Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
เคียงข้างนักปั่นขาเดียว
ในขบวนจักรยาน "สร้างสันติภาพ หยุด ! กับระเบิด"
เรื่องและภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
   ๒๗ เมษายน ๒๕๔๓ เข็มนาฬิกาเพิ่งผ่านเวลาแปดโมงเช้าไปไม่นาน แต่แดดฤดูร้อนก็แรงพอที่จะทำให้คนในแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งเหงื่อซึมซิบ เงาของคนและจักรยานที่ทอดยาวไปกับพื้นหดสั้นเข้ามาตามความยาวนานของพิธีเปิด พอผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว-ประธานในพิธี จบคำสวัสดี ล้อจักรยาน ๕๐ กว่าคู่ ก็เคลื่อนออกจากศาลา ๒๐๐ ปี (พระสยามเทวาธิราช) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ
(คลิกดูภาพใหญ่)     คน ๕๐ กว่าชีวิตชวนกันปั่นจักรยานออกไปตามถนนสายใดสักเส้นหนึ่ง หากเป็นคนปรกติทั่วไปก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่นี่คือขบวนของคนพิการ ที่ตั้งใจจะปั่นจักรยานรอนแรมไปตามถนนเลียบชายแดนข้ามจังหวัดข้ามภูมิภาค เป็นระยะทางนับร้อยกิโลเมตร เรื่องราวของเขาย่อมต้องน่าสนใจ คำบอกเล่าของเขา...ยิ่งต้องรับฟัง
    ขบวนจักรยานที่เพิ่งเริ่มออกเดินทางเมื่อสักครู่... คือขบวนจักรยาน "สร้างสันติภาพ หยุด! กับระเบิด" เกิดจากการริเริ่มของ เครือข่ายผู้พิการจากกับระเบิด ๑๙๙๙ จังหวัดสระแก้ว* ร่วมกับ คณะทำงานไทยรณรงค์ยุติกับระเบิด* จัดปั่นจักรยานเพื่อสันติภาพ เส้นทางอรัญประเทศ - สุรินทร์ เนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปี ของการบังคับใช้ อนุสัญญาออตตาวา (ottawa)* เพื่อหวังบอกข่าวให้คนไทยได้ตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของกับระเบิด และเพื่อกระตุ้นเตือนรัฐบาลให้เร่งปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาออตตาวา
    นักปั่นเกือบทั้งหมดในขบวนคือผู้พิการจากกับระเบิด ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวชายแดน จากหมู่บ้านหนองปรือ บ้านโนนสาวเอ้ บ้านคลองน้ำใส บ้านแสนสุข อำเภออรัญประเทศ บ้านดงงู บ้านโคกสูง อำเภอโคกสูง บ้านเชียงคำ บ้านแสฺงร์ บ้านทับเซียม บ้านทับสยาม บ้านเขาลูกช้าง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว โดยมีสมาชิกชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย อาสามาดูแลช่วยเหลือด้านเทคนิควิธีการ จัดรูปขบวนและซ่อมบำรุงจักรยาน และมีผู้สนใจอีกจำนวนหนึ่งร่วมรอนแรมไปกับขบวน ช่วยอำนวยความสะดวก ส่งข้าวส่งน้ำ และปฐมพยาบาลในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน
      จากตัวอำเภออรัญประเทศ ขบวนจักรยานมุ่งไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๘ อรัญฯ - ตาพระยา ถนนลาดยางสีดำขนาดสองเลนพาดผ่านไปบนทุ่งราบที่แทรกสลับด้วยเนินเล็กเนินน้อย ช่วงกิโลเมตรแรก ๆ ถนนไม่ค่อยมีโค้ง ปลายถนนจึงเหมือนพุ่งตรงไปสู่เส้นขอบฟ้า
    บนฉากธรรมชาติเช่นนี้ การเคลื่อนไปของขบวนจักรยาน ดูราวขบวนแห่ของพิธีกรรมอันบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์
    นักปั่นจากชมรมจักรยานบางคนบอกว่า "ระยะทางทั้งหมดที่กำหนดไว้ ถ้าให้ปั่นเต็มกำลัง ไม่เกิน สองวันก็ลุล่วงถึงปลายทาง" นั่นเป็นศักยภาพของมืออาชีพ แต่นี่คือนักปั่นขาเดียว-คนพิการ ซึ่งแม้ปรกติในชีวิตประจำวันจะเคยชินกับการใช้แรงงานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาคุ้นเคยคือจอบพร้า ไม่ใช่แฮนด์รถและหลังอานจักรยาน และที่สำคัญเขามีขาเหลืออยู่เพียงข้างเดียว ในระยะทางที่นักปั่นมืออาชีพบอกว่า จะไปถึงได้ในสองวัน แต่สำหรับพวกเขา เวลาถูกกำหนดไว้ถึงห้าวัน
    เพื่อให้เดินทางไปแบบสบาย ๆ พร้อมทำหน้าที่ในฐานะผู้บอกข่าวจากชายแดน ให้โอกาสเรา- ผู้ร่วมทาง ได้มีเวลาลัดเลาะเข้าไปในชีวิตของพวกเขา- นักปั่นขาเดียว ซึ่งเป็นชีวิตที่เราไม่เคยได้รู้จัก ให้เราเข้าถึงเรื่องราวในชุมชนของเขาซึ่งเราไม่เคยรับรู้ จนถึงเรื่องราวบนเส้นพรมแดน ที่ซึ่งชีวิตเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย...
 (คลิกดูภาพใหญ่)     พี่จ่า หรือ วัชราภรณ์ กอลโกมล นักปั่นขาเดียวจากบ้านหนองปรือ เป็นคนแรก ๆ ที่ได้รู้จักสนิทสนมกัน ตอนแรกผมยังไม่กล้าที่จะถามในสิ่งที่อยากรู้ เพราะไม่แน่ใจว่าการต้องรื้อฟื้นอดีตอันโหดร้าย จะยิ่งตอกย้ำความเจ็บปวด ให้แก่เจ้าของบาดแผลหรือไม่ แต่แล้วระหว่างพักผ่อนหลังมื้อเที่ยงของวันหนึ่ง เขาก็เล่าออกมาเอง ผมเข้าใจว่ามันคงเป็นความต้องการของเขาตั้งแต่ตัดสินใจออกมาร่วมขบวนจักรยานแล้ว...
    สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ๒๕๔๒ การปั่นจักรยานรณรงค์ "สร้างสันติภาพ หยุด ! กับระเบิด" ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกันกับในครั้งนี้ แต่ครั้งนั้นใช้เส้นทาง อรัญฯ - กรุงเทพฯ ขบวนจักรยานคราวนั้นยังไม่มีพี่จ่ารวมอยู่ด้วย เพราะก่อนหน้าเพียงสองสัปดาห์ เขายังเป็นคนปรกติอาการครบสามสิบสอง ทว่าโดยไม่คาดฝัน ๑๐ วันก่อนขบวนจักรยานเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ ๑ จะออกเดินทาง เขาก็กลายเป็นคนพิการไปแล้ว 
    เช้าวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๒ ฝนที่ตกลงมาห่าใหญ่ ตั้งแต่กลางคืนยังฝากความชุ่มชื้นไว้บนพื้นดิน ฟ้าหลังฝนดูแจ่มใส ไม่มีลางสังหรณ์ใดบ่งบอกว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ฟ้าในใจเขาต้องหม่นมัวไปตลอดชีวิต เขาหยิบรองเท้าบูตมาสวม เดินลงไปในไร่ข้าวโพดที่หยอดเมล็ดพันธุ์ไว้ เห็นหน่ออ่อนเริ่มแทงโผล่พ้นดินขึ้นมา ดินที่ผ่านการไถพรวนด้วนรถแทร็กเตอร์ร่วนซุย อ่อนนุ่มยามย่างตีน และก้าวหนึ่ง เขาก็เหยียบลงบนกับระเบิด
      สิ้นเสียงสะท้านสะเทือนฟ้า เขารู้สึกตัวว่านอนอยู่กับพื้น ร่างเย็นวาบ ยกขาข้างขวาขึ้น เห็นยังอยู่ จะยกขาข้างซ้ายขึ้นมาดูบ้าง ยกไม่ขึ้น ก้มลงไปดู ฝ่าเท้าข้างนั้นหายไปเสียแล้ว
    ผมเห็นน้ำตาไหลปริ่มที่ขอบตาช้ำแดงของพี่จ่า โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตของเขา ยังถูกถ่ายทอดต่อไปผ่านน้ำเสียงสั่นเครือ... ไร่ข้าวโพดที่เขาโดนกับระเบิดนั้นเป็นที่ของเขาเอง ทำกินกันมานานแล้วและเคยให้คนอื่นเช่าที่ทำไร่มาแล้วหลายปี แต่ชะตากรรมก็เจาะจงเลือกเขาให้รับกับระเบิดลูกนั้นเป็นของขวัญในขวบปีที่ ๔๐ ของชีวิต
    "เป็นเรื่องธรรมดา แม้ในไร่นาแห่งหนึ่งจะผ่านการไถพรวนมากี่ครั้งก็ตาม หากไม่ถูกกดทับอย่างเหมาะเจาะพอดี กับระเบิดก็จะพลิกไปพลิกมาอยู่ใต้ดินอย่างเงียบเชียบ ...เพื่อรอใครสักคนไปเหยียบบนสันหลังของมัน" คนชายแดนถ่ายทอดประสบการณ์ ที่เรียนรู้มาด้วยชีวิตจริงให้ฟัง
 (คลิกดูภาพใหญ่)

    กับระเบิด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทุ่นระเบิด บางชนิดคงสภาพอยู่ได้นานกว่า ๗๐ ปี รอคอยทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ โดยไม่เคยเลือกว่าเหยื่อของมันจะเป็นเด็กน้อย ผู้หญิง คนแก่ หรือผู้บริสุทธิ์ซึ่งไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอะไรด้วยกับการสู้รบ และบางครั้งมันยังเคลื่อนที่ได้อีกด้วย ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ
    สมเกียรติ เชื้อสิงห์ นักปั่นขาเดียวจากหมู่บ้านแสนสุข ผู้สูญเสียขาข้างหนึ่งไปในคืนวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เล่าว่า คืนนั้นเขาออกไปส่องกบริมคลอง ขณะเดินเลาะไปตามริมตลิ่ง กับระเบิดลูกหนึ่งก็ปะทุขึ้น ใครจะเชื่อว่ามีกับระเบิดฝังดักไว้ในดินเลนที่น้ำหลากถึงอย่างนั้น กับระเบิดลูกหนึ่งปะทุขึ้น กับระเบิดลูกนั้นทำให้เขาพิการ และยืนยันให้โลกรู้ว่ากับระเบิดเคลื่อนที่ได้เมื่อถูกกระแสน้ำพัดพา..
    วันแรกของขบวนจักรยาน "สร้างสันติภาพ หยุด ! กับระเบิด" นักปั่นขาเดียวเก็บระยะทางไปประมาณ ๖๔ กิโลเมตร ผ่านอำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา แวะพักค้างคืนที่วัดกุดเวียน วัดของชุมชนชื่อเดียวกันซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ใน ตำบลตาพระยา คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนส่วยใช้ภาษาเขมรกันเป็นพื้น

      ช่วงพักผ่อนหลังถึงจุดหมายของแต่ละวัน ในวงข้าว และช่วงหัวค่ำก่อนหลับนอน เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่บรรดาผู้ร่วมทางทั้งจากต่างถิ่นและคนชายแดนด้วยกัน จะได้ทำความรู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปรับทุกข์สุข และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
    คืนวันหลังสงคราม พื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นเสมือนดินแดนต้องคำสาป ใต้ผืนแผ่นดินเต็มไปด้วยกับระเบิด มันไม่ได้มีอยู่แต่ตามตะเข็บพรมแดน ชายป่า หรือเฉพาะเขตการสู้รบเท่านั้น ในไร่นา ที่ทำกิน ทางเดินระหว่างหมู่บ้าน หรือกระทั่งริมชายคา ก็อาจมีกับระเบิดซุกซ่อนอยู่ มันดุร้ายยิ่งกว่าอสรพิษชนิดใด เพราะมันจ้องทำร้ายเหยื่ออยู่โดยไม่เคยเปิดเผยตัว เพียงใครสักคนลงจากเรือนก็อาจโดนฉกได้ทุกย่างก้าว 
    ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ(ศทช.)* ระบุว่า ตลอดแนวชายแดนของประเทศไทย มีกับระเบิดฝังอยู่นับล้านลูก ทำให้เกิดพื้นที่อันตราย ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ได้ถึง ๕ แสนไร่ ใน ๑๘ จังหวัด และมีคนไทยตกเป็นเหยื่อกับระเบิดไปแล้วกว่า ๕,๐๐๐ คน
    สมรภูมิเลิกราไปนานแล้ว นักรบฝ่ายต่างๆ ถอนคืนกลับไปสู่กรมกองของตัวเอง แต่กับระเบิดที่เคยวางไว้ตัดกำลังและสังหารศัตรู ไม่ได้ถูกเก็บกู้ออกไปด้วย เหยื่อที่โดนกับระเบิดอยู่ทุกวันนี้จึงไม่ใช่เหล่าทหารหาญศึก แต่คือชาวบ้านตาดำ ๆ ที่เกิดมาเป็นคนชายแดน ซึ่งมีฐานะยากลำบาก เลี่ยงไม่พ้นที่ต้องเข้าป่าหากินและลงไร่ลงนา
 (คลิกดูภาพใหญ่)     พ่อทองสุข อบแสง นักปั่นขาเดียว วัย ๔๕ ปี เล่าให้ฟังว่า หากอยู่บ้านเกิดของตัวเอง ก็คงไม่ต้องมาสูญเสียขาให้กับระเบิด เพราะอยู่ไกลถึงอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แต่บุพเพลิขิตให้ต้องมาลงหลักปักฐานที่บ้านโนนสาวเอ้ ด้วยพบรักกับสาวชายแดน อยู่กินกันมาท่ามกลางไอดิน และกลิ่นควันระเบิด ได้ยินเสียงปืนใหญ่ ที่ก้องข้ามฟ้ามาจากฝั่งตรงข้ามจนชินชา กระทั่งวันต้นฤดูหนาวเมื่อหกปีก่อน เขาออกไปหาหน่อไม้เพื่อมายังชีพประสาคนบ้านป่า... วันนั้นเขาเดินกลับบ้านเองไม่ได้ เพราะขาข้างขวาหายไปตรงริมลำคลองกั้นเขตแดน ไทย-กัมพูชา
    เรื่องของชาวบ้านผู้ประสบภัยจากกับระเบิด กลายเป็นเรื่องเศร้าประจำชายแดน เป็นเหมือนนิยายโศกเรื่องยาวไม่รู้จบ... บางคนโดนครั้งแรก เสียขาไปข้างหนึ่ง ไม่นานต่อมาเจออีกลูก ขาอีกข้างก็ตามไป หรือไม่ก็ถึงชีวิต เมื่อมีคนโดนกับระเบิด เพื่อนบ้านก็ต้องตามเข้าไปช่วย บางคนไม่ทันได้ช่วยเพื่อน...ตัวเองกลับโดนเข้าอีกลูก บางคนเข้าไปจะช่วยสัตว์เลี้ยง ตัวเองก็โดนเข้าด้วย
    ดังเขาคนนี้ สังคม ทิศพรม นักปั่นขาเดียวร่างใหญ่วัย ๓๐ ปี เขาโดนกับระเบิดมา ๑๓ ปีแล้ว แต่บอกว่ายังจดจำเหตุการณ์วันนั้นได้ดี และคงไม่มีวันลืมมันได้ตลอดชีวิต ตอนนั้นเขาเพิ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น เลี้ยงควายอยู่ตามทุ่งนาบ้านทับเซียม ห่างชายแดนไทย-กัมพูชาไม่ถึง ๑ กิโลเมตร
      ๓๐ เมษายน ๒๕๓๐ เขาพาควายลงนาตามปรกต ิและปล่อยให้มันหากินหญ้าไปตามเรื่องตามราว ทันใดเสียงระเบิดก็ดังขึ้นตูมใหญ่ เขาหันไปทางฝูงควาย เห็นพวกมันกำลังแตกตื่น ตัวหนึ่งชักดิ้นกะแด่วอยู่ลิบ ๆ เขาวิ่งไปหาพวกมันด้วยความเป็นห่วง ไม่ทันถึงฝูงควาย ระเบิดก็กึกก้องกัมปนาทขึ้นอีกลูก 
    นักปั่นขาเดียวทุกคนยืนยันตรงกันว่า จุดที่สังคมโดนกับระเบิด เคยเป็นฐานเก่าของทหารไทย และกับระเบิดที่สังคมโดนก็เป็นของทหารไทยที่วางดักไว้รอบ ๆ ค่าย เมื่อฐานทหารถอนออกไป กับระเบิดไม่ได้ถูกเก็บกู้ไปด้วย ไม่นานหลังจากสังคมโดนเป็นคนแรก เอ็ม หรือ แอลประกอบ จันทร์เกษ ก็โดนลูกที่ ๒ เข้าในบริเวณใกล้ ๆ กัน 
    นับเป็นบุญของคนชายแดน ที่หลังจากขบวนจักรยาน "สร้างสันติภาพ หยุด ! กับระเบิด" ครั้งที่ ๑ นำข่าวร้ายจากชายแดนไปบอกถึงกรุงเทพฯ ทางการก็ได้ส่งทหารไปกู้กับระเบิดที่เหลือ ออกไปจากพื้นที่บริเวณนั้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ลูกที่ ๓, ๔, ๕... จึงไม่มีโอกาสได้ระเบิด...
    เขาหรือเธอที่โดนกับระเบิดตัดขา ต้องนอนรักษาแผลอยู่กับที่นานนับเดือน และอีกราวครึ่งปีกว่ารอยแผลจะหายสนิท แต่บาดแผลในใจเล่า คงไม่มีวันลบเลือนได้ตลอดชีวิต ทุกคนยังจดจำวันเวลาและเหตุการณ์ในวันที่กับระเบิดเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้แจ่มชัด แม้กาลเวลาจะล่วงมานับสิบ ๆ ปี 
(คลิกดูภาพใหญ่)     เหยื่อกับระเบิดทุกคนเล่าเหมือน ๆ กันว่า หลังโดนกับระเบิดรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ค่าที่ต้องสูญเสียอวัยวะไป โดยไม่ได้ก่อกรรมทำผิดอะไร ค่ารักษาพยาบาลก็ต้องออกเองทั้งหมด ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลก็ไม่เคยทำอะไรมากกว่าออกบัตรผู้พิการให้ 
    บางคนเคยคิดฆ่าตัวตายเพราะมืดมนมองไม่เห็นอนาคต และไม่เห็นประโยชน์ของการมีชีวิตอยู่ต่อไป ... และมีหลายคนสัมฤทธิผลตามความคิด บางคนที่มาเห็นหน้ากันในวันนี้บอกว่า ตอนที่ได้สวมท่อนขาที่เหลือลงในเบ้าขาเทียม และเริ่มหัดเดินใหม่อีกครั้ง ก็เหมือนชีวิตได้เกิดใหม่ ต้องต่อสู้กับตัวเอง และต้องอาศัยกำลังใจจากคนรอบข้างมิใช่น้อย จึงสามารถยืนขึ้นได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง
    ในขบวนจักรยาน สังเกตเห็นได้ว่านักปั่นขาเดียวทุกคนดูมุ่งมั่นตั้งใจ บรรยากาศในขบวนดูคึกคักมีชีวิตชีวา บรรทัดนี้ผมขอคารวะต่อ พ่อบัวศรี เกิดหนองสังข์ นักปั่นขาเดียววัย ๔๙ ปี ผู้มีอาวุโสสูงสุดในขบวน จักรยานคู่กายของแกเป็นรุ่นไม่มีเกียร์ แต่แกก็สามารถพามันเกาะกลุ่มไปได้ตลอดทาง ไม่มีตกขบวน หมายถึงว่าแกต้องออกแรงมากกว่าคนที่ใช้รถแบบมีเกียร์ ทุกครั้งที่มองขบวนจักรยานผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป ผมมักเจอดวงตาของแกจับจ้องไปยังขอบฟ้าไกลโพ้นเบื้องหน้า หากจะแปลความหมายว่า มันคือแววตาอันมุ่งมั่นของคนที่หวังจะไปให้ถึง คงไม่เกินความจริงไป

 

    วันที่ ๒ แผนการเดินทางถูกวางอย่างรัดกุม เพราะมีช่วงต้องขึ้นเขาสูงชัน ๓ กิโลเมตร ตรงช่องเขาตะโก อันเป็นส่วนปลายของเทือกเขาพนมดงรัก ที่ทอดกั้นเขตแดนภาคตะวันออกกับภาคอีสาน
    ลุงแดง หรือ วิรัช แอบกลิ่นจันทร์ ผู้อาวุโสจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ล่วงหน้าขึ้นไปสำรวจเส้นทางแล้วลงกลับมายืนยันว่า จักรยานคันที่ไม่มีเกียร์ให้เอาขึ้นรถบรรทุก ตั้งแต่ตีนเนินเลย เพราะดูความชันของถนนแล้ว รับรองว่ารถชนิดนี้ไม่มีทางปั่นขึ้นไปได้ สร้างความผิดหวังให้แก่เจ้าของรถพอสมควร ด้วยในใจนักปั่นขาเดียวทุกคน คงคาดหวังถึงการพิชิตยอดเนิน
    สำหรับคนที่ใช้จักรยานรุ่นมีเกียร์ให้ลองปั่นขึ้นไปก่อน ปลายเนินแรกอยู่ห่างขึ้นไป ๑ กิโลเมตร หากใครไม่ไหวก็ให้ขึ้นรถบรรทุกได้ที่นั่น ... ถึงจุดนั้นจริง ๆ ไม่มีจักรยานคันไหนยอมขึ้นรถบรรทุก
    ที่สุด รถและคนทั้งหมดก็ผ่านขึ้นมาจนสุดยอดเขา ตรงจุดที่ป้ายข้างทางบอกว่า "เขตจังหวัดบุรีรัมย์" บางคนอาศัยเกียร์เบาปั่นซอยขึ้นมาจนถึง บางคนลงเข็นสลับกับปั่น และบางคนที่ถูกยกจักรยานขึ้นมาตั้งแต่ตีนเนิน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ใครใส่ใจหรือให้ความสำคัญ สิ่งที่ทุกคนรู้สึกร่วมกันก็คือ โล่งใจที่ขบวนผ่านช่วงโหดร้ายที่สุดของเส้นทางมาได้อย่างปลอดภัย 
    ข้ามช่องเขาตะโกไปก็เข้าสู่แผ่นดินถิ่นอีสาน เขตพื้นที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เส้นทางหมาย ๓๔๘ ทอดไปกลางทุ่งโล่งสลับกับเนินเขาที่ไม่สูงชันมากนัก ก่อนจะขึ้นเนินก็มักเป็นทางลาดลงก่อน ปล่อยรถให้ล่องเต็มที่เพื่อเสริมแรงส่งขึ้นเนิน และบางเนินที่ค่อนข้างสูงชัน ภาพงาม ๆ อันน่าชื่นหัวใจก็ปรากฏขึ้นในขบวน

(คลิกดูภาพใหญ่)     นักปั่นขาเดียวที่ขาขาดสูงมาก ๆ ซึ่งแม้ใส่ขาเทียมแล้วก็มีศักยภาพในการใช้งานไม่มากนัก หรือนักปั่นที่ใช้รถแบบไม่มีเกียร์ พอเจอเนินสูงชันก็ต้องอ่อนแรงเป็นธรรมดา คนที่มีสภาพร่างกายพร้อมกว่าหรือใช้รถดีกว่าก็จะเข้ามาช่วยดันหลัง แน่นอนว่าคนที่เข้ามาช่วยย่อมต้องออกแรงเพิ่มและเหนื่อยมากขึ้น แต่ผลก็คือทำให้ทั้งขบวนได้เคลื่อนไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่มีใครนำไปโลดและไม่มีคนถูกทอดทิ้ง 
     เส้นทางในพื้นที่ภาคอีสาน ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชน ที่ขบวนเคลื่อนผ่านอย่างกว้างขวาง น้ำเย็นๆ ส้มสูกลูกไม้พื้นบ้าน ขนมพื้นเมือง ถูกนำออกมาต้อนรับ ชุบชูหัวใจนักปั่นที่โดนแดดเผามา จนห่อเหี่ยวให้ตื่นฟื้นขึ้นอีกครา รถบนถนนที่ขับสวนมา ก็ดูจะให้ความสนใจ และมีท่าทีที่เป็นมิตร... 
    เนินสุดท้ายของเส้นทางช่วงเช้าอยู่ตรงโค้งเขื่อนลำนางรอง พ้นเนินขึ้นไปขบวนหยุดพักกินมื้อเที่ยงกันในสวนริมเขื่อน ก่อนจะเคลื่อนขบวนอีกครั้งเมื่อเวลาบ่ายโมงตรง
    จากหนองเสม็ด ผ่านกลางตลาดโนนดินแดง เข้าอำเภอละหานทราย ใช้เวลาไปราวสองชั่วโมง ได้ระยะทางรวม ๑๒๐ กิโลเมตร ขบวนก็มาถึงวัดโพธิ์ทรายทอง อันเป็นจุดพักค้างคืนที่สองเมื่อเวลาประมาณบ่ายสามโมง 
    ขณะอยู่บนหลังอานโลดแล่นไปบนท้องถนน มองเผิน ๆ อาจดูไม่ออกว่าเขาคือคนพิการ เพราะดูเขาคล่องแคล่วและแข็งแรงไม่ต่างจากคนปรกติ ต่อเมื่อถึงเวลาต้องถอดขาเทียมออกความแตกต่างจึงปรากฏ
    หลังถึงจุดหมายปลายทางของแต่ละวัน สิ่งแรกที่นักปั่นขาเดียวทุกคนต้องทำ คือ ปลดขา (เทียม) ของตัวเองออก เพื่อสำรวจตรวจสอบทั้งสภาพของปลายขา (จริง) และขาเทียม ที่กรำงานหนักมาร่วมกัน ร่างกายเต็มส่วนที่เห็นก่อนหน้านี้...เกิดช่องว่าง มาก-น้อยขึ้นอยู่กับความสั้นยาวของขาเทียมที่ถูกถอดออกไป
(คลิกดูภาพใหญ่)     ปลายขาข้างที่ขาดซึ่งถูกกดลงในเบ้าขาเทียมมาทั้งวันปรากฏรอยช้ำแดง คนที่สวมถุงเท้าไม่หนาพอเนื้อหนังถึงถลอก แต่คนที่ใส่ถุงเท้ามากชั้นเกินไปก็ประสบปัญหาความชื้น อับเหงื่อจนหนังซีดพอง ...บาดแผลบนขาเนื้อได้รับการพยาบาลโดยฝ่ายปฐมพยาบาล
    สำหรับส่วนที่เป็นขาเทียม คงไม่อาจผลักภาระไปให้ใครได ้นอกจากเจ้าของจะต้องดูแลแก้ไขเอง แต่หากเสียหายจนเกินความสามารถ ก็ขอแรงจาก 'ช่าง' ทำขาเทียมซึ่งร่วมมาในขบวนด้วย ช่วยซ่อมแซมให้ได้ และขาเทียมของนักปั่นทุกคนที่ร่วมขบวนจักรยานคราวนี้ ก็มาจากฝีมือของเขาทั้งสิ้น
    สุปัน โคตะ คือช่างผู้ให้ขาข้างใหม่แก่พี่น้องคนพิการเกือบทุกคนในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าหน้าที่แผนกขาเทียมของโรงพยาบาลบาลอรัญประเทศ สุปันเองก็เป็นคนพิการ เขาสังเวยขาข้างหนึ่งให้แก่ระเบิดขณะออกไปบุกเบิกนา หลังสูญเสียขาข้างขวาไปแล้ว เขาก็แปรลุ่มหนองจนเป็นผืนนา และยังคงเป็นชาวนามาโดยตลอด แม้ว่าจะลุยงานหนักเหมือนเก่าไม่ได้ และการใส่ขาเทียมลงไปย่ำโคลนทำนา เป็นเรื่องทุลักทุเลสิ้นดี แต่สำหรับคนด้อยโอกาสเช่นเขา ทางเลือกไม่ได้มีมากกว่านั้น 
    เกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว ที่สุปันสูญเสียขาข้างหนึ่งไปโดยไม่มีวันเรียกกลับคืนมาได้อีก แต่เชื่อว่าทุกครั้งที่เขาสวมขาใหม่ให้แก่เพื่อนผู้พิการ หลุมลึกในใจอันปวดร้าวและอ้างว้าง จะถูกแทนที่ด้วยความอิ่มเอิบ
    ทุกเย็นยามหยุดพักขบวน สุปันจะวุ่นวายอยู่กับการซ่อม แก้ ขันนอตขาเทียมให้คนนั้นคนนี้ หากเหลือบ่ากว่าแรงหรือเกินความพร้อมของเครื่องมือที่มีอยู่ ขาข้างที่มีปัญหาจะถูกนำใส่รถส่งไปซ่อมในเมือง เพื่อได้ทันใช้งานในวันรุ่งขึ้น
      เช้าวันที่ ๓ ของการเดินทาง ก่อนจะเคลื่อนต่อไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๕ ขบวนได้เข้าไปรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในตลาดละหานทราย ที่นี่นักปั่นเพื่อสันติภาพได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ คนในตลาดก็ให้ความสนใจอย่างหนาแน่น วันที่เขาสูญเสียขา เสียงระเบิดอาจก้องดังไปไม่เกินนอกหมู่บ้าน แต่วันนี้เสียงของเขาดังมาถึงตลาดถึงตัวเมือง คนที่ไม่เคยรู้ก็ได้รับรู้ และได้ตระหนักถึงปัญหาภัยกับระเบิด อันจะนำไปสู่การร่วมกันผลักดันให้มีการเก็บกู้กับระเบิดให้หมดไปจากแผ่นดินโดยเร็ว เพราะหากยังปล่อยให้มันดำรงอยู่วันหนึ่งข้างหน้า ผู้โชคร้ายอาจเป็นญาติมิตร ลูกหลาน หรือตัวเขาเองก็เป็นได้ 
    เส้นทางของวันที่ ๓ อยู่ในพื้นที่อำเภอละหานทราย-อำเภอพนมดงรัก-อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านชุมชนบ้านตาเมียง บ้านพนมดิน บ้านโคกเสลง บ้านอำปึล ที่แยกนิคมบ้านกรวด ขบวนเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหมายเลข ๒๑๒๑ ก่อนแวะพักแรมคืนที่โรงเรียนบ้านอุโลก
    พื้นที่ตามแนวชายแดนใน จังหวัดบุรีรัมย์ สถานการณ์ไม่แตกต่างจากด้าน จังหวัดสระแก้ว ทุกหมู่บ้านที่ผ่านพบ มีคนพิการจากกับระเบิด บางชุมชนสามสี่คน บางชุมชนมีนับสิบ คำบอกเล่าของเขามีใจความคล้าย ๆ กันว่า...ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายของเขา ยังไร้ผู้รับผิดชอบ และยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดอย่างเป็นรูปธรรม 
(คลิกดูภาพใหญ่)

    ชีวิตชายแดนเป็นวิถีที่ไร้หลักประกันเรื่องสวัสดิภาพ ขอบประเทศด้านจังหวัดสระแก้วไม่ได้มีป้อมกำแพงหรือปราการธรรมชาติอันแข็งแกร่ง เส้นแบ่งพรมแดนเป็นเพียงลำคลองกว้างไม่กี่เมตร ความระส่ำระสายและภาวะไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นในฝั่งตรงกันข้าม สามารถข้ามมาสู่แผ่นดินไทยได้ไม่ยาก โจรเขมร และเหล่ามิจฉาชีพสามารถเข้ามา และกลับออกไปได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องแยแสจุดผ่านแดน
    พืชพรรณที่ปลูกไว้ในไร่นา อาจถูกคนแปลกหน้าเก็บเกี่ยวไปต่อหน้า ที่เก็บมาไว้ในยุ้งฉางแล้วก็ยังมีสิทธิ์ถูกลักขโมย วัวควายที่ขังอยู่ในคอก อาจถูกปล้นในคืนไหนก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้เจ้าของทรัพย์แทบไม่มีสิทธิ์ปกป้อง เพราะลำพังแต่มีดพร้าใครจะกล้าต่อกรกับอาวุธสงคราม และยังเป็นที่เลื่องลือว่าโจรเขมรนั้นโหดร้ายไร้หัวใจ เพียงเจ้าของทรัพย์ขัดขืนก็จะถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม
    ปัจจุบันเป้าหมายในการปล้นอยู่ที่ทรัพย์สินพวกยานยนต์เป็นหลัก การดักปล้นรถบนท้องถนนและในหมู่บ้านเกิดขึ้นเป็นประจำ และรถคันไหนที่ล้อได้ข้ามไปแตะแผ่นดินเขมร ไม่เคยมีโอกาสได้คืนกลับมาหาเจ้าของอีก 

      เงียบ...แล้วหายไป ระลอกแล้วระลอกเล่า เหมือนพายุร้ายที่พัดกระหน่ำเข้ามา แล้วหอบเอาทรัพย์สินและชีวิตออกไปจากชุมชน ทั้งๆ ที่แผ่นดินที่เขายืนอยู่ เป็นอธิปไตยของประเทศไทย ขื่อแปและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็มีอยู่ครบถ้วน แต่ไม่เคยคุ้มครองอะไรได้ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยล้วนแต่อ่อนแอ และไร้ความกล้าหาญที่จะปกป้องประชาชน ขณะที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่เคยหันมาให้ความสนใจ เขาอาจคิดว่าแค่อาชญากรรมตามแนวชายแดน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความมั่นคงของชาติ แต่... รัฐชาติจะเหลือศักดิ์ศรีอะไร หากชีวิตของพลเมืองไร้ความมั่นคง
    วิพล ปูเดช นักปั่นขาเดียวจากบ้านโนนสาวเอ้ ยังหวั่นวิตกอยู่ว่า เขาห่างหมู่บ้านมาเดินทางไกลแค่ห้าวัน กลับไปจะมีข่าวร้ายรออยู่หรือเปล่า เป็นความห่วงใยที่มีต่อเพื่อนร่วมหมู่บ้าน ตัววิพลเองไม่มีอะไรต้องห่วงอีก ครอบครัวของเขาแตกสลายไปนานแล้ว ตั้งแต่เมียทิ้งไปมีแฟนใหม่หลังเขาโดนกับระเบิดไม่นาน
    คำรณ แดงอ่อน คนบ้านแสนสุขโดยกำเนิด พบว่าชีวิตตัวเองอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ ตั้งแต่จำความได้ "เกิดมาก็เจอเลย ไม่รู้จะหนีไปไหนได้ จะเข้าไปเรียนหนังสืออยู่ในเมืองก็ลำบากมันห่างไกล" สิ่งที่คนชายแดนจะทำได้ก็คือ ต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร คำรณบอกว่าในวัยหนุ่ม เขามีบารมีและกว้างขวางพอที่จะดูแลตัวเอง และเผื่อแผ่ไปถึงพี่น้อง และเพื่อนมิตรร่วมมาตุภูมิได้ รู้จักกับผู้คนและแผ่นดินฝั่งตรงกันข้าม จนสามารถเข้าไปรอนแรม และทำกิจการบางอย่างร่วมกันได้ แต่แล้วคืนหนึ่งเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว เขาถูกโจรเขมรกลุ่มหนึ่งดักปล้นกลางทาง ขณะจะกลับเข้าฝั่งไทย มันเกิดขึ้นก่อนเขาจะแต่งงานกับแฟนสาว ซึ่งเป็นข้าราชการท้องถิ่นไม่กี่วัน
    กระสุนสามนัดนั้น ไม่เพียงปล้นเอามอเตอร์ไซด์คู่กายของเขาไป แต่มันยังได้พรากเอาขาข้างหนึ่งกับอนาคตอันงดงามและอบอุ่นไปจากเขาด้วย วันนี้เขากลายเป็นคนพิการผู้โดดเดี่ยว ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเดิมอีก มันทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจในตัวเองอย่างถาวร
(คลิกดูภาพใหญ่)     จักรยาน ๕๐ กว่าคันตั้งขบวน แล้วเคลื่อนล้อจากหน้าโรงเรียนอุโลกไปตามถนนสาย ๒๑๒๑ ในแสงแดดของเวลาแปดโมงเช้า อันเป็นเวลามาตรฐานของการเริ่มต้นในทุกวัน วันนี้เป็นวันที่ ๔ แล้ว กำลังและสภาพร่างกายของนักปั่นขาเดียวเริ่มอยู่ตัว ท่อนแขนและลำขาที่เป็นเลือดเนื้อจริง ๆ โดนแดดมาจนเข้มคล้ำเหมือนเหล็กกล้าที่เผาไฟจนได้ที่ 
    สุดทางสาย ๒๑๒๑ ขบวนเลี้ยวซ้ายมุ่งไปทางอำเภอปราสาท หยุดพักกลางวันที่โรงเรียนบ้านพลวง พี่น้องตำบลบ้านพลวง อำเภอกังแอน ที่รู้ข่าวการมาของขบวนจักรยานล่วงหน้า เตรียมข้าวแกงหม้อใหญ่ พร้อมขนม ผลไม้ มะม่วง มะพร้าวอ่อน ไว้ต้อนรับ อิ่มหนำสำราญแล้วยังพาไปชมปราสาทหินบ้านพลวง โบราณสถานคู่บ้านซึ่งเป็นปราสาทศิลปเขมรร่วมยุคสมัยเดียวกับนครวัด
    ตามถนนสาย ๒๑๔ ไปจนถึงสี่แยกอำเภอปราสาท แล้วมุ่งตรงไปทางเมืองสุรินทร์ ถนนช่วงนี้เรียบตรงและมีไหล่ทางกว้างพอให้จัดขบวนได้สวยงามอีกครั้ง จนถึงวัดโยธาประสิทธิ์อันเป็นจุดพักคืนสุดท้ายของขบวน
    ค่ำคืนสุดท้าย วิเชียร วงศ์จำปา นักปั่นขาเดียว ผู้เป็นประธานเครือข่ายผู้พิการจากกับระเบิด ๑๙๙๙ จังหวัดสระแก้ว หยิบอิเล็กโทนคู่กายออกมาบรรเลง และร้องเพลงร่วมกับเพื่อนนักปั่นขาเดียว เหมือนกับทุกคืนที่ผ่านมา เป็นความสุขเล็ก ๆ และเรียบง่าย หลังเหนื่อยล้าบนหลังอานมาทั้งวัน ... ภารกิจของพวกเขาในฐานะผู้บอกข่าวจากชายแดน กำลังจะจบสิ้นในวันพรุ่งนี้ แต่อีกเมื่อไรกว่าสันติภาพอันถาวรจะเกิดกับแผ่นดินของเขา ยังไม่มีใครบอกได้
(คลิกดูภาพใหญ่)     นักปั่นขาเดียวท่องมาบนอานแล้วสี่วันเต็ม เก็บระยะทางรวม ๒๕๐ กิโลเมตร ผ่านชุมชนมาหลายสิบ พบปะผู้คนนับร้อยนับพัน... เช้านี้เป็นวันที่ ๕ จุดหมายอยู่ห่างไปไม่เกิน ๕ กิโลเมตร ขบวนเริ่มเคลื่อนก่อนเวลาปรกติเล็กน้อย เพราะตั้งใจว่าก่อนเข้าสู่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ จะเข้าไปรณรงค์ในตัวจังหวัด เป็นการส่งท้ายอีกสักครั้ง...
    เสียงปืนของสงครามเงียบลงไปพักใหญ่แล้ว แต่ผลพวงจากการสู้รบ ยังทำร้ายผู้คนตามแนวชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ซึ่งขบวนจักรยานรณรงค์ "สร้างสันติภาพ หยุด ! กับระเบิด" ได้เคลื่อนมาถึงปลายที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เสาร์ จำเริญดี ชาวบ้านหนองจูบ อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ถ่อร่างพิการมาบนไม้เท้าคู่ มาร่วมสมทบกับขบวนนักปั่นขาเดียว เขาเพิ่งโดนกับระเบิดไปเมื่อคืนวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๓ ขณะออกไปส่องกบในทุ่งนาหลังหมู่บ้าน แผลของเขายังไม่หาย หน้ายังซีดสลดเหมือนยังไม่หายตระหนกจากฝันร้าย ที่ตื่นขึ้นมาพบว่าเป็นความจริง
    ตลอดเส้นทางที่นักปั่นเพื่อสันติภาพท่องผ่าน เขาพยายามบอกกับทุกคนทั้งทางถ้อยคำและเอกสารแผ่นพับ ว่าภัยคุกคามจากกับระเบิดไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของเขาหรือลูกหลานรุ่นหลัง ที่ต้องเกิดมาเป็นคนชายแดน แต่มันหมายถึงสวัสดิภาพของประเทศ และสันติภาพของโลก
    เขาหวังว่าคนที่ได้รับรู้ และตระหนักถึงภัยอันตรายจากกับระเบิด จะช่วยพวกเขาร้องตะโกนเพื่อเปิดหูรัฐบาล ให้หันมามองดูปัญหาที่ชายแดนบ้าง มาเก็บกู้เอามรดกของสงครามที่พวกเขานำมาลืมไว้ - กลับคืนไปด้วย และมาไถ่ถอนบาปที่พวกเขาก่อขึ้น ด้วยการยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือต่อผู้เคราะห์ร้าย ที่ประสบภัยจากกับระเบิดบ้าง คนเหล่านี้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วยกับสงคราม แต่ต้องมารับกรรมไม่มีที่สิ้นสุด
    คำขอของคนชายแดน ไม่ได้ใหญ่หลวงจนเกินที่ใครจะหยิบยื่น แค่ความหวังอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวของคนเล็ก ๆ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม แค่ความใฝ่ฝันถึงแผ่นดินดั้งเดิมที่พระเจ้าประทานมาให้แผ่นดินที่ให้ชีวิต ไม่ใช่แผ่นดินที่หยิบยื่นแต่ความตาย แค่ฝันถึงการได้เดินไปรอบ ๆ อย่างเสรีและปลอดภัย ฝันถึงความสุขกับงานในไร่ในนา โดยไม่ต้องหวดระแวงว่ากับระเบิด จะมาพรากเอาแขนขาหรือชีวิต และปรารถนาอันสูงสุดเขาแค่ใฝ่ฝันว่า... สันติภาพอันถาวรจะเกิดขึ้นบนแผ่นดินชายแดน
    แค่ความฝันอันต่ำต้อยของคนริมขอบประเทศ หากรัฐบาลยังทำให้เป็นความจริงไม่ได้ มีความหมายอะไรที่จะพูดกันถึงสันติภาพของโลก
      *คณะทำงานไทยรณรงค์ยุติกับระเบิด หรือ Thailand Campaign to Ban Landmines (TCBL) เกิดจากการรวมตัวขององค์พัฒนาเอกชนสามถึงสี่องค์กร เมื่อปี ๒๕๔๐ เพื่อผลักดันให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาออตตาวา (ในขณะนั้นยังไม่ลงนาม) และรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของกับระเบิด รวมทั้งส่งเสริมให้มีการกู้ ทำลายกับระเบิด และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากกับระเบิดอย่างเป็นรูปธรรม
    องค์กรสมาชิก TCBL ประกอบด้วย
    คณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย (ยส.) องค์กรพัฒนาเอกชน ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สันติภาพ และความยุติธรรมในสังคม โทรศัพท์ (๐๒) ๒๗๗-๔๖๒๕, ๒๗๕-๗๗๘๓
    สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) องค์กรเอกชน ทำงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ลี้ภัย และราษฎรบริเวณแนวชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะผู้ลี้ภัย โทรศัพท์ (๐๓๗)๒๓๑-๕๙๔, (๐๑) ๓๐๖-๗๓๐๒
    สำนักงานเยซูอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย (JRSAP) องค์กรเอกชนดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์ ดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โทรศัพท์ (๐๒) ๒๗๙-๑๘๑๗, ๒๗๘-๔๑๘๒
(คลิกดูภาพใหญ่)     *อนุสัญญาออตตาวา (ottawa) หลังจากถูกกระตุ้นจากภาคเอกชนทั้งใน และนอกประเทศมานาน ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ได้ลงนามในอนุสัญญาออตตาวา เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นประเทศแรกในอาเซียน แต่เป็นประเทศที่ ๓๓ ของโลก โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ซึ่งในวันนั้นได้มีการทำลายกับระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ ๑ จำนวน ๑ หมื่นลูก ณ บริเวณเขาพุโลน จ. ลพบุรี อันเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาเป็นครั้งแรก
    สาระสำคัญของอนุสัญญาออตตาวา
    -ให้เลิกใช้กับระเบิดโดยสิ้นเชิง
    -ทำลายกับระเบิดที่เก็บไว้ภายใน ๔ ปี
    -กู้กับระเบิดให้หมดภายใน ๑๐ ปี
    -ห้ามขนส่งกับระเบิดผ่านประเทศ
    -ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากกับระเบิดอย่างเป็นรูปธรรม

    *ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๒ ตามมติของคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสังหารบุคคล มีภารกิจในการเก็บกู้ ทำลายทุ่นระเบิดในประเทศไทย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงภัยจากทุ่นระเบิด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด 

    *เครือข่ายผู้พิการจากกับระเบิด หลังจากที่กลุ่มผู้ประสบภัยจากกับระเบิดในจังหวัดสระแก้ว นำโดย คุณสุปัณ โคตะ ได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์กับคณะทำงานไทยรณรงค์ยุติกับระเบิด มาเป็นเวลาสองปี รวมถึงการขี่จักรยานรณรงค์ "สร้างสันติภาพ หยุด ! กับระเบิด" ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๒ จนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ ผู้ประสบภัยได้รวมกลุ่มกันเสนอโครงการเพื่อขอทุนในการประกอบอาชีพ ทุนการศึกษาบุตร ต่อกองทุนเพื่อสังคมของธนาคารออมสิน หรือ SIF ปัจจุบันมีสมาชิก ๗ กลุ่ม ๑๗๗ คน และได้รับงบประมาณจาก SIF จำนวน ๒.๓ ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการภายใต้ชื่อ "เครือข่ายผู้พิการจากกับระเบิด ๑๙๙๙ จังหวัดสระแก้ว" มีคุณวิเชียร วงศ์จำปา เป็นประธาน

 

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail