ลูกชาวนาอยุธยา
ศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๔๓ ปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่ชื่อนางลูกจันทน์ พ่อชื่อนายเสียง เป็นคนเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีบรรพบุรุษข้างปู่สัมพันธ์ญาติกับพระเจ้าตากสิน ขณะที่บรรพบุรุษข้างย่าของนายเสียงสืบเชื้อสายมาจากพระนมแห่งกษัตริย์องค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อ "ประยงค์" ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งห่างจากกำแพงพระราชวังด้านตะวันตก ต่อมาวัดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อวัด "พระนมยงค์" หรือ "พนมยงค์"
ครั้นมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ ครอบครัวนี้จึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์" ในช่วงเวลานั้นสังคมไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจ สยามประเทศสูญเสียเอกราชทางการค้าจากการถูกบังคับให้เซ็นสัญญาบาวริงในปี ๒๓๙๘ ทั้งยังเสียดินแดนบางส่วนและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในขณะเดียวกันชาวนาไทยซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ประสบปัญหายากจนมาโดยตลอด ดังบันทึกของพระยาสุริยานุวัติ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๖ ที่ว่า "ชาวนาที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ย่อมจะเห็นปรากฏอยู่ทั่วไปแล้ว ในเวลาที่ทำนาอยู่ เสบียงอาหารและผ้านุ่งห่มไม่พอ ก็ต้องซื้อเชื่อเขาโดยต้องเสียราคาแพง หรือถ้าต้องกู้เงินเขาไปซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแพงเหมือนกัน เมื่อเกี่ยวข้าวได้ผลแล้ว ไม่มีกำลังและพาหนะพอจะขนไปจากลานนวดข้าวหรือไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวไว้ขาย เมื่อเวลาข้าวในตลาดจะขึ้นราคา ต้องจำเป็นขายข้าวเสียแต่เมื่ออยู่ในลานนั้นเอง จะได้ราคาต่ำสักเท่าใดก็ต้องจำใจขาย มิฉะนั้นจะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาทันกำหนดสัญญา..."
"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง... ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือน ที่รู้เท่าทันถึงการกระทำอันชั่วร้าย ของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎร และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ไขความชั่วร้าย ก็โดยที่จะจัดการปกครองโดยมีสภา... คณะราษฎร ไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายธรรมนูญ การปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ..."
"เค้าโครงเศรษฐกิจนี่เป็นการทุบหม้อข้าว ของเจ้านายขณะนั้น เพราะกิจการของรัฐ ที่ดินบางส่วนจะเป็นของรัฐ ไม่เป็นของส่วนตัว ตอนนั้นอำนาจเงินของเจ้านายอยู่ที่ที่ดิน และส่วนมากคณะรัฐมนตรีเป็นพวกขุนนางเก่าก็ไม่เห็นด้วย และพระยามโนฯ สามารถเกลี้ยกล่อมนายทหารเกือบทั้งหมดยกเว้นพระยาพหลฯ ได้ว่า พวกพลเรือนนี่หัวรุนแรง... อาจารย์ปรีดีตอนหลังก็ยอมรับว่า เป็นความผิดที่ไม่พิจารณาลักษณะนิสัยใจคอของพระยามโนฯ ก่อนที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พอเป็นแล้วก็ดูเหมือนจะตั้งหน้าตั้งตากำจัดอาจารย์ปรีดีท่าเดียว"
"เมื่อภารกิจด้านการปกครองในกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว นายปรีดีได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติภารกิจอันมีความสำคัญต่อประเทศสยามอย่างยิ่งยวด นั่นคือเป็นผู้นำในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่รัฐบาลสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้" ้
"อาจารย์ปรีดีรู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ทำให้ข้าราชการขึ้นมาเป็นใหญ่มากกว่าประชาชน ท่านถึงตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมืองเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก เพื่อราษฎรส่วนใหญ่ เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกเหนือการกำกับของรัฐเป็นแห่งแรก คือเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบที่กำลังพูดกันอยู่ตอนนี้ ซึ่งอาจารย์ปรีดีทำแล้ว ของบประมาณจำนวนน้อย และขอซื้อที่จากกรมมหาดเล็กที่ท่าพระจันทร์ แล้วก็ซื้อธนาคารเอเชียเพื่อเป็นแหล่งรายได้ นอกจากนี้ท่านยังยกโรงพิมพ์นิติสาส์นของท่านให้ธรรมศาสตร์ แล้วก็ฝึกให้คนเข้าใจ คุณจะเห็นได้เลยว่าเมื่อตั้งมหาวิทยาลัย ได้เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยได้มาศึกษา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าบัณฑิตรุ่นนั้น มาเป็นนักการเมืองกันทั้งนั้น""