Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑)
ผลพวงจากวัฒนธรรมการย้ายถิ่นของชาวจีน
อัญชลี ชัยวรพร
   แม้ว่าปีสองปีมานี้จะมีภาพยนตร์ไทยออกฉายน้อยเรื่อง แต่หนึ่งในภาพยนตร์จำนวนน้อยนั้น ก็สามารถแทรกตัวไปยังตลาดหนังต่างประเทศได้ นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง นางนาก ซึ่งถูกซื้อไปฉายในฮ่องกงและสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ผู้กำกับแนวหน้าอย่าง นนทรีย์ นิมิบุตร ก็ได้รับการทาบทามจากบริษัทหนังฮ่องกง แอปพลอส พิกเจอร์ ให้เข้าร่วมโครงการหนังเอเชีย ข่าวคราวเช่นนี้ อาจทำให้ความหวังของวงการภาพยนตร์ไทย ที่มุ่งจะก้าวสู่สากล เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น และบางทีฝันนั้นอาจไปไกลถึงฮอลลีวูด เช่นเดียวกับที่ผู้กำกับฮ่องกงหลายคนทำสำเร็จมาแล้ว
(คลิกดูภาพใหญ่)     นับจากจอห์นวูซึ่งเป็นผู้กำกับจากเอเชียคนแรก ที่กระโดดไปทำหนังในฮอลลีวูด เมื่อปี ๑๙๙๒ นั้น ขณะนี้มีผู้กำกับเกือบ ๑๐ คนที่เจริญรอยตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับไต้หวัน อั้งลี (Sense & Sensibility, 1996) ฉีเคอะ (Double Team, 1997) ริงโก แรม (Maximum Risk, 1996) สแตนลี ตัง (Mr. Magoo, 1997) เคิร์ก หวัง (The Big Hit, 1998) หรือ ปีเตอร์ ชาน (The Love Letter, 1999) ไม่นับผู้กำกับอเมริกันเชื้อสายจีนอย่าง เวย์น หวัง โดยหนทางนี้ยังรวมไปถึงดารานักแสดงอย่าง เฉินหลง, โจวเหวินฟะ, มิเชล เหยา (Tomorrow Never Dies, 1997) หรือ เจ็ตลี (Lethal Weapon 4, 1998) อีกด้วย 
    การดึงคนเก่งจากซีกโลกอื่นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับฮอลลีวูด คนมีฝีมือเดินทางข้ามทวีปมานมนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่ในระยะแรกมีแต่ผู้กำกับ "ฝรั่ง" จากยุโรป (ฮิตช์ค็อก- อังกฤษ, ฟาสบินเดอร์-เยอรมัน, วิม เวนเดอรส์-เยอรมัน) ก่อนที่จะตามด้วยผู้กำกับฝรั่งจากอีกซีกโลกอย่างออสเตรเลีย (บัส เลอแมน-William Shakespear's Romeo + Juliet, 1997) ดังนั้นปรากฏการณ์ของชาวตะวันออกในฮอลลีวูดขณะนี้ มิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้อย่างง่าย ๆ เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรม แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หลายคนแทบจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ก่อนที่จะไปถึงฮอลลีวูด โจวเหวินฟะต้องจ้างครูฝรั่งติดตามเขาไปทุกที่ในฮ่องกง เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ จอห์นวูกับเฉินหลงไปเทคคอร์สส่วนตัวที่อเมริกาหลายปี แต่ในที่สุดพวกเขาก็มีที่ยืนอยู่ได้ โจวเหวินฟะได้รับคัดเลือกให้รับบทนำที่เคยมีแต่ดาราฝรั่งแสดงใน Anna and the King จอห์นวูได้รับเชิญจาก ไมเคิล ดักลาส ให้ไปกำกับ Face/Off ก่อนที่ ทอม ครูซ จะเชิญเขาอีกครั้งสำหรับ M: I-2 ภาค ๒ ของ Mission Impossible ที่กำลังกวาดรายได้อย่างถล่มทลายในอเมริกาช่วงซัมเมอร์ปีนี้ 
      บริบทสำคัญในความสำเร็จครั้งนี้ มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความนิยม ในวัฒนธรรมตะวันออกของฝรั่ง (orientalism) ดังที่นักวิจารณ์ฮ่องกงเคยกล่าวปรามาสไว้ แต่หนทางสู่ความสำเร็จนั้นมาจาก "โอกาส" และ "ตลาด" ที่ปูพื้นฐานไว้ก่อนหน้าที่ผู้กำกับเหล่านี้ จะเดินทางไปฮอลลีวูดเสียอีก 
    จีนนั้นถือเป็นชนชาติที่รักการอพยพอย่างไม่ต้องสงสัย สังเกตได้จากไชน่าทาวน์ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นแอลเอ นิวยอร์ก แวนคูเวอร์ โตรอนโต ลอนดอน เมลเบิร์น เพิร์ท โอกแลนด์ และทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือแม้แต่ไทยเอง ในระยะแรกก็จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนชนชาติอื่น ๆ แต่พออยู่ไปนาน ๆ ก็เข้าแทรกซึม เป็นหนึ่งเดียวกับชนชาติผู้เป็นเจ้าของประเทศ
    ชุมชนจีนที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก คือช่องทางของหนังจีน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แม้ละครไทย หนังไทย ก็ถูกส่งไปเผยแพร่ในหมู่คนไทยในเมืองนอกไม่เว้นแต่ละวัน หนังจีน หนังฮ่องกง กระจายไปสู่กลุ่มคนจีนในลักษณะเดียวกัน ต่างกันตรงที่กลุ่มแฟนหนังจีนมีมากกว่า และกระจายไปทั่วโลก โดยมีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในตลาดสำคัญของหนังจีนก็คือประเทศไทยนั่นเอง
    ลูกจีนในเมืองไทยแทบทุกคนคุ้นหูชื่อดาราอย่าง ฉินฮั่น, หลินชิงเสีย, ตี้หลุง, เดวิด เจียง เป็นอย่างดี จากนั้นก็มาถึงยุคของหนังทีวีฮ่องกงซึ่งโด่งดังมากขนาด ไทยรัฐ นำไปพาดหัวข่าวเมื่อถึงตอนอวสาน หลายคนคงจำหนังทีวียอดฮิตเรื่อง เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ และ คมเฉือนคม ได้ดี เพราะเป็นละครโทรทัศน์ที่โด่งดังมากในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๐ ต่อมาก็ถึงยุคหนังฮ่องกงอย่าง โหด เลว ดี (A Better Tomorrow) ซึ่งสร้างชื่อให้แก่จอห์นวูเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะตามมาด้วยขบวนผู้กำกับฮ่องกงอีกหลายคน 
    ปรากฏการณ์เช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมจีนในเมืองไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย มิหนำซ้ำยังได้รับการตอบรับดียิ่งกว่า เพราะคนจีนในมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ใช้ภาษากวางตุ้งเหมือนที่ฮ่องกง ที่สำคัญก็คือ บริษัทจัดจำหน่ายหนังในประเทศแถบนี้ ก็ล้วนแต่เป็นคนจีน และมีเครือข่ายติดต่อกัน ยุคหนึ่งถึงกับร่วมทุนสร้างหนังด้วยกัน ตลาดหนังจีนในต่างประเทศจึงมีมานานแล้ว เริ่มจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน โดยมีหนังฮ่องกงเป็นผู้ครองตลาดส่วนใหญ่ ยกเว้นในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๐ ที่ผู้นำประเทศอาเซียนกลัวว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะแฝงเร้นมากับภาพยนตร์ หนังไต้หวันจึงก้าวขึ้นสู่ความนิยมแทน ก่อนที่หนังฮ่องกงจะกลับมาอีกครั้งกับผลงานของจอห์นวูในทศวรรษ ๑๙๘๐ จนทำให้อุตสาหกรรมหนังฮ่องกง เติบโตเป็นลำดับสามของโลก รองจากอินเดียและฮอลลีวูด
 (คลิกดูภาพใหญ่)     การขยายตัวของหนังฮ่องกงก็เริ่มมาจากฐานกลุ่มนี้ ก่อนที่จะกระจายไปทั่วทวีปเอเชีย และชุมชนจีนในประเทศต่าง ๆ จนถึงอเมริกาในที่สุด และได้กลายเป็นก้าวกระโดดสำคัญ ทั้งนี้เพราะลักษณะทางกายภาพของอเมริกา สนับสนุนการขยายกลุ่มแฟนหนังฮ่องกงได้อย่างดีที่สุด อเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ อพยพมาจากทุกสารทิศ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกยังคงหลั่งไหลเข้าอเมริกา ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยผ่านระบบการศึกษา การค้า วัฒนธรรมหรือการเมือง จากการสำรวจประชากรในปี ๑๙๘๐ พบว่าในอเมริกามีประชากรที่ไม่ใช่คนอเมริกันแท้หนึ่งในห้าของพลเมือง ปี ๑๙๙๐ เปลี่ยนเป็นหนึ่งในสี่ และถึงปี ๒๐๕๖ นิตยสาร ไทม์ ทำนายไว้ว่า คนผิวขาวจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในอเมริกา 
    ความหลากหลายของคนในชาติ ช่วยสร้างช่องทางในอเมริกาให้แก่ ผลงานภาพยนตร์จากนานาประเทศได้เป็นอย่างดี นอกจากหนังจีนแล้ว ก็มีหนังไทย หนังของคนยิว หนังอินเดีย หนังอิตาลี หนังเม็กซิกัน หนังกรีก และถึงขนาดญี่ปุ่น มีบริษัทจัดจำหน่ายหนังชื่อโตโฮอยู่ในอเมริกา เพียงแต่ว่าหนังจีนโดยเฉพาะฮ่องกงมีการเติบโตที่ดีกว่า 
    ลักษณะหนังฮ่องกงที่เป็นหนังแอ็กชั่น มีส่วนช่วยขยายฐานกลุ่มแฟนหนังไปสู่กลุ่มอื่นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แม้ว่าหนังฮอลลีวูดจะมีคุณภาพดีกว่าก็ตาม แต่หนังฮ่องกงก็ยังได้รับความสนใจในฐานะหนังนอกกระแส บรรดานักเล่นกังฟู หรือนักเพาะกายต่างก็ชอบดูหนังฮ่องกง เพื่อประกอบการฝึกฝน ว่าที่จริงแล้ว ความนิยมหนังกังฟูมีมาตั้งแต่สมัยหนังบรูซลีแล้ว ถึงขนาดค่ายทหารใช้หนังของเขาเป็นต้นแบบการฝึกกังฟูขนานแท้ 
    อาจเป็นเรื่องคาดไม่ถึง ถ้าจะบอกว่าแฟนประจำอีกกลุ่มของหนังฮ่องกงคือกลุ่มคนดำ 
    หลักฐานสนับสนุนก็จากภาพยนตร์เรื่อง Jackie Brown (Quentin Tarantino, 1998) เมื่อผู้ร้ายผิวดำอย่าง ซามูเอล แจ็กสัน พาดพิงถึงรสนิยมการใช้ปืนในหมู่คนดำ ว่าเป็นอิทธิพลจากหนังฮ่องกง และเขาเองนั้นแหละที่เป็นผู้บอกกับ เดวิด เลตเตอร์แมน ประธานค่ายหนังอเมริกันแห่งหนึ่งว่า โจวเหวินฟะเป็นดาราหนังใหญ่ กลุ่มแฟนที่ชอบหนังแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่าง cult movie ก็เป็นฐานสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง โดยมีแฟนคนสำคัญชื่อ เควนติน ตารันติโน (Pulp Fiction, 1994) ซึ่งเคยทำงานร้านวิดีโอก่อนมาเป็นผู้กำกับ ทำให้เขามีโอกาสได้ดูหนังฮ่องกงเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดประกาศตนว่า ชื่นชอบหนังของจอห์นวูเป็นพิเศษ 
    ความนิยมของกลุ่มแฟนหนังนอกกระแสเหล่านี้มิได้เพียงดูหนังแล้วนิ่งเงียบ 
    แต่มีการเคลื่อนไหวตามสื่อและสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้นว่าเขียนบทวิจารณ์ลงหนังสือเฉพาะกลุ่ม บริการให้เช่าวิดีโอ บอกกล่าวข่าวสารไว้ที่ร้านจำหน่ายอุปกรณ์เพาะกาย สมาคมกังฟู หรือตามเว็บไซต์ของชมรมหนังนอกกระแสต่าง ๆ ทั้งในมหาวิทยาลัย และที่อื่น ๆ ตั้งแต่ Pittsburgh.edu จนถึง http://hkcinema ที่อเมริกา หรือ http://madeinhongkong ในอังกฤษ
      สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังฮ่องกงเป็นที่นิยมในกลุ่มแฟนหนังนอกกระแส ก็เพราะลักษณะผสมผสาน ที่แฝงเร้นในงานเหล่านี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอเมริกาเป็นดินแดนที่ประกอบไปด้วยผู้อพยพ ในภาวะของการเป็นผู้อพยพนั้น จะต้องเผชิญกับการปรับตัวมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของตัวตน (identity) เพราะพวกเขาต้องอยู่ระหว่างการปะทะของวัฒนธรรมเก่า ที่จากมากับวัฒนธรรมใหม่ ที่กำลังดำรงชีวิตอยู่ พวกเขายังคงรักษาวัฒนธรรมของบ้านเดิมไว้ แต่ก็เปิดรับวัฒนธรรมของบ้านใหม่ด้วย ทำให้พวกเขาเป็น "ลูกผสม" (a hybrid person) ทางวัฒนธรรม กล่าวคือ พวกเขาอาจจะยังคงวิถีชีวิตแบบเดิมในดินแดนใหม่ แต่ถ้าจะให้กลับไปอยู่บ้านเดิมอีกก็เป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าบ้านใหม่เป็น "ถิ่น" ของเขาเสียทีเดียว ตัวอย่างของลูกผสมทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ดูได้จากคนไทยที่ไปเติบโตในต่างประเทศ เมื่อกลับมาเมืองไทยจะรู้สึกแปลกถิ่นแปลกที่ บางคนถึงกับรับไม่ได้เลยก็มี แต่เมื่อกลับไปอเมริกาก็ใช่ว่าจะกลายเป็นฝรั่งเต็มตัว เขาอาจจะชอบกินข้าวกับแกงเผ็ด มีนิสัยบางอย่างแบบคนไทยแท้ ลักษณะเช่นนี้จะเกิดกับคนร่วมสมัยมากขึ้นทุกที เพราะโลกปัจจุบันถูกย่อให้เล็กลงด้วยการสื่อสาร และการติดต่อข้ามประเทศ ตัวตนของการผสมผสานถูกสร้างขึ้น พวกเขากลายเป็นผลผลิตของบ้านหลาย ๆ บ้าน มิได้มีลักษณะเฉพาะของบ้านใดบ้านหนึ่ง
    หนังฮ่องกงก็ให้ความรู้สึกของการเป็น "ลูกผสม" เช่นเดียวกันนี้ และถ้าจะสังเกตให้ดีแล้ว เราอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมหนังจากจีนหรือไต้หวัน ไม่ได้รับการตอบสนองในลักษณะเดียวกัน ทั้งที่มีแฟนหนังจากกลุ่มคนจีนอพยพเหมือนกัน คำตอบคือ เพราะสภาพของฮ่องกง ให้ความรู้สึกของการเป็นรอยแตกทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับลูกผสมในดินแดนอื่น คนจีนในฮ่องกงมากกว่าครึ่งมีรากของการย้ายถิ่น แม้กระทั่งจอห์นวูเองก็อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งล้าสมัยและมีแต่ความยากลำบาก เมื่อนั่งเรือข้ามมาฮ่องกง เขาก็ได้เผชิญกับโลกใบใหม่ เช่นเดียวกับผู้ที่อพยพไปสู่ดินแดนแห่งความทันสมัยอย่างอเมริกา ภาวะของการปะทะทางวัฒนธรรม มิได้จำกัดด้วยระยะทางระหว่างดินแดนสองแห่ง แต่ด้วยลักษณะความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างบ้านเก่า และบ้านใหม่ เหมือนอย่างที่คนกรุงบางคนรู้สึกแปลกถิ่น เวลาไปบ้านนอกมากกว่าไปเมืองนอกเสียอีก 
      ลักษณะวัฒนธรรมในฮ่องกงมีความเป็นลูกผสมอยู่สูง จากการที่ให้อังกฤษเช่าเกาะมานานนับศตวรรษ จนคนลืมความจริงไปว่า ฮ่องกงเป็นเพียงเกาะเกาะหนึ่งในเขตแดนของจีน แต่ทำไมเมื่อคนเดินทางไปถึงที่นั่น กลับมีความรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางเข้าไปในอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะฮ่องกงเป็นอาณาเขตของสังคมเมือง เป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญสูงมาก เป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย เป็นปากทางก่อนเข้าเขตจีน และเป็นก้นอ่าวที่ตะกอนวัฒนธรรมตะวันตก ไหลมารวมกับวัฒนธรรมตะวันออก ฮ่องกงมีความเจริญเติบโตทางกายภาพ ไม่ต่างจากเมืองฝรั่งอย่างลอนดอน แต่คนฮ่องกงเองยังคงรักษาความเชื่อ และวัฒนธรรมเดิมไว้อย่างเคร่งครัด แท้จริงแล้วฮ่องกงเป็นลูกผสมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ระหว่างความเก่ากับความใหม่ ระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับโพสต์โมเดิร์น 
    คนจีนในฮ่องกงจึงมีความรู้สึกเป็น "ลูกผสม" เช่นเดียวกับผู้อพยพในอเมริกา และในดินแดนต่าง ๆ เพียงแต่ความรู้สึกแปลกแยกอาจน้อยกว่า เพราะช่องว่างระหว่างสองวัฒนธรรมไม่ได้ต่างกันมากนัก คนจีนในฮ่องกงยังคงรู้สึกว่าฮ่องกงคือบ้าน ถ้าจะไม่เกิดสัญญาณเตือนภัยในปี ๑๙๘๔ เมื่อ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เดินทางไปเกาะฮ่องกง เพื่อเซ็นสัญญาว่าจะคืนเกาะให้แก่จีนในปี ๑๙๙๗ จากสภาพของการเป็นคนทันสมัยแบบลูกผสม คนฮ่องกงเริ่มไม่มั่นใจบ้านของตัวเองเป็นครั้งแรก และตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากบ้านกลับไปอยู่ในมือผู้บริหารที่เข้มงวด คนฮ่องกงเริ่มขอเปลี่ยนสัญชาติ หรืออพยพไปอยู่ที่อื่นกันมากขึ้น ช่วงเดียวกันนี้เองที่หนังฮ่องกงเริ่มฮิตทั่วเอเชีย ก่อนที่จะขยับขยายไปสู่โลกตะวันตกในช่วงปลายทศวรรษ การตั้งคำถามในตัวตนเริ่มเด่นชัดขึ้นในภาพยนตร์ฮ่องกงรวมทั้งงานของจอห์นวูเอง 
    ในหนังแอ็กชันฉบับฮ่องกงของจอห์นวู มักจะมีตัวละครเอกตัวหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นคนเหงา และไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีพ่อไม่มีแม่ บางครั้งไม่มีบ้าน ไม่มีตัวตน บทของเหลียงเฉาเหว่ยใน Hard Boiled นั้น ที่อาศัยของเขาอยู่บนเรือ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่จะเคลื่อนที่ไปไหนก็ได้ เมื่อถูกถามว่าเขาเป็นใครกันแน่ เขาก็ตอบแบบกวนอารมณ์ว่า เป็นคนเลวของตำรวจ เป็นพวกทรยศของผู้ร้าย และเป็นลูกของแม่คนหนึ่ง โจวเหวินฟะใน The Killer ไม่มีใครเลย มีแต่เพื่อนที่เป็นมือปืนเพียงคนเดียว ลักษณะเหมือนกับจะเป็นพวกคนนอกอย่างพวก existentialist ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ แต่ก็ไม่ใช่เพราะตัวละครเหล่านี้ต่างต้องการบ้าน จึงแสดงความรู้สึกออกมาในลักษณะการเป็นคนเหงา และหาทางออกโดยการใช้ปืน
    ความรู้สึกร่วมในการเป็นคนนอกสังคมคือคำตอบอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังฮ่องกงเป็นที่นิยม
    ในกลุ่มคนนอกกระแสอย่างชาวจีนอพยพ คนดำ หรือคอหนังนอกกระแส เพราะหนังได้ตอบสนองอารมณ์เบื้องลึก ของการเป็นคนนอกด้วยกัน งานของจอห์นวูจึงเปรียบเสมือนเป็นแฟนตาซี ที่คนนอกสังคมรู้สึกว่า หัวใจของพวกเขาได้รับการเติมเต็ม จากแฟนตาซีในหมู่คนจีนทั่วโลก ต่อมาก็คือแฟนตาซีในหมู่คนนอก ก่อนที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับกรอบวัฒนธรรมมวลชนเมื่อเข้าสู่ระบบฮอลลีวูด 
    อาจกล่าวได้ว่า เส้นทางสู่ฮอลลีวูดของจอห์นวูและผู้กำกับฮ่องกงนั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยทางวัฒนธรรมหลายประการ มิใช่เพียงเพราะเป็นหนังแอ็กชันเท่านั้น 
    ที่สำคัญก็คือ การที่บริบททางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในหนังฮ่องกงนั้น สอดคล้องกับบริบททางสังคมอเมริกัน และสังคมของชนกลุ่มน้อยได้อย่างพอเหมาะพอดีนั่นเอง  และเมื่อแฟนหนังของจอห์นวู และหนังฮ่องกงเริ่มมีมากขึ้น ก็ไม่ยากเลยที่ฮอลลีวูดจะซื้อตัวผู้กำกับฮ่องกงไป เช่นเดียวกับที่เคยซื้อตัวผู้กำกับฝรั่งมาก่อนหน้านี้

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?

เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | มองปราสาทหิน จากมุมสูง | เด็กเร่ร่อน เมืองเชียงใหม่ จากขุนเขา สู่บาทวิถี | เมื่อหมี เป็นผู้อุปถัมภ์ เอ็นจีโอ | รถไฟขบวนไม่สุดท้าย | ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก | จะ "อ่าน" วรรณกรรม ตามใจใครดี | ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน | โครงการท่อก๊าซ ไทย-พม่า กับคำเตือนที่เป็นจริง | จอห์นวู กับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจาก วัฒนธรรมการย้ายถิ่น ของชาวจีน | เปต-เปรต |เฮโลสาระพา

Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai | Sandstone Temples and Their Civilization  | Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail