Click here to visit the Website
ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก
หากคุณกำลังจะเป็นคุณแม่คนใหม่และคิดจะผ่าตัดคลอด เพื่อให้เด็กเกิดตรงกับฤกษ์งามยามดีที่หมอดูกำหนดไว้ หรือถูกแพทย์ระบุให้ผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ นอกจากคุณกำลังคิดผิดแล้ว คุณยังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงด้วย เพราะการผ่าตัดคลอดมีผลเสียหลายประการ และเป็นทางที่ไม่ควรเลือกหากไม่จำเป็นจริง ๆ
"การผ่าตัดคลอดมีผลเสียมากมายทั้งต่อแม่และเด็ก เนื่องจากการผ่าตัดคลอดอาจทำให้ผู้เป็นแม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ ติดเชื้อจากการผ่าตัด เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและระบบลำไส้ ส่วนผลเสียที่เกิดกับตัวเด็กคือ หากเป็นการผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด ก็เท่ากับทำให้เด็กต้องออกมาดูโลกทั้ง ๆ ที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ เด็กจึงมักมีปัญหาเรื่องระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายไม่สมบูรณ์ ที่พบบ่อยคือปัญหาตัวเหลืองซึ่งเกิดจากตับทำงานไม่เต็มที่ หรือปัญหาระบบทางเดินหายใจซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว ดังนั้นถ้าไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตแม่และทารกจริง ๆ แพทย์และผู้ตั้งครรภ์ไม่ควรเลือกใช้วิธีนี้เลย"
นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นักวิจัยโครงการเมธีวิจัยอาวุโส (โดยการสนับสนุนจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งติดตามผลกระทบจากการผ่าตัดคลอดมานานหลายปี กล่าวถึงปัญหาของการผ่าตัดคลอดให้ฟัง
ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าสมควรผ่าตัดคลอดก็คือ ทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ เช่น ทารกมีขนาดผิดสัดส่วนกับช่องเชิงกรานของแม่ หรือเด็กอยู่ในท่าผิดปรกติ เช่น หันก้นออก หรือนอนขวางท้อง ทำให้คลอดทางช่องคลอดไม่ได้ หรือแม่เป็นโรคแทรกซ้อนซึ่งถ้าปล่อยให้คลอดเองอาจเกิดอันตรายได้
นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยในโครงการเดียวกัน กล่าวถึงผลสืบเนื่องจากการผ่าตัดคลอดที่มีความสำคัญมากอีกประเด็นหนึ่ง คือ การผ่าตัดคลอดจะทำให้ทารกไม่ได้กินนมน้ำเหลืองซึ่งอุดมไปด้วยภูมิต้านทานโรค
"นมน้ำเหลืองจะมีเฉพาะ ๒๔ ชั่วโมงหลังคลอดเท่านั้น แต่แม่ที่ผ่าตัดคลอดจะเจ็บแผลบริเวณหน้าท้องมากจนไม่สามารถให้ลูกดูดนมจากอกได้ กว่าเด็กจะได้กินนมแม่ก็ต้องรออย่างน้อยสองสามวัน ซึ่งถึงเวลานั้นก็สายเกินไป แต่ถ้าคลอดตามธรรมชาติ แม่สามารถให้นมลูกได้ทันทีเพราะไม่มีบาดแผลบริเวณหน้าท้อง ทำให้ลูกผูกพันกับแม่ตั้งแต่ลืมตาดูโลก"
ข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งทำการสำรวจ "แบบแผนการคลอดบุตรในโรงพยาบาลปี ๒๕๓๓-๒๕๓๙" ระบุว่า อัตราการผ่าตัดคลอดบุตรในประเทศไทยอยู่ในระดับสูงเกินมาตรฐานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เห็นได้จากเมื่อปี ๒๕๓๓ มีอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรเพียง ๑๕.๒ เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี ๒๕๓๙ เพิ่มขึ้นเป็น ๒๒.๔ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอัตราการผ่าตัดคลอดของแต่ละประเทศไว้ว่าไม่ควรเกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์
การผ่าตัดคลอดนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อแม่และเด็กดังที่กล่าวมาแล้ว ยังทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและทรัพยากรทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น เนื่องจากการผ่าตัดคลอดมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลรัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนตกประมาณ ๓ หมื่น-๑ แสนบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในกรณีคลอดแบบธรรมดาจะพบว่าค่าใช้จ่ายแตกต่างกันอย่างลิบลับ กล่าวคือ ถ้าคลอดแบบธรรมดาในโรงพยาบาลรัฐเสียค่าใช้จ่ายเพียง ๓๐๐-๒,๐๐๐ บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนตกประมาณ ๒-๓ หมื่นบาท ประมาณกันว่าตัวเลขผ่าตัดคลอดในประเทศไทยที่สูงเกินจากเกณฑ์มาตรฐานกว่า ๗ เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินที่สูญเสียไปถึงปีละ ๖๖๖ ล้านบาทเลยทีเดียว
นพ. วิโรจน์กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้การผ่าตัดคลอดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามาจากสองปัจจัยใหญ่ ๆ คือ ปัจจัยจากตัวผู้ตั้งครรภ์และปัจจัยจากแพทย์ โดยปัจจัยจากแพทย์มีอิทธิพลมากที่สุด
"ทุกวันนี้ ผู้เป็นแม่หลายคนต้องการผ่าตัดคลอดเพื่อให้เด็กเกิดตรงตามฤกษ์ยามที่ต้องการ ซึ่งหากแพทย์มีจรรยาบรรณมากเพียงพอก็จะต้องชี้แจงผลดีผลเสียของการผ่าตัดให้คนไข้ฟัง และหากแพทย์เห็นว่าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องยืนยันว่าไม่ควรผ่า แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อคนไข้ต้องการผ่า หมอก็ยินดีผ่าให้ เพราะถ้าผ่าตัดคลอด แพทย์จะได้รับเงินมากกว่าการทำคลอดปรกติ และใช้เวลาน้อยกว่าการต้องเฝ้าและทำคลอดปรกติถึง ๑๐-๑๒ ชั่วโมง
"อีกปัจจัยหนึ่งมาจากตัวแพทย์ซึ่งต้องการบริหารเวลาการทำงานของตนเอง ต้นตอของปัญหาเรื่องนี้มาจากบริการฝากท้องแบบพิเศษตามโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งเปิดโอกาสให้คนไข้ฝากท้องกับหมอคนใดคนหนึ่งและจ่ายเงินให้แก่หมอเป็นพิเศษ เพื่อให้หมอเป็นผู้ดูแลตลอดการคลอด การฝากท้องแบบธรรมดานั้นเวลาคลอดอาจไม่มีหมออยู่ใกล้ แต่มีพยาบาลผดุงครรภ์คอยดูแลแทน คนไข้ที่ต้องการความมั่นใจในการคลอดจึงเลือกการฝากท้องแบบพิเศษ
"ปัญหาก็คือ แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้รักษาคนไข้ในโรงพยาบาลของรัฐเพียงแห่งเดียว แต่รักษาคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายคนพร้อม ๆ กัน ถ้าปล่อยให้คลอดตามธรรมชาติ คนไข้อาจคลอดพร้อมกันซึ่งแพทย์จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้นแพทย์ที่รับฝากท้องแบบพิเศษจึงมักกำหนดให้คนไข้ของตนผ่าตัดคลอด เพื่อบริหารเวลาของตนได้ลงตัว"
ด้วยเหตุนี้ อัตราการผ่าตัดคลอดของผู้ฝากครรภ์พิเศษในโรงพยาบาลของรัฐจึงสูงกว่าผู้ที่ฝากครรภ์แบบธรรมดาถึงหกเท่า และคิดเป็นจำนวน ๓๗ เปอร์เซ็นต์ของผู้ฝากพิเศษ นั่นหมายความว่า ในจำนวนคนที่ฝากท้องแบบพิเศษ ๑๐ คน จะมี ๓ คนที่ถูกกำหนดให้ผ่าตัดคลอด ส่วนในโรงพยาบาลเอกชนตัวเลขจะสูงขึ้นไปอีกเกือบหนึ่งเท่าตัว คือเท่ากับ ๕๑ เปอร์เซ็นต์ของผู้ฝากครรภ์ ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า โรงพยาบาลบางแห่งมีอัตราผ่าตัดคลอด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม นั่นหมายความว่า ผู้ฝากครรภ์กับโรงพยาบาลแห่งนั้นจะต้องผ่าตัดคลอดทุกคน
"หมอบางคนในโรงพยาบาลเอกชนระบุเลยว่า ถ้ามาฝากกับเขา คนไข้จะต้องใช้วิธีผ่าตัดคลอดเท่านั้น" นพ. วิโรจน์ให้ข้อมูล
อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการผ่าตัดคลอดในประเทศไทยจะสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกถึง ๗ เปอร์เซ็นต์ แต่ในประเทศไทยกลับยังไม่มีหน่วยงานใดวางแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ ผิดกับสหรัฐอเมริกาซึ่งหลังจากเผชิญกับปัญหาอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูงมากถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๒๓ ผสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ก็ได้วางนโยบายและแผนปฏิบัติไว้ชัดเจนว่า ในปี ๒๕๔๓ อัตราการผ่าตัดคลอดในอเมริกาจะต้องลดเหลือน้อยกว่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์ให้ได้
นพ. ยศเล่าถึงความตื่นตัวของหญิงอเมริกันในเรื่องนี้ว่า
"การรณรงค์ในอเมริกาได้ผลค่อนข้างดี เพราะประชาชนของเขาตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทุกวันนี้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะหาความรู้เรื่องการคลอดบุตรจากทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเว็บไซต์ให้คำปรึกษามากมาย สามารถตรวจสอบได้ว่าตัวเองมีความจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็น เธอก็สามารถหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ว่า มีโรงพยาบาลไหนบ้างที่ไม่บังคับให้คนไข้ผ่าตัดคลอด"
สำหรับประเทศไทย การรณรงค์เพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดยังไม่เกิดขึ้นและเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการผ่าตัดคลอดเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา "การแพทย์พาณิชย์" ซึ่งแพทย์และโรงพยาบาลได้รับผลประโยชน์เป็นเงินปีละมหาศาล จึงไม่มีหน่วยงานไหนกล้าลุกขึ้นมาแตะต้องปัญหานี้ แนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของการผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็น รวมทั้งแก้ความเชื่อที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการคลอดบุตรให้ถูกต้อง นพ. ยศกล่าวถึงความเชื่อของผู้ตั้งครรภ์จำนวนมากว่า
"เคยมีคนไข้ถามผมว่า ผ่าตัดกับคลอดเองอย่างไหนเจ็บกว่ากัน ผมก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า ถ้านอนให้คนเอามีดกรีดท้องกับเบ่งออกเองและมีแผลฉีกขาดตรงช่องคลอดนิดหน่อย อันไหนเจ็บกว่า คนไข้กลับตอบว่าผ่าตัดเจ็บน้อยกว่า เพราะเขาคิดว่าเวลาผ่าตัด หมอจะใช้ยาชาหรือยาสลบซึ่งเขาจะไม่รู้สึกเจ็บเลย แต่เขาไม่เคยคิดว่าการคลอดเองก็มีการให้ยาชาหรือบล็อกหลังไม่ให้เจ็บมากเหมือนกัน แถมพอคลอดเสร็จ วันรุ่งขึ้นก็กลับบ้านได้เลย"
นพ. วิโรจน์ ผู้ติดตามปัญหาการผ่าตัดคลอดมานานหลายปี เสนอแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างน่ารับฟังว่า
"ต้องแก้ที่ต้นตอคือรณรงค์ให้โรงพยาบาลชุมชนสร้างความมั่นใจในระบบการคลอดแบบธรรมชาติ ซึ่งมีพยาบาลผดุงครรภ์เป็นผู้ทำให้คลอดให้ เราต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่เทคโนโลยีการคลอดจะมาถึงเมืองไทย ประชาชนก็ใช้บริการทำคลอดของชุมชนมานานแล้ว และถ้าเราเชื่อว่าการคลอดคือกระบวนการตามธรรมชาติ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีผ่าตัดคลอดให้สิ้นเปลือง เพราะเทคโนโลยีนี้ควรใช้ก็ต่อเมื่อแม่และเด็กอยู่ในภาวะอันตราย ไม่ได้มีไว้ใช้พร่ำเพรื่อและเพิ่มภาระให้คนไข้จนเกินจำเป็นเหมือนทุกวันนี้"
สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม
สารบัญ
|
จากบรรณาธิการ
|
มองปราสาทหิน จากมุมสูง
|
เด็กเร่ร่อน เมืองเชียงใหม่ จากขุนเขา สู่บาทวิถี
|
เมื่อหมี เป็นผู้อุปถัมภ์ เอ็นจีโอ
|
รถไฟขบวนไม่สุดท้าย
|
ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก
|
จะ "อ่าน" วรรณกรรม ตามใจใครดี
|
ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน
|
โครงการท่อก๊าซ ไทย-พม่า กับคำเตือนที่เป็นจริง
|
จอห์นวู กับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจาก วัฒนธรรมการย้ายถิ่น ของชาวจีน
|
เปต-เปรต
|
เฮโลสาระพา
Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai
|
Sandstone Temples and Their Civilization
|
Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides
สำนักพิมพ์ สารคดี
|
สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ
|
วารสาร เมืองโบราณ
|
นิตยสาร สารคดี
[
วิริยะบุคส์
|
มีอะไรใหม่
|
เช่าสไลด์
|
๑๐๘ ซองคำถาม
|
สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ
|
WallPaper
]
E-mail