Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ สนับสนุน หรือคัดค้าน การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา
คั ด ค้ า น

แพทย์หญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์
แพทย์หญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์
หัวหน้าหน่วยนิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • กระบวนการสิ้นสุดของชีวิต เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง

  • อาจทำให้เกิดอาขญากรรม ที่แฝงมาในรูปของการุณยฆาตได้ เช่น การค้าอวัยวะ หรือญาติผู้ป่วย ต้องการมรดก เป็นต้น

  • คำวินิจฉัยของแพทย์ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ป่วย ที่สิ้นหวังอาจผิดพลาด ทั้งที่ยังมีโอกาสรักษา ให้หายและรอดชีวิตได้

   "การุณยฆาต คือ การให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตายอย่างสงบ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ และบาดเจ็บสาหัส มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือของยา กับเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น ในทางการแพทย์แบ่งเป็นสองแบบ คือ active euthanasia และ passive euthanasia
    แบบ active คือ แพทย์เป็นผู้ช่วยให้ผู้ป่วยตาย วิธีที่ใช้กันมากคือการให้ยา เช่น ฉีดมอร์ฟีนเกินขนาด หรือไซยาไนด์ ประเทศออสเตรเลียเคยทำแล้วต้องเลิกไป เพราะถูกคัดค้าน ที่อเมริกาก็ฟ้องร้องกันอยู่ เพราะมันเหมือนกับว่า หมอฆ่าคนไข้ ซึ่งเป็นเรื่องผิด อีกแบบหนึ่งที่ทำกันอยู่ แต่คนไม่รู้ หรือไม่คิดว่าเป็นการทำการุณยฆาต คือ หมอเป็นผู้ถอดเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วย ซึ่งจัดว่าเป็น active euthanasia เหมือนกัน
    "ส่วน passive เป็นลักษณะที่คนไข้ ขอไว้ตั้งแต่แรกว่า ถ้าอาการหนัก ถึงขั้นสิ้นหวังแล้ว จะไม่ขอให้แพทย์รักษา ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ป่วย ที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาล (no resuscitation) กรณีท่านพุทธทาสก็เป็นแบบนี้ ท่านสั่งไว้เลยว่า ถ้าถึงจุดที่จะต้อง ใช้เครื่องช่วยหายใจ ขออย่าให้ใช้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของผู้ป่วย ที่ได้รับการยอมรับกัน ในระดับสากล แต่แพทย์ก็ต้องดูด้วยว่า ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจ ด้วยตัวเองได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์ว่า เขาเป็นผู้ป่วยที่สิ้นหวัง จริงหรือเปล่า บางครั้งความรู้สึกสิ้นหวังนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด หมอต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง มีหลายกรณี ที่หมอเป็นผู้ชี้นำให้คนไข้รู้สึกสิ้นหวัง และอยากตาย หรืออาจเกิดกรณีที่ว่า คนไข้ยังอยากรักษาต่อ แต่หมอเป็นคนบอกว่า หยุดการรักษาได้แล้ว ไม่ต้องมาทำอะไรแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ เพราะสิทธิในการได้รับ การรักษาพยาบาล ยังต้องมีต่อไป
    "เราคงไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า การุณยฆาต เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยกระทำตัวเอง คือ ฆ่าตัวตาย โดยไม่ขอยืมมือผู้อื่น แต่ในกรณีนี้ เขาขอให้แพทย์ช่วยทำให้ตาย คำถามก็คือ เรารู้ได้อย่างไรว่า แพทย์ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำไปด้วยเจตนาดีจริง ไม่ใช่ขี้เกียจทำงาน   และเกณฑ์วัดว่าบุคคลนั้น เป็นผู้ป่วยที่สิ้นหวังแล้วอยู่ตรงไหน รู้ได้อย่างไรว่า คนไข้ไม่มีโอกาสรอดแล้วจริง ๆ หมอวินิจฉัยถูกหรือเปล่า พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง มีทางรักษาอื่นอีกหรือไม่ แพทยสภาต้องให้คำจำกัดความ ของคำว่า "สิ้นหวัง" ให้ชัด ๆ สิ้นหวังเพราะ แพทย์หมดทางรักษาจริง หรือสิ้นหวังเพราะ แพทย์ทำงานไม่เต็มที่ หรือเป็นเพราะญาติไม่เหลียวแล
    "กรณีที่เคยเกิดขึ้น คือ ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับการวินิจฉัยว่า สมองตาย และตัดสินว่า เป็นผู้ป่วยที่สิ้นหวังแล้ว ถ้าหยุดเครื่องช่วยหายใจ หยุดให้ยาเมื่อไหร่ก็ตาย หมอกับญาติจึงตกลงกันว่า จะหยุดให้การรักษา พอเอาเครื่องช่วยหายใจออก ปรากฏว่า คนไข้หายใจต่อได้อีก หกเจ็ดชั่วโมง ต้องเอาท่อใส่เข้าไปใหม่ ไปตายเอาวันรุ่งขึ้น การถอดเครื่องช่วยหายใจ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า เขาเป็นผู้ป่วยที่สิ้นหวังแล้วจริงหรือไม่ กรณีนี้เกิดขึ้นเยอะในเมืองไทย และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก เพราะการถอดเครื่องช่วยหายใจ จัดว่าเป็น active euthanasia เพียงแต่ดูไม่ดุเดือดมาก เท่ากับวิธีอื่น ไม่เหมือนกับจงใจฆ่าเขาให้ตาย
    "การทำการุณยฆาต มีช่องโหว่อยู่มาก และมีโอกาสถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุตาย แล้วเอาอวัยวะไปขาย หรือญาติให้ฆ่า เพื่อเอามรดก เป็นต้น สังคมจึงต้องเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างแพทย์ กับคนไข้เท่านั้น เพราะมันอาจจะเอื้อให้แพทย์ ทำสิ่งผิดได้ เหมือนกับการวิสามัญฆาตกรรม ตำรวจเป็นผู้ที่ถืออาวุธ มีสิทธิทำให้คนตาย ในขณะถูกจับกุม โดยที่ไม่มีใครเอาผิดได้ ในทำนองเดียวกัน แพทย์ก็เป็นผู้ที่ถือเข็มฉีดยา จะทำให้ผู้ป่วยตายเมื่อไหร่ก็ได้ active euthanasia เท่ากับเป็นการวิสามัญฆาตกรรม หรือการฆ่าในอีกรูปแบบหนึ่ง
    "กระบวนการแห่งชีวิต เป็นกระบวนการที่ธรรมชาติให้มา ทำไมเราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง แทรกแซงกระบวนการนี้ เราอาจจะเจตนาดี แต่มันอาจเป็นบรรทัดฐาน ให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีตามมาภายหลัง การทำการุณยฆาตเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง บางคนอาจบอกว่า ทำไปด้วยเจตนาดี แต่ถ้าทำไปแล้ว มีผลต่อเนื่องในทางลบ ก็ไม่ควรปล่อยให้มีการทำ
    "ถ้าจะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ เหมือนในต่างประเทศ หมอคงค้านร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ให้เกิดแน่ เพราะว่ามันขัด กับหลักศาสนาพุทธอย่างแรง ถ้าเกิดได้ก็คงเป็นแบบ passive คือ หยุดให้การรักษาเท่านั้น แต่ถึงจะเป็นแบบ passive หมอบางคนก็ยังรู้สึกว่า การหยุดการรักษานั้น เป็นบาปอยู่ดี เหมือนกับให้หมอทำแท้ง คือ เราไปปลิดชีวิตหนึ่งทิ้ง ฟังดูเจตนาเป็นความกรุณา แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่แน่ใจว่า มันเป็นความกรุณาจริงหรือเปล่า
    "การุณยฆาตมีข้อดี ตรงที่เป็นการลดความสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นการมองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มากไปหน่อย เช่น เราต้องทุ่มเทเงิน จำนวนมหาศาล เพื่อซื้อยาฆ่าเชื้อ ให้ผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย ซึ่งจัดว่าสิ้นหวังแน่นอน เพราะปัจจุบันยังไม่มียารักษา เช่นเดียวกับการทำเคมีบำบัด ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลือง งบประมาณของชาติ   เพราะต้องสั่งซื้อยาจากเมืองนอกแล้ว ยังสิ้นเปลืองกับตัวคนไข้เองด้วย แต่ผลดีนี้ก็ต้องชั่งน้ำหนักกับผลเสีย ที่จะตามมาให้ดี ๆ
    "ถ้ามีผู้ป่วยมาขอให้ช่วยทำให้ตาย คงไม่ทำให้ หมอในประเทศไทย ไม่มีใครให้ทำแน่นอน หมอมีหน้าที่ช่วยชีวิต ไม่ได้ทำลายชีวิต แต่อาจจะช่วย ในลักษณะ passive คือไม่ได้ยืดชีวิตเขา แต่ช่วยให้ได้ตายอย่างสงบ โดยอาจมีการช่วยเพิ่มเติมบ้าง เช่น จัดห้องให้อยู่ต่างหาก ไม่ต้องอยู่ในไอซียู และมีกระบวนการที่ให้ญาติ เข้าไปอยู่ด้วยได้ เอาพระมาเทศน์ เรียกว่าอาจมีการ "จัดฉาก" ได้บ้าง
    "หมอควรสนใจเรื่องการุณยฆาต ในแง่ของการยอมรับสิทธิ ในการปฏิเสธการรักษาของคนไข้ และช่วยทำให้ช่วงสุดท้ายของเขา ผ่านไปด้วยดี ไม่ใช่สนใจในแง่ที่ว่า จะลงมือทำเอง โดยส่วนตัวมีความเห็นว่า คนไข้ขอไม่รักษาได้ แต่ขอตายไม่ได้
    "เมื่อมีคนเริ่มเรียกร้อง ให้หมอทำแบบ active มากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ เพราะมันจะเข้าข่าย เรื่องการฆ่าคนตายได้ แต่ปัจจุบันที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะการทำ active euthanasia เป็นแค่การตกลงยินยอมกัน ระหว่างคนไข้ หรือญาติกับหมอ ไม่มีผู้ได้เสียประโยชน์   ซึ่งต่างจากคนไข้สมองตาย ที่ยังสามารถเปลี่ยนอวัยวะได้ จึงมีคนสนใจมาก เพราะอยากจะเอาอวัยวะมาใช้
    "หมอไม่เห็นด้วยกับ การทำการุณยฆาต แต่เห็นด้วย และยอมรับในสิทธิขั้นพื้นฐาน ของคนไข้ที่สิ้นหวัง ที่จะปฏิเสธการรักษา ซึ่งเป็นการช่วย ให้ผู้ป่วย ตายอย่างสงบ อีกรูปแบบหนึ่ง แต่หมอก็จะต้อง ดูแลคนไข้อย่างดี จนถึงวาระสุดท้าย ปัจจุบันมีคนเลือก passive euthanasia คือ ปฏิเสธการรักษาเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพราะคนไข้เข้าใจชีวิต แต่เพราะปัญหาเศรษฐกิจ เข้าโรงพยาบาลทีหนึ่งมันแพง ขอตายอย่างสงบ ๆ ที่บ้านดีกว่า"

  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
สัก กอแสงเรือง
นายกสภาทนายความ

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*

 

สนับสนุน หรือ คัดค้าน
การุณยฆาต : ฆ่าด้วยความกรุณา

นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ๑๐๐ ปีของสามัญชนนาม ปรีดี พนมยงค์ | ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ | ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ท่านปรีดีฯ และกรณีสวรรคต | บาร์ออกซิเจน | เพศที่ทำงานหนัก | "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" : ปฏิบัติการลับของ สื่อมวลชน | ยูคาฯ ๗.๕ แสนไร่ : การรุกคืบครั้งใหญ่ ของพืชเจ้าปัญหา | เฮโลสาระพา

Pridi Banomyong, an Ordinary Man: A Hundred Years | Use Thai Cloth

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail