Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒)
ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด
อัญชลี ชัยวรพร
   แรงสนับสนุนจากตลาดแฟนหนังจีนที่กระจายไปทั่วโลก อาจจะช่วยปูทางให้ผู้กำกับฮ่องกงในฮอลลีวูดได้ในปัจจุบัน แต่นอกจากบริบททางวัฒนธรรมเหล่านี้แล้ว รูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไปในสังคมอเมริกาเองก็ช่วยเปิดช่องทางให้แก่ผู้มาใหม่ ประกอบกับคนฮ่องกงก็มีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้พวกเขาสามารถปรับตัวได้อย่างดีและรวดเร็วเมื่อก้าวเข้าสู่ฮอลลีวูด
(คลิกดูภาพใหญ่)     ลักษณะร่วมดังกล่าว คือ ความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในยุคหลังฟอร์ด (Postfordist Era) ซึ่งอาจจะเป็นอุทาหรณ์ให้แก่วงการบันเทิงไทย ที่ยังคงนิยมใช้ระบบรวมศูนย์ และแบ่งค่ายอย่างชัดเจน
    ฮอลลีวูดในช่วงก่อนทศวรรษ ๑๙๕๐ นั้นยังคงธุรกิจแบบรวมศูนย์ หรือที่รู้จักกันดีในนามของระบบสตูดิโอ กล่าวคือ สตูดิโอแต่ละแห่ง จะจัดสร้างหน่วยงานไว้ครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การจัดจำหน่าย หรือแม้แต่การจัดฉาย ฝ่ายผลิตจะมีตั้งแต่แผนกสรรหาเรื่อง แผนกเขียนบท แม้กระทั่งดาราและผู้กำกับ ก็ยังต้องเซ็นสัญญาเข้าสังกัดใด
    สังกัดหนึ่ง และไม่อาจร่วมงานกับบริษัทคู่แข่งได้ ขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะกระทำเสร็จสิ้นในแผนกต่าง ๆ ของสตูดิโอ โดยมิให้เล็ดลอดออกไปนอกค่ายได้เลย ขณะเดียวกันก็มิให้บริษัทภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่น่าแปลกใจนักว่า หลังจากการผลิตภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะมีการจัดจำหน่ายโดยอีกแผนกหนึ่งของบริษัท และนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ที่เป็นเครือของสตูดิโออีกเช่นกัน
    โครงสร้างการผลิตเช่นนี้สามารถดำเนินการได้ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะสอดคล้องต่อสภาพตลาดในขณะนั้น ซึ่งเป็นตลาดมวลชน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จากสังคมการเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม การผลิตสินค้าจะเน้นปริมาณ โดยมีแนวคิดว่า การผลิตสินค้าจะนำไปสู่ความต้องการ ไม่จำเป็นต้องเกิดความต้องการก่อนแล้วจึงผลิต กำลังซื้อที่เกิดขึ้นจึงเป็นตลาดมวลชน แทนที่จะเน้นเจาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ 
    ฐานความคิดนี้มาจากเจ้าของธุรกิจรถยนต์ที่ชื่อ เฮนรี ฟอร์ด ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นกลยุทธ์นี้ แต่ดัดแปลงวิธีการของอุตสาหกรรมทอผ้า ในช่วงที่หันมาใช้เครื่องจักร แทนการทอผ้าด้วยมือ รูปแบบสินค้าจึงเป็นแบบพิมพ์เดียวกันหมด แตกต่างจากงานฝีมือ ที่จะต้องอาศัยการออกแบบ และการประดิษฐ์เฉพาะชิ้น ฟอร์ดได้ดัดแปลงกลยุทธ์เดียวกันนี้ มาใช้ในการผลิตรถยนต์ โดยสร้างแม่พิมพ์ตัวอย่างที่จะเร่งปริมาณการผลิตออกมาครั้งละจำนวนมาก จึงทำให้สินค้าราคาถูกลง ผลปรากฏว่ารถฟอร์ดรุ่น T ในปี ๑๙๑๖ นั้นมีราคาเพียงหนึ่งในสิบของรถทั่วไป ทำให้มียอดขายถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์จากตลาดรถทั้งหมด แนวคิดของฟอร์ดกลายเป็นชื่อเรียกยุคนี้ว่า ฟอร์ดนิยม (Fordism)
    สาเหตุที่ฮอลลีวูดยังคงรูปแบบการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ได้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพสังคม และวัฒนธรรม ที่เอื้ออำนวยในขณะนั้น โทรทัศน์ยังมิได้ถือกำเนิดเกิดขึ้น ภาพยนตร์จึงกลายเป็นสื่อบันเทิงเพียงรูปแบบเดียว ที่จะดึงคนทุกชนชั้นทุกวัยออกมาจากบ้าน ดังนั้นผลตอบแทนรวมในแต่ละปีจึงมากมาย พอที่จะครอบคลุมรายจ่าย ที่เกิดจากการวางฐานการผลิตแบบครบวงจรในระบบสตูดิโอได้
    แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๒๐ ฮอลลีวูดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ จากหน้ามือเป็นหลังมือ อันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุด ก็คือการที่รัฐบาลอเมริกันสั่งห้าม มิให้ใช้ระบบผูกขาดแบบครบวงจรอีกต่อไป สตูดิโอจึงจำเป็นต้องยุบแผนก ในส่วนของการฉายหนังลง
      ขณะเดียวกัน จำนวนคนดูหนังที่ลดลง อันเป็นผลเนื่องมาจาก การก้าวเข้ามาของสื่อโทรทัศน์ ทำให้สตูดิโอเริ่มชะลอการลงทุนขนาดใหญ่ คนส่วนหนึ่งนิยมที่จะใช้เวลาอยู่บ้าน มากกว่าแต่งตัวไปดูหนัง จะมีก็เพียงเฉพาะแต่กลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น ที่ยังคงขยันออกไปนอกบ้าน ทำให้รายได้ที่เคยมีมากพอจะครอบคลุมรายจ่าย ที่เกิดจากการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ เกิดติดขัด จนต้องยุบแผนกต่าง ๆ และร่วมมือกับบริษัทเล็ก ๆ เป็นการเฉพาะกิจมากขึ้น มีการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหนังกันมากขึ้น เพราะคนทำหนังรุ่นใหม่ เข้าใจรสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นหนุ่มสาวได้โดยตรง ขณะที่ความพยายามทำหนัง เพื่อกลุ่มครอบครัวก็ยังมีอยู่บ้าง ประกอบกับความเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เริ่มแข็งแกร่งมากขึ้น จึงมีการสร้างหนังเฉพาะกลุ่มมากขึ้นตามไปด้วย หนังในช่วงนี้จึงมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนังครอบครัว หนังเพื่อเด็ก หนังของคนผิวดำ เป็นต้น 
    โครงสร้างเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในฮอลลีวูดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งได้ผันแปรจากยุครวมศูนย์แบบฟอร์ดนิยม มาเป็นยุคของการกระจายกำลังการผลิต กล่าวกันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวความคิดฟอร์ดนิยม ถึงจุดเสื่อมคลายลง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาแรงงาน การมุ่งเน้นการผลิตโดยใช้เครื่องจักร ถูกปรามาสว่าเป็นการใช้แรงงานที่ซ้ำซากและน่าเบื่อ และปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไร้มนุษยธรรม ในขณะนั้นจึงเกิดปัญหาผู้ใช้แรงงานนัดหมายกันหยุดงาน และชุมนุมประท้วงในรูปแบบต่าง ๆ ผู้ที่เคยชมภาพยนตร์ของ ชาลี แชปลิน เรื่อง Modern Time คงจะเข้าใจภาวะซ้ำซากของแรงงาน ซึ่งหนังถ่ายทอดออกมา (ในเชิงตลก) ได้เป็นอย่างดี 
    ประกอบกับสังคมในช่วงนี้มีความหลากหลายของกลุ่มคนมากขึ้น อันเนื่องมาจากความเปิดกว้างของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิสตรี สิทธิของคนกลุ่มน้อย สิทธิในเรื่องของชนชั้น หรือสิทธิในเรื่องเพศ ทำให้ชนกลุ่มน้อยในสังคมเริ่มมีที่ยืนของตน คนในสังคมจึงแตกออกเป็นกลุ่มย่อย การผลิตสินค้าจึงต้องแบ่งกลุ่มทางการตลาด ไว้อย่างชัดเจนตามชนชั้นและกำลังซื้อ ตามรสนิยม เพศ วัย และวัฒนธรรมดั้งเดิม
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ดังนั้นแทนที่จะผลิตสินค้าออกมา เพื่อเร่งให้เกิดความต้องการอย่างเดิม ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตสินค้าตามสั่ง มีการเน้นการออกแบบ และการคิดค้นใหม่ ๆ แทนที่จะใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง ก็เปลี่ยนมาเป็นเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าได้หลายแบบ เพียงแต่เปลี่ยนแม่พิมพ์เท่านั้น จากเดิมที่ใช้กลุ่มแรงงานที่ทำตามเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ช่างเทคนิคที่มีความรู้เพื่อควบคุมเครื่องจักรมากกว่ารับใช้เครื่องจักร
    แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดคือ การขยานฐานการผลิตออกไปในนอกประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการค้าโลก โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิต มาในประเทศโลกที่สาม เพื่อลดต้นทุนและส่งไปขายในประเทศใกล้เคียง แทนที่จะผลิตในประเทศแม่แต่เพียงแห่งเดียว 
    โลกฮอลลีวูดทุกวันนี้เต็มไปด้วยความยืดหยุ่น ตามลักษณะเศรษฐกิจยุคหลังฟอร์ดอย่างเต็มที่ แม้สตูดิโอจะยังครองอาณาจักรอยู่ ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้วยิ่งมากขึ้นไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้สตูดิโอครองตลาดไปทั่วโลก และครองสินค้าหลากรูปแบบมิใช่เพียงแต่ภาพยนตร์ ขณะนี้วงการฮอลลีวูดประกอบไปด้วยสตูดิโอขนาดรองสามแห่ง คือ ดรีมเวิร์ก เอ็มจีเอ็ม/ยูเอ และโพลีแกรม และค่ายยักษ์ใหญ่อีกหกแห่ง ซึ่งอยู่ในมือของนักธุรกิจชาติต่าง ๆ ครอบครองธุรกิจหลากรูปแบบ ดิสนีย์มีคนอเมริกันเป็นเจ้าของ มีชื่อเสียงในการทำธุรกิจสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ รวมทั้งของเด็กเล่น และการแสดงของวอล์ตดิสนีย์ ทเวนตีเซ็นจูรีฟ็อกซ์เป็นของราชาหนังสือพิมพ์ทั่วโลกอย่าง รูเพิร์ต เมอร์ดอกซ์ ยูนิเวอร์แซลเป็นของบริษัทเหล้าซีแกรมซึ่งซื้อค่ายเทปยักษ์ใหญ่เอ็มซีเอไว้ด้วย พาราเมาท์อยู่ในสังกัดเวียคอมซึ่งมีเครือข่ายผลิตหนังสือมากที่สุดในโลก และดำเนินธุรกิจสวนสนุกด้วยเช่นกัน โซนีของญี่ปุ่นเข้าซื้อโคลัมเบีย และยังเป็นของเจ้าของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลก และวอร์เนอร์บราเธอร์สเป็นเครือบริษัทเดียวกับ เจ้าของผู้ผลิตนิตยสารที่ใหญ่สุดในโลกอย่างไทม์ รวมทั้งเป็นเจ้าของเครือข่ายค่ายเพลง ดังอย่างวอร์เนอร์อีกด้วย
    แม้จะมีกิจการใหญ่โตขนาดอภิมหาอาณาจักรเช่นนี้ ฮอลลีวูดกลับไม่สร้างกฎตายตัวในการดำเนินธุรกิจ สตูดิโอได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ควบคุมการผลิตทั้งหมด มาเป็นแหล่งทุน และจัดจำหน่ายหนังเป็นส่วนใหญ่ โดยให้บริษัทอื่นรับจ้างผลิตหนังแทน การต่อรองนั้นเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น กล่าวคือ บริษัทในเครือสตูดิโอหรือบริษัทอิสระทั่วไป จะเป็นผู้นำโครงการไปเสนอต่อสตูดิโอในเรื่องของการลงทุน ถ้าสตูดิโออนุมัติก็จะคัดเลือกผู้ผลิต ซึ่งมักจะเป็นบริษัทของบรรดาผู้กำกับมารับจ้าง บริษัทตัวแทนจะรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมผู้ผลิต โดยที่สตูดิโอจะเข้ามาควบคุมอย่างเต็มที่ ในเรื่องของการจัดจำหน่าย
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ถ้าหากสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่าไตเติลหนังฮอลลีวูดแต่ละเรื่อง มักประกอบไปด้วยรายชื่อบริษัทเกี่ยวข้องอย่างต่ำถึงสามบริษัท กล่าวคือ สตูดิโอ บริษัทตัวแทน และบริษัทผู้ผลิต บางครั้งอาจจะมีมากกว่านั้นอีก ลักษณะการต่อรองจะมีความหลากหลาย โดยเฉพาะบริษัทรับจ้างกำกับหนังซึ่งมีอิสระ และจะรับผิดชอบเฉพาะภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานกับบริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่งไปพร้อมกัน
    การก้าวเข้ามาของ จอห์น วู ในโลกฮอลลีวูดก็มาจากจุดนี้ ผนวกกับความไวของเขา ในการปรับตัวเข้ากับระบบของฮอลลีวูด จอห์น วู ได้รับการติดต่อจากฝ่ายพิจารณาบทของไทร์สตาร์เมื่อปี ๑๙๘๙ ซึ่งเขาและโพรดิวเซอร์คู่ใจ เทอเรนซ์ ชาง ปฏิเสธไปในชั้นแรก เพราะไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้ในชีวิตของเขา จนกระทั่งอีกสามปีต่อมา เขาได้รับการติดต่ออีกครั้ง จากบริษัทรับจ้างผลิตหนังให้แก่ค่ายยูนิเวอร์แซล เพื่อให้กำกับหนังเรื่อง Hard Target (๑๙๙๒) นำแสดงโดยดาราฝรั่งเล่นกังฟูอย่าง ฌอง คล็อด แวนแดม จอห์น วู ให้เหตุผลในการยอมรับข้อเสนอนี้เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า "ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นโพรดิวเซอร์ คนเขียนบท และนักแสดงอย่าง ฌอง คล็อด แวนแดม ต่างบินมาหาผมที่ฮ่องกง และเจรจากับผมอย่างให้เกียรติมาก ผมจึงรับงานชิ้นนี้" ในการรับงานฮอลลีวูดชิ้นแรกนี้ จอห์น วู อยู่ในฐานะผู้รับจ้าง เพราะไม่มีชื่อบริษัทของเขาอย่างเป็นทางการ
    จอห์น วู ปรับตัวอย่างรวดเร็วมากในการเข้าระบบฮอลลีวูด หลังจากภาพยนตร์เรื่องแรกแล้ว เขาได้ตั้งบริษัทขึ้นเองชื่อว่า WCG Entertainment โดยนำมาจากตัวอักษรแรกของชื่อผู้ก่อตั้ง คือ Woo, Chang โพรดิวเซอร์คู่ใจ เทอเรนซ์ ชาง และ Godsick นายหน้าฝรั่งในฮอลลีวูด เพื่อว่าพวกเขาจะได้รับจ้างทำหนังเองโดยตรง แทนที่จะผ่านบริษัทอื่น หลังจากนั้นเขาได้เซ็นสัญญากับบริษัททเวนตีเซ็นจูรีฟ็อกซ์ ในลักษณะข้อตกลงที่ทางสตูดิโอ จะต้องให้งบในการทำหนัง หรือความช่วยเหลืออื่น ๆ โดยมีสิทธิ์ที่จะบอกปฏิเสธการสร้าง หรือการจัดจำหน่ายได้ก่อน ผลจากการตกลงครั้งนี้ เขาได้กำกับหนังเรื่อง Broken Arrow (๑๙๙๖) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง พร้อมกันนี้ก็ได้กำกับภาพยนตร์ทีวีเรื่อง Once A Thief ซึ่งเป็นโครงการร่วมของฟ็อกซ์ กับบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่แคนาดา 
    แม้จะรับจ้างทำหนังให้แก่บริษัทฟ็อกซ์ แต่ จอห์น วู ก็รู้จักใช้ช่องว่างในเรื่องของความยืดหยุ่นที่มีอยู่ ในฮอลลีวูดนี้สร้างงานของตัวเอง เช่นเดียวกับผู้กำกับอเมริกันคนอื่น ๆ ทุกวันนี้เขายังคงตกลงเซ็นสัญญากับฟ็อกซ์  และบริษัทของเขาก็ตั้งอยู่ในตึกเดียวกัน แต่เขาก็มีอิสระที่จะไปรับงานกับคู่แข่งได้ เขารับข้อตกลงของ ไมเคิล ดักลาส ที่จะกำกับหนังเรื่อง Face/Off (๑๙๙๗) มิติของความยืดหยุ่นก้าวขึ้นสู่ขีดสุด นั่นก็คือ การร่วมลงทุนระหว่างสองค่ายสตูดิโอที่เป็นคู่แข่งกัน อย่างพาราเมาท์และดิสนีย์ (ภายใต้ชื่อบริษัททัชสโตนพิกเจอรส์) เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้งบลงทุนสูงเกินกว่าที่คาดคิด สตูดิโอสองแห่งจึงร่วมลงทุนด้วยกัน เพื่อประกันความเสี่ยง โดยแบ่งเขตในการจัดจำหน่ายกัน การร่วมลงทุนเช่นนี้ต่อมาได้เป็นแม่แบบให้แก่ภาพยนตร์ที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูดอย่าง Titanic ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างสองบริษัทเช่นกัน คือ บริษัทพาราเมาท์ และทเวนตีเซ็นจูรีฟ็อกซ์ 
      Face/Off ประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง ด้วยตัวเลขถล่มทลายถึง ๒๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐ จนเขาได้รับการจัดลำดับอยู่ที่ ๗๐ จาก ๑๐๐ ผู้กำกับเกรดเอของฮอลลีวูด เมื่อตนเองมีฐานมั่นคงในฮอลลีวูด พร้อมกับตราประทับสัญชาติอเมริกันจากรัฐบาล เขาก็เริ่มดึงเพื่อนร่วมชาติ ให้ก้าวเข้ามาผงาดในฮอลลีวูดเช่นเดียวกัน โดยรับหน้าที่เป็นโพรดิวเซอร์หาทุนในฮอลลีวูดให้ เขาเข้าไปติดต่อโซนีจนได้เงินลงทุนทำหนังสองเรื่อง เพื่อให้ผู้กำกับร่วมเชื้อชาติอย่าง เคิร์ก หวัง (The Big Hit, ๑๙๙๘) ก้าวเข้ามากำกับในฮอลลีวูด พร้อมกันนี้ก็ได้เปิดกล้องภาพยนตร์เรื่องแรก ให้แก่โจวเหวินฟะได้เล่น (The Replacement Killers, ๑๙๙๘) จนพระเอกที่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างโจวเหวินฟะ สามารถก้าวไปสู่ฮอลลีวูดได้อย่างเต็มตัว และได้รับบทนำใน Anna and the King 
   
ทุกวันนี้ จอห์น วู ยังคงเซ็นสัญญากับบริษัทฟ็อกซ์ เพื่อรอการกำกับหนังเรื่องใหม่ King Ransom และมีสัญญากำกับเรื่อง Windtalkers ให้แก่ MGM ในระหว่างรอโครงการ เขาก็ไปกำกับหนังทีวีเรื่อง Blackjack แพร่ภาพที่แคนาดา และรับจ้าง ทอม ครูซ กำกับเรื่อง Mission Impossible 2 จนประสบความสำเร็จอยู่ในขณะนี้ 
   
นักเศรษฐศาสตร์ฮ่องกงให้เหตุผลไว้ว่า ความสำเร็จของคนทำหนังฮ่องกงในฮอลลีวูดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการรู้จักที่จะยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา ในความเป็นจริงแล้ว ฮ่องกงมิได้เพิ่งไปฮอลลีวูดเป็นครั้งแรก บริษัทโกลเดนฮาร์เวสต์เคยลงทุนทำหนัง ร่วมกับวอร์เนอร์บราเธอร์สเรื่อง Enter the Dragon ในปี ๑๙๗๓ เมื่อ บรู๊ซ ลี เป็นที่รู้จักในประเทศตะวันตก พอ บรู๊ซ ลี เสียชีวิต พวกเขาก็ทำหนังทุนต่ำโดยให้ดาราฮอลลีวูดนำแสดงเช่น The Boys in Company C เมื่อพวกเขารู้ว่าฮอลลีวูดส่วนใหญ่จะทำหนังได้ดีกว่า พวกเขาก็เปลี่ยนยุทธวิธี ที่จะทำหนังเพื่อกวาดเงินโดยสร้างจุดขายอย่างอื่น เช่น ขายตัวละครสมมุติอย่างนินจาเต่าใน Teenage Mutant Ninja Turtles (๑๙๙๐) ซึ่งไม่ต้องจ้างดาราเลย ใช้แต่สตันต์แมน
   
ความยืดหยุ่นกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันนี้ จริง ๆ แล้ว ความสำเร็จของธุรกิจขนาดย่อมอย่าง SME (Small and Medium Enterprise) ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศไทยนั้น ก็มีลักษณะบางอย่างที่แสดงให้เห็นความสำเร็จของความยืดหยุ่นในภาคธุรกิจ โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากบริษัทเล็กๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินธุรกิจระบบครอบครัว หรือระบบเพื่อนฝูง ดังนั้นจึงมิได้สร้างระบบการบริหารที่ตายตัว บางบริษัทบางร้านอาจจะไม่มีระบบเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่นร้านขายก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
   
อันที่จริงแล้ว ความยืดหยุ่นแบบยุคหลังฟอร์ดนั้น มิใช่เรื่องใหม่ที่จะใช้กับภาคธุรกิจเท่านั้น การเรียกร้องในเรื่องการกระจายอำนาจการปกครอง หรือข้อเรียกร้องให้ฟังเสียงประชาชนที่มีโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า การบริหารงานรวมศูนย์แบบฟอร์ดนิยม ไม่อาจสัมฤทธิผลได้ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการบริหารประเทศ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ที่อิงอยู่บนความคิดของคนเพียงไม่กี่คนนั้น ก็ยากที่จะดำเนินไปได้อย่างสวยงาม ในยุคที่ต้องการความยืดหยุ่นในชีวิตประจำวัน

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail