Click here to visit the Website

ป ร ะ ก า ศ ผ ล ก า ร ป ร ะ ก ว ด บ ท ค ว า ม
Sorry, your browser doesn't support Java. รางวัลชมเชย
ทำไมไอน์สไตน์จึงสมควรได้รับการยกย่อง ให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20
โดย ภูมรินท์ สุริยาสาคร มหาวิทยาลัยพายัพ จ. เชียงใหม่ 
ไอน์สไตน์ในช่วงที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ จดทะเบียนลิขสิทธิ์ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)

     มรดกล่ำค่าที่มนุษย์ให้กับมนุษย์ด้วยกันได้อย่างต่อเนื่องกันไปไม่รู้จบ คือความรู้ที่ได้จากการค้นหาคำตอบของคำถามเกี่ยวกับความมีอยู่จริงของธรรมชาติ ความลึกลับของชีวิต และสรรพสิ่งทั้งมวล โลกวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าก็ด้วยการค้นหาคำตอบอย่างไม่สิ้นสุด จากคำตอบที่ได้ ไปสู่ปัญหาใหม่ที่ละเอียดซับซ้อนยิ่งขึ้น และดูเหมือนว่าความรู้ที่ได้ นับวันยิ่งเข้าสู่เนื้อแท้ของปรากฏการณ์ธรรมชาติยิ่งขึ้นทุกขณะ มนุษย์นำความรู้ที่ได้มาสร้างประโยชน์ให้กับตัวมนุษย์เอง ทั้งอย่างสร้างสรรค์และทำลาย

     ในโลกของวิทยาศาสตร์จึงได้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มีบุคคลผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญๆ ของโลกมากมาย แต่ถ้าได้พิจารณาถึงความโดดเด่น อัจฉริยภาพทางปัญญาและผลงานที่สะท้านสะเทือนโลก กับการสร้างความคิดและทัศนะใหม่เกี่ยวกับโลกและจักรวาล บุคคลผู้มีความสามารถสูงสุดดังกล่าวนี้ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้ เขาคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เชื้อชาติยิว แต่ถือกำเนิดในประเทศเยอรมนี และโอนสัญชาติครั้งสุดท้ายเป็นอเมริกัน

ไอน์สไตน์ในวัยเยาว์ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ไอน์สไตน์ได้รับการยกย่องจากชาวโลก ให้เป็นเสมือนเทพเจ้า เพราะความรู้ และผลงานจากความรู้ของเขา กว้างไกลเกินความคาดหมายของคนธรรมดาทั่วไป จากสิ่งที่เล็กที่สุดคืออะตอม ครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือจักรวาล เขาจึงได้อีกฉายาหนึ่งว่าเป็นผู้พลิกจักรวาล ขณะเดียวกันด้วยนิสัยบุคลิกภาพของเขา ก็มีผู้เรียกเขาว่าเป็น ยักษ์ใจดีผู้ไม่หลงตนเอง เพราะความเป็นคนที่สุภาพ อ่อนโยน ใจดีต่อทุกคน และคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ถือตัวในความยิ่งใหญ่ของตนเอง แม้ว่าโดยนิสัยส่วนตัวจะเป็นคนหัวรั้น ไม่ชอบระเบียบแบบแผนมากนัก เขาก็พอใจและมีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่าย ในปี พ.ศ. 2495 ไอน์สไตน์ได้รับเกียรติอย่างสูงส่งจากประเทศอิสราเอล เชิญให้เขารับตำแหน่งประธานาธิบดีของอิสราเอล ไอน์สไตน์ได้กล่าวปฏิเสธไปว่า "ผมไม่เคยรับทำงานที่ผมไม่ถนัด"
ไอน์สไตน์ในวัย ๗๔ ปี (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      เมื่อขึ้น ค.ศ. 2000 ไอน์สไตน์ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time เป็น "บุคคลแห่งศตวรรษ" จากการพิจารณาคัดเลือกบุคคลสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ในทุกวงการ ไม่จำกัดเฉพาะวงการวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์คือบุคคลที่ได้รับการ "ยกย่อง" หรือ "ยอมรับ" ว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในรอบศตวรรษที่ 20 ทำไม? ไอน์สไตน์ จึงสมควรได้รับการยกย่องและยอมรับเช่นนี้
     ความจริงแล้วคนส่วนใหญ่ทั่วโลกรู้จักไอน์สไตน์ ในฐานะผู้คิดค้นเกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์ จากสมการ E=mc2 ที่สะท้านสะเทือนโลกมาแล้ว ซึ่งเป็นการแสดงความสัมพันธ์ ระหว่างสสารกับพลังงาน กล่าวคือ ถ้าสารมีมวล m สูญสลายหายไป มวลที่หายไปก็จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเป็นปริมาณ E ขณะที่ c เป็นความเร็วของแสงในสุญญากาศ คือ 186,000 ไมล์ต่อวินาที สมการนี้จึงเป็นที่มาของหลักการพื้นฐานของระเบิดปรมาณู (ชื่อเก่า) หรือระเบิดอะตอม (ชื่อใช้กันในปัจจุบัน) ที่ทำให้โลกสะท้านสะเทือนถึง 2 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ซึ่งนับเป็นโศกนาฏกรรมอันอัปยศ ของมนุษยชาติ ที่กระทำต่อกันอย่างไร้คุณธรรม ความร้ายแรงของระเบิดอะตอม ได้ผลเกินความคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์ ทำให้พวกเขารู้สึกตื่นตะลึง เปรียบเสมือนกับว่าได้ปล่อยผีนรกแรงฤทธิ์ ออกมาจากโลกแห่งความชั่วร้าย
     แม้แต่ไอน์สไตน์ก็ได้สำนึกถึงความถลำตัว ไปกับการลงชื่อในจดหมายแสดงเจตจำนง ในโครงการสร้างระเบิดอะตอม เขาได้ขอโทษชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศด้วยน้ำตา และกล่าวว่า "ถ้าข้าพเจ้าทราบว่า เยอรมนีจะไม่ประสบความสำเร็จ ในการสร้างระเบิดอะตอม ข้าพเจ้าจะไม่ยุ่งด้วยเลย"
     และนี่คือความหวาดระแวงที่มนุษย์มีต่อกันในอดีต และยังเป็นเช่นนี้อยู่ในปัจจุบัน แล้วใครจะกล้ารับประกัน ได้ว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
     จากสำนึกแห่งความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นนี้ ไอน์สไตน์จึงได้ทุ่มเทชีวิตที่เหลือของเขา ให้แก่การรณรงค์เพื่อสันติภาพของโลก 
ระเบิดนิวเคลียร์ Fat Man ซึ่งทิ้งลงเมืองนางาซากิ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ความมีอัจฉริยภาพของไอน์สไตน์ เริ่มปรากฏตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 ขณะที่เขามีอายุได้เพียง 26 ปี เขาสร้างความตื่นตะลึงให้แก่โลกวิทยาศาสตร์ โดยการเสนอทฤษฎีและหลักการใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในเรื่องที่แตกต่างกันถึงสามเรื่อง คือ
     1. เรื่องของปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (photoelectric effect)
     2. เรื่องการเคลื่อนที่แบบบราวเนียน (brownian motion) 
     3. เรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (special theory of relativity)
     ไอน์สไตน์เป็นคนแรกที่อธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกได้ กล่าวคือเมื่อมีแสงฉายไปยังโลหะบางชนิด จะมีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไอน์สไตน์ใช้หลักการว่า แสงมีคุณสมบัติเป็นได้ทั้งคลื่นและอนุภาค ในกรณีของโฟโตอิเล็กทริก ต้องอาศัยคุณสมบัติความเป็นอนุภาคของแสง ที่เรียกว่าโฟตอน (photon) และพลังงานของโฟตอนขึ้นอยู่กับความถี่ของแสง มิใช่ความเข้มหรือปริมาณของโฟตอนตามที่นักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนเข้าใจ ทฤษฎีอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกนี้ เป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกของไอน์สไตน์ และทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี พ.ศ. 2464
กับซีลาร์ด เขียนจดหมายถึงประธสนาธิบดีรูสเวลต์ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      เรื่องเกี่ยวกับ "การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน" เป็นผลงานวิจัยชิ้นที่สองของเขา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ ก่อนยุคไอน์สไตน์ได้สังเกตเห็นมาก่อนแล้วว่า วัตถุชิ้นเล็กๆ ขนาดฝุ่นผงจะเคลื่อนที่ไปมาในของเหลว เช่น น้ำ อย่างไม่เป็นระเบียบ ไอน์สไตน์ได้เสนอคำอธิบายพร้อมกับสมการการคำนวณของเขาว่า การเคลื่อนที่ไปมาอย่างไม่เป็นระเบียบของวัตถุเล็กๆ ในน้ำนั้น เกิดจากการที่วัตถุเหล่านี้ถูกกระแทกโดยโมเลกุลของน้ำ ซึ่งเคลื่อนที่ไปมาอย่างไม่เป็นระเบียบ จากสมการของไอน์สไตน์ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณหาขนาดของโมเลกุลของน้ำได้ และจากขนาดของโมเลกุลก็สามารถคำนวณหาขนาดของอะตอมได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นยังไม่แน่ใจกันนักว่า อะตอมมีจริงหรือไม่ เพราะยังไม่มีใครเคยเห็นและวัดขนาดของอะตอมได้ จากสมการของไอน์สไตน์ วงการ วิทยาศาสตร์จึงยอมรับว่าอะตอมมีจริง ต่อมาเขาได้วางหลักการเกี่ยวกับการรับ และการปล่อยพลังงานที่เป็นไปได้ของอะตอม เมื่อได้รับการกระตุ้นพลังงานที่มาจากภายนอกเช่นแสงหรือโฟตอน และจากหลักการนี้นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน จึงสามารถสร้างเครื่องเลเซอร์ขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในปัจจุบันและอนาคต
(คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ในบรรดาผลงานทั้งหมดของไอน์สไตน์ ผลงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสองภาค คือ ภาคพิเศษและภาคทั่วไป
     ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์ค้นพบว่า วัตถุใดๆ ที่เคลื่อนที่เร็วขึ้น วัตถุนั้นจะมีขนาดเล็กลง แต่จะมีมวลเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งที่ความเร็วเท่ากับแสงวัตถุจะมีขนาดเป็นศูนย์ นั่นคือหายไปเลย แต่มีมวลมหาศาลเป็นอนันต์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ต่อมาเขาจึงสรุปว่าไม่มีวัตถุใดหรืออนุภาคใด ยกเว้นอนุภาคของแสงเองที่จะมีความเร็วเท่ากับแสงได้ จากทฤษฎีนี้มีผลที่น่าทึ่งมากเกี่ยวกับ "เวลา" กล่าวคือการเคลื่อนที่ของเวลาก็เป็นสิ่งที่ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของเหตุการณ์ หมายถึงว่า ยิ่งความเร็วสัมพัทธ์มีค่ามากขึ้น ช่วงเวลาของเหตุการณ์หนึ่งก็จะยิ่งผ่านไปช้าลง นั่นคือนาฬิกาที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงจะเดินช้ากว่านาฬิกาเรือนเดียวกันเมื่ออยู่กับที่ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเกิดผลจริง ทฤษฎีนี้จึงมีบทบาทมากเป็นพิเศษสำหรับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับความเร็วสูงและพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้โลกปัจจุบันก้าวรุดหน้าอย่างรวดเร็ว มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางตรง เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เรือบรรทุกสินค้านิวเคลียร์ และทางอ้อม เช่น การผลิตสารกัมมันตรังสี โดยวิธีการอาบรังสี การนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
     อีก 10 ปีต่อมา ไอน์สไตน์ได้ขยายทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษให้ใช้ได้ทั่วไปยิ่งขึ้น โดยตั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เพื่อให้ใช้ได้กับกรณีการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีความเร็วสัมพัทธ์ (กับผู้สังเกต) ไม่คงที่คือมีความเร่ง โดยหลักการพื้นฐานของทฤษฎีนี้ เป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับ "ความโน้มถ่วง" กับ "แรง" ซึ่งเดิมตามทฤษฎีว่าด้วยความโน้มถ่วงของนิวตัน วัตถุทุกชนิดดึงดูดกันด้วยแรงโน้มถ่วง แต่ไอน์สไตน์ให้ความคิดใหม่ว่าความโน้มถ่วง ไม่ใช่แรงการดึงดูดของวัตถุซึ่งกันและกัน แต่เป็นผลของการส่งคลื่นชนิดหนึ่ง ที่คล้ายคลึงกับการเคลื่อนที่ของแสงในรูปของคลื่น ที่ประกอบด้วยสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้พยายามค้นหาคลื่นโน้มถ่วง ด้วยความหวังว่าถ้าพบและเข้าใจธรรมชาติของคลื่นโน้มถ่วงนี้ ก็สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ดังที่เราใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
ไอน์สไตน์ในช่วงปลายของชีวิต ใช้เวลากับการแสดงความเห็นเรื่อง สันติภาพของโลก (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ในเรื่องผลของความโน้มถ่วง ต่อเส้นทางการเคลื่อนที่ของแสง กล่าวว่า โดยปกติเมื่อ แสงเคลื่อนที่ในอวกาศขณะที่ห่างไกลจากวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ดวงดาว แสงนั้นจะเคลื่อนที่อยู่ในแนวเส้นตรง แต่ถ้าแสงเคลื่อนที่อยู่ใกล้วัตถุขนาดใหญ่หรือมีมวลสารขนาดใหญ่ เช่น ดวงดาว หรือใหญ่ระดับกาแล็กซี่ ความโน้มถ่วงหรือสนามความโน้มถ่วงที่มีต่ออวกาศ ทำให้อวกาศบริเวณรอบวัตถุใหญ่มีสภาพเป็นอวกาศโค้ง แสงจึงเดินทางเป็นเส้นโค้งตามผิวของอวกาศโค้งนั่นเอง ผลของทฤษฎีนี้ได้รับการทดสอบว่าเป็นจริงตรงตามทฤษฎีของ ไอน์สไตน์ทุกประการใน พ.ศ. 2462 ระหว่างเกิดสุริยุปราคา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า แสงสว่างจากดวงดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จะเคลื่อนที่เป็นแนวเส้นโค้งเข้าหาดวงอาทิตย์จริง ทุกสิ่งเป็นไปตามคำทำนายของทฤษฎีของไอน์สไตน์ ผลการทดสอบครั้งนี้ทำให้ไอน์สไตน์ดัง "ระเบิด" ในโลกวิทยาศาสตร์และวงการทั่วไป และตามทฤษฎีนี้ พบว่าความโน้มถ่วงก็มีผลต่อเวลา โดยที่เวลาจะเคลื่อนที่ช้าลงในสนามความโน้มถ่วงสูง เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวความคิดทฤษฎีของไอน์สไตน์นั้น ค่อนข้างทดสอบได้ยากและบางเรื่องต้องใช้เวลา แต่เมื่อผลการทดสอบออกมาก็เป็นจริงตามทฤษฎี จนกล่าวกันว่า ความคิดทฤษฎีของไอน์สไตน์ล่ำหน้าไปไกลกว่าความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการทดสอบ และยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ทฤษฎีของไอน์สไตน์ก็ดูจะยิ่งโตขึ้นเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ายังมีขุมทรัพย์ความรู้อีกมากมาย ซ่อนเร้นอยู่ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ซึ่งรอความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ในการค้นหาต่อไป 
ไอน์สไตน์ในวัย ๗๔ ปี (คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)      ปลายศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ ได้ยอมรับการมองโลกแบบจักรกลที่เซอร์ไอแซก นิวตัน ได้ค้นพบเมื่อสองศตวรรษก่อนหน้านั้น ซึ่งช่วยให้เห็นว่าสสารมีการดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบแบบแผน มีคุณภาพที่อาจวัดได้ อยู่ในเวลาและสถานที่ที่แน่ชัด และอวกาศก็ไม่มีขอบเขตที่แน่นอน นิวตันได้รับการยกย่องมากที่สุดในศตวรรษที่ 18 คือ เป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของการปฎิวัติวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น
     เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ความคิดของนิวตันเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ และการอธิบายการดำเนินของโลกแบบจักรกล ที่เป็นระเบียบนี้ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป เมื่อไอน์สไตน์ได้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพของเขา ซึ่งครอบคลุมถึงความโน้มถ่วง ความคิดเกี่ยวกับอวกาศ และกาลได้รับการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ จนมีผู้เปรียบไว้ว่า ไอน์สไตน์ผู้พลิกจักรวาล
     จากที่กล่าวมา สรุปได้ว่าแนวคิดหลักการและทฤษฎี ที่เป็นผลงานของไอน์สไตน์นั้นมีบทบาทที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแนวคิดของนิวตันที่ได้รับการยกย่องในศตวรรษก่อนๆ นั้นเลย จากผลงานความคิดของไอน์สไตน์นับเป็นพื้นฐานความคิดที่นักวิทยาศาสตร์นักคิดค้นรุ่นต่อๆ มาได้นำไปขยายผลงาน สร้างสรรค์งานออกมามากมายในปัจจุบัน
     ไอน์สไตน์นอกจากจะได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกแล้ว เขายังสร้างผลงานเขียนประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์โดยตรง เช่น เรื่องปรัชญา ทั้งปรัชญาโลกและปรัชญาชีวิตมนุษย์ และเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพ ไอน์สไตน์ใฝ่ฝันให้โลกรวมกันเป็นประเทศเดียว มนุษย์โลกทุกคนมีสัญชาติเดียวกันคือ สัญชาติโลก
หนังสือ " ไอน์สไตน์ ผู้พลิกจักรวาล"      ความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์ ถึงขนาดมีการเก็บสมองของเขาไว้ศึกษา ผลการวิจัยพบว่าสมองของเขาแตกต่างไปจากสมองของคนทั่วไปจริง แม้ว่าไอน์สไตน์จะจากโลกนี้ไป 100 กว่าปีมาแล้ว แต่ผลงานความยิ่งใหญ่ของเขา ได้จุดประกายให้เกิดแนวความคิดใหม่ ในการค้นพบความเป็นจริงธรรมชาติ เกี่ยวกับโลกและจักรวาล ซึ่งมีทั้งด้านวิชาการ ด้านปรัชญา และด้านความเป็นมนุษย์ ซึ่งนับวันผลที่ได้จากแนวความคิดของไอน์สไตน์ จะยังผลประโยชน์ให้กับมนุษย์ปัจจุบัน และอนาคตอย่างไม่หยุดยั้ง และทั้งหมดนี้คือคำตอบของคำถามที่ว่า "ทำไมไอน์สไตน์ จึงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20 "

อ่านบทความ รางวัลที่ ๑ โดย ศุภฤกษ์ อัศววิภาพันธุ์
รางวัลชมเชย นางสาวเขมิกา ธีรพงษ | นางสาวปิยาภัสร์ จารุสวัสดิ์ | นางสาวพิมพ์พร ไชยพร | นายภูมรินท์ สุริยาสาคร | นางสาวยุพิน พิมเสน | นางสาวออมฤทัย เล็กอำนวยพร | นายอุดม นุสาโลv

Sarakadee@sarakadee.com
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ ]

สำนักพิมพ์ สารคดี