Click here to visit the Website

ป ร ะ ก า ศ ผ ล ก า ร ป ร ะ ก ว ด บ ท ค ว า ม
Sorry, your browser doesn't support Java. รางวัลชมเชย
ทำไมไอน์สไตน์จึงสมควรได้รับการยกย่อง ให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20
โดย ออมฤทัย เล็กอำนวยพร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กทม.
ไอน์สไตน์สีไวโอลินคลอกับเปียโนที่เล่นโดย เอลซา (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)

     ในโลกนี้คงจะมีน้อยคนนัก ที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม ของนักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีที่ชื่อว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นแน่ อัจฉริยะบุคคลผู้ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ แห่งความเป็นอัจฉริยะ ที่ทั่วโลกยอมรับในเวลาต่อมา คนส่วนใหญ่คิดเอาว่าเขาเป็นผู้สร้างระเบิดปรมาณูสำเร็จเป็นคนแรก และหลายคนรู้จักสมการ E=mc2 อันลือลั่นของเขา แต่จะมีสักกี่คน ที่จะรู้จักและเข้าใจถึงชีวิตและผลงาน ของยอดนักฟิสิกส์ผู้นี้ได้อย่างลึกซึ้ง
     ไอน์สไตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 ณ เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี และเสียชีวิตเมื่อ 18 เมษายน ค.ศ. 1955 รวมอายุขัย 71 ปี ผ่านการสมรส 2 ครั้ง มีบุตร 5 คน (รวมลูกติดจากภรรยาใหม่ 2 คน) นั่นคือข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเขา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ เพราะต่อไปนี้เราจะมารู้จักไอน์สไตน์จากผลงานทางด้าน ทฤษฎีและหลักการเกี่ยวกับฟิสิกส์ที่เขาได้มอบไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง 

ไอน์สไตน์ในช่วงปลายของชีวิต ใช้เวลากับการแสดงความเห็นเรื่อง สันติภาพของโลก (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ก่อนอื่นอยากจะกล่าวถึงพลังงานปรมาณู หรือระเบิดปรมาณู ที่คนส่วนใหญ่ พากันนึกว่าไอน์สไตน์เป็นผู้คิดค้น จนกระทั่งเมื่อจะพูดถึงปรมาณู ก็ต้องนึกเชื่อมโยงถึงไอน์สไตน์ หรือจะพูดถึงไอน์สไตน์ก็จะนึกไปถึงปรมาณู จริงอยู่ที่ชีวิตของเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณู อันเนื่องมาจากเขาได้เป็นผู้ส่งจดหมายไปถึงประธานาธิบดีรูสเวลท์ ให้ตระหนักถึงการสร้างระเบิดปรมาณูในเยอรมนี เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เขามิได้เป็นผู้ค้นพบพลังงานปรมาณู หรือริเริ่มการสร้างระเบิดปรมาณูแต่อย่างใด เพราะความเป็นไปได้ที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์นั้น มีการคะเนกันไว้นานแล้ว ว่าจะเกิดก่อนที่ไอน์สไตน์จะค้นพบสูตร ความสัมพันธ์ระหว่างมวลกับพลังงาน (E=mc2) เสียอีก เพราะระเบิดปรมาณู หรือระเบิดนิวเคลียร์นี้ ล้วนเกิดจากการพัฒนาต่อๆ กันมาของนักฟิสิกส์หลายคน เริ่มต้นโดยรัทเธอร์ฟอร์ดกับซอดดี้ จากนั้นลีโอ ซีลาร์ด, ออตโต ฮันส์, นีล บอร์ และนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกอีกหลายคน ก็ได้คิดค้นและพัฒนากันต่อมา
     ส่วนผลงานทางทฤษฎีฟิสิกส์ ที่เป็นของไอน์สไตน์ชนิดจริงแท้และแน่นอน ที่คนทั่วไปเมื่อได้ยิน จะต้องคิดเชื่อมโยงไปถึง ชายแก่ ผมขาวฟูดูรุงรังอยู่เป็นนิจคนนี้ รองมาจากการคิดเชื่อมโยงถึงเขากับระเบิดปรมาณู ได้แก่ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ภาคพิเศษและภาคทั่วไป หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ เพียงทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ซึ่งเป็นทฤษฎีทำให้เขาโด่งดัง และมีชื่อเสียงมากที่สุด ด้วยการเสนอหลักการพื้นฐานที่ว่า "แสงเคลื่อนที่ด้วย ความเร็วเสมอไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ ของแหล่งกำเนิดแสง และผู้สังเกต" และในเรื่อง "เวลา" เขาได้สรุปว่า "การเคลื่อนที่ของเวลาเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของเหตุการณ์" นั่นคือ ยิ่งความเร็วสัมพัทธ์มีค่ามากขึ้น ช่วงเวลาของเหตุการณ์หนึ่งก็จะผ่านไปช้าลง ตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น นาฬิกาในเครื่องบินที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง จะเดินช้ากว่านาฬิกาเรือนเดียวกันเมื่ออยู่กับที่ ซึ่งต่อมาทฤษฎีของนักฟิสิกส์ผู้นี้ก็ได้รับการทดสอบแล้วว่าเป็นจริง
ไอน์สไตน์ในวัย ๗๔ ปี (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ส่วนทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับแรงดึงดูดระหว่างมวล และระบบความเร็วไม่คงที่ เมื่อเทียบกับระบบที่ไม่มีความเร่ง ขณะที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ จะเกี่ยวข้องกับความเร็วคงที่ โดยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปนั้น หลักการอันโด่งดังซึ่งได้รับการยอมรับ และทดสอบแล้วว่าเป็นจริง นั่นคือหลักการที่ว่า "แสงจะเดินทางเป็นเส้นโค้งเบนเข้าหาวัตถุขนาดใหญ่" โดยนักดาราศาสตร์ต่างให้การยอมรับเมื่อพบว่า ดวงดาวที่อยู่หลังดวงอาทิตย์ออกไปจะปรากฏให้เห็น ณ ตำแหน่งที่เบนไปจากตำแหน่งจริง โดยจะเห็นอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าตำแหน่งจริง (จากเหตุการณ์เกิดสุริยุปราคา ในปี ค.ศ. 1919)
     แต่ผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ กลับไม่ใช่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษหรือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ซึ่งเป็นทฤษฎีที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุดแต่อย่างใด แต่ผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี ค.ศ. 1921 กลับเป็นทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก โดยมีหลักการพื้นฐานว่า "เมื่อมีแสงฉายไปยังโลหะบางชนิดจะมีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นและกระแสไฟฟ้านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้" ซึ่งไอน์สไตน์ได้ให้คำอธิบายว่า แสงมีคุณสมบัติเป็นได้ทั้งคลื่นและอนุภาค ในกรณีของโฟโตอิเล็กทริกนี้ต้องอาศัยคุณสมบัติความเป็นอนุภาคของแสงหรือที่เรียกว่าโฟตอน โดยการถ่ายทอดพลังงาน
     และยังได้มีผลงานการวิจัยทางฟิสิกส์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้รับการรู้จักกันในวงกว้างเท่าใดนัก แต่ก็เป็นรายงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากรายงานชิ้นนี้ สามารถไขปัญหาที่เคยเป็นข้อข้องใจแต่เดิม ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ ด้วยงานศึกษาที่มีชื่อว่า การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน ซึ่งอธิบายว่า "การเคลื่อนที่ไปมาอย่างไม่เป็นระเบียบของวัตถุชิ้นเล็กๆ ในน้ำนั้น เกิดจากการที่วัตถุเหล่านั้นถูกกระแทกโดยโมเลกุลของน้ำ ซึ่งเคลื่อนที่ไปมาอย่างไม่เป็นระเบียบ" ทำให้เกิดปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เกิดการยอมรับของวงการวิทยาศาสตร์ ว่าอะตอมมีจริงเป็นครั้งแรก หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้นำทฤษฎีนี้ ไปสู่การคำนวณหาขนาดโมเลกุลของน้ำ ได้สำเร็จในเวลาต่อมา
     ไม่เพียงแต่ทฤษฎีที่สำคัญๆ เหล่านี้เท่านั้น ที่ได้นำเสนอมาจากมันสมองที่เป็นอัจฉริยะของนักฟิสิกส์เชื้อสายยิวผู้นี้ ยังมีผลงานทางด้านทฤษฎีและหลักการที่สำคัญๆ อีกหลายชิ้นด้วยกันที่ไอน์สไตน์ได้ประยุกต์ หรือปรับปรุง หรือให้น้ำหนักสนับสนุนทฤษฎีของนักคิด หรือนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่น ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีสนามรวมของไอน์สไตน์ ก็มีพื้นฐานมาจากการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดดั้งเดิม ของทฤษฎีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของแมกซ์เวลล์ และเขายังได้เพิ่มเติม การสนับสนุนทฤษฎีหลุมดำของ ปิแอร์ ซิมง ลาปลาส นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แต่ก็มีทฤษฎีหนึ่งที่ไอน์สไตน์ได้เห็นโต้แย้ง นั่นคือทฤษฎีควอนตัม หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า กลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่คิดและพัฒนาต่อๆ กันมาหลายคนเช่น หลุยส์ เดอบรอกลีย์ และแอร์วิน ชเรอดิงเงอร์ ว่าไม่สามารถที่จะอธิบายความเป็นจริงของจักรวาลได้ แต่นักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมาก็ได้พิสูจน์และพบว่าข้อโต้แย้งของไอน์สไตน์นั้นผิด

     เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกที่สืบทอดต่อกันมาเราจะพบว่า 
    
1. ในด้านพลังงานปรมาณู แม้ว่าไอน์สไตน์จะไม่ใช่ผู้คิดค้นพลังงานปรมาณู แต่เขาก็ได้เป็นผู้ช่วยจุดประกายความคิด ในการสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก ซึ่งได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ในชื่อโครงการที่ว่า "โครงการแมนฮัตตัน" เนื่องด้วยการส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีรูสเวลท์ หลังได้รับทราบจากลีโอ ซีลาร์ด เรื่องการค้นพบนิวตรอนจากการแตกตัวของยูเรเนียม อะตอมและการคำนวนการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ นับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อเมริกาตระหนักในความสำคัญของของการสร้างนิวเคลียร์ ทำให้โลกได้รู้จักพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีพลังงานมหาศาล ถ้าหากใช้ไปในทางสันติดังที่โลกปัจจุบันได้รับความก้าวหน้าจากการใช้พลังงานปรมาณู เช่น เรือดำน้ำและเรือบรรทุกสินค้าพลังปรมาณู และการอาบรังสีจากสารกัมมันตรังสี ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

ระเบิดนิวเคลียร์ Fat Man ซึ่งทิ้งลงเมืองนางาซากิ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      2. จากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้ง 2 ภาค คือ ภาคพิเศษและภาคทั่วไป ได้ก่อให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงทาง ความคิดที่กว้างขวางขึ้นทั้งในเรื่องอวกาศ เวลา การเคลื่อนที่ แรงโน้มถ่วง สสารและพลังงาน เป็นการเผยโฉมหน้าของจักรวาลได้อย่างครอบคลุมเป็นครั้งแรก ก่อกำเนิดความรู้ที่ยิ่งใหญ่แก่มวลมนุษยชาติให้ได้รับรู้เงื่อนไขและสภาวะที่แท้จริงแห่งจักรวาล
     3. ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกได้ถูกนำไปใช้ในนวัตกรรมในสมัยปัจจุบัน เช่น ประตูที่เปิดปิดเองอัตโนมัติ เมื่อมีคนเดินผ่านลำแสง หรืออนุภาคโฟตอน
     4. เกิดการศึกษาเรื่องหลุมดำ และจักรวาลในหมู่นักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมามากขึ้น จากการให้ทฤษฎีสนับสนุน เรื่องหลุมดำ แม้ว่าจะไม่มีผู้พบหลุมดำอย่างแน่ชัด แต่ก็เกิดการกระตุ้นให้มีการค้นคว้ากันต่อไป
     5. แม้ว่าบางเรื่องจากทฤษฎีของไอน์สไตน์จะพิสูจน์แย้ง ในเรื่องการโต้แย้งกลศาสตร์ควอนตัมว่า ไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงของจักรวาลได้ แต่จะพบว่าความพยายามของไอน์สไตน์ก็มิได้สูญเปล่า เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เกิดการหาความแท้จริง ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้หลักการและเหตุการณ์ มาเป็นองค์ประกอบในการโต้เถียง ช่วยให้ผู้สนใจได้รับความรู้เพิ่มพูนขึ้น
     นอกจากนี้ด้วยอุปนิสัยส่วนตัว ที่รักในสันติภาพและตระหนักว่าแต่ละเชื้อชาติ - เผ่าพันธุ์มนุษย์ ต่างมีความ สำคัญทัดเทียมกัน ไอน์สไตน์จึงได้บำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์หลายประการ ทั้งการร่วมรณรงค์ ต่อต้านการใช้อาวุธปรมาณู ไปในทางทำลายล้าง หรือการเข้าร่วมกับกลุ่มผู้นำลัทธิยิวคืนถิ่น หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาว่าง ในการขบคิดปรัชญา ปฏิบัติตัวตามจริยธรรมของมนุษย์ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อความถูกต้องของสังคม
หนังสือ " ไอน์สไตน์ ผู้พลิกจักรวาล"      จากผลงานของไอน์สไตน์ที่กล่าวมานี้ นับได้ว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่า และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโลก และมนุษย์ในรุ่นต่อไปเป็นอย่างมาก แม้ผลงานของไอน์สไตน์ จะเป็นเพียงทฤษฎีที่ผ่านการทดลองเชิงความคิดเท่านั้น คือไม่ได้มีการประดิษฐ์ หรือทดสอบด้วยอุปกรณ์จริงแต่อย่างใด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ ตราบใดที่ทฤษฎีของเขาได้เป็นที่ยอมรับ และก่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม หรือนำไปใช้ในฐานะทฤษฎี เพื่อการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเชื่อมความรู้จากต้นแบบ และความรู้ใหม่ในปัจจุบันเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันคุณธรรม ปรัชญาความคิด และไมตรีจิตของเขาก็จะยังได้รับการสืบทอดให้ประทับ และจารึกไว้ในดวงใจของคนรุ่นหลัง รุ่นแล้วรุ่นเล่า และรุ่นต่อๆ ไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
     ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะให้เกียรติแก่บุคคลสำคัญเช่นนี้ด้วยการเทิดทูนและยกย่องว่า ไอน์สไตน์ เป็นบุคคลสำคัญที่ควรได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20 อย่างแท้จริง
หนังสืออ่านประกอบ
1. ชีวประวัติอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เรียบเรียงโดย ครองแผน ไชยธนะสาร 
2. ไอน์สไตน์ผู้พลิกจักรวาล โดยดร. ไชยวัฒน์ คุประตกุล

อ่านบทความ รางวัลที่ ๑ โดย ศุภฤกษ์ อัศววิภาพันธุ์
รางวัลชมเชย นางสาวเขมิกา ธีรพงษ | นางสาวปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ | นางสาวพิมพ์พร ไชยพร | นายภูมรินท์ สุริยาสาคร | นางสาวยุพิน พิมเสน | นางสาวออมฤทัย เล็กอำนวยพร | นายอุดม นุสาโล

Sarakadee@sarakadee.com
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ ]

สำนักพิมพ์ สารคดี