หลังจากที่ท่านปรีดีฯ เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทตามรับสั่งเมื่อคืนวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๘๙ แล้ว รุ่งขึ้นเช้าวันเสาร์ที่ ๘ มิถุนายน ก็ได้ทรงพระกรุณาประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านปรีดีฯ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภาและนายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ต่อมาในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๘๙ ท่านปรีดีฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "หลวงธำรงฯ" ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมาและได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการศาลกลางเมือง (ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลท่านปรีดีฯ) ที่เสนอต่อรัฐบาลเมื่อปลายเดือนตุลาคม ๒๔๘๙ ซึ่งมีสาระสรุปไว้ตอนปลายของรายงานฉบับนั้น ดังนี้
ในที่สุดพนักงานสอบสวนกรมตำรวจ ได้ส่งสำนวนให้อัยการ หลังจากที่ได้พยายามสร้างพยานหลักฐานเท็จ อยู่ถึง ๑๘๐ วัน และอัยการก็รับสำนวนอันเป็นเท็จนั้นไปประติดประต่อเพื่อสรุปเขียนคำฟ้องอยู่อีก ๓๔ วัน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๔๙๑ โดยนายเฉลียว ปทุมรส เป็นจำเลยที่ ๑ นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ ๒ และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ ๓ ฐานความผิดสมคบกันประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพทุบายเท็จเพื่อปกปิดการกระทำผิด
หลังจากที่ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง ๓ คน เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ แล้วต่อมาในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ จำเลยทั้ง ๓ ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาดังกล่าวได้ตกไปในที่สุด