Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

เ ป ต - เ ป ร ต
ส. พลายน้อย
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ผลิตวิดีโอผีเปรตออกเผยแพร่ มิหนำซ้ำนิตยสารเล่มหนึ่ง ยังตีพิมพ์ภาพที่เชื่อว่าเป็นภาพผีเปรยขึ้นปก พร้อมคำโปรยว่า "ย้ำซ้ำ เปรตมีจริง อย่าซี้ซั้วนรกจะกินกบาล" ทำให้เรื่องผีเปรตกลายเป็นประเด็น ที่ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายเชื่อ ไม่เชื่อ และฝ่าย "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" แม้ในเวลาต่อมาจะได้มีการพิสูจน์แล้วว่า ภาพผีเปรตในวิดีโอเป็นภาพที่จัดฉากขึ้น แต่กองบรรณาธิการ สารคดี ยังเห็นว่าเรื่องผีเปรตเป็นเรื่องน่าสนใจในแง่ความเชื่อและตำนาน 

จึงขอให้ ส. พลายน้อย เขียนอธิบายขยายความ--เป็นความรู้ที่อ่านกันเพลิน ๆ มิได้มุ่งพิสูจน์ว่าเปรตมีจริงหรือไม่อย่างไร


 (คลิกดูภาพใหญ่)    
    ผมเห็นเปรตมาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก เมื่ออายุเจ็ดแปดขวบ เรียนหนังสือชั้นประถม ที่โรงเรียนประชาบาลวัดประดู่ทรงธรรม เคยตามพระไปที่วิหาร ซึ่งอยู่นอกเขตสังฆาวาสไปทางตะวันออก เป็นที่เงียบสงบ พระได้พาไปดูเปรตที่หลังพระประธาน เป็นภาพเปรตรูปร่างผอมโซ แสดงอาการว่าได้รับทุกข์ทรมานต่าง ๆ นานา
    เปตหรือเปรตตามความเข้าใจของคนทั่ว ๆ ไป มีรูปผอมสูง แลบลิ้นยาว จนเอามาเปรียบกับคนร่างผอมสูงว่า สูงเป็นเปรต ในกรุงเทพฯ มักอ้างเปรตวัดสุทัศนเทพวราราม ด้วยมีคำกล่าวกันว่า "แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ฯ" คำกล่าวนี้หมายความว่าแร้งกับเปรตมีมากที่สองวัดนี้ ความจริงทั้งแร้งทั้งเปรต น่าจะอยู่ที่วัดสระเกศแห่งเดียวกัน เพราะป่าช้าวัดสระเกศได้ชื่อว่ามีคนเอาศพไปทิ้งไว้มาก จนมีแร้งมาจับอยู่ตามต้นตาล ตามกำแพงวัดเพื่อรอกินซากศพ ส่วนวัดสุทัศน์ฯ ไม่มีป่าช้าก็ไม่น่าจะมีเปรตไปชุมนุม เป็นแต่เสียงคนพูดกันว่าเปรตวัดสุทัศน์ฯ ตัวสูงถึงเอามือจับยอดเสาชิงช้าได้
    ตามความเห็นส่วนตัว เข้าใจว่าจะเป็นการพูดเปรียบเทียบ เปรตวัดสุทัศน์ฯ คงจะหมายถึงพวกขอทาน คือบริเวณนั้นใกล้ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ มีผู้คนมาชุมนุมกันมาก พวกขอทานก็ต้องมีมากเป็นธรรมดา จำได้ว่ามีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่องหนึ่งตรัสเรียกพวกขอทานบริเวณสะพานหันว่า "เปรตสะพานหัน" ฉะนั้นเปรตวัดสุทัศน์ฯ ก็คงจะเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อมาเข้าคู่กับแร้งวัดสระเกศจึงมีคนพูดกันติดปากมากกว่าที่อื่น
    ทำไมจึงเรียกพวกขอทานเป็นเปรต เห็นได้ว่าใน ไตรภูมิกถา ได้เรียกตามลักษณะอาการที่พวกขอทานยกมือไหว้นั่นเอง คือพวกขอทานมีแบบแผนการไหว้ผิดกับคนธรรมดา จะยกมือทั้งสองขึ้นสูงเหนือหัว ซึ่งเรียกการไหว้แบบนี้ว่า ไหว้อย่างเปรต เด็กที่ไหว้อย่างนี้ถือว่าไม่งาม จะถูกผู้ใหญ่ดุว่าเป็นเปรตขอส่วนบุญ ขอให้สังเกตการไหว้ของเปรตในภาพจิตรกรรมดูเถิด
    เมื่อครั้งเป็นเด็กมีคนพูดถึงเปรตกันมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นรูปร่างเปรตที่มาสำแดงอาการให้เห็น เป็นแต่พูดเล่ากันหรือเอามาขู่เด็กที่โมโหร้ายใช้มือตีพ่อแม่ ว่าทำอย่างนั้นตายไปจะเป็นเปรต มือโตเท่าใบตาล ที่ว่าได้ยินเสียงร้องก็มี ครั้งหนึ่งตอนโพล้เพล้ผมกับพ่อยืนคุยกับเพื่อนของพ่ออยู่ที่ประตูรั้วหลังบ้าน ซึ่งมองเห็นป่าช้าวัดยม สักครู่หนึ่งเพื่อนของพ่อก็หันมาทางผมแล้วถามว่า "ไอ้หนูมีสตางค์แดงซักอันไหม" เมื่อผมล้วงกระเป๋าส่งให้ เพื่อนของพ่อก็กำไว้ในมือแล้วขว้างไปทางป่าช้าพร้อมกับพูดว่า "เขามาร้องขอส่วนบุญ ให้เขาไป"
      เชื่อกันว่าเปรตร้องกรี๊ด ๆ (หรือวี้ด ๆ แล้วแต่หูคน หรือตามอัธยาศัย) คนที่ร้องกรี๊ด ๆ จึงถูกว่าร้องเหมือนเปรต ที่แปลกก็คือ เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพื่อนของพ่อได้ยินเสียงเปรตร้องเพียงคนเดียว ผมกับพ่อไม่ได้ยิน
    ผู้ที่เคยเห็นเปรต และมีผู้จดบันทึกไว้ก็คือ พระสังกิจจคุณวัดตรีทศเทพ เคยเล่าถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ตามเรื่องว่า คราวหนึ่งเวลากลางคืน มีเสียงร้องดังอยู่สูง ๆ เสมอ คนข้างวัดและคนในวัดได้ยินด้วยกัน ฉะนั้นคืนหนึ่งพระสังกิจจคุณจึงชวนพระและคฤหัสถ์หลายคน ออกไปดูในบริเวณที่มีเสียงร้องนั้น ในชั้นต้นเสียงร้องดังอยู่สูง แล้วค่อย ๆ ต่ำลง ๆ จนเห็นเป็นคนยืนพิงต้นไม้อยู่ พระสังกิจจคุณหาว่าเป็นคนที่เคยอยู่ในวัดนั้น ชื่อคล้าย แต่ตายไปแล้ว เพราะลักไก่วัดกินเมื่อตายไปจึงเป็นเปรต
    มีคนถามว่านางนากพระโขนงไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมจึงเป็นเปรตได้ ผมก็ตอบว่าเพราะนางมีใจผูกพัน (นี่ว่าตามนิยาย) เช่นเดียวกับนางวันทองถูกประหารชีวิตแล้ว แต่ใจยังผูกพันอยู่กับลูก ก็ไม่ไปผุดไปเกิด

"จะกล่าวถึงวันทองที่ต้องโทษ
พระองค์ทรงโปรดให้เข่นฆ่า
เมื่อขาดใจอาลัยถึงลูกยา
เวราพาเป็นอสุรกาย"

    ครั้งหนึ่งพระไวยจะไปรบกับพวกมอญ เพราะได้ข่าวว่าขุนแผนถูกพวกมอญจับได้ นางวันทองเกรงว่าพระไวยจะเป็นอันตราย จึงแปลงเป็นสาววัย ๑๕ มาดักกลางทาง พระไวยไม่รู้ความจริงก็เข้าไปเกี้ยวพาราสี นางวันทองโกรธบอกให้รู้ว่าเป็นแม่ มาเตือนให้ระวังตัว

"ตัวเจ้าจะยกออกไปทัพ
น่าจะยับเยินย่อยถอยหนี
ศึกนี้หนักหนาสง่ามี
ไพรีเรี่ยวแรงจะรุกราน
รอรั้งระวังให้จงดี
จะเสียทีอย่าโหมเข้าหักหาญ
ว่าแล้วเผ่นโผนโจนทะยาน
เสียงสะท้านทั่วท้องพนาวัน
ศูนย์หายกลับกลายไปตามเพศ
เป็นเปรตสูงเยี่ยมเทียมสวรรค์
ไม่มีหัวตัวทะมื่นยืนยัน
เหียนหันหายวับไปกับตา"


 (คลิกดูภาพใหญ่)    
    ในภาษาไทยนิยมเรียก "เปรต" ตามภาษาสันสกฤต แต่ในตำราภาษาบาลีใช้คำว่า "เปต" เรื่องราวของเปรตเราได้รับมาจากอินเดีย มีความหมายถึงสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิพวกหนึ่ง หรือคนที่ตายไปแล้ว และมีที่อยู่เป็นสัดเป็นส่วน เพราะในตำนานกล่าวว่าที่ป่าหิมพานต์ มีเมืองชื่อวิชาตอยู่เหนือนรกขึ้นมา เมืองนี้เป็นที่อยู่แห่งเปรตทั้งหลาย แสดงว่า เปรตถูกแบ่งแยกออกจากผีธรรมดาทั่วไป มีเมืองอยู่โดยเฉพาะ มีเปรตชื่อมหิทธิกาเป็นอธิบดีปกครองเปรตทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนถึง ๑๒ พวกด้วยกัน และแต่ละพวกก็มีกรรม คือ การประพฤติการปฏิบัติอันมิชอบมิควรต่างกัน เมื่อตายจากมนุษย์ก็ถูกแยกประเภทให้ไปอยู่พวกนั้นพวกนี้ตามกรรมที่ทำไว้
เพื่อให้ทราบถึงลักษณะ และผลกรรมของเปรตแต่ละพวกว่าเป็นอย่างไร จะขอเก็บความจากเปตกถาในจารึกวัดพระเชตุพนฯ  และในเรื่องสัตว์นรก และเปรตวิสัยของพระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์) มาเล่าประกอบดังต่อไปนี้
    ๑. วันตาสาเปรต เป็นชื่อเปรตพวกหนึ่งที่มีร่างวิกล น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก เป็นเปรตที่มีอาการกระหายน้ำอยู่เป็นนิตย์ และแม้จะอยู่กับน้ำก็ไม่ได้กินน้ำนั้นตามปรารถนา กลับได้กินแต่เสมหะ เหงื่อไคล น้ำมูก น้ำลาย ของผู้อื่นเป็นอาหาร หรือของเหลือเดนที่คนอื่นสำรอกทิ้งไว้
    เหตุที่ต้องรับโทษกรรมดังนี้ ก็เพราะชาติก่อนที่เป็นมนุษย์ เป็นคนมักง่ายสกปรก เมื่อจัดหาอาหาร และน้ำถวายพระและพราหมณ์ผู้มีศีล ก็ล้วนแต่ของไม่สะอาดมีน้ำมูกน้ำลายปะปนระคนอยู่ หรือแม้แต่ถ่มเสลดน้ำลายลงในบริเวณพระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระพุทธปฏิมา ผู้ที่ทำอย่างนั้นตายไปย่อมไปเป็นวันตาสาเปรต
    ๒. กุณปขาทาเปรต เปรตพวกนี้กินซากศพเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นศพมนุษย์ ช้าง ม้า วัว ควาย และสุนัข เปรตเหล่านี้กินหมดทั้งนั้น แต่ก็ใช่ว่าจะมีให้กินตลอดเวลา บางครั้งก็ได้กิน บางครั้งก็ไม่ได้กิน
    เหตุที่ต้องมาเป็นเปรตพวกนี้ ก็เนื่องจากเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มีนิสัยชอบแกล้งพระและพราหมณ์ผู้มีศีล ให้ฉันอาหารอันไม่สมควรฉัน เช่นเนื้อสัตว์ที่ต้องห้าม ได้แก่ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว ผู้ใดแกล้งบังคับให้พระฉันเนื้อสัตว์เหล่านี้ เมื่อตายไปก็เป็นเปรต
    ๓. คูถขาฑาเปรต เป็นเปรตที่กินอุจจาระและปัสสาวะ หรือน้ำที่เจือปนด้วยสิ่งสกปรก เช่น น้ำครำ น้ำโคลน
    ที่ต้องรับกรรมเช่นนี้ เพราะเมื่อเป็นมนุษย์ชอบแกล้งหรือบังคับให้พระบริโภคโภชนาหารที่เจือปนด้วยอุจจาระ ปัสสาวะ ของช้าง ม้า วัว ควาย
    ๔. อัคคีชาลมุขเปรต เป็นเปรตที่อยู่ที่ไหนก็แลเห็น เพราะมีเปลวเพลิงพลุ่งออกจากปากทั้งกลางวันกลางคืน มีแสงสว่างออกไปไกลถึง ๑ โยชน์ เป็นเปรตที่มีพลังงานความร้อนและแสงสว่าง จึงต้องรับทุกข์เวทนาร้อนปากอยู่ตลอดเวลา
    เปรตพวกนี้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์แกล้งบังคับให้พระบริโภคอาหารที่ร้อนเพื่อจะได้หัวเราะเล่นเป็นของสนุก จึงได้รับทุกข์ดังกล่าว
    ๕. สูจิมุขเปรต เป็นเปรตรูปประหลาด ท้องใหญ่ คอยาว ช่องปากเท่ารูเข็ม จะกินอะไรก็ไม่ได้ ต้องอาศัยช่องหูแทน ฉะนั้นเรื่องรสอาหารไม่ต้องพูดถึง และมีอาการระโหยหิวอยู่ตลอดเวลา
    ที่ต้องรับทุกข์เช่นนี้ก็เพราะเคยเป็นเศรษฐี แต่ไม่เคยทำบุญทำทานถวายอาหารบิณฑบาต บริจาคโภชนาหารแก่ผู้ขัดสนอดอยาก ตัวเองไม่ทำแล้วยังยุให้คนอื่นไม่ทำตามด้วย
      ๖. ตัณหิกาเปรต เป็นเปรตที่มีความกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีโอกาสได้กิน เมื่อไปถึงสระน้ำหรือแม่น้ำซึ่งตามปรกติก็มีน้ำบริบูรณ์ พอเปรตนั้นจะกินก็กลับกลายเป็นน้ำเลือด น้ำหนอง น้ำอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นกองแกลบ ก็อดกิน
    ทั้งนี้ก็เพราะในชาติก่อนเป็นคนรักษาบ่อน้ำ สระน้ำ แต่หวงน้ำไว้ไม่ให้พระสมณพราหมณ์ผู้มีศีลได้ฉันได้บริโภค มนุษย์และสัตว์ก็ห้ามไม่ให้เข้าไปดื่มกิน บาปกรรมจึงเป็นเช่นนี้
    ๗. สนิชฌามกาเปรต มีรูปร่างน่าเกลียด เปลือยกายผอมเห็นกระดูกซี่โครง มีกลิ่นเหม็น มือ และเท้าหงิก มีเขี้ยวงอกออกมาจากปาก ตาทั้งสองข้างถลนออกมาดังตาปู มีความอยากข้าวและอยากน้ำอยู่เป็นนิตย์ แต่ได้กินเพียงขนสัตว์และเล็บสัตว์เท่านั้น
    เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ไม่มีความเลื่อมใสในพระศาสนา เป็นคนใจบาป ขณะที่พระสมณพราหมณ์ผู้มีศีล และพระพุทธเจ้ากำลังมีโรคาพาธได้รับความลำบากเวทนาอยู่นั้น คนพวกนี้กลับพากันหัวเราะเยาะเย้ยหยัน ทำท่าทางหลอกล้อ กล่าววาจาขู่ตะคอก ผลกรรมจึงทำให้มาเป็นเปรตพวกนี้
    ๘. สัตถังคาเปรต พวกนี้มีเล็บมือ เล็บเท้ายาวคมดังอาวุธ บางพวกมีเล็บมือ เล็บเท้าคล้ายเบ็ด เมื่อมีความหิวกระหายเกิดขึ้นก็ใช้เล็บมือเล็บเท้าตะกุยร่างกาย แคะควักเอาเนื้อและเลือดของตนกินเป็นอาหาร
    เวรกรรมอันนี้เนื่องจากเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เป็นคนดุร้าย ชอบหยิกข่วนคนทั้งหลายด้วยเล็บ บางทีก็เฆี่ยนตีคนอื่นด้วยหวายทำให้เกิดแผลมีเลือดไหลไปทั้งตัว
    ๙. ปัพพตังคาเปรต มีร่างกายดุจภูเขาที่ไฟไหม้อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน หาความสุขมิได้
    เหตุด้วยเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เป็นคนชอบเผาบ้านเรือน เผาเมือง เผาวิหารที่อยู่ของพระและผู้มีศีลทั้งหลาย
    ๑๐. อชครังคาเปรต มีร่างกายคล้ายงูเหลือมที่ถูกไฟเผาอยู่ บางทีไฟเกิดขึ้นแต่หัวไปถึงปลายหาง บางครั้งไฟก็เกิดแต่ปลายหางขึ้นมาถึงหัว บางครั้งไฟก็เกิดแต่หัวและปลายหาง แล้วลามเข้ามาบรรจบกันที่กลางตัว เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดกาล
    เหตุด้วยครั้งเป็นมนุษย์ ชอบทำรูปงูเหลือมหลอกคนให้ตกใจ หรือทำเป็นรูปสัตว์ร้ายต่าง ๆ ให้คนหนีละทิ้งบ้านเรือนไป แล้วขึ้นเก็บทรัพย์สินเงินทอง เผาบ้านเรือน
    ๑๑. เวมานิกะเปรต พวกนี้มีวิมานอยู่ แต่มีความสุขเป็นบางครั้งบางคราว บางทีกลางวันอยู่ในวิมาน ส่วนกลางคืนไปรับทุกขเวทนาในที่ของเปรต บางทีมีความสุขอยู่ในวิมานครึ่งเดือน อยู่ในที่ของเปรตครึ่งเดือน
    เหตุด้วยเมื่อเป็นมนุษย์ มีใจศรัทธาทำบุญบริจาคทาน แต่ก็ยังไม่ละความชั่ว ยังประพฤติทุจริตคิดมิชอบอยู่เนือง ๆ
    ๑๒. มหิทธิกาเปรต เป็นพวกที่มีรูปร่างงดงาม เป็นใหญ่กว่าเปรตทั้งหลาย ๑๑ พวกที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ดูตามสภาพแล้วเหมือนมีโภคสมบัติบริบูรณ์ แต่ความจริงมีความอดอยากโหยหิว บางครั้งแสวงหาอาหารมาได้ ครั้นจะบริโภคอาหารนั้นกลับกลายเป็นสิ่งบูดเน่า เป็นอุจจาระ ปัสสาวะ เมื่อมีความหิวก็จำต้องบริโภค
    เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเคยเกิดเป็นกษัตริย์ เป็นมเหสี เป็นมุขมนตรี เป็นพราหมณมหาศาล เป็นเศรษฐีใหญ่ เป็นภิกษุสามเณรที่เคยตั้งตนเป็นหัวหน้าชักชวนคนให้สร้างวิหาร กุฎี อุทิศถวายต่อสงฆ์ แล้วมอบช้าง ม้า วัว ควาย ข้าทาสให้อยู่ดูแลรักษาอาราม แล้วต่อมาภายหลังกลับนำเอาของสงฆ์เหล่านั้นมาใช้สอยเสียเองบ้าง ให้คนอื่นบ้าง
     
   
เปรตดังกล่าวมานั้นเรียกว่าเปรตมีนาย มีหัวหน้าควบคุมให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ส่วนเปรตไม่มีนาย คือพวกที่มีอกุศลกรรมน้อย พวกนี้จะไปเที่ยวที่ใดก็ได้ตามอัธยาศัย มีตัวอย่างเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ต้องเป็นเปรตได้รับทุกข์ทรมานมาช้านานหลายกัลป์ จนถึงสมัยพระโคดมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ และญาติคนหนึ่งของเปรตเหล่านั้นได้มาบังเกิดเป็นกษัตริย์ มีพระนามว่า พระเจ้าพิมพิสาร
   
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกมายังเมืองราชคฤห์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ที่เป็นบริวาร ได้ตรัสเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร  และในครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายมหาทานแด่พระพุทธองค์ และพระสงฆ์ บรรดาเปรตที่เป็นญาติก็พากันมาเพื่อจะรับส่วนบุญ แต่ในเวลานั้นพระเจ้าพิมพิสาร กำลังทรงตรึกตรองถึงการที่จะสร้างมหาวิหาร ถวายพระพุทธเจ้า จึงมิได้ทรงอุทิศแผ่ส่วนกุศล ในการถวายมหาทานนั้นแก่ผู้ใด เมื่อเปรตมิได้รับส่วนบุญตามที่ตั้งใจไว้ ตกกลางคืนก็พากันส่งเสียงร้องครวญคราง ดังเข้าไปถึงภายในพระราชนิเวศน์
   
พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับเสียงกรี๊ด หวีดหวิวของพวกเปรตก็ตกพระทัยว่า จะมีเหตุอันใดเกิดขึ้นแก่พระองค์ ครั้นรุ่งเช้าจึงเสด็จไปเฝ้าทูลถามพระศาสดาว่า เสียงที่เกิดขึ้นนั้นจะมีผลประการใด พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงเหตุให้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประธาน ในโอกาสนั้นได้ทรงบันดาลด้วยพุทธานุภาพให้เปรตทั้งหลายที่มาชุมนุม ให้ปรากฏตัวแก่พระเนตรพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงถวายน้ำทักษิโณทก อุทิศส่วนบุญแก่เปรตที่เป็นญาติ ในขณะนั้น สระโบกขรณีที่มีน้ำเย็นใสก็ปรากฏแก่เปรตเหล่านั้น ได้อาบกินมีความสดชื่น ร่างกายที่ผ่ายผอมไม่ผ่องใส ก็กลับงามบริสุทธิ์ดังสีทอง พ้นจากทุกข์ไม่เป็นเปรตอีกต่อไป
   
ถ้าพิจารณาตามตำนานพระพุทธศาสนาจะพบว่าเปรตมีอยู่สองแห่ง คือ ที่อรัญประเทศเหนือป่าหิมพานต์ ชื่อวัชฌาตะนคร หรือที่ในบางแห่งเรียกว่า วิชาต อยู่เหนือนรกขึ้นมา ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นแห่งหนึ่ง กับบริเวณรอบเมืองราชคฤห์ดังปรากฏใน ไตรภูมิพระร่วง ตอนหนึ่งว่า "ภายนอกเมืองราชคฤห์นั้น มีถิ่นฐานบ้านเมืองฝูงเปรตอยู่แห่งนั้นเรียกว่า เปรตยมโลกย์ แลมีฝูงเปรตอยู่มากมายนักหนา และเปรตลางจำพวกอยู่ในกลางสมุทร เปรตลางจำพวกอยู่เหนือเขา เปรตลางจำพวกอยู่กลางเขา"
   
แม้ในคัมภีร์ต่าง ๆ ก็ได้กล่าวไว้ว่า ในแว่นแคว้นกรุงราชคฤห์นั้น มียักษ์และปิศาจเปรตอสุรกายมาก เช่นในคัมภีร์พระธรรมบท และในวินีตวัตถุแห่งจตุตถปาราชิก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ว่า พระมหาโมคคัลลาน์ และพระลักขณะเถระอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ เพลาเช้าถือบาตรลงจากเขาเพื่อจะเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระโมคคัลลาน์ได้เห็นเปรตมีรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ มีเปรตงูเหลือม และเปรต กา เป็นต้น 
      ในคัมภีร์ ไตรโลกวินิจฉัย กล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารเสด็จออกไปทอดพระเนตรภายนอกพระนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นนักโทษที่ถูกเสียบไว้ทั้งเป็น ก็ทรงสังเวชในพระทัย เมื่อนักโทษแลเห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล ก็ร้องทูลขอรับพระราชทานพระกระยาหารที่จะเสวยในวันนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงรับว่าจะให้คนนำมาพระราชทาน แล้วก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร
   
ครั้นถึงเพลาเย็นเสด็จเข้าสู่ที่เสวย ทรงระลึกถึงคำที่ทรงรับไว้กับนักโทษขึ้นมาได้ จึงมีพระราชโองการให้หาคนกล้ามานำเครื่องเสวยออกไปพระราชทานแก่นักโทษ ปรากฏว่าหาคนกล้าไม่ได้ ที่ต้องหาคนกล้าก็เพราะเมืองราชคฤห์มีผีร้าย มีพวกเปรตล้อมอยู่โดยรอบ เมื่อถึงเวลาโพล้เพล้สิ้นแสงตะวันแล้ว ลำพังคนสองคนก็ไม่มีใครกล้าโผล่ออกนอกกำแพงเมือง เรียกว่าคนเมืองราชคฤห์กลัวผีกันทั้งนั้น
   
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าพิมพิสารก็ต้องทรงหาคนนำพระกระยาหารไปให้นักโทษให้จงได้ ในที่สุดมีรับสั่งให้ตีกลองร้องป่าวแก่ชาวราชคฤห์ว่า ถ้าผู้ใดอาสานำเครื่องเสวยออกไปให้นักโทษได้ในค่ำวันนี้ ก็ให้ผู้นั้นมารับเงินรางวัลพันตำลึงได้ทันที ในที่สุดภรรยาเศรษฐีคนหนึ่งรับอาสาไปทำได้สำเร็จ
   
เรื่องนี้แสดงว่าคนเมืองราชคฤห์กลัวเปรตกันมาก ส่วนเมืองไทยไม่ว่ายุคใดสมัยใด ยังไม่เคยมีเรื่องเปรตทำให้คนหวาดกลัว และเห็นจะเป็นเพราะไม่มีเปรตให้เห็นนั่นเอง จึงมีคนทำเป็นเปรตขึ้นแทน แต่ก็ไม่เหมือนเปรตในตำนานที่กล่าวมาข้างต้น คนปัจจุบันถึงจะมีความรู้สูง หากยังมีความกลัวอยู่ก็หลงเชื่อ มีกลอนบทหนึ่งแต่งไว้เตือนสติว่า "ผีหลอกคนช่างผีตามทีมัน คนเหมือนกันหลอกกันเองน่าเกรงกลัว" คนในที่นึ้รวมถึงพระด้วย พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) ได้กล่าวเตือนพระไว้ว่า
   
"ผีที่ไหนเคยหลอกพระ มีแต่พระนั่นแหละหลอกผี และตั้งกระบวนการหลอกผีเป็นการใหญ่เสียด้วย คิดดูให้ดีนะ วัตถุสิ่งของที่ชาวบ้านเขาเอามาบริจาคทำบุญนั้น แทบทั้งหมดล้วนทำเพื่ออุทิศส่งไปให้ผีทั้งนั้น ผีพ่อแม่ปู่ย่าตายายพี่น้องเขา แล้วพระเราเล่าประพฤติตนเหมาะสมแล้วหรือ มีคุณธรรมอะไรบ้างที่จะส่งผลให้ถึงผีได้...ระวังอย่ามาเป็นพระหลอกผี"
 
สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?

เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | มองปราสาทหิน จากมุมสูง | เด็กเร่ร่อน เมืองเชียงใหม่ จากขุนเขา สู่บาทวิถี | เมื่อหมี เป็นผู้อุปถัมภ์ เอ็นจีโอ | รถไฟขบวนไม่สุดท้าย | ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก | จะ "อ่าน" วรรณกรรม ตามใจใครดี | ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน | โครงการท่อก๊าซ ไทย-พม่า กับคำเตือนที่เป็นจริง | จอห์นวู กับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจาก วัฒนธรรมการย้ายถิ่น ของชาวจีน | เปต-เปรต |เฮโลสาระพา

Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai | Sandstone Temples and Their Civilization  | Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail