Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
เจ็ดวันในอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย
เรื่องและภาพ โดย กิตติกานต์ อิศระ

 

    การเดินทางกว่า ๑,๕๐๐ กิโลเมตร ในอาร์เจนตินาตอนใต้ บนเส้นทางเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก สู่ส่วนปลายสุดของเทือกเขาแอนดีส เปรียบได้เพียงแค่การเริ่มต้นทำความรู้จัก กับเศษเสี้ยวของอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย
    ณ ดินแดนที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวคือส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ทุ่งหญ้ากว้างและชายฝั่งทะเลคือสรวงสวรรค์ของสัตว์ที่ไม่พบในที่อื่นใดในโลก ส่วนธารน้ำแข็งและสายรุ้งคือสายใยที่เชื่อมโยงทะเลสาบสีน้ำเงินเข้มเข้ากับเทือกเขาสูงเสียดฟ้า

วิถีชีวิตอิสระของเกาโชในเอล กาลาฟาเต (คลิกดูภาพใหญ่) ๑.

    ไม่ใช่เพราะพรหมลิขิตที่ทำให้นักเดินทาง ๗ คน จาก ๕ ชาติ ๓ ทวีป ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันตลอด ๗ วันในภาคใต้ของอาร์เจนตินา แต่เป็นเพราะค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่วของประเทศนี้ต่างหาก 
    หลังจากแต่ละคนมาใช้เวลาอยู่ในอาร์เจนตินาได้เพียงไม่กี่วัน เงินที่เตรียมมา เพื่อใช้ในการเดินทางท่องทวีปอเมริกาใต้ เริ่มร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะต้องใช้จ่ายถึงวันละ ๘๐ เหรียญสหรัฐ ในการท่องเที่ยวในดินแดนแถบนี้ แต่เมื่อมาแล้ว สิ่งที่ทำได้คือ รวมกลุ่มกันเพื่อเฉลี่ยค่าที่พัก ค่าเช่ารถ ค่าอาหารให้ถูกลง เลือกจุดหมายที่ทุกคนพอใจ รีบเที่ยว และเดินทางออกจากประเทศนี้ให้เร็วที่สุด
    สำหรับประเทศที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ ๘ ของโลก (๒.๘ ล้าน ตร.กม. ) และเต็มไปด้วยสถานที่น่าสนใจ ทั้งทางธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ อย่างอาร์เจนตินา เรื่องยากที่สุดคงหนีไม่พ้นการต้องตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทาง เราใช้เวลาตกลงกันอยู่นานกว่าจะได้ข้อสรุปว่า เขตปาตาโกเนียของอาร์เจนตินา (Argentine Patagonia) ซึ่งมีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ อยู่กว่า ๑๐ แห่ง น่าจะเป็นบริเวณที่เหมาะสมที่สุด 

 อุทยานแห่งชาติลอส กลาซิอาเรส (คลิกดูภาพใหญ่)

    ปาตาโกเนียเป็นพื้นที่ส่วนเกือบล่างสุดของทวีปอเมริกาใต้ (ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๓๐-๕๐ S) ครอบคลุมเนื้อที่กว่า ๖ แสนตารางกิโลเมตร จากชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกด้านตะวันออก ไปจนจรดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันตก พื้นที่นี้อยู่ในปกครองของอาร์เจนตินา และชิลี โดยมีเทือกเขาแอนดีส เป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติ ที่แบ่งเขตแดนออกจากกัน
    ภูมิประเทศเขตอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย แบ่งออกเป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ โดยเขตตะวันตกที่อยู่ติดกับเทือกเขาแอนดีส เป็นภูเขาสูงปกคลุมด้วยป่าไม้ มีทะเลสาบและธารน้ำแข็งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ในขณะที่ด้านตะวันออก ซึ่งอยู่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก จะเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้างค่อนข้างแห้งแล้ง เนื่องจากเทือกเขาแอนดีสเป็นปราการกั้นไม่ให้พายุฝน จากมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านพ้นเข้ามา แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino Effect) และการเปลี่ยนแปลงเส้นทางไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก ก็ทำให้เกิดฝนตก และน้ำท่วมพื้นที่แถบนี้ในเกือบทุก ๆ เจ็ดปี
    แม้ภายใต้แผ่นดินผืนนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ ทั้งเกลือ อะลูมิเนียม ถ่านหิน น้ำมัน และตลอดแนวชายฝั่งจะมีสัตว์น้ำอยู่อย่างชุกชุม แต่กลับมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก (ความหนาแน่นของประชากรไม่ถึง ๑ คน/ตร.กม.) เกือบทั้งหมดเป็นคนผิวขาว ที่อพยพจากยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่เมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน ส่วนใหญ่จะตั้งชุมชนอยู่ที่ราบลุ่มสองฟากฝั่งแม่น้ำ แนวชายฝั่งมหาสมุทร รวมไปถึงริมฝั่งทะเลสาบบนเทือกเขา และประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ ทำสวนผลไม้ และการท่องเที่ยว


ทะเลสาบกลางป่าเขียวบนเทือกเขาแอนดีส (คลิกดูภาพใหญ่) ๒.

