|
จากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในอดีต เมื่อกาลเวลาหมุนผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ณ วันนี้ โลกกำลังเผชิญกับสงครามในรูปแบบใหม่ ที่เรียกขานกันว่า สงครามเศรษฐกิจ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม หรือลัทธิทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อในการแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน ยึดถือเงินเป็นใหญ่ มุ่งสู่กำไรสูงสุด เน้นการส่งออกให้มาก จึงเป็นวิถีทางที่สนับสนุนความโลภจนเป็นที่มาของกระแสบริโภคนิยม ผู้คนคลั่งไคล้กับเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีค่านิยมอวดร่ำอวดรวย บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ใช้ชีวิตหรูหรา กู้เงินมาลงทุน จนเป็นเหตุให้ภาวะเศรษฐกิจเสียสมดุล และในที่สุดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง ในหลายประเทศ ผู้บริหารแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินจากต่างชาติ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทุกข์กันถ้วนหน้าจากการล้มละลาย ตกงาน ภาวะข้าวยากหมากแพง บางคนรู้สึกคับแค้นใจจนต้องหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
|
|
ดังนั้นการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 20 จะต้องอาศัยธรรมะเป็นยุทธวิธีต่อสู้กับภัยจากสงครามเศรษฐกิจ เพื่ออยู่กับความทุกข์โดยไม่ทุกข์มากนัก ทั้งนี้ ไอน์สไตน์เป็นบุคคลที่มีปรัชญาของการเดินทางชีวิตในวิถีพุทธะ จึงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20 ในฐานะบุคคลตัวอย่างให้เราได้เลียนแบบ
"คุณธรรม" ของไอน์สไตน์มีดังนี้
|
|
1. จิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะรักความสะดวกสบาย อยากรวย อยากมี อยากได้ อยากเป็น อยากมีชื่อเสียง อันเป็นกิเลสของปุถุชน แต่ไอน์สไตน์กลับเป็นคนที่ทวนกระแสสังคม เขาไม่สนใจไยดีสิ่งเหล่านี้ แถมยังดูถูกเสียอีก ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูดเดินทางมาพบและเชิญเขาไปแสดงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง โดยให้ค่าตอบแทนถึงสัปดาห์ละ 40,000 ดอลล่าร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราเงินในปัจจุบัน
ถือว่ามากมายมหาศาล แต่เขากลับปฏิเสธไปอย่างไม่แยแส เขาให้เหตุผลกับคนใกล้ชิดว่า "อย่างนี้มันอยู่ได้ไม่นาน มันไม่จีรังยั่งยืน คนเราคลั่งกันเป็นพักๆ เท่านั้น จะเอาอะไรแน่นอนกับจิตใจมนุษย์ พรุ่งนี้ก็ลืมหมด"
|
|
2. รักสันโดษ เขาดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่ชอบแต่งกายประณีตโอ่อ่า เสื้อผ้าแม้จะเก่าๆ ก็สวมได้ เขาใช้สบู่ที่ฟอกตัวสำหรับโกนหนวดด้วย โดยให้ทัศนะว่า "การใช้สบู่หลายชนิดทำให้ชีวิตยุ่งยากสับสนไปเปล่าๆ"
อีกตัวอย่างหนึ่ง ตอนที่เขามีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้งหนึ่งเขาโดยสารไปทางเรือเดินทะเล กัปตันได้เสนอห้องชุดพิเศษที่มีราคาแพงที่สุดให้เขาโดยสารเพื่อเป็นเกียรติยศแก่เขาโดยไม่ต้องเสียเงิน แต่เขาปฏิเสธ เขาขอไปอย่างคนธรรมดา แต่กัปตันก็พยายามคะยั้นคะยอ เขาจึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นเขาจะระงับการเดินทาง ไม่ไปด้วย"
|
|
3. พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ด้วยเขาเป็นคนมักน้อย ไม่ชอบสะสมสมบัติ ไม่โลภ ไม่ต้องการอยากได้อะไรของ ใคร ไม่ต้องการเงิน ยศถาบรรดาศักดิ์หรือคำสรรเสริญเยินยอใดๆ เขาแสวงหาความสุขจากสิ่งธรรมดา เช่น สนใจอยู่กับการทำงาน การร้องเพลง เล่นไวโอลิน เพื่อผ่อนคลายความเครียด เขามีปรัชญาในการดำรงชีวิตว่า "ทรัพย์สินเงินทองไม่ทำให้มนุษย์โลกก้าวหน้าได้ โลกที่มนุษย์ต้องการนั้นจะหาซื้อด้วยเงินไม่ได้ โลกถูกสงครามทำลายล้าง ความจงเกลียดจงชังอันเก่าแก่ก็จะคุขึ้นมา โลกต้องการสันติภาพและไมตรีจิตอันยั่งยืน"
4. ความอ่อนน้อมถ่อมตน เขาเป็นคนที่วางตัวสงบเสงี่ยม ไม่เย่อหยิ่ง จองหอง ทะนงตน ตัวอย่างเช่น เมื่อเขาเริ่มกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มหาวิทยาลัยซูริก และสถานที่ต่างๆ เชิญเขาไปสอน ไปบรรยาย ในขณะที่เขาเองกลับแสดงกับใครๆ ว่าตนเองไม่มีความรู้มากไปกว่าคนอื่นๆ เลย เขาพูดว่า "คนเรามีความฉลาดเท่ากันหมด" ซึ่งในทางกลับกันคนอื่นๆ จะมองว่า เขาเป็นคนวิเศษที่จะหาที่ไหนในโลกนี้อีกไม่ได้แล้ว แต่ตัวเขาเองกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นสักนิดเดียว เขากลับรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ชอบแสดงตัวว่ามีความรู้มากกว่าคนอื่น
|
|
5. ความขยัน มานะ อดทน เขาเป็นคนที่ไม่ยอมปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เขาพยายามศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ ถ้าว่างจากการค้นคว้าก็เขียนหนังสือเผยแพร่ให้ความรู้กับสังคม
6. รักสงบ เขาเป็นคนใฝ่สันติ ตัวอย่างเช่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รณรงค์ให้มีการควบคุมอาวุธปรมาณูระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากการใช้อาวุธปรมาณูกับญี่ปุ่น เหตุการณ์ครั้งนั้นเขาเสียใจมากที่สุด ใจจริงเขาหวังว่าสิ่งที่เขาคิดค้นจะได้นำมาใช้ในทางสันติ มิใช่มาทำลายล้างกัน
7. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เขามีจิตใจดีงาม มีเมตตา ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น การเป็นผู้ช่วยเด็กๆ ในท้องถิ่นทำการบ้านคณิตศาสตร์
|
|
สัจธรรมข้อหนึ่งกล่าวว่า "ผู้ใดมีแก่น ผู้นั้นอยู่ได้" ด้วยลักษณะบุคลิกภาพที่ทรงคุณธรรม อันประกอบด้วยความเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง สันโดษ อ่อนน้อมถ่อมตน มานะอดทน มีเมตตา มีความรักแก่เพื่อนร่วมสังคม สะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นบุคคลที่อยู่เหนือกิเลสตัณหา วิถีการดำเนินชีวิตที่ทวนกระแสสังคมหรือ วิถีพุทธะนี้ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขกายสุขใจได้ โดยเฉพาะในภาวะโลกวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ ด้วยการมีชีวิตที่เรียบง่าย มัธยัสถ์ ด้วยเหตุนี้ไอน์สไตน์จึงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20
|