Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
   ๑ กันยายน ๒๕๓๓ เมื่อเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไขกุญแจเข้าไปในบ้านพักของสืบ นาคะเสถียร ก็พบกระดาษแผ่นหนึ่งบนเตียงนอนมีข้อความว่า

ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น

ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร ผู้ตาย
(นายสืบ นาคะเสถียร)
๓๑ ส.ค. ๓๓
(คลิกดูภาพใหญ่)

กระดาษอีกแผ่นหนึ่งมีข้อความว่า

ยงยุทธ
ถุงกอล์ฟ รองเท้ากอล์ฟ กล่องของของน้ำฝน กระเป๋าเอกสาร กล่องใส่เอกสาร หลักฐานต่าง ๆ กระเป๋ากุญแจบ้าน...กุญแจรถ กระเป๋าดำสารคดี ขอให้คุณยงยุทธนำคืนพร้อมรถโฟล์กให้แก่พ่อของผมด้วย โดยติดต่อ
คุณสลับ นาคะเสถียร ๑๗ หมู่ ๑๒ ถนนปราจีนอนุสรณ์ ต. ท่างาม อ. เมือง จ. ปราจีนบุรี โทร. ป.จ. ๐๓๗-๒๑๑๔๘๓ (ทุกเวลา)

สืบ นาคะเสถียร
๓๑ ส.ค. ๓๓
ปล. กระเป๋าสตางค์ และของพี่ฝากไว้กับหม่อม
สืบ นาคะเสถียร
๐๒.๐๐
๑ ก.ย. ๓๓

      ธันวาคม ๒๕๔๒ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รายงานผลการสำรวจประชามติความคิดเห็นของคนไทย เพื่อสะท้อนภาพรวมสังคมในด้านต่าง ๆ ก่อนที่จะย่างเข้าสู่ปี ๒๐๐๐ หนึ่งในแบบสำรวจประชามติมีการตั้งคำถามว่า ในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ๑๐ อันดับ 
   
ผลปรากฏว่า อันดับ ๑ คือ หลวงปู่แหวน อันดับ ๒ คือ สืบ นาคะเสถียร 
   
มีคะแนนนำ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มิตร ชัยบัญชา, พุทธทาสภิกขุ
   
หากวันนี้สืบยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุ ๕๑ ปี
   
สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยิงตัวตายเพื่อเรียกร้องคนในสังคม ให้หันมาสนใจปัญหาการทำลายผืนป่าและสัตว์ป่า โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีใครรู้จัก
   
ณ วันนี้ห้วยขาแข้งกลายเป็นป่าที่คนไทยหวงแหนที่สุด ได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลก เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ไม่มีการบุกรุก การสร้างเขื่อน การจัดแรลลีในป่าห้วยขาแข้งถูกสาธารณชนต่อต้านอย่างรุนแรง การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์อาจมีบ้างประปราย แต่ก็น้อยนิดเมื่อเทียบกับป่าแห่งอื่นในประเทศ 
   
สืบ นาคะเสถียร รอวันนี้มานาน นานพอจะรู้ว่า มีเพียงเสียงปืนนัดเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้
 (คลิกดูภาพใหญ่) ปืนเถื่อน หนังสติ๊ก และทรัมเป็ตมือหนึ่ง

    สืบ นาคะเสถียร มีบ้านพักอยู่ในย่านฝั่งธน เป็นบ้านไม้เก่าแก่ของตระกูลที่เขาพักอาศัยอยู่กับน้องชาย บนฝาผนังบ้านมีภาพถ่ายพ่อสมัยเป็นนายอำเภอหนุ่ม ถ่ายกับซากเสือโคร่งที่ลงมากินชาวบ้านเมื่อประมาณ ๔๐ ปีก่อน และยังมีเขาละองละมั่งคู่หนึ่ง อันเป็นสัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยนานแล้ว เป็นเขาสัตว์เก่าแก่ที่นายพรานสมัยนั้นล่าได้ และเป็นสมบัติตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน
   
สืบ นาคะเสถียร เคยพูดให้เพื่อนฟังว่า "เราทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาก่อน"
   
ในวัยเด็ก สืบก็เป็นนักยิงนกตัวยงคนหนึ่ง
   
สืบเป็นคนเมืองปราจีนบุรี มีนามเดิมว่า สืบยศ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๒ เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องสามคน
   
ตระกูลของแม่มีอาชีพทำนา และเก็บค่าเช่านา สืบเคยเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า
   
"สมัยเด็ก ๆ แม่สอนผมทุกอย่าง แม่ยังคิดว่าจะเป็นลูกผู้หญิง ผมเย็บจักรได้ ผมทำกับข้าวเป็น ตื่นเช้าผมจะต้องถูบ้าน ต้องหุงข้าว ใส่บาตรก่อนไปโรงเรียน กลับมาบ้านผมจะต้องไปเก็บกวาด แม่สอนผมทุกอย่าง"
   
บางครั้งสืบยังต้องช่วยแม่ทำนา ยามว่างมักชวนเพื่อน ไปเที่ยวยิงนกตกปลา ตามประสาเด็กบ้านนอก โดยมีไม้ง่ามหนังสติ๊กเป็นเพื่อนคู่ใจ 
   
สืบได้รับการศึกษาชั้นประถมต้นในโรงเรียนประจำจังหวัด พอจบชั้นประถมสี่สืบก็ย้ายจากปราจีนบุรีไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะพ่ออยากให้ลูกชายได้เรียนในโรงเรียนดี ๆ นับเป็นการจากบ้านเป็นครั้งแรก เขาเริ่มรับผิดชอบตัวเอง มีผลการเรียนที่ดี ชอบวาดรูปและเล่นดนตรีเก่งจนได้เป็นนักทรัมเป็ตมือหนึ่งของวงดุริยางค์ประจำโรงเรียน พอปิดเทอมสืบก็นั่งรถไฟกลับบ้าน เอารูปที่ตัวเองวาดไปอวดพ่อแม่ บางครั้งสืบจะไปช่วยแม่ยกคันนา เพราะชาวบ้านข้างเคียงไถนาเข้ามาในที่นาของแม่จนที่นาเว้าเข้ามา สืบกับแม่ช่วยกันยกคันนาท่ามกลางแดดแผดกล้า ทำให้เขารู้รสชาติความยากลำบากของชาวนามาตั้งแต่เยาว์วัย แม้บางครั้งสืบและน้องชายจะเกเรไม่ยอมทำงาน แต่พอเห็นแม่ทำงานคนเดียวสองพี่น้องก็ละอายใจ

 (คลิกดูภาพใหญ่)     ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง สืบยังชอบไปเที่ยวเล่นกับน้องชายเหมือนเดิม ต่อมาเริ่มหัดทำปืนเถื่อน ซึ่งนิยมกัน มากในจังหวัดชายแดนสมัยนั้น ฝีมือการยิงเฉียบคมมากจนเป็นที่รู้กันในละแวกบ้านว่า สืบยิงปืนสั้นแม่นมาก จนพ่อที่เป็นนายอำเภอขู่ลูกชายทั้งสองให้เลิกปืนเถื่อน มิฉะนั้นจะจับไปโรงพัก สองพี่น้องต้องเอาปืนทิ้งคลอง 
กอบกิจ นาคะเสถียร หรือโด่ง น้องชายผู้สนิทกับสืบที่สุดเล่าว่า "พวกเราทำปืนเถื่อนกันเองทั้งนั้น ใช้เหล็กมาเจาะเอา ดินปืนเราก็ตำเอง พี่สืบชอบใช้ปืนสั้น ส่วนผมถนัดปืนยาว มีอยู่ครั้งหนึ่งพี่เขาเสียใจมาก เพราะไปยิงลูกนก แม่นกตามลูกนก แต่เราไปพรากลูกพรากแม่ ตอนนั้นเรายิงด้วยความภาคภูมิใจ ยิงเอาสนุก จริง ๆ ตอนเด็กเราก็ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก พี่เขารักป่าแต่เราก็ไปทำลายชีวิตนก อย่างสัตว์ป่าเราก็เคยเลี้ยง ชาวบ้านเอาค่างเอาชะนีมาให้ เราก็เลี้ยงตามมีตามเกิดแบบไม่ถูกวิธี ตายไปก็เยอะ บางทีเราเอาเชือกผูกคอ มันก็รัดคอจนตายเอง"
   
เมื่อเรียนถึงชั้น ม.ศ. ๓ สืบก็เลิกยิงนกตกปลาล่าสัตว์โดยเด็ดขาด ตามนิสัยของคนที่ทำอะไรจริงจัง
   
"ผมกับน้องสาวจะใกล้ชิดกับครอบครัวมากกว่า เพราะพี่สืบจากบ้านไปเรียนตั้งแต่เด็ก จึงมักตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นตัวของตัวเอง ตามประสาคนที่ต้องพึ่งตัวเองสูง แต่ใจร้อนมาก วัยเด็กถ้าทำอะไรไม่ได้ดังใจ จะแสดงอาการโมโห ถ้าโกรธจะตอบโต้ และพยายามเอาชนะให้ได้ แต่พอโตขึ้น ก็ไม่ค่อยตอบโต้ โกรธใครก็จะไม่ว่า" โด่งเล่า 
   
"แต่ผมก็รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในตัวแก กลางค่ำกลางคืนไปไหน ผมจะอุ่นใจ เขาจะคอยปกป้องน้องชายเสมอ ผมจำได้ว่าคราวหนึ่งเราไปตีผึ้งด้วยกัน ผึ้งมักจะอยู่บนยอดไม้ แกก็บอกให้ผมเอาควันรม ผมกลัวผึ้งจะมาต่อย แกบอกว่าไม่ต้องกลัว สองมือแกจับขาผมไว้มั่น ผมเชื่อมั่นว่าแกจะไม่ทำให้ผมหล่นจึงปีนขึ้นไป แล้วเราก็ได้รังผึ้งมาอย่างไม่น่าเชื่อ ผมมั่นใจคำพูดแก ผมไม่กลัวตกเลย"
    นิสัยอีกประการหนึ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก คือ หากจะทำอะไรต้องทำให้ได้ดี แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กสิ่งน้อยก็ตาม
   
สืบมีฝีมือด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เขามักจะเอาไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมายละแวกบ้าน มาเหลาทำเป็นว่าว บางทีก็เอาดินมาปั้นเป็นรถเก๋งอย่างสวยงาม สืบจะรักษาสมบัติของตัวเองมาก แต่เมื่อน้องชายเอาเชือกมาลากรถไปมาจนพัง หรือเอาว่าวไปเล่นจนขาด พี่ชายก็ไม่ได้ว่าอะไร 
   
"ช่างมันเถอะ" สืบพูดสั้น ๆ
 (คลิกดูภาพใหญ่) เสียงปืนที่ดังลั่น

    เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเซ็นหลุยส์ สืบตั้งใจสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรม ตามประสาคนชอบวาดรูป เคยวาดการ์ตูนเป็นเล่มให้เพื่อนนักเรียนอ่านกัน เล่าลือกันว่าฝีมือลายเส้นเฉียบขาดมาก แต่สุดท้ายเขาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบเล่าให้ฟังว่า
    "ตอนแรกผมไม่อยากเรียนวนศาสตร์ ผมไม่อยากเป็นป่าไม้ เพราะผมไม่ชอบป่าไม้ แต่ผมเลือกไปอย่างนั้นเอง ผมเลือกอันดับ ๕ พอผมติด ผมบอกแม่ว่า ผมไปเรียนดีกว่านะ อายุมันก็มากแล้ว รอปีหน้าก็ไม่รู้จะสอบสถาปัตย์ได้รึเปล่า ถ้าปีหน้าสอบไม่ได้อีกก็แย่ ต้องเกาะแม่กินไปเรื่อย ๆ"
    นพรัตน์ นาคสถิตย์ เพื่อนสนิทร่วมรุ่น วน. ๓๕ ได้ถ่ายทอดชีวิตสมัยเป็นนักศึกษาให้ฟังว่า
    "สืบเรียนหนังสือเก่ง เป็นคนตัวสูงกว่าเพื่อน แต่เวลานั่งฟังเล็กเชอร์มักไปนั่งข้างหน้าห้อง ชอบจดงานลงสมุดอย่างละเอียดเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็วาดรูปประกอบด้วย ตอนอยู่ปี ๔ ผมเคยพักห้องเดียวกัน มีเพื่อนอยู่ด้วยกันสามสี่คน ทุกวันกลับจากกินข้าวเย็นพวกเราก็นั่งคุยกันเฮฮา แต่สืบจะอ่านหนังสือทุกวัน อ่านจนกระทั่งพวกเราต้องเงียบเสียงกันไปเอง จนพวกเราเข้านอนแล้วก็ยังเห็นสืบอ่านหนังสืออยู่ เขาเป็นคนทำอะไรจริงจัง ขนาดเวลาเล่นฟุตบอลก็เล่นแบบจริงจังในตำแหน่งแบ็ก ยากที่พวกเราจะพาลูกผ่านไปได้ เพราะขายาว ๆ มารบกวน และสืบว่ายน้ำเก่งมากจนได้เป็นนักกีฬาโปโลน้ำของมหาวิทยาลัยด้วย"
    สลับ นาคะเสถียร พ่อของสืบ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดังคนหนึ่งในสมัยนั้น แต่สืบไม่เคยบอกใครเลย เพราะไม่ต้องการ อภิสิทธิ์ใด ๆ แม้กระทั่งการเกณฑ์ทหาร สืบก็ไม่ได้บอกสัสดีจังหวัดเลยว่าเขาเป็นลูกผู้ว่าฯ 

(คลิกดูภาพใหญ่)     สืบเคยให้สัมภาษณ์ว่า
    "ผมกลับไปที่บ้าน ผมไม่เคยขออะไรจากพ่อ ผมไปติดต่อธุระที่อำเภอ ผมไม่เคยบอกเจ้าหน้าที่ว่าผมเป็นลูกใคร ผมไปเกณฑ์ทหารที่ปราจีนฯ ผมก็ไม่ได้บอกพ่อว่า พ่อช่วยหน่อย เพราะผมเห็นใจคนอีกเยอะที่ไม่มีโอกาสในสังคมแบบนี้ บังเอิญผมโชคดีจับได้ใบดำ" 
    เมื่อเรียนจบคณะวนศาสตร์ สืบไม่ยอมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยเหตุผลที่ว่ายังมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะรับปริญญา
   
สืบว่างงานอยู่สองปีเพราะกรมป่าไม้ไม่มีตำแหน่งว่าง เขาจึงไปทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ประจำฝ่ายสวนสาธารณะ มีหน้าที่ปลูกต้นไม้ตามหมู่บ้านจัดสรร ทำงานอยู่ไม่นานก็ลาออกมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ เขาให้เหตุผลว่า "ไหน ๆ ก็แหย่ขาเข้าไปในป่าไม้แล้ว" ระหว่างที่เรียน สืบสามารถสอบเข้ากรมป่าไม้ได้เป็นอันดับ ๓ ซึ่งในเวลานั้นคนที่สอบได้อันดับ ๑-๑๐ มีสิทธิ์เลือกบรรจุกองไหนก็ได้ ซึ่งส่วนมากมักจะเลือกเป็นป่าไม้ เพื่อมีโอกาสจะก้าวไปเป็นป่าไม้จังหวัด หรือป่าไม้เขตในอนาคต แต่สืบกลับเลือกอยู่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรีในปี ๒๕๑๘ โดยให้เหตุผลว่า
    "ผมเลือกที่นี่เพราะเกลียดพวกป่าไม้ แม้มาเรียนป่าไม้ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่า ไม่ชอบป่าไม้เรื่องที่ว่า ป่าไม้มันโกง พวกป่าไม้มันร่ำรวยมาจากการโกงป่า ผมรู้กำพืดพวกนี้ดี เพราะสมัยนั้นพ่อผมเป็นปลัดจังหวัด ผมไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับมันผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้"
      ในบรรดาศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่น ๓๕ จำนวนทั้งหมด ๑๒๐ คน มีมาสนใจงานด้านอนุรักษ์เพียง ห้าคนเท่านั้น
   
ที่เขาเขียว สืบ นาคะเสถียร เริ่มอาชีพข้าราชการกรมป่าไม้เต็มตัว เขาทุ่มเทให้แก่การทำงานด้านปราบปราม ลุยจับผู้ต้องหาทำลายป่า หรือพรานที่มาส่องสัตว์ล่าสัตว์กลางคืนได้นับร้อยคน "ผมมีหน้าที่ลุยอย่างเดียว จะใหญ่มาแค่ไหนผมจับหมด"
   
การที่สืบดำรงตนเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ อาจเพราะได้แบบอย่างมาจากพ่อของเขา ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และได้รับการยอมรับว่า เป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น ลูกชายคนโตคนนี้ภูมิใจในตัวพ่อมาก เขาเคยพูดว่า "พ่อผมไม่เคยโกงใครกิน.. ทำไมผมถึงดีใจ และภาคภูมิใจกับพ่อผมมาก เพราะพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร"
   
ปีนั้นเอง สืบส่งบทกลอนเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า-ป่าไม้ครั้งที่ ๓ ซึ่งจัดโดยคณะวนศาสตร์ และได้รางวัล กลอนบทนี้สามารถสะท้อนความรู้สึกของสืบ ที่มีต่อสัตว์ป่าได้ชัดเจนที่สุด
(คลิกดูภาพใหญ่) "สัตว์ป่า"
เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่แบกไว้  กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่  หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน  จึงไม่คืนชีวิตมา
โทษไหนจึงประหาร  ศาลไหนพิพากษา
ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า  ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก  ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน
โปรดเถิดจงเห็นใจ  สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน
(คลิกดูภาพใหญ่) ชีวิตนักวิจัย

    สืบทำงานที่เขตภูเขียวฯ ได้พักหนึ่ง ก็สอบชิงทุนของบริติชเคาน์ซิลไปเรียนปริญญาโทด้านอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาหนึ่งปี แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ แต่ทำได้ไม่นานก็ขอย้ายตัวเองมาทำงานวิชาการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะเสียดายความรู้ที่เรียนมา และรู้สึกว่างานวิจัยเป็นงานที่ตัวเองสนใจมากที่สุด
   
สืบให้สัมภาษณ์ว่า
   
"ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะไปวิ่งจับคน เพราะว่าจับได้แค่ตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ ๆจับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่า กฎหมายบ้านเมืองนี้มันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้านในความรู้สึกของเขา เหมือนกับไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่คนในสังคม ในฐานะที่ผมมีหน้าที่ที่ต้องรักษาป่า ผมก็เลยขอไปทำงานทางด้านวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าแทน"
   
ดูเหมือนว่างานวิชาการเป็นสิ่งที่เขาชอบและมีความสุขที่จะทำมากที่สุด งานนี้เหมาะกับอุปนิสัยส่วนตัว ที่เป็นคนช่างสังเกต ชอบจดบันทึก สเกตช์รูป ถ่ายรูป ซึ่งทำให้งานวิจัยสัตว์ป่าของเขามีคุณค่ามากขึ้น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายากไม่ว่าจะเป็นกวางผา เลียงผา นกกระสาคอขาวปากแดง ไปจนถึงภาพการบุกรุกทำลายป่าทุกรูปแบบ รวมไปถึงภาพจากวิดีโอหลายสิบม้วนที่สืบลงทุนแบกเข้าไปถ่ายในป่าเอง และหิ้วเทปมาเช่าห้องตัดต่อเองในกรุงเทพฯ ข้อมูลทุกชิ้นถูกจัดใส่แฟ้มเป็นหมวดหมู่เรียบร้อย และไม่เคยปฏิเสธเลยเมื่อมีคนขอภาพถ่ายไปเผยแพร่
   
คุณเอิบ เชิงสะอาด เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งเคยพูดว่า "สืบเหมาะจะเป็นนักวิชาการ แต่ไม่เหมาะจะทำงานคุมกำลัง เพราะงานปราบปรามบางอย่างอาจจะยอมได้ แต่สืบเป็นคนไม่ยอมคน"

(คลิกดูภาพใหญ่)     งานวิจัยชิ้นแรกของเขาคือ การศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี ระหว่างปี ๒๕๒๓-๒๕๒๔ แต่งานวิจัยที่สร้างความสะเทือนใจให้เขามากที่สุด คือเมื่อครั้งเขาได้ร่วมเดินทาง ไปศึกษาชีวิตของกวางผากับ ดร. แซนโดร โรวาลี ซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร National Geographic ที่ดอยม่อนจอง ในบริเวณเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูงชันมาก ในปี ๒๕๒๘
   
กวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวนซึ่งหายากมาก ชาวเขาเผ่ามูเซอตั้งชื่อว่า "ม้าเทวดา" อาศัยอยู่ตามหน้าผาสูงชันทางภาคเหนือของไทยบริเวณลุ่มน้ำแม่ปิงเท่านั้น และในการเดินทางสำรวจครั้งนั้นได้เกิดอุบัติเหตุจากไฟป่าจนมีผู้เสียชีวิต
   
ดร. ชุมพล งามผ่องใส แห่งคณะวนศาสตร์ ผู้ร่วมเดินทางไปครั้งนั้นได้บันทึกไว้ว่า
   
"จนกระทั่งพักเที่ยง เราหยุดกินข้าวกัน ระหว่างนั้นคุณสืบ นาคะเสถียร และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชื่อ คำนึง ณ สงขลา แยกตัวขึ้นไปบนยอดสูง เพราะมองเห็นกลุ่มควันพลุ่งขึ้นมาจากป่าใกล้ ๆ เข้าใจว่ากำลังเกิดไฟป่า พวกเขาจะปีนขึ้นไปสังเกตการณ์และถ่ายภาพ ผมจึงตามไปสมทบ เราอยากศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ที่ตื่นหนีไฟ ...ทันใดนั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ลมกรรโชกพัดลูกไฟจากหุบเขาที่กำลังลุกไหม้รุนแรงอยู่มาทางที่พวกเรายืน เสี้ยววินาทีเดียว เราก็ถูกลูกไฟประลัยกัลป์นั้นซัดวูบจนล้มระเนระนาด สะเก็ดไฟลุกไหม้เนื้อตัวเราปวดแสบไปหมด... ชั่วพริบตาเท่านั้น ที่ทันได้เห็นคุณคำนึง พลาดตกลงซอกเขาไป โดยที่ในมือยังกระชับกล้องวิดีโออยู่... กว่าจะตั้งสติได้ เราก็รู้ว่าไม่มีทางจะช่วยชีวิตคุณคำนึงได้เสียแล้ว"
(คลิกดูภาพใหญ่)     สืบเองก็เขียนบันทึกไว้ว่า
   
"เราทั้งคู่ต่างมองหาคำนึง เมื่อไม่เห็นจึงตะโกนเรียก แต่ก็ไม่มีเสียงตอบ พวกที่เดินกลับไปก่อนย้อนมาดูพวกเรา และช่วยกันหาคำนึง ผมพบหมวกที่คำนึงเคยสวมอยู่ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่ยังคงรูปเป็นหมวกให้เห็นก่อนที่จะถูกลมกรรโชกให้แตกสลายไป... ประมาณบ่ายโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น ขณะที่ผมใช้กล้องส่องทางไกล ส่องลงไปตามลาดผาตรงจุดที่คาดว่าเขาพลาดล้ม และกลิ้งตกลงไป ผมได้พบร่างของคำนึงที่ไหม้เกรียม ติดค้างอยู่ตรงลาดผาช่วงกลาง ซึ่งไม่มีทางลงไปหรือขึ้นมาจากข้างล่างได้ ...คืนนั้น เราทำพิธีเคารพศพของคำนึงด้วยสิ่งของเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น ขอให้ดวงวิญญาณของเขาผู้ซึ่งได้อุทิศตัวเพื่องานที่เขารับผิดชอบ จงไปสู่ที่สุคติด้วย"
   
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สืบซาบซึ้งเป็นอย่างดีว่า งานวิจัยสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก และที่สำคัญคือทำให้เขาเริ่มเห็นถึงปัญหาความยากลำบากของพนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันที่ไม่มีสวัสดิการใด ๆ มาช่วยเหลือแม้กระทั่งจากกรมป่าไม้เอง 
   
สืบยังคงทำงานวิจัยสัตว์ป่าต่อไป นพรัตน์ นาคสถิตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า "เขาอยากจะเป็นนักวิจัยที่ทำงานวิจัยสัตว์ป่าเป็นเรื่อง ๆ ไม่อยากไปเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยตามที่ต่าง ๆ" งานสำคัญในช่วงนี้คือศึกษาการกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยของเลียงผา ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากการที่สืบเห็นพ่อค้าเอาน้ำมันเลียงผาที่ทำจากหัวเลียงผามาขาย จนน่าเป็นห่วงว่าเลียงผาอาจสูญพันธุ์ได้ และรวมไปถึงศึกษาเก้งหม้อ ควายป่าและเป็ดก่า ซึ่งทำให้เขามีโอกาสเข้าป่าห้วยขาแข้งและป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขื้น
(คลิกดูภาพใหญ่)     รุ่นน้องคนหนึ่งเขียนถึงเขาว่า
   
"พี่สืบมีความผูกพันกับป่าที่นี่มาก การเดินทางที่เราจดจำได้ดีก็คือ การเดินทางจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ข้ามมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผ่านโป่งนายสอ และทะลุผ่านมาถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำในที่สุด ซึ่งใช้เวลาเดินทางถึงห้าวัน การเดินทางสำรวจสัตว์ป่าบนเส้นทางในระยะไกลอีกครั้ง ได้แก่ การเดินทางในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านจังหวัดตาก จากบริเวณห้วยปล่อยช้าง มายังหุบแม่จัน ผ่านบ้านยู่ไน้ไปยังบ้านม่องควะ และไปพักแรมระยะยาวที่บึงละกะตู เพื่อสำรวจประชากรเป็ดก่า เราเดินทางข้ามภูก่องก๊องเข้าสู่เขตจังหวัดกาญจนบุรี พักค้างคืนที่บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเดินทางสู่บริเวณสบห้วยดงวี่ เพื่อตรวจสอบบริเวณด่านช้างข้ามแม่น้ำแควใหญ่ พี่สืบใช้เวลาเดินป่าครั้งนี้นานกว่าสองสัปดาห์ เราได้เห็นธาตุแท้ของความทรหด แม้ว่าเท้าทั้งสองจะเจ็บเดินล้มลุกคลุกคลาน ถูกหนามเกี่ยวตามลำตัวและหู ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้ แคมป์ที่พักนอนในป่าก็ใช้ผ้าพลาสติกปูลงบนพื้นดิน และมุงผ้าพลาสติกผืนใหญ่เพื่อกันน้ำค้าง อาหารที่เตรียมไปแม้ว่าจะไม่พอเพียง ความลำบากต่าง ๆที่ประสบ ดูเหมือนว่าพี่สืบก็ไม่เคยปริปากบ่นด้วยคำพูดใด ๆ เลย"
   
ในระหว่างที่สืบมาทำวิจัยที่ป่าห้วยขาแข้ง เขาได้ยินเสียงปืนของนักล่าสัตว์เป็นประจำ เขาพยายามถามเจ้าหน้าที่ในนั้นว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมมีการล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ไม่มีใครยอมพูดอะไร สืบบอกกับตัวเองว่า วันหนึ่งเขาจะหาคำตอบให้ได้
(คลิกดูภาพใหญ่) ตำนานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน

    ในปี ๒๕๒๙ ได้มีโครงการใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือโครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม อันเป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้ป่าดงดิบผืนใหญ่ อันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จำนวนแสนกว่าไร่ ต้องจมน้ำกลายเป็นทะเลสาบ ความลึกเกือบ ๑๐๐ เมตร บริเวณที่เคยเป็นเนินเขา และภูเขาก็ถูกตัดขาด โผล่พ้นน้ำกลายเป็นเกาะน้อยใหญ่จำนวนถึง ๑๖๒ เกาะ ส่งผลให้มีสัตว์ป่าจำนวนมากกว่า ๓๐๐ ชนิด อาทิ เลียงผา สมเสร็จ ชะนี ค่าง เสือลายเมฆ ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า ที่หนีน้ำไม่ทันต้องติดตามเกาะ หรือหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามยอดไม้ รอวันตายเพราะขาดแคลนอาหาร
   
ภารกิจของโครงการฯ คือ อพยพสัตว์เหล่านี้ออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย สืบ นาคะเสถียร ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากกรมป่าไม้ ให้เป็นหัวหน้าโครงการฯเล่าให้ฟังว่า
   
"โครงการอพยพสัตว์ป่าที่นี่ถือเป็นการทำครั้งแรกในเมืองไทย เราเริ่มตั้งแต่การสำรวจสภาพป่าและสัตว์ว่ามีอยู่กี่ชนิด ไปจนถึงเตรียมการอพยพสัตว์ซึ่งไม่เคยทำกันมาก่อน แต่ก็พยายามจะทำให้ได้มากที่สุด สมมุติว่ามีสัตว์ติดอยู่บนเกาะ ๑๐๐ ตัว เราพยายามที่จะช่วยชีวิตมันไว้ทั้ง ๑๐๐ ตัว ถ้าเราไม่ช่วยมันตายแน่ ๆ...ไปไหนไม่ได้แล้ว สัตว์หลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ยิ่งถ้าเราไม่ช่วยมัน พวกพรานมีปืนทั้งหลายต้องถือโอกาสล่ากันสนุกมือ ...ผมเชื่อว่าเวลาสร้างเขื่อนสมัยก่อน คงมีสัตว์ที่หนีน้ำไม่ทันตายเป็นจำนวนมากแน่ ๆ"
   
เนื่องจากเป็นครั้งแรกในประเทศไทย การช่วยชีวิตสัตว์จึงเริ่มต้นจากการคัดคนที่ใกล้ชิดกับสัตว์ ตั้งแต่สัตวบาลไปจนถึงนายพรานที่ชำนาญในการดักสัตว์ พาคนเหล่านี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และศึกษาว่าต่างประเทศจับสัตว์กันอย่างไร จากหนังสือและวิดีโอรายการ "ซิงเกอร์ เวิลด์" ซึ่งมีสารคดีการช่วยชีวิตสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อน ที่ประเทศเวเนซุเอลา

(คลิกดูภาพใหญ่)     ในแต่ละวันภารกิจของพวกเขาคือนำเรือออกตระเวนไปตามต้นไม้สูง ๆ ที่กำลังยืนต้นตายกลางทะเลสาบ หากเจอชะนีหรือค่างติดอยู่บนยอดไม้ พวกเขาจะนำเรือเข้าไปใกล้ ทำทุกอย่างตั้งแต่ส่งเสียง พุ่งเรือชนต้นไม้ ไปจนถึงเลี่อยต้นไม้ให้โค่นลงมา เพื่อให้สัตว์ตกใจกระโดดลงน้ำ จะได้ว่ายไปจับสัตว์เหล่านั้นได้ 
   
หากแล่นไปเจอเกาะก็ขึ้นไปข้างบนเกาะ เอาตาข่ายขึงพาดกลางเกาะ แล้วแบ่งคนเป็นสองฝ่าย ส่งเสียงดังตั้งแต่ท้ายเกาะ เพื่อไล่ต้อนสัตว์ให้ตกใจวิ่งหนีมาชนตาข่ายที่ขึงไว้ ซึ่งมักได้สัตว์อย่างกระจง กวาง เลียงผา
   
ไสว วังหงษา หัวหน้าส่วนวิจัยสัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ลูกทีมคนหนึ่ง เล่าให้ฟังเหตุการณ์เมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า
   
"เรามีความกดดันหลายอย่าง เครียดมาก บางคนว่ายน้ำไม่เป็น บางครั้งไม่รู้พื้นที่ แต่อะไรที่คนงานทำ พี่สืบก็ทำ บางครั้งเราลอยคอไปจับสัตว์ด้วยกันในน้ำ พี่สืบจะมองตลอดเวลาว่า ในแต่ละวันที่ผ่านไป สัตว์มันทรมานทุกวินาที เพราะต้นไม้ที่เคยเขียว พอน้ำท่วมมันก็จะค่อย ๆ ตาย สัตว์ที่ติดเกาะยิ่งวันน้ำยิ่งขึ้น พื้นที่ยิ่งบีบ ก็จะยิ่งอดอยาก เพราะฉะนั้นต้องทำงานทั้งกลางวันกลางคืน พี่สืบแกรับผิดชอบสูงเลยทำทั้งกลางวันกลางคืน แกมักพูดเสมอว่า เมื่อใดเราช้าไปชั่วโมงหนึ่ง สัตว์หลายตัวอาจจะตาย
   
"มีครั้งหนึ่งผมจำได้แม่น มีค่างติดที่เกาะแห่งหนึ่ง พื้นที่ไม่ถึง ๒ ไร่เป็นภูเขา ต้นไม้ก็ตายไปเรื่อย ๆ รากมันเน่า เราพยายามหลายครั้งที่จะจับค่าง บีบพื้นที่ให้เล็กลง เราเสียเวลาเกือบทั้งวัน ทำอย่างไรก็ไม่ได้ ผมเข้าใจว่าพี่สืบแกคงมองว่าถ้าปล่อยไว้ต่อไปมันต้องอดอาหารตาย วันนั้นแกเลยยิงค่างตัวนั้นตายด้วยมือของแกเอง ถ้าอยู่ไปก็ทรมาน แกเลือกที่จะให้มันไปสบาย ผมรู้ว่าแกเสียใจ พวกเราก็เสียใจ"
(คลิกดูภาพใหญ่)     ผู้เขียนเคยมีโอกาสล่องเรือไปกับสืบ เพื่อสังเกตการณ์อพยพสัตว์ป่าเมื่อปลายปี ๒๕๒๙ วันหนึ่งขณะที่เราผูกเรือกับตอไม้กลางทะเลสาบ เพื่อช่วยชีวิตชะนีตัวหนึ่ง ปรากฏว่างูจงอางสีดำมะเมื่อมขนาดลำข้อมือ ยาวร่วม ๓ เมตรพุ่งทะยานออกมาจากโพรงในตอไม้ ทุกคนบนเรืออ้าปากค้างด้วยความตกใจ และโล่งอกเมื่องูจงอางพุ่งลงน้ำ 
   
หากใครโดนงูกัดคงไม่มีทางรอด งูจงอางไม่ใช่งูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก แต่ปริมาณพิษของมันเยอะมาก เพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกกัดตายได้ไม่เกิน ๓ ชั่วโมง และระยะทางจากเรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคงไม่ต่ำกว่า ๖ ชั่วโมง 
   
"ตามมันไป จับมันให้ได้" หัวหน้าโครงการฯ สั่งการทันทีพร้อมเสียงสตาร์ตของเครื่องยนต์ ที่เร่งเครื่องสุดกำลังดังกระหึ่มขึ้น งูเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเร็วมาก โดยเฉพาะจงอางที่พริ้วน้ำได้ดี เราขับเรือคู่ขนานไปกับจงอาง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งตวัดสวิงขนาดใหญ่ ที่มีด้ามยาวเป็นพิเศษตักงูไว้ แต่ความยาวของงูก็ทำให้เกิดปัญหา ขณะกำลังจะยกสวิงเข้ามาในเรือ จงอางสะบัดตัวอย่างแรงพุ่งออกจากสวิงอีกครั้ง ตกลงน้ำเฉียดเรือไปนิดเดียว พวกเราทุกคนถอนหายใจอีกเฮือกหนึ่ง กับการผจญภัยที่ใกล้ความตายเข้าไปทุกที
   
สืบไม่ละความพยายาม เขาบอกว่า หากไม่ช่วยชีวิตงูก็ตาย เพราะไม่มีทางว่ายไปถึงฝั่งที่ห่างไกลได้ มันจะหมดแรงตายเสียก่อน คราวนี้เมื่อเรือแล่นไปทันมัน เราสามารถใช้สวิงจับมันขึ้นมาอยู่บนหัวเรือได้สำเร็จ 
   
คราวนี้ทุกคนหันหน้ามามองกันเลิกลั่ก ใครจะเสี่ยงตายเป็นคนจับงูพิษยัดใส่กระสอบ... ยังไม่ทันไร สืบใช้มือกดหัวจงอาง เจ้าจงอางใช้เขี้ยวพิษกัดสวิงอย่างแรง พร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษสีเหลืองใส ๆ ไหลเยิ้มออกมาจนหมด จากนั้นพวกเราช่วยกันพลิกสวิงงูออกจากตัวงู และจับมันใส่ถุงกระสอบ ใช้เชือกผูกมัดแน่นหนา
(คลิกดูภาพใหญ่)     หลังจากนั้นไม่นาน สืบก็บอกพวกเราว่า "ผมก็เพิ่งหัดจับงูพิษเป็นครั้งแรกในชีวิต"
สืบ นาคะเสถียร อาจจะใช้ลูกน้องในการทำงานเสี่ยงตายครั้งนี้ก็ได้ แต่เขาก็ไม่ทำเช่นนั้น ลูกน้องทุกคนรู้ดีว่า หากงานใดเป็นงานเสี่ยงอันตราย เขาจะเป็นคนแรกที่ทำงานนี้ และเป็นเช่นนี้จนถึงการทำงานครั้งสุดท้ายในป่าห้วยขาแข้ง
   
วาที เจ้าหน้าที่โครงการผู้หนึ่ง พูดถึงหัวหน้าสืบว่า
   
"เขาเป็นคนจริงจัง มีความตั้งใจโดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยของตัวเอง มีความรู้สึกว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำ โดยไม่คำนึงถึงเวลา สถานที่ ว่าจะยากลำบากแค่ไหน มีความตั้งใจสูง เห็นความเดือดร้อนของสัตว์ มากกว่าความเดือดร้อนหรือความลำบากที่ตนเองจะได้รับ งานแทบทุกงานเขาไม่เคยนั่งดูคนอื่นทำ เขามักจะเข้าไปทำเสมอ เจอสัตว์กำลังว่ายน้ำ พวกกระรอก ค่าง ชะนี เขากระโดดลงน้ำเอง สัตว์ที่อันตรายอย่างเสือ งู เขาจะทำเอง เพราะเขาพูดว่าเขาเป็นผู้นำ เขาทำไม่ได้คนอื่นก็จะไม่มั่นใจ แต่ถ้าผู้นำทำงานหนัก ทำงานที่ลำบาก ทุกคนจะตั้งใจทำงาน มีกำลังใจมากขึ้น หัวหน้าเสียสละได้ ทุกคนก็เสียสละได้... ผมภูมิใจนะที่ได้ทำงานกับเขา เป็นผู้บังคับบัญชาที่ไม่เอาเปรียบลูกน้อง ไม่เคยเอาความดีความชอบใส่ตัว ไม่มีนายมีแค่เพื่อนร่วมงาน ไม่เลือกว่าคนนั้นจะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน ไม่มีใครจริงจังและจริงใจเท่าเขาเลย"
   
หน้าที่หลักของสืบในโครงการนี้คือ การช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่า แต่หลายครั้งที่ผู้เขียนได้เห็นสืบเอาเรือออกไปลอยลำในอ่างเก็บน้ำ ฟังเสียงปืน คอยดักจับพวกล่าสัตว์ที่แฝงเข้ามาในรูปของนักจับปลา บางครั้งก็เข้าไปจับกุมพวกลักลอบตัดไม้ในบริเวณนั้น สืบพูดให้ฟังเสมอว่า เขาอยากทำงานช่วยชีวิตสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่พอมาเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายแล้วอดไม่ได้ เขาคิดเสมอว่างานคนอื่น แต่คนอื่นไม่ทำ เขาจึงต้องทำแทน บางครั้งก็ท้อใจว่าทำเพื่อส่วนรวม จับไม้อย่างเคร่งครัด แต่ถูกหาว่าไปล้ำเส้นหน่วยงานอื่น
(คลิกดูภาพใหญ่)     สองปีผ่านไป โครงการอพยพสัตว์ป่าสามารถช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าได้ ๑,๓๖๔ ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าพอใจ แต่เทียบไม่ได้กับสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่จมน้ำตาย อดอาหารตาย จากการสร้างเขื่อนครั้งนี้ และสัตว์จำนวนหนึ่งที่ช่วยมาได้ก็ตายระหว่างการรักษาพยาบาล
   
"เราเคยช่วยชะนีแม่ลูกมาไว้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้คือ ไม่สามารถให้แม่ชะนีมีนมให้ลูกกินได้ ลูกมันก็ร้อง แม่ชะนีพยายามเอาลูกออกจากนม ผมคิดว่าตัวเมียคงเครียด พี่สืบไปโรงพยาบาล ไปขอนมเลี้ยงเด็กมาชงให้ลูกชะนีกิน สุดท้ายลูกชะนีก็ตาย" ไสวเล่าให้ฟังต่อว่า
   
"พี่สืบมักจะบ่นเสมอว่า ทำอย่างไรเราจะช่วยสัตว์ได้มากกว่านี้ แต่แกไม่เคยพูดถึงปัญหาอะไรให้ฟัง ถ้ามีปัญหาอะไรสิ่งที่แกจะแสดงออกคือการเงียบ สูบบุหรี่มวนต่อมวน ไม่เคยโวยวายกับเพื่อนร่วมงานเลย"
   
สืบเขียนบันทึกการอพยพสัตว์ป่าไว้ว่า
   
"นอกจากสัตว์ป่าที่น่าสงสารเหล่านี้จะต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมแล้ว ยังต้องเผชิญกับมนุษย์ที่เห็นแก่ได้บนความทุกข์ยากของสัตว์ป่า ที่คอยจ้องไล่ล่าสัตว์ป่าเหล่านั้น โดยไม่สำนึกถึงบาปกรรม เสียงปืนที่ดังก้องกังวานอยู่ในหุบเขาของอ่างเก็บน้ำคลองแสง มันฉุดกระชากความรู้สึกของคนที่กำลังช่วยชีวิตสัตว์ป่า วันหนึ่งเราได้พบซากสมเสร็จที่ถูกชำแหละเอาเนื้อไปแล้ว คงเหลือแต่คราบเลือดสีแดงสดอยู่บนพื้นดิน ประกอบกับส่วนเครื่องในที่ถูกโยนทิ้งพร้อมกับอุ้งตีนอีกสี่ข้างที่ถูกโยนทิ้งลงน้ำ พวกเราออกค้นเรือทุกลำในคลองแสง หวังจะได้พบซากสมเสร็จตัวนั้น จนรุ่งเช้าของวันใหม่ก็ยังไม่พบ เราไม่ย่อท้อ ตามไปถึงที่สุดที่จะเล่นงานพวกใจทราม... ใต้ท้องเรือลำนั้น มือและสกปรก เราฉายไฟกราด ใช้มือล้วงลงไปควานหาหลักฐานที่น่าสงสัย แล้วเราก็พบไส้สมเสร็จ ที่ยาวกว่าหนึ่งเมตรปนคราบน้ำมันหลงเหลืออยู่ใต้ท้องเรือ..."
(คลิกดูภาพใหญ่)     ผู้ใกล้ชิดรู้ดีว่า แววตาของสืบจะปวดร้าวมาก เมื่อเห็นสัตว์ตายไปต่อหน้า หลายครั้งที่เขาพยายามเก็บพืชป่า มาให้ชะนีให้ค่างกิน แต่มันไม่ยอมกินเพราะความเครียด เขาโกรธจัดที่เห็นเนื้อสัตว์ป่าที่ชำแหละแล้ว ในเรือของพรานที่ตรวจพบ และหลั่งตาทุกครั้งที่พยายามผายปอดช่วยชีวิตเลียงผา และกวางที่ช่วยขึ้นมาจากน้ำ แต่ต้องตายไปต่อหน้า เพราะความหิวโหยและความอ่อนเพลีย
   
ประสบการณ์การทำงานครั้งนี้ได้ทำให้สืบตระหนักดีว่า การอพยพสัตว์ป่าครั้งนี้ ไม่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่าได้เลย ยังมีสัตว์จำนวนมากที่ตายไปจากการสร้างเขื่อน เขาสรุปไว้ว่า
   
"ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมด ที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้"
(คลิกดูภาพใหญ่) จากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ

    ในช่วงเวลานั้นเอง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ไร่ ต้องจมน้ำกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และกำลังได้รับการคัดค้านจากนักอนุรักษ์ฯ นักวิชาการข้าราชการกรมป่าไม้บางส่วน และชาวเมืองกาญจนบุรี ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล และเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต 
   
ในปี ๒๕๓๐ รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะอนุมัติโครงการขนาดยักษ์แห่งนี้ ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อน ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และกำลังตกเป็นรองทั้งข้อมูลและการเผยแพร่ 
   
สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์มาเป็นเวลานาน จึงได้เข้าร่วมการต่อสู้ คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างแข็งขัน โดยใช้บทเรียน จากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นกรณีศึกษา

(คลิกดูภาพใหญ่)     วีรวัธน์ ธีระประสาธน์ เพื่อนสนิทของสืบ และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรในเวลานั้น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการชักชวนให้ สืบ นาคะเสถียร ไปช่วยทำงานด้านข้อมูลในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน เขากล่าวว่า
   
"สืบก็รู้ว่าผมค้านเขื่อน ช่วงนั้นสืบเขาเป็นนักวิจัย ไม่ค่อยมีมิติทางด้านงานเคลื่อนไหว สืบก็เล่าให้ฟังว่า งานอพยพสัตว์ป่าไม่ประสบความสำเร็จ สัตว์รอดไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ทีนี้เขื่อนน้ำโจน ก็มีโครงการอพยพสัตว์ป่าเหมือนกัน เราจึงคิดว่าน่าจะเอากรณีที่เชี่ยวหลาน มาเป็นบทเรียนว่า สัตว์ตายมากเพียงใด สืบก็เห็นด้วย เราจึงจัดนิทรรศการทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อให้คนเมืองกาญจน์ได้รู้จักป่าทุ่งใหญ่ฯ ว่าคืออะไร สืบก็มาเสนอเรื่อง ถ้ามีเขื่อนแล้วการอพยพสัตว์จะมีปัญหาอะไร จำได้ว่าคนเมืองกาญจน์ ประทับใจการพูดของสืบมาก และรู้สึกจะเป็นครั้งแรกที่สืบพูดว่า เขาพูดในนามของสัตว์ป่าที่กำลังจะตาย"
   
บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจน์ ยอมรับว่าสืบเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทำให้พ่อค้าอย่างเขา กลายมาเป็นนักอนุรักษ์จนถึงทุกวันนี้
   
"คืนหนึ่งในงานนิทรรศการ คุณสืบฉายสไลด์เกี่ยวกับการอพยพสัตว์ป่า ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน แกเป็นคนบรรยาย ทำให้เรารู้สึกว่าสัตว์ป่าในภาพมีชีวิต มันร้องขอชีวิต มันครวญคราง เจ็บปวดรวดร้าว มันออกมาพร้อมกับน้ำเสียงของคุณสืบ จากเหตุการณ์นั้น ทำให้มองเห็นวิญญาณการต่อสู้ และปกป้องสัตว์ป่า จากคำพูดของคุณสืบที่เราไม่เคยพบมาจากใครมาก่อน"
      สืบเดินป่าเข้าทุ่งใหญ่เป็นเวลาห้าวันห้าคืน เพื่อเสาะหาข้อมูล และเมื่อได้สำรวจทางอากาศ เขาพบฝูงกระทิงอยู่รวมกันถึง ๕๐ ตัว เป็นกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในเมืองไทย เป็นหลักฐานแสดงความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้ ได้เป็นอย่างดี บางครั้งเขาได้มีโอกาสพานักข่าวลงพื้นที่ ที่จะมีสร้างตัวเขื่อนน้ำโจน เล่าบทเรียนจากเขื่อนเชี่ยวหลานให้นักข่าวฟังว่า ในอนาคตบริเวณนี้จะกลายสภาพเป็นทะเลสาบ เนินสูงตรงนี้จะกลายสภาพเป็นเกาะ จากการถูกน้ำท่วม สัตว์จะตายจากการสร้างเขื่อนได้อย่างไร 
   
สืบใช้ความเป็นนักวิชาการของเขา อธิบายต่อสาธารณชนให้เห็นว่า เราจะสูญเสียสัตว์ป่ามหาศาลเพียงใด หากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน สืบยืดถือหลักความจริงในทางวิชาการอย่างเคร่งครัด เขาทนไม่ได้ที่จะมีใครพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการ  แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาของเขาเอง 
(คลิกดูภาพใหญ่)     อธิบดีกรมป่าไม้ในเวลานั้น ได้ออกมาพูดสนับสนุนการสร้างเขื่อน ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง ว่าปัญหาด้านสัตว์ป่าไม่น่าเป็นห่วง สามารถแก้ไขได้ โดยยกตัวอย่างเรื่องนกยูง ที่ต้องอาศัยหาดทรายดำรงชีพว่า แม้ว่าน้ำจะท่วมหาดทราย แต่เราสามารถสร้างหาดเทียมขึ้นมาทดแทนได้ 
   
สืบ ข้าราชการกรมป่าไม้ชั้นผู้น้อย ซึ่งอยู่ที่ประชุมในเวลานั้น ได้กล่าวแย้งอย่างไม่เกรงใจว่า "ความคิดนี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย" 
   
สืบร่วมมือกับนักวิชาการคนอื่น ๆ เร่งผลิตข้อมูลผลกระทบต่อสัตว์ป่า หากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจนไม่ต่ำกว่า ๑๐ ชิ้น และยังรวมถึงปัญหาการทำไม้ ภายหลังการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญให้กับเขื่อนน้ำโจนเช่นกัน
    อาทิตย์สุดท้ายก่อนการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่ สืบทำงานอย่างหนักจนสามารถจัดทำบทรายงานเรื่อง "การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน" ได้สำเร็จ รายงานชิ้นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการพิจารณา เพราะเป็นครั้งแรก ที่มีการศึกษาผลกระทบของสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อน 
   
ในวันตัดสิน สืบเข้าชี้แจงต่อกรรมการด้วยตัวเอง หลายฝ่ายสิ้นความสงสัยว่า สัตว์จำนวนมากต้องล้มตายลง หากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน
   
"เราชนะแล้ว" สืบพูดสั้น ๆ ภายหลังออกมาจากห้องประชุมด้วยรอยยิ้ม

อ่านต่อคลิกที่นี้อ่านต่อคลิกที่นี้ 

 

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?

ไลเคน ตะไคร่ อันตรายต่อโบราณสถาน (ประเภทหิน) จริงหรือ ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | รำลึก ๑๐ ปีการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร | เคียงข้างนักปั่นขาเดียว | ช้างป่าและชาวไร่กุยบุรี การเผชิญหน้าที่ยังไม่ยุติ | ที่ปรึกษาหัวขโมย | จินตนาการในวัยชรา | จอห์นวูกับเส้นทางสู่ฮอลลีวูด (๒) ความยืดหยุ่นยุคหลังฟอร์ด | ครัวสมัยหิน

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail