่น่าประทับใจ ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน และครั้งนี้ คล้ายกับทรงทำงานพร้อมกันทั้งสองพระองค์ อย่างเป็น "ทีม" ในแต่ละวัน ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ที่ทรงทำอย่างอุตสาหะ และเต็มพระทัย กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเริ่มต้นในทุกสิ่ง ที่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้ทรงดำเนินรอยตาม และทำให้เกิดประสิทธิผลในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใส่พระทัย ในเรื่องการเกษตร และการออกสัมผัสใกล้ชิด กับประชาชน อย่างที่ไม่เคยมี พระมหากษัตริย์พระองค์ใด ทรงกระทำมาก่อน ทรงมีภาพลักษณ์ ของกษัตริย์ยุคใหม่ ที่เยาว์พระชันษา... เปี่ยมด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์
    และเช่นเดียวกับครั้งก่อน ที่เสด็จนิวัตเป็นช่วงเวลาอันสั้น ครั้งนี้เวลาที่มีเพียงน้อย แต่พระราชจริยาวัตร อันน่าประทับใจ ของพระองค์มากพอที่ ประชาชนจะรู้สึก เหมือนถูกกระชากหัวใจ เมื่อข่าวในเช้าวันที่ ๙ มิถุนายน เกี่ยวกับในหลวงของเขา ไม่ใช่การประกาศวันเสด็จกลับ สวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ
    ท่ามกลางความสับสน ถึงที่สุดอีกครั้งหนึ่งของแผ่นดิน พระอนุชาธิราชเจ้า ทรงแสดงถึงขัตติยะ ในพระองค์ เมื่อทรงตอบรับ เป็นองค์พระประมุข สืบทอดจาก สมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงเลือกที่จะ ไม่ทอดทิ้งประชาชน ตั้งแต่ก่อนที่ประชาชนคนหนึ่ง จะร้องขอขึ้นมา ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน จากที่ประทับสู่สนามบิน เพื่อเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานันดรใหม่-- "กษัตริย์แห่งสยาม"
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     "พระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ พระอนุชาต่างหากที่ไม่มีแล้ว" พระราชดำรัสลึกล้ำ และกินใจนี้ บอกความมุ่งมั่นพระทัยได้ชัดเจน และผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน ต่างออกปากถึง รอยแย้มพระสรวลที่เหือดหายไป เหลือเพียงแววพระเนตร เด็ดเดี่ยวจริงจัง ของในหลวงพระองค์ใหม่
    ช่วงระยะเวลาที่ทรงจากไป ประชาชนได้รับฟัง เพียงข่าวคราวที่มีมาถึงนาน ๆ ครั้ง ด้วยอุปสรรค ของการสื่อสารสมัยก่อน ปะปนไปกับข่าวลือว่า จะเสด็จกลับหรือไม่ หรือจะไม่เสด็จกลับอีกเลย ...พ.ศ. ๒๔๙๑ มีข่าวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ...พ.ศ. ๒๔๙๒ ข่าวทรงหมั้น และ ข่าวยืนยันการเสด็จกลับในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อทรงร่วมสามพระราชพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ... พระราชพิธีอภิเษกสมรส... และพระราชพิธีสำคัญที่สุด --พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อทรงดำรง พระราชสถานะ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" สมบูรณ์แบบ ตามโบราณราชประเพณี และเมื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งปวงนี้แล้ว ได้เสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ อีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้าจะเสด็จนิวัตถาวร พร้อมด้วยพระธิดา พระองค์แรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๔
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     สามสี่ปีที่ประเทศปราศจากประมุข กระแสการเมือง ตลอดจนการแก่งแย่งอำนาจ แสดงตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ถูกบันทึกไว้ว่า มีกบฏ และการจลาจลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งอย่างรุนแรง เสียเลือดเนื้อที่สุด อย่างกรณีกบฏแมนฮัตตัน ที่สร้างรอยร้าวลึกรุนแรง หรือแบบที่เป็นการยึดอำนาจ ระหว่างกันเอง ก็เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา เรียกได้ว่าแม้กระทั่ง ขณะเสด็จพระราชดำเนิน   บนเรือพระที่นั่ง อยู่ระหว่างสิงคโปร์กำลังจะเข้าสู่เจ้าพระยา ขณะนั้นก็ยังมีรัฐประหาร ทางวิทยุที่นำโดย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ
    วันส่งท้ายปีเก่าในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เพิ่มความพิเศษยิ่งขึ้น เมื่อเสียงเพลง "พรปีใหม่" จากเนื้อเพลง ที่เพิ่งทรงพระราชนิพนธ์เสร็จ ขับร้องสด โดยคณะสุนทราภรณ์ และวงดนตรีของจุฬาลงกรณ์ดังขึ้น ของขวัญพระราชทาน จากพระมหากษัตริย์ สู่ประชาชน ในรูปแบบที่ไม่เคยมี ที่ไหนมาก่อนชิ้นนี้ นอกจากจะบอกถึงพระปรีชาสามารถ ในอีกแขนงหนึ่งแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้น ของภาพใหม่ ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีเลือดเนื้อ อารมณ์ความรู้สึก ที่พร้อมจะแบ่งปัน กับประชาชน และนี่คือภาพลักษณ์ใหม่ ที่ประชาชนยอมรับอย่างเต็มใจ
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     ห้าปีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นช่วงฟื้นฟูทุกประเทศ ที่ได้รับผลจากสงคราม เสมือนโลกเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เมื่อผ่านครึ่งศตวรรษพอดี ในปี ค.ศ. ๑๙๕๐ เพราะหลังจากนี้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัว และ "บูม" ขึ้นอีกครั้ง จากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ เป็นหลัก ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังทำตัวเป็นพี่ใหญ่ ของฝ่ายหนึ่ง ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็มาถึงจุดสูงสุดเช่นกัน เมื่อเหมาเจ๋อตุง ประกาศความเกรียงไกร ด้วยการเดินทาง ของกองทัพประชาชน และจัดตั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ (๑๙๔๙) ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงเป็นเป้าหมาย ของขั้วอำนาจสองฝ่าย ด้วยความสมบูรณ์พร้อม ของทรัพยากร และคุณค่าของความเป็นประเทศ ที่ไม่มีใครเคยยึดครองได้ ประเทศเดียวในเอเชีย
    และเช่นเดียวกับที่เรายอมรับว่า "ปรมาณู" เป็นตัวยุติสงคราม สิ่งสำคัญที่ดำเนินตัวควบคู่ กับความรุ่งเรือง และล่มสลายของสังคม และการเมืองเสมอมา คือความคิดฝันของมนุษย์ อันนำมาสู่ประดิษฐกรรมในแต่ละยุค ความหลากหลายของเรื่องราว ในโลกกำลัง เดินทางสู่แต่ละบ้านของทุกคน ด้วยการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของวิทยุและ โทรทัศน์ที่เริ่มต้นยุคสมัยรุ่งโรจน์ที่สุดมาจากช่วงนี้


คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)
รอบพระชนมายุที่ ๓ (พระชนมพรรษา ๒๕-๓๖ พรรษา)
พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๖
ค.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๖๓

Decolonization
๒๔๙๔-๒๔๙๕ วางรากฐานพระราชกรณียกิจ/เส้นทางที่ไม่เคยสิ้นสุด/๒๕๐๐ สู่ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง/ ๒๕๐๓ Royal Abroad/ ๒๕๐๔ โลกก้าวไป ไทยก้าวไกล/ ๒๕๐๔ เมล็ดพันธุ์แห่งศรัทธา/ จากต้นน้ำสู่ต้นข้าว/ ๒๕๐๕ พายุที่พัดผ่านไป/ ๒๕๐๖ พระราชาของประชาชน

อะไรคือความหมายของ เอกราช -- คือการยืนหยัดได้ โดยลำพัง อะไรคือความหมายของ อิสรภาพ -- ไม่ใช่ความหอมหวาน แต่คืองานหนัก และหัวใจที่แข็งแกร่ง
----------------------------------------------------

    เมื่อพระราชพิธี พระราชทานธรรมนูญ แห่งประเทศไทย ฉบับปี พ.ศ.๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๙๕ ผ่านพ้นไป นับเป็นจุดเริ่มแรก ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ภายใต้ธรรมนูญการปกครอง แต่ได้ทรงเริ่มต้นพระราชกรณียกิจ นานาประการ โดยเฉพาะ ด้านการเกษตรมาก่อนหน้า โดยในช่วงเริ่มต้น ทรงมีฐานสำคัญ อยู่ที่สามแห่ง คือ พระตำหนักไกลกังวลที่หัวหิน พระที่นั่งอัมพรสถาน อันเป็นพระตำหนักประทับชั่วคราว ในกรุงเทพฯ สุดท้ายคือ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และเมื่อทรงย้ายไปประทับ ยังพระตำหนักแห่งนี้ เป็นการถาวร โครงการทดลองทางการเกษตร ต่างๆ มากมายก็มารวมศูนย์อยู่ที่นี่

คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     สิ่งสำคัญยิ่งที่ทรงลงมือ อย่างรวดเร็ว คือการเก็บข้อมูลด้วยพระองค์เอง เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ยังจังหวัดต่างๆ อย่างเป็นทางการ ถูกตระเตรียมขึ้น เริ่มต้นที่อีสาน ๑๙ วันเต็ม ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘   แม้จะเป็นการเสด็จพระราชดำเนิน อย่างเป็นทางการ ที่เริ่มต้นด้วยเหตุผล ตามโบราณราชประเพณี ประกอบอยู่ด้วย แต่นี่คือการเก็บข้อมูลจากพื้นที่ เป็นครั้งแรก และครั้งสำคัญ
    จากข้อมูลพื้นฐาน ในครั้งนั้นนำมาซึ่งโครงการ ในพระราชดำริ ต่างๆ ในเวลาต่อมา ตลอดจนการริเริ่ม หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับปัญหาพื้นฐาน ของประชาชน ทั้งเรื่องการทำกิน และสาธารณสุข ซึ่งมีทั้งการช่วยเหลือ อย่างเป็นทางการ และ การช่วยเหลือเฉพาะหน้า
    คนไทยจะคุ้นชิน กับการเรียกแบ่งช่วงเวลาว่า ยุคก่อน ๒๕๐๐ กับหลัง ๒๕๐๐ โดยมีภาพว่าอย่างหลัง คือโลกยุคใหม่ ซึ่งภาพรวม ของประเทศเป็นเช่นนั้นจริง   ส่วนหนึ่งมาจาก การขึ้นสู่อำนาจ และใช้อำนาจ "เป็น"   ของ
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๖ ความสนับสนุน ที่เขามีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อประกอบกับ การสร้างความเข้มแข็ง โดยรวมของโครงสร้าง ที่สำคัญของประเทศ อาทิ การมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับแรก ส่งผลให้ประเทศก้าวเดิน ไปอย่างชัดเจน มั่นคงมากที่สุดช่วงหนึ่ง นับจาก เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้นมา
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงมีพระราชกรณียกิจ มากมายอย่างที่ไม่น่าเชื่อ ว่าจะทรงทำได้ ด้วยลำพังพระองค์เองแล้ว ยังทรงมีเวลา สำหรับเรื่องราวของศิลปวิทยาการ ตลอดจนการกีฬา อยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทรงดนตรี ด้วยพระองค์เอง และมีพระราชนิพนธ์ เพลงประจำสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในช่วงนี้ด้วย หลายสิ่ง ที่ทรงมีบทบาท ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ ของคนไทย ให้กว้างไกลกว่า ที่เคยคุ้นชิน
    แต่ในขณะที่ทรงเป็นกษัตริย์ ผู้มีความเป็นสมัยใหม่ สามารถปรากฏพระองค์ ในสังคมโลก ได้อย่างงามสง่า ไม่เก้อเขิน พระองค์  ทรงเป็นกษัตริย์ไทย ที่มีความเป็นไทย อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งยังทรงประยุกต์ ทรงเลือกสรร ในสิ่งที่จำเป็น ต่อขวัญกำลังใจของคนไทย มาใช้ได้อย่างเหมาะสม ดังเช่นเมื่อรัฐบาลประสงค์ จะรื้อฟื้นพระราชพิธีพืชมงคล ให้เต็มรูปแบบเช่นเดิมในปี พ.ศ.๒๕๐๓ นอกจากจะทรงเห็นชอบแล้ว ในปีรุ่งขึ้น ได้ทรงนำพันธุ์ข้าว "นางมล"   หลังจากผ่านพระราชพิธีแล้ว มาหว่านในนาข้าว สวนจิตรลดา เพื่อที่ต่อไป เมล็ดพันธุ์ จากที่นี่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ ที่พระราชทานแก่ประชาชน เพื่อความเป็นสิริมงคล นับเป็นการผูกพัน ผูกใจพระองค์ กับเกษตรกร ซึ่งเป็นเรี่ยวแรงหลัก ของประเทศได้อย่างแน่นแฟ้น มาตราบจนทุกวันนี้
    สิ่งที่ทรงเน้น และทรงทำเป็นตัวอย่าง อันสำคัญยิ่งในช่วงต้น ๆ รัชกาล คือการพึ่งพาอาศัยกัน ทรงเป็นตัวอย่าง ของผู้ส่งผ่านความมากกว่า สู่น้อยกว่า จากสูงสู่เบื้องล่าง เหตุการณ์ที่แหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ นับเป็นครั้งสำคัญ
    การปลูกสร้างพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นอีกความสำคัญหนึ่ง ของพระราชกรณียกิจ อันเกี่ยวแก่ความมั่นคง ของประเทศชาติ เมื่อทรงใช้ที่นี่ เป็นฐานดูแลพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยมีจุดโฟกัส เรื่องปัญหาฝิ่น ทรงสร้างความผูกพัน กับเจ้าของพื้นที่ และกับคนไทย ด้วยนโยบาย "ชาวเขาคือชาวเรา"
คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger)    สภาพเศรษฐกิจโลกช่วงนี้ เอื้อให้แก่ความรื่นรมย์ และวิทยาศาสตร์ ด้วยการขยายตัว ไปในทางที่ดีตลอดทศวรรษ ช่วงนี้รัสเซีย ปล่อยดาวเทียม ขึ้นสู่อวกาศ เป็นดวงแรกของโลก สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบทที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ โดยมีการถ่ายทอดพระราชพิธี ให้ทั่วโลกได้รับชมกันทางโทรทัศน์ (๑๙๕๓) ในขณะที่ช่วงเดียวกัน เป็นระยะเวลา ที่เหล่าประเทศอาณานิคม เกือบทั้งหมดในเอเชีย ปลดปล่อยตัวเองสำเร็จ   เหมือนกับการจบเรื่องราวในอดีต อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับที่เหล่าผู้นำเก่า ในอดีตที่เคยเรืองอำนาจ สมัยสงครามโลก พากันปิดม่านชีวิต และบทบาทของตน ไปจนเกือบหมด โลกยุคซิกส์ตี้ ('60s) หรือทศวรรษ ๑๙๖๐ เป็นโลก ที่เปิดกว้าง สำหรับคนที่มีความสามารถ   และเป็นโลกที่เต็มไปด้วย ซูเปอร์สตาร์ ทั้งเรื่องของความบันเทิง และการเมือง อาทิ ปรากฏการณ์บีทเติลส์ (๑๙๖๐)   ติโตขึ้นเป็น ประธานาธิบดียูโกสลาเวีย (๑๙๕๓) เคนเนดีได้รับเลือกตั้ง (๑๙๖๐) มาร์ตินลูเทอร์คิงมีสุนทรพจน์ "I Have a Dream" อันโด่งดัง (๑๙๖๓) ฯลฯ โลกเต็มไปด้วย ความฝัน ความหวัง ถึงแต่สิ่งดีงาม แต่ความฝันนี้ จบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อความจริง คือ เคนเนดีถูกลอบสังหาร โดยเชื่อกันว่า มีมูลเหตุมากจากการเจรจา ไปในทางที่จะไม่สร้างสงคราม กับโซเวียต ในปัญหาคิวบา   มาร์ตินลูเทอร์คิง เป็นอีกหนึ่ง ในหลายรายต่อมา
    เวลาใกล้เคียงกับที่ เคนเนดีถูกลอบสังหาร พระราชพิธี พยุหยาตรา ทางสถลมารค ถูกจัดเตรียมขึ้น เนื่องจากความสำคัญ ตามโบราณราชประเพณี ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ มีความเป็นห่วงกังวล ถึงการถวายอารักขา แต่ในที่สุด พระราชพิธี ได้ดำเนินไปตามหมายกำหนดการเดิม กลุ่มชนที่เฝ้าแหนรายรอบ ที่มิได้มาเพียงชมความตื่นตา ของรูปแบบพิธีการ เป็นผู้ตอบปัญหาสำคัญครั้งนี้ เมื่อหลายคนหลายครอบครัวมา เพื่อน้อมถวายความจงรักภักดี ต่อพระเมตตา ในสิ่งที่ได้ทรงกระทำ เพื่อความเป็นกษัตริย์ ในแบบที่ทรงเลือก คือ เป็นพระราชาของประชาชน

อ่านต่อคลิกที่นี่ อ่านต่อคลิกที่นี่


คลิกเพื่อดูรูปใหญ่ (Click for bigger) In a Changing World:
Seventy-two Years as King of the People

    In 1927, the year Charles Lindbergh flew solo across the Atlantic and became an instant American hero, "a Siamese boy" was born in Cambridge Hospital (now Mount Auburn) in Cambridge, Massachusetts. He was to prove, over the next 72 years, his dedication and commitment to his country as a hard-working Thai and a great King.
    The prince's early simple and relatively incognito life was cut short by his brother's succession as King Rama VIII of Siam at the age of nine after the abdication of their uncle, King Prajadhipok. Twelve years later, it was his turn to "serve the people." As the world struggled to rebuild itself after the ravages of WWII, King Bhumibol's 1951 New Year gift to Thailand--a song he had composed--offered a fresh image of royalty: young, creative and accessible--altogether modern.
    Soon he did more than boost the morale of the country; he encouraged practical self-sufficiency and sustainability. Elsewhere people were fighting to free themselves from colonization and oppression, in Thailand the King traveled regularly and extensively north and south, east and west as well as a few times abroad to research on and advocate another idea of independence--the ability to stand on one's own two feet.


สนับสนุน หรือ คัดค้าน นกปรอดหัวโขน   เสียงขับขาน จากกรงเลี้ยง
เมื่อวิทยานิพนธ์ ถูกบังคับ ให้เขียน เป็นภาษาอังกฤษ
การแปลงพันธุกรรม GMOs
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | อัครศิลปิน | "ความจริง" ของปัญหา คนกับป่า ที่จอมทอง
หกรอบพระชนมพรรษา | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา
In a Changing World: Seventy-two Years as King of the People
A Bright Diary from Khao Nampu | Dung Beetles: Sculptors on the Ground

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper
]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail