Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ ๑ ๐ ๐ ปี ข อ ง ส า มั ญ ช น น า ม ป รี ดี พ น ม ย ง ค์ ( ต่ อ )
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
  สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน

    "ช่วงนั้นหน้าสิ่วหน้าขวานมากที่สุดเชียว ทำเนียบท่าช้างเป็นที่บัญชาการของเสรีไทย ที่มีนายปรีดีเป็นหัวหน้า พออยู่มาวันหนึ่ง นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็มาเซ็นชื่อเยี่ยมที่ทำเนียบของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ แล้วก็เดินเข้ามาที่ศาลาริมน้ำซึ่งเป็นส่วนที่พวกเสรีไทยใช้เป็นที่ทำงาน โตโจคงอยากเห็นส่วนที่เราอยู่หมด น่ากลัวเหมือนกัน แต่โชคดีที่พวกญี่ปุ่นคงไม่ระแคะระคาย"

 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ห้องท่านผู้ประศาสน์การ เป็นห้องทำงานของนายปรีดี ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คลิกดูภาพใหญ่)     ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะอุบัติขึ้น นายปรีดีเล็งเห็นว่าลัทธิเผด็จการทหาร กำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก ในปี ๒๔๘๒ เขาจึงสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก เพื่อสะท้อนความคิดของเขาที่คัดค้านการทำสงคราม ผ่านไปยังผู้นำประเทศ ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์มเรื่องแรก
    เช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่อ่าวไทยพร้อมกันหกแห่ง ทูตทหารญี่ปุ่นในเมืองไทยยื่นคำขาดต่อรัฐบาล ให้กองทัพลูกพระอาทิตย์เดินทัพผ่านแผ่นดินไทย ภายในวังสวนกุหลาบ-ทำเนียบรัฐบาลในเวลานั้น คณะรัฐมนตรีแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นด้วยที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่อีกฝ่ายนำโดยนายปรีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คัดค้านอย่างรุนแรง และเสนอว่าจะต้องต่อสู้กับญี่ปุ่นที่ละเมิดอธิปไตย แต่สุดท้ายนายปรีดีก็แพ้เสียงข้างมาก ไทยกับญี่ปุ่นเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันต่อหน้าพระแก้วมรกตเมื่อวันที่ ๑๑ เดือนเดียวกัน
    ไม่นานนักนายทหารญี่ปุ่นก็มาที่วังสวนกุหลาบอีก และกดดันให้จอมพล ป. ปลดนายปรีดี "ออกไปให้พ้นวงการรัฐบาลทีเดียว" ผลสุดท้ายนายปรีดีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลุดพ้นจากอำนาจทางการเมืองสมใจปรารถนาของทหารญี่ปุ่น
    ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. ที่มีญี่ปุ่นเป็นลูกพี่ใหญ่ ก็หาญกล้าประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลาง พ.ศ. ๒๔๘๒ ฝ่ายอังกฤษประกาศสงครามตอบโต้ ส่วนสหรัฐอเมริกามิได้ประกาศสงครามด้วย โดยถือว่าไทยถูกญี่ปุ่นรุกราน อย่างไรก็ตามนายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ยอมลงนามในประกาศสงครามนั้น   โดยเดินทางหลบไปบ้านที่อยุธยา แม้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะติดตามไปหา แต่นายปรีดีก็ยืนกรานไม่ยอมลงนาม ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ประเทศสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการ ของขบวนการเสรีไทย
    นายปรีดีเริ่มงานกู้ชาติตั้งแต่วันแรกที่ญี่ปุ่นบุกไทย ครั้นได้เป็นผู้สำเร็จราชการฯ และย้ายมาอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง เขาได้ประสานสามัคคีกับทุกฝ่าย ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ทหาร ตำรวจ นักศึกษา พ่อค้า กรรมกร ชาวนา และชาวไทยในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษและสหรัฐฯ จัดตั้งขบวนการเสรีไทย มี "รูธ" เป็นหัวหน้า ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างและภายในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีภารกิจเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของญี่ปุ่น   และเริ่มต้นติดต่อกับประเทศสัมพันธมิตร โดยส่งนายจำกัด พลางกูร ลักลอบไปประเทศจีนเพื่อที่จะส่งข่าวผ่านไปยังสหรัฐอเมริกา หรืออินเดียให้รับทราบว่าในเมืองไทยมีขบวนการเสรีไทยที่ไม่ยอมรับการประกาศสงครามของรัฐบาล แต่นายจำกัดได้เสียชีวิตที่ประเทศจีนเสียก่อน นายปรีดีจึงส่งพลพรรคเสรีไทยอีกหลายคนลักลอบออกนอกประเทศ จนในที่สุดสามารถติดต่อกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรู้ว่า มีขบวนการกู้ชาติในประเทศ   และส่งคนเข้ามาประสานงานกัน เช่นเดียวกับที่นายพลชาร์ลส์ เดอโกล ได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านทหารเยอรมันที่เข้ายึดครองประเทศฝรั่งเศส
    การทำงานของเสรีไทยในเวลานั้น ไม่ว่าการประชุมลับ การส่งข่าวความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นทางวิทยุ การแอบพบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศ การแอบฝึกอาวุธให้แก่พลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ ฯลฯ เต็มไปด้วยความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายยิ่ง ไหนจะต้องเผชิญกับความระแวง ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยด้วยกันเอง ตลอดจนทหารและสายลับญี่ปุ่นที่เรียกว่า "เคมเปไต" ที่มีอำนาจมาก คอยสะกดรอยติดตามความเคลื่อนไหวของนายปรีดีและพรรคพวกตลอดเวลา ซึ่งนายปรีดีก็ระวังตัวเป็นอย่างดี เพราะรู้ถึงความเหี้ยมโหดของฝ่ายญี่ปุ่น
บ้านมะลิวัลย์ ที่หลบซ่อนของเสรีไทย สมัยสงครามโลกครั้ที่ ๒ (คลิกดูภาพใหญ่)     เพื่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ และหัวหน้าเสรีไทย ต้องทำงานเสี่ยงตายในสองบทบาทตลอดเวลาสาม ปีกว่าของสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยถือความลับสุดยอดเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน แม้กระทั่งพลพรรคเสรีไทยเองต่างก็ไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่เป็นพวกเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ภารกิจของเสรีไทยบรรลุเป้าหมายให้ได้ คือต่อสู้กับญี่ปุ่นและเจรจาให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจว่าการประกาศสงครามของจอมพล ป. ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
    ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ซึ่งเป็นเสรีไทยสายอังกฤษเคยกล่าวว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกว่า หลวงประดิษฐ์ทำงานในการต่อต้านครั้งนี้ด้วยความพยายามเต็มสติกำลังความสามารถ อดทน มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มิได้เห็นแก่ตัวและภยันตรายที่จะมาถึงตน จนพวกเราทั้งหลายที่เข้ามาจากต่างประเทศต้องพากันขอร้องหลายครั้งหลายคราว ให้เตรียมตัวที่จะคิดป้องกันตนเองเสียบ้าง มิฉะนั้นการงานของประเทศจะเสียหมด ถ้าหลวงประดิษฐ์เป็นอะไรไป..."
    ช่วงปลายสงคราม เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดอย่างหนักในกรุงเทพฯ บางครั้งนักบินก็ทิ้งผิดเป้าหมาย ไปทิ้งระเบิดลงในพระบรมมหาราชวัง นายปรีดีเกรงว่าเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ จะได้รับอันตราย จึงได้ทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเจ้านายหลายองค์ เสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เพื่อความปลอดภัย นายปรีดีมาเข้าเฝ้าถวายความอารักขาอยู่เป็นประจำ ทั้งยังส่งวิทยุไปบอกฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่ให้ทิ้งระเบิดผิดเป้าหมาย โดยเฉพาะพระบรมมหาราชวัง วัดวาอาราม และบ้านพักอาศัย
    ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวน ๘ หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขอร้องให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน ด้วยเหตุผลทางแผนยุทธศาสตร์ของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ หลังจากเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ
    หลังญี่ปุ่นยอมจำนน รัฐบาลจีนของเจียงไคเช็ค คิดจะส่งกองทัพจีนมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ในเขตแดนสยามเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป คือเหนือจังหวัดตาก ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ขณะที่ใต้เส้นขนานที่ ๑๖ เป็นหน้าที่ของทหารอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ฝ่ายไทยเกรงว่าอาจจะทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลคลั่งชาติที่มีอยู่จำนวนมาก ในประเทศอาจก่อความวุ่นวาย นายปรีดีจึงโทรเลขแจ้งไปยังรัฐบาลอเมริกันว่า เสรีไทยพร้อมที่จะปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเอง อเมริกาเข้าใจถึงเหตุผลที่นายปรีดีไม่ยอมให้ทหารจีนปลดอาวุธ จึงมีคำสั่งให้กองกำลังญี่ปุ่นยอมจำนนต่อลอร์ด เมานท์ แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ส่วนทหารจีนได้รับมอบหมายให้ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทางตอนเหนือของอินโดจีนเท่านั้น
    ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษได้อนุญาตให้ลอร์ด เมานท์ แบตเทน ส่งสารส่วนตัวไปยังนายปรีดี เพื่อให้รีบออกแถลงการณ์ ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และอังกฤษ ดังนั้นในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ก็ประกาศสันติภาพ มีสาระสำคัญว่า การประกาศสงครามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นโมฆะ มีผลทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม ประเทศไม่ต้องถูกยึดครองจากต่างชาติ กองทัพไทยไม่ต้องถูกปลดอาวุธ ทั้ง ๆ ที่ในระหว่างสงครามไทยเป็นมิตร ที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น ยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินทัพผ่านไปรุกราน และยึดครองประเทศอื่น ๆ
    ความสำเร็จในการรักษาเอกราชและอธิปไตยของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตลอดจนเกียรติภูมิ และเกียรติศักดิ์ของประเทศที่นานาชาติ ให้การยอมรับในครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ หรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลบันดาลให้เกิดขึ้น แต่มาจากความกล้าหาญ และเสี่ยงตายของขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ลอร์ด เมานท์ แบตเทน เคยกล่าวชื่นชมนายปรีดี ในงานเลี้ยงรับรองในฐานะแขก ของรัฐบาลอังกฤษเมื่อปี ๒๔๘๙ ว่า
    "หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นบุรุษผู้มีบทบาทอันน่าตื่นเต้นคนหนึ่งแห่งสงครามในเอเชียอาคเนย์ เป็นที่ทราบกันว่า ในระหว่างสงครามนั้น ไม่มีการกล่าวถึงชื่อของเขาอย่างเปิดเผย และเรื่องราวทั้งปวงเกี่ยวกับเขาก็ถูกถือว่าเป็น "ความลับสุดยอด" แม้กระทั่งทุกวันนี้คนอังกฤษส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยทราบเท่าไรนัก ถึงพฤติกรรมอันอาจหาญที่เขาได้กระทำสำเร็จมาแล้ว... และภยันอันตรายที่เขาต้องเผชิญตลอดเวลาสามปี นับว่าเป็นสิ่งที่น่าพรั่นพรึงอย่างยิ่ง แต่ก็อาศัยความมีวินัยของเขาเองประกอบกับที่เขาได้ชักจูงให้บรรดาผู้เชื่อถือเลื่อมใสในตัวเขาปฏิบัติตามนั่นเอง ที่ทำให้ได้ประสบชัยชนะในที่สุด เขาไม่เคยทำให้เราผิดหวังเลย"

สะพานปรีดี-ธำรง สะพานข้ามแม่น้ำป่าสักแห่งแรกของอยุธยา (คลิกดูภาพใหญ่) ปิดฉากคณะราษฎร
    "๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ดิฉันจำคืนวันนั้นได้อย่างแม่นยำ เพราะต้องตกใจตื่นกลางดึกเมื่อได้ยินเสียงปืนกลรัวถี่ยิบ เป็นเสียงปืนที่ไม่มีเสียงหวอเตือนก่อนเหมือนกับตอนสงคราม ตอนนั้นดิฉันอายุ ๘ ขวบ ก็เริ่มจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรบ้างแล้ว... ทำเนียบท่าช้างที่เราอาศัยอยู่มีสามชั้น คุณพ่อและคุณแม่นอนอยู่ชั้น ๓ ด้านติดกับห้องพระ ส่วนพวกลูก ๆ นอนอยู่อีกด้านหนึ่ง คืนนั้นพอเขายิงปืนเข้ามา คุณแม่ก็มาอยู่ที่ห้องลูก ๆ ดิฉันจำได้แม่นว่า คุณแม่ร้องตะโกนสวนออกไปว่า
    "อย่ายิง อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก" "
 ดุษฎี พนมยงค์

      หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงบรรลุนิติภาวะ นายปรีดีจึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระองค์เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ ในโอกานี้ นายปรีดีได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการยกย่องนายปรีดีไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่มีอำนาจทางการเมืองใด ๆ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและนพรัตน์ราชวราภรณ์ อันเป็นชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับ
    อย่างไรก็ตามสภาพบ้านเมืองหลังสงครามยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ในขณะที่เกิดความไม่มั่นคงในทางการเมือง มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึงสามครั้ง ในระยะเวลาเพียงเจ็ดเดือนหลังสงครามสงบ จนครั้งสุดท้ายเมื่อรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ลาออก สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ปรึกษากันว่าสมควรไปเชิญนายปรีดี ซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับ ๒๔๗๕ (ที่ใช้มานานถึง ๑๔ ปี และบัดนี้เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก สมควรจะมีการร่างฉบับใหม่) เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้กล่าวกับนายปรีดีว่า
    "ในภาวะคับขันและสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งจะต้องเจรจากับพันธมิตรในปัญหาสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อยู่ต่อไปด้วยนั้น ผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีควรจะเป็น ดร. ปรีดี พนมยงค์"
    นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเพียง ๖๙ วัน แต่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค การบูรณะถนนหนทาง และที่สำคัญที่สุดคือการเจรจาขอให้สหรัฐฯ และอังกฤษยกเลิกการยึดเงินฝากของไทยในต่างประเทศได้สำเร็จ และเจรจาให้อังกฤษซื้อข้าวจากไทยแทนที่ไทยจะต้องยกข้าวให้อังกฤษเปล่า ๆ เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ นายปรีดีจึงลาออกในวันนั้นเพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๘ มิถุนายน รัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายปรีดีกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
    แต่แล้ววันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ นายปรีดีก็ได้รับแจ้งข่าวร้ายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. นายปรีดีรีบเดินทางจากทำเนียบท่าช้างไปยังที่เกิดเหตุทันที แต่เมื่อไปถึงก็ถูกขอให้คอยอยู่ชั้นล่าง จนกระทั่งเวลา ๑๒.๐๐ น. จึงได้เข้าถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายและได้รับการตกแต่งบาดแผลแล้วโดยมิได้มีการชันสูตรพระบรมศพตามกฎหมายแต่อย่างใด
๑๙ สิงหาคท ๒๔๘๙ ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ เสด็จราชดำเนินไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ (คลิกดูภาพใหญ่)     ในคืนนั้นมีการประชุมสภาเป็นการด่วน นายปรีดีและคณะรัฐมนตรีได้ขอความเห็นชอบต่อสภาว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว นายปรีดีได้กล่าวว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สวรรคตแล้ว และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนไทยแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้สภาถวายพระพรชัยขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญ" และนายปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้สวรรคตเสียแล้ว
    หลังจากนั้นเป็นต้นมา ศัตรูทางการเมืองซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ก็สบโอกาสในการเริ่มแผนโค่นล้มฝ่ายประชาธิปไตย บดขยี้ทำลายนายปรีดีให้ย่อยยับ โดยการกระจายข่าวไปตามร้านกาแฟและสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนตามหน้าหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งส่งคนไปตะโกนในโรงหนังว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" สภาพการณ์ไม่ต่างจากเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ครั้งนี้ดูจะรุนแรงร้ายกาจยิ่งกว่า
    ต้นเดือนพฤศจิกายน นายปรีดีซึ่งลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด ได้เดินทางรอบโลกในฐานะทูตสันถวไมตรีตามคำเชิญจากประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ เป็นเวลาสามเดือนกว่า และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ มีประชาชน นักศึกษา ข้าราชการและกรรมกรนับพันคน ไปต้อนรับที่สนามบินน้ำคลองเตย หนังสือพิมพ์สมัยนั้นรายงานว่า
    "ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ใช้เวลาเกือบสามเดือนครึ่งปฏิบัติภารกิจของท่านในต่างประเทศ ท่านทูตไมตรีได้เยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปสู่ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้นเก้าประเทศ ได้รับการต้อนรับจากประมุขของประเทศ จากประธานาธิบดี และจากพระมหากษัตริย์ อย่างอบอุ่นและด้วยการให้เกียรติยศสูงสุดเท่าที่มิตรประเทศเหล่านั้นจะได้เคยให้แก่แขกเมืองคนสำคัญมาแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา ท่านประธานาธิบดีทรูแมน ได้ให้การต้อนรับอย่างมโหฬาร และรัฐบาลอเมริกันได้ให้เหรียญ "ออเดอร์ ออฟ ฟรีด้อม" ประดับใบปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดที่สหรัฐอเมริกาได้ให้แก่ชาวต่างประเทศพันธมิตรเป็นคนแรก เป็นการรับรองเชิดชูเกียรติยศและความสำเร็จที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ปฏิบัติในระหว่างสงคราม ด้วยการเสี่ยงชีวิตในฐานเป็นหัวหน้าใหญ่ของขบวนการต่อต้านศัตรูในประเทศไทย ที่อังกฤษ สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษได้พระราชทานเลี้ยงอาหารเป็นเกียรติยศ ณ พระราชวังบัคกิงแฮม สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษและท่านประธานสภาได้เลี้ยงต้อนรับและให้เกียรติยศแก่ท่านรัฐบุรุษ ซึ่งน้อยครั้งที่สภาผู้แทนและประธานสภาผู้แทนอังกฤษจะได้ให้เกียรติยศแก่แขกเมืองถึงปานนั้น ที่นอร์เวย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงนอร์เวย์ได้พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน และที่สวีเดน ท่านรัฐบุรุษได้รับพระราชทานเหรียญอิสริยาภรณ์ "แกรนด์ ครอสออฟซาวา" "
    นายปรีดีเดินทางกลับมาจากต่างประเทศได้ไม่ถึง ๑๐ เดือน นักการเมืองและกลุ่มอำนาจเก่าที่รอคอยโอกาสมานานก็จับมือกันก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แม้ว่าก่อนหน้านี้เพียงสองวัน พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น จะได้ให้คำมั่นสัญญากับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีว่า "ไม่มีการรัฐประหาร ถ้ามีก็ต้องเป็นอั๊วเอง และอั๊วก็ยังไม่คิด"
    คืนนั้นที่ทำเนียบท่าช้าง--ที่พำนักของรัฐบุรุษอาวุโส รถถังของฝ่ายรัฐประหารที่หมายมั่นจะมาจับกุมตัวนายปรีดี ได้บุกทำเนียบท่าช้างและกราดยิงเข้าไปในตึกที่ท่านผู้หญิงพูนศุข และลูก ๆ อาศัยอยู่ ส่วนนายปรีดีทราบข่าวล่วงหน้าเพียงไม่กี่นาที จึงหลบหนีออกไปได้ เช่นเดียวกับหลวงธำรงฯ ซึ่งหนีรอดได้หวุดหวิด
    เช้ามืดวันต่อมา นายไสว สุทธิพิทักษ์ ตัวแทนของนายปรีดีและหลวงธำรงฯ ได้ไปเจรจากับพลเอกอดุลว่า รัฐบาลจะสั่งปราบกบฏ มีความเห็นอย่างไร ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นบอกว่า "ขออย่าให้มีการปราบปรามต่อต้านคณะรัฐประหารเลย ขอให้เห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และขอให้ทั้งสองหลบหนีออกไปก่อน"
    ชัยชนะตกเป็นฝ่ายคณะรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ พ.อ. กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร ร.อ. สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ฯลฯ ล้มรัฐบาลพลเรือนที่ประชาชนเลือกเข้ามา และเป็นการปิดฉากอำนาจทางการเมือง ของคณะราษฎรซึ่งปกครองประเทศมาเป็นเวลา ๑๕ ปีนับตั้งแต่ปี ๒๔๗๕
    พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านก็เข้ามาเป็นรัฐบาลแทน โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการผิดมารยาททางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ที่พรรคฝ่ายค้านยอมรับเป็นรัฐบาล จากการทำรัฐประหาร ไม่นานนัก พลเอกอดุลก็ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ภาพฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (คลิกดูภาพใหญ่)     นายปรีดีหลบหนีไปอยู่กับทหารเรือ ในฐานทัพเรือสัตหีบ และด้วยความช่วยเหลือ ของทูตอังกฤษ และทูตอเมริกา จึงหนีไปยังสิงคโปร์ได้ ในเวลานั้นนายปรีดีไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว ต้องยืมเงินจากกัปตันเรือน้ำมันที่โดยสาร และเดินทางต่อไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค
ปกครองประเทศอยู่ แต่แรกนายปรีดีตั้งใจจะลี้ภัยไปยังเม็กซิโก โดยเดินทางผ่านสหรัฐอเมริกา แต่ขณะที่นายปรีดีกำลังจะยื่นหนังสือเดินทาง ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีน เจ้าหน้าที่ซีไอเอได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทาง และขีดฆ่าวีซ่าอเมริกา ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำกรุงลอนดอนเป็นผู้ออกให้ อันเป็นการพิสูจน์ว่า มหามิตรอเมริกาซึ่งเคยมอบเหรียญอิสริยาภรณ์สดุดี นายปรีดี ได้กระโจนเข้าอยู่ฝ่ายรัฐประหารทันที เพื่อผลประโยชน์ของตน เหตุการณ์นั้น ทำให้นายปรีดีไม่คิดจะลี้ภัยทางการเมือง ไปยังสหรัฐฯ อีกเลย
    ต่อมานายปรีดีได้เดินทางกลับมายังเมืองไทยอีกครั้ง และร่วมกับพรรคพวกอันประกอบด้วยทหารเรือ นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่ง ในชื่อ "ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒" พยายามที่จะยึดอำนาจคืนจากฝ่ายรัฐประหาร นายไสว สุทธิพิทักษ์ อดีตเลขานุการนายกรัฐมนตรีหลวงธำรงฯ ได้บันทึกไว้ว่า
    "ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "กบฏวังหลวง" นั้นต้องประสบความล้มเหลวอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ หลังจากที่ได้ยึดพระราชฐานของวังหลวงไว้ได้ในตอนกลางคืนตลอดคืนแล้ว ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น คือ ๒๗ กุมภาพันธ์ ได้มีการรบระหว่างทหารเรือกำลังของฝ่ายขบวนการ กับทหารบกในกลางพระนคร ทหารบกถูกทหารเรือตีถอยร่นตลอดแนวถนนราชปรารภ มักกะสัน ถนนเพชรบุรี จนปรากฏชัดว่าฝ่ายรัฐประหารเตรียมตัวหนี แต่แล้วก็มีคำสั่งให้ทหารเรือหยุดบุก นายทหารเรือชั้นนายพลผู้หนึ่งให้เหตุผลที่หยุดนี้ว่า "เพราะมีคนตายมากขึ้น" แต่ความจริงนั้นเป็นเพราะ "แม่ทัพเรือยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลรัฐประหารให้มีการหยุดรบเพื่อเจรจากัน" ซึ่งหมายความว่า รับข้อเสนอเพื่อยอมแพ้นั่นเอง ส่วนทางด้านวังหลวงนั้น ฝ่ายรัฐบาลใช้ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานและปืนใหญ่ทหารราบยิงประตูวิเศษไชยศรี แล้วเคลื่อนกำลังมีรถถังนำหน้าบุกเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ไม่ต้องคำนึงว่าปราสาทพระราชวังจะพินาศไม่อย่างไร"
    เมื่อขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์พ่ายแพ้ นายปรีดีหลบอยู่ตามบ้านคนรู้จัก แถบฝั่งธนบุรีท่ามกลางการไล่ล่า ของฝ่ายรัฐประหาร มีการตั้งสินบนนำจับราคาสูงแก่ผู้บอกที่หลบซ่อน สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ยุคมืดเต็มที่ มีการจับกุมบรรดาพรรคพวกนายปรีดี ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักศึกษาธรรมศาสตร์ เสรีไทย ทหารเรือจำนวนมาก ที่โหดเหี้ยมคือ สี่อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์--นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง ดร. ทองเปลว ชลภูมิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกตำรวจจับกุมและรุมซ้อมจนปางตาย และวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๙๒ เวลาตีสอง ตำรวจพาตัวคนทั้งสี่ไปยิงทิ้งอย่างโหดเหี้ยมที่ชานกรุง ริมถนนพหลโยธิน กม. ที่ ๑๔-๑๕ แล้วโยนความผิดว่าเป็นฝีมือของโจรมลายู ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทางพันกว่ากิโลเมตร ต่อมาตำรวจไทยได้กราดยิง ดร. ทวี ตะเวทีกุล อดีตรัฐมนตรี และเสรีไทยคนสำคัญตายที่สมุทรสงคราม และ พ.ต. โผน อินทรทัต รองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ถูกตำรวจจับและรุมทำร้ายจนสิ้นชีวิต
    ตลอดเวลาที่หลบซ่อนอยู่ นายปรีดีอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ด้วยความเจ็บปวด บรรดาศานุศิษย์และมิตรสหายของเขาถูกสังหารไปเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งนายปรีดีระบายให้ท่านผู้หญิงพูนศุขฟังว่า
    "ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป จะอยู่ไปทำไม เราทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อน... ต้องตาย"
    ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากจึงพูดว่า "ไม่ได้ ถ้าเธอตายไปก็เหมือนกับยอมแพ้ทุกอย่างสิ"

  คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ
    "ผมขายบ้านของผมในกรุงเทพฯ ไป แล้วก็ซื้อบ้านหลังหนึ่งในกรุงปารีสนี้ ปัจจุบันผมมีรายได้อยู่สองทาง คือเงินบำนาญของผมที่ส่งมาจากกรุงเทพ ฯ เดือนละ ๓,๖๕๓ บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้นับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในกรุงปารีส ด้วยเหตุนี้ผมจึงจำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพอีกทางหนึ่ง ด้วยการเขียนหนังสือขาย แก่ชาวฝรั่งเศสที่นี่ และชาวอเมริกันที่เขาสนใจ ผมเขียนหนังสือเสร็จไปแล้วสองสามเล่ม ในจำนวนนี้มีอยู่เล่มหนึ่งซึ่งผมเขียนขึ้นเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า ความเป็นอนิจจังของสังคม... ขณะนี้ผมกำลังเร่งการเขียนอยู่ทุกวัน ผมจะลงมือเขียนตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เมื่อหยุดรับประทานอาหารกลางวันแล้วผมก็จะลงมือเขียนต่อไปจนถึงตอนเย็น"
 ปรีดี พนมยงค์ เดอะเนชั่น ๒๕๑๔

      นายปรีดีหลบอยู่แถวฝั่งธนฯ นานหกเดือน จึงสบโอกาสปลอมตัวเป็นชาวประมงลงเรือเล็กหนีลงไปถึงสิงคโปร์ แล้วหาเรือเดินทางต่อไปยังฮ่องกงเพื่อขอลี้ภัยอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่นั่นนายปรีดีได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่งประสบชัยชนะในการโค่นล้มรัฐบาลเจียงไคเช็ค รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมาตราหนึ่งที่กำหนดว่า "บุคคลชาวต่างประเทศผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมและถูกข่มเหงกลั่นแกล้ง จากฝ่ายอธรรมจนไม่อาจจะพำนักอยู่ในประเทศของตนได้ ทางประเทศจีนถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอาคันตุกะของประเทศ"
    เมื่อครั้งประธานเหมาเจ๋อตงได้พบกับนายปรีดี ประโยคแรกที่ประธานเหมาเอ่ยขึ้น คือ
    "รู้สึกยินดีที่ได้พบกับท่านปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ส่วนตัวผมเองแต่เดิมมีอาชีพเพียงเป็นครูประชาบาลชั้นประถมเท่านั้น"
    นายปรีดีมาอยู่กรุงปักกิ่งได้ไม่นานก็ได้ข่าวว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขและปาล บุตรชายคนโต ถูกรัฐบาลสั่งจับข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ดังนั้นในปี ๒๔๙๖ เมื่อท่านผู้หญิงต่อสู้จนพ้นข้อหาแล้ว ก็ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ในเมืองไทยอีกต่อไป ท่านผู้หญิงพาลูกเล็ก ๆ เดินทางนานเจ็ดวันเจ็ดคืนโดยรถไฟสายทรานไซบีเรีย ผ่านฝรั่งเศสและโซเวียต
ไปพบนายปรีดีที่กรุงปักกิ่ง ต่อมานายปรีดีได้ขอย้ายไปอยู่ที่เมืองกวางโจวทางใต้ของจีน เนื่องจากทนอากาศหนาวจัดในเมืองหลวงไม่ไหว ซึ่งรัฐบาลจีนก็อำนวยความสะดวกให้
ที่เมืองกวางโจว นายปรีดีรับฟังข่าวสารจากเมืองไทยผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์ได้สะดวกขึ้น ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศจีน นายปรีดีถูกคนของรัฐบาลไทย กล่าวหาตลอดเวลาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนแดง เพื่อยึดประเทศไทย
    นายปรีดีเขียนหนังสือระบายความในใจมีข้อความตอนหนึ่งว่า
    "ข้าพเจ้าต้องอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีนเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปีด้วยเหตุผลเพียงเพราะข้าพเจ้าได้กลายเป็นแพะรับบาปของการใส่ร้ายป้ายสีนานัปการ โดยเฉพาะข้าพเจ้าถูกกล่าวหาหลายครั้งหลายคราว่าเป็นอาชญากรหรือก่อกบฏอย่างร้ายแรง ข้าพเจ้ากลายเป็นบุคคลที่มิพึงปรารถนาในสายตาของรัฐบาลต่างประเทศหลายประเทศ ทั้ง ๆ ที่ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่นั้น รัฐบาลเหล่านี้เคยกล่าวว่า เขาเป็นมิตรกับข้าพเจ้า แต่กลับ หันหลังž ให้ข้าพเจ้าอย่างง่ายดาย เพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่"
      ปี ๒๕๑๓ นายปรีดีในวัย ๗๐ ปีตัดสินใจอพยพไปอยู่ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้สามารถติดต่อกับญาติพี่น้องได้สะดวกกว่าเมืองจีน ช่วงเวลานั้นนายปรีดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทสยามรัฐ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่ลงข่าวหมิ่นประมาทว่านายปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต จนสุดท้ายจำเลยแพ้คดีต้องประกาศขอขมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ และทุกครั้งที่นาย
ปรีดีฟ้องศาลเรื่องกรณีสวรรคต ก็ปรากฏว่าชนะทุกครั้ง
    วันหนึ่งในปี ๒๕๑๖ นายปรีดีได้ไปแสดงปาฐกถา ณ สามัคคีสมาคม แก่นักศึกษาไทยในอังกฤษ มีความตอนหนึ่งว่า
    "ก็อาจมีบางเรื่องที่ผมรู้ แต่เผอิญเข้าลักษณะของคำพังเพยโบราณว่า เป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ ผมก็ต้องผลัดไปในโอกาสที่สถานการณ์อำนวยให้พูดออกบอกได้ ถ้าหากโอกาสนั้นยังไม่เกิดขึ้นในอายุขัยของผม แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมิได้หยุดชะงักลงภายในอายุขัยของคนใดหรือเหล่าชนใด คือประวัติศาสตร์จะต้องดำเนินต่อไปในอนาคตโดยไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นผมขอฝากไว้แก่ท่าน และชนรุ่นหลังที่ต้องการสัจจะช่วยตอบให้ด้วย"
    ตลอดระยะเวลาที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ นายปรีดีเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของสังคมไทยและสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด หลายครั้งได้แสดงจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องของสันติภาพ หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ คัดค้านสงครามทุกรูปแบบ คัดค้านการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ต่อต้านเผด็จการทั้งซ้ายและขวา โดยผ่านการให้สัมภาษณ์ การพูดคุย การเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ
    ในปี ๒๕๒๔ บุตรชายคนโตของท่านคือปาล พนมยงค์ เป็นมะเร็งที่ลำไส้ หมอบอกว่าอาจจะเสียชีวิต ดร. จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งได้บรรยายสภาพชีวิตในเวลานั้นของอาจารย์ปรีดีไว้ว่า
    "ตอนนั้นท่านผู้หญิงก็บินไปอยู่เมืองไทยเพื่อเฝ้าลูก ผมกำลังจะส่งวิทยานิพนธ์เลยได้ไปอาศัยอยู่กับท่านที่ปารีส วันหนึ่งขณะที่เราเดินไปสวนในช่วงบ่าย ๆ ท่านเดินอยู่กับผม แล้วมีเด็กเล็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่ วิ่งมาใกล้ ๆ ท่าน ท่านก็ก้มลงคอยเอามือลูบศีรษะเด็กคนนั้น พอเด็กวิ่งออกไป ท่านก็แหงนหน้าดูฟ้า และหันมาบอกกับผมว่า ปาลนี่ไม่น่าอายุสั้นเลย ยังไม่ได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มกับที่เกิดมาเลย ได้ฟังแล้วผมน้ำตาไหล นึกถึงว่าคนที่ต้องอยู่ห่างไกลกับลูกที่กำลังไม่สบายหนัก ไม่ทราบว่าจะรอดหรือไม่ สิ่งที่ท่านนึกถึงก็คือว่ายังไม่ได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติคุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่า ผมจะได้ยินจากคนอื่นในชีวิตนี้ ผมประทับใจมาก และรู้สึกว่านี่คือความผูกพันที่ท่านมีต่อประเทศชาติของเรา"
    เวลา ๑๑ นาฬิกาเศษของวันจันทร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๒๖ ขณะเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงานภายในบ้าน นายปรีดีก็ฟุบลงสิ้นใจอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวาย และสามปีต่อมาอัฐธาตุของท่านก็ได้กลับแผ่นดินไทยและถูกนำไปลอยสงบนิ่งอยู่ในท้องทะเลไทย
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล มิตรสนิทคนหนึ่ง เขียนคำไว้อาลัยต่อการจากไปของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า
    "ข้าพเจ้าเชื่อว่าชีวิตของคนทุกคนย่อมจะต้องเป็นไปตามแนวแห่งกรรมประจำตัว จะไม่มีผู้ใดที่จะเลี่ยงพ้นจากกรรมได้ ดังนี้ดวงของท่านที่ได้พุ่งขึ้นสูงส่งอย่างน่าประหลาด คือท่านเป็นศาสตราจารย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นรัฐมนตรีมาแทบทุกยุคทุกสมัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และยังมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นผู้สามารถธำรงเกียรติศักดิ์ของชาติไทยไว้ได้ ครั้นแล้วชะตาชีวิตของท่านอาจารย์ปรีดีก็พลันกลับทำให้ท่านต้องตกต่ำลงมาจนถึงขั้นต่ำสุด ตลอดจนชะตาของท่านอาจารย์ปรีดีก็โหดร้ายต่อตัวท่าน ต่อลูกเมียท่านนานาประการ ถึงขนาดที่เกือบจะต้องตกเป็นคนไทยที่ไม่มีสิทธิ์ในแผ่นดินไทยซึ่งเป็นบ้านเมืองที่รักของท่าน
    ข้าพเจ้าเคยกล่าวอยู่เสมอว่า ชะตาหรือดวงของคนคนหนึ่งนั้นอาจจะไปสัมพันธ์กับชะตาชีวิตของคน อีกหลายสิบล้านแม้แต่ดวงของประเทศ และถ้าพิจารณากันให้ละเอียดแล้วจะเห็นได้ชัดว่า ดวงของท่านอาจารย์ปรีดีเป็นเช่นนั้น เพราะว่าชะตาหรือดวงของท่านนั้น มิใช่จะทำให้แต่ตัวท่าน ต้องตกระกำลำบาก และเป็นผู้ที่สูญเสียแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังทำให้คนไทยอีกหลายสิบล้านคน ที่ต้องพลอยถูกกระทบกระเทือนและสูญเสียไปด้วย... และต้องเสียไปอย่างที่จะไม่มีทางกลับคืนมาได้อีกแล้ว"

 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา

นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ๑๐๐ ปีของสามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์ | ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ | ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต | บาร์ออกซิเจน | เพศที่ทำงานหนัก | "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" : ปฏิบัติการลับของ สื่อมวลชน | ยูคาฯ ๗.๕ แสนไร่ : การรุกคืบครั้งใหญ่ ของพืชเจ้าปัญหา | เฮโลสาระพา

Pridi Banomyong, an Ordinary Man: A Hundred Years | Use Thai Cloth
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail