Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี
การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ 
เรื่อง : จักรพันธ์ กังวาฬ / ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
    ว่ากันว่า "คนตายยังไม่ดังเท่าช้างตาย"
    คำพูดนี้นอกจากจะไม่เกินจริงแล้ว ยังสะท้อนสถานะพิเศษบางอย่างของช้าง-- สัตว์ร่างมหึมา งวงงายื่นยาว ที่น่าจะน่ากลัวมากกว่าน่ารัก
    สำหรับสังคมไทย ช้างดูจะเป็นสัตว์ชนิดเดียว ที่มีสถานะพิเศษอย่างยิ่ง
    คนไทยรักช้าง ความฉลาดแสนรู้ และดวงตาอ่อนโยนเป็นมิตร ที่ขัดกับขนาดอันใหญ่โตของมัน ทำให้ช้างเป็นสัตว์ที่มีคนรักและเอ็นดูมากที่สุด
    คนไทยคุ้นเคยกับช้าง ไม่เพียงในฐานที่เป็นสัตว์ใช้งาน หรือพาหนะในการรบ แต่ช้างยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง - คู่บารมีพระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทรงช้างกระทำยุทธหัตถี กอบกู้เอกราชของชาติ และครั้งหนึ่งช้างเผือก ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ ประดับอยู่บนผืนธงของเรา... ยังไม่ต้องนับว่า ช้างอยู่คู่กับป่าเมืองไทยมาช้านาน และก็เป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในระบบนิเวศ
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ในสถานการณ์ที่ช้างเลี้ยงจำนวนมาก กำลังกลายเป็นช้างเร่ร่อนอยู่ตามป่าคอนกรีต และช้างป่าของเราก็กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนน่าใจหาย จากจำนวน ๒,๖๐๐-๔,๔๕๐ ตัวเมื่อปี ๒๕๑๓ เหลือเพียง ๑,๙๗๕ ตัวในปัจจุบัน จึงไม่แปลกอะไรที่ข่าวคราวใด ๆ เกี่ยวกับช้างไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับช้าง จะปรากฏเป็นข่าวครึกโครมที่คนไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจอย่างสูง และพร้อมจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ 
    กลางปี ๒๕๔๐ หลังเหตุการณ์ช้างป่าสองตัวเสียชีวิต จากสารพิษบริเวณไร่สับปะรด ที่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่บริเวณนี้ ได้กลายเป็นศูนย์กลางของผู้มาเยือนหลายฝ่าย หลายระดับ ทั้งเชื้อพระวงศ์ผู้เมตตาช้าง นายทหารระดับแม่ทัพ นายตำรวจใหญ่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัด นักวิชาการด้านสัตว์ป่า ผู้สื่อข่าวหลายสำนัก รวมทั้งคนในพื้นที่ ทั้งตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ต่างก็ถูกดึงดูดเข้าสู่วังวนแห่งการแก้ปัญหาเรื่องช้าง หลายโครงการ หลายมาตรการ ถูกคิดค้น นำมาปฏิบัติ แต่กระทั่งถึงปัจจุบัน การเผชิญหน้าระหว่างช้างป่า และชาวไร่ที่กุยบุรีก็ยังไม่ยุติลง 
    ทุกวันนี้ในละแวกตำบลหาดขาม และตำบลอื่น ๆ ของอำเภอกุยบุรี เราจะพบร่องรอยของช้างได้แทบทุกสถานที่ทุกเวลา พบรอยเท้า และกองมูลของมัน ในไร่สับปะรดร้างที่ถูกเวนคืน เป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ พบป้ายสื่อความหมาย ที่ถูกงวงทรงพลังหักทำลาย ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และพบไร่สับปะรดของชาวบ้านถูกย่ำราบเป็นแถบ
    "เรื่องเล่า" ว่าด้วยช้างยังวนเวียนอยู่ในถ้อยคำปรับทุกข์ระหว่างชาวบ้าน อยู่ในคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่โครงการพระราชดำริ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต่อบรรดานักข่าวที่ทยอยกันมาไม่ขาด และอยู่ในวาระการประชุมอันคร่ำเคร่ง ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะหาทางออกว่า ทำอย่างไรคนและช้าง จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและยั่งยืน
 (คลิกดูภาพใหญ่) .

    "หลับเสียเถิดพญาคชสาร กลางผืนม่านแนวไพรกว้างไกลแสน ห้วงมหรรณพคือสุสานวิมานแมน ฝังกลางแก่นบึ้งหัวใจไทยนิรันดร์" (ข่าวสด, ๒๖ พ.ค. ๔๐)
    ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่บนผืนผ้า ที่หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล นำมาคลุมไว้บนหลุมศพช้างป่าสองตัวที่ตายลง เนื่องจากได้รับสารพิษ บริเวณไร่สับปะรดอำเภอกุยบุรี
    ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐ สองวันหลังจากข่าวการตายของช้างเผยแพร่ออกไป หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล หรือ "ท่านหญิง" ของชาวบ้าน พร้อมคณะจากสำนักพระราชวัง ได้เดินทางเข้ามายังพื้นที่อำเภอกุยบุรี เพื่อติดตามข่าวเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เหตุการณ์ช้างตายที่กุยบุรี กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับอย่างต่อเนื่อง เนื้อข่าวนอกจากจะบีบคั้นหัวใจคนรักสัตว์แล้ว ยังเผยให้คนทั่วประเทศได้รับรู้ถึง ข้อพิพาทระหว่างคนและสัตว์ ที่ยืดเยื้อยาวนานบนพื้นที่แห่งนี้ จนกระทั่งนำมาสู่โศกนาฏกรรมในที่สุด
    รายงานข่าวระบุว่า ราวเจ็ดโมงเช้าของวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๐ บุญลือ พูลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สายตรวจพิทักษ์ป่าว่า พบช้างป่าเสียชีวิตหนึ่งตัว และได้รับบาดเจ็บอีกหนึ่งตัว ในบริเวณที่เรียกว่าหุบกระชัง ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี 
    เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไปถึงที่เกิดเหตุ ก็พบศพช้างป่าเพศผู้ตัวใหญ่นอนตะแคงขึ้นอืด ตรวจพบว่าเสียชีวิตมาแล้วสามวัน ใกล้ ๆ กันพบช้างเพศเมียหนึ่งตัว อยู่ในสภาพป่วยหนัก แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ช้างเคราะห์ร้ายก็เสียชีวิตในที่สุด 
    นายสัตวแพทย์จามร ศักดินันท์ สัตวแพทย์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเดินทางมาตรวจสอบ พบว่าช่องปากของช้างทั้งสองตัว เป็นสีเขียวคล้ำคล้ายถูกสารพิษ ทำให้มีผู้คาดกันว่าชาวไร่เป็นผู้วางยาเบื่อช้าง เพราะโกรธแค้นที่ช้าง มาลงกินไร่สับปะรดของตน หลายวันต่อมาผลชันสูตรอย่างเป็นทางการ จากกรมปศุสัตว์ระบุว่า ช้างทั้งสองตัวเสียชีวิตจากสารพิษร้ายแรง ที่ไม่มีสีไม่มีกลิ่น
    สุวิทย์ ผลลาภ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ฉบับวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๐ ว่า "ไม่แน่ใจว่าสารพิษที่ช้างได้รับ มีต้นตอมาจากที่ใด ถ้าจะถามว่าชาวไร่ตั้งใจจะวางยาช้างหรือไม่ ไม่ขอแสดงความคิดเห็น แต่ชาวไร่สับปะรด ไม่ใช้ยาชนิดนี้ฉีดป้องกันแมลงแน่ ส่วนใหญ่จะใช้ในไร่ข้าวโพดเท่านั้น"

 (คลิกดูภาพใหญ่)

    ระยะนั้นหนังสือพิมพ์ประโคมข่าวใหญ่โตว่า ช้างป่ากุยบุรีทั้งโขลงประมาณ ๕๐ ตัว อาจได้รับสารพิษ ที่มีผู้แพร่สู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้ทุกฝ่ายเร่งรุดเข้าพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตนี้โดยด่วน นับตั้งแต่หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ที่รับรู้กันว่าทรงเมตตาช้างเป็นพิเศษ, พล.ท. วินิจ กระจ่างสนธิ์ แม่ทัพภาคที่ ๑ ตัวแทนฝ่ายทหารผู้ดูแลพื้นที่, พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค รอง อตร. ผู้รับผิดชอบงานป้องกัน และปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติ, นิคม พุทธา นักวิชาการสัตว์ป่าจากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ
    ข้อมูลจากคนในพื้นที่ระบุว่า บริเวณที่ช้างตายเดิมเป็นเขตป่าสงวน ต่อมาทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ขอเช่าที่ดินจากกรมป่าไม้ แล้วจัดสรรให้เกษตรกรเช่าอีกทอดหนึ่ง แต่ปรากฏว่านายทุนที่มาเช่าที่ดิน กลับบุกรุกถางป่า เกินจากขอบเขตที่ตนเช่าไว้ ด้วยเหตุนี้ในชั้นแรกทุกฝ่าย จึงพุ่งเป้าไปที่นายทุน ว่าเป็นต้นตอของปัญหา และมีข้อสรุปว่า ต้องเวนคืนที่ดินบริเวณนั้นเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า
    "นอกจากนี้นายทุนยังบุกรุกทำลายป่าบริเวณนั้นเพิ่มเติมอีก เพื่อให้ได้พื้นที่ปลูกสับปะรดจำนวนมาก จุดนี้เองทำให้ป่ากุยบุรี ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้าง ถูกทำลายไปจำนวนมาก จนช้างต้องถอยร่นออกไป แต่ก็ยังมีปัญหาแหล่งอาหาร ป่าบริเวณอื่น อาจไม่มีอาหารอุดมสมบูรณ์เท่าใดนัก ช้างจึงต้องกลับมาป้วนเปี้ยนหาอาหารจุดเดิม เมื่อมาเจอสับปะรด ช้างก็ต้องกินเป็นธรรมดา เพราะไม่สามารถแยกออกได้ว่า เป็นของคนปลูกไว้ หรือเกิดขึ้นเอง แหล่งน้ำก็ต้องมากินจุดเดิม ทำให้ถูกสารพิษจนเสียชีวิตในที่สุด
    "ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต้องเรียกพื้นที่ป่าดังกล่าว คืนจากนายทุน แล้วส่งมอบให้กรมป่าไม้ จากนั้นจัดป่าผืนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เมื่อพื้นที่ดังกล่าวไม่ตกอยู่ในมือนายทุน และไม่มีการปลูกสับปะรด จะทำให้การแก้ปัญหาช้างไม่มีที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหาร รวมทั้งปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างคนกับช้างหมดไป" (นิคม พุทธา, ข่าวสด ๒๗ พฤษภาคม ๔๐)

 (คลิกดูภาพใหญ่)     "ปัญหาช้างตายสองตัวที่ป่ากุยบุรี เกิดจากคนเข้าไปรุกที่อาศัยของช้างก่อน ไปทำลายแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ จนช้างลำบาก การที่ช้างมากินสับปะรด จะโทษช้างไม่ได้ เพราะเป็นแหล่งอาหารที่เคยกิน ขอเสนอให้ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คืนพื้นที่ป่ากุยบุรีให้กรมป่าไม้ จากนั้นต้องช่วยกันฟื้นฟูให้ป่าคืนสภาพเดิม ให้ช้างอยู่ได้ตามปรกติ เช่น การปลูกต้นไม้ การสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีอยู่หลายแหล่ง แต่เมื่อคนบุกรุกเข้าไปทำไร่สับปะรด มีแหล่งน้ำเหลือเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น ทำให้ช้างมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ดังนั้นต้องขุดบ่อน้ำเพิ่มอีกสี่ถึงห้าแห่ง" (หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล, ข่าวสด ๓๐ พฤษภาคม ๔๐)
    "ชาวบ้านทุกคนอยากให้ทางจังหวัดยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน กับพวกนายทุนทั้งหมด และนำพื้นที่คืนให้กรมป่าไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า การยกเลิกพื้นที่นี้ พวกเราขอยืนยันว่าชาวบ้านไม่เดือดร้อน เพราะชาวบ้านไม่ได้เป็นเจ้าของเลย มีแต่นายทุนทั้งสิ้น และนับวันจะมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเข้าไปมากทุกขณะ จนเป็นหมื่นไร่แล้ว ชาวบ้านทุกคนสงสารสัตว์ป่ามาก" (ร.ต. สุ่น หมวกเมือง ผู้ใหญ่บ้านรวมไทย, ข่าวสด ๓๐ พฤษภาคม ๔๐)
    ๒ มิถุนายน ๒๕๔๐ นายอำเภอกุยบุรีได้เรียกกลุ่มนายทุนผู้เช่าพื้นที่ บริเวณดังกล่าวมาประชุมทำความเข้าใจ กระทั่งยอมคืนที่ดินให้แก่ทางการในที่สุด
    เรื่องราวทุกอย่างน่าจะยุติลงได้ด้วยดี เมื่อ "พื้นที่ปัญหา" ได้ถูกส่งมอบคืนแก่ทางการ เพื่อจัดการฟื้นฟูสภาพป่า ให้เป็นแหล่งหากินของช้างต่อไป ทว่าข้อพิพาทระหว่างคนกับช้าง ก็มิได้จบลงง่าย ๆ อย่างที่คิด ช้างยังคงลงกินสับปะรดในไร่ของเกษตรกรอยู่เป็นระยะ และวาทะ "คนรุกที่ช้าง" ก็ยังคงปรากฏอยู่ในข่าวของสื่อมวลชน แม้ในระยะหลังหลายฝ่าย จะเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า คนรุกที่ช้างหรือช้างรุกที่คนกันแน่ ?
    หากปัญหาใหญ่ของเรื่อง คือการซ้อนทับกันของพื้นที่หากินของช้าง และพื้นที่ทำกินของคน การติดตามประวัติความเป็นมาของพื้นที่โดยละเอียด อาจทำให้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น...
 (คลิกดูภาพใหญ่) ๒.

    หากขับรถจากกรุงเทพฯ ลงมาทางใต้ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ผ่านอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เข้าเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี ไปไม่นาน ก็จะถึงอำเภอกุยบุรี กุยบุรีจัดเป็นพื้นที่ชายแดน เพราะมีแนวพรมแดนด้านตะวันตก ติดประเทศพม่า บริเวณรอยต่อพรมแดนก็คือ แนวเขาสลับซับซ้อนและผืนป่าใหญ่ ของเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งกรมป่าไม้สำรวจและจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๓ ส่วนไร่สับปะรดของชาวบ้านที่มีปัญหาช้างบุกรุก เช่น หมู่บ้านรวมไทย พุบอน ย่านซื่อ และยางชุม กระจายตัวอยู่รอบ ๆ แนวเขตอุทยานฯ ในพื้นที่ราบตอนกลางของพื้นที่อำเภอกุยบุรี
    ร.ต. สุ่น หมวกเมือง อายุ ๖๒ ปี สมาชิกหมู่บ้านรวมไทยรุ่นก่อตั้ง อดีตผู้ใหญ่บ้านรวมไทย และประธานชมรมคนรักช้างกุยบุรีคนปัจจุบัน เล่าให้ สารคดี ฟังว่า ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่สีชมพู มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) อยู่หนาแน่น สภาพเป็นป่าสมบูรณ์ แต่มีนายทุนที่มีความสัมพันธ์กับ ผกค. เข้ามาบุกเบิกพื้นที่บางส่วนทำไร่อ้อย- ไร่สับปะรดมาก่อนแล้ว ทางการจึงมีนโยบาย ที่จะรวมราษฎรให้เป็นกลุ่มก้อน โดยการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านถาวรขึ้น เพื่อคลี่คลายปัญหาเรื่อง ผกค.
    "ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ แล้ว แต่ที่ดังมาก ๆ คือช่วงปี ๒๕๑๐ มีการปะทะกันอย่างรุนแรง กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายครั้ง พวกคอมฯ ก็คือคนในพื้นที่ซึ่งถูกกดดันจากข้าราชการ ตำรวจ พ่อแม่ถูกยิงตายแต่จับคนยิงไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เกิดความเคียดแค้น ก็เข้าป่า แต่ตอนนี้ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยหมดแล้ว"
    ปี ๒๕๒๑ สมัยรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้มีคำสั่งให้แต่ละจังหวัด จัดตั้งหมู่บ้านตัวอย่างขึ้นมาหนึ่งแห่ง ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เลือกพื้นที่บริเวณนี้ซึ่งเป็นพื้นที่สีชมพู จัดตั้งเป็นหมู่บ้านรวมไทย แล้วคัดเลือกทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และอาสาสมัครรักษาดินแดน เข้ามาอยู่ก่อน
    "เดิมผมเป็นคนบ้านสังกะทาย อำเภอกุยบุรี ถูกทางการเรียกให้อพยพเข้ามาอยู่หมู่บ้านรวมไทย เมื่อปี ๒๕๒๑ นับเป็นรุ่นแรก มีทั้งหมด ๓๒ ครอบครัว ทางการคัดเลือกคนจากทั่วจังหวัดประจวบฯ เมื่อเข้ามาแรก ๆ ในพื้นที่ก็มีไร่อ้อยไร่สับปะรดอยู่ก่อนแล้ว เป็นของนายทุนเก่า ที่ทางการก็ยึดคืน แล้วจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎร ได้คนละ ๒๓ ไร่ เป็นที่ปลูกบ้าน ๓ ไร่ แล้วก็ที่ทำกิน ๒๐ ไร่ 

(คลิกดูภาพใหญ่)     "เข้ามาแรก ๆ ลำบากมาก ทางการบอกให้ปลูกถั่วเขียว แต่ปลูกแล้วไม่ได้ผล ไม่มีเมล็ด ปลูกข้าวโพดก็ขาดทุน ก็เลยหันมาปลูกสับปะรดกันตั้งแต่ปี ๒๕๒๒" ร.ต. สุ่นกล่าว
    เชื่อกันว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ยังคุกรุ่นมาจนปัจจุบัน น่าจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๒๓ เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการเช่าพื้นที่ป่าสงวนจากกรมป่าไม้จำนวน ๒๑,๘๗๕ ไร่ในระยะเวลา ๓๐ ปี เพื่อจัดสรรเป็นพื้นที่เช่าทำไร่สับปะรด 
    ร.ต. สุ่นให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มาเช่าพื้นที่ในครั้งนั้น มีทั้งเกษตรกรในพื้นที่ และนายทุนจากที่ต่าง ๆ เช่น เถ้าแก่ไร่อ้อย ไร่สับปะรด เจ้าของโรงงานต่าง ๆ ทั้งจากกุยบุรี ปราณบุรี สามร้อยยอด โดยมีเงื่อนไขอัตราการเก็บภาษี และค่าเช่าที่แตกต่างกัน
    "การเช่าที่ดินแบ่งออกเป็นสามประเภท ชาวบ้านธรรมดาจะเช่าประเภท ๑ คือยื่นเช่าได้ ๒๐ ไร่ ไร่ละ ๒๐๐ บาทต่อปี ประเภท ๒ เช่าได้ ๕๐ ไร่ ต้องเสียภาษีให้รัฐปีละ ๒,๐๐๐ บาท แต่ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่นั้น ก็สามารถล้มไปขายได้ เสียค่าเช่าไร่ละ ๑๕๐ บาท ส่วนประเภท ๓ เช่าได้ ๔๐๐ ไร่ นี่ต้องเป็นนายทุนเลย ปีแรกไม่เก็บค่าเช่า ปีที่ ๒ เก็บไร่ละ ๓๐ บาท ปีที่ ๔ เก็บไร่ละ ๕๐ บาท พอปีที่ ๕ ที่ ๖ เก็บไร่ละ ๑๐๐ บาท ในพื้นที่ยังมีต้นไม้อยู่มาก ทางจังหวัดก็บอกว่า ตัดไม้ไปเสียค่าบำรุง แล้วเอาออกไปขายได้ ปรากฏว่านายทุนเอาแทรกเตอร์มาลง ลุยดันไม้ล้มเจ็ดวันเจ็ดคืน พวกผมมาอยู่ใหม่ไม่มีอะไร ก็เป็นคนจน ๆ ทั้งนั้น ก็ไปเก็บเศษไม้ที่เหลือทิ้งไว้มาขายกัน ได้วันละห้าถึงสิบกระสอบ เป็นอย่างนี้ป่าถึงได้หมด" ร.ต. สุ่นระลึกถึงความหลัง
    "เมื่อปี ๒๕๒๒ ผมมาอยู่ใหม่ ๆ พื้นที่แถบนั้นยังเป็นป่า มีเตียนแค่เป็นหย่อม ๆ แต่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ เรื่อยมา ผู้เช่าเข้ามา เขาบุกรุกป่าจากพื้นที่ราบยันเชิงเขา ทางจังหวัดก็ผิดสัญญากับกรมป่าไม้ คือเมื่อเช่าที่ไปแล้ว คุณต้องดูแลขอบเขตป่าสงวนให้ด้วย แต่นี่ทางจังหวัดไม่ได้ขึ้นมาดูเลย รุกถึงไหนก็ไม่สนใจ จะเก็บค่าเช่าอย่างเดียว"
    ส่วน บุญลือ พูลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีให้ข้อมูลว่า "ก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ป่าแถบนี้ทั้งหมดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ มีพื้นที่ทั้งหมด ๙ แสนกว่าไร่ แต่กรมป่าไม้เข้ามาสำรวจ และจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๓๓ เนื้อที่ ๖๐๕,๖๒๕ ไร่ พื้นที่ส่วนที่เหลือยังเป็นป่าสงวนเหมือนเดิม ส่วนใหญ่จะมีชาวบ้านบุกรุกครอบครอง หรือเป็นพื้นที่ที่ได้รับ สปก. เป็นบางส่วน
 (คลิกดูภาพใหญ่)     "ผมมาอยู่ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเมื่อปี ๒๕๓๙ ก่อนหน้านั้นก็มีช้างลงมากินสับปะรดในไร่ชาวบ้านแล้ว แต่ยังไม่มากเท่าไหร่ สอบถามชาวบ้านบอกว่า เห็นเป็นประจำในฤดูแล้ง แต่พอมาปี ๒๕๔๐ ปรากฏว่าช้างลงมาถี่ขึ้น และมากันคราวละหลายตัว ทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เกษตรกรรม จนเกิดเหตุการณ์ช้างตายด้วยสารพิษ ทำให้หน่วยราชการต้องเริ่มเข้ามาแก้ไข โดยเบื้องต้นได้เวนคืนพื้นที่เช่าจากนายทุน มาภายหลังจึงเกิดเป็น 'โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ' ขึ้น"
    หัวหน้าบุญลืออธิบายว่า เดิมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เช่าที่ดินจากกรมป่าไม้จำนวน ๒๑,๘๗๕ ไร่ ทว่าทางราชการเวนคืนเฉพาะพื้นที่เช่าส่วนบน ซึ่งเป็นของนายทุนจำนวน ๓,๕๐๐ ไร่ รวมกับพื้นที่ที่นายทุนบุกรุก ล้ำเขตป่าสงวนอีกหมื่นกว่าไร่ ดำเนินการจัดตั้งเป็นพื้นที่เป้าหมาย โครงการพระราชดำริ มีพื้นที่ ๑๘,๖๗๕ ไร่ 
    เจ้าหน้าที่โครงการพระราชดำริ ประกอบด้วยคณะทำงานหลายคณะ จากหลายหน่วยงาน ที่จะมาดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่า ปรับปรุงคุณภาพดิน จัดสร้างแหล่งน้ำให้ช้าง และส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ทั้งหมดนี้คือความพยายามส่วนหนึ่ง ในการแก้ปัญหาการเผชิญหน้าของคนและช้างที่กุยบุรี 
(คลิกดูภาพใหญ่) ๓.

    จากหนังสือ แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในหัวข้อ "หลักการและเหตุผล" ตอนหนึ่งมีใจความว่า
    "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าดังกล่าว (ป่ากุยบุรี) จึงได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว เพื่อที่ช้างป่าจะได้ไม่ออกมารบกวนพื้นที่อื่น ๆ ให้เสียหาย ไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง ระหว่างคนและช้างป่าอีกต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร และราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่โครงการ ร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้เกิดโครงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น"
    พ.ท. ศิรพล ศิริบาล นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำศูนย์ประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๑ ซึ่งพาเราสำรวจพื้นที่เป้าหมายโครงการพระราชดำริ เล่าให้เราฟังถึงการทำงานในโครงการนี้ว่า

 

    "โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ เป็นโครงการซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ กองทัพภาคที่ ๑ ก็เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีด้วยกันสามคณะ ผมอยู่ในคณะทำงานแรก คือคณะทำงานประสานงานโครงการ มีหน้าที่แก้ไขเกี่ยวกับพื้นที่ป่าสงวนที่มีผู้บุกรุก เราขอให้เขาออกไป คืนพื้นที่เสีย เป็นการถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี สรุปว่าการแก้ไขเรื่องพื้นที่ขณะนี้เรียบร้อยแล้ว
    "คณะทำงานที่ ๒ คือคณะทำงานด้านอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าไม้เขตเพชรบุรีเป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีหน้าที่รับผิดชอบฟื้นฟูสภาพป่า ปลูกต้นไม้ ปลูกพืชอาหารช้าง ทำอ่างเก็บน้ำ ทำ check dam เพิ่มความชุ่มชื้นและเป็นแหล่งน้ำให้ช้าง
    "ส่วนคณะทำงานที่ ๓ คือคณะทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ มีปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทำหน้าที่พัฒนาอาชีพให้แก่คนในพื้นที่ ได้แก่ หมู่บ้านรวมไทย หมู่บ้านพุบอน และหมู่บ้านย่านซื่อ ในปี ๒๕๔๒ เราได้ดำเนินการแจกพันธ์ไก่ บ้านละ ๑๕ ตัว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย แล้วในหนึ่งปีเมื่อไก่ออกไข่มีลูก ต้องเอาไก่มาคืนกองกลาง ๑๕ ตัว เพื่อนำไปแจกบ้านที่ยังไม่ได้รับ หมุนเวียนกันไป นอกจากนี้ก็มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกสร้างโรงไหมแล้ว ๑๒ โรง แต่ความที่งบประมาณมีจำกัด เราจึงต้องคัดเลือกชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือ และเป็นลูกบ้านที่ดี ให้ได้รับโรงไหม"
    พ.ท. ศิรพล นำเราไปยังด้านหน้าอาคารสำนักงาน กปร. ที่นั่นมีบอร์ดแสดงภาพถ่าย ทั้งภาพทหาร- หน่วยราชการ- ชาวบ้าน ร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่โครงการฯ, ภาพเจ้าหน้าที่ทหารนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบิน โปรยเมล็ดพันธ์พืชอาหารช้างในป่า, ภาพรถบรรทุกขนอาหารช้าง ไปเทกองให้ช้างบริเวณชายป่า โดยอธิบายว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้ กระทำตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังเช่น

      "เนื่องจากมีสัตว์ป่าอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในป่าลึก จึงควรมีการปลูกพืชเสริมเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า เช่น การปลูกอ้อย สับปะรด หรือพืชอื่น ๆ ที่เหมาะสม โดยทดลองนำพันธ์พืชขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยในกลางป่าบริเวณต่าง ๆ เพื่อให้เติบโต และเป็นอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะเป็นทฤษฎีใหม่อีกแบบ" (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑)
    หรือ "เมื่อช้างมีอาหารรับประทาน ก็จะไม่มารบกวนชาวบ้าน และให้นำเมล็ดพันธ์ไปโปรยเพิ่มเติมอีก เพื่อจะได้เป็นอาหารของช้างป่าในปีต่อไป" (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒)
    และ "การปลูกพืชให้ช้างไม่ควรใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ให้ทหารที่มีหน้าที่ในการลาดตระเวนอยู่แล้ว นำพืชหรือเมล็ดพันธ์พืชติดตัวไปด้วย และทำการปลูกในขณะลาดตระเวนเข้าไปในป่าลึก ๆ" (พระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒)
    พ.ท. ศิรพลกล่าวต่อว่า "ในช่วงฤดูฝน เราจะให้เฮลิคอปเตอร์ทหาร บินไปโปรยเมล็ดพันธ์พืชในป่า เมื่อปี ๒๕๔๑ เราได้บินโปรยเมล็ดพืชไปแล้วสามครั้ง ส่วนทหารที่ออกไปลาดตระเวนเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ให้เอาเมล็ดพืชไปโปรยหว่านด้วย เราได้รับการสนับสนุนด้านเมล็ดพันธ์พืชจาก ปตท. ส่วนหนึ่ง กรมป่าไม้จัดหามาให้อีกส่วนหนึ่ง เราต้องยอมรับว่ากรมป่าไม้มีความรู้ดีกว่าเรา ว่าช้างกินอะไรได้ และป่าแถบนี้มีต้นไม้อะไรบ้าง
    "เรื่องให้อาหารช้างส่วนใหญ่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของคณะทำงานที่ ๒ กับทางคณะของหม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ท่านหญิงทรงสนใจช้างที่กุยบุรีมาก เมื่อเดือนที่แล้วท่านก็ทรงเข้ามาซื้อสับปะรดชาวบ้าน ไปให้ช้างกิน ท่านซื้อประมาณ ๕ ตันโดยให้ราคาสูงกว่าโรงงาน ทำให้ชาวบ้านได้เงินด้วย เพราะขณะนี้ราคาสับปะรดค่อนข้างตกต่ำ แล้วก็เอาสับปะรดนี้ไปทิ้งไว้ที่ชายป่า"
 (คลิกดูภาพใหญ่)     หลังจากนำพวกเราไปชมแปลงปลูกหม่อนขนาด ๑๘๕ ไร่ภายในหมู่บ้านรวมไทย ซึ่งขณะนี้ต้นหม่อนอยู่ในช่วงตัดแต่งกิ่งเพื่อให้แตกใบอ่อน พ.ท. ศิรพล ก็นำเราไปยังโรงไหมของลูกบ้านรวมไทยที่ชื่อ ลัดดา ชูศิริ
    "น่าจะเป็นช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจึงเริ่มเลี้ยงไหมได้ สำหรับโครงการนี้ เส้นไหมทั้งหมดที่สาวได้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงรับซื้อทั้งหมด และให้ราคาสูงกว่าปรกติ ยกตัวอย่างเส้นไหมตามท้องตลาดกิโลกรัมละ ๕๐๐-๖๐๐ บาท พระองค์ท่านก็ทรงให้ค่าพยายาม อาจเป็นกิโลกรัมละ ๑,๐๐๐ บาท ถ้าใครสาวไหมออกมาได้ดีก็อาจได้ถึง ๑,๒๐๐-๑,๓๐๐ บาท เพื่อให้ชาวบ้านเกิดกำลังใจ"
    จากโรงไหมของชาวบ้าน รถของพวกเรามุ่งไปยังพื้นที่โครงการพระราชดำริ ปากทางเข้าโครงการฯ มีด่านตรวจหรือที่เรียกกันว่า "จุดตรวจ" ฝั่งตรงข้ามของถนนคือไร่สับปะรดของชาวบ้าน มีรั้วลวดไฟฟ้าขึงยาวตลอดแนว ทว่าเวลาบ่ายอย่างนี้ยังไม่ปล่อยกระแสไฟฟ้า เพราะช้างยังไม่ออกมาจากป่า
    เมื่อเข้าไปภายในพื้นที่โครงการฯ มองเห็นทิวทัศน์รอบตัวเป็นราบโล่งกว้างใหญ่ ปกคลุมด้วยกอหญ้าและไม้พุ่มเป็นหย่อม ๆ ไกลออกไปคือแนวทิวเขาที่โอบล้อมอยู่รอบด้าน ป่าทึบบริเวณนี้หมดไปเพราะการทำไร่สับปะรด เมื่อทางการเวนคืนพื้นที่ จึงกลายเป็นไร่สับปะรดร้าง 
    รถวิ่งไปบนถนนลูกรังขรุขระ จุดแรกที่แวะคือบริเวณแปลงเพาะกล้าไม้ ของหน่วยงานฟื้นฟูสภาพป่าไม้ สังกัดป่าไม้เขตเพชรบุรี ตรงบริเวณหน้าหุบกระชัง
    ก่อเกียรติ องอาจ ผู้ช่วยหัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่า อธิบายว่า "บทบาทของเราคือฟื้นฟูสภาพป่า โดยปลูกป่าในพื้นที่กว่า ๑๘,๐๐๐ ไร่ในโครงการพระราชดำริ ส่วนใหญ่เราใช้พันธ์ไม้ในพื้นที่ซึ่งมีหลายชนิด โดยใช้ต้นขี้เหล็กเลือดเป็นพืชนำ เพราะช้างไม่ค่อยชอบ ทำให้สภาพพื้นที่เขียวชอุ่มขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเอาไม้เศรษฐกิจอย่างอื่นปลูกตาม เช่น ยางแดง ยางนา มะค่า ประดู่
    "บริเวณหน้าหุบกระชังเป็นจุดที่ช้างลงบ่อย ออกมาจากหุบตอนกลางคืน เมื่อสองสามวันก่อนก็ลงมา ๓๐ กว่าตัว" ก่อเกียรติตอบเมื่อเราถามถึงช้าง
    เราพบว่า นอกจากหน่วยงานฟื้นฟูสภาพป่าไม้ของทางการแล้ว ยังมีหน่วยงานเอกชน ที่เข้ามามีบทบาทฟื้นฟูสภาพป่า ตามโครงการพระราชดำริด้วย คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบแปลงปลูกป่าจำนวน ๙,๖๗๒ ไร่ 
      บนถนนขรุขระที่ทอดยาว พ.ท. ศิรพลบอกคนขับให้จอดรถอีกครั้ง ที่ข้างทาง เราพบฝายที่สร้างขึ้นโดยการก่อแนวหินขวางทางน้ำธรรมชาติ กระทั่งกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดย่อม
    พ.ท. ศิรพลอธิบายว่า แหล่งน้ำที่คณะทำงานจัดสร้างมีอยู่สามแบบ แบบแรกหรือแบบ A เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ส่วนที่เราเห็นอยู่นี้คือฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือ check dam แบบ B เรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร สุดท้ายคือ check dam แบบ C ก่อสร้างแบบง่าย ๆ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น กิ่งไม้
    ฝายชะลอความชุ่มชื้นนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ในการฟื้นฟูสภาพพี้นที่ให้กลับมีความชุ่มชื้น โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง
    "check dam แบบ B เราก็เอาหินมาทำเป็นฝายกั้นเส้นทางน้ำไหล แทบจะไม่ต้องใช้งบประมาณอะไร เป็นการชะลอน้ำ แทนที่น้ำจะไหลพรวดไปเลย น้ำจะขัง แล้วค่อย ๆ ซึม พื้นที่แถบนี้ก็จะได้รับน้ำ ได้รับความชุ่มชื้น ต้นไม้ก็จะเริ่มขึ้น น้ำส่วนที่ล้นก็ล้นไป ส่วนที่เท่ากับสันฝายจะซึมไปทีละน้อย ๆ ทางน้ำธรรมชาติก็ยังอยู่เหมือนเดิมทุกอย่างทุกประการ
    "ขณะนี้เราจัดสร้าง check dam แบบ B และ C ไปแล้วประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ จุด กระจายทั่วพื้นที่โครงการฯ และภายในป่าซึ่งเป็นเขตอุทยานฯ" พ.ท. ศิรพลกล่าว
    ต่อมาในระหว่างนั่งรถสำรวจพื้นที่ เราได้พบ check dam ทั้งสองแบบเป็นระยะเกือบตลอดเส้นทาง ทั้งในร่องน้ำ ลำธาร สองข้างทาง ในร่องห้วยลึกลงไปจากระดับถนน และยังพบลาดเนินที่ปลูกหญ้าแฝก ลดหลั่นกันลงไปเป็นขั้นบันไดตามระดับความชัน อันเป็นกลวิธีรักษาดินไม่ให้พังทลาย ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    รถหยุดอีกครั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เชิงเขา เมื่อเราลงจากรถไปดูก็พบว่ารอบอ่างเก็บน้ำ เต็มไปด้วยรอยเท้าช้าง และกองมูลของมันกระจัดกระจาย
    "นี่คืออ่างเก็บน้ำแบบ A ขนาดประมาณ ๕๐ x ๕๐ เมตร ลึกประมาณ ๓ เมตร ตรงนี้เป็นบริเวณชายป่าซึ่งช้างจะลงจากเขามาใช้ได้ จะเห็นว่ามีร่องรอย ของช้างทั้งรอยตีนและกองมูลอยู่เต็มไปหมด ถ้าเราไม่มีอ่างเก็บน้ำ ช้างหรือสัตว์ป่าก็จะไม่มีแหล่งน้ำ ต้องลงไปใช้ยังพื้นที่ราบ" พ.ท. ศิรพลกล่าว
 (คลิกดูภาพใหญ่)

    "หลักการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ เราต้องพิจารณาพื้นที่ สังเกตว่าบริเวณนี้เป็นเทือกเขา มีร่องเขา น้ำจากเขาจะไหลมาตามร่องเขา เราจึงขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำ แล้วก็มาทำฝายน้ำล้นที่ปลายอ่าง ใช้งบประมาณมากหน่อย เพราะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ถ้าระดับน้ำสูงน้ำก็จะไหลลงไปตามปรกติ เราไม่ได้กั้นน้ำทั้งหมด เพราะถ้าทำอย่างนั้นชาวบ้านที่ทำเกษตรข้างล่างจะเดือดร้อน จะเกิดปัญหาว่าโครงการเกิดขึ้นมาแล้ว มากักน้ำไว้หมดเพื่อให้สัตว์ป่า แต่ชาวบ้านตาย"
    อ่างเก็บน้ำแบบ A ขณะนี้จัดสร้างแล้วเสร็จจำนวนแปดอ่าง กระจายตามแนวชายขอบพื้นที่ โครงการพระราชดำริ บรรจบชายป่าเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทุกอ่างมีร่องรอยช้างลงมากิน- เล่นน้ำทั้งสิ้น
    เย็นวันนั้น ตรงบริเวณที่ติดตั้งป้ายโครงการพระราชดำริขนาดใหญ่ ระหว่างรอรถขับเคลื่อนสี่ล้อของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มารับไปสำรวจช้างป่า พ.ท. ศิรพล คุยกับเราถึงความคืบหน้า ในการพัฒนาพื้นที่โครงการพระราชดำริ และสถานการณ์ช้างป่ากุยบุรีขณะนี้ว่า
    "ถ้าคุณเข้ามาที่นี่เมื่อปี ๔๑ จะเห็นว่ามีแต่พื้นที่โล่ง แต่วันนี้ช่วงที่เรานั่งรถผ่านไป จะเห็นว่าเริ่มมีต้นไม้ขึ้นบ้าง นั่นเป็นความร่วมมือของรัฐ และชาวบ้านใต้พื้นที่ มาช่วยกันปลูก แต่บางครั้งเรามองไปเป็นทุ่งหญ้า เพราะว่าต้นไม้มันเพิ่งโตได้แค่ฟุตกว่า ๆ ถ้าเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็จะเห็น แล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมพานักข่าวไอทีวีเข้าไปในป่า ไปถ่ายภาพพันธ์ไม้ที่เราโปรยหว่าน ทางเฮลิคอปเตอร์ ก็เห็นว่าต้นโตขึ้นราวฟุตหนึ่งแล้ว
    "ช้างป่าตอนนี้ค่อนข้างอยู่เป็นสุข เนื่องจากว่าเราทำงานกันอย่างหนัก จากการดูพฤติกรรมของช้าง ขณะนี้ช้างไม่ค่อยออกมากินสับปะรด หรือทำลายพืชไร่ของประชาชนในพื้นที่ และมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างปีนี้ แทบจะเกิดขึ้นครั้งหรือสองครั้งเอง มันเป็นสิ่งชี้วัดได้ว่าขณะนี้ป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารเพียงพอ ช้างจึงไม่ค่อยลงมาข้างล่าง และชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านเป้าหมาย คือ บ้านรวมไทย พุบอน ย่านซื่อ ก็ค่อนข้างมีความรู้สึกที่ดี เข้าใจว่าตนเองสามารถทำกินในพื้นที่ โดยอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้"

      หลักฐานยืนยันคำกล่าวข้างต้นชิ้นหนึ่งก็คือ รายงานการติดตามสถานการณ์ช้างป่ากุยบุรี ระหว่างเดือนมีนาคม- เมษายนที่ผ่านมา โดย สมบุญ เขาคำ เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชฯ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร กูปรี ฉบับมีนาคม-เมษายน ๒๕๔๓ มีใจความตอนหนึ่งว่า
    "จากการเฝ้าสังเกตพบว่า ช่วงเวลาการออกหากิน และอาณาบริเวณการหากินของช้างก็เปลี่ยนไป คือช้างไม่ออกมาไกลถึงกลางไร่อย่างเคย แต่จะออกมาเฉพาะบริเวณชายขอบป่า และกลับเข้าไปหากินในป่านานขึ้น จากที่เคยออกมาหากินในไร่สับปะรดตั้งแต่บ่าย และกลับเข้าป่าตอนเช้า ก็ออกมาช้าลงเป็นตอนค่ำหรือตอนดึก แล้วกลับเข้าป่าในช่วงเช้ามืด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในระยะเวลาที่ผ่านมามีฝนตกชุก พืชอาหารในป่างอกงามและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ช้างจึงสามารถหาอาหารในป่าได้เพียงพอกับความต้องการ ไม่จำเป็นต้องออกมาหากินในไร่สับปะรดเช่นแต่ก่อน"
    จากข้อมูลข้างต้น ดูเหมือนว่าขณะนี้สถานการณ์ปัญหาช้างป่ากุยบุรี กำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี ทว่าเมื่อ สารคดี ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวบ้านผู้ทำไร่สับปะรด กลับทำให้ได้พบเรื่องราวอีกด้านหนึ่ง...
 (คลิกดูภาพใหญ่) ๔.

    "เมื่อคืนช้างลงมาทางทิศตะวันออก ๑๕ ตัว กินสับปะรดในไร่เสียหายไปจำนวนหนึ่ง"
    สมบัติ จามจุรี ชาวไร่สับปะรดบ้านยางชุม อายุ ๓๓ ปี เอ่ยปากกับเรา
    ๔ เมษายน ๒๕๔๓ เราเข้าไปสำรวจที่หุบตาเวียน เขตหมู่บ้านยางชุม ซึ่งเป็นพื้นที่ทำไร่สับปะรดขนาดใหญ่ ที่มีปัญหาโขลงช้างบุกรุกมากที่สุดแห่งหนี่งในอำเภอกุยบุรี สมบัติคือเจ้าของไร่หนึ่งในจำนวนหลายราย ที่ประสบปัญหาว่าด้วยช้าง เขาชี้ให้เราดูความเสียหายที่เกิดขึ้นบนที่ดิน ๒๓ ไร่ของเขา
    พื้นที่ราบกว้างใหญ่ในหุบเขาเบื้องหน้า ปกคลุมไปด้วยแถวแนวของต้นสับปะรด เรียงรายดูเป็นระเบียบ ทว่าในบางจุดมีร่องรอยช้างเหยียบย่ำ จนกอสับปะรดแบนลู่ติดพื้นเป็นแถบ สมบัติพาเราเดินลึกเข้าไปในไร่สับปะรด เพื่อให้ดูจุดเสียหายที่กระจายเป็นหย่อมอยู่ทั่วไร่ ระหว่างทางเขาชี้ให้ดูสับปะรดลูกเล็กลูกน้อย ที่ตกเกลื่อนพื้น แล้วบอกว่าช้างจะกินเฉพาะลูกสุกเท่านั้น แต่ลูกช้างในโขลงมักชอบดึงลูกดิบเล่นด้วย
    "ช้างเข้ามาประมาณสี่ทุ่มกว่า ๆ ตอนนั้นผมหลับอยู่ ตื่นเพราะได้ยินเสียงดัง ผมเอาสปอร์ตไลท์ฉายไล่ กราดไฟอยู่นานประมาณ ๒๐ นาทีมันก็ไป แต่พอดับไฟมันก็ออกมาอีก ผมอยู่กับพี่ ๆ น้อง ๆ สามสี่คน แล้วก็พวกไร่ข้างเคียง ช้างมันกินไร่อื่นมาแล้วเลยมาถึงไร่ผม"
    สมบัติเล่าให้เราฟังอีกว่า "ช้างลงไร่มาได้สามสี่ปีแล้ว แต่ลงหนักเมื่อช่วงปลายปี ๔๑ ถึงปี ๔๒ ช่วงนั้นเสียหายรวมแล้วแสนกว่าบาท เพราะสับปะรดราคาแพง ปีนั้นมีรายได้เหลืออยู่ไม่ถึงแสนบาท ช้างกินสับปะรดไปกว่าครึ่งของผลผลิต"
    คืนวันนั้นเรากลับมาที่หุบตาเวียนอีกครั้งด้วยคาดว่าอาจได้พบช้างลงไร่ บรรยากาศรอบด้านมืดมิด ด้วยไฟฟ้าจากภาครัฐยังเข้ามาไม่ถึง เราได้อาศัยโรงเรือนเฝ้าไร่ของสมบัติ เป็นที่ปักหลักสังเกตการณ์ แสงสีเหลืองนวลจากตะเกียงน้ำมันสว่างพอ ทำให้เห็นหน้าผู้ร่วมวงสนทนา ได้แก่ ลุงบุญส่งและป้าเล็ก จามจุรี ส่วนสมบัติผู้เป็นลูกชายกำลังก่อไฟอยู่ใกล้ ๆ กัน
    สมบัติเล่าว่า "เมื่อปี ๔๑ มีอยู่เย็นวันหนึ่งมาดูไร่ เห็นว่าพรุ่งนี้จะตัดลูกสับปะรดได้แล้ว อีกวันมาถึงช้างกินเรียบเลย เห็นแล้วไม่รู้จะพูดยังไง แล้วนิสัยช้าง กินอิ่มแล้วชอบเด็ดเล่น ลูกเกลื่อนหมดเลย แล้วยังเหยียบต้นจนแบน จริง ๆ กินเท่าไหร่ผมไม่ว่า นี่พูดจากใจจริง กินไปเลยถ้าหิว แต่อย่าเดินย่ำแบบนั้น กินให้เรียบร้อยหน่อย อย่าทำต้นล้มระเนระนาด เพราะพอต้นล้มก็เน่าเสียหมด ต้องซื้อหน่อมาปลูกใหม่"

      ป้าเล็กเสริมว่า "ตอนนั้นฉันร้องไห้เลยแหละ"
    ลุงบุญส่งบอกว่าช้างลงกินไร่สับปะรดได้ตลอดปี เพราะสับปะรดแต่ละไร่สุกไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาลงหน่อ และในระยะหนึ่งปีสับปะรดต้นหนึ่ง ออกลูกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อถูกช้างชักกินจึงหมายถึงต้องรอไปถึงปีหน้า
    "ช่วงปลายปีที่แล้ว (ปี ๒๕๔๒) น้ำท่วมประจวบคีรีขันธ์ ช้างเข้าไร่ทุกคืน คืนละสองสามตัว บางทีก็ไล่ไป บางทีก็ไม่ไป แล้วเดี๋ยวนี้ช้างฉลาด เมื่อก่อนมาเสียงดัง เดี๋ยวนี้มากันเงียบ บางทีมาสองสามตัวไม่รู้เลย แล้วแต่ก่อนช้างมาหัวค่ำ เดี๋ยวนี้อาจมาตอนห้าทุ่มเที่ยงคืน พวกผมก็ต้องอยู่เฝ้าไร่กันทุกคืนจนจะโทรมกันหมดแล้ว"
    ราวสามทุ่มครึ่ง รถกระบะสองคันวิ่งมาจอดเทียบหน้าโรงเรือน ชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่ลงมาจากรถ ทุกคนเป็นเจ้าของไร่สับปะรดในบริเวณนี้ ทุกคืนพวกเขาจะมาเฝ้าไร่ด้วยกัน แล้วขับรถลาดตระเวนส่องสปอร์ตไลท์ไปทั่วพื้นที่ เพื่อหาโขลงช้างที่อาจลงกินไร่สับปะรด
    บรรยากาศดูจะคึกคักขึ้นทันตาเห็น เมื่อเสียงบ่นของกลุ่มผู้มาใหม่ดังเซ็งแซ่ เรื่องราวต่าง ๆ พรั่งพรูสู่วงสนทนา ตัวแทนกลุ่มเห็นจะได้แก่ สมเกียรติ ปรีเปรม ลูกชายของ "ตาเวียน" หรือ สังเวียน ปรีเปรม--ชาวไร่รุ่นแรกที่มาบุกเบิกทำไร่สับปะรดแถบนี้ จนเป็นที่มาของชื่อหุบตาเวียน
    สมเกียรติบอกกับเราว่า "ปี ๒๕๔๓ นี้ช้างลงไร่นับไม่ถ้วนแล้ว เอาถัวเฉลี่ยนะ ตีไปเดือนละสามครั้ง มกรายันเมษาก็สิบกว่าครั้งแล้ว ช้างไม่ได้มีโขลงเดียว มันมีหลายโขลง มาตัวเดียว สิบกว่าตัว ยี่สิบ สามสิบตัว ผมเจอมาหมดแล้ว คืนก่อนนั้นช้างลงทีสิบกว่าตัว แหลกหมด ขนาดว่าพวกผมรู้ตัวเร็วนะ ถามว่าถ้าพวกผมไม่มาเฝ้า อะไรจะเกิดขึ้น ผมให้ ๑,๐๐๐ ไร่ ช้างลง ๒๐ ตัวคืนเดียวก็หมด
    "พวกผมก็แย่ กลางวันทำงาน กลางคืนเฝ้าไร่ กว่าจะได้นอนก็ตีสองตีสาม ขับรถตระเวนสามสี่คันเพราะไร่มันกว้าง ค่าใช้จ่ายก็สูง ค่าน้ำมันรถเฉลี่ยคืนละร้อยต่อคันแล้ว นี่ยังไม่นับค่าสึกหรอ ค่าข้าว ค่าน้ำมันตะเกียงจุดรอบไร่กันช้าง ค่าประทัดจุดไล่ช้าง แล้วปีนี้ราคาสับปะรดตกสุด ๆ อีก ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แพงขึ้น รัฐบาลเอาใจแต่ภาคอุตสาหกรรม แต่เกษตรกรคว่ำหมด มันสวนทางกัน ต้นทุนเราสูง ค่าใช้จ่ายสูง แล้วเรายังต้องมาลำบากอีก"
 (คลิกดูภาพใหญ่)     สมเกียรติบอกว่าราคาสับปะรดเคยขึ้นสูงสุดกิโลกรัมละ ๖ บาท ระดับราคาที่ทำให้ชาวไร่พออยู่พอกินคือ ๒.๕๐-๓ บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคาสับปะรดตกลงมาเหลือแค่ ๑.๔๐ บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ชาวไร่จึงอยู่ในสภาพเป็นหนี้สินกันทั่วหน้า
    "พวกมาเฝ้าช้างโดนยุงกัดจนเป็นมาลาเรียไม่รู้เท่าไหร่แล้ว" อีกคนว่า
    ชาวไร่เล่าให้ฟังว่า เดิมพวกเขาป้องกันไม่ให้ช้างลงไร่ โดยใช้วิธีจุดตะเกียงให้สว่างเป็นแนวรอบไร่ หรือเผายางรถยนต์ให้มีกลิ่นเหม็นไหม้ หลังจากใช้ไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนเป็นจุดพลุ จุดประทัดให้เกิดเสียงดัง แต่พอเคยชินเข้าช้างก็ไม่กลัว วิธีที่ดูจะใช้ได้ผลมากที่สุดคือฉายสปอร์ตไลท์ส่อง ส่วนรั้วไฟฟ้าพวกเขาไม่กล้าใช้ ด้วยกลัวว่าหากช้างตายจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ดังเช่นข่าวช้างตายคารั้วไฟฟ้าที่อำเภอหัวหินเมื่อเร็ว ๆ นี้
    "จุดตะเกียงไว้ มันถอนหลักตะเกียงเรียบเลย ยางวางไว้มันเตะลงห้วยหมด" ป้าเล็กว่า "เดี๋ยวนี้พอช้างมาฉันก็ยกมือไหว้ จุดธูปบอกเจ้าที่เจ้าทางให้เขาไปเร็ว ๆ"
    "เดี๋ยวนี้ช้างเห็นลวดไฟฟ้ามันก็รู้" เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่มากับเราเสริมขึ้น "อย่างไร่ที่หุบเฉลาอย่างงี้ ตัวเล็ก ๆ มันลอดไปก่อน ตัวใหญ่เข้าไม่ได้มันก็เลาะไปเลาะมา ไปหักกิ่งมะม่วงใหญ่ ๆ มาฟาดสายลวดพังหมด แล้วข้ามเข้าไปกิน"
    ลุงบุญส่ง "เรื่องรั้วไฟฟ้าผมไม่กล้าคิด กลัวช้างตายในไร่"
    สมเกียรติ "ถ้าช้างตายเป็นเรื่องใหญ่ เราจะไปฆ่าช้างทำไม ก็เรายังต้องทำมาหากิน ถ้าเราทำอะไรช้างก็อยู่ที่นี่ไม่ได้ เดือดร้อน คนที่ไม่เจอกับตัวเองไม่รู้หรอก
    "อยากให้อนุรักษ์พวกผมก็อนุรักษ์ แต่ว่าทางการต้องมีนโยบายอะไรช่วยเหลือเกษตรกรมั่ง ผมจะพูดตรง ๆ เพราะผมมาทุกคืน คือถ้าคืนไหนมีคนใหญ่คนโตมา หน่วยงานต่าง ๆ จะมาวิ่งกันให้เต็มพรั่กหมด พวกผมก็ไม่ต้องมาแล้ว เฝ้าให้พวกผมเสร็จ แต่ถ้าคืนไหนไม่มีใครมา เจ้าหน้าที่ก็หายกันหมด
    "สมัยก่อนแถวนี้ไม่มีช้างนะ เมื่อก่อนช้างลงกินสับปะรดข้างในนั้น  แต่พอทางการเวนคืนที่ของพวกนายทุน ช้างไม่มีสับปะรดกินมันก็เลยมาที่นี่ รุกมาเรื่อย เพราะช้างกินสับปะรดจนติด ตอนแรกเห็นว่าเวนคืนแล้วจะปลูกสับปะรดให้ช้างกิน ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นได้ปลูกกัน แล้วทางการก็ไม่ได้มีมาตรการกั้นช้างไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ถ้าพวกผมเลิกทำตรงนี้เพราะสู้ไม่ไหว ช้างก็จะลงต่อไปเรื่อย ทุกวันนี้ช้างลงไปถึงย่านวังเต็น วังมอญ เขาหนีบ วิ่งน้อย วิ่งใหญ่ ทางโน้นแล้ว ซึ่งสมัยก่อนไม่เคยมี แล้วไม่ได้กินแค่สับปะรดอย่างเดียว กินทั้งขนุน มะม่วง ข้าวโพด แล้วจะให้ชาวไร่ปลูกอะไร"
    ราวเที่ยงคืนเราออกรถลาดตระเวนไปกับชาวไร่ ได้พบช้างโขลงใหญ่ ที่บริเวณด่านอ่างหินใกล้เขตไร่หุบตาเวียน จากลำแสงสปอร์ตไลท์ เราเห็นโขลงช้างซึ่งมีลูกช้างตัวเล็ก ๆ อยู่สองสามตัวกำลังเดินลับหัวโค้งถนนข้างหน้า ชาวไร่จุดพลุลูกเล็กเขวี้ยงตามไป เสียงระเบิดของมันดังสนั่นสะท้อนสะท้านในอากาศ พวกเขาบอกว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นช้างอาจมุ่งหน้าไปทางไร่ของเขาได้ 

อ่านต่อคลิกที่นี้อ่านต่อคลิกที่นี้ 

 

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail