|
|
|
โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ |
|
เราควรจะอ่านหรือตีความวรรณกรรมตามใจใครดี ? ถ้าให้ตอบโดยไม่ต้องคิด คนส่วนมากคงจะตอบว่า "อ่านตามใจตัวเองนะสิ" แต่ถ้าไปถามนักเรียนส่วนใหญ่แล้วน่าจะตอบว่า "อ่านตามใจคุณครูครับ (ค่ะ)" แต่ถ้าไปถามสำนักพิมพ์บางแห่ง คำตอบอาจจะเป็น "อ่านตามใจตลาด" ส่วน บ.ก. คัดเรื่องสั้นตามนิตยสาร อาจจะตอบว่า "อ่านตามใจผู้อ่านนิตยสาร"
ในวงวิชาการวรรณกรรมศึกษา คำถามดังกล่าวถือเป็นคำถามสำคัญมีผลต่อการกำหนดทิศทางการศึกษาวรรณกรรม เพราะนัยยะของคำถามนี้คือการเปิดประเด็นเรื่องความหมายและการตีความวรรณกรรมว่าควรจะอิงอยู่กับอะไรเป็นสำคัญ ระหว่างผู้แต่ง ผู้อ่าน บริบททางสังคม หรือตัวบทวรรณกรรมเอง
อ่านตามใจผู้แต่ง
นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า เนื่องจากนักเขียนเป็นผู้สร้างงาน ดังนั้นเขา/เธอย่อมรู้ดีที่สุดว่าต้องการจะสื่อความหมายอะไร ดังนั้นความหมายวรรณกรรมและการตีความวรรณกรรมควรจะต้องยึดเอาเจตนาผู้แต่งเป็นตัวกำหนด ในปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวดูจะเสื่อมความน่าเชื่อถือไปมากด้วยเหตุผลหลายประการ
"การตีความตามเจตนาผู้แต่ง" นั้นมีปัญหาในเชิงปฏิบัติที่เห็นง่ายที่สุดคือ ในกรณีงานเขียนเก่าแก่ที่เรามีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนน้อยมาก หรือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าใครเป็นผู้เขียน อย่าว่าแต่เจตนาผู้เขียนเลย แม้แต่การจะสืบหาประวัติผู้เขียนยังนับว่ายาก ส่วนในกรณีที่เราสามารถสืบค้นหลักฐานแสดงเจตนาของผู้แต่งได้ (ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของจดหมาย บันทึกส่วนตัว บทสนทนา บทสัมภาษณ์ หรือบทความ) แต่เราไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าเจตนาดังกล่าวคือความตั้งใจขณะเขียน หรือหลังเขียนเมื่อผู้แต่งย้อนกลับไปอ่านงานของตนเอง
(ในกรณีหลังนักเขียนมีสถานะเป็นเพียงนักอ่านคนหนึ่งเท่านั้น) ยิ่งไปกว่านั้นผลงานที่ปรากฏกับสิ่งที่นักเขียนตั้งใจไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องสอดคล้องกัน
ที่สำคัญคืองานวรรณกรรมถือเป็นข้อเขียนสาธารณะ ความหมายของงานไม่ควรอย่างยิ่งที่จะถูกผูกขาดโดยเจตนาของผู้แต่ง ที่สำคัญกว่าคืองานวรรณกรรมเขียนขึ้นด้วยภาษาที่คนทั่วไปใช้ในการสื่อสาร ดังนั้นความหมายใดๆที่จะพึงมีจึงเป็นสิ่งที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้โดยศึกษาจากตัวงาน ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องนำเจตนาผู้เขียนมากำหนดและกำกับความหมาย
|
|
|
อ่านตามใจนึก
อย่างไรก็ตาม การไม่ยึดติดเจตนาผู้แต่ง มิได้หมายความว่าเราสามารถจะพูดอะไรก็ได้ตามใจนึกเกี่ยวกับงานวรรณกรรม อย่างไรก็ตามที่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้อ่านจำนวนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะนำประสบการณ์ส่วนตัวของตนเองมาผูกโยงกับวรรณกรรม เช่น เมื่ออ่านนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน แล้วคิดไปว่าตัวเองเป็นแม่พลอย เพราะตนเองมีสามีชื่อเปรมเหมือนกัน หรือบางคนชอบนวนิยายเรื่อง เจ้าชายน้อย เพราะเป็นหนังสือที่คนรักซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด หยิบขึ้นมาอ่านทีไร ก็จะนึกว่าเจ้าชายน้อยคือคนรักของตนเองทุกครั้งไป
การอ่านในลักษณะข้างต้นคือ
"การตีความตามเจตนาผู้อ่าน" หรือการตีความตามใจนึก แม้ว่าผู้อ่านจะมีสิทธิกระทำได้ แต่เขา/เธอพึงเก็บการตีความดังกล่าวไว้ในใจตนเองเท่านั้น เพราะหากนำมาเผยแพร่ หรือพูดให้คนใกล้ชิดฟัง ผู้ตีความหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอธิบายแจกแจง เพื่ออย่างน้อยที่สุดให้ผู้ฟังยอมรับได้ว่าการตีความดังกล่าวชอบด้วยเหตุและผล
ถ้าจะพูดกันอย่างถึงที่สุดแล้ว การตีความตามใจนึกใช่ว่าผู้อ่านจะตีความส่งเดชอย่างไรก็ได้ เพราะโดยพื้นฐานที่สุดผู้อ่านจะต้องอ่านวรรณกรรมชิ้นนั้นด้วยกรอบ กติกา และความหมายของภาษาที่ใช้เขียนงานชิ้นนั้น เป็นต้นว่าเมื่ออ่าน สี่แผ่นดิน ผู้อ่านจะต้องรู้ว่า "พลอย"
ในนวนิยายเล่มนี้คือชื่อตัวละครผู้หญิง มิใช่อัญมณีชนิดหนึ่ง
กรณีเดียวที่จะเป็นไปได้ในการตีความตามใจนึกชนิดพูดอะไรก็ได้ทั้งสิ้น คือผู้อ่านผู้นั้นเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออก หรือเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ไม่รู้จักภาษาโลก ซึ่งถ้าเป็นดังว่า วรรณกรรมชิ้นนั้นก็มีสถานะเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งเท่านั้น มิได้เป็นข้อเขียนที่ใช้สื่อสารผ่านภาษาอีกต่อไป
|
|
|
อ่านตามใจความ
การตีความวรรณกรรมที่พึงกระทำคือ "การตีความตามเจตนาของตัวบท" เนื่องจากตัวบทวรรณกรรมโดยตัวของมันเองสามารถจะสื่อความหมายได้ ทั้งนี้เพราะในด้านหนึ่งตัวบทวรรณกรรมคือรูปแบบการสื่อสารด้วยภาษาประเภทหนึ่ง ย่อมสามารถจะสื่อความหมายได้ด้วยตัวมันเอง เหมือนกับข้อความต่างๆที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน กล่าวคือหากผู้อ่านมีความสันทัดทางภาษา (language competence) เขาหรือเธอย่อมตีความข้อความ "วัตถุมีพิษ ห้ามรับประทาน" ที่ติดอยู่บนขวดดีดีทีได้ โดยไม่ต้องวิ่งไปถามผู้เขียนข้อความว่ามีเจตนาอะไร หรือไม่ควรอย่างยิ่งที่จะตีความตามใจนึกเอาเองว่าขวดดังกล่าวบรรจุน้ำยาแก้ไอ
อย่างไรก็ตาม ลำพังความสามารถทางภาษาแต่ประการเดียวยังไม่พอเพียงที่จะใช้ในการตีความตัวบทวรรณกรรมได้ เพราะในอีกด้านหนึ่งนั้น วรรณกรรมเป็นงานเขียนที่ใช้ภาษาพิเศษแตกต่างจากการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ดังนั้นนอกเหนือจากความสันทัดทางภาษาแล้ว ผู้อ่านยังต้องมีความสันทัดทางวรรณกรรม (literary competence) อีกโสดหนึ่งด้วย หากหลักไวยากรณ์ โครงสร้างประโยค และความหมายของคำ ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของภาษาได้ฉันใด ไวยากรณ์ โครงสร้าง องค์ประกอบทางวรรณศิลป์ ตลอดจนขนบหรือสัญนิยม (convention) ทางวรรณกรรม ก็ช่วยให้เราตีความตามเจตนาของตัวบทได้ฉันนั้น
อาทิ เมื่อกวีกล่าวว่า
"ถึงต้องง้าวหลาวแหลนสักแสนเล่ม
ให้ติดเต็มตัวฉุดพอหลุดถอน
แต่ต้องตาต้องใจอาลัยวรณ์
สุดจะถอนทิ้งขว้างเสียกลางคัน"
ผู้อ่านจะอ่านกลอนสี่วรรคนี้ตามความหมายตรงตัวของภาษาเพียงประการเดียวย่อมไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงร่างกายมนุษย์ไม่มีพื้นที่มากมายพอให้ง้าว หลาว แหลนนับแสนเล่มมาทิ่มแทงพร้อมกันได้ แต่เพราะเราตระหนักดีว่าบทกลอนดังกล่าวใช้โวหารที่เรียกว่าความเปรียบเกินจริง (hyperbole) เพื่อชมความงามของหญิงสาว โดยเปรียบเทียบว่าการจะถอนสายตาจากนางนั้นยากยิ่งกว่าการถอนศาสตราวุธนับแสนชิ้นออกจากร่าง จะเห็นว่าการตีความบทกลอนข้างต้นดังกล่าว ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องลงทุนไปสืบค้นเจตนาของสุนทรภู่ หรือคิดเอาเองตามใจนึกว่าบทกลอนต้องการจะสื่ออะไร
การตีความตามเจตนาของตัวบท คือการยอมรับว่าตัวบทวรรณกรรมมีศักยภาพที่จะสื่อความหมาย และศักยภาพดังกล่าวดำรงอยู่โดยอิสระนอกเหนือเจตจำนงของผู้แต่งหรือผู้อ่าน
อย่างไรก็ตาม ข้อควรคำนึงประการสำคัญคือ การตีความตามเจตนาตัวบทในงานวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง ๆ มิจำเป็นต้องได้ผลลัพธ์เพียงความหมายเดียวเสมอไป ตัวบทวรรณกรรมจำนวนมากมีความหมายกำกวมเอื้อให้สามารถตีความได้หลายนัย และมีจำนวนไม่น้อยที่ตัวบทวรรณกรรมจะท้าทาย ขัดขืน และตั้งคำถามกับการตีความของผู้อ่าน
|
|
|
อ่านตามใจชอบ
บ่อยครั้งเมื่อผู้อ่านเผชิญหน้ากับวรรณกรรมที่มีความหมายกำกวมและคลุมเครือไม่ชัดเจน กระบวนการตีความของผู้อ่านจะเป็นการโต้ตอบกันระหว่างศักยภาพของความหมายในตัวบทและความสันทัดทางวรรณกรรมของผู้อ่าน โดยผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะอ่านความหมายวรรณกรรมให้สอดคล้องกลมกลืนกับความชอบ ความเชื่อ และความคาดหวังของผู้อ่าน เราอาจจะเรียกการอ่านแบบนี้ว่าเป็นการอ่านตามใจชอบ หรือ "การตีความตามอัธยาศัย"
เพื่อสาธิตวิธีการอ่านและนัยยะของการตีความตามอัธยาศัย ผมใคร่ขออนุญาตเล่าถึงการทดลองที่ท่าพระจันทร์ เมื่อผมให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามตีความบทเปิดเรื่องของนวนิยายขนาดสั้นชื่อ เมตามอร์โฟซิส (การแปลงร่าง) เขียนโดย ฟรันซ์ คาฟก้า ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้
ในเช้าวันหนึ่ง เมื่อ เกรเกอร์ แซมซ่า ตื่นจากความฝันอันว้าวุ่นสับสน เขาพบว่าเขาได้กลายเป็นแมลงยักษ์อยู่บนเตียง เขานอนหงายโดยมีแผ่นหลังที่แข็งราวกับเกราะอยู่ด้านล่าง เมื่อผงกหัวขึ้นเล็กน้อย เขามองเห็นหน้าท้องโค้งนูนสีน้ำตาลเป็นปล้อง ๆ ตามแนวโค้งของซี่โครง ผ้าที่ห่มร่างโค้งนูนของเขาเลื่อนหลุดจากตัวเกือบจะทั้งผืน ส่วนขาอันมากมายที่เรียวเล็กอย่างน่าเวทนาเมื่อเทียบกับขนาดอันมหึมาของลำตัว กำลังดิ้นกระแด่วๆ อยู่เบื้องหน้าเขา
"ฉันเป็นอะไรไปเหรอนี่" เขาคิด นี่ไม่ใช่ความฝันแน่ ห้องของเขาซึ่งเหมือนห้องคนธรรมดาทั่วไป เสียแต่ออกจะเล็กไปสักหน่อย ดูเงียบสงบอยู่ภายในผนังทั้งสี่ด้านที่ดูคุ้นเคย บนโต๊ะมีตัวอย่างผ้าวางกระจัดกระจายอยู่ แซมซ่าเป็นพนักงานขายที่ต้องเดินทางเป็นประจำเหนือโต๊ะขึ้นไปมีภาพใส่กรอบสีทองงดงามแขวนอยู่ ภาพนี้เขาเพิ่งตัดมาจากนิตยสารอาบมัน เป็นรูปสุภาพสตรีสวมหมวกและผ้าคลุมไหล่ทำจากเฟอร์นั่งตัวตรง มีผ้าขนสัตว์อย่างหนาปิดหุ้มแขนทั้งแขน
(บทแปลเป็นสำนวนของผู้เขียนบทความ)
นักศึกษาเข้าใจตรงกันหมดว่า ตัวละครเอกแซมซ่าตื่นขึ้นมาและพบว่าตนเองได้กลายเป็นแมลงยักษ์ แต่ในขั้นตีความการแปลงร่างเป็นแมลงของแซมซ่า นักศึกษามีคำอธิบายแตกต่างกันอย่างน่าสนใจดังนี้
การตีความแบบที่ ๑ นักศึกษาบางส่วนชี้ว่า นวนิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ และการแปลงร่างเป็นแมลงของแซมซ่าน่าจะเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในโลกอนาคต โดยยกเหตุผลสนับสนุนว่ามีนวนิยายหลายเรื่องอาทิ The Fly จะนำเรื่องการแปลงร่างมาเป็นแกนเรื่อง
การตีความแบบที่ ๒
นักศึกษากลุ่มหนึ่งเห็นว่า การกลายเป็นแมลงของแซมซ่าน่าจะเป็นเพียงแค่ความฝันของเขา และแม้ว่าตัวบทจะบอกว่าทั้งหมดนี่ไม่ใช่ความฝัน
แต่ก็เป็นไปได้ว่าเรื่องจะคลี่คลายในเชิงหักมุมในท้ายที่สุดว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของความฝันซ้อนความฝัน ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณาจากการบรรยายที่เน้นรายละเอียดเชิงเหมือนจริงตามขนบนวนิยายแนวสัจนิยมแล้ว เป็นไปไม่ได้ว่า แซมซ่าจะกลายเป็นแมลงไปจริง ๆ
การตีความแบบที่ ๓ นักศึกษาบางคนชี้ว่า ทั้งหมดอาจจะเป็นสภาวะจิตหลอนชั่วคราวของแซมซ่า อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับคนเพิ่งตื่นนอน ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า แซมซ่าเป็นพนักงานขายของที่ต้องเดินทางเป็นประจำ ต้องนอนในที่แปลกถิ่นแปลกที่ตลอดเวลา แม้ว่าตามท้องเรื่องเหตุการณ์จะเกิดในห้องนอนของเขาเอง แต่โดยอาชีพแล้ว เขาน่าจะรู้สึก "ผิดที่" กับห้องนอนของเขาไม่น้อยไปกว่าห้องนอนในโรงแรม
การตีความแบบที่ ๔
นักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งเสนอว่า การกลายเป็นแมลงของแซมซ่าเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรู้สึกแปลกแยกของเขาที่มีต่อตัวเองและต่อผู้คนรอบข้าง การให้แซมซ่ากลายเป็นแมลงในห้องนอนที่ "ดูคุ้นเคย" เป็น irony ที่ช่วยตอกย้ำความรู้สึกแปลกแยกนี้มากยิ่งขึ้น นักศึกษาบางคนในกลุ่มนี้ยอมรับว่า การกลายเป็นแมลงของแซมซ่าคือสัญลักษณ์สื่อสภาวะทางจิตของแซมซ่า แต่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นสัญลักษณ์สื่อความรู้แปลกแยกของแซมซ่า เพราะเมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาที่เยือกเย็น ปราศจากความตระหนกตกใจหรือตื่นเต้นใด ๆ กับการกลายเป็นแมลงของแซมซ่าแล้ว เป็นไปได้มากว่า โดยลึก ๆ แล้ว
แซมซ่าต้องการและพอใจที่จะเป็นแมลง เพื่อหลีกหนีภาระหน้าที่การงานและชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายของเขา
การตีความแบบที่ ๕ นักศึกษาจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องราวเกี่ยวกับการแปลงร่างเป็นแนวคิดหลักแนวหนึ่งของโลกตะวันตก สามารถสืบย้อนไปไกลถึงยุคกรีก-โรมัน โดยเฉพาะในงานของ Ovid ที่มีชื่อเดียวกันกับนวนิยายเรื่องนี้ของคาฟก้า แต่ด้วยบทบรรยายที่เน้นรายละเอียดในเชิงเหมือนจริงตามขนบนวนิยายแนวสัจนิยม นวนิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นการหลีกล้อและเล่นกับขนบวรรณกรรมสองแบบ คือ ขนบตำนานปกรณัมและขนบวรรณกรรมสัจนิยม
ความน่าสนใจของการตีความทั้งห้าแบบดังที่สรุปมาข้างต้น มิได้อยู่ที่ว่าการตีความแบบใดลุ่มลึกหรือน่าเชื่อถือกว่ากัน แต่อยู่ที่ความพยายามของนักศึกษาในการระดมความสันทัดทางวรรณกรรมทั้งหมดที่พวกเขาร่ำเรียนฝึกปรือมาเพื่ออธิบาย "ความแปลก" ของตัวบทวรรณกรรมชิ้นนี้
การตีความแบบที่ ๑ นักศึกษาแปรการเป็นแมลงของแซมซ่าให้เป็นเรื่องแฟนตาซีในแนวนวนิยายวิทยาศาสตร์ เพราะขนบวรรณกรรมแนวนี้เปิดโอกาสให้มีสถานการณ์และเหตุการณ์ในท้องเรื่องที่ไม่ต้องอิงกับความเป็นจริงได้ แต่ใช้หลักความน่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์มาสร้างความสมจริงให้กับเรื่อง
ส่วนการตีความแบบที่ ๒ และแบบที่ ๓
นั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า
วรรณกรรมชิ้นนี้เป็นวรรณกรรมแนวสัจนิยม
ที่ถ่ายสะท้อนโลกของความเป็นจริง เมื่อในโลกของความเป็นจริงเท่าที่เรารับรู้ มนุษย์ไม่สามารถจะแปลงร่างเป็นแมลงได้ การตีความทั้งสองแนวนี้จึงต้องพยายามอธิบายเหตุการณ์แซมซากลายเป็นแมลงตามหลักความเหมือนจริง โดยในแบบที่ ๒ ตีความว่าทั้งหมดเป็นเพียงความฝันของตัวละคร ส่วนแบบที่ ๓ อาศัยคำอธิบายทางการแพทย์มาสร้างความเหมือนจริงให้แก่เหตุการณ์
การตีความแบบที่ ๔ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความรู้สึกแปลกแยก หรือความต้องการหลีกหนีความจริงของแซมซ่า เราเห็นได้ชัดเจนว่านักศึกษาทำให้ความแปลกของตัวบทกลายเป็นเรื่องปรกติ โดยนำหลักจิตวิทยามาใช้วิเคราะห์เหตุการณ์และพฤติกรรมตัวละคร
การตีความแบบที่ ๕ นักศึกษาไม่พยายามใช้หลักความเหมือนจริง หรือความเป็นจริงในชีวิตมาอธิบาย แต่นำเอาแนวคิดเรื่องสัมพันธบท (intertextuality) ที่มองว่าตัวบทวรรณกรรมคือการปะทะสังสรรค์ระหว่างตัวบทต่าง ๆ มาใช้ตีความ การกลายเป็นแมลงของแซมซ่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่ไม่อาจอธิบายได้ เพราะตัวบทชิ้นนี้กำลังสนทนากับตัวบทของ Ovid ในยุคคลาสสิก
แม้การตีความทั้งห้าแบบจะให้คำอธิบายที่แตกต่างกันไปคนละทิศคนละทาง โดยคำอธิบายทั้งหมดล้วนมีความน่าเชื่อถือและพอยอมรับได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ลักษณะร่วมกันของการตีความเหล่านี้คือกระบวนการที่เรียกกันในวงวิชาการว่า naturalization* อันได้แก่การที่ผู้อ่านพยายามทำให้ตัวบทวรรณกรรมดูเป็นธรรมชาติและสมจริง ("ความสมจริง" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง "ความเหมือนจริง" กบกลายเป็นเจ้าชายคือความสมจริงตามขนบวรรณกรรมแบบนิทาน) นั่นคือผู้อ่านจะพยายามใช้วิธีการต่าง ๆ นานาอันอาจจะเป็นไปได้มาใช้อ่าน อธิบาย และตีความ เพื่อทำให้งานวรรณกรรมที่ดูแปลกแยกเข้ามาอยู่ในกระบวนทัศน์ที่ตนเองคุ้นเคยให้ได้
แนวคิดเรื่องการทำตัวบทให้เป็นธรรมชาตินี้มิเพียงแต่จะช่วยอธิบายกระบวนการอ่านเท่านั้น แต่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับ "การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์" (metacriticism) ผมใช้คำคำนี้ในความหมายที่กว้างกว่าความหมายที่ใช้กันทั่วไปในบ้านเราว่า คือการที่นักวิจารณ์ออกมาโต้แย้งกัน2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาเพื่อเข้าใจว่าอะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้การวิจารณ์และการตีความหนึ่ง ๆ เป็นไปได้ และสามารถเป็นแนวทางเพื่ออธิบายว่า อะไรคือปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้สังคมยอมรับการวิจารณ์และการตีความบางชนิด
เพิกเฉยการวิจารณ์บางแนว และปฏิเสธการวิจารณ์และการตีความบางสำนัก
หากเราเชื่อว่า เราสามารถ "ดูสังคมจากวรรณคดีและดูวรรณคดีจากสังคม"
ดังที่นักวิจารณ์อย่าง บรรจง บรรเจอดศิลป์ ว่าไว้ ผมก็เชื่อเช่นกันว่า
เราสามารถจะดูสังคมจากวรรณกรรมวิจารณ์และดูวรรณกรรมวิจารณ์จากสังคมได้ด้วย
|
|
|
* Jonathan Culler
นักวิชาการแนวโครงสร้างนิยม
และสัญศาสตร์ เป็นผู้บัญญัติคำคำนี้
ผู้สนใจแนวคิดในเรื่องนี้
โดยละเอียดควรอ่าน Jonathan Culler,
Structuralist Poetics |