|
|
จากขุนเขาสู่บาทวิถี |
เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ชัยชนะ จารุวรรณากร |
เชียงใหม่ ปลายปี ๒๕๔๒
อากาศกลางดึกเย็นยะเยือกจนร่างสั่นสะท้าน
ผู้คนส่วนใหญ่ซุกกายหลับใหลอยู่ในผ้าห่มผืนใหญ่
ใต้หลังคาบ้านอันอบอุ่น ...มันเป็นเวลาของการพักผ่อน เพื่อที่จะตื่นขึ้นมาทำหน้าที่การงานต่อไป
และสำหรับเด็ก ๆ แล้ว มันคือช่วงเวลาแห่งนิทรารมณ์ เฝ้าฝันถึงเจ้าชาย เจ้าหญิง และการผจญภัยในสวนสวย เป็นเรื่องแสนสนุกที่จะเก็บเอาไปเล่าให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนฟังในวันรุ่งขึ้น
ในเวลาเดียวกันนี้ เด็กหญิงคนหนึ่งกับเพื่อน ๆ ยังคงเดินเข้าออกร้านอาหาร คลับ บาร์ หรือไม่ก็เดินอยู่ตามท้องถนน เสนอขายสินค้าในมือ
|
|
|
"พัวมาลัยสิบะคะ ช่วยซื้อขอหนูหน่อยนะคะ"
แม้สำเนียงออกจะแปร่ง ถ้อยคำไม่ชัดเจน แต่คนในเชียงใหม่ก็เข้าใจและคุ้นชินกับภาพนี้มานานแล้ว บางคนหยิบยื่นเงินให้ด้วยเวทนา บางคนก็ไล่ตะเพิดด้วยความหงุดหงิดรำคาญใจ
เด็กหญิงยังคงเดินขายพวงมาลัยต่อไป แม้กระโปรงบางเก่า ๆ
และเสื้อกันหนาวเหม็นสาบ
จะไม่สามารถปกป้องเธอจากอากาศหนาวเย็นได้เลย
เช่นเดียวกับเด็กหญิงเด็กชายอีกหลายคน
ที่รับบทชีวิตคล้ายคลึงกัน บางคนอาจกำลังขายดอกไม้ บางคนอาจกำลังล่องลอยสู่สรวงสวรรค์ด้วยฤทธิ์ยาบางตัว หรืออาจกำลังสมสู่อยู่กับใครสักคนที่ยินดีจ่ายเงินให้หลังเสร็จกามกิจแล้ว
ดึกดื่น อากาศยิ่งหนาวเหน็บ บางคนกลับบ้าน บางคนหาที่นอนข้างถนน บนแผงหนังสือ ใต้สะพาน ลานประตูท่าแพ บ้านร้างสักแห่ง หรือที่ไหนก็ได้ที่ยังไม่มีใครจับจอง ...
ล้มตัวลงนอน
เพื่อจะได้ตื่นขึ้นมาในวันรุ่งพรุ่งนี้
และต่อสู้ดิ้นรนต่อไปอีกวันี
|
|
|
ชีวิตนอกกรอบ
ริมฝั่งตรงข้ามคูเมืองเชียงใหม่ก่อนถึงประตูท่าแพราว ๒๐ เมตร
อาคารพาณิชย์สามคูหาที่ยังสร้างไม่เสร็จ
ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่าสามปี แทรกตัวอยู่กับอาคารบ้านเรือนแถวนั้น
สัมผัสแรกเมื่อย่างเหยียบเข้าไปในตึกร้างแห่งนี้
คือกลิ่นชวนสะอิดสะเอียนจากกองปฏิกูล
ที่เกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณ
เจ็ดก้าวสั้น ๆ
จากปากทางเข้า
และกองขยะเน่าเหม็น มีเสื้อผ้าในสภาพผ้าขี้ริ้วสองสามตัววางคลุกฝุ่นอยู่กับพื้น
"เสื้อไอ้มดนี่นา" พจน์ ผู้อาสานำทางพูดพลางก้มลงหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาพิศดูอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ
"ไอ้มดอยู่ที่นี่แหละ เมื่อก่อนก็อยู่กันเยอะ ตอนหลังมีคนมาแขวนคอตายที่นี่ คนอื่นเลยหนีไปกันหมดเพราะกลัวผี ไอ้มดมันดมกาวเยอะจนสติเสื่อม ก็เลยไม่กลัว อยู่ของมันต่อไปคนเดียว"
ถัดจากกลางห้องเข้าไปอีกสี่ห้าก้าว เก้าอี้นวมตัวเก่าถูกนำมาวางขวางไว้ตรงปากทางเข้า "ห้องนอน" ของไอ้มด เด็กคนหนึ่งบอกว่าต้องหาอะไรมาขวางไว้เผื่อไอ้ดำมาจะได้หนีทัน
..."ไอ้ดำ" หมายถึงตำรวจที่คอยตะครุบตัวเด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขาทันทีที่เจอ และตอนนี้ไอ้มดก็เผ่นหนีไปแล้วเช่นกัน
ตุ๊กตาหมีกระมอมกระแมมวางอยู่ข้างผ้าห่มสีดำมอซอ มีร่องรอยของการซุกกายหลับใหลก่อนที่จะผลุนผลันออกไปเมื่อครู่ รอบ ๆ ห้องเกลื่อนกล่นไปด้วยเศษซากสีเหลืองของกาวกระป๋อง กาวหลอด ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมไอ้มดถึงฟั่นเฟือนขนาดบอกใครๆ ว่า อยู่ที่นี่กับผีแขวนคอ
เหนือพื้นขึ้นไปเล็กน้อย
ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือเด็กเร่ร่อน
ซึ่งเคยอาศัยตึกร้างแห่งนี้เป็นที่คุ้มแดดคุ้มฝน รูปบ้านหลังเล็ก ภูเขา ต้นไม้ รูปผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กผู้ชายตัวเล็กยืนอยู่ข้างเคียงกัน อักษรตัวโย้ปรากฏอยู่ใกล้ ๆ กัน
"อาผึ รัก จะยา"
"เกลียดมัน"
"ก ข ค"
ตัวหนังสือบรรทัดสุดท้ายนั้นทั้งโย้
และเอียงเหมือนลายมือเด็กอนุบาลเพิ่งหัดเขียน
บริสุทธิ์และไร้เดียงสา
ไม่ต่างจากลายมือของเด็กที่นั่งเขียนอักษรแบบเดียวกันนี้
ในห้องเรียนที่มีครูคอยดูแลสั่งสอนอย่างใกล้ชิด
|
|
|
เราอ่านประวัติศาสตร์จากภาพผนังถ้ำได้ฉันใด
รอยขีดเขียนเหล่านี้
ก็บ่งบอกอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับเจ้าของลายมือได้เช่นกัน
ตึกเก่าเน่าเหม็นแห่งนี้คือ "คฤหาสน์ร้าง" ของเด็กหลายชีวิต ก่อนที่จะเหลือไอ้มดอยู่คนเดียว
นอกจากตึกร้างแห่งนี้
เด็กเร่ร่อนยึดเอาสถานที่อีกหลายแห่งในเชียงใหม่
เป็นที่หลบฝนหลบร้อนหนาว เช่น
โครงการคอนโดมิเนียมบนถนนช้างคลาน
เยื้องโรงภาพยนตร์แสงตะวัน ที่ปิดตัวลงทั้งที่ยังสร้างไม่เสร็จ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เด็กเร่ร่อนยึดเอาเป็นที่ซุกหัวนอน ยามว่างและนึกสนุก พวกเขาจะลงไปว่ายน้ำเล่นในสระน้ำ
ซึ่งถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว
มันก็คือที่จอดรถชั้นใต้ดินของคอนโดมิเนียม หลังฤดูฝนเมื่อหลายเดือนก่อนทำให้มีน้ำฝนขังอยู่ ที่จอดรถใต้อาคารจึงแปรสภาพเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ให้เด็ก ๆ ใช้เป็นที่ซักผ้า อาบน้ำ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
เด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขาสามารถนอนที่ไหนก็ได้ด้วยเงื่อนไขแค่ว่า มันจะทำให้เขาข้ามคืนนี้ไปโดยไม่ถูกไอ้ดำมาลากตัวไป ...
ร้อนไป หนาวไป สกปรกเกินไป ไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญสำหรับพวกเขา ดังนั้นใต้สะพานนวรัฐที่พาดข้ามลำน้ำปิง แผงหนังสือริมถนน ใต้เวทีบนลานประตูท่าแพ และอีกหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ จึงมีเด็กเร่ร่อนซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบใต้ฟ้าเมืองเหนือแห่งนี้มากมาย
แม้แต่ที่ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนเข้าไปอยู่ได้จริง ๆ
อย่างอุโมงค์มืดมิด
ในกำแพงประตูท่าแพ
เรื่องมันเกิดเมื่อสามสี่ปีก่อน เมื่อเด็กคนหนึ่งดำน้ำจับปลาในคูเมืองแถว ๆ ประตูท่าแพ แล้วพบฝาท่อระบายน้ำเข้าโดยบังเอิญ ด้วยความอยากรู้จึงมุดเข้าไปสำรวจภายในท่อระบายน้ำ มุดไปได้ราว ๒๐ เมตรก็ปรากฏอุโมงค์ขนาดใหญ่ในกำแพงเมือง สำรวจแล้วว่าพอจะใช้เป็นที่ซ่องสุมได้จึงออกมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง
จากนั้นภายในกำแพงเมืองอันสง่างาม
และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ก็กลายเป็นที่นอน ที่ซ่องสุม ดมกาว เสพยา ของเด็กเร่ร่อนอยู่แรมปี เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีใครเข้าไปอยู่ในนั้นได้ แม้แต่ตำรวจซึ่งอยู่ประจำป้อมที่ห่างออกไปเพียง ๓๐ เมตร
กระทั่งตำรวจรู้ว่ามีเด็กเข้าไปมั่วสุมอยู่ในนั้นจึงจัดการล็อกกุญแจปิดปากทางเข้า ชีวิตผจญภัยในกำแพงเมืองจึงเป็นอันยุติ
การต้องตื่นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัวไปเรียน กลับบ้าน ทำการบ้าน เข้านอนแต่หัวค่ำซึ่งเป็นวิถีของเด็กในวัยอย่างพวกเขา ไม่มีอยู่ในวงจรชีวิตของเด็กกลุ่มนี้
|
|
|
ชีวิตนอกกรอบจึงทำอะไรก็ได้ตามที่หัวใจต้องการ เวลาตื่นนอนของพวกเขามักจะเป็นเวลาเที่ยง ๆ แต่ต้นปีที่ผ่านมาอากาศหนาวเย็นกว่าทุกปี เด็ก ๆ
ที่อาศัยนอนตามใต้สะพาน
และข้างถนนจึงถูกอากาศเย็นอุณหภูมิ ๕-๖ องศาเซลเซียสปลุกให้ตื่นแต่เช้ามืด
หลังจากตื่นนอนแล้ว เด็ก ๆ จะออกไปทำภารกิจของตัวเอง บางคนไปซื้อกาว ไปเที่ยว หรืออะไรก็ได้ที่อยากทำ เด็กชาวเขาส่วนใหญ่มักจะออกไปขอทาน กระทั่งเย็น ๆ จึงมาจับกลุ่มสุมหัวกันแถวท่าแพ ไนต์บาซาร์ สวนหย่อมริมแม่น้ำปิงหลังคอนโดฯ เพื่อพูดคุย
เสพยา เที่ยว หรือทำอะไรอื่น ๆ แล้วแต่ว่าใครคิดหาอะไรมาทำได้
เด็กบางคนหาเงินด้วยการยอมเจ็บตัว
ใส่นวมขึ้นชกมวยตามเวทีในร้านอาหาร
หรือบาร์เบียร์ให้นักท่องเที่ยวดู ถ้าชนะเจ้าของร้านจะจ่ายเงินให้ ๒๐๐ บาท แต่ถ้าแพ้ก็จะได้เพียง ๑๐๐ บาท
บางครั้งเพื่อนชกกับเพื่อนอย่างเอาเป็นเอาตาย
ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวเทศ แต่พอลงจากเวทีก็กอดคอกันกลับบ้าน (หมายถึงที่ซุกหัวนอน) หรือไปต่อกันที่ไหนสักแห่ง กระทั่งสี่ห้าทุ่มจึงค่อยทยอยกันกลับ แต่บางคนก็เลือกที่จะเตร็ดเตร่อยู่จนกระทั่งเช้า แล้วแต่ว่ามีอะไรให้เขาทำบ้าง จากนั้นจึงค่อยกลับไปนอน ไปตื่นเอาตอนเที่ยง
เรื่องอาหารการกินนั้น
แน่นอนว่าคงไม่พอเพียง
และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการนัก หากวันไหนมีเงินก็จะได้ลิ้มลองอาหารอย่างดี
วันไหนมีเงินน้อย
หรือไม่มีเงินเลย เขาก็จะฝากท้องกับปูปลาตามคูเมือง แหล่งน้ำต่าง ๆ
แม่ค้าในตลาดบางคนที่นึกสงสาร
ก็จะหยิบยื่นข้าวปลาอาหารที่ขายไม่หมดให้บ้าง หรือตอนเช้า ๆ
พระสงฆ์ก็จะแบ่งอาหารในบาตร
วางไว้แถวม้านั่งริมคูเมืองให้เด็ก ๆ เป็นประจำ
นกขมิ้นน้อยไร้รังคุ้มภัยอย่างพวกเขา ต้องเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองพ้นภัย ชีวิตบนถนนหล่อหลอมลักษณะเฉพาะตัวของเด็กเร่รอน
นั่นคือการรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว
ลักษณะกร้านโลกกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
จึงปรากฏเด่นชัดในท่าทางของเด็กกลุ่มนี้ ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า เมื่อเห็นตำรวจ เขาต้องหนี หนีให้ไกลที่สุด
ไม่เช่นนั้นชีวิตเสรีข้างถนน
จะต้องไปอยู่ในกรอบกรงของบ้านเด็กชาย บ้านที่มีไว้สำหรับปรับพฤติกรรมของเด็กจรจัด ซึ่งอิสรชนอย่างพวกเขามักทนอยู่ในกฎระเบียบของสถานที่เหล่านั้นไม่ได้
สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
จึงพบปัญหาเด็กหนีออกมาอยู่เสมอ
ผ่านชีวิตเร่ร่อนมาอย่างโชกโชนตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก จนเติบโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุย่าง ๒๒ ปี แบงก์เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า
ช่วงที่ตำรวจออกจับเด็กเร่ร่อนมากที่สุด
ก็คือช่วงใกล้เทศกาลต่าง ๆ ที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาเชียงใหม่มาก ๆ ช่วงนั้นเด็กทุกคนต้องระวังให้ดี เดินอยู่ดี ๆ ก็อาจจะถูกลากตัวไปได้ง่าย ๆ ปรกติเมื่อจับแล้วต้องส่งไปให้กรมประชาสงเคราะห์ แต่บางครั้งกลับถูกส่งไปอยู่ในคุกทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร ด้วยเหตุและผลที่ว่า "ผู้ใหญ่" กำลังจะมาตรวจงาน
ผู้น้อยจึงยืมตัวเด็กเร่ร่อนไม่มีที่ซุกหัวนอนอย่างเขา
ไปนอนเล่นอยู่ในตารางสักวันสองวัน เมื่อ "ผู้ใหญ่"
เห็นว่าท้องที่นี้มีผลงานแล้ว
จึงค่อยปล่อยให้ออกมา
การเดินเข้าออกระหว่างคุกกับถนน
จึงเป็นเรื่องที่เขาทำอยู่บ่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
เด็กเร่ร่อนที่ออกจากบ้านมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ
เมื่อโตขึ้นบางคนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน
เพราะไม่เคยย้อนกลับไปบ้านอีกเลย
บางคนไม่สามารถทำบัตรได้
เพราะพ่อแม่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เมื่อไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน
ชีวิตของพวกเขาจึงห่างไกลจากโอกาสที่จะเรียนหนังสือ
หรือได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานใด ๆ
|
|
|
อย่างไรคือเด็กเร่ร่อน
มีคำถามมากมายให้ครุ่นคิดกับการที่จะเรียกใครสักคนว่าเด็กเร่ร่อน อะไรคือดัชนีชี้วัดและตัดสิน เด็กหญิงเด็กชายอายุตั้งแต่ ๕ ปีจนถึง ๒๕ ปี จับกลุ่มมั่วสุมกันตามข่วงประตูท่าแพ ริมบาทวิถีรอบคูเมือง ไนต์บาซาร์ เนื้อตัวสกปรกโสโครก ติดยา หยาบคาย ก้าวร้าว ป่าเถื่อน และไม่มีที่ซุกหัวนอน ลักษณะเหล่านี้พอจะสรุปได้ไหมว่าเขาเป็นเด็กเร่ร่อน
"เด็กที่ไร้ที่พึ่งพิงอาศัยอย่างเป็นสุข มีวิถีชีวิตที่ขาดเสียซึ่งพื้นฐานการครองชีวิตในรูปของปัจจัยสี่ ดำรงตนอย่างไร้สวัสดิภาพส่วนบุคคลในสังคม" คือคำจำกัดความที่ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ให้ไว้ในหนังสือ เด็กที่ถูกลืมในสังคมไทย
ไร้ที่พึ่งพิงอย่างเป็นสุข--มิใช่เพียงไร้ที่ซุกหัวนอนเท่านั้น หากแต่ขาดที่พึ่งพิงทางจิตใจ อันหมายถึงความรักความอบอุ่นนั่นเอง
ขาดเสียซึ่งพื้นฐานการครองชีวิตในรูปของปัจจัยสี่--
ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยที่เป็นสุข เครื่องนุ่งห่มยารักษาโรค และอาหารประทังชีวิตอย่างพอเพียงต่อพัฒนาการของร่างกาย
ดำรงตนอย่างไร้สวัสดิภาพส่วนบุคคลในสังคม--
มีความหมายกว้างกว่าการขาดโอกาสพัฒนาตนในด้านต่าง ๆ เช่นเด็กอื่น ๆ ได้รับอย่างมีสวัสดิภาพ พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดผวาอยู่ตลอดเวลาว่า
"จะถูกจับหากถูกพบ"
เด็กที่สวมเสื้อผ้าสกปรก ไม่สวมรองเท้า ในมือถือถุงพลาสติก เดินเลาะเลียบอยู่แถว ๆ ถังขยะ พวกนี้จะถูกประเมินว่าเป็นเด็กเร่ร่อน และจะถูกตะครุบตัวไปทันที
ครูหยุยสรุปว่า ชีวิตของเด็กเร่ร่อนเป็นชีวิตที่ขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาทุก ๆ ด้านและอยู่อย่างโดดเดี่ยว ผจญโลกอย่างไร้อนาคต และมีโอกาสเสี่ยงต่อการกระทำความผิด อันได้แก่ เสพยาเสพย์ติด เป็นขโมยหรือมิจฉาชีพ ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มมิจฉาชีพ และมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้ง่าย
|
|
|
ขัตติยา กรรณสูต เสนอบทความเรื่องเด็กเร่ร่อนในวารสารการศึกษาแห่งชาติ
และแบ่งเด็กเร่ร่อนออกเป็นสี่ประเภท
โดยใช้เกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครอบครัว ดังนี้
เด็กเร่ร่อนที่มีครอบครัว เด็กประเภทนี้ยังอยู่กับครอบครัวและกลับไปหาครอบครัวทุกวัน แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน เช่นเด็กขายของและเร่ขายบริการต่าง ๆ หรือเตร็ดเตร่อยู่บนท้องถนนโดยไม่มีจุดหมาย
เด็กเร่ร่อนที่แยกจากครอบครัว โดยเกิดจากแรงผลักดันของผู้ปกครองหรือสภาพบีบคั้นภายในบ้าน เมื่อออกมาแล้วก็ไม่ได้กลับไปหาครอบครัวอีก หรือหากกลับก็เพียงนาน ๆ ครั้ง
เด็กเร่ร่อนที่ไร้ครอบครัว
เช่น เด็กกำพร้า เด็กที่ถูกปล่อยทิ้งไว้หรือพลัดหลงจากผู้ปกครองและไม่สามารถติดตามกันได้ เด็กเหล่านี้ขาดการสัมพันธ์กับครอบครัวเหมือนเด็กประเภทที่สอง แต่เป็นการขาดจากครอบครัวแบบถาวร
เด็กเร่ร่อนพร้อมครอบครัว ส่วนใหญ่อพยพเข้าเมืองมาพร้อมกับครอบครัว ตอนแรกครอบครัวอาจมีเงินพอที่จะเช่าห้องพักอาศัยได้
แต่ต่อมาอาจไม่สามารถหาเงินมาเช่าได้
จึงต้องอาศัยนอนตามถนน
หรือเมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในครอบครัว
ทำให้เด็กต้องออกมาเร่ร่อน
เชียงใหม่มีเด็กเร่ร่อนอยู่ทั้งสี่ประเภท จะแตกต่างจากเมืองอื่น ๆ ก็ตรงที่มีเด็กชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์รวมอยู่ด้วย
แม้จะอยู่ในระหว่างการสำรวจจำนวนที่แน่นอน
ว่าเด็กเร่ร่อนที่อยู่ในเชียงใหม่มีจำนวนเท่าไรกันแน่ แต่จากการประเมินของกลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กเร่ร่อนในเชียงใหม่มานาน ว่ามีอยู่ประมาณ ๓๐๐ คน ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กพื้นราบทั้งชนบทและเมือง และอีกครึ่งหนึ่งคือเด็กที่อพยพมาจากหมู่บ้านในดงดอยทั่วภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แม่สาย และบางส่วนก็มาจากฝั่งพม่า
ทั้งนี้เป็นการยากที่จะแยกแยะได้ว่า
คนไหนเด็กไทย คนไหนเด็กต่างด้าว เพราะต่างมีปัญหาเรื่องการไม่มีสัญชาติเหมือน ๆ กัน
เด็กชาวเขาหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งอพยพลงมาอยู่ในเมือง ในตอนแรกยังคงอยู่กับครอบครัว แต่เมื่อเวลาล่วงไป
เด็กเหล่านี้จะเริ่มออกมาใช้ชีวิตอิสระนอกบ้าน
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน
เด็กเร่ร่อนที่เป็นเด็กชาวเขาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
จึงมีทั้งประเภทที่แยกจากครอบครัว
และเร่ร่อนพร้อมครอบครัว
ลงมาใช้ชีวิตอยู่ในย่านชุมชนต่าง ๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ และชุมชนหัวฝาย
เด็กชาวเขาที่ลงมาเร่ร่อนจึงเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง
ของปัญหาเด็กเร่ร่อน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นทุกที
|
|
|
จากยอดดอยสู่เมือง
การปรากฏตัวของคนแปลกหน้าในชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ ย่านไนต์บาซาร์ บริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่ มักจะได้รับการต้อนรับด้วยสีหน้าหวาดระแวงสงสัย เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ร้องไห้จ้า
และวิ่งหนีเมื่อเราเดินเข้าไปในกลุ่ม
ซึ่งกำลังล้อมวงเล่นขายของกันอยู่
"เขานึกว่าพี่เป็นประชาสงเคราะห์ที่มาจับเข้าคุกค่ะ" เด็กหญิงตัวโตกว่าบอก เมื่อจำใครคนหนึ่งในกลุ่มพวกเราที่มาที่นี่บ่อย ๆ ได้
เมื่อทำความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คนอื่น ๆ จึงคลายความระแวงสงสัย
เว้นแต่เด็กหญิงตัวน้อย
ที่ยังคงมีท่าทีไม่ไว้วางใจอยู่ดี
ลึกเข้าไปในตรอกซอกซอย หลายชีวิตยังคงหลับใหลอยู่ในห้องเช่าเล็ก ๆ แม้จะเป็นเวลาเกือบเที่ยงวันแล้วก็ตาม ผู้หญิงร่างผอมบางคนหนึ่งนั่งให้นมลูกน้อยอยู่หน้าบ้านเช่าทรุดโทรม
เสื้อชาวเขาหลากสี
และภาษาที่เปล่งออกมาทำให้รู้ว่าเธอเป็นผู้หญิงจากดอยสูง เด็กชายวัยไล่เลี่ยกันสี่ห้าคนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่ตรงมุมถนน เด็กชายตัวเล็กที่สุดอายุไม่น่าเกินเจ็ดปี ในมือมีถุงพลาสติกใสมองเห็นยางข้นสีเหลืองอยู่ก้นถุง ลักษณะอาการยกถุงขึ้นจ่อจมูกเป็นพัก ๆ ไม่ต้องถามก็รู้ว่าเด็กชายกำลังทำอะไรอยู่ และมันก็เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนแห่งนี้
บ่ายคล้อย
รถกระบะคันเก่าบรรทุกผู้คน
ทั้งหญิงชายคนแก่คนเฒ่า
และลูกเล็กเด็กแดง
แล่นผ่านหน้าเราไป
"เขาไปกาดหลวงค่ะ ไปขอทาน แล้วก็ไปซื้อดอกไม้มาขาย" เด็กหญิงอาข่าบอกเสียงใส
ชาวเขาที่อพยพมาอยู่ที่ชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ มาจากหลายแห่ง--แม่แตง แม่จัน เชียงดาว แม่สะเรียง แม่สรวย ดอยสามหมื่น ทั้งจากเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน กลางวันพวกเขาจะออกไปขอทานอยู่แถวตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย และย่านชุมชนอื่น ๆ
ตกค่ำการขายดอกไม้
และพวงมาลัยตามร้านอาหาร
และสถานบันเทิงคือสิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไป
กระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืนจึงค่อยทยอยกลับห้องพัก
ที่เช่าอยู่รวมกันหลายคน แต่เด็ก ๆ บางคนพอใจที่จะยึดเอาข้างถนน ลานท่าแพ แผงหนังสือ เป็นที่พักพิงในยามที่ไม่อยากกลับไปนอนที่ห้องเช่า นอกจากอาชีพขอทานและขายดอกไม้แล้ว อาชีพค้ายาเสพย์ติดจำพวก ยาบ้า ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน ก็แฝงเร้นอยู่ในชุมชนแห่งนี้
|
|
|
ครูเอก ครูอีกคนของกลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก เล่าให้ฟังว่า เริ่มเก็บข้อมูลเด็กชาวเขาที่ลงมาเร่ร่อนในเชียงใหม่ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ พบว่าชาวเขามาเช่าบ้านอยู่ที่ชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ กันมาก มีทั้งกะเหรี่ยง อาข่า มูเซอ และเผ่าอื่น ๆ อีกเล็กน้อย
ด้วยเป็นชาวเขาที่ไม่มีความรู้ ไม่มีบัตรประชาชน คือข้ออ้างที่เจ้าของบ้านยกขึ้นมาขูดรีดเงินจากชาวเขาเหล่านี้ ห้องเล็ก ๆ แคบ ๆ ค่าเช่าตกประมาณเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท
ถือว่าแพงโขอยู่สำหรับอาชีพขอทาน
และขายดอกไม้ เจ้าของบ้านมักจะอ้างว่าเก็บเผื่อต้องจ่ายให้ตำรวจ พวกนี้ไม่มีบัตรประชาชน ถ้าตำรวจมาจะได้เอาเงินนี้ยัดใต้โต๊ะ เจ้าของห้องเช่าบอกสั้น ๆ ว่า "ให้เช่าอยู่ก็ถือว่าบุญแล้ว" ชาวเขาจึงมักเช่าห้องรวมกันหลายคน บางทีห้องเล็ก ๆ อย่างกับรูหนูห้องหนึ่งมีคนอาศัยอยู่รวมกันถึงสามครอบครัว
อย่างไรก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะต้านกระแสชาวเขา
ที่หลั่งไหลลงมาทำงานข้างล่างได้
สองสามปีมานี้
พบว่าชาวเขาย้ายลงมาอยู่ในเมืองกันมากขึ้น เด็กเร่ร่อนที่เป็นชาวเขาก็เพิ่มมากขึ้น ต้นปีนี้เด็กชาวเขาลงมาขอทานกันมากอย่างน่าตกใจ พ่อแม่เองมักจะใช้ลูกเป็นเครื่องมือในการขอทาน บางคนเอาเงินที่ลูกขายดอกไม้ได้ไปซื้อยาเสพย์ติด จนติดคุก
ลูกต้องอยู่คนเดียว
และเดินเข้าสู่วงจรเด็กเร่ร่อนในที่สุด
|
|
|
ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าสร้างความตื่นตะลึงให้ไม่น้อย เพียงชั่วนาทีเดียวจากปากซอยแคบ ๆ
ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง
อันเป็นสภาพแวดล้อมของเมือง กลับกลายเป็นภาพซึ่งทำให้เผลอคิดไปว่ากำลังยืนอยู่ในหมู่บ้านที่ไหนสักแห่งบนภูสูง
ห่างไกล และทุรกันดาร บ้านไม้ไผ่หลังเตี้ย ๆ กองไฟที่ใกล้มอดดับเหลือเพียงควันจาง ๆ ลอยจากกองเถ้าถ่าน ลูกหมาสองสามตัวเดินสวนกับไก่บ้านตัวเขื่อง พืชบางชนิดที่มักพบเห็นเฉพาะในหมู่บ้านบนภูเขาก็มีให้เห็นกันที่นี่ เรียกว่าแทบจะไม่แตกต่างจากหมู่บ้านที่เคยเห็นบนดอยเลย จะผิดกันตรงที่อาณาเขตของหมู่บ้านแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยรั้วคอนกรีตแน่นหนา มิใช่พงไพรเขียวขจีดังเช่นหมู่บ้านกลางดงจริง ๆ
พ้นจากอาณาเขตรั้วคอนกรีตด้านฝั่งคลองแม่ข่า
ก็ปรากฏชุมชนชาวเขาอพยพมาตั้งบ้านเรือนกันอย่างแน่นหนา
ปะปนกับชาวพื้นเมืองเดิมของที่นี่ บางคนสร้างบ้านถาวร บางคนเช่าห้องพักของคนเมืองไว้เป็นที่คุ้มหัวชั่วคราว
ที่นี่คือชุมชนหัวฝาย ย่านที่อยู่อาศัยของชาวเขาอีกแห่งหนึ่งใจกลางเชียงใหม่
ตั้งอยู่บริเวณริมสองฝั่งคลองแม่ข่า
ด้านหลังโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่
แต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่สาธารณะ ราว พ.ศ. ๒๕๑๕ เริ่มมีชาวบ้านพื้นราบสองสามรายมาตั้งบ้านเรือนใกล้เชิงสะพานเม็งราย
ต่อมาเริ่มมีการจับจองที่
และสร้างบ้านเรือนมากขึ้นทั้งสองฝั่งคลองแม่ข่า
ไม่นานนักก็เริ่มมีชาวอีก้อ (หรือเรียกอีกอย่างว่า อาข่า) ลงมาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ เพราะทำเกษตรบนที่สูงไม่ได้ผล
เมื่อเจ้าของกาแลไนต์บาซาร์เริ่มจัดสรรที่ว่าง
ให้ชาวเขาขายของที่ระลึก ก็เริ่มมีชาวเขาเผ่าอื่น ๆ ทยอยกันลงมาจากดอย พื้นที่แถบคลองแม่ข่าและหลังโรงฆ่าสัตว์จึงคลาคล่ำไปด้วยชาวเขาทั้งอาข่า ม้ง มูเซอ ฯลฯ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขายของที่ไนต์บาซาร์ เด็ก ๆ
ที่อพยพลงมาพร้อมกับครอบครัว
จึงต้องกลายเป็นเด็กเร่ร่อนไปในที่สุด
นอกจากชุมชนหัวฝายและลอยเคราะห์ซอย ๓ แล้ว ยังมีที่อื่น ๆ อีกประปราย เช่น แถวกำแพงดิน ตลาดวโรรส ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเขาที่อพยพลงมาทำงานข้างล่าง แต่ก็ไม่มากเท่ากับสองแห่งนั้น
|
|
|
ผลิตผลคนกับเมือง
"มันอยู่ไม่ได้หรอก ปลูกอะไรก็ขายไม่ออก ได้เงินน้อยไม่พอใช้ ฝนฟ้าก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนไม่ต้องใช้เงินมาก เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้แล้ว ลงมาทำงานกันเยอะแล้ว" แม่เฒ่ามูเซอบอกถึงเหตุที่ต้องลงมาอยู่ในเมือง ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่แสดงความอาลัยถึงถิ่นที่จากมานาน ก่อนจะเอื้อมมือไปหยิบเสื้อประจำเผ่าที่แขวนอยู่ตรงผนังห้อง จัดแจงแต่งกายให้ตัวเองและหลานสาวตัวน้อยจนเรียบร้อย เตรียมตัวออกไปขายของที่ไนต์บาซาร์ ในขณะที่คนอื่น ๆ เริ่มทยอยออกจากห้องเช่าไปทีละคนสองคน
แม่เฒ่าจะเคยตั้งคำถามบ้างไหมว่า ทำไมวิถีแห่งชนเผ่าต้องถูกเบียดลงไปอยู่ในซอกหนึ่งของเมืองฟ้าแห่งนี้
และจะเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า
ทำไมผองพี่น้องทั้งหลายต้องทิ้งไร่นาให้รกร้าง
และโยกย้ายมาอยู่ในที่ที่ไม่เคยคุ้น แล้วลูกหลานทั้งหลายอีกเล่า ชีวิตในเมืองได้กัดกร่อนวิถีแห่งวัยเยาว์ไปสักกี่มากน้อยแล้ว
จากหนึ่ง...สอง...สิบ...ยี่สิบ...เป็นร้อย กระทั่งเหยียบพัน
ที่ผลิกผันชีวิตจากผืนป่าบนดงดอย
มาใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในป่าคอนกรีต
แสงไฟในเมืองบดบังแสงดาวบนฟากฟ้าเหนือขุนเขา
ที่เคยทอแสงกระจ่างในหัวใจของใครหลายคนมาแสนนานเสียเกือบสิ้น
สำหรับชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้นมาได้ไม่กี่ปี
เป็นวัยแห่งการเรียนรู้
และซึมซับเอาทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างมาหล่อหลอมเป็นตัวตน
กำลังซึมซับวิถีแห่งเมืองแทนวิถีแห่งชนเผ่า
ซึ่งกำลังถูกถีบให้หล่นไปในซอกหลืบมุมมืดของเมืองไปทีละน้อย
แสงดาวแห่งขุนเขาลำเนาเดิมอยู่ห่างไกล
และริบหรี่เกินกว่าจะฉายแสงนำทางให้เด็กน้อยแห่งป่าเขา
เดินไปยังเส้นทางที่วัยเด็กอย่างพวกเขาควรจะเป็น
การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไม่อาจอยู่รอดได้ด้วยการดำรงวิถีชีวิตแบบเดิม จากที่เคยเป็นทุกอย่างในหน่วยการผลิตแบบเดิม กลับกลายมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือในภาคการผลิตแบบเมือง
|
|
|
ผู้หญิงหอบลูกเล็กเด็กแดงและแก้วน้ำเก่า ๆ นั่งลงริมบาทวิถีในย่านชุมชนเช่นตลาดวโรรส เพื่อรอเศษเงินจากผู้ผ่านไปมา วันหนึ่ง ๆ ได้ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ บาท หากโชคดีก็อาจได้ถึง ๔๐๐ บาท เด็กตัวเล็ก ๆ หลายคนกลายเป็นสินค้าให้เช่าเพื่อนำไปขอทาน พ่อแม่จะได้เงินค่าตัวลูกวันละ ๑๐๐-๒๐๐ บาท ในขณะที่ผู้เช่าอาจทำเงินได้วันละ ๓๐๐-๕๐๐ บาทเลยทีเดียว
ช่วงเย็นเป็นเวลาของการขายดอกไม้ ผู้หญิงกระเตงลูกน้อยเดินขายดอกไม้ตามร้านอาหาร
เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเข้าออกตามสถานเริงรมย์
เพื่อขายพวงมาลัย สนนราคาที่รับมา ๑๐ พวง ๕๐ บาท เมื่อนำมาขายในราคาพวงละ ๑๐ บาท คืนหนึ่งกำไรที่ได้จากมาลัยหลายสิบพวงจึงตกอยู่ที่ ๑๐๐-๒๕๐ บาท
แต่ถ้ารับจ้างขายให้เอเยนต์ซึ่งเป็นเจ้าของดอกไม้
และเป็นคนพาเด็ก ๆ ไปปล่อยตามจุดต่าง ๆ ค่าแรงที่ได้รับก็จะไม่มากเท่ากับการลงทุนเอง
ค่าแรงที่แสนต่ำ รายได้จากขายดอกไม้ ขอทาน
ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทุกท้องในครอบครัวได้อิ่ม
และทุกดวงตาได้หลับสนิทในสถานที่อันอบอุ่นปลอดภัย ทางเลือกอื่นที่
"ง่าย" และ "ได้เงินมากกว่า"
อย่างการค้ายาเสพย์ติดจึงเป็นทางเลือกที่ใครหลายคน
จำต้องก้าวเดินไป
และถลำลึกเกินกว่าจะถอยกลับออกมาได้
หมี่พอ เด็กหญิงอาข่าวัยเก้าปี เล่าให้ฟังว่า
พ่อแม่พี่ชายและตัวเธอย้ายมาจากแม่สาย
เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว มาเช่าห้องอยู่ในชุมชนลอยเคราะห์ซอย ๓ กับเพื่อนบ้านอีกสี่คน ห้าวันก่อนหน้านี้พ่อกับแม่ถูกจับเพราะขายยา แต่ถูกจับไปอยู่ที่ไหน อีกกี่เดือนกี่ปีพ่อแม่จึงจะพ้นโทษ และจะกลับเข้าไปอยู่ในคุกอีกทีเมื่อไหร่ เธอจะช่วยไม่ให้พ่อแม่ติดคุกได้อย่างไร คือคำถามที่เธอไม่เคยรู้คำตอบ
"พ่อโดนจับค่ะ กี่ครั้งจำไม่ได้แล้ว หนูก็อยู่กับพี่ คนที่ดมกาวอยู่ตรงโน้นน่ะค่ะ หนูขายดอกพี่ก็ขายดอก พี่ไปกับแขกด้วยค่ะ"
|
|
|
กลางคืนเธอจะเข้าออกตามร้านอาหาร คลับ บาร์ แถวท่าแพและไนต์บาซาร์เช่นเดียวกับพี่ชาย
บางค่ำคืนทั้งสองก็เลือกเอาริมถนนเป็นที่นอน
แทนที่จะกลับไปยังห้องเช่าโกโรโกโสอันแออัดของเธอ (และคนอื่น ๆ อีกหลายคน)
การถูกจับและติดคุกเนื่องจากคดีค้ายาเสพย์ติด
ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชาวเขากลุ่มนี้ บางคนถูกจับปีละสองสามครั้ง บางคนแทบจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในคุก เพราะเมื่อออกมาแล้วก็ต้องกลับเข้าไปอีกในเวลาไม่ช้า
เมื่อพ่อกับแม่ไม่อาจอยู่ร่วมเผชิญชีวิตกลางเมือง ทั้งเพราะถูกจับหรือต้องไปทำงานที่อื่นนาน ๆ
เด็กพวกนี้จึงต้องอยู่ในสภาพนั้นต่อไป
กับเพื่อนบ้านที่เป็นญาติพี่น้อง
และที่ไม่ใช่วงศาคณาญาติเดียวกัน
เด็กผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ
จากคนใกล้ชิดทั้งลุง น้า และเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่พ่อแท้ ๆ ได้ง่ายดายที่สุด
"ไม่รัก พ่อนิสัยไม่ดี" น้ำเสียงห้วนแสดงความไม่พอใจ โพล่งออกมาจากปากของเด็กหญิงอาข่าวัยเจ็ดปีทันทีเมื่อถูกถามถึงพ่อ
"พ่อนิสัยไม่ดี ชอบมาตีหนู หนูไม่ได้ทำอะไรก็ตีหนู หนูหลับอยู่ก็ตี เอาเชือกกับไม้มาฟาด บางทีก็มาจับหนู หนูกลัว"
หากเธอเข้าใจว่าอากัปกิริยาที่พ่อทำกับเธอนั้นเป็นลักษณะของการล่วงละเมิดทางเพศ เธอคงจะบอกกับเราว่า "พ่อจะข่มขืนหนู" แต่ในความเข้าใจของเด็กหญิงวัยเจ็ดขวบ เธอจึงบอกได้แค่ว่า "พ่อชอบจับหนู"
"ก็มันอยากนี่ เข้าบาร์ไปขายดอกทุกวันเห็นฝรั่งมันกอดกัน จูบกันทุกวัน เมียก็ถูกจับ จะให้ไประบายกับใคร"
คือคำอธิบายอย่างไม่สำนึกผิด
จากปากของพ่อที่พยายามจะเข่นฆ่าลูกในไส้ของตัวเอง
ให้ตายไปจากโลกใบสวยงามของวัยเด็ก
จารีตและศีลธรรมที่เคยยึดถือแต่ครั้งยังอยู่ในหมู่บ้านอ่อนแรง
และเสื่อมทรามเกินกว่าจะปกป้องเด็กหญิง
จากเขี้ยวเล็บรอบกายได้
การค้ายาเสพย์ติดอย่างกัญชา ยาบ้า เฮโรอีน
ได้กระชากเอาจิตวิญญาณของความเป็นพ่อ
และสามีไปจากครอบครัวเสียสิ้น เมื่อผู้ค้าตกเป็นทาสของมันเสียเอง เด็กหลายคนถูกทุบตีเพราะหาเงินมาให้พ่อไม่พอแก่การซื้อยา
"ขายดอกไม่ได้ก็ตี"
"พ่อถูกจับบ่อย ออกมาเจ็ดวันก็เข้าไปอีก ไม่รู้จะอยู่บ้านไปทำไม"
"อยู่กันหลายคน ไม่ชอบ"
แม้น้ำเสียงที่ออกมาจากปากของเด็กหญิง
และเด็กชายจะราบเรียบไร้อารมณ์ความรู้สึก แต่แววตาที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกบางอย่างที่ยากจะอธิบาย
ก็ทำให้เราหยุดที่จะถามคำถามต่อไปเกี่ยวกับครอบครัว
และสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
ใครบางคนบอกว่า ถ้าเด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขากำลังเศร้าอยู่ละก็ เราไม่มีทางได้เห็นน้ำตาของเขาหรอก
เพราะว่าน้ำตามันไหลออกมาจนหมด
และเหือดแห้งไปตั้งแต่ยังอยู่ที่บ้านแล้ว
หลากหลายพื้นฐานของชีวิตที่ผลักดันให้เด็กน้อยเหล่านี้
ต้องออกมาเผชิญโลกเพียงลำพัง
จากครอบครัวและบ้าน
ที่ซึ่งควรจะอบอุ่นและปลอดภัยมากที่สุด สู่ที่ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อาจเหน็บหนาว เงียบเหงา และทุกข์ทรมานมากกว่า แต่นั่นก็คงไม่มากกว่าความรู้สึกทุกข์ทรมานจนไม่อาจทนอยู่ที่เดิมต่อไปได้
พวกเขาจึงเลือกที่จะไปตายเอาดาบหน้า
และผจญชีวิตบนเส้นทางสายใหม่เพียงลำพัง ชีวิตบนท้องถนนที่แวดล้อมไปด้วยแสง สี เสียง สิ่งยั่วยุยามราตรี ค่อย ๆ
ดึงให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่วงจรการขายบริการ
และเป็นเหยื่อของยาเสพย์ติดในที่สุด
|
|
|
บนถนนสายโลกีย์
ยะพี เด็กหญิงอาข่าวัยหกปี
หัวเราะเสียงดังเมื่อถูกถามถึงความรู้สึก
ที่เห็นฝรั่งหญิงชายกอดจูบกันนัวเนีย
หน้าบาร์เบียร์แห่งหนึ่งย่านไนต์บาซาร์ ภาพกอดจูบ ควักล้วง
และแสดงออกถึงความต้องการทางเพศ
ของมนุษย์หญิงชายคู่แล้วคู่เล่าในคลับบาร์ ที่เด็กหญิงเดินเข้าออกขายดอกไม้ทุกค่ำคืน
กลายเป็นภาพปรกติธรรมดาสำหรับเด็กเร่ร่อนอย่างเธอ
และคนอื่น ๆ ที่ต้องพบเห็นทุกวัน
"เด็กผู้หญิงมีโอกาสเข้าสู่วงจรขายบริการทางเพศสูงมาก
การที่เขาพบเจอสภาพแวดล้อมในคลับบาร์ทุกวัน
ก็ทำให้ความคิดเรื่องคุณค่าในตัวเองเปลี่ยนไป ความคุ้นเคยกับสถานเริงรมย์ผลักดันให้เขาเข้าสู่วงจรการขายบริการ เด็กบางคนเราเจอเขาตอนแปดขวบยังเดินขายดอกไม้อยู่เลย อีกสอง ปีมาเจอ อายุ ๑๐ ปีก็ขายบริการแล้ว ที่สำคัญมีพวกเอเยนต์เพิ่มมากขึ้นที่จ้องจะเอาเด็ก ๆ พวกนี้ไปแสวงหาประโยชน์
ยิ่งเด็กที่พ่อแม่ถูกจับ
ยิ่งตกเป็นเหยื่อของเอเยนต์พวกนี้ได้ง่าย ญาติหรือคนใกล้ชิดก็จะขายเด็กให้แก่เอเยนต์ ได้ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำ
"เด็กชาวเขาที่พ่อแม่ถูกจับ เขาก็ต้องอยู่รวมกันกับเพื่อนบ้าน เด็กพวกนี้จะถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่สุด เด็กเองเมื่อถูกกระทำก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องบอกกล่าวกับใครได้ เพราะคนที่ทำก็เป็นพ่อ เป็นลุง เป็นน้าแท้ ๆ ของตัว มันก็เลยเป็นประตูที่ปิดตาย ไม่มีใครกล้าไปแง้มมันออกมา เด็กก็ต้องทนอยู่ในสภาพนั้น เมื่อเขาถูกกระทำอย่างนี้แล้วก็จะมีความรู้สึกว่า จะเสียตัวอีกกี่ทีก็ไม่เห็นจะเป็นไร ทำให้เด็กเหล่านี้หันไปขายบริการในที่สุด" นุชนารถ บุญคง หรือครูน้ำของเด็ก ๆ แห่งกลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก องค์กรเอกชนเล็ก ๆ ที่ทำงานกับเด็กเร่ร่อนในจังหวัดเชียงใหม่มานาน กล่าวถึงชนวนที่ทำให้เด็กหลายคนต้องกระโจนลงสู่เส้นทางการขายบริการ
ใช่เพียงเด็กหญิงเท่านั้นที่ผันชีวิตตัวเองสู่เวทีการค้ากาม
เด็กผู้ชายหลายคนก็เลือกที่จะใช้ร่างกายของตัวเอง
แลกกับเงินหรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ ที่มีคนหยิบยื่นให้เช่นกัน
|
|
|
ท่ามกลางแสงไฟเสียงเพลงคละเคล้าด้วยกลิ่นเหล้าเถ้าบุหรี่ เด็กชายอายุตั้งแต่ ๗ จนถึง ๒๕ ปีทั้งเดี่ยวและกลุ่ม
แวะเวียนเดินเข้าออกตามคลับบาร์ย่านท่าแพ
และไนต์บาซาร์ตลอดคืน ดอกไม้ในมือดอกละ ๑๐
บาท
ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เขาวนเวียนเข้าไปในที่แห่งนั้น
"You like boy ?"
"You want me to go with you ?"
ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสื่อสาร
แม้จะผิดหลักไวยากรณ์ไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะทั้งเด็กและแขกต่างก็เข้าใจกันดี หากใครจับแขกได้ ก็หมายความว่าพรุ่งนี้เขาจะมีเงินซื้ออาหารดี ๆ กิน มีเงินซื้อยามาเสพสนองความต้องการของร่างกาย
หรือไม่ก็หมดไปอย่างรวดเร็ว
กับการเที่ยวดิสโก้เธค ซื้อเสื้อผ้า เล่นตู้เกมหรืออะไรอื่น ๆ
ในแวดวงชายนิยมชาย เป็นที่รู้กันว่าหากต้องการเด็กแบบนี้จะต้องไปที่ไหน
ท่าแพและไนต์บาซาร์
ขึ้นชื่อในเรื่องโสเภณีเด็กชาย
ขนาดว่ามีกรุ๊ปทัวร์ต่างชาติ
มุ่งหน้ามาเชียงใหม่เพื่อเที่ยวโสเภณีเด็กชาย
โดยเฉพาะอยู่เนือง ๆ
จือโพ๊ะ เด็กชายจากขุนเขาแม่สะเรียงเล่าให้ฟังว่า เริ่มขายบริการตั้งแต่แปดขวบ ทุกคืนเขาจะเข้าออกแถวบาร์เล็ก ๆ ที่เรียงรายติด ๆ
กันในซอกหนึ่งของเชียงอินทร์ไนต์บาซาร์
พร้อมกับดอกไม้ที่จะนำไปขาย หากวันไหนมีแขกเขาก็ไปกับแขก ค่าตอบแทนที่ได้แล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าชั่วคราวก็อยู่ระหว่าง ๒๐๐-๕๐๐บาท ค้างคืนเพิ่มเป็น ๘๐๐-๒,๐๐๐ บาท หากว่า "ทำ" ถูกใจ ฝรั่งก็อาจจะตบรางวัลให้อีกหลายร้อยบาท บางคนใจดีก็พาไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ ซื้อรถจักรยาน หรือพาไปเลี้ยงอาหารดี ๆ
ฝรั่งบางคนอาจติดใจ
ถึงขั้นส่งเงินมาเลี้ยงดูกันทุกเดือน
จือโพ๊ะเองก็พึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้
แม้ว่าอาจจะต้องฝืนใจในตอนแรกก็ตาม
"เด็กที่เข้ามาสู่วงการนี้แล้วจะเลิกยากมาก เพราะเขาสามารถหาเงินได้ง่าย ๆ และได้ทีละมาก ๆ คืนหนึ่งได้เงิน ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท
ทำให้เขาเคยชิน
และไม่อยากออกไปทำงานอื่นที่ลำบากกว่า
และได้เงินน้อยกว่า บางคนทำไปจนถึงอายุ ๒๔-๒๕ ปีเลย ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา
"ปัญหาในขณะนี้คือ เด็กบางคนติดเชื้อเอดส์
กว่าอาการของโรคจะปรากฏ
เราก็ไม่รู้ว่าเขาไปมีเพศสัมพันธ์กับใครบ้าง และเราก็เข้าไปแก้ไขอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ ที่สำคัญ เด็กเองก็ยังหลงระเริงอยู่บนเวทีการขายบริการด้วย" ครูน้ำเล่าถึงปัญหาที่เจอ
|
|
|
ปัญหาที่ควบคู่กับการขายบริการคือปัญหายาเสพย์ติด กล่าวกันว่าเด็กที่ออกมาเร่ร่อนมีโอกาส ติดยาเสพย์ติดถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเลยทีเดียว อย่างน้อยก็ต้องกาวและบุหรี่
สาเหตุหลักก็คงหนีไม่พ้นเรื่องสภาพแวดล้อม การต้องเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ที่ใคร ๆ ก็เสพยา ผู้มาใหม่ก็จำต้องเอากับเขาด้วย ประกอบกับเหตุผลที่ผลักดันให้เขาต้องออกมาเร่ร่อนนั้น ก็ยิ่งผลักให้เขาหันหน้าเข้าหายาเสพย์ติดได้ง่ายขึ้น นอกจากเสพแล้วยังเป็นคนขายเองเสียอีก ตัวการสำคัญคือพ่อแม่เด็กนั่นเอง
พวกผู้ใหญ่รู้ว่าหากถูกจับในคดีค้ายาเสพย์ติด อย่างน้อยก็ต้องเข้าไปอยู่ในคุกสองปีขึ้นไป พ่อแม่จึงให้เด็กเป็นคนขาย เพราะถ้าพลาดพลั้งถูกจับก็เข้าไปอยู่สถานพินิจฯ เพียงสองสามเดือนก็ได้ออกมาแล้ว
เก้าปีที่ใช้ชีวิตเด็กเร่ร่อนอย่างโชกโชน จะโคะเล่าให้ฟังว่า เคยถูกตำรวจจับเพราะมียาบ้าไว้ ๕๐ เม็ด ตำรวจลงบันทึกว่ามีอยู่ ๒๐ เม็ด ที่เหลืออีก ๓๐ เม็ดตำรวจแอบเอาไปปล่อยขายอีกที
บางครั้งตำรวจก็ใช้เด็กเร่ร่อนเป็นสาย
ในการสืบหาผู้ค้ารายใหญ่ด้วย
เขาเคยถูกจับในคดียาเสพย์ติด
ทั้งขายและเสพถึงสี่ครั้ง
และยังมีคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกบ่อย จะโคะเล่าว่าเขาจะซื้อผงขาวมาหลอดหนึ่งขนาดเท่านิ้วก้อย เมื่อเอามาทำเป็นเม็ดแล้วจะได้ ๔๐ เม็ด ขายในราคาเม็ดละ ๑๕๐ บาท แต่ละเดือนได้เงินเป็นแสน ๆ บาท เงินทั้งหมดละลายหายไปกับการเที่ยวอย่างเมามัน วันนี้อยู่อย่างเศรษฐี พรุ่งนี้กลายเป็นยาจก ชีวิตเด็กเร่ร่อนอย่างพวกเขาไม่ได้อยู่อย่างมีเป้าหมายในชีวิต หรือมีความหวังความฝันอย่างคนอื่นเขา ชีวิตมีแต่วันนี้ มีเงินเท่าไรก็ใช้จนหมด
ทว่าก็มีหลายคนที่หันหลังให้แก่ชีวิตร่อนเร่บนบาทวิถี หลังจากคิดได้ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเก็บเงินกลับไปเรียนหนังสือ แต่นั่นก็ต้องมีแรงบันดาลใจบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิต ซึ่งกรณีเช่นนี้มีไม่มากนัก
|
|
|
คืนเด็กสู่สังคม
การที่เด็กสักคนจะตัดสินใจกลับบ้าน
นั่นหมายถึงว่าเขาได้คลายความหวาดกลัว
และกล้าที่จะกลับเข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง ทว่าเด็กบางคนต้องหวนกลับออกมาอีกเป็นรอบที่ ๒ หลังจากกลับบ้านได้เพียงไม่กี่วัน มิหนำซ้ำยังปีกหักกลับมาด้วยหัวใจที่บอบช้ำกว่าเดิม อย่างกรณีของแอม
เด็กหญิงผิวสีแทนวัย ๑๗ ปีคนนี้ ออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ชีวิตข้างถนนไม่มีเกราะป้องกันภัยใด ๆ ทำให้แอมติดเชื้อเอดส์โดยไม่ทันรู้ตัว เมื่อซิฟิลิสเข้ามาแทรกอีก
สภาพของเด็กหญิงก็ทรุดโทรม
จนไม่เห็นเค้าความสดใสของวัยสาว แอมป่วยหนักเข้าจึงตัดสินใจกลับบ้าน ด้วยคิดว่าที่บ้านยังคงมีที่ว่างสำหรับเธอบ้าง แต่การณ์ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คนที่บ้านไม่มีใครยอมรับสภาพอันน่าเวทนาของแอมได้ เธอจึงพาหัวใจอันเจ็บช้ำกลับออกมาใช้ชีวิตโดดเดี่ยวดังเดิม และคิดว่าจะไม่กลับบ้านอีกแล้ว
"นี่คือตัวอย่างหนึ่งของชีวิตที่ถูกผลักออกมาจากสังคม
ซึ่งไม่มีที่ว่างให้เขาได้กลับเข้าไปอีก แล้วสภาพปัญหาในครอบครัวยังอยู่เหมือนเดิม พ่อแม่ยังคงทะเลาะกัน
พ่อยังคงใช้ความรุนแรง
หรือล่วงละเมิดทางเพศกับลูก กรณีเช่นนี้ทำให้เราต้องกลับไปคิดเรื่องนี้ใหม่ ทั้งชุมชนและบ้านต้องพร้อมที่จะรับเด็กพวกนี้ ตัวเด็กเองก็ต้องได้รับการขัดเกลาให้พร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปรกติ
ซึ่งองค์กรของเราก็มีกิจกรรมทักษะชีวิต
เพื่อเตรียมเด็กให้สามารถกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง ได้กลับไปเรียนหนังสือ กลับไปอยู่บ้าน หรือถ้าหากว่าที่บ้านไม่มีความพร้อมที่จะรับเด็กเหล่านี้ เราก็ต้องหาทุนและหาโอกาสให้เขาให้ได้ แต่ขณะนี้ยังมีหน่วยงานที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือนน้อยมาก"
ครูน้ำกล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนคงจะต้องเริ่มต้นกันที่นโยบายของรัฐ "การแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนในทุกวันนี้ก็คือ เจอที่ไหนจับส่งสงเคราะห์
ถ้าเป็นเด็กชาวเขาหรือเด็กต่างด้าว
ก็จับส่งประเทศเขาเลย แค่นี้เอง ไม่มีนโยบายอื่นรองรับเลย จากการทำงานเรารู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กต่างด้าวทั้งหมด บางส่วนเป็นเด็กชาวเขาที่ลงมากับพ่อแม่ซึ่งไม่มีสัญชาติ ถึงแม้จะเป็นเด็กต่างด้าว ถ้าส่งเขากลับประเทศ อีกไม่นานเขาก็กลับมาอีก อย่างนี้ไม่ต้องตามจับไปตลอดหรือ วิธีการแบบนี้มันถูกแล้วหรือ
|
|
|
"องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็ก
ก็ยังไม่มีการประสานงานกันเท่าที่ควร และควรจะทำงานกันเป็นเครือข่าย แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ องค์กรฉันช่วยเด็กเร่ร่อนไม่ได้ เพราะฉันช่วยเด็กกำพร้าเป็นหลัก อย่างนี้เป็นต้น อย่าลืมว่าเด็กเร่ร่อนบางคนก็กำพร้าเหมือนกัน ถ้าคุณดูแลเด็กกำพร้าไม่ดี เด็กก็อาจจะออกมาเป็นเด็กเร่ร่อนได้เหมือนกัน นี่เป็นปัญหาเรื่องแนวคิดการทำงานของแต่ละองค์กร" ครูน้ำเสนอความคิดเพิ่มเติมว่า "น่าจะผลักดันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ให้ผู้ใหญ่ตระหนัก ชุมชนต้องมีความรู้เรื่องสิทธิเด็ก มันอาจจะใช้เวลามากหน่อย
แต่เราก็ควรส่งเสริมให้สังคมได้เรียนรู้
และถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่ง
"โรงเรียนเป็นสถานที่ที่จะปลูกฝังเรื่องนี้ให้เด็ก
ต้องทำให้เขารู้จักสิทธิ
และปกป้องตัวเองได้ ให้เขารู้ว่าเมื่อมีปัญหาเขาจะไปหาใคร สิทธิของเขาอยู่ตรงไหน สำหรับเด็กชาวเขานั้นจริง ๆ แล้วเด็กไม่ได้อยากออกมาเร่ร่อน แต่เพราะไม่มีทางเลือก
ฉะนั้นการแก้ปัญหาระยะยาวเราต้องทำให้เขามั่นใจ
ว่าเขาจะกลับบ้านด้วยความรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย และมีสิทธิ ไม่ใช่กลับไปอย่างไม่รู้อนาคต ไม่รู้ว่ากลับไปแล้วจะไปอยู่อย่างไร ตรงไหน"
ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เสนอแนะวิธีที่จะหยุดยั้งการไหลบ่าสู่เมืองของชาวเขา
อันส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กเร่ร่อนไว้ดังนี้
"หากตั้งคำถามว่าทำไมเด็กชาวเขาถึงต้องลงมาเร่ร่อน
เราคงต้องย้อนกลับไปดูว่า
เหตุที่ทำให้เขาต้องลงมาอยู่ข้างล่างคืออะไร
"ประการแรกเลย
ชุมชนชาวเขาแต่เดิมเป็นชุมชนที่พึ่งตัวเอง
และอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ความจำเป็นในเรื่องการใช้เงินตรามีน้อย แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง มีคนนำสิ่งฟุ่มเฟือยเข้าไปในชุมชน เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ทำให้ชาวเขาหันมาพึ่งพาเงินตรามากขึ้น ต้องนำสินค้าไปขาย ต้องลงมาทำงานเพื่อหารายได้
"ประการที่ ๒ คือ
การที่ชาวเขาไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ บางหมู่บ้านนั้นอาจถูกประกาศเป็นป่าสงวน หรือประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ทับที่ทำกินของเขา เมื่อการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีทางอยู่รอดแบบเดิมของเขาถูกจำกัดลง ทางออกของเขาคือการส่งลูกหลานลงมาทำงานในเมือง นี่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากพื้นที่ทำกินบนที่สูงมีจำกัดลง
"อีกส่วนหนึ่งเป็นเหตุจากคนในเมือง
ขึ้นไปชักชวนชาวเขาให้ลงมาทำงานข้างล่าง เช่น มาทำงานก่อสร้าง มาทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรม แสดงพิธีกรรมต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวดู บางทีคนพื้นราบก็ขึ้นไปขอเด็กชาวเขา อ้างว่าจะนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่ที่จริงแล้วบังคับให้เด็กไปขายดอกไม้ ขอทาน เด็กพวกนี้จึงกลายเป็นเด็กเร่ร่อน
"การที่พ่อแม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
เราต้องทำความเข้าใจว่า
ทุกคนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด แต่มันอาจมีเงื่อนไขหลายประการ ผู้หญิงอาข่าอาจต้องหอบลูกเล็ก ๆ ลงมาขอทาน เพราะสามีติดคุกในคดีค้ายาเสพย์ติด หรือสามีไปทำงานที่อื่นแล้วไม่กลับมา ทิ้งลูกทิ้งเมีย บางคนก็เกิดจากปัญหาสุขภาพอนามัย สามีติดเอดส์ตาย ก็ต้องหอบกันลงมาเป็นขอทาน"
|
|
|
ดร. ชยันต์สรุปว่า เด็กเร่ร่อนชาวเขาเกิดจากปัญหาสังคมหลาย ๆ ด้านที่ผลักดันให้ชาวเขาต้องลงมาอยู่ในเมือง เป็นเพราะนโยบายพัฒนาที่สูงไม่ได้ทำให้ชาวเขาอยู่บนดอยได้อย่างมีความมั่นคงในชีวิต
"ระบบการเรียนในทุกวันนี้
ก็เตรียมเด็กให้เข้าไปอยู่ในเมืองทั้งภาคบริการ
และอุตสาหกรรม
มากกว่าที่จะเตรียมให้เขาอยู่ในภาคเกษตรบนพื้นที่สูง การศึกษาสอนให้เขียนหนังสือได้ นับเลขได้ แต่การศึกษาไม่พัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาบนที่สูง
และไม่ทำให้เด็กนักเรียน
นำความรู้ไปทำงานภาคเกษตรบนที่สูง เหมือนกับว่าเรียน ๆ ไปให้อ่านออกเขียนได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้กับชีวิตบนดอยได้อย่างไร มันไม่เชื่อมโยงกับชีวิตบนดอย
"นอกจากนี้รัฐยังส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเดียว ซึ่งเป็นนโยบายที่ผิดพลาด แต่เดิมเขาปลูกฝิ่น ทางราชการบอกว่าผิดกฎหมาย ให้มาปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็ปลูกกาแฟกัน แต่ก็ขายไม่ได้ หันมาปลูกท้อก็ไม่ไหว ปลูกขิงก็เจอเชื้อรา ...ทำทุกอย่างแล้วก็ยังไม่ดี ยังเลี้ยงตัวเองเหมือนระบบเก่าไม่ได้
ก็เลยขายที่ดินให้คนอื่นที่มีฐานะมีเทคโนโลยี
ที่จะทำการผลิตแบบใหม่ได้ซึ่งเขาไม่มี ชาวเขาจึงกลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก ต้องทำงานหนักกว่าเดิม
แต่ก็ยังอยู่ในวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบเดิมไม่ได้ ฉะนั้นเขาก็ต้องลงมาข้างล่าง
"ถ้าหน่วยงานของรัฐแก้ปัญหาต้นทางได้ดี ให้เขามีที่อยู่บนที่สูงอย่างมั่นใจ เด็กชาวเขาก็คงไม่อยากลงมาเร่ร่อนอยู่ในเมือง ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนแปลงที่สูงจนกลายเป็นเมือง แต่หมายความว่าทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิต เขามีสิทธิอยู่ได้ มีการศึกษาที่สามารถเอาไปปรับใช้กับวิถีชีวิตบนที่สูงได้
มีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำ
และรับฟังความคิดเห็นของเขา ให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าทิศทางการพัฒนาของเขาจะเป็นอย่างไร อาจจะเป็นการท่องเที่ยวก็ได้ การเกษตรก็ได้ แต่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วย
"ส่วนรูปแบบการพัฒนาแบบไหนที่จะเหมาะสมเหนี่ยวรั้งให้เขาอยู่ได้ อันนี้ต้องมาคิดร่วมกัน เอาประสบการณ์ที่ผ่านมามาวิเคราะห์กัน เช่นชุมชนที่เคยปลูกกะหล่ำปลีทั้งหมด เกิดปัญหาอย่างไร เอาสิ่งเหล่านี้มาคุยกัน ต่อไปอาจจะได้รูปแบบที่เหมาะสมกว่านี้
ไม่ใช่เข้าไปสู่การผลิตเพื่อเศรษฐกิจทั้งหมด บางส่วนต้องเพื่อยังชีพด้วย"
|
|
|
ฝันในวันมืดมิด
เด็กข้างถนนที่ท่าทางกร้านโลกนั้น ใช่จะเฉยชากับชีวิตเสียทีเดียว ลึก ๆ แล้วบางคนก็มีความฝัน ความปรารถนาบางอย่างฝังอยู่ในใจ...
เป็นความปรารถนาที่แสนจะธรรมดา เช่นว่า
"เป็นคนดีที่สังคมยอมรับเหมือนคนอื่น ๆ และไม่อยากให้สังคมมองพวกเราเป็นกองขยะ"
"อยากมีพ่อแม่ มีบ้านและครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้า"
"อยากพบหน้าและกลับไปอยู่กับพ่อแม่"
"อยากกลับบ้านที่แม่สะเรียง
และอยากเรียนหนังสือสูง ๆ"
"อยากได้อดีตกลับคืนมา"
เป็นบันทึกสั้น ๆ ที่เด็กแต่ละคนเขียนไว้เมื่อครูข้างถนนถามว่า เขามีความฝันอย่างไรในชีวิต
บางความฝันของเด็ก ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นจริง หรืออาจเป็นเพียงภาพฝันที่ลอยคว้างอยู่กลางอากาศ
ห่างไกล
และเลือนลางเกินกว่าที่สองมือจะเอื้อมคว้าถึง ไม่ว่าฝันนั้นจะล่องลอยไปไกลถึงหมู่บ้านบนภูสูงที่เขาจากมา
หรือเป็นแค่ความรักความเข้าใจจากพ่อแม่
ที่อยู่ใกล้กันแค่มือเอื้อม
เราเองคงไม่อาจหยิบยื่นความฝันเหล่านั้น
ให้แก่พวกเขาได้ สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แบ่งพื้นที่ให้เขาได้ยืนบ้าง
แทนที่จะผลักไสให้เขาออกไปอยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคม
และจมดิ่งสู่ขุมนรกอันมืดมิด
|
|
|
"สังคมข้างนอกกับสังคมของพวกผมมันต่างกัน น้อยคนนักจะยอมรับ ไม่มีคนเข้าใจหรอก คนเราเปื้อนดินเปื้อนโคลนอาบน้ำก็หาย แต่คำว่า ขี้คุก ขี้ยา อาบน้ำพันครั้งก็ไม่หาย ทำไมต้องมาซ้ำเติมกัน พวกผมออกจากบ้านมาก็เพราะมีปัญหาทั้งนั้น พอคิดจะเป็นคนดีก็ถูกสังคมรุมอีกว่าเป็นขี้คุกขี้ยา แล้วอย่างนี้จะให้พวกผมเป็นคนดีไปทำไม
"สังคมขี้ยาอย่างพวกผม บางทียังดีกว่าสังคมคนดีข้างนอกอีก พวกผมมีแต่ความจริงใจ ถ้าให้เลือกผมขออยู่อย่างนี้ดีกว่า ถ้าอยู่ข้างนอกแล้วแกล้งทำเป็นคนดีแต่ไม่มีความจริงใจ ใส่หน้ากากเข้าหากัน ผมไม่ใส่ ผมหนักหน้า"
แววตาจริงจังแฝงความตัดพ้อของคนพูดค่อยกลืนไป
กับความมืดที่เข้าครอบคลุมเมืองเชียงใหม่ เด็กหญิงชายเริ่มมานั่งที่ม้านั่งริมถนน
อีกสักครู่ก็คงออกไปกับใครสักคน
และกลับมาพร้อมเงินสักก้อน
หากย้อนวันคืนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ณ ช่วงเวลาเดียวกันนี้ คงเป็นเวลาของการสืบทอดวิถีแห่งชนเผ่า เด็กหญิงเด็กชายคงเอนกายลงบนตักของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชานเรือน รบเร้าจะฟังนิทานใต้แสงดาว
นิทานเรื่องแล้วเรื่องเล่า
ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่น ซึมซับเข้าสู่หัวใจของเด็กน้อยกระทั่ง
ผล็อยหลับไป ...พรุ่งนี้เขาจะตื่นขึ้นมาเพื่อสืบทอดวิถีแห่งชนเผ่าต่อไป
หากแต่ในค่ำคืนนี้ ชีวิตพวกเขายังคงดำเนินไปตามวิถีของเด็กเร่ร่อน
บางทีใครสักคนในหมู่พวกเขา
อาจกำลังจ้องหาดวงดาว
ที่จะนำทางไปสู่ดินแดนที่จากมา
และเฝ้าหวังว่าสักวันจะได้กลับไปใช้ชีวิตปรกติ
ในสังคมของเขาอีกครั้ง
แม้ว่าเพื่อนพ้องคนอื่น ๆ จะยังหลงเพลินไปกับแสงสียามค่ำคืนของเมืองฟ้าแห่งนี้ต่อไป
|
|
|
ขอขอบคุณ
เด็กเร่ร่อนทุกคน
ครูน้ำ ครูเอก พี่พจน์ เอก โอ๋ บอล ซัน ฟอร์ด คาน กั้ง มดแดง และทุก ๆ คนที่กลุ่มอาสาพัฒนาเด็ก
ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ
ชาวบ้านชุมชนหัวฝาย, ชุมชนลอยเคราะห์ ซอย ๓
คุณบุญมี แสวงธรรม หัวหน้ากรมประชาสงเคราะห์ จ. เชียงใหม่
คุณสุนทร ชาญนุวงศ์ พ่อบ้านสถานพินิจและคุ้มครองเด็และเยาวชน จ. เชียงใหม่
|
|
|
เอกสารประกอบการเขียน
ขัตติยา กรรณสูต. วารสารการศึกษาแห่งชาติ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๓๑.
นภมณฑล สิบหมื่นเปี่ยม. เด็กเรร่อนในประเทศไทย. ๒๕๓๖.
วัลลภ ตังคณานุรักษ์. เด็กที่ถูกลืมในสังคมไทย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
จากยอดดอยสู่สลัม, ไม่ทราบชื่อผู้เขียนและสถานที่พิมพ์
|
|
|
|