Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน
อัมพร จิรัฐติกร ampornfa@yahoo.com
   หากลองตั้งคำถามกับนักวาดการ์ตูนสักคนหนึ่งว่า เขาคิดว่าการ์ตูนนั้นเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่  
   
คำตอบที่ได้คงเป็นคำว่า ไม่ เพราะคงไม่มีนักวาดการ์ตูนคนไหนอาจหาญที่จะกล่าวว่า การ์ตูนที่เขาวาดนั้นเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่แม้การ์ตูนจะไม่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นจะเปลี่ยนแปลงโลกหรือสังคม ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การ์ตูนนำมาซึ่งความสุข เสียงหัวเราะ และความบันเทิงใจแก่ผู้อ่าน และการ์ตูนนั้นก็อาจจะกลายเป็นอาวุธติดปลายหอกด้วยอารมณ์ขัน ที่มีพลังถึงขั้นสั่นคลอนอำนาจที่ดำรงอยู่ได้เลยทีเดียว
(คลิกดูภาพใหญ่)     การ์ตูนของ ประยูร จรรยาวงษ์ ช่วงจอมพล ถนอม กิตติขจร ครองอำนาจ ที่วาดเป็นรูปตัวเขาเองกับปากที่ถูกเย็บ ลงตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ กับการ์ตูนของ ชัย ราชวัตร ที่ประท้วงเงียบต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภา ด้วยการให้หมู่บ้านทุ่งหมาเมินของเขาเกิดโรคระบาดร้ายแรงพร้อม ๆ กับภัยแล้งกระหน่ำซ้ำเติม จนเสียงสรวลเฮฮาของผู้ใหญ่มาและไอ้จ่อยหายไปพร้อมกับตัวแสดงทุกตัว
    เป็นตัวอย่างที่บอกให้เราเห็นว่า ในความ "น่าหัวเราะ" และ "ล้อเล่น" ของการ์ตูนนั้น มันมีพลังที่ท้าทายอำนาจมืดได้ไม่น้อย
อันที่จริงการ์ตูนเป็นวัฒนธรรมของนอก ที่ประเทศในแถบนี้นำเข้ามาจากตะวันตกในชั่วเวลาไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง การ์ตูนในระยะแรกที่ปรากฏโฉมหน้าในประเทศต่าง ๆ อย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ได้รับอิทธิพลจากตัวการ์ตูนฝรั่งอย่างมิกกี้เมาส์และป็อปอายอย่างเด่นชัด
    นักวาดการ์ตูนชื่อดังของมาเลเซียเล่าว่า เขานั้นเรียนรู้วิธีการวาดการ์ตูนจากเศษกระดาษหนังสือพิมพ์ชั่งกิโลขายของอังกฤษ ที่มักจะมีหน้าการ์ตูนสำหรับเด็ก วาดเป็นภาพตัวการ์ตูนอย่าง บีโน แดนดี้ และ ทอปเปอร์ เด็ก ๆ สมัยนั้นจะเริ่มหัดลอกตัวการ์ตูนจากกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ๆ พวกนี้ และกลายเป็นนักวาดการ์ตูนในเวลาต่อมา
    การ์ตูนไทยเล่มแรก ๆ ที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น อย่าง สิงห์เชิ้ตดำ และ หนูเล็กกับลุงกร ในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการ์ตูนวอล์ตดิสนีย์อย่างป็อบอายและมิกกี้เมาส์อย่างเด่นชัด นั่นรวมถึงการ์ตูนของ วิตต์ สุทธเสถียร ที่วาดลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๙ ที่หยิบยืมบุคลิกของป็อปอายและโอลีฟมาสร้างเป็นเรื่องราวขำขันให้เข้ากับมุขแบบไทย ๆ
    แต่แม้จะรับของนอกเข้ามา ในยุคต่อมาการ์ตูนก็แปลงร่าง สวมเสื้อผ้าใหม่ขจัดกลิ่นนมเนยออกไป กลายเป็นวัฒนธรรมของชาตินั้น ๆ ไปได้อย่างกลมกลืน ทั้งรูปร่างตัวการ์ตูน และการผูกเรื่องราว มาเลเซียนิยมเอาตัวการ์ตูนไปใช้กับวรรณกรรมหรือนิทานท้องถิ่น เช่นเดียวกับไทยที่ผลิตการ์ตูนเล่มละบาทโดยเอาเรื่องราวของนิทานท้องถิ่นมาเล่าผ่านตัวการ์ตูน ประยูร จรรยาวงษ์ ก็โด่งดังมาจากการ์ตูน "จันทโครพ" และ ฉันท์ สุวรรณะบุณย์ ก็เคยนำเรื่องราวใน โลกนิติ คำโคลงมาทำให้ง่ายขึ้นโดยผ่านการ์ตูน
 (คลิกดูภาพใหญ่)     นอกจากการ์ตูนเป็นเล่ม ๆ ที่เรียกว่า comic book แล้ว การ์ตูนอีกประเภทหนึ่งที่ประเทศในแถบอุษาคเนย์รับเข้ามาจากตะวันตกพร้อม ๆ กับกำเนิดของหนังสือพิมพ์ก็คือ "การ์ตูนการเมือง"
    การ์ตูนการเมืองโดยส่วนใหญ่ มักจะวางอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เคียงข้างกับบทบรรณาธิการ ด้วยเหตุนี้ในภาษาฝรั่งจึงเรียกการ์ตูนการเมืองในอีกชื่อหนึ่งว่า editorial cartoon
    เป็นเรื่องน่าสนใจที่กำเนิดของการ์ตูนการเมืองในประเทศแถบอุษาคเนย์นั้น เกี่ยวพันกับคนระดับสูงอย่างผู้นำของประเทศต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้นอาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่วาดการ์ตูนการเมืองคนแรกคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวาดการ์ตูนล้อสมาชิกสภาของพระองค์เองตีพิมพ์ใน ดุสิตสมิต และในอินโดนีเซีย ซูการ์โนได้รับเครดิตในฐานะเป็นคนแรกที่นำการ์ตูนเสียดสีมาใช้ในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ โดยมีจุดหมายเพื่อเรียกร้องให้ดัตช์ปลดปล่อยชาติอินโดนีเซียจากการเป็นอาณานิคม
    กษัตริย์นโรดม สีหนุ แห่งกัมพูชา ก็ให้กำเนิดการ์ตูนการเมืองในประเทศเขมร โดยให้นักวาดการ์ตูนวาดรูปตัวการ์ตูนเป็นพระองค์เองในบุคลิกฉลาดเฉลียว และเป็นนักปราชญ์ เพื่อบอกให้โลกรับรู้ว่านี่คือตัวตนของเจ้านโรดม สีหนุ
 (คลิกดูภาพใหญ่)     แต่แม้จะกำเนิดจากคนชั้นสูง จากผู้นำประเทศ ในยุคต่อมาการ์ตูนการเมืองก็เปลี่ยนมาอยู่ในมือของประชาชน ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม เหตุการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองผ่านตัวการ์ตูน ด้วยอารมณ์ขัน ด้วยความรอบคอบและปลายปากกาที่แยบยล
    ด้วยบทบาทของการ์ตูนการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เปิดหูเปิดตาประชาชนให้มองเรื่องราวนั้นใหม่ ๆ อีกครั้งด้วยอารมณ์ขัน จึงทำให้มีผู้เปรียบการ์ตูนการเมืองว่าเป็นเหมือนกับ "เด็ก" ที่ชี้ให้เห็นว่า "พระราชาไม่สวมเสื้อ" และด้วยเหตุนี้ก็ไม่น่าแปลกใจนักที่นักวาดการ์ตูนในประเทศอุษาคเนย์หลายคนต้อง "จ่าย" ค่าตอบแทนการวาดการ์ตูนการเมืองในราคาสูงลิ่ว ชัย ราชวัตร ถูกแบล็กลิสต์ในช่วง ๖ ตุลาคม ๑๙ จนต้องเดินทางไปอยู่อเมริกา ก่อนที่อุณหภูมิการเมืองจะสงบลงและเปิดโอกาสให้เขาเดินทางกลับประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ แต่คนอื่น ๆ ไม่โชคดีเช่นนี้ นักวาดการ์ตูนของอินโดนีเซียถูกสั่งห้ามวาดหรือแสดงงานใด ๆ เป็นเวลานานหลายสิบปี นักวาดการ์ตูนในพม่าบางคนก็ถูกจับ และบางคนตายในคุก 
    ทุกวันนี้ก็ยังมีหลาย ๆ ประเทศที่นักวาดการ์ตูนไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ เพราะระบบเซ็นเซอร์ของรัฐ เวบไซต์ www.indexoncensorship.org ที่รวบรวมเรื่องของการ์ตูนที่ถูกเซ็นเซอร์ในประเทศต่าง ๆ บอกให้เรารู้ว่าทุกวันนี้ยังมีหลาย ๆ ประเทศในโลกที่เซ็นเซอร์การ์ตูน อย่างเช่น จีน อินเดีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อิหร่าน และพม่า
    แม้การ์ตูนจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ การรู้จักวัฒนธรรมการ์ตูนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็อาจบอกเล่าเรื่องราว พัฒนาการและตัวตนของประเทศนั้น ๆ ให้เรารับรู้ได้ไม่น้อย และต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการ์ตูนการเมืองในสองประเทศ ที่ระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่น่าประหลาดใจที่เรื่องราวการ์ตูนการเมืองของสองประเทศนี้มีอะไรที่คล้าย ๆ กันอยู่ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     การตูนนิสต์ชาวสิงคโปร์คนหนึ่งกล่าวว่า การ์ตูนการเมืองในสิงคโปร์นั้นวาดไปก็ไร้ความหมาย 
    พร้อมกับกล่าวว่า หากให้คำนิยาม "การ์ตูนการเมือง" ในความหมายของการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมุ่งที่จะเสียดสีประชดประชันนักการเมืองและนโยบายของเขา ด้วยจุดหมายเพื่อจะผลักดันให้การเมืองเดินหน้าไปอย่างซื่อตรงและซื่อสัตย์แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า
    ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าการ์ตูนการเมืองอย่างแท้จริงในสิงคโปร์ 
    ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หลังจากปกครองสิงคโปร์มานาน อังกฤษก็เริ่มปล่อยให้สิงคโปร์จัดตั้งรัฐบาลเป็นของตนเอง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น และก่อนหน้าที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสิงคโปร์จะเริ่มขึ้น ตัน ฮวย เป็ง ศิลปินชาวสิงคโปร์ ก็วาดภาพการตูนล้อการเมืองออกมาภาพหนึ่ง ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตไทม์ (The Straits Time) การ์ตูนของเป็งวาดเป็นรูปการต่อสู้บนสังเวียนมวย ที่มีนักการเมืองสองฝ่ายกำลังชกกันอย่างดุเดือด ชนิดใครพลาดพลั้งก็คือหลุดจากสังเวียนไปเลย ภาพของเป็งเป็นภาพการ์ตูนล้อที่ใครดูก็รู้ว่า นักมวยทั้งสองฝ่ายคือ เดวิด มาร์แชล และลิมยูฮอก นักการเมืองจากสองพรรคที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในเวลานั้น 
(คลิกดูภาพใหญ่)     แต่ในขณะที่กลางสังเวียนกำลังต่อสู้กันอย่างชุลมุนนั้น ที่มุมซ้ายมีชายคนหนึ่งนั่งอยู่อย่างเงียบ ๆ ราวกับรอให้เกมจบ แล้วตัวเองก็จะก้าวเข้ามาคว้าแชมป์ไปครอง ชายคนนั้นเป็นใครไปไม่ได้นอกจากลีกวนยู
    นี่คือตัวอย่างของการ์ตูนการเมืองที่เคยมีอยู่ในสิงคโปร์ แต่ก็เป็นสิงคโปร์ช่วงที่ยังอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ หากหลังจากนั้นไม่กี่เดือน เมื่อสิงคโปร์จัดการเลือกตั้งเสร็จ พรรค PAP (The People's Action Party) ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ ลีกวนยูขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร การ์ตูนการเมืองใน เดอะสเตรตไทม์ ก็เริ่มเปลี่ยนไป การ์ตูนในหน้าหนังสือพิมพ์ ลดบทบาทลงเพียงเป็นเครื่องมือที่คอยสะท้อนนโยบายของรัฐ อย่างไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีความเห็น 
    ลองดูตัวอย่างการ์ตูนชิ้นหนึ่ง หลังจากที่ลีกวนยูก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ภาพการ์ตูนแสดงให้เห็นฉากบนเวที ฟากซ้ายลีกวนยูเชิดสิงโตเข้ามา ตามหลังด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติในสิงคโปร์ ทั้งจีน มาเลย์ อินเดีย ฟากขวามีคนจีน มาเลย์ อินเดียถือลูกบอลเข้ามาห้าลูก เขียนว่า "ประชาธิปไตย" "สันติภาพ" "ยุติธรรม" "ก้าวหน้า" และ "เท่าเทียม" อันเป็นอุดมการณ์ของชาติที่ปรากฏอยู่ในสัญลักษณ์ดาวห้าดวงบนธงชาติสิงคโปร์
 (คลิกดูภาพใหญ่)     มุมซ้ายมีป้ายเขียนว่า Act 1 Scence 1 มุมขวามีป้ายงบประมาณของปีต่อไป ๙๘๖ ล้านเหรียญเพื่อการพัฒนาชาติสิงคโปร์ 
    การ์ตูนชิ้นนี้บอกเล่าเรื่องราวง่าย ๆ ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของลีกวนยู กำลังนำพาประเทศไปสู่อุดมการณ์ประชาธิปไตย สันติภาพ ยุติธรรม ก้าวหน้า และเท่าเทียม และภายใต้งบประมาณเหล่านี้ชาติสิงคโปร์จะต้องเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน 
    การ์ตูนชิ้นนี้ทำให้รัฐบาลยิ้มออกไปหลายวันเลยทีเดียว
    ถามว่าเหตุใดการ์ตูนการเมืองในสิงคโปร์จึงต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ไปเช่นนั้น ก็อาจตอบได้ว่า เป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสร้างชาติ ของการรวมคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และของการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ การ์ตูนการเมืองมองบทบาทตัวเองเป็นเสมือนกลจักรเล็ก ๆ อันหนึ่งที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันชาติสิงคโปร์ให้ก้าวไปข้างหน้า
    ประวัติศาสตร์การ์ตูนการเมืองในสิงคโปร์นั้นนับว่าน่าสนใจไม่น้อย หลังจากการ์ตูนการเมืองหันมาทำหน้าที่เชียร์รัฐบาล สร้างความเป็นชาติ ต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสองปี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ หนังสือพิมพ์ เดอะสเตรทไทม์ ก็ตัดสินใจปิดฉากการ์ตูนการเมืองลง เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึงเกือบ ๒๐ ปีที่ไม่มีการ์ตูนการเมืองปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     นี่อาจเป็นเรื่องประหลาดที่ไม่มีประเทศไหนทำกันก็ได้ กับการที่จู่ ๆ ลุกขึ้นมาปิดกรอบการ์ตูนการเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์ของตัวเองลง แต่นี่แสดงให้เห็นว่าทั้งรัฐบาลและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์
    เดอะสเตรตไทม์ เองมองเห็นพลังอำนาจของการ์ตูน ที่ทั้งยั่วล้อและทำให้นักการเมืองกลายเป็นตัวตลกได้ง่ายๆ รัฐบาลสิงคโปร์เองก็ดูเหมือนจะไม่ชอบใจนักที่การเมืองกลายเป็นของล้อเล่นเช่นนี้ ประกอบกับช่วงเวลานั้นสภาพเหตุการณ์บ้านเมืองยังวุ่นวาย นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลเดินเข้าคุกกันเป็นว่าเล่น บรรณาธิการเดอะสเตรทไทม์จึงตัดสินใจปิดฉากการ์ตูนการเมืองลงเป็นเวลายาวนานเกือบ ๒๐ ปี 
      ด้วยเหตุผลที่ว่า ปลอดภัยดีกว่าเสียใจภายหลัง
    การ์ตูนการเมืองกลับมาปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์สิงคโปร์อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลังจากเงียบหายไปนานถึง ๑๘ปี การกลับมาครั้งนี้ถือเป็นการ "ชิมลาง" ว่าการ์ตูนการเมืองสมควรจะมาปรากฏโฉมเป็นการถาวรหรือยัง โดย เดอะสเตรตไทม์ จ้างนักวาดการ์ตูนคนหนึ่งซึ่งใช้นามปากกาว่า แซม วาดการ์ตูนเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า การ์ตูนของแซมลงตีพิมพ์ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ วาดเป็นเรื่องราวขำขัน แก๊กต่าง ๆ โดยไม่พาดพิงถึงนักการเมืองหรือการเลือกตั้งใด ๆ เลย เพียงแต่ใช้การเมืองเป็นฉากหลังเท่านั้น
    ตัวอย่างชิ้นหนึ่งของการ์ตูนในชุดนี้ เป็นภาพการปราศรัยบนเวทีหาเสียง เมื่อนักการเมืองจบการปราศรัยของเขาแล้ว ก็หันมาถามประชาชนที่ฟังอยู่ว่า "มีใครมีคำถามอีกไหม" ตาแก่คนหนึ่งยกมือถามขึ้นมาว่า 
(คลิกดูภาพใหญ่)     "ผมเพิ่งมาอยู่ใหม่ครับ อยากทราบทางไปแฟลตบล็อกที่ ๑๐๗๙ ชั้น ๑๒ ห้องเบอร์ ๓๖๕"
    แม้จะล้อเล่นด้วยมุขตลกเบา ๆ เพื่อความบันเทิงและรอยยิ้มของคนอ่าน แต่นายกรัฐมนตรีลีกวนยูก็ยังไม่พอใจการกลับมาปรากฏของการ์ตูนการเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์เช่นนี้อยู่ดี ลีกล่าวว่า
    "การเมืองไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ การเลือกตั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าหัวเราะ และไม่ใช่เกมที่สมควรจะเอามาล้อในการ์ตูน"
    หลังจากชิมลางดูแล้วเห็นว่าอุณหภูมิการเมืองยังไม่ปลอดภัยนัก บรรณาธิการ เดอะสเตรตไทม์ ก็ตัดสินใจลดรูปกรอบการ์ตูนในหน้าหนังสือพิมพ์ลงมาเหลือแค่กรอบวันอาทิตย์ และการกลับมายืนบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ครั้งนี้ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับมาของการ์ตูนการเมือง เพราะมันทำหน้าที่เพียงแค่บอกกล่าวให้ประชาชนรับรู้นโยบายใหม่ ๆ ของรัฐด้วยการ์ตูนเท่านั้น
      กล่าวได้ว่าการ์ตูนการเมืองในสิงคโปร์นั้นจืดสนิท เรื่องราวที่นำเสนอในการ์ตูนส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อการเมืองโลก หรือไม่ก็ลงภาพการ์ตูนของ "ลัต" นักวาดการ์ตูนชื่อดังของมาเลเซียที่นิยมวาดภาพเกี่ยวกับสังคมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนมาเลย์ ถ้าจะมีพูดถึงการเมืองสิงคโปร์อยู่บ้างก็เบาบางและจืดชืดไร้รสชาติอย่างยิ่ง 
    ตัวอย่างชิ้นหนึ่งของการ์ตูนในวันส่งท้ายปีเก่า การ์ตูนนิสต์สิงคโปร์วาดลีกวนยูอยู่ในชุดนายพราน เล็งศรไปปักลูกแอปเปิลที่เขียนว่า ปี ๑๙๘๑ ได้สำเร็จ สื่อความหมายว่านายกลีกวนยูเข้มแข็งเพียงพอที่จะนำพาประเทศไปสู่ปี ๑๙๘๑ ที่กำลังมาถึงได้สบาย ๆ มันไม่ได้บอกอะไรเลยนอกจากนั้น ไม่ได้บอกถึงบุคลิกภาพของลีกวนยู หรือวิธีคิด หรือวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เขาได้ทำในตลอดปีที่ผ่านมา หรือสิ่งที่เขากำลังจะทำในปีถัดไป
 (คลิกดูภาพใหญ่)     การ์ตูนเบา ๆ ที่ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ เช่นนี้ก็ทำให้มันอยู่รอดมาได้ตลอดหลายปี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เองก็พอใจที่จะลงภาพวาดการ์ตูนเบา ๆ เช่นนี้ หรือไม่ก็เลือกที่จะลงภาพการ์ตูนที่สะท้อนเรื่องราวการเมืองโลก เพราะการ์ตูนพวกนี้ตลก และไม่ตีแสกหน้าใคร
    บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์นั้นเป็นโรคกลัวรัฐบาลจนเป็นโรคประสาท การ์ตูนนิสต์คนหนึ่งเล่าว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เขาได้รับการว่าจ้างให้วาดการ์ตูนล้อการเมืองหลายชิ้น แต่มันไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ และในปีถัดมาเขาได้รับการว่าจ้างอีก คราวนี้มันได้รับการตีพิมพ์เพียงแค่สองชิ้น
    ในสิงคโปร์นั้นนักวาดการ์ตูนจะวาดการ์ตูนตามคำสั่ง ตามโจทย์ของบรรณาธิการ และจะต้องได้รับการตรวจแก้ไขอย่างเข้มข้นก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้ การ์ตูนการเมืองในสิงคโปร์จะไม่มีลักษณะของ "การ์ตูนล้อ" ที่มักวาดหน้าให้ใหญ่ หรือขับเน้นบุคลิกบางส่วนที่เด่นชัดออกมา 
    ก็เพราะนักการเมืองในสภานั้นก็มีอยู่พรรคเดียว คือพรรค PAP (พรรคอื่นแย่งชิงที่นั่งได้ก็แค่หนึ่งถึงสองคนเท่านั้น) วาดการ์ตูนล้อใครเข้า ก็เป็นต้องแตะโดนรัฐบาลไปเสียทั้งหมด 
      ทางออกก็เลยเป็นการ "ปลอดภัยดีกว่าเสียใจภายหลัง" ด้วยการไม่วาดการ์ตูนล้อใครเสียเลย
    สรุปแล้วเรื่องนี้ทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ก็ควบคุมสื่ออย่างเข้มข้น ทั้งสื่อเองก็หวาดผวาต่อการเอาจริงของรัฐบาลเสียจนไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ภาพของการ์ตูนการเมืองในสิงคโปร์ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จึงดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นว่า 
    หากที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่นย่อมไม่มีการ์ตูนการเมือง

    หันมาดูการ์ตูนการเมืองของประเทศพม่ากันบ้าง เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่ารัฐบาลเผด็จการทหารพม่านั้นคุมเข้มเรื่องสื่อขนาดไหน การ์ตูนการเมืองจึงเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า และการ์ตูนนิสต์ของพม่าก็ไม่ได้รับอนุญาตให้วาดการ์ตูนล้อนักการเมืองคนไหน ๆ

 (คลิกดูภาพใหญ่)

    อันที่จริงนักวาดการ์ตูนของพม่าก็เคยได้รับอิสระในการสร้างสรรค์การ์ตูนของตน ศิลปินนักวาดการ์ตูนชาวพม่าเคยวาดการ์ตูนล้อเลียนสถานการณ์ "กบฏเกือก" ที่ชาวพม่าลุกขึ้นมาประท้วงคนอังกฤษเจ้าอาณานิคมที่ไม่ยอมถอดเกือกเข้าวัด จนกลายเป็นเหตุการณ์จลาจลทางการเมือง โดยวาดรูปคนอังกฤษตอบโต้ข้อห้ามใส่เกือกเข้าวัด ด้วยการขี่คอคนเฝ้าพระเจดีย์ แล้วก็เข้าวัดไปได้สบาย ๆ ทั้งที่ยังสวมเกือกอยู่ 
    การ์ตูนภาพนี้วาดขึ้นในช่วงที่อังกฤษเองยังปกครองพม่าอยู่ 
แต่วันเวลาแห่งเสรีภาพของสื่อมวลชนก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน หลังจากพม่าเปลี่ยนมาเป็นประเทศสังคมนิยม มีผู้นำทหารที่ชื่อ เนวิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา การ์ตูนการเมืองก็หายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์พม่า นักวาดการ์ตูนบางคนที่ยังคงวาดการ์ตูนอยู่ก็ถูกจับเข้าคุก และบางคนก็ตายอยู่ในคุก หนังสือพิมพ์และนิตยสารอิสระปิดตัวเองลงเพื่อความปลอดภัย 
    และนับจากนั้นมาการ์ตูนจะปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารใด ๆ ได้ก็เป็นเพียงแค่การ์ตูนประกอบเรื่อง หรือการ์ตูนแนะนำวิธีการทำเกษตร การ์ตูนสอนเรื่องสุขภาพอนามัย เพียงเท่านั้น

      ความเข้มงวดของรัฐบาลทหารพม่าในการเซ็นเซอร์ข่าวสารบ้านเมืองนั้นหนักแน่นจริงจังถึงขนาดที่ หากพบข้อความใดที่ไม่ต้องการให้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ แม้ว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจะพิมพ์เสร็จออกมาจากแท่นพิมพ์แล้วก็ตาม แผนกเซ็นเซอร์ก็จะสั่งให้เอาหมึกสีดำหรือสีเงินลบข้อความนั้นให้กลายเป็นสีดำไปทั้งปื้นเสียจนไม่เห็นอะไร 
    ภายหลังการต้องมาคอยเอาหมึกแต้มข้อความที่ไม่ต้องการในหนังสือพิมพ์ทีละฉบับ ดูเหมือนจะทำให้สิ้นเปลืองเกินไป แผนกเซ็นเซอร์เลยเปลี่ยนนโยบายใหม่ด้วยการฉีกทั้งคอลัมน์ในส่วนนั้นทิ้งไปจากหน้าหนังสือพิมพ์แทน
    ทุกวันนี้แม้ว่าหนังสือพิมพ์ในพม่าสองฉบับ The Mirror และ The New Light of Myanmar จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเข้มข้นของรัฐบาล ข่าวสารที่นำเสนอก็จำกัดอยู่เพียงแค่ภารกิจของรัฐบาล หากศิลปินนักวาดการ์ตูนยังคงมีความพยายามที่จะนำเสนอผลงานของตนออกมา ถึงแม้จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากแผนกเซ็นเซอร์ก็ตาม แต่ด้วยธรรมชาติของการ์ตูนที่ขี้เล่น และเปิดโอกาสให้ตีความได้หลายทาง นักวาดการ์ตูนจึงสามารถ "ซ่อน" สารของตน ตลบหลังเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ของรัฐ เพื่อจะสื่อสารทางอ้อมกับผู้อ่านได้
      การ์ตูนหลายๆชิ้นในที่นี้ถูกแผนกเซ็นเซอร์ของรัฐบาลสลอร์กสั่งห้ามเผยแพร่ อย่างภาพกระดานหมากรุก ที่ฝั่งหนึ่งมีตัวเบี้ย ตัวขุน ตัวฮอสอยู่เต็มสองแถว ในขณะที่อีกฟากเหลืออยู่เพียงตัวเดียวโดดๆ ใต้ภาพเขียนว่า "คนดูห้ามยุ่ง" Bystanders May Not Interrupt! 
    มันบอกเล่าถึงสถานการณ์การเมืองในพม่าได้เป็นอย่างดี คนดูย่อมตีความได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่าฟากที่เบี้ยเต็มสองแถวคือรัฐบาลสลอร์ก ขณะที่อีกฟากหนึ่งซึ่งเหลือตัวเดียวโดดๆคือการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวของนางออง ซาน ซูจี และสารที่เขียนใต้ภาพว่า "คนดูห้ามยุ่ง" ก็สะท้อนความคิดอันเด็ดขาดของรัฐบาลพม่าว่า นี่เป็นเรื่องการเมืองภายในของประเทศพม่า "คนอื่น" ไม่เกี่ยว
    หรืออย่างภาพการ์ตูน "เครื่องหมายคำถาม" ที่ให้ชายคนหนึ่งนุ่งกางเกงก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจด้วยสีหน้าแย้มยิ้ม ขณะที่คนเดินตามนุ่ง "ลองยี" หรือโสร่ง แบกสัญลักษณ์ "เครื่องหมายคำถาม"หนักอึ้งตามมาข้างหลัง ภาพนี้ถูกแบน เพราะมันสื่อความหมายได้ชัดเจนในบริบทของสังคมพม่า ที่ชนชั้นปกครองในรัฐบาลทหารพม่าจะนุ่งกางเกง ขณะที่ข้าราชการทั่วไปจะนุ่งโสร่ง แม้ภาพจะไม่ได้เขียนชัดว่าใครเป็นใคร แต่คนอ่านก็ย่อมรู้ได้ทันทีถึงสารที่สื่ออยู่ในการ์ตูนว่า ขณะที่รัฐบาลสลอร์กกำลังนำพาประเทศไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ ข้าราชการที่ต้องรับเอานโยบายมาปฏิบัติกลับเต็มไปด้วยความสงสัยและไม่มั่นใจในอนาคตของพม่าเอาเสียเลย
      แต่แม้ผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาส่วนใหญ่ของนักวาดการ์ตูนในพม่าจะถูกสั่งห้ามเผยแพร่ก็ตาม ด้วยกลวิธีการ "ซ่อน"สารได้อย่างแยบยลของศิลปินเหล่านี้ ก็ทำให้มีภาพบางภาพหลุดออกมาสู่สายตาประชาชนได้
    อย่างการ์ตูนเรื่อง "ติดเกาะ" ที่วาดเป็นรูปชายคนหนึ่งติดเกาะอยู่เพียงลำพัง เขาร่างสารขอความช่วยเหลือขึ้น แล้วใส่ในขวดปล่อยให้ลอยตามน้ำไป แล้ววันหนึ่งขวดนั้นก็ลอยกลับมา ชายคนนั้นร้องไชโยคิดว่าคราวนี้รอดตายแน่ แต่เมื่อเปิดขวดออกมาก็พบจดหมายเขียนว่า
    "เราได้รับจดหมายของคุณแล้ว แต่ตอนนี้ที่นี่กำลังยุ่ง ไม่มีใครว่างพอจะช่วยคุณได้ พยายามช่วยเหลือตัวเองนะ แล้วบอกเราด้วยเมื่อไรก็ตามที่สถานการณ์ของคุณดีขึ้น เราจะแวะไปเยี่ยม"
    การ์ตูนชิ้นนี้เหน็บนานาประเทศที่ปากก็พูดว่าประชาชนพม่ากำลังตกระกำลำบาก แต่ไม่เคยช่วยเหลืออะไรได้เลย ได้อย่างเจ็บแสบ 
    ในท่ามกลางความหวาดกลัวและไร้หวัง นักวาดการ์ตูนในพม่ายังคงพยายามต่อไป ที่จะสร้างงานศิลปะสะท้อนความจริงของสังคม ออกมาผ่านตัวการ์ตูนของเขา ผลงานส่วนใหญ่จบลงด้วยการถูกเซ็นเซอร์ แต่หลายๆชิ้นก็ผ่านออกมาสู่สายตาประชาชน และนั่นทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะสร้างผลงานต่อไป
    และภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ บางคนก็หันมาวาดการ์ตูนลงตีพิมพ์ในวารสารเฉพาะกลุ่ม ที่พิมพ์เผยแพร่ในหมู่ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในต่างแดน อย่างเช่นในประเทศไทย ออสเตรเลีย หรืออเมริกา 
    เรื่องราวการ์ตูนการเมืองของสองประเทศที่ดูจากภาพภายนอกแล้วช่างแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่ก็กลับมีอะไรที่คล้ายกันอยู่บางอย่าง บอกให้เรารู้ว่า แม้ประเทศไทยจะไม่เคยได้ชื่อว่ามีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เสรีภาพที่นักวาดการ์ตูนบ้านเราอย่างชัย ราชวัตร แอ๊ด มติชน หรือบัญชา/คามิน ได้รับ ก็ทำให้นักวาดการ์ตูนในประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายๆประเทศเผ้ามองด้วยความอิจฉาอยู่ไม่น้อย.
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?

เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | มองปราสาทหิน จากมุมสูง | เด็กเร่ร่อน เมืองเชียงใหม่ จากขุนเขา สู่บาทวิถี | เมื่อหมี เป็นผู้อุปถัมภ์ เอ็นจีโอ | รถไฟขบวนไม่สุดท้าย | ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก | จะ "อ่าน" วรรณกรรม ตามใจใครดี | ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน | โครงการท่อก๊าซ ไทย-พม่า กับคำเตือนที่เป็นจริง | จอห์นวู กับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจาก วัฒนธรรมการย้ายถิ่น ของชาวจีน | เปต-เปรต |เฮโลสาระพา

Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai | Sandstone Temples and Their Civilization  | Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail