Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
ส นั บ ส นุ น

อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินกู้ เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร
จิราภรณ์ อรัณยะนาค
ผู้อำนวยการส่วนวิทยาศาสตร์ เพื่อการอนุรักษ์ สำนักโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
  • ไลเคนและตะไคร ่ทำให้เกิดการผุกร่อนบนผิวหิน ทั้งทางฟิสิกส์และเคมี เช่น การสร้างกรดไกลโคลิก กรดฟอร์มิก กรดอะซีติกขึ้นมากัดกร่อน

  • ไลเคนและสาหร่าย พบมากบนผิวหินที่ขรุขระ เช่นบริเวณที่มีลวดลาย จากการแกะสลัก ทำให้บดบังลวดลาย ภาพสลักบนปราสาท

  • การทำความสะอาด ขัดล้างจุลินทรีย์เหล่านี้ออกไป ไม่ได้เป็นการทำลายโบราณสถาน 

   "จากที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมายร้องขอว่า ไลเคน ตะไคร่ ขึ้นปกคลุมปราสาทจนดูกระดำกระด่าง บดบังลวดลายแกะสลัก ดิฉันตรวจดูแล้วเห็นว่าในเชิงการอนุรักษ์ ต้องทำความสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสื่อมสภาพที่ผิวของโบราณสถาน เพราะไลเคนและตะไคร่ทำให้หินผุ แม้ไม่ใช่ไลเคนทุกชนิด แต่ชนิดที่อยู่ตรงนั้นทำให้หินที่อยู่ข้างใต้ผุแน่ ๆ 
    "จริงๆ แล้วโบราณสถานทุกแห่งที่ทำการบูรณะจะต้องทำความสะอาด และเมื่อจะบูรณะซ้ำ หรือทำการอนุรักษ์อะไรซ้ำ ขั้นตอนแรกก็ต้องทำความสะอาด ไม่อย่างนั้นก็มองไม่เห็นรายละเอียดบนพื้นผิววัสดุหรือลวดลาย ปรางค์ประธานปราสาทหินพิมายเคยทำสะอาดไปแล้วทั้งหลังตอนบูรณะเมื่อปี ๒๕๐๘ ต่อมาไลเคนและตะไคร่ก็ขึ้นมาอีกหนาทีเดียว จะต้องมีการบำรุงรักษา การอนุรักษ์อะไรก็ตาม การบำรุงรักษาสำคัญที่สุด 
    "เราทดลองทำความสะอาดจุดเล็ก ๆ ก่อน พอทำลงไปแล้วเห็นว่าเนื้อดินข้างใต้ไลเคนกลายเป็นดิน เราจะให้ดินมันหนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ เหมือนนั่งดูคนเป็นมะเร็งโดยไม่ทำอะไร ปล่อยให้เนื้อร้ายลามไปเรื่อย ๆ อันนั้นก็ไม่ใช่จรรยบรรณของหมอ สิ่งที่ทำอยู่นี้เป็นเหมือนหมอ แต่เป็นหมอรักษาโบราณสถาน 
    "เราทำเพื่อรักษาลวดลายภาพสลักบนปราสาทด้วย ถ้าไลเคนมากจะบดบังลวดลายจนมองไม่เห็น ทั้งบดบังและทำลาย โดยตอนแรกไลเคนขึ้นปกคลุมอยู่ข้างนอก เรามองไม่เห็นข้างใน พอเอาไลเคนออกแล้วเห็นเลยว่าลวดลายมันดูลบเลือนขึ้น 
    แล้วไลเคนมักขึ้นมากตรงที่มีลวดลายเสียด้วย ตรงเรียบ ๆ ไม่ค่อยมี คือถ้าเป็นหินโล้น ๆ ทั้งหมดเราก็คงไม่ทำอะไร 
    "ในหน้าแล้ง เมื่อไลเคบางส่วนตายลง จะเหี่ยวแห้งหลุดออกไป ขณะเดียวกันก็พาเอาเนื้อหินที่กลายเป็นดินออกมาด้วย ผิวของหินถูกทำลายจนชำรุดจะเห็นเนื้อหินที่อยู่ลึกเข้าไปออกเป็นสีสด ๆ เหมือนสีเดิมของหินขณะตัดใหม่ ๆ 
    "ไลเคนที่พบบนหินทรายและหินศิลาแลงส่วนใหญ่เป็นครัสโตสไลเคน รูปร่างลักษณะเป็นแบบแผ่น ทัสลัส (thallus) เกาะติดแน่นกับผิวของหิน และโฟลิโอสไลเคนมีรูปร่างเป็นแผ่นบาง ทัลลัสมีรูปร่างคล้ายใบไม้หรือกลีบดอกไม้เกาะอยู่บนผิวหิน ลักษณะคล้ายเปลือก
    ไลเคนบางชนิดโดยเฉพาะโฟลิโอสไลเคนสร้างไรซอยด์ (rhizoid) หรือรากเล็ก ๆ แทรกลงไปในเนื้อหิน ทำให้เม็ดแร่เช่นเฟลด์สปาร์ ควอตซ์แยกตัวจากกัน กลายเป็นผงทราย หรือดินปนทราย ดินดังกล่าวมีลักษณะร่วนและอ่อนนุ่ม สามารถใช้ปลายเข็มหรือปลายมีดผ่าตัดสะกิดออกมาได้อย่างง่ายดาย ส่วนครัสโตสไลเคน ทัสลัสของมันสร้างสารเมือกเกาะแน่นและซอกซอนเข้าไปในเนื้อหิน "ทางกายภาพ ไลเคนและตะไคร่มีการขยายตัวหดตัวได้ เมื่อมันเจริญก็ขยายขนาด เมื่อตายก็หด หรือเมื่อโดนน้ำก็ขยายตัว เมื่อโดนแดดส่องก็หดตัว มีอัตราการหดตัวขยายตัวค่อนข้างสูง ไลเคนบางชนิดขยายตัวได้ถึง ๓๕ เท่าเมื่อเปียกน้ำ การที่มันขยายตัว หดตัวสลับไปสลับมาทำให้ผิวของหินส่วนที่ยึดเกาะหลุดออกมาด้วย 
    มีคนทำการทดลองทาสารเมือกนี้ลงบนกระจกและหิน พบว่าการขยายตัว หดตัวของมันทำให้ผิวของกระจกและหินหลุดออกมา 
    "แล้วถ้าเราไม่ทำอะไร ต่อไปจะมีพืชชั้นต่ำ พืชชั้นสูงขึ้น เพราะเมื่อตะไคร่ ไลเคนตายไป จะกลายเป็นฮิวมัส-ดินที่มีสารอาหาร ใช้เวลาไม่นานมอสจะตามมา โบราณสถานแทบทุกแห่งมีมอสขึ้นแถบด้านล่างของโบราณสถาน แต่ที่เขาอนุรักษ์ไปแล้วเราก็ไม่เห็น ข้างบนไม่ชื้นมากจะเป็นตะไคร่เสียส่วนใหญ่ อันตรายที่จะเกิดก็คงไม่ถึงกับทำให้โบราณสถานพังทลาย ถ้าเทียบกับโรคภัยที่เกิดกับมนุษย์ ไม่ถึงกับทำให้กระดูกผุ กระดูกหัก แต่ทำให้เกิดโรคผิวหนังเสียสวยไป แต่ถ้ามีฮิวมัสสะสมนาน ๆ มีพืชหลายอย่างขึ้นผสมปนเป รากของมันไชชอนเข้าไปได้ลึก อาจมีผลต่อความแข็งแรงของโบราณสถานได้ 
    "ตัวอย่างจากพระอจนะที่เราทำการอนุรักษ์ หลังจากแซะตะไคร่และมอสออกด้วยมีด เราพบว่าผุเข้าไปถึงเนื้อข้างใน เนื่องจากความชื้นและกรดต่าง ๆ ที่ออกมาจากพวกนี้ 
    "เคยมีการนำเอาหินที่มีไลเคนคลุมไปส่องดูด้วยกล้องกำลังขยายสูง ๆ แล้ววิเคราะห์หาว่าใต้ไลเคนนั้นมีสารเคมีอะไรบ้าง พบว่ามีเกลือซึ่งเกิดจากพวกกรดอินทรีย์ที่ไลเคนสร้างขึ้น แล้วมีหลักฐานอีกมากว่ามีกรดมากมายหลายสิบชนิด ซึ่งบางชนิดไม่ค่อยละลายน้ำมาก แต่ก็สามารถในการทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อน (complex salt) นั่นคือกรดพวกนี้จะไปห้อมล้อมอนุมูลโลหะซึ่งเป็นองค์ประกอบของแร่ เช่น เฟลด์สปาร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของหินทราย แล้วกลายเป็นสารประกอบเชิงซ้อนแล้วหลุดออกไป ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือทำให้เฟลด์สปาร์กลายเป็นดิน 
    "เราเองก็ทำ thin section โดยเอาหินที่มีไลเคนมาตัดตามขวาง...ขัดจนบาง แล้วส่องดูเนื้อหินด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำทั้งผิวที่มีไลเคนปกคลุมและไม่มี พบว่า แร่ที่เป็นองค์ประกอบของหินส่วนบนจะเป็นดิน ซึ่งมีเม็ดทรายปนอยู่เพราะแร่บางอย่างถูกทำให้ผุกลายเป็นดินไปแล้ว เห็นได้เลยว่าเนื้อหินหายไป เป็นรูเต็มไปหมด เม็ดแร่ไม่ค่อยเกาะกันแล้ว เฟลด์สปาร์ที่เคยมีอยู่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ผุผังสลายตัวกลายเป็นดิน โดยเฉพาะส่วนขอบ ๆ นอก ในขณะที่ข้างในเนื้อแน่นไม่มีการผุผัง 
    "อุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดปราสาทหิน เราใช้แปรงสีฟันปัด และใบมีดผ่าตัดของแพทย์ค่อย ๆ ขูด แล้วใช้น้ำเปล่าใส่ขวดพ่นล้างออก การที่เอาน้ำพ่นนี่ดีอีกอย่างคือ ไลเคนที่ดำ ๆ มองไม่ชัด พอพ่นแล้วจะเขียวชัดขึ้น ถ้าเป็นจุดใหญ่ ๆ เราใช้แปรงทาสีปัด แปรงลวดนั้นไม่เคยใช้เลย และก็ไม่ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำด้วย ถ้าเป็นก้อนหินที่ผุแล้ว ตอนเอาใบมีดแซะจะมีเศษหินหลุดออกมาด้วย การใช้มีดแซะนั้นจะไม่ทำให้หินเป็นรอย หินทั่วไปขนาดเราเอามีดกรีดแรง ๆ ยังไม่เป็นรอย เพราะ ใบมีดผ่าตัดแหลมและบางมาก กระแทกแรงหน่อยก็จะหัก แต่จริง ๆ ตอนเราทำงานเราทำเบา ๆ หินจะหลุดออกได้ยังไง 
    "ดิฉันเคยทดลองนั่งขูดหินทรายใต้กล้องจุลทรรศน์ ขั้นแรกจะเอามีดแซะไลเคนออกก่อน ขั้นที่ ๒ ก็ใช้มีดแคะเอาดินจากหินที่มันเสื่อมสภาพแล้วใต้ไลเคน ได้ออกมาหนึ่งถ้วยเล็ก ๆ เมื่อเอาไปหาองค์ประกอบทางแร่ เราพบว่ามันเป็นดินผสมทราย แล้วลองขูดเนื้อหินด้านหลังเพื่อเปรียบเทียบ กว่าจะได้เนื้อหินเท่าด้านหน้าต้องขูดเป็นวัน ๆ ฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่ามีดจะไปทำอะไรเนื้อหิน สิ่งที่เราแซะออกมาคือดินไม่ใช่เนื้อหิน นักอนุรักษ์ทั่วโลกใช้มีดนี้เป็นอุปกรณ์ประจำตัว 
    "หลังจากทำความสะอาดแล้ว เราต้องการจะทาซิลิโคนหรือน้ำยากันซึมเคลือบปราสาทในฤดูแล้ง ซิลิโคนเป็นสารเคมีซึ่งฉาบแล้วน้ำจะไม่ผ่านเข้าไป แต่ความชื้นระเหยออกมาจากหินได้ เราได้ทดลองแล้วว่า เมื่อทาแล้วน้ำระเหยได้ถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วน้ำยานี้ทาแล้วปล่อยทิ้งไว้จะไม่ดำ...ไม่เหลือง เราทำกันมา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว 
    "ในรายงานการอนุรักษ์ของบุโรพุทโธขององค์การยูเนสโกที่อินโดนีเซีย ก็พบว่าใช้สารเคมี ในการทำความสะอาด เขาใช้สารเคมีหลายชนิดผสมกัน ใส่ลงไปเพื่อให้ไลเคนตาย พอตายแล้วก็เอาน้ำล้าง เอาแปรงขัดออก เราก็เคยทดลองใช้เหมือนกันแต่มันสิ้นเปลือง จึงข้ามขั้นตอนนั้นไป เพราะไม่ใช่ว่าใช้น้ำยาตัวนี้แล้วไลเคนหายไปจากหิน ยังไงก็ต้องขัดหรือแซะเอาไลเคนออกอยู่ดี 
    "ที่พิมายก็ควรจะต้องใช้น้ำยาเคลือบ ยังไม่ได้ทำเพราะยังทำความสะอาดไม่เสร็จ ไม่มีน้ำยากันซึมชนิดไหนหรอกที่ทาแล้วป้องกันได้ตลอดชีวิต ส่วนจะกี่ปีต่อครั้งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำยา เท่าที่สังเกตดูจากการทดลอง ๖ ปีไปแล้วยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจจะได้ถึง ๘ ปี ๑๐ ปีก็ได้ "ตอนที่ทำความสะอาดปราสาทหินพิมาย เจ้าหน้าที่ของดิฉันจากส่วนกลางซึ่งรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ผลัดเปลี่ยนกันไปดูแลตลอดเวลา ปีที่แล้วเราเอานักวิทยาศาสตร์ที่เป็นนักชีววิทยาไปคุมตลอดเวลา ส่วนทางพิมายมีลูกจ้างซึ่งเป็นคนงานขุดค้นทางโบราณคดีอีกห้าคน ปีนขึ้นไปทำความสะอาดบริเวณที่สูง ๆ 
    "ทีนี้มีบางคนเห็นปราสาทพิมายแล้วตกใจว่ามันขาวเกินไป คิดว่าเราใช้สารเคมีไปฟอกไปขัด เราไม่เคยใช้สารเคมีในการทำความสะอาด เพราะเราทำความสะอาดเพื่อจะทาสารกันน้ำ จึงต้องการให้ผิวแห้งที่สุดเพื่อทาสารกันน้ำแล้วจะได้มีประสิทธิภาพสูงสุด จริง ๆ ถ้าดูโดยรวมแล้วเห็นว่ามันขาว แต่ถ้าดูใกล้ ๆ จะเห็นว่าส่วนที่เราทำความสะอาดแล้วไม่ได้ขาวกว่าส่วนที่ขาวอยู่เดิม ปรางค์ประธานพิมายเดิมเป็นหินทรายสีขาว เราแค่สะกิดเอาตะไคร่และไลเคนออกแล้วมันก็ขาวเหมือนเดิม 
    "เมื่อคนไปเรียนด้านการอนุรักษ์ คอร์สแรกสุดที่ได้รับการสอนคือจรรยาบรรณ ...ความคิดว่าเราจะต้องอนุรักษ์ทุกอย่างให้อยู่ต่อไปอีกหลาย ๆ พันปีเท่าที่เราจะทำได้ ไม่เฉพาะแต่โบราณสถาน เราจะอนุรักษ์สิ่งนั้น ๆ ให้เป็นมรดกของลูกหลาน เรื่องโครงสร้างก็เป็นเรื่องของวิศวกรว่าจะอนุรักษ์อย่างไร ส่วนที่ว่ามันทำลายผิว เราก็ต้องรักษา เหมือนคนไข้คนหนึ่งอาจเป็นโรคกระดุกผุ มะเร็ง โรคผิวหนัง หมอแต่ละสาขาก็รักษาไป 
    "ทีนี้เราจะเลือกอะไร ขอให้ได้เห็นโบราณสถานอยู่ในสภาพเดิม หรือจะต้องการบูรณะ โบราณสถานบางแห่งไม่เคยทำอะไรเลย กลายเป็นทุ่งหญ้าไปเสียหมด ดูไม่รู้ว่าเป็นโบราณสถานก็มี คุณไปดูที่อยุธยา กำแพงบางแห่งเป็นเหมือนกับที่สำหรับปลูกต้นไม้ไปแล้ว คนทำเขาทำเพื่อจะช่วยให้โบราณสถานอยู่ได้นาน ทำความสะอาดกันจนกล้ามขึ้นไปหมด ปีนป่ายหล่นลงมาก็เจ็บตัวฟรี ไม่มีใครเขาอยากทำลายหรอก แต่เมื่อทำไปแล้วบางคนไม่ชอบก็ไม่รู้จะว่ายังไง 
    "ถ้าเป็นไปตามทฤษฎีที่บอกว่าไลเคนช่วยปกป้องหินจากแสงแดด ช่วยป้องกันน้ำแล้วทำไมหินที่อยู่ใต้ไลเคนยังผุ ถ้าคุณดูกระบวนการ weathering ของหิน จะพบว่าแสงแดดมีผลกระทบไม่มาก น้ำ ความชื้นมีผลมาก ทีนี้พวกไลเคน ตะไคร่ที่อยู่บนหิน มันไม่ได้ลดน้ำ ลดความชื้น แต่กลับทำให้น้ำสะสมอยู่ตรงนั้นมากขึ้น มีข้อมูลบอกว่า พวกจุลินทรีย์เป็นพวกที่อมความชื้นได้ดี เมื่อฝนตก มันดูดซับความชื้นไว้ในตัวเอง ทำให้อัตราการระเหยของน้ำออกจากหินลดน้อยลง เมื่อน้ำถูกดูดซับอยู่ในเนื้อหินนาน ๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีอะไร ๆ อีกมาก
    "งานศึกษาวิจัยชิ้นนั้นไม่ครบถ้วนกระบวนความ แค่เจาะรูลงไปแล้วบอกว่าหินส่วนที่มีไลเคนกับไม่มีไลเคน ความแข็งแรงเท่ากัน แล้วไปเจาะหินอีกก้อนซึ่งแตก ๆ พัง ๆ อยู่แล้วบอกว่าอันนี้มันไม่มีไลเคนแต่มันพัง ว่าความแข็งแรงต่ำ แสดงว่าเมื่อไม่มีไลเคนปกคลุม...มันเลยผุมาก มันคนละโรคกัน เราบอกแล้วว่าไลเคนไม่ได้ทำให้หินทั้งก้อนผุ เฉพาะผิวหินเท่านั้น หินซึ่งมีลวดลายกร่อนไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นมันคนละประเด็น 
    "เท่าที่ศึกษาจากเอกสาร มีเสียงที่ว่าไลเคนช่วยปกป้องหินน้อยมาก ยอมรับว่าไลเคนช่วยปกป้อง แต่เป็นบางชนิด ซึ่งเราก็ไม่ทำอะไร มันเป็นคราบแข็งเหมือนปูนติดอยู่ ถ้าเราพยายาม ทำความสะอาดอันนี้ต้องกระเทาะเนื้อหินออกมาด้วย คือไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเอาทุกอันออก บางอย่างก็เก็บไว้ได้"

  อ่านคัดค้าน คลิกที่นี้
ปองศักดิ์ พงษ์ประยูร
อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

click hereอ่าน (ฝ่ายคัดค้าน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม *
*

 

สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?

เงินกู้, ADB และแผนปรับโครงสร้าง ภาคเกษตรกรรม
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | มองปราสาทหิน จากมุมสูง | เด็กเร่ร่อน เมืองเชียงใหม่ จากขุนเขา สู่บาทวิถี | เมื่อหมี เป็นผู้อุปถัมภ์ เอ็นจีโอ | รถไฟขบวนไม่สุดท้าย | ผ่าตัดคลอด ทางที่ไม่ควรเลือก | จะ "อ่าน" วรรณกรรม ตามใจใครดี | ที่ไหนมีเผด็จการ ที่นั่น (ไม่) มีการ์ตูน | โครงการท่อก๊าซ ไทย-พม่า กับคำเตือนที่เป็นจริง | จอห์นวู กับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๑) ผลพวงจาก วัฒนธรรมการย้ายถิ่น ของชาวจีน | เปต-เปรต |เฮโลสาระพา

Capturing Bat Calls at Ang Rue Nai | Sandstone Temples and Their Civilization  | Homeless Children in Chiang Mai : from Mountaintops to Streetsides

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail