Click here to visit the Website

ป ร ะ ก า ศ ผ ล ก า ร ป ร ะ ก ว ด บ ท ค ว า ม
Sorry, your browser doesn't support Java. รางวัลชมเชย
ทำไมไอน์สไตน์จึงสมควรได้รับการยกย่อง ให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20
โดย ยุพิน พิมเสน มหาวิทยาลัยรามคำแหง กทม.
(คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)

     E=mc2 เพียงแค่เห็นหรือได้ยินสูตรนี้ ฉันคิดว่าหลายคนคงปวดหัว และส่ายหัวอย่างไม่ไยดีกับมัน ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบวิชาคำนวณอย่างคณิตศาสตร์ หรือฟิสิกส์เอาเสียเลย อาจเป็นเพราะฉันรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ แค่บวกหรือลบเลขได้ ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับคนๆ หนึ่ง ทำไมต้องไปนั่งปวดหัว คิดหาอัตราความเร็วของแสง การเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าในสนามแม่เหล็ก หาความเร่ง ความเร็วของวัตถุ เป็นต้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเราเลย แต่สำหรับตอนนี้ วินาทีนี้ ฉันอยากจะปรบมือดังๆ ให้กับเขา "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" ผู้ที่มีความคิดตรงกันข้ามกับฉันโดยสิ้นเชิง เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่นักคิดตัวยง แต่เขายังเป็นนักปรัชญาไปพร้อมๆ กัน เมื่อฉันหยิบหนังสือ เกี่ยวกับชีวประวัติของไอน์สไตน์ขึ้นมาอ่าน ฉันบอกตัวเองได้คำเดียวว่า "วิเศษมาก" เขาเป็นบุคคลที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรอย่างง่ายได้ แต่เขากลับดึงเอาสิ่งที่พิเศษที่สุดในตัวเขาออกมา เพื่อลบปมด้อยในตัวของเขาเสีย ซึ่งหลายๆ คนทำไม่ได้ดังเช่นเขา จะเห็นได้จากสมัยที่เรียนมัธยม ครูผู้สอนได้นำตะปูมาที่ห้องเรียนแล้วบอกนักเรียนว่า "ตะปูนี่แหละที่ชาวยิวใช้ตรึงพระเยซูกับไม้กางเขน" ซึ่งในตอนนั้น มีไอน์สไตน์ที่เป็นชาวยิวเพียงบุคคลเดียวในห้องเรียน ทำให้ทุกคนมองเขาอย่างดูแคลนและเกลียดชัง เป็นเหตุที่ทำให้เขาปลีกตัวจากกลุ่มเพื่อนๆ แต่ก็มิได้หมายความว่าไอน์สไตน์จะกลายเป็นเด็กมีปัญหา ตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้เขามีเวลาที่จะศึกษาสิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้เขามีความรู้ในเรื่องราวต่างๆ โดดเด่นยิ่งกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ไอน์สไตน์ยึดมั่นในความคิดและอุดมการณ์ของตัวเองอย่างแน่วแน่ จนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซูริก ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาก็ได้รับปริญญาตรีจากโปลิเทคนิคมาแล้ว แต่เขาไม่สามารถที่จะทำงานได้ อันเนื่องจากการถูกตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นชาวยิว เขาจึงหันมาทำงานที่สำนักงานจดทะเบียนสิทธิบัตร ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึงตอนนี้เขาไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะชื่อของเขามีคำว่า "ศาสตราจารย์" นำหน้า ไอน์สไตน์กลายเป็นที่รู้จักของหลายๆ คน และดูเหมือนว่าโอกาสก้าวหน้าด้านการงานของเขามีมากขึ้น จนในที่สุดสถาบันโปลิเทคนิค มีข้อเสนอให้เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษด้านฟิสิกส์ด้านทฤษฎี ซึ่งแน่นอนว่าไอน์สไตน์ไม่ปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างแน่นอน เพราะเขาเคยได้รับการดูถูกจากครูและเพื่อนๆ ที่สถาบันแห่งนี้มาแล้ว เขากลับมาอีกครั้งพร้อมกับพิสูจน์ให้ทุกคนที่นี่เห็นว่าเขาไปไกลถึงไหนแล้ว

ไอน์สไตน์ในวัย ๗๔ ปี (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)

     แม้ว่าไอน์สไตน์จะเป็นผู้คิดค้น เป็นต้นแบบแห่งพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนทั้งหลาย โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นที่มองเขาในทางลบ อันที่จริงแล้ว ไอน์สไตน์เป็นบุคคลที่เกลียดทหาร เกลียดสงครามเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสมัยเป็นเด็กเขาเคยขอให้แม่พาไปจากเยอรมนี เพื่อที่จะหนีการเป็นทหาร ซึ่งความคิดของเขาจะดูแตกต่างจากเด็กทั่วไป และดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับทฤษฎีที่เขากำลังคิดค้น จนผู้คนมองว่า เขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เมืองฮิโรชิมา กลายเป็นเถ้าถ่านภายในพริบตา จะเห็นว่ามีนักวิทยาศาสตร์บางท่าน พยายามที่จะทำให้บุคคลทั่วไปรู้ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ความผิดของไอน์สไตน์ แต่เขากลับเป็นลูกผู้ชายมีเกียรติพอ เขาไม่ยอมที่จะแก้ข่าวหรือโต้แย้ง เขากลับกล่าวขอโทษชาวญี่ปุ่นและขอให้ทุกคนอภัยในตัวเขา อาจกล่าวได้ว่าไอน์สไตน์เป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ ทั้งด้านความคิด สติปัญญา ความรับผิดชอบและหลายๆ อย่างที่รวมอยู่ในตัว ผู้ชายที่ชื่อ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์"

ไอน์สไตน์ในช่วงปลายของชีวิต ใช้เวลากับการแสดงความเห็นเรื่อง สันติภาพของโลก (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      "ผู้เปิดโลกฟิสิกส์สมัยใหม่" คำกล่าวนี้ น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับไอน์สไตน์ในตอนนี้ ผู้ที่ไม่เคยยอมแพ้กับสิ่งต่างๆ ผู้บุกเบิกวิชาฟิสิกส์ให้ก้าวหน้า ไปพร้อมๆ กับ ปรัชญา เขาสามารถที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กันอย่างน่าทึ่ง สมกับเป็นบิดาแห่งวิชาฟิสิกส์อย่างแท้จริง ไอน์สไตน์ไม่ได้มัวเมาอยู่กับงานของเขาเอง แต่เขากลับเล็งเห็นและสนใจงานของบุคคลอื่นอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้ว่า เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เปิดกว้าง พร้อมจะยอมรับในสิ่งต่างๆ อย่างทฤษฎีควอนตัม ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฎีของเขา ทำให้เขาหันมาสนใจทฤษฎีนี้ ในขณะเดียวกันไอน์สไตน์ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่สนใจในเรื่องปรัชญา และศาสนา คำกล่าวที่ทำให้ตัวฉันทึ่งในความคิดของเขามากที่สุดคือ "นักวิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนา ก็เปรียบเสมือนคนง่อยเปลี้ยเสียขา แต่ศาสนาที่ไม่มีวิทยาศาสตร์ ก็คือคนตาบอดมืดมัว" ตรงนี้ทำให้ฉันรู้ว่า ไอน์สไตน์ไม่เคยที่จะแบ่งแยกตัวเองจากผู้อื่น เขาไม่เคยคิดว่าตน เป็นมนุษย์ที่เหนือกว่ามนุษย์คนอื่นทั่วๆไป แต่เขากลับพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า เขาก็คือบุคคลธรรมดา มีทุกข์ มีสุข มีวิทยาศาสตร์เป็นแขนขา พร้อมทั้งมีศาสนาเป็นจิตใจ ไอน์สไตน์ทำให้คนทั่วโลกรู้จัก เขาเป็นบุคคลที่น่ายกย่อง สรรเสริญ ถึงตอนนี้ถ้าใครจะกล่าวว่า "ไอน์สไตน์บุคคลแห่งศตวรรษที่ 20" ก็คงไม่แปลกอะไร
หนังสือ " ไอน์สไตน์ ผู้พลิกจักรวาล"      E=mc2 ผลงานที่น่าทึ่งของเขา ที่เรียกว่า สามารถเปลี่ยนแปลงวิทยาศาสตร์ ได้อย่างอัจฉริยะ ผลงานที่สร้างชื่อนี้ ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักตัวเขามากขึ้น ถึงตอนนี้แม้ไอน์สไตน์ จะไม่ได้รับรู้ถึงผลงานที่วิเศษสุดของเขาก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพยายามที่จะบ่งบอกให้ทั่วโลกได้รับรู้ก็คือ แม้ว่าเขาจะเป็นผู้คิดค้นนิวเคลียร์ หรือระเบิดปรมาณูพวกนั้น ก็มิได้หมายความว่า เขาต้องการให้เกิดสงครามขึ้นในโลก ไอน์สไตน์หวังเพียงแค่การศึกษา การคิดค้นทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เท่านั้น ตลอดเวลาที่ไอน์สไตน์มีชีวิตอยู่ เขามิได้หมกมุ่นอยู่แต่กับสิ่งนี้ เขายังศึกษาคัมภีร์ไบเบิล และไวโอลินซึ่งเขาชื่นชอบ จึงเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่า เขามีจิตใจที่อ่อนโยนและรักสงบ
     มาถึงตอนนี้ไม่มีใครกล้าปฏิเสธสูตรนี้ E=mc2 ไม่มีใครไม่รู้จักบิดาแห่งวิชาแห่งฟิสิกส์ทฤษฎี ทุกคนยอมรับในความสามารถของเขา มีรางวัลโนเบลรับรองผลงาน ที่มาจากหนึ่งสมองกับสองมือของเขา วันนั้นจากเด็กชายที่ถูกคนอื่นดูถูก ถูกเพื่อนคนอื่นหัวเราะ วันนี้เขากลับกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานยิ่งใหญ่สะท้านโลก ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็น "บุคคลแห่งศตวรรษที่ 20 " อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

อ่านบทความ รางวัลที่ ๑ โดย ศุภฤกษ์ อัศววิภาพันธุ์
รางวัลชมเชย นางสาวเขมิกา ธีรพงษ | นางสาวปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ | นางสาวพิมพ์พร ไชยพร | นายภูมรินท์ สุริยาสาคร | นางสาวยุพิน พิมเสน | นางสาวออมฤทัย เล็กอำนวยพร | นายอุดม นุสาโล

Sarakadee@sarakadee.com
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ ]

สำนักพิมพ์ สารคดี