Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

ครัวสมัยหิน
พิชัย วาศนาส่ง

ครัวสมัยหิน

    บรรพบุรุษของมนุษย์ทุกวันนี้ แท้ที่จริงแล้วท่านคือมนุษย์สมัยหินนั่นเอง ท่านจะเกิดมากี่ล้านปี จะนุ่งใบไม้หรือเปลือยกาย ขนในร่างกายจะรกรุงรังอย่างไรก็ตาม ท่านก็คือบรรพบุรุษของมนุษย์เรา มิใช่ใครอื่น
    วันหนึ่งผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า เมื่อยังไม่รู้จักใช้ไฟหุงหาอาหาร ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ ครัวของมนุษย์หินจะมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร หรือจะไม่เคยมีครัวในสมัยหิน ? ถ้าไม่มีครัว มนุษย์หินอยู่กินกันอย่างไร ถามใครก็ไม่มีใครยอมตอบ คำตอบที่อาจได้ฟังมาบ้างก็คือ "ใครจะรู้วะ ไม่ได้เกิดในสมัยนั้นนี่หว่า"
    ความอยากรู้ทำให้ต้องตั้งคำถาม แล้วติดตามแสวงหาคำตอบ จากหลักฐานต่างๆ มานานเป็นแรมปี คำตอบที่ได้มาพอช่วยให้ค้นหาความรู้ต่อไปได้ ก็คือ โลกทั้งโลกนี่แหละ "ครัว" ของมนุษย์หิน
    มนุษย์หินเรียนผิดเรียนถูกเหมือนสัตว์ทั้งหลาย แรก ๆ ความเป็นอยู่ของมนุษย์หิน คงไม่ต่างจากสัตว์เท่าใดนัก หิวขึ้นมากินอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้มือใกล้ตัว ความรู้จากผู้ที่เกิดมาก่อนสั่งสอนว่า อย่างนี้กินได้ อย่างนั้นอย่าไปกินเข้า เพราะของที่ดูว่าน่าจะกินได้ บางอย่างเมื่อกินแล้วเกิดอาการมึนเมาบ้าคลั่ง เช่น ผลจากต้นลำโพง ซึ่งผู้ใหญ่เคยด่าว่า อย่าทำบ้าเหมือนคนกินลูกลำโพง ลูกหลานต่อมาก็รู้ว่า ผลของต้นลำโพงนั้นกินแล้วเมาเหมือนคนบ้า แล้วก็บอกกันต่อ ๆ มาว่า อันว่าลูกลำโพงนั้น อย่าไปกินเข้าเป็นอันขาด แม้นว่าจะมีรสมัน แต่ก็ทำให้เกิดมึนเมาบ้าคลั่งอย่างที่ใครก็ยับยั้งไม่อยู่
    มนุษย์หินคงสอนลูกหลานให้รู้จักหากิน เหมือนกับแม่ไก่ที่ฟักไข่ได้ลูกเป็นฝูง พอลูกโตพอเดินได้เอง ก็จะพาลูกออกตระเวนไปตามพื้นดิน เพื่อสอนให้ลูกรู้จักคุ้ยเขี่ยหามดปลวกกินเป็่นอาหาร อะไรที่กินได้ก็กินซ้ำให้ดู เพื่อให้ลูกรู้และจดจำ อะไรที่กินไม่ได้ก็ห้ามไว้ไม่ให้กิน ส่วนจะห้ามเป็นภาษาไก่ว่าอย่างไรนั้นคงไม่ขอเดาต่อไปให้ยุ่งสมอง วันคืนผ่านไปลูกไก่โตขึ้น แม่ไก่เห็นว่าลูกเอาตัวรอดได้แล้ว ก็ปล่อยให้ลูกหากินด้วยตัวเอง ลูกนกลูกกา หรือลูกสัตว์สองเท้าสี่เท้าทั้งหลาย คงเริ่มเรียนรู้วิธีหากินอย่างเดียวกันหมด
    มีสัตว์สองเท้าอย่างเดียวเท่านั้นที่มีสติปัญญา เข้าใจเรื่องของการหากิน จนสามารถหลุดออกมาจากการหากินอย่างเดียว มาสู่ความรู้จัก ทำมาหากิน ซึ่งหมายความว่า ไม่เพียงแต่หาสิ่งอื่นใดที่เป็นของเกิดขึ้นโดยธรรมชาติรอบกาย แล้วสอนกันต่อมาว่ากินได้ไม่มีอันตราย มากินเป็นอาหารเพื่อดำรงชีวิต ธรรมชาติสร้างสัตว์สองเท้าที่ว่านี้ให้มีปัญญามีสมองคิดได้เองว่า ต้องรู้จัก "ทำมา" ซึ่งหมายถึงว่ารู้จักทำสิ่งที่จะกินขึ้นเอง คำว่า ทำ ก็คือรู้จักคิดหาวิธีปลูก เพาะเลี้ยง สิ่งที่จำเป็นที่เคยต้องหาจึงจะมีกิน มนุษย์คือสัตว์สองเท้าที่ว่านั้น มนุษย์คิดค้นหาวิธี จับสัตว์ ล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูกผัก ผลไม้ที่รู้จักแล้วว่ากินเป็นอาหารได้ โดยสังเกตแล้วจดจำว่า ธรรมชาติทำให้สรรพสิ่งเกิดขึ้น สืบพันธุ์ ขยายพันธุ์ต่อเนื่องกันมาอย่างไร แล้วก็เลียนแบบจากธรรมชาติ ทำ จนเกิดมีอาหารไว้กินได้ไม่อดอยากทุกฤดูกาล
    อย่าเพิ่งสับสนกับข้อเขียนข้างต้น เพราะความมุ่งหมายที่แท้จริงก็คือต้องการเล่าว่า คนเรานี้ฉลาดกว่าสัตว์ตรงที่ว่า เมื่อวันเวลาผ่านมาเป็นพันเป็นหมื่นปี เราหลุดพ้นจากการเป็นสัตว์สองเท้า ผู้หากินจากสิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติ แล้วสั่งสอนกันต่อ ๆ มาว่า เอามากินเป็นอาหารเพื่อยังชีพได้ มาสู่ความเป็นมนุษย์ที่รู้จัก ทำให้เกิดสิ่งที่ต้องการกินเป็นอาหารขึ้น ไม่ว่าจะโดยวิธีเลียนแบบจากธรรมชาติ หรือการรู้จักเอาสิ่งของที่กินได้มาเลือกเฟ้น ปรุงแต่ง ให้เกิดเป็นอาหารที่กินได้ อร่อยดี และมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย (บางอย่างก็อร่อย แต่กินแล้วเกิดโทษก็มีอยู่มาก เช่นดีของปลาปักเป้า หรือไข่แมงดา เห-รา และผลของต้นลำโพงที่กล่าวมาแล้ว)
    แม้นว่าเวลาจะผ่านมาแล้วนับหมื่นนับแสนปี สัตว์จตุบาท ทวิบาท บินได้ ว่ายน้ำได้ ทั้งหลายทั้งปวงในโลก ยังคงต้องใช้วิธี หากิน แต่เพียงอย่างเดียว ไม่รู้จักวิธี ทำมา สัตว์เกือบจะทุกชนิดไม่รู้จักแม้แต่วิธีหาแล้วเก็บไว้กิน จะมีก็แต่ผึ้ง มด ปลวก หรือแมลงอีกเพียงไม่กี่ชนิด ที่รู้จักหาอาหารมาเก็บไว้กินในยามยาก
    รวมความแล้วคงจะกล่าวได้ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนักว่า ครัวของมนุษย์หิน และของสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกสมัยดึกดำบรรพ์ คือ โลกที่มีทั้งดิน น้ำ ลม และไฟ มิใช่ที่ใดอื่น ครัวของมนุษย์หินใหญ่โตมหาศาล กินบริเวณกว้างขวางไปทั่วทั้งโลก ที่ใดมีของกินได้ไม่ว่า พืช สัตว์ ผลไม้ ถั่ว มัน ไม่ว่าจะอยู่บนพื้นดิน บนเขา ในน้ำ หรือในอากาศ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก นับได้ว่าเป็นครัวของมนุษย์หินทั้งสิ้น
    เมื่อรวบรัดมาจนได้ความดังที่กล่าวมาแล้ว ก็แสวงหาความรู้ต่อไปจนทราบว่า มีผู้ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับอาหารการกินของมนุษย์ในยุคหินใหม่ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่ามนุษย์หิน ท่านได้ความจริงน่ารู้เป็นอันมาก และได้เขียนเป็นหนังสือชื่อว่า เดอะ พาเลโอลิติก เพรสคริปชัน (The Paleolithic Prescription) แปลว่า "ใบสั่งยาของมนุษย์หิน" ท่านที่ว่าคือ ดร. บอยด์ อีตัน (Dr. Boyd Eaton) แห่งมหาวิทยาลัยเอเมอรี ในนครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ท่านค้นคว้าจนได้รู้ว่า อะไรที่มนุษย์หินกินได้ และอะไรที่กินไม่ได้ กินอะไรแล้วจะทำให้สมองของมนุษย์หินเรียนรู้ไว คิดได้เร็ว แล้วเอาสิ่งที่เรียนรู้คิดได้มาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นจนเป็นเช่นทุกวันนี้
    ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนั้นว่า อาหารที่คนอเมริกันกินทุกวันนี้ ร้อยละ ๕๕ เป็นอาหารใหม่ที่บรรพบุรุษสมัยหินไม่เคยกินมาก่อน และคนในแผ่นดิน ที่ได้รับอิทธิพลจากการกินแบบอเมริกัน ก็คงไม่ผิดแผกไปจากกันเท่าใดนัก เราได้รู้ว่าสมัยหิน มนุษย์บริโภคผลไม้ ผัก มันนัท (เมล็ดจากผลไม้เปลือกแข็ง) ถั่ว และน้ำผึ้ง เป็นจำนวนร้อยละ ๖๕ อีกร้อยละ ๓๕ เป็นเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันน้อยที่สุด สัตว์ปีกพวกไก่ป่า ไข่ต่าง ๆ ปลา และหอยต่าง ๆ (ขอตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้ว่า ที่เรียกพวกลูกนัททั้งหลายว่าถั่วนั้นน่าจะยังไม่ตรง เพราะสิ่งที่เราเรียกกันว่า มัน นั้น คือพืชที่สะสมแป้งไว้ในหัวซึ่งเกิดอยู่ใต้ดิน เช่น มันเทศ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง ไม่ใช่มันอย่าง ลูกเกาลัด ลูกนัทจากสน ลูกนัทจากแปะก้วย ลูกนัทอัลมอนด์ ลูกนัทที่เรียกว่ามันฮ่อ มะม่วงหิมพานต์ก็นับเป็นลูกนัท ลูกนัทพิสตาชิโอ และ ฯลฯ ซึ่งบางอย่างเรียกว่าถั่ว บางอย่างเรียกว่ามัน สับสนจนคิดว่าราชบัณฑิตหรือนักชีววิทยาน่าจะกำหนดศัพท์ให้แน่ชัดเสียทีว่า อะไรเรียกถั่ว อะไรเรียกมัน จะได้ไม่สับสน)
    ดร. อีตันค้นพบว่า มนุษย์สมัยหินใหม่กินผลไม้ และพืชผักเป็นจำนวนมากกว่ากินสิ่งใดอื่น โดยเฉพาะพวกผลหมากรากไม้ที่นกกินได้ แมลงกินได้ กินแล้วไม่เป็นอันตราย มนุษย์หินเก็บเอามากินได้หมด บรรดาผักที่ขึ้นอยู่บนพื้นดินหลายสิบหลายร้อยชนิด ตั้งแต่ยอดเฟิร์นป่า ไปจนถึงผักเสี้ยน ผักกูด
    พลังงานความร้อนที่ได้จากผัก ผลไม้ และพืชตระกูลถั่ว ให้แคลอรีแก่ร่างกายของมนุษย์หินถึงร้อยละ ๖๕ ของจำนวนอาหารที่บริโภค อาหารพวกนี้แต่ละมื้อให้เส้นใยกากอาหารมื้อละ ๑๐๐ กรัม มากกว่าอาหารที่มนุษย์ผู้เจริญสมัยปัจจุบันบริโภคกันอยู่ถึง ๑๐ เท่า ผลไม้ ผัก และถั่วให้แร่ธาตุที่เป็นวิตามิน เกลือแร่ต่าง ๆ และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าที่แพทย์หรือนักโภชนาการแนะนำให้เรากินอาหารเสริมทุกวันนี้ หมายถึงว่าเพราะอาหารที่เรากินกันทุกวันนี้เฉลี่ยแล้วยังได้คุณค่าทางอาหารที่ร่างกายต้องการไม่เพียงพอ ทำให้ต้องกินอาหารเสริมกันทุกวัน
    บรรดาอาหารทะเลทั้งหลาย เป็นของกินที่มนุษย์หินกินเป็นประจำมากกว่าที่คนปัจจุบันกินกันอยู่ สมดุลของไขมันโอเมกา-๖ กับไขมันเสริมสมอง คือ โอเมกา-๓ ซึ่งเป็นไขมันที่ได้จากปลา มนุษย์หินกินในอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง กล่าวคือ กินอาหารที่มีไขมันโอเมกา-๖ หนึ่งส่วน ก็จะกินอาหารที่มีไขมันโอเมกา-๓ หนึ่งส่วน อย่างมากที่สุดก็คือ โอเมกา-๖ สี่ส่วนต่อโอเมกา-๓ หนึ่งส่วน วิธีกินของมนุษย์หินช่วยให้พวกเขามีสมองดี คิดอะไรได้เร็ว และจำแม่น ส่วนมนุษย์ทุกวันนี้กินอาหารที่มี โอเมกา-๖ จากน้ำมันข้าวโพด เนยเทียม และอาหารที่ย่างหรืออบ ในอัตราระหว่าง ๑๕ ถึง ๒๐ ส่วน ต่ออาหารทะเลที่มีไขมันโอเมกา-๓ เพียงหนึ่งส่วน การกินเช่นนี้ ทำให้เซลล์โดยเฉพาะเซลล์สมอง เสียหายไปทีละน้อย แล้วสักวันหนึ่งเซลล์สมองที่ได้โอเมกา-๖ มากเกินไป แต่ได้โอเมกา-๓ ไม่เพียงพอ ก็จะหยุดทำงานไปโดยธรรมชาติ คำแนะนำของ ดร. อีตันจึงมีอยู่ว่า ให้รีบกินปลาที่มีไขมันโอเมกา-๓ มาก ๆ ทดแทนโดยเร็ว เช่นกินปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคคาเรล และปลาเฮอริงให้เพียงพอ และหากเสริมด้วยน้ำมันปลาโอเมกา-๓ ที่เป็นแคปซูลได้ยิ่งดี
    ความเป็นจริงยังมีต่อไปอีกว่า อาหารที่บรรพบุรุษมนุษย์หินของเราบริโภค ทำให้ได้พลังงานความร้อน คิดเป็นแคลอรีจากโปรตีนถึงร้อยละ ๓๗ มากกว่าที่คนเราทุกวันนี้ได้โปรตีนจากอาหาร สองถึงสามเท่า สิ่งที่ทำให้ไม่เหมือนกันระหว่างเนื้อสัตว์สมัยดึกดำบรรพ์ กับเนื้อสัตว์สมัยนี้ ก็คือ สัตว์ที่มนุษย์หินจับกินเป็นสัตว์บริสุทธิ์ เติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีไขมันมากจนเกินจำเป็น แม้แต่ปลาที่จับจากทะเล ก็มีไขมันน้อยกว่าปลาที่เลี้ยงกันเพื่อใช้เป็นอาหารทุกวันนี้ สัตว์บริสุทธิ์ที่ล่าได้จากป่านั้นกินอยู่ตามธรรมชาติ จะวิ่งเดินหรือออกกำลังมากกว่าสัตว์ขุนในสมัยปัจจุบัน เนื้อของสัตว์กินได้สมัยดึกดำบรรพ์จึงมีไขมันต่ำมาก เทียบกันในอัตราส่วนต่อร้อยแล้ว เนื้อสัตว์ดึกดำบรรพ์มีไขมันเพียงร้อยละ ๔.๓ เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อของสัตว์เลี้ยง ที่เราขุนด้วยอาหารสำเร็จรูป และอาหารเสริมต่าง ๆ เพื่อเร่งให้โตเร็วน้ำหนักมาก สัตว์ขุนเหล่านี้ไม่ใคร่ได้ออกกำลัง สมัยปัจจุบันนี้ เนื้อสัตว์ขุนมีไขมันร้อยละ ๒๕ ถึง ๓๐ และเท่าที่ค้นคว้ามาแล้ว สัตว์บริสุทธิ์จากธรรมชาติสมัยหิน มี FPA omega-3 ร้อยละ ๒.๕ ซึ่งเนื้อสัตว์เลี้ยงสมัยนี้ไม่มีไขมันที่ว่าเลย
    เนื้อสัตว์ขุนสมัยนี้โดยเฉพาะเนื้อแดงมีไขมันอิ่มตัวแทรกอยู่มากจนน่ากลัวอันตราย บรรพบุรุษมนุษย์หินของเรากินเนื้อแดงของสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวเพียงร้อยละ ๖ ต่ำกว่าที่เราบริโภคกันทุกวันนี้ครึ่งหนึ่ง คนโบราณกินเนื้อสัตว์โดยไม่ให้มีหนังติด แม้แต่จะกินนก กินไก่ก็จะลอกหนังออกหมด จึงได้รับโปรตีนที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำมาก ถ้าหากจะว่ามนุษย์หินอายุยืนกว่า สมองดีกว่าคนทุกวันนี้ ก็ไม่น่าจะผิด เพราะถ้าสมองไม่ดีกว่า ก็คงเอาตัวไม่รอดมาจนเป็นมนุษย์ผู้เจริญในสมัยปัจจุบันนี้ ไม่เพียงเท่านั้น มนุษย์หินยังสร้างสมความรู้สอนมนุษย์ยุคต่อๆ มาให้รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักประดิษฐ์คิดค้นสะสมความรอบรู้ถ่ายทอดกันมา จนความรู้ทั้งหลายกลายเป็นบันได ให้เราไต่ขึ้นไปสู่ระดับความรู้ที่สูงส่งยิ่งขึ้นได้ โดยไม่หยุดยั้ง
    ยังมีของกินได้อีกพวกหนึ่งที่น่าจะกล่าวไว้ในบทความนี้ คือ ของกินได้ประเภทลูกนัท และพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ที่ให้เมล็ดถั่ว อาหารพวกลูกนัทและถั่วที่ว่านี้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ เพราะมีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อยีนส์ในร่างกายของเรา แต่ที่คนสมัยนี้ไม่สู้จะโปรดปรานการกินถั่วและลูกนัท ก็เพราะของกินพวกนี้มีไขมันสูง โดยข้อเท็จจริงแล้ว มนุษย์หินกินลูกนัททุกชนิดที่หาได้ กินถั่วทุกอย่างไม่ว่าจะจากต้นถั่วที่เป็นไม้ยืนต้น เช่นสะตอ และไม้ที่มีฝักอีกหลายอย่าง เลยไปจนถึงเถาไม้ล้มลุก เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพู ถั่วฝักยาว โดยกินสดๆ ไม่ปรุงแต่งรสชาติให้เสียคุณค่าทางอาหารที่ดีไปหมด
    อาหารจากครัวโลกสมัยดึกดำบรรพที่เป็นถั่วและลูกนัทต่าง ๆ นี้ ดร. อีตันเล่าไว้ว่า อาหารที่ให้โปรตีนจากพืชมีคุณภาพสูง คนสมัยนี้ก็ชอบกินถั่ว กินลูกนัทต่าง ๆ แต่ก็ชอบที่จะเติมเกลือให้เกิดรสเค็ม พวกถั่วและลูกนัทตากแห้ง อบ หรือคั่ว แล้วเติมโซเดียมเหล่านี้ไม่มีทางเปรียบคุณภาพกับถั่วและนัทธรรมชาติที่ไม่ต้องเติมโซเดียม อบหรือคั่วด้วยเนยเพื่อปรุงรส ถ้าเราอยากกินอาหารประเภทนี้ให้ได้คุณสมบัติดีที่สุดก็คือ กินถั่วและนัทต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ปรุงรส จะคั่วหรืออบก็อย่าใส่เกลือ ใส่เนย หรือถ้าซื้อที่เป็นกระป๋องมา ก็ล้างเกลือออกเสียก่อน ก็จะได้ของกินที่เหมือนมนุษย์หินกินแล้วสมองดี
    ที่จริงแล้วยังเล่าเรื่องครัวโลก หรืออาหารสมัยหินได้อีกมาก แต่โดยที่ผู้เขียนเพียงเลียบเคียงอยู่ "ข้างครัว" จึงมีเรื่องมาเล่าไว้ใน สารคดี ตอนนี้ แต่เพียงเท่านี้ก่อน
    จำไว้ว่า มนุษย์สมัยหินรู้จักกินอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ดีกว่าคนสมัยปัจจุบัน เป็นอย่างนั้นจริง ๆ 
    สวัสดี 
 

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail