Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ
โ อ ลิ ม ปิ ก สี เ ขี ย ว
แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมจาก Sydney 2000
เพชร มโนปวิตร : รายงาน / กรีนพีซ : ภาพ

 

    ถ้าเป็นสมัยก่อน การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม คงจะเป็นคนละเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทว่าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ๒๐๐๐ ที่ซิดนีย์ "โอลิมปิกสีเขียว" หรือการจัดการแข่งขันกีฬาที่ใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้จัดให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
(คลิกดูภาพใหญ่)

    มหกรรมกีฬานานาชาติเช่นกีฬาโอลิมปิก สามารถสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต่อเมืองเจ้าภาพได้มากมาย ทั้งจากการก่อสร้างสนามแข่งขันขนาดใหญ่ หมู่บ้านนักกีฬาขนาดยักษ์ ยังไม่นับกองทัพนักท่องเที่ยวจำนวนนับล้าน ที่เดินทางมาจากทุกมุมโลก ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องโอลิมปิกสีเขียว จึงได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง เป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก Sydney 2000 นอกจากเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ต่อเมืองเจ้าภาพแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อรณรงค์จิตสำนึก ทางด้านการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในระดับโลกอีกด้วย ซิดนีย์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมืองแรก ที่วางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับแผนงานด้านอื่น ๆ ตั้งแต่ต้น แผนงานนี้ได้ประยุกต์ หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ามาใช้ โดยประกอบด้วยแผนงานย่อยนับร้อยแผน ภายใต้ห้าหัวข้อหลัก คือ การอนุรักษ์พลังงาน การอนุรักษ์น้ำ การจัดการของเสีย การควบคุมมลภาวะ และการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม นาย Joan Antonio Samaranch ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เคยให้สัมภาษณ์ว่า การให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองซิดนีย์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ซิดนีย์ประสบความสำเร็จ เหนือคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 

(คลิกดูภาพใหญ่)     บทพิสูจน์ความเขียวบทแรกของเจ้าภาพซิดนีย์ คือ การฟื้นฟูสภาพธรรมชาติของอ่าว Homebush ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการก่อสร้างอาคารแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ในแง่นิเวศวิทยา อ่าว Homebush ถือเป็นแหล่งธรรมชาติ ที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของซิดนีย์ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และกลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะของเมือง มานานหลายสิบปี ภารกิจแรกของทีมงานก่อสร้าง คือ การหมุนเวียนเอาขยะกว่า ๙ ล้านตันมาใช้ถมที่ และออกแบบภูมิประเทศ บริเวณสนามแข่งขันตามความเหมาะสม ส่วนขยะเคมีบางส่วน ก็นำไปบำบัดในพื้นที่เฉพาะ นอกจากนี้ผู้จัดยัง
    ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูธรรมชาติมูลค่ากว่า ๑๔๐ ล้านเหรียญ ซึ่งรวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย และการปลูกไม้พื้นถิ่นเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศดั้งเดิม 
(คลิกดูภาพใหญ่)     การดำเนินการก่อสร้างอาคารแต่ละแห่ง ดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากบริเวณโดยรอบส่วนใหญ่ ยังคงสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะกบ golden and green bell ซึ่งเป็นกบหายาก และใกล้สูญพันธุ์ของออสเตรเลีย เมื่อคณะผู้ก่อสร้าง สำรวจพบกบชนิดนี้ในบริเวณที่วางแผนไว้ ว่าจะก่อสร้างสนามเทนนิส และลานจอดรถ แผนงานทั้งหมดก็ถูกยกเลิก พร้อมกับการจัดทำสระน้ำและอุโมงค์ลอดขึ้น เพื่อให้กบไปหากินยังแหล่งน้ำใกล้เคียงได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกรถทับ
การหมุนเวียนสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ เป็นแนวคิดหลักสำคัญอีกประการ ของผู้ก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ มีการนำเอาคอนกรีต ที่ได้จากการทุบทิ้งโรงงานฆ่าสัตว์ Homebush มาใช้ถึง ๒๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือดินมากกว่า ๔๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรที่ได้จากการขุดเพื่อวางรากฐานอาคาร ก็นำมาใช้จัดแต่งภูมิประเทศภายในบริเวณงาน สำหรับวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้างอาคารหนึ่ง จะนำไปหมุนเวียนใช้ในอาคารอื่นต่อไป ในการนี้ได้มีการจัดตั้งโรงงานแปรรูป วัสดุเหลือใช้ขึ้นในพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้สามารถลดวัสดุเหลือใช้ลงได้มากกว่าร้อยละ ๙๐ อุปกรณ์และเครื่องใช้บางอย่างที่ต้องมีไว้รองรับคนจำนวนมาก เช่น ห้องน้ำเคลื่อนที่ เต็นท์กลางแจ้ง รั้วเหล็ก หรือเก้าอี้สำรอง ใช้วิธีหยิบยืมจากหน่วยงานต่าง ๆ แทนการซื้อใหม่ทั้งหมด นอกจากก่อสร้างอย่างประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ แบบสุดขีดแล้ว ผู้บริหารยังได้ปรับปรุงสนามกีฬาบางแห่ง ที่ยังใช้การได้ แทนที่จะก่อสร้างสนามขึ้นใหม่ ประมาณหนึ่งในสามของอาคารแข่งขันทั้งหมด จึงเป็นสนามกีฬาเก่าที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม แม้แต่สำนักงานใหญ่ ของคณะกรรมการจัดงานกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ก็ดัดแปลงมาจากโรงพิมพ์เก่า หรือหมู่บ้านผู้สื่อข่าวนั้น ก็ดัดแปลงมาจากโรงพยาบาลที่เลิกกิจการแล้ว 
(คลิกดูภาพใหญ่)     "ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ของโอลิมปิกหนนี้ คือ การประหยัดน้ำ และต้นแบบของระบบการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่" Peter Ottesen ผู้จัดการแผนงานสิ่งแวดล้อมของ Sydney 2000 กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ระบบดังกล่าวซึ่งใช้เงินลงทุนไปมากกว่า ๑๕ ล้านเหรียญ คาดว่าจะลดความต้องการการใช้น้ำ ภายในหมู่บ้านนักกีฬา และเขตเมือง Newington ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงได้ราวครึ่งหนึ่ง 
    Peter อธิบายหลักการทำงานง่าย ๆ ว่า "ระบบนี้ทำงานโดยการหมุนเวียนน้ำ จากแหล่งน้ำสองแหล่ง คือ น้ำที่ผ่านการบำบัด และน้ำฝน เมื่อใดก็ตามที่ฝนตก น้ำฝนที่ตกลงบนหลังคาอาคาร จะถูกลำเลียงมารวมกันที่แท็งก์น้ำใต้ดิน ส่วนบริเวณนอกตัวอาคารน้ำจะไหลตามธรรมชาติ ไปรวมกันที่บ่อพักน้ำ หลังจากผ่านการกรองสองครั้ง น้ำจะถูกลำเลียงไปใช้ในบ้านเรือนได้" ภายในบริเวณงาน และเขตเมืองใกล้เคียง จึงได้รับการติดตั้งก๊อกน้ำสองแบบ ก๊อกสีเขียวคือน้ำประปาที่สามารถใช้บริโภคได้ ส่วนก๊อกสีม่วงเป็นน้ำฝนรีไซเคิล ที่เหมาะแก่การอุปโภค สำหรับน้ำที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียนั้น มีระบบแยกต่างหาก เพื่อหมุนเวียนนำไปใช้ในระบบชักโครก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสุขภัณฑ์ประเภทประหยัดน้ำเช่นกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัด รวมทั้งน้ำฝนธรรมชาติ มาหมุนเวียนใช้ในชุมชนขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม ทางทีมงานได้ตั้งความหวังว่า โครงการพัฒนาบ้านเรือนยุคใหม่จะนำเอาต้นแบบนี้ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะลดความต้องการการใช้น้ำได้อย่างมาก 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ระบบการประหยัดพลังงานของหมู่บ้านนักกีฬา และโครงการพัฒนาที่พัก เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่รอบข้าง เป็นอีกความสำเร็จหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง "พลังงานทั้งหมดที่ใช้ในบ้านพักจำนวน ๖๕๕ หลังในหมู่บ้านนักกีฬา และชุมชนละแวกใกล้เคียง ได้มาจากแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในหมู่บ้าน ที่นี่เป็นเขตชุมชนที่ใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก" Maria Atkinson ผู้จัดการด้านสิ่งแวดล้อม ของหมู่บ้านนักกีฬาเปิดเผยสถิติที่น่าชื่นชม "เราได้เลือกสรรเฉพาะอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงานมาใช้ในบ้านพักทุกหลัง รวมไปถึงสนามกีฬาทุกแห่ง เพื่อให้แน่ใจว่าระบบทั้งหมด ดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ตัวบ้านและอาคารแข่งขัน ยังได้รับการออกแบบ โดยเฉพาะเพื่อลดความต้องการ ในการใช้ระบบทำความเย็น สำหรับตัวบ้านพักเราใช้กระเบื้องดูดซับความร้อน ซึ่งจะปล่อยความอุ่นออกมาตอนกลางคืน เป็นวัสดุหลักในการปูพื้นบ้าน วัสดุตัวนี้ช่วยลดความต้องการใช้ระบบทำความร้อนในช่วงฤดูหนาว" Maria กล่าวเสริม 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ไม่เฉพาะแต่บ้านพักนักกีฬาเท่านั้น แม้แต่โรงแรมห้าดาวอย่าง Homebush Hotel ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสำหรับงานโอลิมปิกโดยเฉพาะ ก็ได้รับการออกแบบให้มีการหมุนเวียนอากาศ อย่างเหมาะสม "เราทำการศึกษาดูแล้วว่าในปีหนึ่ง ๆ มีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ วัน ที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศในโรงแรมเลย ทางโรงแรมจึงติดตั้งหน้าต่างที่เปิดปิดได้ เพื่อให้ผู้มาพักเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้เครื่องปรับอากาศได้เอง"
(คลิกดูภาพใหญ่)     Maria ยังกล่าวถึงระบบกำจัดของเสียภายในบริเวณงานว่า "โอลิมปิกครั้งนี้เราไม่ได้หวังเพียงแค่เรื่องของความสะอาดเท่านั้น  แต่เราพยายามลดจำนวนขยะให้น้อยที่สุด" ทั้งนี้คณะจัดงานได้ทำความตกลงร่วมกับร้านค้าทุกแห่ง ซึ่งจะนำสินค้ามาจำหน่ายในบริเวณงาน ให้ใช้ภาชนะบรรจุสินค้าหรืออาหารให้น้อยชิ้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หีบห่อที่ใช้ก็ต้องเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ได้อีก "เราได้จัดตั้งถังแยกขยะประเภทต่าง ๆ อย่างชัดเจนสำหรับวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ส่วนขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือเศษอาหาร เราได้จัดถังขยะแยกเก็บโดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมเข้าสู่โรงงานย่อยสลายโดยวิธีชีวภาพ ผลิตเป็นปุ๋ยนำมาใช้ในการจัดสวนภายในบริเวณงานได้อีก" 
(คลิกดูภาพใหญ่)     เมื่อเอ่ยถึงระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดประการหนึ่ง ของเมืองที่เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก Michael Brand หนึ่งในทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของ Sydney 2000 กล่าวถึงนโยบายเรื่องนี้ว่า "คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ ๕ แสนคนเดินทางจากที่พักเข้าสู่สนามแข่งขันทุกวัน เพื่อลดการสร้างมลพิษให้แก่อากาศ เราจึงไม่อนุญาตให้ผู้เข้าชมการแข่งขันนำรถส่วนตัวเข้ามาในบริเวณงาน นักท่องเที่ยวจะเดินทางมายังสนามแข่งขันโดย
    รถไฟสายพิเศษที่จัดเตรียมไว้ให้ นอกจากนี้ยังมีรถบัสที่ใช้พลังงานสะอาด บริการนักท่องเที่ยวตลอดทั้งวัน"
    แม้ผู้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจะพยายามทำให้โอลิมปิกครั้งนี้ "เขียว" มากที่สุด แต่ยังมีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่ายว่าโอลิมปิกครั้งนี้ "เขียวไม่จริง" 
(คลิกดูภาพใหญ่)     Bob Symington ผู้ประสานงานโครงการ "จับตาโอลิมปิกสีเขียว" ซึ่งเป็นหน่วยงานสิ่งแวดล้อมอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อติดตามผลงานทางด้านสิ่งแวดล้อมของ Sydney 2000 กล่าวว่า "มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นจากการที่ผู้บริหารงานด้านสิ่งแวดล้อม ไม่มีเป้าหมายในการดำเนินงานอย่างชัดเจน คุณพูดไม่ได้หรอกว่าจะทำให้ดีที่สุด เพราะมันวัดไม่ได้ เราพูดกันถึงเรื่องสีเขียว เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ การพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการระยะยาว คุณต้องตั้งเป้าให้ชัด ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีวันไปถึง" 
    Rubert Posner หนึ่งในทีมงานกรีนพีซให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ผู้จัดมีปัญหาในการทำข้อตกลงกับผู้สนับสนุนรายใหญ่ อย่างเช่นโคคาโคล่า หรือแม็คโดนัลด์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องระบบทำความเย็น ในแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมตอนเริ่มต้นเขียนไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เจ็ดปีที่แล้วว่า 
    ระบบทำความเย็นทั้งหมด จะต้องเป็นระบบที่หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซ ที่ทำลายชั้นโอโซน เช่น ก๊าซ HFCs CFCs และ HCFCs แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ ผู้ประกอบการเหล่านั้นกลับแก้ตัวง่าย ๆ ว่าเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ยังไม่พร้อม สิ่งเหล่านี้น่าละอายมาก อย่างตู้เย็นจำหน่ายน้ำอัดลมของบริษัทโคคาโคล่าจำนวนทั้งหมด ๑,๘๐๐ เครื่อง มีเพียง ๑๐๐ เครื่องเท่านั้นที่หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซที่ทำลายชั้นโอโซน" 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ก่อนกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มต้นประมาณห้าเดือน กรีนพีซออสเตรเลียได้จัดทำรายงานชื่อ "โอลิมปิกสีเขียวกับผู้สนับสนุนที่สกปรก" หลังจากรายงานดังกล่าวปรากฏแก่สาธารณะ บริษัทโคคาโคล่าได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ถึงเวลาแล้วที่บริษัทจะต้องเปลี่ยนนโยบาย เรื่องอุปกรณ์ทำความเย็นทั่วโลกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
    Peter Ottensen กล่าวสรุปถึงเป้าหมายหลักของ Green Games ครั้งนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า "หากคิดว่า Sydney 2000 เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง เราในฐานะผู้ผลิตพยายามคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การออกแบบ เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ นำเอาพลังงานสะอาด มาใช้ในการแปรรูป ใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น เราก็หวังที่จะเห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 
    "และในท้ายที่สุดเราก็ได้แต่หวังว่า โอลิมปิกสีเขียวจะส่งผ่านแนวคิด เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปยังผู้คนทั่วโลก เราอยู่ในยุคที่การพัฒนา จะละเลยเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ได้อีกแล้ว"

(คลิกดูภาพใหญ่) ตัวอย่างมาตรการการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของ Sydney 2000
จัดการรณรงค์ปลูกต้นไม้พื้นถิ่นทั่วประเทศออสเตรเลีย จำนวนกว่า ๒ ล้านต้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองกีฬาโอลิมปิก
หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก PVC ในการก่อสร้างสนามกีฬาทุกแห่ง เพื่อลดสารพิษตกค้างในระยะยาว
หมู่บ้านนักกีฬาของโอลิมปิกหนนี้ เป็นชุมชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 
คบไฟที่ใช้วิ่งส่งต่อกันทั่วประเทศตามธรรมเนียมนั้น ตัวด้ามใช้วัสดุแปรรูปที่นำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนระบบเชื้อเพลิง ได้รับการออกแบบให้เผาไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน
* สนามกีฬาหลายแห่งรวมทั้งสำนักงานใหญ่ ของคณะกรรมการจัดงาน ซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ จากบริษัทพลังงานทางเลือกที่ผลิตจากแสงอาทิตย์และพลังลม
ผู้จัดกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าภายในงาน ใช้ภาชนะบรรจุที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่เท่านั้น พลาสติกใสห่ออาหาร หรือโฟมที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ จึงถูกห้ามใช้ทั้งหมด 
ภายในบริเวณงานมีการเลี้ยงฟาร์มหนอน hermaphrodites หรือหนอนแดง จำนวนกว่า ๔ แสนตัว เพื่อทำหน้าที่ย่อยสลายเศษอาหารและขยะสด กองทัพหนอนเหล่านี้ ช่วยกำจัดเศษอาหารประมาณ ๗๕ กิโลกรัมได้ในวันเดียว
โรงแรม Novotel และ Ibis Homebush Bay ซึ่งเป็นโรงแรมหลักในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาชมงาน มีระบบทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย
หลังคาของอาคารแข่งขันบาสเกตบอล Sydney SuperDome ติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ท้าทายความเชื่อเรื่อง "เจดีย์ยุทธหัตถี"
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สงครามส้วม | โรงเรียนกาแฟ | ทอมัส ฮอบส์ ผู้ค้นคิดทฤษฎีสัญญาประชาคม | ลิตเทิลอินเดีย กำยาน มาซาลา และภารตวิถีในตรอกพาหุรัด | เจ็ดวันในอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย | โอลิมปิกสีเขียว แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมจาก Sydney 2000 | คำพูดและความเงียบใน ฟ้าบ่กั้น | เมื่อคนสองคนรักกัน ที่อินโดนีเซีย | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา

Little India | Seven Days in Argentine Patagonia | Nature's Secret Treasures
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail