Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

จ า ก บ ร ร ณ า ธิ ก า ร
   ผมเป็นคนชอบดื่มน้ำตาลสด ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลสดจากต้นตาลหรือต้นมะพร้าว

    ไปเที่ยวที่ไหนต้องหาชิมเสมอ เพราะชื่นชอบกลิ่นหอมของควันที่เจืออยู่ในน้ำตาล ซึ่งมีเสน่ห์ยิ่งกว่าความหวานของน้ำตาลเสียอีก 
เมื่อต้นหน้าฝนผมมีโอกาสไปเที่ยวแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดที่มีคูคลองมากถึง ๓๐๐ แห่ง ชาวบ้านประกอบอาชีพตามลักษณะของน้ำ คือ หากพื้นที่เพาะปลูกเป็นน้ำจืด จะทำสวนผลไม้ ถ้าพื้นที่เป็นน้ำกร่อยจะทำสวนมะพร้าว และพื้นที่เป็นน้ำเค็มจะเผาถ่านและทำนากุ้ง 
    สมุทรสงครามมีสวนมะพร้าวมาก จึงเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลสดและน้ำตาลปี๊บที่สำคัญของภาคกลาง
    ชาวสวนเล่าให้ฟังว่า เขากลัวว่าในอนาคตสวนมะพร้าวของพวกเขาจะยืนต้นตาย เพราะน้ำในสวนกำลังจะเน่า
    น้ำที่กำลังจะเน่ามีสาเหตุที่น่าสนใจยิ่ง เพราะผู้ร้ายไม่ใช่โรงงานริมน้ำแม่กลองอย่างเคย
เมื่อประมาณปี ๒๕๒๐ เขื่อนศรีนครินทร์ที่เพิ่งสร้างเสร็จเริ่มกักเก็กน้ำเหนือเขื่อนซึ่งต้องใช้เวลา สองสามปี ทำให้แทบจะไม่มีน้ำใต้เขื่อนไหลลงมาดันน้ำเค็มจากทะเลที่ไหลเข้า
    ท่วมเรือกสวนไร่นาบริเวณสองฟากฝั่งแม่กลอง จนทำให้เกิดสภาวะดินเค็มขึ้นในจังหวัดสมุทรสงคราม ชาวสวนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ต้นมะพร้าวยืนตายหลายพันไร่ ส่วนมะพร้าวที่รอดตาย เจ้าของเล่าว่า
    "มะพร้าวลูกเล็กลงจนแทบจะเข้ากระต่ายขูดมะพร้าวไม่ได้ น้ำตาลมะพร้าวกว่าจะรอน้ำตาลสดมาเคี่ยวกระทะหนึ่งต้องขึ้นต้นมะพร้าวถึง ๑๕๐ ต้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ขึ้นเพียง ๕๐ ต้น บางกระบอกรองทั้งคืนได้น้ำตาลใสไม่ถึงครึ่งกระบอก ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ล้นกระบอกแล้ว"
    ชาวบ้านได้ร้องเรียนต่อทางการจนกระทั่งทางการคิดสร้างคันกั้นน้ำเค็มขึ้น ไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาทำลายพืชผักสวนผลไม้ของราษฎร
    แต่หลายปีต่อมา เมื่อเขื่อนศรีนครินทร์กักน้ำได้ตามระดับที่ต้องการแล้ว ก็ปล่อยน้ำลงมาด้านใต้เป็นปรกติ นับจากนั้นน้ำเค็มก็ไม่ได้ท่วมเรือกสวนของชาวบ้านอีก เพราะมีน้ำเหนือไหลมาดันตามธรรมชาติ ชาวบ้านจึงไม่ต้องการคันกั้นน้ำเค็มอีกต่อไป
โครงการสร้างคันกั้นน้ำเค็มที่เริ่มมาได้ไม่นานและกำลังเผชิญปัญหาราคาที่ดินแพง งบประมาณไม่พอ จึงหยุดตัวเองไปโดยปริยาย

ฉบับหน้า : ๑๐ ปี สืบ นาคะเสถียร (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
๑๐ ปี สืบ นาคะเสถียร
    เวลาผ่านไป ๑๐ ปี ชาวสวนตำบลลาดใหญ่ก็ต้องประหลาดใจ ที่เมื่อปีที่แล้วอยู่ดี ๆ กรมชลประทานก็เริ่มเอารถแทร็กเตอร์มาขุดดินและเริ่มโครงการสร้างคันกั้นคลองสุนัขหอน ที่เชื่อมต่อแม่น้ำแม่กลอง โดยอ้างว่าเป็นการกั้นไม่ให้น้ำเค็มทะลักเข้ามาท่วมเรือกสวนของชาวบ้าน
    ชาวสวนบอกว่าทุกวันนี้เขาอยู่สุขสบายดีแล้ว ไม่ต้องการคันกั้นน้ำ เพราะมีน้ำเหนือไหลมาดันน้ำเค็มแล้ว และโดยธรรมชาติของมะพร้าวก็เป็นต้นไม้ที่ชอบทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม 
    แต่หากมีการสร้างคันกั้นทางเดินของน้ำตามคลองและท้องร่อง ปัญหาที่ตามมาคือ น้ำในคูจะไม่มีการระบาย กลายเป็นน้ำเน่า ทำให้ต้นมะพร้าวยืนตายอีก
    ชาวบ้านไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า ก็ในเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ทำไมทางการจึงอยากสร้างคันกั้นน้ำเค็มอีก
    ชาวบ้านบอกว่า กรมชลประทานไม่เคยถามความต้องการของชาวบ้านสักคำเดียวว่า ยังต้องการคันกั้นน้ำเค็มอยู่หรือไม่ 
    ไม่เคยศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลยว่า คันกั้นน้ำเค็มจะทำให้น้ำในคูคลองต่าง ๆ หยุดไหลเวียน เป็นเหตุให้น้ำเน่า 
    ไปถามทางนายช่างใหญ่ที่คุมการก่อสร้าง เขาก็บอกเพียงว่าเป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำกันมานานแล้ว เมื่อได้งบประมาณมาก็ต้องทำต่อไปให้เสร็จ 
    ถามต่อไปว่า หากคันกั้นน้ำไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านจริง จะยกเลิกได้หรือไม่ 
    คำตอบคือ ไม่ได้ บริษัทรับเหมาก่อสร้างอาจจะปรับทางการได้ เพราะผิดสัญญา
    เป็นน้ำเน่าเรื่องจริงที่เน่ากว่านิยายน้ำเน่า 
    ทุกวันนี้การก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มยังดำเนินต่อไป สวนมะพร้าวแถวนั้นกำลังจะยืนต้นตายอีกครั้งหนึ่ง และเงินภาษีของประเทศ ๒๐๐ ล้านบาทกำลังถูกละลายลงแม่น้ำกลอง
    น้ำตาลสดแห่งสมุทรสงครามดูจะไม่หอมหวานอีกต่อไป
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?

เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | มองปราสาทหิน จากมุมสูง | เด็กเร่ร่อน เมืองเชียงใหม่ จากขุนเขา สู่บาทวิถี | เมื่อหมี เป็นผู้อุปถัมภ์ เอ็นจีโอ | รถไฟขบวนไม่สุดท้าย | ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก | จะ "อ่าน" วรรณกรรม ตามใจใครดี | ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน | โครงการท่อก๊าซ ไทย-พม่า กับคำเตือนที่เป็นจริง | จอห์นวู กับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจาก วัฒนธรรมการย้ายถิ่น ของชาวจีน | เปต-เปรต |เฮโลสาระพา

Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai | Sandstone Temples and Their Civilization  | Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail