Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ ข้ อ เ ท็ จ จ ริ ง เ กี่ ย ว กั บ ท่ า น ป รี ดี ฯ แ ล ะ ก ร ณี ส ว ร ร ค ต
สุพจน์ ด่านตระกูล
  อัญเชิญขึ้นครองราชย์

    จากความขัดแย้งระหว่างพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ กับรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา อันเป็นเหตุให้พระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ เมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ และโดยที่พระปกเกล้าฯ ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นองค์รัชทายาท รัฐบาลพระพหลฯ จึงประชุมปรึกษาหารือกันในระหว่างเวลา ๕ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ถึงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ เพื่อพิจารณาหาเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีขึ้นเป็นองค์พระมหากษัตริย์สืบต่อไป ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕ และโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล พุทธศักราช ๒๔๗๖


ทำสนธิสัญาใหม่กับประเทศมหาอำนาจ (คลิกดูภาพใหญ่)     กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ มีด้วยกัน ๘ หมวด ๒๑ มาตรา หมวดที่สำคัญคือหมวดที่ ๔ ว่าด้วยลำดับขั้นผู้สืบราชสันตติวงศ์ และหมวดที่ ๕ ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์
    หมวดที่ ๔ มาตรา ๙ บัญญัติไว้ว่า
    "ลำดับขั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อไม่สามารถเลือกทางก็ตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย"
    "เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้" "
    ครั้นแล้วท่านก็ลำดับพระญาติวงศ์ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ นับแต่สมเด็จหน่อพุทธเจ้าเป็นปฐมลงไป สรุปเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
    ลำดับที่ ๑ พระราชโอรสหรือพระราชนัดดา
    ลำดับที่ ๒ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา แต่ทรงมีสมเด็จอนุชาที่ร่วมพระราชชนนี หรือพระราชโอรสของสมเด็จพระอนุชา
    ลำดับที่ ๓ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับไร้ทั้งสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี แต่ทรงมีสมเด็จพระเชษฐา หรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระราชชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือพระอนุชา
    ลำดับที่ ๔ กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับทั้งไร้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี และไร้สมเด็จพระเชษฐา หรือพระอนุชาต่างพระราชชนนี แต่ทรงมีพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ
    ลำดับที่ ๕ กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและไร้พระราชนัดดา พระอนุชาร่วมพระราชชนนีและพระอนุชาต่างพระราชชนี พระเจ้าพี่ยาเธอ น้องยาเธอ แต่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอหรือพระโอรส
    ดังกล่าวนี้คือลำดับพระองค์ ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๙ แต่มีข้อบังคับว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสมบัติไว้ในหมวด ๕ มาตรา ๑๑ ว่าดังนี้
    ๑. มีพระสัญญาวิปลาศ
    ๒. ต้องราชทัณฑ์ เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคณดีมหันตโทษ
    ๓. ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
    ๔. มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือนางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้
    ๕. เป็นผู้ที่ได้ถูกถอดถอนออกแล้ว จากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอดถอนจะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ
    ๖. เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสีย จากลำดับสืบราชสัตติวงศ์
    กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสัตติวงศ์ดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงตราขึ้นก่อนที่ พระองค์จะเสด็จสวรรคตเพียงหนึ่งปี (คือตราขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๗ และพระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๖) และก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต ๒ เดือน พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๖ ถึงเสนาบดีวัง เกี่ยวกับองค์รัชทายาท ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อจากพระองค์ท่าน (ขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุวัฒนาพระวรราชเทวี กำลังทรงพระครรภ์ ยังไม่แน่ว่าจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา) พระบรมราชโองการมีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้
๓ กรกฎาคม เปิดอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คลิกดูภาพใหญ่)     "...ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล เกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์..."
    ต่อมาในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ได้ประสูติพระราชธิดา (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตน์ราชสุดารามฯ) จึงเป็นอันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบราชสัตติวงศ์ การสืบราชสันตติวงศ์จึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อ ๒ แห่งกฎมณเฑียรบาล เงื่อนไขข้อ ๒ ได้บัญญัติไว้ว่า
    "กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชชนนีหรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชา"
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระราชชนนีด้วยกันเก้าพระองค์ คือ
    ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย (ประสูติเมื่อ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๒๑ สิ้นพระชนม์เมื่อ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๓๐)
    ๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง
    ๔. จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ต้นสกุลจักรพงษ์ ณ อยุธยา)
    ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
    ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (ประสูติและสิ้นพระชนม์ในวันเดียวกัน)
    ๗. พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎาวงศ์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (ต้นสกุลอัษฎางค์ ณ อยุธยา)
    ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช กรมขุมเพชรบูรณ์อินทราไชย (ต้นสกุลจุฑาธุช) และ
    ๙. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ ๗)
    ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคตนั้น พี่น้องร่วมพระราชชนนีกับพระองค์ท่าน ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาพระองค์เดียว ซึ่งเป็นพระอนุชาองค์สุดท้อง และมีนัดดาสององค์ คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โอรสของกรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ กับหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช โอรสของกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชย
    กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น ดำรงฐานะเป็นรัชทายาทของพระมงกุฎเกล้าฯ ด้วยเป็นพระอนุชาถัดจากพระองค์ และขณะนั้นกรมหลวงพิษณุโลกฯ มีหม่อมแคทยาเป็นพระชายา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชบิดาทรงรับเป็นสะใภ้ หลวง ม.ร.ว. นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เล่าไว้ในหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม ว่าชื่อ จุลจักรพงษ์ เป็นชื่อที่พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงประทานตั้งให้ โดยเปลี่ยนจากชื่อ พงษ์จักร ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสาวภาผ่องศรี ประทานตั้งให้แต่แรก
    ดังนั้นตามเงื่อนไขข้อ ๒ แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสัตติวงศ์ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงอยู่ในฐานะที่จะได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระมงกุฎเกล้าฯ เพราะเป็นพระโอรสของสมเด็จพระอนุชา องค์รัชทายาท (กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)
    ส่วนหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรสของกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้น ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาล ก็มีสิทธิ์สืบราชสัตติวงศ์เป็นพระองค์ถัดไป จากพระองค์เจ้าจุลฯ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ท่านทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ข้ามไปเสียดังที่ยกมาข้างต้น
    จากพระบรมราชโองการฉบับวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๘ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงรับในสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ของพระองค์เจ้าจุลฯ เพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงรับในสิทธิ์ดังกล่าวนี้ พระองค์จะต้องระบุไว้ ในพระบรมราชโองการฉบับเดียวกันนี้ว่าให้ข้ามไปเสีย (เพราะมีแม่เป็นนางต่างด้าว) เช่นเดียวกับที่ทรงระบุให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช (เพราะมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล) นั้นแล้ว
๒ พฤษภาคม อสัญกรรม ณ บ้านพักอองโตนี (คลิกดูภาพใหญ่)     แต่มีแม่เป็นนางต่างด้าวไม่อยู่ในข้อห้ามตามมาตรา ๑๑ (๔) ห้ามแต่มีชายาเป็นนางต่างด้าวเท่านั้น
    ในที่ประชุมของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ในคืนวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ซึ่งมี จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าพระยาภาณุพันธ์วงศ์วราเป็นประธานของที่ประชุม อันประกอบด้วย จอมพลสมเด็จพระพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เปี่ยมไปด้วยพระบารมี ได้มีความเห็นไห้อัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี
    ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติ โดยกฎมณเฑียรบาล พระองค์ผู้สืบราชสัตติวงศ์คือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นสายตรงคือ โอรสของพระเชษฐา (กรมหลวงพิษณุโลกฯ) ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ก่อนกรมขุนสุโขทัย (รัชกาลที่ ๗ ) แต่ด้วยบารมีของจอมพล สมเด็จพระพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ช่วยส่งให้กรมขุนสุโขทัยขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ข้ามพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ไป
    ส่วนกรมหลวงสงขลาฯ สมเด็จพระราชบิดานั้น เป็นอนุชาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทรบรมราชเทวี พระพันวัสสอัยยิกาเจ้า)
    แต่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมงกุฎราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาสมเด็จพระราชบิดา พระจุลจอมเกล้าฯ ได้สถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนเทพทวาราวดี ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภา ผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (แทนที่จะเป็นกรมหลวงสงขลาฯ พระอนุชาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชมารพระองค์ก่อน) และถ้านับโดยศักดิ์ทางพระมารดาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระมารดาของกรมขุนเทพทวาราวดี (รัชกาลที่ ๖) เป็นพระน้องนาง (ประสูติ ๑ มกราคม ๒๔๐๖) ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (ประสูติ ๑๐ กันยายน ๒๔๐๕ นับตามปีปฏิทินเก่า) ในสมเด็จพระมารดาสมเด็จพระปิยมาวดี ที่มีพระพี่นางองค์โตร่วมครรภ์พระมารดาเดียวกันคือ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ (ประสูติ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๐๓) หรือพระนางเรือล่ม
    ที่ผมอุตส่าห์ลำดับความการสืบราชสัตติวงศ์มานั้น ก็เพื่อเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ มีส่วนสำคัญอย่างไรบ้าง ในการสนับสนุนเชื้อสายของ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ขึ้นนั่งบัลลังก์พระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ทั้ง ๆ ที่ถูกข้ามมาแล้ว
    ในการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างวันที่ ๒-๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ครั้งนั้น ท่านปรีดีฯ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกัยพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
    "(๑) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่ทรงเป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ ๖ ครั้นแล้วจึงพิจารณาคำว่า "โดยนัย" แห่งกฎมณเฑียรบาล ๒๔๖๗ นั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะต้องยกเว้นตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่งกฎมณเฑียรบาลหรือไม่ เพราะมารดามีสัญชาติเดิมเป็นต่างประเทศ ซึ่งตามตัวยากโดยเคร่งครัดกล่าวไว้แต่เพียง ยกเว้นผู้สืบราชสัตติวงศ์ที่มีพระชายาเป็นคนต่างด้าว (ขณะนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังไม่มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว) รัฐมนตรีบางท่านเห็นว่าข้อยกเว้นนั้นใช้สำหรับรัชทายาทองค์อื่น แต่ไม่ใช่กรณีสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สถาปนาเป็นรัชทายาทนั้น ก็ทรงมีพระชายาเป็นนางต่างด้าวอยู่แล้ว และทรงรับรองเป็นสะใภ้หลวงโดยถูกต้อง แต่ส่วนมากของคณะรัฐมนตรีตีความคำว่า "โดยนัย" นั้น ย่อมนำมาใช้ในกรณีที่ ผู้ซึ่งจะสืบราชสัตติวงศ์ มีพระมารดาเป็นนางต่างด้าวด้วย"
    รัฐมนตรีส่วนข้างมากที่ตีความคำว่า "โดยนัย" ดังกล่าวนี้ มีท่านปรีดีฯ ร่วมอยู่ด้วย และเป็นคนสำคัญในการอภิปรายชักจูง ให้รัฐมนตรีส่วนข้างมากมีความเห็นร่วมกับท่าน
    ที่ประชุมจึงได้พิจารณาถึงพระองค์อื่น ๆ ตามกฎเกณฑ์ของกฎมณเฑียรบาลที่ระบุไว้ว่า "...ต่อไม่สามารถเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่มีสนิทมากและน้อย"
    ในบรรดาพระองค์ที่สนิทมากและน้อยนี้มีอาทิ กรมพระนครสวรรค์ และพระโอรส พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ายุคล ตามการชี้นำของท่านปรีดีฯ ที่เห็นสมควรสถาปนาพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ สือต่อจากพระปกเกล้าฯ อันเป็นการกลับคืนเข้าสู่สายเดิม คือสายสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหัสสยามมกุฎราชกุมาร
    การสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากจะเป็นการกลับสู่สายเดิมโดยชอบธรรมแล้ว ยังเป็นไปตามพระดำริของพระปกเกล้าฯ อีกด้วย บันทึกลับที่จดโดยพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ว่าดังนี้
    "วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาศรีสารฯ พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหลฯกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย มีพระราชดำรัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ ฯลฯ อีกอย่างหนี่ง อยากจะแนะนำเรื่องสืบสัตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า และพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริ ที่จะออกจากราชสมบัติ เมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปได้ไม่นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสัตติวงศ์ต่อไป ควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ฯลฯ"
    ดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าท่านปรีดีฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการอัญเชิญในหลวงอานันท์ฯ ขึ้นครองราชย์ เมื่อ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗

๒๕๒๙ นำอัฐิของนายปรีดี กลับเมืองไทย (คลิกดูภาพใหญ่) ปกป้องราชบัลลังก์

    ในคดีคำที่ ๔๒๒๖/๒๕๒๑ ท่านปรีดี พนมยงค์ โจทก์ยื่นฟ้อง นายรอง ศยามานนท์ ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ จำเลย กรณีที่ศาสตราจารย์ผู้นั้นบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมิ่นประมาทใส่ควม ซึ่งในที่สุดจำเลยรับผิดตามฟ้องนั้น คำบรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่า ดังนี้


      "เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลโทมังกร พรหม โยธี เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อมาอีก ๖ วัน คือในวันที่ ๑๘ เดือนเดียวกันนี้ ก็ได้มีกฤษฏีกาเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งว่า ให้จอมพลพิบูลฯ มีอำนาจสิทธิ์ขาดผู้เดียว ในการสั่งทหารสามเหล่าทัพ อันเป็นอำนาจพิเศษยิ่งกว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอื่น ๆ"
    "ครั้นต่อมาในปลายเดือนพฤศจิกายนนั้นเอง คือก่อนที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศไทย ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ จอมพลพิบูลฯ ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้บัญญัติกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทยเดิม โดยสถาปนา "ฐานันดรศักดิ์" (Lordshin) ตามแบบฝรั่งขึ้นใหม่ คือ ดยุค. มาควิส, เคานท์, ไวสเคานท์, บารอน ฯลฯ โดยตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นเพื่อใช้สำหรับฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินาใหม่ คือ สมเด็จเจ้าพญา, ท่านเจ้าพญา, เจ้าพญา, ท่านพญา ฯลฯ ส่วนภรรยาของฐานันดรศักดินาใหญ่นั้นให้เติมคำว่า "หญิง" ไว้ข้างท้าย เช่น "สมเด็จเจ้าพญาหญิง"
    "แต่หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้เรียกว่า "สมเด็จหญิง" และฐานันดรศักดินาให้มีคำว่า "แห่ง" (of) ต่อท้ายด้วยชื่อแคว้นหรือบริเวณท้องที่ เช่น สมเด็จเจ้าพญาแห่งแคว้น..., พญาแห่งเมือง... ฯลฯ ทำนองฐานันดรเจ้าศักดินายุโรป เช่น ดยุค ออฟ เบดฟอร์ด ฯลฯ ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นี้ให้แก่รัฐมนตรี และข้าราชการไทย ตามลำดับตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์สายสะพาย เช่น จอมพลพิบูลฯ ได้รับพระราชทางสายสะพายนพรัตน์ ก็จะได้ดำรงฐานันดรเจ้าศักดินาเป็น "สมเด็จเจ้าพญาแห่ง..."
    "ฐานันดรเจ้าศักดินาใหม่นั้น ทายาทสืบสันตติวงศ์ ได้เหมือนในยุโรปและญี่ปุ่น อันเป็นวิธีการซึ่งนักเรียนที่ศึกษาประวัติ นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ด ทราบกันอยู่ว่า ท่านนายพลผู้นั้นได้ขยับขึ้นทีละก้าวทีละก้าว จากเป็นผู้บัญชาการกองทัพ แล้วเป็นกงสุลคนหนึ่งในคณะกงสุล ๓ คน ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองประเทศฝรั่งเศส ครั้นแล้วนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ด ก็เป็นกงสุลผู้เดียวตลอดกาล ซึ่งมีสิทธิ์ตั้งทายาทสืบตำแหน่ง
    "รัฐมนตรีที่เป็นผู้ก่อการฯ จำนวนหนึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยนั้น โต้คัดค้านจอมพลพิบูลฯ ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร อันเป็นเหตุให้จอมพลพิบูลฯ ไม่พอใจ ท่านจึงเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือทางหนึ่งตกลงตาม แผนสถาปนาฐานันดรนครเจ้าศักดินาอย่างใหม่ ทางที่สองเวรคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน
    "รัฐมนตรีส่วนข้างมาก จึงลงมติในทางเวรคืนบรรดาศักดิ์เดิม เมื่อจอมพลพิบูลฯ แพ้เสียงข้างมาก ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านจึงเสนอว่า เมื่อเวรคืนบรรดาศักดิ์เก่าแล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็ได้
    "โจทก์ (ท่านปรีดีฯ-ผู้เขียน) กับรัฐมนตรีส่วนหนึ่งกลับใช้ชื่อและนามสกุลเดิม แต่จอมพลพิบูลฯ เปลี่ยนนามสกุลเดิมของท่านมาใช้ตามราชทินนามว่า "พิบูลสงคราม" และรัฐมนตรีบางท่านก็ใช้ชื่อเดิม โดยเอาสกุลเดิมเป็นชื่อรอง และใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งชื่อและนามสกุลยาว ๆ แพร่หลายจนทุกวันนี้"
    ต่อกรณีดังกล่าวนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ให้การเป็นพยานในคดีอาชญากรสงคราม ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นจำเลย มีความตอนหนึ่งรับกันกับคำฟ้องของท่านปรีดีฯ ข้างต้น ดังนี้
    "ตอนที่จอมพล ป.ฯ นำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้น ขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้มีการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพญาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพญาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยยึดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่ได้สายสะพายนพรัตน์ จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพญาชาย ซึ่งมีจอมพล ป.ฯ คนเดียวที่ได้สายสะพายนั้น เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพญาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็น สมเด็จเจ้าพญาหญิงตามไปด้วย"
    "ข้าพเจ้ารู้สึกว่า จอมพล ป.ฯ นั้น กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป.ฯ ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เอารูปไปฉายในโรงหนัง ให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียม วันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิวทำนองเดียวกับ ตราครุฑหรือตราพระบรมนามาภิไธยย่อ และได้สร้างเก้าอี้ขึ้นทำนองเดียวกับ เก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนตราครุฑเท่านั้น..."
    ในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๘๙ ถึงคณะกรรมการจังหวัด ชี้แจงการโฆษณาหลอกลวงของพรรคประชาธิปัตย์ (ในขณะนั้น) ที่ใส่ร้ายท่านปรีดีฯ ในกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ฯ คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ได้ยกข้อเท็จจริงในการแสดงความจงรักภักดี ของท่านปรีดีฯ ต่อในหลวงอานันท์ฯ มีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้
    "เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ์ ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว นายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้อัญเชิญทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เสด็จกลับมาครองราชย์ มิได้ปรารถนาที่จะกุมอำนาจที่จะทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐ และไม่ได้กระทำการขัดขวางอย่างใด แต่ตรงกันข้ามกลับอันเชิญเสด็จกลับมา มอบถวายราชสมบัติแด่พระองค์"
    "ในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในต่างประเทศ เมื่อมีผู้ปองร้ายต่อราชบัลลังก์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เสียสละและเสี่ยงภัย เพื่อป้องกันราชบัลลังก์ให้ปลอดภัยตลอดมา เวลานั้นหามีผู้ใดเสี่ยงภัยเช่นนั้นไม่ แต่ตรงกันข้ามกลับประจบสอพลอผู้มีอำนาจ รัฐบาลนี้มีความเสียใจที่พรรคประชาธิปัตย์บางคน ได้ฉวยโอกาสเอาพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (เพื่อทำลายท่านปรีดี-ผู้เขียน)

เข้าเยี่ยมคำนับประทานเหมาเจ๋อตุง ที่กรุงปักกิ่ง (คลิกดูภาพใหญ่) ปกป้องพระเกียรติ

    ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านปรีดีฯ ได้ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไว้อย่างดียิ่งชีวิต ดังเช่นในกรณีที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เมื่อนำพระราชบัญญัติหรือพระบรมราชโองการใดก็แล้วแต่ เสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อลงพระนามและลงนาม ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะลงนาม ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ไปเป็นการล่วงหน้า เป็นการบีบบังคับให้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องลงนาม ในพระราชบัญญัติหรือพระบรมราชโองการนั้น ๆ เสมือนกับตรายาง อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


      นายทวี บุณยเกตุ ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้นำพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ได้บันทึกไว้ในหนังสือความทรงจำของท่านว่าดังนี้
    "...ตามระเบียบนั้น จะเป็นพระราชบัญญัติก็ตามหรือพระบรมราชโองการใด ๆ ก็ตาม พระมหากษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยหรือลงนามก่อน แล้วนายกรัฐมนตรีจึงจะเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการในภายหลัง แต่ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม มักจะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก่อน แล้วจึงได้ให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม..."
    แต่ในสมัยที่ท่านปรีดีฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านไม่ยอมให้จอมพล ป.ฯ ทำเช่นนั้น โดยท่านอ้างว่า การกระทำของจอมพล ป.ฯ เช่นนั้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ
    ในคราวที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขัดใจกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (เวลานั้นมีอยู่สองท่าน คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับท่านปรีดีฯ) ท่านปรีดีฯ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ว่า ดังนี้
    "...ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ จอมพล ป.ฯ ได้ยื่นใบลาออกตรงมายังประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วจอมพล ป.ฯ ก็ได้ออกจากทำเนียบสามัคคีชัย ไม่รู้ว่าไปไหน ชะรอยพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จะทรงทราบว่าจอมพล ป.ฯ ต้องการลาออกจริงเพื่อปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่ พระองค์จึงส่งใบลาจอมพล ป.ฯ มาให้ข้าพเจ้าพิจารณา ข้าพเจ้าจึงเขียนความเห็นในบันทึกหน้าปกใบลานั้นว่า "ใบลานั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว อนุมัติให้ลาออกได้" ข้าพเจ้าลงนามไว้ตอนล่าง ทิ้งที่ว่างตอนบนไว้เพื่อให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงลงพระนาม ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระนาม"
    "ข้าพเจ้าเชิญนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มาถามว่า จอมพล ป.ฯ จะจัดการปรับปรุงรัฐบาลหรืออย่างไร ? ก็ได้รับคำตอบว่า คงจะปรับปรุงรัฐบาลและตามหาตัวจอมพล ป.ฯ ก็ยังไม่พบ แต่เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการฯ ส่งคำอนุมัติใบลาออกของจอมพล ป.ฯ แล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งบังคับบัญชากรมโฆษณาการอยู่ด้วย ก็ให้วิทยุของกรมนั้นประกาศการลาออกของจอมพล ป.ฯ"
    "ฝ่ายจอมพล ป.ฯ ขณะนั้นจะอยู่ที่แห่งใดก็ตาม เมื่อได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาการ ประกาศการลาออกเช่นนั้นแล้ว ก็แสดงอาการโกรธมาก ครั้นแล้วได้มีนายทหารจำนวนหนึ่ง ไปเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งท่านผู้นี้ประทับอยู่ขณะนั้น ขอให้จัดการเอาใบลาคืนให้จอมพล ป.ฯ"
    "เป็นธรรมดาเมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เห็นอาการของนายทหารเหล่านั้นจึง.....พระทัย เพราะไม่สามารถเอาใบลาคืนให้จอมพล ป.ฯ ได้ ฉะนั้นพระองค์พร้อมด้วยหม่อมกอบแก้วชายา ได้มาที่ทำเนียบที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำใกล้ท่าช้างวังหน้า ขออาศัยค้างคืนที่ทำเนียบ ข้าพเจ้าจึงขอให้เพื่อทหารเรือช่วยอารักขาข้าพเจ้าด้วย เพื่อนทหารเรือได้ส่งเรือยามฝั่งในบังคับบัญชาของ ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.น. มาจอดที่หน้าทำเนียบของข้าพเจ้า ฝ่าย พ.ต. หลวงราชเดชา ราชองครักษ์ประจำตัวข้าพเจ้า และ พ.ต.ประพันธ์ กุลวิจิตร ราชองครักษ์ประจำองค์พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ก็มาร่วมให้ความอารักขาด้วย"
    "เราสังเกตดูจนกระทั่งเวลาบ่ายของวันรุ่งขึ้น ก็ไม่เห็นทหารบกหรืออากาศมาคุกคามประการใด ดังนั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ กับหม่อมกอบแก้วจึงกลับไปพระที่นั่งอัมพรสถาน"
    จากการที่พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และท่านปรีดีฯ ได้ลงพระนามและลงนามอนุมัติให้จอมพล ป.ฯ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ ก็ได้ออกอากาศให้รู้กันทั่วไป อันเป็นการปฏิบัติราชการ ที่ถูกต้องตามแบบแผนทุกประการ แต่ไม่ถูกใจจอมพล ป.ฯ เพราะเจตนาการลาออกของจอมพล ป.ฯ ก็เพื่อหยั่งเชิงการเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จแบบนโปเลียน ด้วยคาดคิดว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คงไม่กล้าลงพระนามและลงนามอนุมัติให้ท่านลาออก และถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับยอมรับในอำนาจเบ็ดเสร็จของท่าน แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น อันเป็นสัญญาณบอกให้ท่านรู้ว่า การเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จยังมีปัญหา ซึ่งหมายถึงยังมีคนต่อต้านขัดขวาง
    เพื่อแก้ปัญหาการต่อต้านขัดขวาง การขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จจอมพล ป.ฯ จึงอาศัยอำนาจตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตามกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ออกคำสั่งให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และท่านปรีดีฯ เข้าประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด (อันอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารสูงสุด คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม-ผู้เขียน) และให้ไปรายงานตัวต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดภายใน ๒๔ ชั่วโมง
    ต่อคำสั่งดังกล่าว พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ รีบไปรายงานตัวทันที ส่วนท่านปรีดีฯ ไม่ยอมไป ท่านให้เหตุที่ไม่ยอมไปรายงานตัวว่าดังนี้
    "ข้าพเจ้ามีตำแหน่งเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ ถ้าข้าพเจ้าไปรายงานตัวยอมอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เท่ากับข้าพเจ้าลดพระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์ลงอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีรัฐมนตรีบางนายได้ชี้แจงขอร้องให้จอมพล ป.ฯ ถอนคำสั่งที่ว่านั้น ซึ่งจอมพล ป.ฯ ก็ได้ยอมถอนคำสั่ง เป็นอันว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และข้าพเจ้าคงสามารถปฏิบัติภารกิจ แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญได้ต่อไป"

๓ พฤศจิกายน ได้รับเชิญจากประเทศพันธมิตร ให้ไปเยือน (คลิกดูภาพใหญ่) ถวายความจงรักภักดี

    ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ลาออกจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติและประกาศลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ ให้ท่านปรีดีฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว และในวันนั้นเองท่านได้ลงนามในพระปรมาภิไธย แต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ลาออกไปเพราะแพ้มติในสภาฯ เรื่องพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพ็ชรบูรณ์ และพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล


      เพื่อสร้างความปรองดองทางการเมืองระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้าศักดินา ท่านปรีดีฯ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้มอบหมายให้นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งร่วมงานเสรีภทยอยู่กับท่านและมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี อยู่ในรัฐบาลนายควงฯ ดำเนินการปลดปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชบริพารในระบอบเก่าหลายคน
    ท่านปรีดีฯ ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ฯ มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
    "นายควง อภัยวงศ์ ได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีหลายนาย และโดยเฉพาะนายทวี บุณยเกตุ เข้าร่วมด้วยตามที่นายควงฯ ได้ตกลงกับข้าพเจ้าไว้ คือนอกจากนายทวีฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการ ในสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย โดยมีหน้าที่ดำเนินงานของ คณะรัฐมนตรีอยู่เบื้องหลังนายควงฯ กิจการใดอันเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งนายทวีฯ เป็นผู้บัญชาการพลพรรคในประเทศไทยนั้น ถ้าจะต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอย่างใดแล้ว นายควงฯ ก็อนุญาตตามที่ตกลงกันไว้ก่อนว่าให้นายทวีฯ ปรึกษาตกลงกับข้าพเจ้าโดยตรง โดยนายควงฯ ไม่ขอรับรู้ด้วย นอกจากที่จะต้องทำเป็นกฎหมาย หรือแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร
    "ดังนั้น มีหลายเรื่องที่นายทวีฯ ได้ปรึกษาข้าพเจ้าจัดทำขึ้นก่อนแล้วจึงแจ้งให้นายควงฯ รับไปปฏิบัติการ อาทิ การประกาศพระบรมราชโองการ ว่าการประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะนั้น นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังปรากฏข้อเท็จจริงในราชกิจจานุเบกษา ไม่ใช่นายควงฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (ตามที่นายควงฯ กล่าวอ้าง-ผู้เขียน)
    "การอภัยโทษและนิรโทษกรรม ผู้ต้องหาทางการเมืองนั้น นายทวีฯ ก็เป็นหัวแรงสำคัญ ในการร่างกฎหมายอภัยโทษและนิรโทษกรรม เพราะแม้ข้าพเจ้าแจ้งแก่สัมพันธมิตรไว้ก่อนว่า เพื่อความสามัคคีของคนไทย ที่มีอุดมคติตรงกันในการต่อสู้กับญี่ปุ่น ให้ได้รับอภัยโทษและนิรโทษกรรมตามที่ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ได้ทรงปรารภมานั้น เวลาปฏิบัติเข้าจริงก็ยังไม่อาจทำได้ง่าย ๆ เหมือนดังที่นายควงฯ พูดที่คุรุสภาว่า พอนายควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็สั่งปล่อยนักโทษการเมือง" (นายควง อภัยวงศ์ ไปแสดงปาฐกถาที่คุรุสภา เมื่อ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ เรื่องชีวิตของท่าน ปรากฏข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่านายควงฯ พูดมุสาหลายเรื่องหรือเกินความเป็นจริง รวมทั้งเรื่องปลดปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งท่านอวดอ้างว่าพอท่านขึ้นเป็นนายก ก็สั่งปลดปล่อยนักโทษการเมืองทันที-ผู้เขียน)
    "จริงอยู่ นายควงฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ในการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ต้องทำความเข้ากับ พล ต.อ. อดุลฯ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นผู้สั่งจับผู้ต้องหาการเมือง ให้เขาเห็นความสมควรที่จะอภัยโทษและนิรโทษกรรม..."
    นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความของท่านเรื่อง "พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย" มีความตอนหนึ่งว่า
    "ต่อมาท่านขึ้น (ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ) ได้ส่งโทรเลขของท่านเองมาอีกฉบับหนึ่ง ตรงถึงนายปรีดี พนมยงค์ ขอบใจที่หัวหน้าเสรีไทยยินดีต้อนรับ และทรงแสดงเจตนาว่า จะร่วมงานด้วยความจริงใจ แต่ใคร่จะขอถามว่าเพื่อนฝูงของท่านชิ้นหลายท่านต้องโทษการเมือง อยู่ที่เกาะตารุเตาบ้าง บางขวางบ้างที่อื่น ๆ บ้างนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จะกระทำอย่างไร"
    "หัวหน้าเสรีไทยตอนโทรเลขไปโดยฉับพลันว่า กรมขุนชัยนาทฯ และผู้อื่น ซึ่งต้องโทษทางการเมืองอยู่ที่ตะรุเตา และมิใช่จะปลดปล่อยอย่างเดียว จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย..."
    และในที่สุดบรรดานักโทษการเมืองเหล่านั้น ก็ได้รับการนิรโทษกรรม ตามคำมั่นสัญญาที่ท่านปรีดีฯ ให้ไว้กับท่านนั้น และด้วยความสำนึกในบุญคุณท่านปรีดีฯ พระยาอุดมุพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว. ประยูร อิศรศักดิ์) นักโทษการเมืองผู้หนึ่ง ที่ได้รับนิรโทษกรรมครั้งนั้น จึงได้เขียนสักระวามอบแก่ท่านปรีดีฯ ในนามของนักโทษการเมืองที่ได้รับนิรโทษกรรม ความว่า
    "สักระวารีเย่นต์เห็นเป็นธรรม
    นิรกรรมผู้ต้องโทษโจทก์เท็จหา
    ให้ไนทุกข์ทรมานกายวิญญา
    หลุดออกมาจากคุกขุมอเวจีฯ"
    ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงเมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ท่านปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ส่งโทรเลขลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๔๘๘ อัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนคร ดังสำเนาโทรเลขต่อไปนี้
                                "วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
โลซานน์
ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
    ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแต่งตั้ง ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประกาศลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ นั้น บัดนี้ถึงวาระอันสมควร ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะทรงปฏิบัติ พระราชภาระกิจในฐานะทรงเป็นพระประมุขของชาติ เพราะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ ๒๐ กันยายน ศกนี้แล้ว    ฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้า จึงขอพระราชทานบรมราชานุญาต อัญเชิญเสด็จใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จนิวัติสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อจะได้ทรงปกครองแผ่นดิน ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ และโดยที่ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ของข้าพระพุทธเจ้าจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๐ กันยายน ศกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ณ โอกาสนี้
                            ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ขอเดชะ
                            ข้าพระพุทธเจ้า นายปรีดี พนมยงค์"
    ต่อโทรเลขกราบบังคมทูล อัญเชิญเสด็จนิวัติมหานครในหลวงอานันท์ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตอบให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทราบในสัปดาห์ต่อมาว่าดังนี้
                            "วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๘๗
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
กรุงเทพฯ
    ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขของท่าน ซึ่งได้ขอร้องข้าพเจ้าให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นห่วงเป็นใยต่อประเทศชาติ แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าจะเป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น ถ้าข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสศึกษาให้จบเสียก่อน ข้าพเจ้าสอบไล่วิชากฎหมายปีที่ ๑ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้ว แต่ข้าพเจ้ายังจะต้องสอบในชั้นอื่น ๆ ที่ยากยิ่งขึ้น และจะต้องใช้เวลาประมาณปีครึ่ง และหลังจากนั้น ข้าพเจ้าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อเตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเอก ข้าพเจ้าหวังว่าท่านคงเข้าใจ ในความปรารถนาของข้าพเจ้าที่จะศึกษาให้จบ ถ้าท่านและรัฐบาลเห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าก็ใคร่ที่จะกลับไปเยี่ยมบ้าน สักครั้งหนึ่งก่อนที่ข้าพเจ้าจะสำเร็จการศึกษา ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านอย่างจริงใจ ข้าพเจ้า ซาบซึ้งในผลงาน ที่ท่านได้กระทำ ด้วยความยากลำบาก และที่ท่านกำลังกระทำอยู่ ในนามของข้าพเจ้า
                            อานันทมหิดล"
    ต่อพระราชโทรเลขข้างต้น ท่านปรีดีฯ ได้โทรเลขกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ด้วยข้อความดังนี้
    "ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชโทรเลขลงวันที่ ๑๔ กันยายน ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ของข้าพระพุทธเจ้า และรัฐบาลของ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รัฐบาลและข้าพระพุทธเจ้า มีความปลื้มปิติเป็นอย่างมาก ที่ได้ทราบว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะ เสด็จนิวัติพระนคร สักครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะทรงจบการศึกษา บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เหตุการณ์ต่าง ๆ (เกี่ยวกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า การเสด็จนิวัติของ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะเป็นคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติ เป็นอเนกประการ ถึงแม้ว่าพระองค์ จะประทับอยู่ในประเทศไทย เป็นเพียงระยะเวลาอันสั้นก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จะได้ทรงมีส่วนร่วม ได้ตัดสินพระทัยในเรื่องต่าง ๆ อันสำคัญยิ่ง ดังได้กราบถวายบังคมทูล ให้ทรงทราบข้างต้นแล้ว"
    หลังจากที่ในหลวงอานันท์ฯ ทรงรับโทรเลขกราบบังคมทูล ตอบพระราชโทรเลขฉบับลงวันที่ ๑๔ กันยายน ของท่านปรีดีฯ แล้ว พระองค์ได้ทรงมีโทรเลขถึงท่านปรีดีฯ มีข้อความสั้น ๆ ว่า พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่าท่านปรีดีฯ และรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างยุติธรรมและเป็นผลดียิ่ง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า การที่พระองค์ประทับอยู่ในประเทศไทยก็คงไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก เพราะพระองค์ทรงไม่มีประสบการณ์ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในที่สุดว่า "ถ้าท่านเห็นว่าข้าพเจ้าควรจะกลับไปเยี่ยมประเทศไทยชั่วคราว ข้าพเจ้าก็ยินดีรับคำเชิญของท่าน"
    ในที่สุดในหลวงอานันท์ฯ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามขณะนั้นก็ได้เสด็จนิวัติสู่กรุงเทพมหานคร โดยเครื่องบินพระที่นั่งที่รัฐบาลอังกฤษจัดถวาย มาถึงสนามบินดอนเมือง ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ และ ณ ที่นั้น นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช คณะรัฐมนตรีและประชาชนไปเฝ้ารับเสด็จอย่างล้นหลาม
    จากสนามบินดอนเมือง ได้ประทับรถไฟพระที่นั่งมาถึงสถานีรถไฟสวนจิตรลดา และ ณ ที่นั้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้เฝ้าคอยรับเสด็จ ทันทีที่พระองค์เสด็จลงจากรถไฟพระที่นั่งสู่สถานีจิตรลดาแล้ว ท่านปรีดีฯ ได้เฝ้ากราบถวายบังคมทูลพระกรุณา ดังนี้
    "ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
    บัดนี้เป็นศุภวาระดิถีมงคลที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติสู่มหานครโดยสวัสดิภาพ ข้าพระพุทธเจ้าของพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณา โดยอาศัยประกาศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๘๘ ว่า ความเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ของข้าพระพุทธเจ้าได้สิ้นสุดลงตั้นแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพรชัยให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จอยู่ในราชสมบัติวัฒนาสถาพร เป็นมิ่งขวัญของประชาชน และประเทศชาติในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
                            ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
                            ขอเดชะ"
    แล้วทรงพระราชดำรัสตอบจากน้ำพระทัย อันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาและชื่นชมโสมนัส ดังนี้
    "ท่านปรีดี พนมยงค์
    ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้กลับมาสู่พระนคร เพื่อบำเพ็ญพระกรณียกิจตามหน้าที่ ของข้าพเจ้าต่อประชาชนและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้า ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้าและประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้"
    เพื่อเชิดชูยกย่องคุณงามความดีของท่านปรีดีฯ ให้ปรากฏแก่โลก ต่อมาอีกสามวัน คือ ในวันที่ ๘ ธันวาคม พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมให้ประกาศยกย่องท่านปรีดีฯ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ดังคำประกาศพระบรมราชโองการต่อไปนี้

"ประกาศ
อานันทมหิดล
    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า
    โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบ จากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และปรากฏว่าตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ในความปรีชาสามารถบำเพ็ญคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ
    จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
    ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
    ประกาศมา ณ วันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
                            ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
                            ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
                                นายกรัฐมนตรี"

  อ่านต่อคลิกที่นี่Click Here to Continue
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา

นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ๑๐๐ ปีของสามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์ | ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ | ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต | บาร์ออกซิเจน | เพศที่ทำงานหนัก | "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" : ปฏิบัติการลับของ สื่อมวลชน | ยูคาฯ ๗.๕ แสนไร่ : การรุกคืบครั้งใหญ่ ของพืชเจ้าปัญหา | เฮโลสาระพา

Pridi Banomyong, an Ordinary Man: A Hundred Years | Use Thai Cloth
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail