ภายหลังเมื่อรัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน กลุ่มนักอนุรักษ์ได้วิเคราะห์ว่า น่าจะมีมาตรการระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในอนาคตอีก และในเวลานั้นประเทศไทย ได้เป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จึงเห็นว่าสืบน่าจะมีส่วนสำคัญ ในการเขียนรายงานทางวิชาการ เพื่อนำเสนอต่อกรรมการ ให้พิจารณาว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เหมาะสมที่จะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
สืบสัมผัสกับป่าทุ่งใหญ่มากขึ้น เขาไม่ได้สนใจข้อมูลทางด้านธรรมชาติด้านเดียว แต่เขายังสนใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร รักษาป่ากันอย่างไร ครั้งหนึ่งสืบลงไปเก็บข้อมูลด้านชุมชนที่หมู่บ้านแม่จันทะ เขาได้จดบันทึกเรื่องราวชีวิตของลุงเนียเต๊อะ ผู้เฒ่าที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือมาก และล่องแพมาถึงป่าดงวี่ ระหว่างทางที่ค้างคืนในป่า สืบมักจะเปิดเทปฟังเพลงกะเหรี่ยง ที่เขาอัดเสียงมาตอนที่อยู่ในหมู่บ้าน วีรวัธน์ผู้ร่วมเดินทางไปครั้งนั้น เคยตั้งคำถามกับสืบว่าทำไมชอบฟังเพลงกะเหรี่ยง "ฟังแล้วรู้สึกสงสารพวกเขา เพลงกะเหรี่ยงเป็นเพลงที่ฟังแล้วเศร้า เหมือนกำลังจะบอกให้พวกเราช่วยเขา... ถ้าไม่ลงมาที่นี่ ไม่ได้ศึกษาดูก็จะไม่รู้ว่าคนกะเหรี่ยงเป็นยังไง เขาอยู่กันอย่างไร"
"พี่สืบไปขอยืมเงินแม่เดือนละ ๒ หมื่นบาท แล้วไม่บอกเหตุผลว่าเอาไปทำอะไร ทางบ้านจึงเข้าใจว่าพี่สืบใช้เงินเปลือง เอาไปเลี้ยงผู้หญิงหรือเปล่า ทีหลังถึงรู้เอาไปให้ลูกจ้างรายวันในป่ายืมก่อน เพราะเงินเดือนของพวกเขาตกเบิกช้ามาก พวกนี้ไม่มีอะไรจะกิน พี่สืบก็ต้องเอาเงินจากทางบ้านออกไปก่อน" โด่ง น้องชายคนเดียวบอกให้ผู้เขียนฟังว่า สืบรักลูกน้องมาก ยอมแบกรับภาระ ที่ทางการจ่ายเงินเดือนให้ลูกน้องช้า สืบวิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อเป็นสวัสดิการ และประกันชีวิต ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างในห้วยขาแข้ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับการทำงานของคนเหล่านี้ ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายแทบทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากทางการเลย ดร. อแลน ราบิโนวิทซ์ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกกับสืบว่า "คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่มีใครตาย เพราะการตายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ พวกเขาทำงานของเขา คุณไม่ต้องไปรับผิดชอบพวกเขาถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรอก"
สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งเขาอาจจะถูกยิงตาย จากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งลูกน้องของเขาซึ่งเขาเป็นคนส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องถูกยิงตายอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ สืบไม่ใช่คนกลัวตาย แต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขาต้องตายไปต่อหน้า โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้ สืบมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สัตว์ป่า และป่าไม้ในป่าห้วยขาแข้งอยู่รอด เมื่อความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อห้วยขาแข้ง ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ จากระบบราชการ และผู้มีอำนาจในเมืองไทย ที่ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจัง เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออก และไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อลูกทีมของเขา แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้ สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการ และความมุ่งมั่นของตัวเอง บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียว ที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้
"พี่สืบเป็นคนที่มีความจริงใจ มีความซื่อสัตย์เหมือนพ่อ แกบอกว่าได้เจอสิ่งที่ชอบที่สุดแล้ว คือการได้ทำงานที่ห้วยขาแข้ง แต่ตอนหลังชักแปลก ๆ บอกว่าปัญหาเยอะมาก ทำอะไรไม่ค่อยได้ มีงบประมาณน้อย มิหนำซ้ำทางการยังไม่สนใจที่จะมาดูแล ลูกน้องแกถูกยิงบ่อยขึ้น แกจับพวกตัดไม้ส่งโรงพัก ตำรวจก็ปล่อย เพราะตำรวจนั่นแหละค้าด้วย พี่สืบเริ่มถูกตามล่า โดนหมายหัว เวลาเข้าป่าแกจะไม่บอกพรานว่านอนตรงไหน กลัวถูกลอบทำร้าย เพราะไปจับเขาไว้เยอะ พี่สืบคิดว่าแกคงจะตายก่อนงานสำเร็จ จึงเริ่มเขียนเรื่องคุณค่าของป่าห้วยขาแข้ง เสนอต่อยูเนสโกเพื่อพิจารณาให้เป็นมรดกโลก อดตาหลับขับตานอนหลายเดือนกว่าจะสำเร็จ แล้วหอบแฟ้มหลักฐานการตัดไม้ทำลายป่า กับชื่อบุคคลเข้าพบรัฐมนตรีคนหนึ่ง แกเสียใจมากที่รัฐมนตรีไม่ดูแฟ้มที่เตรียมไปอย่างดี กลับบอกพี่สืบว่า คุณทำไม่ได้ก็ให้คนอื่นทำไป "ช่วงหลังแกเครียดมาก ข้าวปลาไม่ค่อยกิน ร่างกายซูบผอม กลับมาบ้านก็ปิดประตูนั่งทำงานอย่างเดียว ใครเชิญไปพูดไปอภิปรายที่ไหนก็ไม่ไป เพราะกลัวทำงานไม่เสร็จ ก่อนจะถึงวันที่ ๑ กันยายนที่แกตั้งใจไว้ บางทีกลับมาบ้านได้สองวัน มีโทรศัพท์มาจากป่าว่าลูกน้องถูกยิง แกก็รีบออกไป แกไม่เคยเล่าปัญหาให้ฟัง แต่บางวันก็บ่นว่าทำไม่ได้ดังใจ แล้วเอามีดปักโต๊ะ ตะโกนว่า ทำอะไรมันไม่ได้ บางทีก็ชกมุ้งลวดทะลุ แล้วพูดว่า พี่ทำอะไรไม่ได้ ตอนหลังพอทำเรื่องมรดกโลกเสร็จ แกก็โอนเงินของแกซึ่งมีอยู่ไม่กี่พันบาทให้เป็นชื่อคนอื่น "ก่อนตายวันเดียวพี่สืบบอกกับผมว่า โด่ง พี่ไม่ไหวแล้ว แล้วก็เขียนจดหมายบอกผมว่า โด่งถ้ามีอะไรให้มอบของสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้คนนั้นคนนี้นะ แล้วแกก็ไปห้วยขาแข้งอยู่ที่นั่นหนึ่งคืน วันที่ ๑ กันยายน ตอนบ่ายสองโมงมีโทรศัพท์ มาบอกว่าพี่สืบเสียแล้ว ผมรู้ว่าสิ่งที่นึกสังหรณ์นั้นเป็นจริง ผมคิดว่าจะบอกพ่อแม่อย่างไรดี ยังไม่บอกแม่ในตอนแรกเพราะกลัวแม่ช็อก เลยโทรไปบอกพ่อก่อน พ่อเสียใจมาก เพราะปืนที่พี่สืบใช้ยิงตัวตายนั้น เป็นปืนที่พ่อยกให้ "ทำไมถึงเป็นวันที่ ๑ กันยายน ... พี่สืบเป็นคนชอบดูดวงนะ หมอดูเคยบอกว่าแกชะตาขาดตั้งนานแล้ว"
"ครั้งหนึ่ง เราลงไปเก็บข้อมูลทางด้านชุมชนที่แม่จันทะ สืบเขาพกเครื่องเล่นเทปเครื่องเล็ก ๆ ไปด้วย ผมไม่รู้ว่าเขาอัดเทปเพลงกะเหรี่ยงมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ตกกลางคืนเขาก็เปิดเทป บอกว่าฟังแล้วสงสารเขา รู้สึกว่าเพลงกะเหรี่ยงนั้นเศร้า เหมือนว่าเขากำลังเรียกร้อง กำลังอยากให้เราสนใจเขา ผมก็บอกว่าเพลงกะเหรี่ยงไม่ได้เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว แต่เป็นเรื่องเล่าถึงความลำบากของชุมชน ของบรรพบุรุษในการก่อร่างสร้างตัว ท่วงทำนองมันก็ดูเศร้า ๆ เขาก็บอกว่า อื้ม มันแปลกดี น่าศึกษา ผมคิดว่าถ้าสืบยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีมิติเกี่ยวกับเรื่องชุมชนเรื่องสังคมสูง เพราะสืบมีพัฒนาการมาตลอด ดูได้จากตอนที่ไปอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานนั้น เขายังสนใจงานวิชาการล้วน ๆ แต่พอมาเห็นปัญหาที่เขื่อนน้ำโจน เขาพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นนักอนุรักษ์ได้ หลังจากเขื่อนน้ำโจน สืบก็ปรับตัวเองเป็นนักอนุรักษ์ที่มีมิติทางวิชาการ เขาเปิดตัวต่อสาธารณะมากขึ้น ไม่ได้เก็บตัวเหมือนเมื่อก่อนแล้ว คนเริ่มรู้จักสืบมากขึ้น งานที่เขาทำกับผมในช่วงหลัง ๆ นี่ก็จะเป็นเรื่องอนุรักษ์ เป็นงานเคลื่อนไหว แล้วผมก็ยังเชื่อว่าเขามีมิติทางสังคมสูงด้วย "ทำไมสืบถึงยิงตัวตาย... ประการแรก ผมมองว่าเขาเป็นคนที่เครียดกับงาน ทำอะไรต้องทำให้สุด ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่เป็น ประการที่ ๒ สืบเป็นคนที่รับงานทุกอย่างไม่เคยปฏิเสธ หลายครั้งที่เขามาบ่นกับผมว่างานเยอะ ทำไม่ทัน แต่พอมีคนให้งานก็รับทุกที เช่นผู้ใหญ่จะไปประชุมต่างประเทศ ก็สั่งให้เขาเขียนเปเปอร์ให้ ผมรู้สึกว่านี่เป็นจุดอ่อน เขาเอาทุกอย่างมาสุมที่ตัว ไม่กล้าที่จะปฏิเสธ ทำให้ตัวเองต้องรับภาระ ประการที่ ๓ คือ นักเคลื่อนไหวทุกคน จะมีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่การที่สืบมาเป็นนักเคลื่อนไหวในช่วงสั้น ๆ ทำให้เขาแยกไม่ออก ระหว่างความผิดของตัวเอง กับความผิดของคนอื่น ฉะนั้นเมื่อทำงานที่ห้วยขาแข้งไม่สำเร็จ ก็โทษตัวเอง สืบเคยเข้าพบผู้ใหญ่เพื่อปรึกษา เรื่องการลักลอบทำไม้ในห้วยขาแข้ง แต่ผู้ใหญ่ไม่สนใจกลับโยนแฟ้มคืนให้เขา ยิ่งทำให้เขาคิดมาก สรุปแล้วผมเชื่อว่าเป็นเรื่องงาน ที่เขาตั้งความหวังไว้สูง กับเจอปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาการเมืองอยู่ด้วย แต่ตัวเองเอามาคิดว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ทำงานไม่สำเร็จ "ถ้าสืบยังมีชีวิตอยู่ เขาจะอึดอัดกับระบบราชการ ผมคิดว่าเขาคงจะลาออกมาทำงานวิชาการ อาจจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาจะทำอะไรได้เยอะ เพราะว่าทุกวันนี้เราขาดนักวิชาการ ที่ยืนอยู่ข้างประชาชน ข้างความถูกต้อง สืบเป็นคนที่กล้าพูดกล้าแสดงออก ผมยังนึกยกย่องอธิบดีไพโรจน์ สุวรรณกร ที่ให้เรามีอิสระมากในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเห็นได้ชัดตอนที่ข้าราชการหลายคนออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ถึงแม้โดยระบบราชการจะไม่อนุญาต ให้แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน แต่ถือว่าได้รับความกรุณา บรรยากาศแบบนั้นในตอนนี้ไม่มีแล้ว ขืนคุณออกไปแสดงความคิดเห็นอะไรสิ โดนแน่"
"สถานการณ์ของสัตว์ป่าในห้วยขาแข้งระยะเจ็ดแปดปี ภายหลังการตายของคุณสืบ เท่าที่มูลนิธิฯ ติดตามจากงานวิจัย การสำรวจ และการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เราพบว่าปริมาณของสัตว์ป่าไม่ได้ลดลง ดูจะเพิ่มปริมาณขึ้น ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ปี ๒๕๔๓ ไม่สามารถตอบได้ว่าปริมาณสัตว์ป่ามันมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร ก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ กับเขตฯ มีความสัมพันธ์ในเชิงที่เป็นแนวร่วมเป็นมิตรกัน ทางมูลนิธิฯ ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำอยู่ที่อนุสรณ์สถาน เพื่อช่วยทางเขตเวลาที่มีประชาชนเข้าไปในห้วยขาแข้ง ก็ช่วยเผยแพร่ความรู้อะไรต่าง ๆ ช่วยให้คนมีความเข้าใจ ในเรื่องคุณค่าของทั้งผืนป่า ว่ามีคุณค่าต่อชีวิตเราอย่างไร แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์เป็นแบบทางการ อาจเป็นวิธีบริหารงานของหัวหน้าเขตฯ คนปัจจุบันก็ได้ ขณะนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ถอนเจ้าหน้าที่ออกจากอนุสรณ์สถานแล้ว เราจึงไม่มีข้อมูลพอที่จะบอกได้ว่า ปริมาณสัตว์ป่าในห้วยขาแข้งในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร "คุณสืบเป็นคนจุดประกายเรื่องป่าตะวันตก เราพบเรื่องนี้ในเอกสารของคุณสืบ ที่นำเสนอให้ป่าห้วยขาแข้งเป็นเป็นมรดกโลก มีเอกสารลายมือคุณสืบ ที่เขียนเป็นภาพร่างของผืนป่าตะวันตกว่า ขอบเขตควรจะอยู่ที่ไหนอย่างไร ซึ่งก็คือขอบเขตปัจจุบันที่ทางมูลนิธิฯ กับกรมป่าไม้ กำลังพยายามรักษาผืนป่าตะวันตกไว้ให้ได้ โดยให้ประชาชนที่อยู่ใน หกจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตผืนป่าตะวันตก ได้มีส่วนร่วมเป็นองค์กรอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก มูลนิธิฯ เชื่อว่าลำพังกรมป่าไม้องค์กรเดียว คงจะรักษาป่าไว้ไม่ได้ เราเห็นว่าผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญก็คือ องค์กรประชาชนในแต่ละจังหวัด และนักวิชาการ ซึ่งน่าที่จะเข้ามามีส่วนในการรักษาผืนป่าไว้ ในขณะเดียวกันป่าข้างนอก หรือที่ดินข้างนอกก็จะต้องมีการดูแลจัดการด้วย