|
|
|
อุทัยวรรณ
บุญลอย, กุลธิดา สามะพุทธิ : รายงาน
ฝ่ายภาพ สารคดี : ภาพ |
|
|
ตัวแทนชาวบ้านภาคอีสานผู้ได้รับบทเรียน
และผลกระทบจากการปลูกยูคาลิปตัส
ที่เข้าร่วมวงเสวนาเรื่อง
"ยูคาฯ ๗.๕ แสนไร่
ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร?"
เรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า
"พืชผีปอบ"
ผีปอบในความหมายที่รับรู้กันก็คือ
ผีดีที่ไม่ได้รับการเซ่นถวายของกินของใช้
จึงกลายเป็นผีร้ายเข้าสิงในร่างกายคน
สูบและดูดกินอาหารจากร่างนั้นจนไม่เหลือชีวิต
|
|
|
การเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่ง
ของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลดีผลเสีย
จากการปลูกยูคาลิปตัส
ของชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม
ระหว่างวันที่ ๕-๖ เมษายน ๒๕๔๓
ที่อำเภอท่าตะเกียบ
จังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยมีมติคณะรัฐมนตรี
ที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
๒๕๔๓
เป็นเหตุจูงใจที่ทำให้หันมาสนใจ
เรื่องของยูคาลิปตัสอีกครั้งหนึ่ง
มติ ครม. ฉบับนั้นระบุว่า
"คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินงาน
ในเรื่องการจัดหาที่ดิน
เพื่อปลูกต้นยูคาลิปตัส
ในการผลิตเยื่อกระดาษ
ส่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ตามที่กระทรวงเกษตร
และสหกรณ์เสนอ
โดยกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล
จำกัด ซึ่งเป็นผู้ลงทุนฝ่ายไทย
มีความประสงค์จะขออนุญาต
ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม
เนื้อที่ประมาณ ๒-๒.๕ แสนไร่
เพื่อรองรับโครงการปลูกป่า
และตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ
นอกจากนี้บริษัทยังต้องการพื้นที่ของ
ส.ป.ก. เนื้อที่ประมาณ ๕
แสนไร่อีกด้วย"
พื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ๒.๕
แสนไร่และที่ดิน ส.ป.ก. อีก ๕
แสนไร่นี้อยู่ในภาคตะวันออกทั้งหมด
เนื่องจากบริษัทฯ
ต้องการลดค่าใช้จ่าย
ด้านการขนส่งวัตถุดิบ
ป้อนโรงงานเยื่อกระดาษ
ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
นับว่าเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ภายหลังจากที่นายจู
หรง จี นายกรัฐมนตรีของจีน
เอ่ยถึงเรื่องการขอเช่าพื้นที่หลายแสนไร่
เพื่อปลูกยูคาลิปตัส
และรายได้ที่ไทย
จะได้รับจากการขายเยื่อกระดาษให้จีน
เมื่อคราวมาเยือนเมืองไทยเมื่อปลายปี
๒๕๔๒ ด้วยเหตุผลที่ว่า
จีนต้องการใช้กระดาษเป็นจำนวนมาก
แต่สภาพอากาศและดินที่นั่นเย็นเกินไป
ไม่เหมาะที่จะปลูกไม้โตเร็ว
นอกจากนี้
จีนยังเห็นว่าประเทศไทยมีความรู้
และความก้าวหน้า
ด้านการปลูกยูคาลิปตัสมากที่สุด
ในภูมิภาคอีกด้วย
|
|
|
รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการปลูกสวนป่าตั้งแต่ปี
๒๕๒๐ เป็นต้นมา
เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า
และสร้างป่าเศรษฐกิจ
ที่สามารถตัดฟันไม้ออกมาใช้ประโยชน์ได้
การปลูกสวนป่า
โดยเฉพาะไม้ยูคาลิปตัสในไทย
ยังเกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันอย่างเดียวกันกับ
ประเทศโลกที่สามอื่น ๆ คือ
ความต้องการวัตถุดิบในปริมาณมาก
และราคาถูก
ของประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย
ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน
และเทคโนโลยี ผ่านทางรัฐบาล
และนายทุนที่ให้การตอบสนอง
อย่างกระตือรือร้นเสมอมา
การส่งเสริมให้ปลูกยูคาลิปตัส
โดยหวังผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว
รวมทั้งวิธีคิดที่คลุมเครือ
เกี่ยวกับการอนุรักษ์
หรือการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้
ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างมาก
โดยเฉพาะการสูญเสียที่ดินทำกิน
และการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต
มาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรระหว่างรัฐ
นายทุน
และเกษตรกรรายย่อยมาโดยตลอด
ปลอดประสพ สุรัสวดี
อธิบดีกรมป่าไม้ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดหาที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม
๒.๕
แสนไร่ให้กับโครงการปลูกยูคาลิปตัสเพื่อส่งขายประเทศจีนบอกว่า
โครงการนี้มีข้อดีหลายอย่าง คือ
ช่วยลดการนำเข้าเยื่อกระดาษ
มีรายได้จากการส่งออก
เกษตรกรมีงานทำ
(เป็นลูกจ้างทำงานในสวนป่าของบริษัท)
ที่สำคัญก็คือ
มันจะเป็นเครื่องมือ
ที่ทำให้รัฐได้ที่ดินกลับคืน
มาจากประชาชนที่ครอบครองอยู่อย่างผิดกฎหมาย
|
|
|
"พื้นที่ที่กรมป่าไม้
จะให้บริษัทร่วมทุนเช่าปลูกยูคาลิปตัส
ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ป่าอีกต่อไปแล้ว
มันถูกบุกรุก
ถากถางกลายเป็นไร่เป็นนา
มีชาวบ้านเข้าไปถือครอง
โดยใช้สิทธิของความยากจน
เราจะเข้าไปจับกุมก็ไม่ได้
เพราะจะกลายเป็นปัญหาสังคมใหญ่โต
แต่ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น
รัฐก็จะได้ที่ดิน ๒-๓
แสนไร่นี้กลับคืนมา
แถมยังได้ค่าเช่าจากเอกชนอีกด้วย
ส่วนประชาชนที่ยึดครองอยู่อย่างผิดกฎหมาย
ก็เท่ากับว่าได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที"
อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว
"ขณะนี้กรมป่าไม้พร้อมแล้วที่จะดำเนินโครงการ
มีการตั้งคณะกรรมการ
ไปสำรวจพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัส
๒.๕ แสนไรร่วมกับบริษัท
โดยบริษัทต้องเจรจา
และจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ที่ถือครองอยู่เอง"
แต่ปัญหาก็คือ
ความพร้อมของกรมป่าไม้ที่อธิบดีพูดถึงนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางคำถาม
และข้อถกเถียงที่ยังไม่มีบทสรุปถึงผลกระทบ
ต่อสิ่งแวดล้อม ความคุ้มทุน
และผลประโยชน์ที่แท้จริง
จากโครงการนี้
ชาวอีสานที่เคยปลูกหรือได้รับผลกระทบ
จากยูคาลิปตัสเรียกมันว่า "พืชผีปอบ"
เกษตรกรในอำเภอท่าตะเกียบ
จังหวัดฉะเชิงเทรา
บางรายก็ไม่เห็นด้วยกับการปลูกยูคาลิปตัส
เนื่องจากเป็นพืชที่มีความสามารถในการดูดน้ำ
และธาตุอาหารมาก
ทำให้พืชทางการเกษตรอื่น ๆ
ที่ปลูกอยู่ข้างเคียงตายหมด
เพราะแย่งน้ำ และอาหารไม่ทัน
แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้แปลงปลูกก็แห้งไป
นอกจากนี้การปลูกยูคาลิปตัส
ยังต้องลงทุนสูงเนื่องจากจะคุ้มทุนก็ต่อเมื่อ
ปลูกในแปลงขนาดใหญ่เท่านั้น
และกินเวลานาน
กว่าจะมีรายได้จากการปลูก
เพราะรอบตัดฟันของไม้ชนิดนี้
ต้องรอนานถึงสี่ห้าปี
แต่เกษตรกรชาวท่าตะเกียบ
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นสมาชิก
ของบริษัทสวนป่ากิตติ
(บริษัทหนึ่งของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล)
ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษ คือ
ซื้อกล้าไม้ได้ในราคาถูก
และบริษัทรับประกันราคาให้
กลับมองว่ามันเป็นพืชที่ดีตรงที่ปลูกง่าย
โตเร็ว ไม่ต้องดูแลรักษามาก
ความไม่คุ้มทุนหรือผลกระทบจากยูคาลิปตัส
ที่เกษตรกรคนอื่น ๆ
เจอนั้นเป็นเพราะปลูกไม่ถูกวิธี
จัดการสวนป่าไม่ดี
"ยูคาฯ
มันดีตรงที่ไม่กลัวแล้ง
ไม่กลัวฝน
คนที่มองว่ายูคาลิปตัสมีข้อเสีย
คือคนที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตไม่ดี
ปลูกแล้วขาดทุน
เพราะดูแลรักษาไม่ดีเอง
ไม่ได้ผลประโยชน์ก็มาบอกว่าของไม่ดี
มีข้อเสีย เหมือนเรามีลูก
เราเลี้ยงลูกด้วยน้ำข้าว
แทนที่จะเลี้ยงด้วยนม
เด็กจะโตได้อย่างไร
บ้านนี้เมืองนี้เขาก็ปลูกกันทั้งนั้น
นั่งรถผ่านมาก็มีแต่ยูคาฯ"
ทองพูน เสียงลำ
เจ้าของสวนป่ายูคาลิปตัสจำนวน
๗๐ ไร่ในอำเภอท่าตะเกียบกล่าว
|
|
|
ทองพูนเล่าว่า
ล่าสุดบริษัทสวนป่ากิตติ
ซึ่งปฏิเสธการขอเข้าชมโรงงานเยื่อกระดาษของผู้สื่อข่าว
รวมทั้งไม่ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมให้ข้อมูลในวงเสวนาในครั้งนี้
ได้มาบอกให้เกษตรกรปลูกยูคาลิปตัส
โดยใช้ "แนวทางใหม่"
นั่นคือปลูกถี่ขึ้นอีกเท่าตัวเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตโดยให้ปลูกในระยะ
๑.๕x๑.๕ เมตร แทนที่จะเป็น ๓x๓ เมตร
เหมือนที่เคยแนะนำไว้ในตอนแรก
ซึ่ง อาจารย์บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์
นักวิชาการจากคณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ให้ความเห็นว่า
การที่บริษัทส่งเสริมให้ปลูกถี่ขึ้น
จะทำให้ที่ดินเสื่อมโทรมเร็วและไม้จะโตช้า
การปลูกแน่นมากไม่ได้เป็นผลดีกับเกษตรกร
แต่เป็นผลดีสำหรับคนขายกล้าซึ่งจะมีโอกาสขายกล้าได้มากขึ้น
อาจารย์บุญวงศ์ยังให้ความเห็นต่อโครงการปลูกยูคาลิปตัส
๗.๕ แสนไร่นี้ด้วยว่า
"ผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการปลูกพืชอะไรก็ตามที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่มากมายมหาศาลขนาดนี้
และจากการสำรวจของนิสิตคณะวนศาสตร์เมื่อปี
๒๕๔๑
พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่สวนป่ายูคาลิปตัสอยู่ทั้งหมด
๒.๗ ล้านไร่ ในขณะที่ปัจจุบันนี้
เราต้องการไม้ยูคาลิปตัสเพียง
๑.๓ ล้านไร่เท่านั้น
นั่นหมายความว่าเรามีสวนป่ายูคาลิปตัสมากเกินพอแล้ว
"ที่นี่ไม่ควรจะเป็นโซนของการปลูกยูคาลิปตัส
น่าจะเป็นโซนของไม้ผลมากกว่า
ยูคาลิปตัสน่าจะไปลงที่อื่นที่ไม่ใช่ท่าตะเกียบหรือฉะเชิงเทรา
เพราะศักยภาพของที่ดินที่นี่อุดมสมบูรณ์มากและเหมาะสำหรับปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนในระยะสั้น"
ความเป็นห่วงว่าภาคตะวันออก
จะถูกปกคลุมไปด้วยสวนป่ายูคาลิปตัส
ไม่ได้มาจากเกษตรกร
และนักวิชาการเท่านั้น
หากยังขยายวงไปถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีกด้วย
เพราะว่าฉะเชิงเทรา
เป็นที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
ซึ่งเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันกับผืนป่าอนุรักษ์ที่สำคัญอีกสี่แห่ง
คือ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว,
อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-แม่วง,
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวาย
หรือที่เรียกกันว่า
"ป่ารอยต่อห้าจังหวัด"
นั่นเอง
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นี่กลัวว่าเอกชน
และเกษตรกรจะเอายูคาลิปตัส
เป็นไม้เบิกนำการบุกรุกผืนป่าแห่งนี้
ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่เพียง
๑.๓ ล้านไร่หรือน้อยกว่า ๒
เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าทั้งหมดในประเทศ
แต่ก็มีสัตว์ป่าอยู่ถึง ๓๗
เปอร์เซ็นต์
และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ
ถ้ารัฐบาลให้เอกชน
เช่าที่ดินที่ชาวบ้านถือครองอยู่นี้ไป
มีความเป็นไปได้อย่างมาก
ที่พวกเขาจะบุกรุกพื้นที่ป่าแห่งใหม่ต่อไป
ดังเช่นที่ชาวบ้านคนหนึ่งตั้งคำถามว่า
"ทุกวันนี้คนไทยยังไม่มีที่ทำกินเลย
มีเหตุผลอะไรที่จะไปให้ประเทศจีน
เช่าพื้นที่ไปได้
ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น
ชาวบ้านจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
ถ้าประเทศจีนมาเช่าที่ไปปลูกยูคาลิปตัส
จะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน
จะให้ค่าชดเชยที่นี่แล้วให้ชาวบ้านไปบุกป่าที่อื่นต่อใช่ไหม"
เมื่อปรากฏว่าโครงการนี้
มีขนาดใหญ่มาก
และการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่มากถึง
๗.๕
แสนไร่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และวิถีชีวิตของชาวบ้านมากกว่าที่คิด
ข้อเสนอของ รัชดา ฉายสวัสดิ์
จากสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
(สสส.) ที่ว่า
ต้องผลักดันโครงการนี้
เข้าสู่การทำรายงาน
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
และการทำประชาพิจารณ์
จึงเป็นสิ่งที่รัฐควรทำให้เกิดขึ้นจริง
|
|
|
|