|
|
|
กุลธิดา
สามะพุทธิ รายงาน |
|
|
ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Manufacturing Consent
ที่นำมาฉายในงานเปิดตัวโครงการ
"ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" โนม
ชอมสกี้ นักวิชาการด้านปรัชญา
และภาษาศาสตร์แห่งสถาบันเอ็มไอที
(Massachusetts Institute of Technology)
ผู้เป็นแนวหน้าในการวิพากษ์สื่อมวลชน
ยกกรณีสังหารชาวติมอร์ตะวันออก
และกรณีกลุ่มเขมรแดงเข่นฆ่าชาวเขมร
ซึ่งเกิดในช่วงเวลาเดียวกันคือปี
๑๙๗๕ มาเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า
แม้ทั้งสองเหตุการณ์นี้จะรุนแรง
และโหดร้ายพอ ๆ กัน
แต่การนำเสนอข่าว ของสื่อมวลชน
ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า
กรณีเขมรแดงเหี้ยมโหดกว่ามาก
และจากการสำรวจข่าว
ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
นิวยอร์กไทม์ช่วงปี ๑๙๗๕-๑๙๗๙
ปรากฏว่า นิวยอร์กไทม์
ลงข่าวเรื่องกองทัพอินโดนีเซียฆ่าชาวติมอร์ตะวันออกเพียง
๗๐ คอลัมน์นิ้ว
ในขณะที่ลงข่าวเขมรแดงกว่า ๑,๐๐๐
คอลัมน์นิ้ว
|
|
|
ชอมสกี้วิเคราะห์ว่า
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ
"ผู้กระทำ"
ในสองกรณีนี้ต่างกัน กล่าวคือ
สงครามที่คอมมิวนิสต์ (เขมรแดง)
ทำร้ายผู้คนย่อมจะถูกจับตาและถูกทำให้ดูเหี้ยมโหดกว่าสงครามที่
"ฝ่ายขวา"
(กองทัพอินโดนีเซียซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้หนุนหลังและขายอาวุธให้)
เป็นผู้ลงมือ
นอกจากจะเสนอข่าวกรณีเขมรแดงมากเกินเหตุ
โดยแทบจะไม่เสนอเรื่องราว
ของชาวติมอร์ตะวันออกกว่า ๒
แสนคนที่ถูกฆ่าแล้ว
ชอมสกี้บอกว่าสื่อมวลชนยังมีการบิดเบือนข้อมูลอีกด้วย
เช่น
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสังหารของกลุ่มเขมรแดงรวมทั้งผู้ที่อดตายในสงครามครั้งนี้ไม่ใช่
๒ ล้านคนอย่างที่คนรับรู้กัน
แต่มีจำนวนน้อยกว่านั้นมาก
และสื่อมวลชนก็จงใจสร้างกระแส
ให้เหตุการณ์ดูรุนแรงเกินจริง
เช่น เมื่อเกิดเรื่องขึ้นใหม่ ๆ
นิวยอร์กไทม์
พาดหัวข่าวโดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น
"การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"
ในทันที ทั้ง ๆ
ที่เพิ่งจะมีผู้เสียชีวิตเพียง
๑๐๐-๒๐๐ คนเท่านั้น
นี่ไม่ใช่ตัวอย่างเดียวของเหตุการณ์สำคัญที่ไม่เป็นข่าว
หนังสือเรื่อง
ข่าวที่ไม่เป็นข่าว (Censored ! The News That Didn't
Make the News and Why, 1994) เขียนไว้ว่า
"ในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐
ข่าวของผู้อดอยากในแอฟริกามักถูก
"เซ็นเซอร์" อยู่เสมอ
เมื่อถามสื่อมวลชนว่า
ทำไมถึงไม่เสนอเรื่องราวเหล่านี้
คำตอบที่ได้ก็คือ
"มันไม่ใช่ข่าว", "ใคร ๆ
ก็รู้ถึงความอดอยากยากไร้ในแอฟริกากันแล้วทั้งนั้น"
หรือไม่ก็
"ถึงอย่างไรก็ช่วยอะไรพวกเขาไม่ได้อยู่ดี
" |
|
|
หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
"Project Censored" ของมหาวิทยาลัยโซโนมา
สหรัฐอเมริกา
ที่มีการจัดอันดับข่าวที่ถูกเซ็นเซอร์เป็นประจำทุกปี
โดยทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา ๒๓
ปีแล้ว
โดยแต่ละข่าวที่ไม่ได้รับการนำเสนอนั้นล้วนมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม
และหากไม่ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างถูกต้องครบถ้วนอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง
และการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสมได้
ผู้จัดทำโครงการนี้พบว่า
แม้กระทั่งประเทศ
ที่อ้างว่ามีเสรีภาพอย่างเต็มที่
อย่างสหรัฐอเมริกา
ก็ยังมีกระบวนการควบคุมกลบเกลื่อนข่าว
แอบแฝงอยู่ และที่สำคัญคือ
กระบวนการนี้
กระทำโดยสื่อมวลชนกระแสหลักเอง
เนื่องจากข่าวเหล่านี้
ขัดต่อผลประโยชน์ของสื่อมวลชนนั้น
ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม
ด้วยแรงจูงใจจากโครงการดังกล่าว
โครงการสื่อสันติภาพ
คณะนิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา
นิตยสาร ปาจารยสาร
และสถาบันพัฒนาการเมืองจึงจัดทำโครงการแบบเดียวกันนี้ขึ้นในเมืองไทย
มีการแนะนำตัวโครงการไปเมื่อวันที่
๑๓ มีนาคม ๒๕๔๓
ซึ่งตรงกับวันครบรอบ ๑๔
ปีการเสียชีวิตของอาจารย์สุภา
ศิริมานนท์
นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย
ผู้จัดให้คำจำกัดความของ
"โครงการข่าวที่ไม่เป็นข่าว"
ไว้ว่า "เป็นความพยายาม
ในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร
และเหตุการณ์ต่าง ๆ
ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม
แต่ไม่ได้รับการเสนอจากสื่อมวลชนหรือถูกนำเสนอเพียงบางแง่มุม
มาประมวล สรุป
และจัดอันดับความสำคัญ
พร้อมทั้งนำเสนอบทวิเคราะห์ประกอบการคัดเลือกข่าวดังกล่าว
เพื่อแสวงหาทางเลือกในการบริโภคข่าวสารอย่างครบถ้วนและรอบด้าน"
|
|
|
รูปร่างหน้าตาของข่าว
ที่ไม่เป็นข่าวในเมืองไทย
ที่วิทยากรในวงเสวนา
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแนะนำโครงการนี้
ยกตัวอย่างมาให้เห็น คือ
กรณีที่หนังสือพิมพ์
กรุงเทพธุรกิจ
และรายการวิทยุคลื่นหญิง
พลังหญิง (FM 99.5)
นำเสนอข่าวเรื่องอันตรายจากผงชูรส
แล้วถูกบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ
ผู้ผลิตผงชูรสรายใหญ่
กดดันทั้งโดยการเรียกเจ้าของสื่อ
ไปพูดคุย
และการถอนโฆษณาออกจากสื่อ
ที่เสนอเรื่องดังกล่าว
เพื่อให้ยุติการเสนอข่าวนี้
"ข่าวชาวเขา"
เป็นข่าวอีกชิ้นหนึ่งที่ ศุภชัย
เจริญวงศ์ เจ้าหน้าที่โครงการ
ช่วยเหลือทางกฎหมาย
คนชายขอบบอกว่าไม่ค่อยจะเป็นข่าว
ทั้งกรณีชาวเขาถูกจับกุม
จากการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า
กรณีทหารบุกเข้าไปเผาหมู่บ้านชาวเขา
ล่าสุดคือ
การบุกเข้าจับกุมชาวปะหล่อง
ในหมู่บ้านปางแดง และกรณีจอมทอง
ซึ่งเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ
ซึ่งมีการพูดกันว่า คนบนที่สูง
ไม่ใช่คนไทย
จึงไม่มีสิทธิใช้ทรัพยากร
เป็นต้น
เหตุผลที่ข่าวเรื่องอันตรายของผงชูรสที่
ชุณชัย แก้วแดง
บรรณาธิการบริหารคลื่นหญิง
พลังหญิง
พยายามเสนอในรายการของเขาว่า
ทำให้เด็กตายก่อนคลอด
หรือคลอดแล้วพิการ
สมองอยู่นอกกะโหลกศีรษะ
ใบหน้าผิดปรกติ ปากแหว่ง ไม่มีตา
ไม่มีขากรรไกร ฯลฯ ไม่เป็นข่าว
ก็เพราะว่ามันขัดผลประโยชน์
ของนายทุนที่ซื้อโฆษณา
ของสื่อนั้น ๆ
นับว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
ของความขัดแย้งระหว่างทุนกับสื่อ
ซึ่งเคยมีการพูดถึง
กันบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา
แต่เหตุที่สื่อมวลชน
เสนอข่าวชาวเขา อย่างไม่รอบด้าน
หรือละเลยที่จะนำเสนอ
วิทยากรในวงเสวนาเห็นตรงกันว่า
เป็นเพราะ
"อคติทางชาติพันธุ์"
ที่แฝงเร้นอยู่ในสื่อมวลชน
ศุภชัยอธิบายเรื่อง
อคติของสื่อมวลชน โดยยกตัวอย่าง
การเสนอข่าวกรณีก็อดส์อาร์มีว่า
"ถ้าเปรียบเทียบกับกรณีวิสามัญฆาตกรรม
ผู้ต้องหาค้ายาบ้า
เจ็ดศพที่สุพรรณบุรี
จะเห็นความแตกต่างกันอย่างลิบลับ
เหตุการณ์ที่สุพรรณบุรี
ดูเหมือนว่า
สังคมจะยอมรับการฆ่าคนไม่ได้เลย
แต่พอฆ่าทหารก็อดส์อาร์มี
ทุกคนกลับปรบมือให้
สื่อมวลชนสร้างให้ผู้ฆ่า
ในเหตุการณ์หนึ่งเป็นคนเลว
ในขณะที่อีกเหตุการณ์หนึ่ง
กลายเป็นวีรบุรุษ ทั้ง ๆ
ที่เป็นการฆ่าเหมือนกัน"
การเกิดขึ้นของโครงการข่าว
ที่ไม่เป็นข่าวแสดงให้เห็นว่า
ปัญหาที่อยู่เบื้องหลังความไม่ถูกต้อง
ครบถ้วนของข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอนั้น
ได้เคลื่อนย้ายจากการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐ
นักการเมือง ทหารและกฎหมาย (ปร. ๔๒)
มาสู่อิทธิพลของ "ทุน"
ที่มีต่อทิศทางการเสนอข่าวของสื่อ
และปัญหาที่ค้นพบล่าสุดก็คือ
"อคติ" ของสื่อมวลชนนั่นเอง
ข่าวที่ไม่เป็นข่าวหรือข่าวที่ถูกเซ็นเซอร์ในเมืองไทย
๑๐ ชิ้น ที่คณะกรรมการ
ซึ่งประกอบไปด้วย
ผู้มีความรู้ในด้านต่าง ๆ
ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ
วัฒนธรรม สื่อสารมวลชน
เด็กและสตรี เช่น ศ. นิธิ
เอียวศรีวงศ์, รศ.ศรีศักร
วัลลิโภดม, อ. ชยันต์ วรรธนะภูติ,
คุณสุรสีห์ โกศลนาวิน
(อดีตผู้อำนวยการสำนักข้อมูลข่าวสารของทางราชการ),
ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อ. ผุสดี
ตามไท, ดร. อุบลรัตน์
ศิริยุวศักดิ์, คุณสนิทสุดา
เอกชัย (หนังสือพิมพ์
บางกอกโพสต์)
ใช้เวลาหนึ่งปีต่อจากนี้ในการคัดเลือก
จะช่วยเปิดโปงให้เห็นถึงอคติ
ที่อยู่เบื้องหลังการเสนอ
(และไม่เสนอ)
ข่าวของสื่อมวลชนไทยได้เป็นอย่างดี
|
|
|
|