Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ ย้ อ น ร อ ย ๑ ๕ ปี ส า ร ค ดี
กุลธิดา สามะพุทธิ, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง
ฝ่ายภาพสารคดี ภาพ
 
  โ จ ห ลุ ย ส์
(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     "หุ่นละครเล็ก มหรสพเก่าแก่ เมื่อเกือบร้อยปีก่อน ที่ไม่มีใครคาดว่าจะฟื้นคืนอีก ถูกปลุกให้มีชีวิตใหม่ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของโจหลุยส์และลูก ๆ ซึ่งช่วยกันสร้างสรรค์ ชักเชิดให้หุ่นละครเล็ก ได้มีวิญญาณโลดแล่น... ร่ายรำบนเวทีอีกครั้งหนึ่ง แต่ใครเล่า... จะให้คำตอบได้ว่า ชีวิตที่โลดแล่นร่ายรำ บนเวทีของหุ่นละครเล็กครั้งใหม่นี้ จะยืนยาวไปได้นานสักเท่าใดŽ"

("โจหลุยส์ ผู้ชุบชีวิตหุ่นละครเล็ก มหรสพที่ถูกลืม" สารคดี ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๑, พฤศจิกายน ๒๕๒๙)


      ก่อนการแสดงหุ่นละครเล็ก รอบเช้าจะเริ่มขึ้นที่ "โจหลุยส์เธียเตอร์" ชายชราหมุนล้อรถเข็น ที่ตัวเองนั่งอยู่ไปรอบ ๆ บริเวณโรงละคร แล้วจึงมาหยุดตรงหน้า ซุ้มทำหัวโขน คอยชี้แนะผู้เป็นหลาน ที่กำลังง่วนอยู่กับการทำหัวโขนส่งขาย ซึ่งยังคงเป็นงานที่ทำรายได้หลัก ให้แก่ครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้
    เมื่อมีโอกาสเข้าไปพูดคุย และไถ่ถามถึงความเป็นไป ปู่โจหลุยส์ตอบเรียบ ๆ "...ก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัย"
    แต่หัวใจของเขาไม่เปลี่ยน ใจที่รักและทุ่มเท ให้แก่หุ่นละครเล็ก โขน ละคร แม้ในยามหลับยังเคยฝันถึงหุ่น "ฝันว่าทำหุ่นบ้าง ไปเล่นที่โน่นที่นี่บ้าง บางทีพอหลับตา ก็เห็นหุ่นเคลื่อนไหว"
    วันนี้โจหลุยส์ ยังอยากขึ้นเวที เชิดหุ่นละครเล็กเหมือนเก่า ทว่าขาแข้งลีบเล็กลงเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง แม้เดินยังไม่ค่อยตรงทาง อยากทำหุ่นเอง ตั้งแต่ต้นจนจบให้ได ้เหมือนครั้งหนึ่งที่เคยทำหุ่นละครเล็กได้ถึง ๑๑ ตัวภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน อยากเขียนใบหน้า-ปักเสื้อผ้าหุ่นเอง แต่เมื่อลองปักดู ก็ไม่รู้ว่าเข็มจะลงผ้าหรือยัง เพราะต้อหินในดวงตา ทำให้การมองเห็นรางเลือนเต็มทน     
    จะสอนหลาน ๆ เชิดหุ่นละครเล็กก็ทำไม่ได้ดั่งใจ เพราะไม่มีแรงลุกขึ้นรำให้ดู เนื่องจากการเชิดหุ่นประเภทนี้ มีลักษณะพิเศษตรงที่ผู้ชม จะได้เห็นคนเชิดร่ายรำไปด้วย หุ่นหนึ่งตัวใช้คนเชิดรำไปพร้อม ๆ กันสองสามคน คนเชิดหุ่นละครเล็ก จึงต้องมีความชำนาญ และผ่านการฝึกฝน ศิลปะโขนละครมาเป็นอย่างดี
    สิ่งที่ผู้ก่อตั้ง "คณะสาครนาฏศิลป์" ซึ่งเป็นคณะหุ่นละครเล็ก เพียงคณะเดียวในประเทศไทย พอจะทำได้ในวัย ๗๙ ปี จึงได้แก่การสอนเชิดหุ่น และควบคุมการฝึกซ้อม โดยอาศัยการบรรยายท่าทางใ ห้ฟังอย่างละเอียดยิบ โจหลุยส์คุยว่าหลานทั้ง ๑๘ คนของเขาเล่นโขนได้ทุกคนแล้ว เพียงแต่ยังไม่ถึงวัยจะเชิดหุ่น ต้องให้อายุมากกว่านี้หน่อยเท่านั้น
(คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     ส่วนเวลาที่เหลือก็หมด ไปกับการนั่งเอนหลังทำหุ่นอยู่บนเตียง วันละนิดละหน่อย เหนื่อยก็หยุด แกะไม้พอเห็นเป็นรูปร่างก็ต้องใช้ลูก ๆ หลาน ๆ เอาไปขัดต่อให้ละเอียด แล้วจึงเอามาตรวจแก้อีกที แต่ส่วนที่เป็นกลไกสำคัญ ซึ่งทำให้หุ่นละครเล็ก พิเศษกว่านชนิดอื่น ๆ คือ หุ่นสามารถเคลื่อนไหวได้เกือบทุกส่วน -- หักคอ หันซ้ายแลขวา ร่ายรำ ชี้นิ้ว ขยับปากได้ ราวกับมีชีวิตจริงนั้น สาคร ยังเขียวสด ยังคงเป็นคนเดียวที่ล่วงรู้ถึงวิธีการทำ
    ความจริงเรื่องราว ในชีวิตของโจหลุยส์ ไม่ได้มีเพียงแค่การ "เปลี่ยนแปลงไปตามวัย" อย่างที่เขาสรุปไว้เท่านั้น
    ปี ๒๕๓๙ จากเด็กคนหนึ่งที่ "...ชอบเข้าไปพัวพัน ขอจับหุ่นหรือออกท่าทางรำตามพวกผู้ใหญ่ จนบางครั้งถูกไล่ตะเพิดออกมา เพราะเข้าไปเกะกะ พันแข้งพันขาเวลาเขาฝึกเชิดหุ่น" สาคร ยังเขียวสด ได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นละครเล็ก) ซึ่งนอกจากจะทำให้ ศิลปะที่เขารักเป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวางแล้ว ยังส่งผลให้เขาต้อง "ออกงาน" อยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังต้องไป ร่วมเป็นเกียรติในงานประกาศ รายชื่อศิลปินแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี
    แต่หลังจากนั้น ไม่นานเขาก็ต้องพบกับ ความเสียใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต
    ลูก ๆ ของโจหลุยส์บอกว่า เหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๒ ซึ่งทำให้หุ่นละครเล็ก จำนวน ๕๐ กว่าตัว ที่พ่อของพวกเขาสร้างมาเองกับมือ ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปี กลายเป็นเถ้าถ่านนั้น ทำให้พ่อ "นิ่ง" ไปด้วยความเศร้าเสียดาย อยู่พักใหญ่ กว่าจะรวบรวมกำลังใจ ลุกขึ้นมาทำหุ่นขึ้นใหม่ โดยใช้เงินทั้งหมดที่ได้รับบริจาคมา
"จะทำตัวที่สูญไปตอนไฟไหม้ จะเอากลับมาใหม่" โจหลุยส์บอกถึงความตั้งใจ ไม่นานนักหุ่นพระราม พระอิศวร พระนารายณ์ เบญจกาย หนุมาน เจ๊กเข่งและนายปาด ก็ปรากฏตัวขึ้นมา เป็นเพื่อนหุ่นยายเงือก หรือที่โจหลุยส์เรียกว่า "แม่ย่า" ซึ่งเป็นหุ่นเพียงตัวเดียว ที่เขาวิ่งขึ้นไปช่วยชีวิต มาได้จากกองเพลิง
    ปัจจุบันคณะหุ่นละครเล็ก ของโจหลุยส์ที่ดำเนินงาน และแสดงโดยลูกหลานของเขา มีหุ่นอยู่ทั้งหมด ๑๔ ตัว ทั้งที่จริง ๆ แล้วคณะหุ่นต้องมีหุ่นอย่างน้อย ๕๐-๖๐ ตัว แต่ด้วยความที่เงินบริจาค มีจำนวนไม่มากนัก โจหลุยส์จึงจำเป็น ต้องเลือกสร้างเฉพาะตัวละครหลัก ๆ ที่มีบทบาทมาก ในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่หุ่นละครเล็ก ใช้เล่นเป็นหลักขึ้นมาก่อน
    เรื่องไฟไหม้หุ่น ของโจหลุยส์เมื่อปีที่แล้ว กับเรื่องที่นิ้วมือของเขาเกิดอาการเส้นยึด จนไม่สามารถใช้การได้ เมื่อประมาณปี ๒๕๓๓ รวมทั้งเรื่องที่ลูกชายคนแรก ต้องตายไปหลังจากที่เขา เริ่มสร้างหุ่นละครเล็กขึ้นเองเมื่อหลายสิบปีก่อน เรื่องราวทั้งหมดนี้ เหมือนกันตรงที่มันทำให้ใครหลายคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวเขาเอง อดนึกไปถึงคำแช่งของพ่อครูแกรไม่ได้
    ๑๔ ปีที่แล้ว โจหลุยส์เล่าให้ สารคดี ฟังว่า พ่อครูแกร ศัพทวนิช ผู้คิดประดิษฐ์ หุ่นละครเล็กขึ้นมานั้นหวงวิชามาก ก่อนตาย ท่านเอาหุ่นไปถ่วงน้ำทิ้ง เพื่อไม่ให้ใครสร้างเลียนแบบ "เวลาสร้างหุ่นจะปิดประตูลงกลอน ไม่ให้ใครเห็น และก็แช่งไว้ด้วยว่า หากใครจำแบบหุ่น ไปสร้างก็ขอให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา
    โจหลุยส์ไม่ได้ปักใจเชื่อเสียทีเดียว ว่าเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากคำสาปแช่ง ของพ่อครูแกร เพราะเขาได้จุดธูปบูชา ขออนุญาตท่านแล้ว อีกทั้งไม่ได้ทำหุ่นละเอียดครบครัน ตามอย่างพ่อครูแกร และที่สำคัญ เขาไม่ได้นำหุ่นละครเล็ก ไปในทางเสื่อมเสีย หากแต่ทำไปด้วยความรัก และเชิดชู
    ในช่วงหลัง ๆ ละครนาฏศิลป์ไม่ค่อย ได้เล่นตามงานทำบุญบ้าน หรืองานบวชนาคเหมือนเช่นเคย นอกจากเป็นเพราะ ไม่ค่อยมีคนจ้างไปเล่นแล้ว บางครั้งโจหลุยส์ก็ เป็นฝ่ายปฏิเสธเสียเอง บ่นว่าคนดู "ดูไม่เป็น" จึงไม่อยากเล่น ถ้าใครสนใจหุ่นละครเล็กจริง ก็ให้มาดูเองที่โรงละครแห่งนี้
    เขาหมายถึง "โจหลุยส์เธียเตอร์" ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๓ โดยมี พิสูตร ยังเขียวสด ลูกชายคนที่ ๕ เป็นผู้ดูแลกิจการ ส่วนสุรินทร์ ลูกชายคนที่ ๗ เป็นผู้ควบคุม ด้านการแสดงทั้งหมด เช่น บท ท่ารำ และการฝึกซ้อม
    ลูกทั้งเก้าคนของโจหลุยส์ เลือกที่จะมีชีวิตคลุกคลี อยู่กับนาฏศิลป์ และหุ่นละครเล็ก เหมือนผู้เป็นพ่อ และการเลือกของพวกเขา ก็มีผลต่อวิถีทางของ หุ่นละครเล็กอย่างน่าสนใจ
    สิ่งที่ลูก ๆ ของโจหลุยส์ ทำมีตั้งแต่การนำเทคนิคใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องแสง สี เข้ามาประกอบการแสดง ดำเนินการจดลิขสิทธิ์หุ่นละครเล็ก ติดต่อกับบริษัททัวร ์ให้บรรจุการแสดงหุ่นละครเล็ก ที่โจหลุยส์เธียเตอร์ไว้ในโปรแกรมทัวร์ ไปจนถึงความพยายาม ในการคิดกลไกหุ่นขึ้นใหม่ใ ห้ขยับเคลื่อนไหวได้มากกว่าเดิม (พิสูตรกำลังพยายามทำให้นิ้วทั้งห้าของหุ่นเคลื่อนไหวแยกจากกันได้อย่างอิสระเหมือนของคน โดยดัดแปลงจากกลไกของเครื่องร่อน)
    ความเปลี่ยนแปลงของตัวหุ่น ที่คนรุ่นลูกมีส่วนร่วมทำขึ้นมานั้น นอกจากจะใช้วัสดุที่ทันสมัยขึ้น เช่น ใช้ดวงตาตุ๊กตาสำเร็จรูป ติดแทนเศษแก้วจาก "ขวดน้ำมะเน็ด" ที่โจหลุยส์เคยใช้ หรือเอาแท่งอะลูมิเนียม ซ่อนเข้าไปข้างในเนื้อไม้ที่ใช้ทำหุ่น แต่พิสูตรบอกว่าด้านสีสัน ของเสื้อผ้าหุ่นนั้นมีแนวโน้มที่จะ "เปลี่ยนกลับไปหาของเก่า" เนื่องจากพวกเขา เห็นว่าคนโบราณ เลือกใช้สีสันได้วิจิตรพิสดารมาก
    แม้ว่าหนทางของหุ่นละครเล็ก จะดูค่อนข้างโลดโผน แต่ลูก ๆ ของโจหลุยส์ยังคงยืนยันว่า ในส่วนของการแสดง พวกเขาจะยึดแนวทางเดิม เอาไว้ทุกประการ พิสูตรบอกว่า "ผมเชื่อว่ามันดีอยู่แล้ว เราปรับปรุงใหม่ก็จริง แต่เรายังอยู่ในกรอบเดิม ไม่อยากฉีกออกไป จนไม่ใช่หุ่นละครเล็ก ของโบราณเขาทำไว้ดีมากแล้ว บท เนื้อร้อง ดีทุกอย่าง ถ้าเราใส่เรื่องของแสงสีลงไปมันจะครบ"
    แววตาที่บ่งบอก ถึงความหลงใหล ในศิลปะหุ่นละครเล็ก และมุ่งมั่นที่จะทำให้มัน ได้รับความนิยมในโลกสมัยใหม่ของลูก ๆ โจหลุยส์ รวมทั้งการเกิดขึ้นของ "โจหลุยส์เธียเตอร์" ซึ่งจัดแสดงหุ่นละครเล็กทุกวัน และอีกไม่นาน บริษัททัวร์ก็จะพานักท่องเที่ยว มาชมการเชิดหุ่น ชมซุ้มสาธิตการทำหัวโขน ปักเครื่องแต่งกายหุ่น ที่ทำโดยลูก ๆ หลาน ๆ ของโจหลุยส์ทั้งหมด คงพอจะตอบคำถามใน สารคดี เมื่อปี ๒๕๒๙ ได้บ้าง
    แต่ถึงวันนี้ก็อดไม่ได้ ที่จะต้องทิ้งคำถามนั้นไว้อีกครั้ง
    "ใครเล่า...จะให้คำตอบได้ว่า ชีวิตที่โลดแล่นร่ายรำ บนเวทีของหุ่นละครเล็กครั้งใหม่นี้ จะยืนยาวไปได้นานสักเท่าใด"

หมายเหตุ : โจหลุยส์เธียเตอร์ ซอยกรุงเทพฯ-นนท์ ๑๒ ถ. กรุงเทพฯ-นนทบุรี ต. บางเขน อ. เมือง จ. นนทบุรี โทรศัพท์ ๕๒๗-๗๗๓๗ เปิดการแสดงหุ่นละครเล็กทุกวัน เริ่มเวลา ๙.๓๐ น.


  ค้างคาวกิตติ (คลิกดูรายละเอียด)ลิงจ๊อบ (คลิกดูรายละเอียด)โจหลุยส์ยันตระอมโรภิกขุ (คลิกดูรายละเอียด)
เลียวนี่ เวชชาชีวะ (คลิกดูรายละเอียด)ศาสตราจารย์นายแพทย์สุดแสง วิเชียร (คลิกดูรายละเอียด)ตลาดหุ้น (คลิกดูรายละเอียด)
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน

สิทธิคนไทย กับการดูหนังเรื่อง Anna and the King
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ย้อนรอย ๑๕ ปี สารคดี | อาชญากรเด็ก ? เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว | กินอย่างคนภูเก็ต | ลาก่อน "พีนัตส์" | นักรบชายขอบ การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ชายแดนไทย-พม่า | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา
Soldiers at the Margins | Tracing Back 15 Years of Sarakadee
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail