Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

ที่ปรึกษาหัวขโมย
ที่ปรึกษาหัวขโมย
    เดี๋ยวนี้จะคิดทำอะไรกันทีก็ต้องหาที่ปรึกษา
    คนที่ตั้งตัวเป็นผู้ให้คำปรึกษา ก็เชี่ยวชาญสารพัดเรื่อง ให้คำปรึกษาได้ทั้งเรื่องธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนเรื่องบนเตียง
    ในประเทศเยอรมนี บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งมีลูกค้ามาใช้บริการมากมาย คงเพราะให้คำปรึกษาในเรื่องที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน คือเรื่องการป้องกันการขโมยของ 
    ทุกวันนี้ปัญหาการขโมยของในร้านขายของชำดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของเยอรมนีไป
    เสียแล้ว ในแต่ละปี พวกหัวขโมยฉกสินค้าในร้านไปได้คิดเป็นมูลค่าถึง ๑ แสนล้านบาท ทั้ง ๆ ที่เจ้าของร้านต่าง ๆ ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์กันขโมยเป็นเงินปีละร่วม ๓ หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังไม่อาจเอาชนะบรรดาขโมยหัวใสที่นับวันจะมีเทคนิคใหม่ ๆ ในการขโมยของมากขึ้น 
    ในบรรดาบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าว บริษัท SecuriTeam มีลูกค้ามาขอรับคำปรึกษามากเป็นพิเศษ คือประมาณ ๑,๒๐๐ ราย
    สาเหตุที่บริษัทนี้ได้รับความไว้วางใจมาก เนื่องจากเจ้าของที่ชื่อนายเดทเลฟ โคห์ล มีประสบการณ์สูงยิ่ง ด้วยมีอดีตหัวขโมยระดับชาติ
    เมื่อได้รับการติดต่อจากเจ้าของร้านขายของ เช่นเมื่อเจ้าของร้านแห่งหนึ่งในเมืองราทิงเงน มาขอรับคำปรึกษาการวางระบบป้องกันการขโมยของ สิ่งแรกที่โคห์ลลงมือทำก็คือ เข้าไปทดลองขโมยของในร้าน
    โคห์ลใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็สามารถขโมยเครื่องใช้ไฟฟ้าออกมาได้รวมมูลค่า ๑ แสนบาท ไม่มีอุปกรณ์จับขโมยประเภทใดจับเขาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณกันขโมยที่ประตูทางเข้า โทรทัศน์วงจรปิด หรือแถบกันขโมยที่ติดไว้บนกล่องสินค้า
    วิธีการของโคห์ลง่ายมาก คือเดินเข้าไปในร้าน หาสินค้าราคาถูก ๆ สักชิ้นเพื่อ เอากล่องเปล่าไว้ใช้งาน โดยเปิดกล่องเอาของข้างในออกไปซ่อนไว้ในกล่องสินค้าอื่น จากนั้นโคห์ลก็เลือกสินค้าราคาแพง เช่น โทรศัพท์มือถือขนาดเล็ก กล้องถ่ายวิดีโอขนาดจิ๋ว เครื่องเล่นมินิซีดี หย่อนเข้าไปในกล่องเปล่าใบนั้น
    โคห์ลบอกว่า "กล่องสินค้าจะมีแถบกันขโมยติดไว้บนกล่อง แต่ไม่ได้ติดไว้ที่ตัวสินค้า สิ่งที่หัวขโมยจะทำก็คือ คว้าเอากล่องของสินค้าราคาถูก ๆ มาใบหนึ่ง ฉวยกล้องวิดีโอใส่ลงไปสักสี่ตัว เท่านี้ก็ได้สินค้ามูลค่า ๑ หมื่นมาร์กมาครองโดยจ่ายเงินเท่ากับของราคา ๕๐ มาร์กเท่านั้นเอง"
    โคห์ลประสบความสำเร็จในการขโมย โดยที่พนักงานขายในร้านนั้นไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่น้อย พอโคห์ลเปิดเผยตัวและโชว์สินค้าที่ขโมยมาได้ให้ดู พนักงานขายก็ได้แต่ทำหน้าอธิบายยาก
    โคห์ลแนะนำพนักงานขายว่า พวกเขามีส่วนช่วยได้มากในการป้องกันการขโมยของ โดยการเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าอย่างเป็นกันเอง 
    "พนักงานขายต้องขยันหน่อย อย่างน้อยก็ต้องเข้าไป 'สวัสดี' กับลูกค้า ให้เขารู้ว่าเราป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้นะ" โคห์ลอบรม 
    ขั้นสุดท้าย พวกจอมฉกจะต้องมาจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ถึงตอนนี้พนักงานขายจะต้องตรวจตราสินค้าอย่างละเอียด เปิดกล่องสินค้าออกดูทุกกล่อง 
    บริเวณที่พบกล่องสินค้าถูกแกะทิ้งไว้ช่วยให้เราจับทางเจ้าหัวขโมยได้ และรู้ว่าควรจะติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดไว้ตรงไหนบ้าง นอกจากนี้ ทุกหนแห่งในร้านควรติดป้ายแจ้งให้ลูกค้าทราบว่ามีกล้องวิดีโอจับตาดูอยู่ 
    โคห์ลบอกว่า คำแนะนำของเขานั้นใช้การได้ดีเยี่ยม ร้านค้าที่ไว้วางใจให้เขาเป็นที่ปรึกษามีอัตราการถูกขโมยลดลงกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้บริษัทประกันภัยบางแห่งถึงกับตั้งเงื่อนไขว่า เจ้าของร้านที่จะทำประกันการถูกขโมยต้องทำตามคำแนะนำของโคห์ลอดีตหัวขโมยผู้นี้ด้วย 
    ป่านนี้โคห์ลคงหัวเราะในใจว่า อาชีพนี้ดีจริง ๆ ได้เงินแล้ว ยังได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างถูกกฎหมายอีกด้วย
 

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail