Click here to visit the Website

ป ร ะ ก า ศ ผ ล ก า ร ป ร ะ ก ว ด บ ท ค ว า ม
Sorry, your browser doesn't support Java. รางวัลชมเชย
ทำไมไอน์สไตน์จึงสมควรได้รับการยกย่อง ให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20
โดยนางสาวเขมิกา ธีรพงษ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กทม.

     เมื่อพูดถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาตร์ที่มีชีวิตอยู่ในปี 1879 - 1955 ไม่มีใครในยุคนี้ที่ไม่รู้จักอัจฉริยะของโลกผู้นี้ ผู้ซึ่งคิดค้นระเบิดปรมาณู ทฤษฎีสัมพัทธภาพ และทฤษฎีทางฟิสิกส์อีกมากมาย ผลงานของเขาเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีหลายๆ อย่างในโลกปัจจุบัน นอกจากงานทางด้านวิทยาศาตร์แล้ว ไอน์สไตน์ยังมีบทบาททางการเมืองและสันติภาพของโลกอีกด้วย ในปี ค.ศ. 2000 ไอน์สไตน์ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ให้เป็น "บุคคลแห่งศตวรรษ"

ไอน์สไตน์ในช่วงที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ จดทะเบียนลิขสิทธิ์ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)

     นานมาแล้วที่ใครๆ ต่างพูดถึงเรื่องราวของไอน์สไตน์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กมัธยมปลาย ที่หน้ามืดกับทฤษฎีของเขา นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังค้นคว้าทฤษฎีสนามเอกภาพ หรือแม้กระทั่งชาย-หญิงวัยทองที่พูดถึงบทบาทของไอน์สไตน์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเรื่องราวที่อิสราเอลเชิญให้เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ ในขณะที่ทุกๆ คนกำลังพูดถึงเรื่องเหล่านี้กัน เด็กน้อยคนหนึ่งกลับไม่อาจเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้เลย ด้วยความเบื่อหน่าย เธอจึงเดินออกไปตามท้องถนนที่มีคนเดินกันอย่างขวักไขว่ เธอเดินต่อไปเรื่อยๆ จนมาหยุดที่หน้าร้านหนังสือ ท่ามกลางผู้คนที่เดินไปเดินมา เด็กน้อยหยุดนิ่ง เพราะสายตาชายคนหนึ่งจากหนังสือบนชั้นวางที่จ้องมองเธอ สาวน้อยเดินเข้าไปใกล้ หยิบหนังสือเล่มนั้นมาอยู่ในมือ ชายผู้อยู่บนปกหนังสือนี้เองที่จ้องมองเธออย่างไม่วางตา เมื่อเธอมองไปบริเวณรอบๆ เธอก็ได้พบว่ามีหนังสือมากมายที่ชายคนนี้อยู่บนปก "เขาเป็นใครกันนะ เป็นคนที่สำคัญมากนักหรืออย่างไร" หนูน้อยคิดในใจ พลางมองไปที่ปกหนังสือ ชายผู้นั้นอายุราว 70 ปี เขามีใบหน้าที่เหี่ยวย่น มีหนวดสีขาวเหนือริมฝีปาก แต่ที่ทำให้เด็กหญิงยิ้มออกมานั่นก็คือ ผมสีขาวฟูที่อยู่บนศีรษะของเขา เด็กน้อยตัดสินใจจ่ายเงินให้กับเจ้าของร้าน พร้อมกับถือหนังสือเล่มนั้นเดินออกไป ระหว่างทางเธอก็เริ่มเปิดหนังสืออ่าน เจ้าหนังสือก็เริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตของชายผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

หนังสือ Relativity : The Special & The General Theory (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ระหว่างที่อ่านหนังสือเล่มนั้นไป เด็กน้อยก็เริ่มประทับใจในตัวของชายชราผู้นี้ ตั้งแต่ตอนที่ไอน์สไตน์ถูกครูผู้สอนตราหน้าว่า เขาจะต้องไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต และเธอรู้สึกสะใจเล็กๆ ที่รู้ว่าต่อมาไอน์สไตน์ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เธอย้อนกลับมาถึงตัวเองที่ถูกครูประจำชั้นเรียกไปตีประจานต่อหน้าเพื่อนๆ เพียงเพราะว่าเธอไม่ได้ส่งสมุดจดการบ้าน ชั่วขณะนั้นเธอสิ้นหวัง หมดความมั่นใจในตัวเอง แต่ตอนนี้เธอได้รู้แล้วว่า สิ่งนี้สามารถเป็นแรงผลักดัน ให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิต เช่นเดียวกับไอน์สไตน์ทำได้ เธอไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าอีกต่อไป "นักวิทยาศาสตร์อย่างคุณไอน์สไตน์ ยังผ่านช่วงเวลานั้นมาได้เลยนี่นา" เด็กน้อยคิดในใจพลางยิ้มไป เธอเริ่มรู้จักชายแก่คนนี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามที่รู้กันดีก็คือ ไอน์สไตน์ไม่เคร่งครัดในระเบียบแบบแผน เขาไม่ชอบอยู่ในกฎเกณฑ์ และคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ ไอน์สไตน์ชอบแต่งตัวตามสบายและไม่ประณีตกับการแต่งกายมากนัก เด็กหญิงเห็นด้วยกับไอน์สไตน์เป็นอย่างยิ่ง เธอเกลียดงานเลี้ยงที่พ่อกับแม่จับเธอใส่กระโปรงบาน ทำผมทรงประหลาด ตามด้วยการติดกิ๊บที่เป็นสีๆ เต็มศีรษะ เมื่ออยู่ในงาน พวกเขาจะจูงเธอไปมาราวกับเป็นตุ๊กตา เด็กน้อยไม่ปรารถนาสังคมที่หรูหราเช่นกัน ไอน์สไตน์รักเสียงเพลง เขาชอบเล่นไวโอลิน เธอคิดว่าเขาคงเป็นคนที่ใจดี มีจิตใจอารี และรักสงบ แต่ที่เด็กน้อยประทับใจมากที่สุดก็เมื่อได้รู้ว่า ไอน์สไตน์ยอมสอนคณิตศาสตร์ง่ายๆ ให้กับลูกสาวของเพื่อนบ้านในเมืองปรินซ์ตัน เด็กหญิงรู้สึกอิจฉาเด็กผู้นั้นนิดๆ ที่เธอไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น ด้วยทุกครั้งที่เธอพยายามนำการบ้าน ไปให้น้าชายผู้เป็นวิศวกรช่วยสอนให้ เธอกลับต้องผิดหวังทุกครั้ง เมื่อเขาไม่มีเวลาว่างพอสำหรับเธอ ด้วยวัยเพียง 8 ขวบ เธอไม่อาจเข้าใจทฤษฎีวิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้ เธอรู้แต่เพียงว่ามีชายแก่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งมากๆ เขาเป็นคนคิดทฤษฎีมากมาย ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน นำมาวิจัยค้นคว้าต่อ จนกลายเป็นเทคโนโลยีอันหลากหลาย เขาเป็นผู้พาวิทยาศาสตร์ในยุคเริ่มก้าวกระโดดพัฒนาไปจนถึงยุคของโลกอนาคต กับทฤษฎีที่ยังต้องไขปัญหากันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ชายแก่ผู้นี้ใจดี และยอมหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่นเสมอ เขาไม่เคยหลงตนเอง แม้จะมีชื่อเสียงมากมายเพียงใดก็ตาม เด็กน้อยเริ่มมีความคิดว่า เธอจะต้องไปให้ไกลอย่างไอน์สไตน์ และเธอจะมุ่งมั่นทำความฝันให้เป็นความจริง วันนี้เด็กน้อยได้แต่หวังเพียงว่า สักวันเธอจะเข้าใจในสิ่งที่เขาค้นคว้า และทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกผู้นี้
     หลายปีต่อมาเด็กน้อยคนนั้นเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ วันนี้เธอได้เข้าใจทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมาย และทำงานค้นคว้าเพื่อมวลมนุษย์ต่อไป ไอน์สไตน์ยังคงเป็นแบบอย่างให้เธอเสมอ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็นอัจฉริยะ แต่เธอก็พยายามที่จะนำวิทยาศาสตร์ มาพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อทุกคนบนโลกนี้ เช่นเดียวกันกับที่ไอน์สไตน์ได้เคยทำเอาไว้ เมื่อนึกย้อนกลับไปถึงวันที่เธอได้รู้จักกับไอน์สไตน์ เธอเองคิดอยู่เสมอว่า คงมีเด็กอีกนับล้านๆ คนทั่วโลก ที่ได้หยิบหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับไอน์สไตน์ขึ้นมาอ่าน พวกเขาคงมีความคิดไม่ต่างจากเธอ ที่จะพัฒนาโลกนี้ด้วยวิทยาศาสตร์ต่อไป ทุกคนคงเห็นสมควรให้ไอน์สไตน์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษ
หนังสือ " ไอน์สไตน์ ผู้พลิกจักรวาล"      จากปลายฟ้าไปจนถึงปลายสุดจักรวาล ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน ไอน์สไตน์พาวิทยาศาสตร์กระโดดข้ามขั้นมาไกลจากจุดเริ่มต้นมาก จากส่วนที่เล็กที่สุด ไปจนส่วนที่มีขนาดใหญ่จนหาค่าไม่ได้ กับทฤษฎีที่ไม่มีใครไขปริศนาได้หมด ไอน์สไตน์นำพาเรามาถึงจุดๆ นี้ แท้จริงแล้วการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ก็คือการศึกษาธรรมชาติ ยิ่งเข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใจธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า ยิ่งเขาค้นคว้าทฤษฎีทางฟิสิกส์มากขึ้นเท่าไร เขาก็ยิ่งค้นพบปรัชญาขั้นสูงมากขึ้นเท่านั้น ไอน์สไตน์หวังมาตลอดว่าจะได้เห็นความสงบสุขบนโลกใบนี้ ดังคำที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า "The war is won but peace is not." บัดนี้งานของไอน์สไตน์ได้จบสิ้นลงเมื่อเขาจากไป แต่มนุษย์บนโลกนี้ยังทำงานกันต่อ งานที่จะสร้างสันติภาพบนโลกนี้ งานที่จะไขปริศนาของโลกให้หมดไป
     แม้ว่าวันนี้อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์จะไม่มีลมหายใจบนโลกนี้อีกแล้ว แต่ไอน์สไตน์จะไม่มีวันตาย ผลงานของเขาจะได้รับการสานต่อโดยนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เขาจะมีชีวิตอยู่ในความทรงจำ และจิตวิญญาณของคนรุ่นหลัง ที่ต้องการจะเห็นสันติภาพบนโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคนที่ได้รู้จักกับบุรษแห่งศตวรรษผู้นี้ เชื่อว่าพวกเขาคงมีความหวังเช่นเดียวกับไอน์สไตน์ 
    
จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ไอน์สไตน์ได้สร้างอะไรไว้มากมาย ทั้งเทคโนโลยี ทั้งทฤษฎี ทั้งคนที่มีคุณภาพที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเขา นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังยังคงค้นคว้าต่อจากไอน์สไตน์ มนุษยชาติเริ่มตระหนักถึงสันติภาพของโลก นั่นคือผลเชื่อมโยงต่อมาอีกหลายสิบปี หลังจากที่ไอน์สไตน์เสียชีวิต เช่นนี้แล้ว อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษ

อ่านบทความ รางวัลที่ ๑ โดย ศุภฤกษ์ อัศววิภาพันธุ์
รางวัลชมเชย นางสาวเขมิกา ธีรพงษ | นางสาวปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ | นางสาวพิมพ์พร ไชยพร | นายภูมรินท์ สุริยาสาคร | นางสาวยุพิน พิมเสน | นางสาวออมฤทัย เล็กอำนวยพร | นายอุดม นุสาโล

Sarakadee@sarakadee.com
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ ]

สำนักพิมพ์ สารคดี