    เป้าหมายแรกของเราในอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนียอยู่ที่ปูแอร์โต มาดริน (Puerto Madryn) เมืองท่าริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากบูเอโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินาไปทางใต้ราว ๑,๔๐๐ กิโลเมตร
    หลังจากหลับ ๆ ตื่น ๆ มาเกือบ ๑๐ ชั่วโมง เราตื่นขึ้นพร้อมลำแสงแรกของวัน ป้ายข้างถนนที่เป็นรูพรุน จากการถูกใช้เป็นเป้าซ้อมยิงปืนของใครบางคนบอกว่า เรายังอยู่ห่างจากจุดหมายปลายทางอีกเกือบ ๖๐๐ กิโลเมตร สองข้างทางในช่วงนี้มีเพียงทุ่งหญ้าสีเหลืองทองกว้างไกลสุดสายตา ไม่มีบ้านเรือน ผู้คน สัตว์ หรือต้นไม้ใหญ่แม้สักต้น แต่รั้วไม้และลวดหนามที่ขึงแบ่งกั้นพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ ตลอดแนวถนน ก็ช่วยบอกเป็นนัยให้รู้ว่าพื้นที่เหล่านี้มีเจ้าของ 

(คลิกดูภาพใหญ่)

    เดิมพื้นที่แถบนี้เคยเป็นถิ่นฐานของชาวอินเดียน เผ่าเตอูเอลเช (Tehuelche Indians) มานานนับพันปี ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ มีลักษณะที่ต่างไปจากชาวอินเดียนของอเมริกาใต้โดยทั่วไป ทั้งชายหญิงมีรูปร่างสูงใหญ่ (โดยเฉลี่ย ๑๘๐ เซนติเมตร) ไว้ผมยาวตรง สวมใส่เสื้อผ้า และรองเท้าที่ทำมาจากหนังสัตว์ 
    พวกเขาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ และดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์อย่าง กัวนาโก (Guanaco-สัตว์ในตระกูลอูฐที่พบเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้) กระต่ายป่า เสือภูเขา และสันนิษฐานกันว่า พวกเขาอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ตัวนิ่มขนาดใหญ่ (Glyptodont) สูญพันธุ์ไป
    แม้ เฟอร์ดินันด์ มาเจลแลน (Ferdinand Magellan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส (แต่ทำงานให้กองเรือสเปน) จะเดินทางมาพบปาตาโกเนียตั้งแต่ ค.ศ.๑๕๒๐๒ และมีการตั้งชุมชนเมืองขนาดใหญ่ขึ้นที่บูเอโนสไอเรส ตั้งแต่ ค.ศ.๑๕๘๐ แต่กลับต้องใช้เวลาอีกเกือบ ๒๐๐ ปีกว่าจะมีคนต่างถิ่นกล้าอพยพเข้ามาตั้งชุมชน

ฟาร์มแกะในคาบสมุทรวาลเดส  (คลิกดูภาพใหญ่)

   ชาวสเปนกลุ่มแรกถูกโยกย้ายเข้ามาตั้งชุมชนขึ้น ที่บริเวณปากแม่น้ำเนโกร (Rio Negro) ใน ค.ศ. ๑๗๗๙ เพื่อผลิตเกลือส่งให้ผู้คนในบูเอโนสไอเรส พวกเขามีชีวิตที่ยากลำบาก เนื่องจากต้องเผชิญกับความแห้งแล้งของผืนดิน สภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงต้องต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กับชาวอินเดียนอยู่บ่อยครั้ง จนต้องเรียกร้องให้ทางการอาร์เจนตินา ยกกองกำลังเข้ามาปราบปราม 
   ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาผู้ตั้งทฤษฎีวิวัฒนาการ  ซึ่งเดินทางเข้ามาใช้เวลาห้าสัปดาห์ ศึกษาธรรมชาติในเขตปาตาโกเนียใน ค.ศ.๑๘๓๓ และพบเห็นกับการปราบปรามนี้ ได้บันทึกเอาไว้ว่า 

ฟาร์มม้าในเขตทุ่งหญ้าริมทะเลสาบอาร์เจนติโน (คลิกดูภาพใหญ่)

    "ทุกคนถูกทำให้เชื่อว่า มันเป็นการต่อสู้ที่ยุติธรรม เพราะเป็นการต่อสู้กับคนป่าเถื่อน ใครจะเชื่อว่าในดินแดนคริสเตียนที่เจริญแล้ว จะมีการใช้อำนาจเผด็จการเช่นนี้ ถึงแม้พื้นที่จะกว้างใหญ่ แต่ข้าฯ เชื่อว่าในเวลาอีกไม่ถึง ๕๐ ปี คงไม่มีชาวอินเดียนอยู่ในทุ่งหญ้าแห่งนี้"
    ในที่สุดคำทำนายของดาร์วินก็กลายเป็นความจริง เมื่อรัฐบาลกลางที่บูเอโนสไอเรส ได้ตัดสินใจใช้ยุทธการทะเลทราย (Conquista del Desierto) เพื่อกวาดล้างชาวเตอูเอลเช จนหมดสิ้นจากปาตาโกเนียในช่วง ค.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๓ ทั้งนี้เพื่อขยายพื้นที่ครอบครองก่อนที่ ชิลี หรืออังกฤษ (ซึ่งเข้ายึดครองหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ทางใต้ของอาร์เจนตินาใน ค.ศ. ๑๘๓๓) จะมายึดเอาไป และเพื่อแบ่งพื้นที่แห้งแล้งนี้ ให้แก่เหล่าคนผิวขาวที่มีอำนาจ ซึ่งต่อมาพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ เป็นฟาร์มเลี้ยงวัวและแกะ ที่กลายมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ของอาร์เจนตินาในปัจจุบัน 


เด็กๆชาวอินเดียนเผ่าอลากาลุฟ ใน เอล กาลาฟาเต (คลิกดูภาพใหญ่) ๓.
   ราวเที่ยงวัน เราก็มาถึงปูแอร์โต มาดริน
   เมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.๑๘๘๖ โดยกลุ่มผู้อพยพชาวเวลช์ (Welsh) ปัจจุบันนอกจากจะเป็นเมืองท่าแล้ว ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ของชาวอาร์เจนตินา เนื่องจากมีหาดทรายกว้างยาวไกล และอยู่ใกล้กับเขตสงวนพันธุ์สัตว์ ที่มีชื่อเสียงของทวีปอเมริกาใต้ถึงสองแห่ง
   ตัวเมืองในวันนี้ไม่หลงเหลือสภาพชุมชนเก่าแก่ของชาวเวลช์ มีเพียงอนุสาวรีย์สองสามแห่ง และชื่อถนนบางสายเท่านั้น ที่เป็นการระลึกถึงผู้ก่อตั้ง สองฟากถนนแออัดไปด้วยร้านค้า บริษัททัวร์ และบ้านพักให้เช่า ในขณะที่ถนนเลียบชายฝั่งเรียงรายด้วยโรงแรมขนาดใหญ่ ภัตตาคาร และร้านขายของที่ระลึก บนหาดทรายพลุกพล่านด้วยผู้คนนุ่งน้อยห่มน้อย ส่วนผืนอ่าวหน้าเมืองกลายเป็นที่จอดเรือสำราญขนาดใหญ่หลายสิบลำ
   ชายชราเชื้อสายเวลช์ เจ้าของบ้านเช่าที่เราพัก เล่าให้ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อทางการอาร์เจนตินา ต้องการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในปาตาโกเนียให้มากขึ้น โดยก่อตั้งโรงงานอะลูมิเนียม โรงงานปลากระป๋องขึ้นที่ชานเมือง และสร้างท่าเรือเพื่อใช้ขนส่งสินค้า ทำให้ผู้คนจากถิ่นอื่น พากันหลังไหลเข้ามาในปูแอร์โต มาดริน แต่เมื่ออุตสาหกรรมทั้งสองตกต่ำลงในทศวรรษ ๑๙๘๐ การท่องเที่ยวก็เข้ามาแทนที่ และเปลี่ยนโฉมหน้าชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบให้เป็นเมืองใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ปูแอร์โต มาดริน เมืองท่องเที่ยวที่ทันสมัย (คลิกดูภาพใหญ่)     "ที่นี่ไม่ใช่ชุมชนชาวเวลช์อีกแล้ว ตอนนี้มีทั้งพวกที่สืบเชื้อสายมาจากคนที่อพยพมาจากอิตาลี สกอตแลนด์ อังกฤษ และจากภาคกลางของอาร์เจนตินา ทุกคนหันไปพูดสเปนกันหมด จะมีก็แต่พวกคนแก่ๆ อย่างฉันนี่แหละที่ยังพูดภาษาเวลช์ได้ แต่ถ้าพวกคุณอยากดูหมู่บ้านแบบดั้งเดิมล่ะก็ คงต้องไปที่ไกมัน"
   ไกมัน (Gaiman) อยู่ห่างจากปูแอร์โต มาดรินไปทางใต้ราว ๘๐ กิโลเมตร และยังคงรักษาสภาพของหมู่บ้านที่เงียบสงบ บ้านเรือนหลายหลังก่อขึ้นจากการนำหินก้อนโตมาวางเรียงซ้อนกัน ตามแบบบ้านเรือนในแคว้นเวลส์บนเกาะอังกฤษ ชื่ออาคาร บ้านเรือน และถนน ยังคงเป็นภาษาเวลช์ ซึ่งยากที่สะกดออกเสียง ส่วนรอบหมู่บ้านมีลำคลองสายเล็ก ๆ ไหลวกเวียนไปหล่อเลี้ยงสวนผลไม้ ที่มีทั้งแอปเปิล แพร์ และส้ม
    ราวปี ค.ศ. ๑๘๖๓ ชาวเวลช์กลุ่มที่ไม่พอใจ ต่อการเข้ามามีอิทธิพลเหนือแคว้นเวลส์ของชาวอังกฤษ ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตทางการอาร์เจนตินา เพื่อเข้ามาตั้งดินแดนใหม่ที่พวกเขาจะปกครองกันเอง หลังจากได้รับอนุญาต ชาวเวลช์กลุ่มบุกเบิก ๑๕๓ คนก็ได้ออกเดินทางจากเกาะอังกฤษ มาตั้งหลักแหล่งขึ้นที่บริเวณนี้ใน ค.ศ.๑๘๖๕ และทำการขุดคลองชลประทาน นำน้ำจากแม่น้ำชูบุทเข้ามาเพื่อทำการเพาะปลูกจนได้ผล ก่อนจะชักชวนชาวเวลช์กลุ่มอื่นๆ ให้อพยพเข้ามาตั้งชุมชนขึ้น บนที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำชูบุท และบริเวณชายฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกในเวลาต่อมา 

กัวนาโก สุนัขจิ้งจอกทุ่งหญ้า(Pampa Fox) (คลิกดูภาพใหญ่) ๔.

    Reserva Faunistica Peninsula Valdes อยู่ห่างจากตัวเมืองปูแอร์โต มาดรินเพียงแค่ ๑๘ กิโลเมตร
    เขตสงวนแห่งนี้ตั้งอยู่บนคาบสมุทรเล็ก ๆ ที่ยื่นออกไปจากชายฝั่ง ขนาบด้วยอ่าวเล็กๆ สองอ่าว แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีเพียงหญ้ากับไม้พุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่สามารถเติบโตได้ รวมถึงถูกผู้คนบุกรุกเข้าไป ตั้งแต่เมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเข้าไปขุดเกลือจากบ่อเกลือขนาดใหญ่สองสามแห่ง และอีกส่วนหนึ่งเข้าไปแผ้วถางพื้นที่ เพื่อใช้เป็นฟาร์มเลี้ยงแกะขนาดใหญ่ แต่พื้นที่นี้ก็ยังคงอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด จนได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ 
    ในตอนกลางของคาบสมุทรซึ่งเป็นทุ่งหญ้าที่มีความสูงเกือบ ๒ เมตรเป็นที่อยู่อาศัยของกัวนาโก รีอะ (Rhea-นกขนาดใหญ่ ในตระกูลนกกระจอกเทศ) สุนัขจิ้งจอก และนกนานาชนิด ในขณะที่ตลอดแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งที่อยู่ และแพร่ขยายพันธุ์ของสิงโตทะเล แมวน้ำช้าง นกเพนกวิน และนกทะเลอีกนับร้อยชนิด นอกจากนี้ผืนทะเลรอบคาบสมุทรยังเป็นแหล่งที่ปลาวาฬพันธุ์เซาเทิร์นไรท์ (Southern Right Whale) เข้ามาเพื่อผสมพันธุ์กัน ในช่วงเดือนมิถุนายน-กลางธันวาคมของทุกปี 
    บริเวณปากทางเข้าสู่อุทยานมี พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่จัดแสดงความเป็นมาของเขตสงวน และบอกเล่าถึงชีวิตสัตว์ชนิดต่างๆ หน้าพิพิธภัณฑ์มีหอสูง เพื่อให้ชมทิวทัศน์โดยรอบของอุทยาน ไปจนถึงผืนอ่าวที่ขนาบอยู่ทางด้านเหนือและใต้

 (คลิกดูภาพใหญ่)     "น่าเสียดายที่พวกคุณมาช้าไป เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา มีปลาวาฬเข้ามาที่อ่าวตั้งหลายตัว... " แมกซ์ คนขับรถชาวอาร์เจนติเนียนเชื้อสายอิตาลี หันมาบอกเรา "แต่ไม่เป็นไร ที่นี่ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดให้คุณได้ดู เดี๋ยวผมจะพาไปที่กาเลตา วาลเดส (Caleta Valdes) รับรองว่าเมื่อถึงที่นั่นพวกคุณต้องตื่นเต้นกันแน่ ๆ"
    แมกซ์พาเราเลี่ยงออกจากถนนลาดยางราบเรียบเข้าสู่เส้นทางลูกรัง ที่ทอดยาวไปไกลสุดสายตา ระหว่างทางเขาหยุดรถเป็นระยะ ๆ และชี้ให้พวกเราดู นกรีอะและกัวนาโก ทั้งที่วิ่งไปมาอยู่ในทุ่งหญ้า และที่ออกหากินปะปนอยู่กับฝูงแกะในฟาร์ม ในบางช่วงของเส้นทาง มีนกเค้าแมวโผล่หน้าออกมาจากร ูในเนินดินข้างทาง และจ้องมองพวกเราอย่างสนใจ
    กาเลตา วาลเดสเป็นหน้าผาสูงราว ๘๐ เมตร ตั้งอยู่บริเวณสุดขอบด้านตะวันออกของคาบสมุทร
    บนลานหญ้าริมหน้าผามีสุนัขจิ้งจอกขนาดเล็ก วิ่งเพ่นพ่านไปมาอยู่หลายตัว มุมหนึ่งของหน้าผามีโบสถ์สีขาวหลังเล็ก ๆ ที่จำลองมาจากโบสถ์หลังแรกของชุมชนขุดเกลือเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน และยังมีกองซากฟอสซิลหอยโบราณ ตั้งวางเด่นอยู่หน้าลานจอดรถ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนมาที่นี่
(คลิกดูภาพใหญ่)      จากขอบหน้าผาเมื่อมองลงไป จะเห็นสิงโตทะเลกับแมวน้ำช้างจำนวนนับร้อยตัว ขึ้นมานอนตากแดดอยู่บนชายหาดแคบๆ แมกซ์เดินนำพวกเราลงไปตามเส้นทางเล็ก ๆ ที่เลาะเลียบหน้าผาลงไปสู่แนวของผาชั้นล่าง เพื่อดูสัตว์เหล่านี้ในระยะใกล้ 
    "ห้ามลงไปบนหาดทราย... " แมกซ์ตะโกนบอกพวกเราบางคน ที่กำลังจะปีนลงไปดูในระยะประชิด "สัตว์พวกนี้เมื่อขึ้นมาอยู่บนบก จะค่อนข้างหวงที่ และอาจรุกเข้าทำร้ายทุกสิ่ง ที่เข้าใกล้ได้อย่างรวดเร็ว ผิดกับรูปร่างที่ดูอุ้ยอ้ายของพวกมัน"
    สิงโตทะเล (Sea Lion-Otaria Flavescens) และแมวน้ำช้าง (Elephant seals-Mirounga Leonina) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในตระกูลแมวน้ำมีหู (Pinnipeds) ซึ่งแพร่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งปาตาโกเนีย และตามหมู่เกาะในเขตกึ่งแอนตาร์กติก แม้สัตว์ทั้งสองชนิดจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ก็สามารถบอกความแตกต่าง ระหว่างสัตว์สองชนิดนี้ได้ง่าย ๆ โดยแมวน้ำช้าง ได้ชื่อมาจากขนาดที่ใหญ่โต และลักษณะจมูกของตัวผู้ ซึ่งดูคล้ายกับงวงช้าง และมีขนเป็นสีดำหรือเทา ส่วนสิงโตทะเลจะมีขนาดที่เล็กกว่า และมีสีค่อนไปทางสีน้ำตาล และตัวผู้จะมีขนยาวสีน้ำตาลอ่อนรอบใบหน้า จนถึงส่วนคอจนดูคล้ายกับสิงโตที่อยู่ในป่า
    แมวน้ำช้างตัวผู้สามารถเติบโตจนมีขนาดถึง ๗ เมตร และหนักถึง ๔.๕ ตัน แต่ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่ามาก (๓ เมตร หนัก ๒ ตัน) จนหลายคนเข้าใจว่าเป็นคนละชนิดกัน ส่วนสิงโตทะเลตัวผู้เมื่อโตเต็มที่ จะมีความยาวประมาณ ๔.๕ เมตร และมีน้ำหนักราว ๓๕๐ กิโลกรัม (ตัวเมียจะยาวประมาณ ๒.๕ เมตรหนัก ๑๕๐ กิโลกรัม) ทั้งแมวน้ำช้าง และสิงโตทะเล จะใช้ชีวิตอยู่ในทะเลเป็นส่วนใหญ่ โดยสามารถดำน้ำได้ลึกหลายร้อยเมตร และนานถึงครึ่งชั่วโมง เพื่อหาหมึกและปลาเป็นอาหาร
 นกเพนกวินพันธุ์มาเจลแลนนิกกว่า ๔๐๐.๐๐๐ ตัว จะอพยพมาขึ้นฝั่งที่เขตสงวนแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นที่ผสมพันธุ์ (คลิกดูภาพใหญ่)     สิงโตทะเลมีแหล่งแพร่พันธุ์ตลอดแนวชายฝั่งทวีป ไปจนถึงบนก้อนน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา แต่แมวน้ำช้าง จะใช้คาบสมุทรวาลเดส เป็นแหล่งผสมพันธุ์เพียงแห่งเดียวในทวีปอเมริกาใต้ พวกมันจะขึ้นมาบนฝั่ง เพื่อผสมพันธุ์ในช่วงปลายฤดูหนาว (กันยายน) จนถึงกลางฤดูร้อน (มกราคม) ตัวผู้ที่ครอบครองพื้นที่ จะมีตัวเมียในครอบครองถึง ๑๐๐ ตัว และต้องต่อสู้กับตัวผู้ด้วยกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งการต่อสู้จะเป็นไปอย่างรุนแรง จนบางครั้งถึงกับทำให้อีกฝ่ายต้องพิการ 
    ลูกแมวน้ำช้างที่เกิดใหม่จะมีน้ำหนักตัวถึง ๕๐ กิโลกรัม และด้วยน้ำนมที่อุดมด้วยโปรตีนและไขมัน ทำให้พวกมันเติบโตอย่างรวดเร็ว พออายุได้ราวสามอาทิตย์ พวกมันก็จะผละจากแม่ และมุ่งหน้าออกทะเล ในช่วงต้นเดือนมกราคม
    แมกซ์พาเรากลับทางอีกเส้นทาง โดยแวะดูนกเพนกวินกลุ่มเล็ก ๆ ตามแนวขอบหน้าผา บางครั้งก็จอดรถพาเราเดินไปยืนที่ขอบหน้าผา เพื่อดูฝูงนกฟลามิงโกที่ชุมนุมอยู่ บริเวณรอยต่อผืนทรายกับทะเล ก่อนจะมาหยุดพักรถที่หมู่บ้านปูแอร์โต ปิรามิเด (Puerto Piramide) ชุมชนเพียงแห่งเดียวในเขตสงวน ซึ่งเคยเป็นท่าเรือใช้ขนส่งเกลือในอดีต ปัจจุบันเป็นที่หาเช่าเรือออกไปดูปลาวาฬ ในฤดูกาลผสมพันธุ์ 
    เราจบการเที่ยวชมคาบสมุทรวาลเดสที่จุดชมพระอาทิตย์ตก ที่หน้าผาขนาดใหญ่สูงกว่า ๒๐๐ เมตรเหนืออ่าวกอล์โฟ นูเอโว ห่างจากหมู่บ้านไปราว ๔ กิโลเมตร ซึ่งนอกจากจะได้พบกับทิวทัศน์ที่งดงามแล้ว จากริมผามองลงไปจะเห็นสิงโตทะเล และแมวน้ำช้างขึ้นมานอนผึ่งแดดกว่า ๒,๐๐๐ ตัว 

(คลิกดูภาพใหญ่) ๕.
    เราใช้เวลาตลอดวันที่ ๔ ในอาร์เจนติเนียนปาตาโกเนีย ที่เขตสงวนปุนตา ทอมโบ ซึ่งอยู่ห่างจากปูแอร์โต มาดรินลงไปทางใต้เกือบ ๒๐๐ กิโลเมตร
    ภูมิประเทศและชนิดของสัตว์ที่พบใน Reserva Provincial Punta Tombo คล้ายคลึงที่พบเห็นในคาบสมุทรวาลเดส แต่สิ่งที่ทำให้เขตสงวนแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง มาจากการเป็นแหล่งที่นกเพนกวิน มาจับคู่เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่กว่า ๔ แสนตัวในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม 
    พื้นที่ของเขตสงวนเป็นเขตต้องห้าม ไม่ให้นักท่องเที่ยวรุกล้ำเข้าไป โดยตลอดเส้นทางลูกรัง จากปากทางเข้าอุทยานไปจนถึงจุดชมนกเพนกวิน ทุกคนจะถูกบังคับให้ต้องนั่งอยู่บนรถ ส่วนในเขตที่อยู่อาศัยของนกเพนกวิน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก นักท่องเที่ยวทุกคนจะเดินไปตามช่องทางที่กำหนดไว้ และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลอย่างเข้มงวด 
    ที่บริเวณจุดชมนกเพนกวิน จะเห็นพวกมันเดินไปมากันเพ่นพ่านไปทั่ว ไม่ว่าจะบนถนน บนลานจอดรถ หรือบนทางเดินไม้ที่ยกพื้นสูงเพื่อเป็นช่องทางให้พวกมันเดินลงสู่ทะเล แต่ที่หนาแน่นที่สุด จะเป็นบริเวณรอยต่อระหว่างหาดหินกรวด กับผืนน้ำทะเล พวกมันจะไปชุมนุมกันจนเห็นเป็นแนวยาวไกลสุดตา และผลัดกันลงไปดำผุดดำว่ายเพื่อหาปลา หมึก และหอย ซึ่งเมื่อได้แล้วก็จะกลับขึ้นฝั่งเพื่อนำอาหารที่หาได้ ไปขยอกใส่ปากลูกน้อย ที่ดูจะหิวโหยอยู่ตลอดเวลา
    นกเพนกวินเหล่านี้เป็นพันธุ์มาเจลแลนนิก (Magellanic or Jackass Penguin-Spheniscus magellanicus) เป็นเพนกวินขนาดเล็กมีความสูงไม่เกิน ๗๕ เซนติเมตรและน้ำหนักราว ๖ กิโลกรัม มีพื้นที่อาศัยตั้งแต่เส้นรุ้งที่ ๔๒ S ลงไป และสามารถพบเห็นได้ตลอดแนวชายฝั่ง บนเกาะ และบนก้อนน้ำแข็งทั้งด้านมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก
 อุทยานแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากความโดดเด่นของภูมิประเทศ (คลิกดูภาพใหญ่)     พวกมันจะใช้เวลาตลอดฤดูหนาวในทะเล และขึ้นบกในราวเดือนกันยายน โดยตัวผู้จะขึ้นมาก่อน เพื่อขุดหลุมสร้างรังบนพื้นทรายหรือกรวด จากนั้นตัวเมียจะตามขึ้นมาหาคู่ของมัน โดยอาศัยการจดจำเสียงร้องของตัวผู้ (พวกมันจะอยู่ด้วยกัน จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายจากไป) แม่นกจะวางไข่ครั้งละหนึ่งฟอง และทั้งคู่จะผลัดกันกกไข่อยู่ราวสองเดือน จึงจะฟักออกมา หลังจากนั้นทั้งพ่อนกและแม่นก จะผลัดกันออกไปหาอาหารมาป้อนให้ลูกนก จนกระทั่งมันสามารถออกไปใช้ชีวิตได้เอง ซึ่งจะกินเวลาอีกเกือบสองเดือน 
    เมื่อขึ้นมาอยู่บนบกพวกมันจะค่อนข้างขี้ระแวง เมื่อตื่นกลัวจะขยับปีกสั้น ๆ ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนว่าที่ปุนตา ทอมโบ พวกมันจะไม่กลัวคนแม้แต่น้อย ในขณะที่ผู้มาชมอาจเป็นฝ่ายต้องระวังตัว เพราะมันพร้อมที่จะใช้จะงอยปากที่แหลมคมของมันจิกไปที่ทุกคนที่เข้าใกล้
    แม้จะมีจำนวนมาก แต่เพนกวินก็มีศัตรูมากเช่นกัน ในน้ำพวกมันจะตกเป็นเหยื่อของสิงโตทะเล แมวน้ำ และปลาวาฬเพชฌฆาต ในขณะที่เมื่ออยู่บนบก ไข่และลูกนกจะเป็นเหยื่อของนกทะเลขนาดใหญ่ รวมถึงผู้คน (โดยเฉพาะที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์) ซึ่งมักจะแอบมาเก็บไข่ของมันไปเป็นอาหาร
    นกเพนกวินเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนนอกอเมริกาใต้ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ในช่วงเดียวกับการออกเดินทาง แสวงหาโลกใหม่ของชาวสเปน และมีการบันทึกถึงนกชนิดนี้ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ในปูมเดินเรือของมาเจลลัน ซึ่งเชื่อกันว่าเขาพบเห็นมันเป็นครั้งแรกที่ปุนตา ทอมโบ

 (คลิกดูภาพใหญ่) ๖.
    เช้าตรู่ของวันที่ ๖ รถโดยสารแวะมาจอดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ที่ริโอ กาเญโกส (Rio Gallegos) เมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของปาตาโกเนีย ห่างจากปูแอร์โต มาดรินลงมาทางใต้ราว ๑,๒๐๐ กิโลเมตร
    เมืองที่มีกระแสลมพัดแรง จนยืนแทบไม่อยู่แห่งนี้ ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๕ เพื่อเป็นค่ายทหารในการปกป้องดินแดนทางตอนใต้ของอาร์เจนตินา และมีชื่อเสียงขึ้นมาเมื่อ บุช แคสสิดี และ ซันแดนซ์ คิด สองจอมโจรชื่อดัง ซึ่งหนีมาจากสหรัฐอเมริกาได้ มาก่อเหตุปล้นเงินจากธนาคารในเมืองนี้ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ปัจจุบันนอกจากจะมีฐานะเป็นเมืองหลวงของจังหวัดซานตา ครูซ แล้ว ยังเป็นเมืองท่าในการขนส่งถ่านหิน น้ำมัน เนื้อและหนังวัว รวมถึงขนและหนังแกะไปทั่วโลก 
    สำหรับนักเดินทางส่วนใหญ่ เมืองนี้ไม่มีสิ่งน่าสนใจ นอกจากจะเป็นจุดเปลี่ยนรถเพื่อเดินทางต่อไปยังอุชวยอา (Ushuaia) เมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ขั้วโลกใต้ที่สุดในโลกซึ่งอยู่ห่างไปแค่ ๔๐๐ กม. หรือไปยังเอล กาลาฟาเต (El Calafate) ที่อยู่ห่างไป ๓๒๐ กม. ทางตะวันตก ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งต่อไปของเรา
(คลิกดูภาพใหญ่)     ราวสองชั่วโมงจากริโอ กาเญโกส เส้นทางเริ่มเปลี่ยนมาเลียบ ไปตามขอบทะเลสาบสีน้ำเงินขนาดใหญ่ ที่มีฉากหลังเป็นยอดเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่ปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน แม้ล่วงเข้ากลางฤดูร้อน สองข้างทางที่เคยมีเพียงหญ้าสีเหลืองทอง เริ่มถูกแซมด้วยสีสันของต้นไม้ดอกไม้นานาชนิด และจะยิ่งหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเข้าใกล้จุดหมายปลายทาง
    เอล กาลาฟาเต เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมฝั่งด้านใต้ของทะเลสาบอาร์เจนติโน โอบล้อมด้านที่เหลือด้วยทุ่งหญ้า และเทือกเขาสูงใหญ่ สองฟากฝั่งของถนนสายหลักในหมู่บ้าน เรียงรายไปด้วยโรงแรม ร้านขายของที่ระลึก และบริษัททัวร์ เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ถูกใช้เป็นจุดพักแรม ในการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติลอส กลาซิอาเรส (Parque Nacional Los Glaciares) ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง ๕๐ กม.
    เราใช้เวลาบ่ายเดินดูรอบ ๆ หมู่บ้าน บนเนินเขาเล็ก ๆ ด้านตะวันตกของหมู่บ้าน เป็นย่านที่อยู่ของชาวอินเดียนเผ่าอลากาลุฟ (Alacaluf) บ้านเรือนของพวกเขามีสภาพเป็นเพียงเพิงพักที่สกปรก และทรุดโทรมส่วนใหญ่จะทำงานเป็นลูกจ้างในโรงแรม ร้านค้า รวมไปถึงเป็นคนงานในฟาร์มม้าและแกะ ของคนผิวขาวที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก 
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ถัดจากเนินเขาด้านตะวันตกไปไม่ไกล เป็นท้องทุ่งกว้างที่ทอดตัวยาว ไปจนจรดเทือกเขาสูงตระหง่าน และในท้องทุ่งนี้เองที่เราโชคดี ได้มีโอกาสพบเห็นตัวตนจริงๆ ของเกาโช (Gaucho) หรือโคบาลแห่งทวีปอเมริกาใต้ 
    กลุ่มชายผิวขาวบนหลังม้าเหล่านี้ อาจกำลังต้อนฝูงวัวออกไปหาหญ้ากิน หรือไม่ก็อาจกำลังจะนำพวกมันไปส่งยังตัวเมือง ท่าทางบังคับม้าของแต่ละคน บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญ ราวกับมันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย พวกเขาส่วนใหญ่ยังคงแต่งตัวตามแบบบรรพบุรุษยุคบุกเบิก ที่ประกอบด้วยกางเกงขาพอง ซึ่งเรียกว่า บอมบาชา (Bambacha) สวมเสื้อคลุมปอนโชแบบอินเดียน หมวกปีกกว้างสีดำ และมักจะเหน็บมีดวงเดือน(Facones)หรือแส้เอาไว้ที่เข็มขัดคาดเอว 
    เกาโช (ลูกกำพร้า) เป็นคำที่ชาวอินเดียนเผ่ามาปูเช ใช้เรียกกลุ่มชายชาวสเปนที่หนีคดีปล้น ฆ่า หรือหนีการเกณฑ์ทหาร เข้ามาใช้ชีวิตในทุ่งหญ้าที่ห่างไกลจากตัวเมืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ในระยะแรกพวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับชาวอินเดียน เพื่อเรียนรู้วิธีที่จะเอาชีวิตรอดในทุ่งหญ้า ก่อนจะแยกออกมาตั้งกลุ่มที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร พวกเขาฝึกม้าป่าเพื่อเป็นพาหนะในการออกล่าวัวป่า และถลกหนังวัวขาย แลกกับสิ่งที่ต้องการ เกาโชในยุคนั้นมีชื่อเสียงที่ไม่ดีนัก เนื่องจากเป็นคนไม่มีการศึกษา ขี้เหล้า ชอบเล่นการพนัน ต่อสู้กันด้วยมีด และลักพาตัวผู้หญิงจากในเมืองมาเป็นภรรยา
(คลิกดูภาพใหญ่)     ต่อมาเมื่อทางการอาร์เจนตินาจัดการแบ่งพื้นที่ทุ่งหญ้าในเขตแปมปา (pampa) และปาตาโกเนียให้แก่ผู้มีอำนาจ และมีการกั้นรั้วรอบขอบชิด เกาโชที่เคยใช้ชีวิตอิสรเสรีในทุ่งกว้างเริ่มถูกควบคุม มีการบังคับให้ทุกคนต้องพกทะเบียนหมายเลขประจำตัว เพื่อตรวจเช็กการเคลื่อนไหว เกาโชหลายพันคนถูกจับไปเป็นทหาร เนื่องจากไม่พกบัตรที่พวกเขาอ่านไม่ออก บางส่วนต้องเข้าเมือง เพื่อหางานทำหรือหันไปเป็นลูกจ้างในฟาร์มต่าง ๆ ซึ่งทำให้จำนวนของเกาโชลดน้อยลงตามลำดับ
    ปัจจุบันทัศนคติของชาวอาร์เจนตินาต่อเกาโช กลับเปลี่ยนไปเป็นการยกย่องว่า พวกเขาคือลูกผู้ชายที่แท้จริง หรือเป็นวีรบุรุษนักบุกเบิกแห่งอาร์เจนตินา ในลักษณะเดียวกับคาวบอยในสหรัฐอเมริกา ทำให้ชายหนุ่มอาร์เจนตินาจำนวนไม่น้อยหันมาใช้ชีวิตแบบเกาโช ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานเจ้าของฟาร์ม หรือพวกที่หลงใหลในชีวิตกลางแจ้ง แต่เกาโชรุ่นใหม่เหล่านี้ มาพร้อมกับเทคโนโลยี พวกเขาใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อราคาแพงในการต้อนวัว และใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสาร ส่วนเกาโชบนหลังม้าแบบเก่า ซึ่งเป็นลูกหลานของเกาโชรุ่นแรก และมีการศึกษาไม่มากนัก ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในเขตที่ห่างไกลความเจริญ หรือตามฟาร์มที่จัดแสดงชีวิตเกาโชให้นักท่องเที่ยวชม

ไกมัน หมู่บ้านเก่าแก่ของชาวเวลช์อพยพ (คลิกดูภาพใหญ่) ๗.

    เราออกเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติลอส กลาซิอาเรสกันตั้งแต่เช้าตรู่ สายฝนพรำตลอดคืนก่อน คงทำให้กระต่ายป่าหลายร้อยตัว ที่ออกมาหาหญ้าระบัดกินในยามเช้ามืด ตกเป็นเหยื่อของเหยี่ยว ที่มีอยู่อย่างชุกชุมในอุทยานแห่งนี้ เศษซากที่ถูกจิกแทะของพวกมัน กล่นเกลื่อนอยู่ตลอดเส้นทางลูกรัง ที่ทอดตัวผ่านท้องทุ่งเลี้ยงแกะ ไปจนถึงปากทางเข้าอุทยาน
    อุทยานลอส กลาซิอาเรสมีพื้นที่ราว ๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ และมีชื่อเสียงจากการที่กว่าร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ ถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งถึง ๑๓ สาย ซึ่งส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงทะเลสาบขนาดใหญ่ สองแห่งคือ ทะเลสาบอาร์เจนติโน และทะเลสาบวีเอดมา
    ธารน้ำแข็งเหล่านี้ มีที่มาจากหิมะที่ตกบนยอดเขาแอนดีส ต่อมาแรงกดทับจากปริมาณหิมะที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลานับพันๆปี ได้เปลี่ยนแปลงผลึกของหิมะ ให้กลายเป็นก้อนน้ำแข็ง และเลื่อนไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นธารน้ำแข็งขึ้นมา 

(คลิกดูภาพใหญ่)     สายฝนเริ่มปรอยปรายลงมาอีกครั้ง เมื่อเราผ่านเข้าสู่อุทยาน สองข้างทางที่เคยโล่งกว้าง เปลี่ยนมาเป็นป่าเขียวสดร่มครึ้ม และในบางช่วง ที่เส้นทางตัดเลาะเลียบชายฝั่งทะเลสาบ จะมองเห็นสายรุ้งขนาดใหญ่ ทอดตัวขึ้นจากผืนน้ำสีน้ำเงินเข้ม เส้นทางนี้จะไปสิ้นสุดที่ Ventisquero Perito Moreno ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นธารน้ำแข็งโมเรโน (Glaciar Moreno) ที่มีชื่อเสียงได้อย่างชัดเจน 
    ทางเดินไม้ที่ทอดตัวไปรอบป่าสน จะไปสิ้นสุดบริเวณหน้าผา ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับธารน้ำแข็ง โดยมีลำคลองสาขาของทะเลสาบอาร์เจนติโนกั้นอยู่ระหว่างกลาง ตลอดเวลาจะได้ยินเสียงดังครืน ๆ ราวฟ้าร้องมาจากธารน้ำแข็ง ก่อนจะตามด้วยเสียงดังราวเสียงระเบิด เมื่อก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่แตกตัวตกลงสู่ผืนน้ำ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ธารน้ำแข็งโมเรโนมีจุดกำเนิดอยู่บนยอดเขา ที่ห่างออกไปถึง ๒๐ กิโลเมตร บริเวณส่วนปลายมีความกว้างถึง ๕ กิโลเมตร สูงจากผิวน้ำ ๖๐ เมตร และด้วยพื้นผิวหน้าที่มีขนาดถึง ๑,๖๐๐ ตร.กม. ทำให้มันถูกจัดเป็นธารน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในซีกโลกใต้ 
    นอกจากนี้ มันยังเป็นธารน้ำแข็งไม่กี่แห่งในโลก ที่ยังขยายตัวออกมาเรื่อย ๆ โดยทุก ๆ สี่ปี มันจะขยายตัวออกมาปิดกั้นทางไหลออกของน้ำในทะลสาบ จนทำให้เกิดน้ำท่วมหมู่บ้านเอล กาลาฟาเต ที่อยู่ห่างไปถึง ๘๐ กิโลเมตร และต้องใช้เวลาเกือบเดือน กว่าที่น้ำในทะเลสาบจะละลายน้ำแข็ง จนสามารถไหลออกไปได้ แต่หลังจาก ค.ศ.๑๙๘๘ เป็นต้นมา มันก็ไม่เคยขยายขนาดออกมา จนปิดกั้นทางน้ำได้อีกเลย ซึ่งสันนิษฐานกันว่า อาจเป็นผลจากภาวะเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
    รถโดยสารเที่ยวแรกสู่ริโอ ตูร์บิโอ (Rio Turbio) เมืองชายแดนด้านใต้สุดของอาร์เจนตินา กำลังจะออกเดินทางในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า และคงอีกไม่กี่ชั่วโมง เราก็จะก้าวข้ามเข้าสู่เขตแดนของชิลี 
    ช่วงเวลาเพียงแค่เจ็ดวัน เรารู้ว่าสิ่งที่ได้เห็น เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ของอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย แต่กระเป๋าเงินที่บางลงๆ ทุกทีทำให้พวกเรารู้ตัวว่า คงท่องทั่วทวีปอเมริกาใต้ตามความตั้งใจเดิมไม่ได้แน่ หากจะฝืนอยู่ที่นี่ต่อไป 
    คงต้องรอให้ถึงวันที่เรามีความพร้อมทางการเงินมากกว่านี้…. แล้วเราจะกลับมาใหม่

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ท้าทายความเชื่อเรื่อง "เจดีย์ยุทธหัตถี"
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สงครามส้วม | โรงเรียนกาแฟ | ทอมัส ฮอบส์ ผู้ค้นคิดทฤษฎีสัญญาประชาคม | ลิตเทิลอินเดีย กำยาน มาซาลา และภารตวิถีในตรอกพาหุรัด | เจ็ดวันในอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย | โอลิมปิกสีเขียว แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมจาก Sydney 2000 | คำพูดและความเงียบใน ฟ้าบ่กั้น | เมื่อคนสองคนรักกัน ที่อินโดนีเซีย | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา

Little India | Seven Days in Argentine Patagonia | Nature's Secret Treasures
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail