Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

จากบรรณาธิการ
    ชนชั้นกลาง
ผมเป็นคนเมือง
    เกิดและโตในกรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่โรงเรียนชื่อดังของประเทศ และจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย
พอจบการศึกษา ผมก็เข้าทำงานในบริษัทที่มั่นคงมีออฟฟิศหรูหราทันสมัย ได้พบปะกับเพื่อนมากหน้าหลายตา
    หลังเลิกงานผมมักไปนั่งจิบเบียร์เย็น ๆ กับเพื่อน หากวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด ก็อาจจะไปเที่ยวต่อตามผับ เผื่อไปเจอคนรู้ใจ
    ต่อมาเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ผมจึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโท และก็สำเร็จการศึกษาในระยะเวลาอันสั้น 
    ถามว่าผมสนใจข่าวสารบ้านเมืองหรือไม่ ก็บอกได้ว่า สนใจบ้าง แต่ชีวิตส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่
กับการทำมาหากิน เรื่องของเพื่อน และตำราที่ต้องใช้ในวิชาชีพ
    ผมรักกรุงเทพฯ เพราะรู้สึกปลอดภัย อาจจะอารมณ์เสียเรื่องอากาศและรถติดบ้าง แต่บวกลบคูณหารแล้วก็ยังชอบ เบื่อ ๆ ก็ไปเปลี่ยนบรรยากาศเที่ยวเล่นตามป่าเขา และทะเลที่มีทิวทัศน์สวยๆ 
    ทำงานได้ไม่นาน ผมก็สามารถเก็บเงินซื้อรถได้ แต่ในช่วงเวลานั้น บ้านที่ผมอาศัยอยู่กับพ่อแม่มาตั้งแต่เกิด ต้องถูกเวนคืนจากการสร้างทางด่วน และผมพบว่าเงินชดเชยที่ได้นั้น ไม่คุ้มสักนิดกับการไปซื้อบ้านใหม่ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังบูม และที่ดินราคาแพงอย่างน่าใจหาย
    เพื่อนบ้านหลายคนที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งบ้านผม แม้จะไม่พอใจ แต่ทำได้อย่างมากก็บ่น ๆ กันไป ไม่มีใครคิดจะทำอะไรเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม 
    คนในหมู่บ้านบางคนพยายามนัดเพื่อนบ้าน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความไม่เป็นธรรม ที่รัฐตีราคาสินทรัพย์ของเราต่ำกว่าความเป็นจริง  แต่มีมานับคนได้ เพราะต่างคนต่างอยู่กันมานานแล้ว การประชุมจึงล้มเหลว 
    แต่ลึก ๆ แล้วผมเชื่อว่าทุกคนกลัว กลัวว่าจะไปทำอะไรที่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ บางคนกลัวว่าค่าชดเชยอาจจะลดลง บางคนกลัวว่าถ้ามีปัญหากับเจ้าหน้าที่เดี๋ยวทำมาค้าขายลำบาก บางคนที่เป็นข้าราชการยิ่งไม่อยากมีเรื่อง
    ทุกคนเลยยอม ๆ เขาไป ไม่อยากวุ่นวาย ไม่อยากเกิดเรื่อง ต่างก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมที่รัฐตัดสินมาให้แต่โดยดี 
    ผมเฝ้าดูผู้คนในหมู่บ้านค่อย ๆ แยกย้ายกันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทีละหลังสองหลัง จนกระทั่งถึงวันที่ผมย้ายจากไป จนปัจจุบันนี้หมู่บ้านของเรากลายเป็นทางลงแห่งหนึ่งของทางด่วนเส้นที่ ๒ ไปแล้ว
    ผมยอมรับว่า ผมขี้ขลาด ผมไม่เคยสนใจคนรอบข้าง ผมกลัวมีเรื่อง 
    แต่โชคดีที่ผมมีรายได้มากขึ้นจากการไปแสวงหาโชคในตลาดหลักทรัพย์ ชั่วเวลาไม่นานผมก็ลืมเรื่องบ้าน มัวแต่เพลิดเพลินในการหาเงินที่ไม่ต้องลงแรงอะไรมาก พอมีเงินมากขึ้นผมก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ๆว่าไปผ่อนคอนโดฯ เพื่อเก็งกำไรดีกว่า ผมก็ไปผ่อนกับเขาไว้เหมือนกัน
    ช่วงนั้นผมผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดฯ ตรงเวลา ไม่เคยผิดนัดสักเดือน
    พอเศรษฐกิจตก ผมโชคดีที่ไหวตัวทัน รีบผละออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่บาดเจ็บมากนัก กลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนเดิม ยังมีรถขับ ไม่มีหนี้สินมากมายเหมือนเพื่อน ๆ ที่เจ๊งหุ้นกัน แต่ก็หวั่น ๆ ใจกับการเป็นหนี้ธนาคารอีกหลายแสนบาทที่กู้มาซื้อบ้านที่อยู่และคอนโดฯ
    พอธนาคารล้ม ไฟแนนซ์ที่ผมเอาบ้านไปจำนองถูก ปรส. ยึดไป ผมเริ่มเครียดกับบ้านที่ยังผ่อนไม่หมด ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ส่วนคอนโดฯ นั้นก็ทำใจแล้วว่าปล่อยให้ถูกยึดก็ไม่เป็นไร 
    ไม่นานนัก ปรส. เอาทรัพย์สินของไฟแนนซ์ต่าง ๆ รวมทั้งบ้านของผมไปขายต่อให้ฝรั่งในราคาไม่ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ผมรีบไปถามเพื่อนในวงการว่า ทำไมเราไม่สามารถไปประมูลแข่งกับฝรั่ง 
    เพื่อนบอกว่า ไม่ได้ เพราะ ปรส. ออกกฎกติกามากมายเพื่อเอื้ออำนวยให้แก่บรรดาฝรั่งเท่านั้น
    ต่อมาผมไปติดต่อบริษัทฝรั่งที่ประมูลบ้าน และที่ดินของผมที่ติดจำนองไปได้ เจ้าหน้าที่ในนั้นบอกว่าผมต้องเอาเงินสดมาไถ่บ้านพร้อมคอนโดฯ ด้วย ในราคาที่ไม่ได้มีส่วนลดเลย ขณะที่ผมรู้ว่าบริษัทฝรั่งพวกนั้นซื้อมาในราคาถูกแสนถูก 
 ฉบับหน้า : ภารตะวิถีในตรอกพาหุรัด (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า ภารตะวิถี ในตรอกพาหุรัด
    เจ้าหน้าที่ขู่ว่าเป็นกฎ จะไถ่บ้านต้องไถ่คอนโดฯด้วย มิเช่นนั้นจะถูกยึด
    ผมเองจนปัญญาเพราะไม่มีเงินสดมากขนาดที่จะมาไถ่ทั้งบ้านทั้งคอนโดฯ ทุกวันนี้ยังกลุ้มใจอยู่ว่าบ้านจะถูกยึดเมื่อใด
    มองออกไปรอบตัว ผมเชื่อว่ามีคนนับพันคนที่กำลังประสบปัญหา ที่ผ่อนบ้านอยู่ดี ๆ ปรากฏว่าจะถูกยึดบ้าน เพราะการที่ ปรส. ของรัฐออกกฎ กติกาที่เอื้ออำนวยประโยชน์ฝรั่งมากกว่าคนไทยด้วยกันเอง แต่ทุกคนก็ต่างคนต่างอยู่ ยอมรับชะตากรรมอย่างเงียบ ๆ
    ว้นหนึ่ง ผมอ่านข่าวสมัชชาคนจนมาเรียกร้องปัญหาของพวกเขา ผมฟังข่าววิทยุที่กำลังวิจารณ์ม็อบที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย พอเปิดเข้าไปในอินเทอร์เน็ต ก็พบคนเขียนด่าม็อบอย่างเสีย ๆ หาย ๆ ด้วยความสะใจ
    แม้จะถูกโจมตีอย่างไร แต่ผมมองอีกมุมหนึ่งว่า พวกคนจนเหล่านี้ การศึกษาก็ต่ำกว่าพวกเรา แต่พวกเขายังรวมตัวกัน มีศักดิ์ศรีพอที่จะกล้าออกมาต่อรองกับอำนาจรัฐ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ กล้าที่จะดื้อแพ่งกับรัฐ ที่ใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆเอาเปรียบพวกเขา และอดทนกับพวกผมที่ดูถูกเหยียดหยามได้ต่าง ๆนานา 
    ในขณะที่คนที่มีการศึกษาสูงอย่างผมขี้ขลาดจนหัวหด ได้แต่ยอมรับชะตากรรมอย่างเงียบสงบ ไม่กล้ารวมตัว ไม่กล้าต่อรองกับรัฐ ทั้ง ๆที่รู้ว่ารัฐออกกฎมาเอาเปรียบพวกเราตลอด 
    ผมอิจฉาสมัชชาคนจนครับ
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com


 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail