|
|
ผู้ค้นคิดทฤษฎีสัญญาประชาคม |
นพพร ประชากุล
|
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกเชื่อว่า อำนาจของผู้ปกครองเป็นโองการจากสวรรค์ชั้นฟ้า ทอมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาชาวอังกฤษ กล้ายืนยันในทางตรงข้ามว่า อำนาจนั้นมาจากการตกลงมอบให้โดยประชาชนผู้ถูกปกครอง
|
|
|
แม้ว่าสิทธิธรรมของประชาชน
ในการขัดขืนอำนาจรัฐ
จะมิได้อยู่ในความคิดของฮอบส์ (เชื่อกันว่าเจตนาของเขาคือ
มุ่งใช้แนวคิดวัตถุนิยม
สนับสนุนอาญาสิทธิ์ของกษัตริย์) แต่ฮอบส์ก็เป็นคนแรกที่สาธิตอย่างเป็นระบบว่า รัฐเป็นเพียงองค์กรเทียม (artificial organization)
ที่มนุษย์รวมตัวกันสถาปนาขึ้น
เพื่อให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในหมู่ตน
เป้าหมายของการปกครอง
จึงเป็นอื่นไปมิได้
นอกจากเพื่อจรรโลงสวัสดิภาพของปวงชน
นี่คือจุดเริ่มต้นของกระแสความคิดทางการเมืองสมัยใหม่
ที่สืบทอดไปสู่นักคิดหัวก้าวหน้ารุ่นหลัง นับจากจอห์น ล็อก และฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ ผู้ "เหยียบบ่า" ของฮอบส์ขึ้นไปสู่ความคิดที่ว่า ถึงที่สุดแล้ว
ประชาชนย่อมมีสิทธิจะรวมตัวกัน
ถอดถอนผู้ปกครองได้ ไปจนถึงคาร์ล มาร์กซ์
ผู้จัดวางขั้นตอนที่มุ่งสู่การสลายตัวของรัฐ
เพื่อปลดปล่อยมนุษย์อย่างแท้จริง
ฮอบส์มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับกาลิเลโอ นิวตัน และเดการ์ตส์
ขณะที่ปราชญ์สามคนหลังนี้
เพียรพยายามเข้าถึงความลับของจักรวาล
ฮอบส์หันมาทุ่มเทสติปัญญาทั้งหมดของเขา
แก่การไขปริศนาว่าด้วยมนุษย์
และสังคมด้วยสปิริตแบบวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน
|
|
|
ชีวิตนี้มีเพื่อคิด
ฮอบส์เคยเล่าถึงเกร็ดชีวิตของเขาไว้ว่า เขาถือกำเนิดพร้อมกับฝาแฝดคนหนึ่งชื่อ "Fear" (ความกลัว) กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๕๘๘ มารดาได้คลอดเขาออกมาก่อนกำหนด
เนื่องจากตระหนกกับข่าวกองทัพเรืออาร์มาดาของสเปน
กำลังจะบุกมาโจมตีเกาะบริเตนใหญ่ นี่เป็นอารมณ์ขันแบบอังกฤษ เพราะอันที่จริงแล้ว
เกร็ดอันฟังดูเหมือนไร้สาระนี้
พาดพิงไปถึงค็อนเส็ปต์เรื่อง "ความกลัว" (ในที่นี้คือ ความรักตัวกลัวตาย) ของมนุษย์
ซึ่งฮอบส์ใช้เป็นคำอธิบายกำเนิดของสังคม
ในผลงานปรัชญาการเมืองของเขา
อีกทั้งยังแฝงนัยถึงอุปนิสัยของตนเอง
อันมีความประหม่าเป็นลักษณะเด่นอีกด้วย
ฮอบส์เป็นผู้คงแก่เรียน
เขาแตกฉานในภาษากรีก
และละตินตั้งแต่ยังเด็ก
และได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดก่อนถึงเกณฑ์อายุ โดยศึกษาในคณะโมดลินฮอลล์ (Magdalen Hall) ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในคณะฮาร์ฟอร์ด (Hertford College) ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ในบรรดาสรรพวิชาที่เขาศึกษา วิชาหลักคือ วรรณคดีกรีกและโรมัน เมื่อจบการศึกษาในปี ๑๖๐๘ ฮอบส์ได้เข้าทำงานกับตระกูลแคเวนดิช (Cavendish) ซึ่งมีบารมีและอิทธิพลสูงในสังคมอังกฤษ
โดยทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือ
แก่กุลบุตรในตระกูลนี้รุ่นแล้วรุ่นเล่า
ไปตลอดชีวิตอันยาวนานถึง ๙๑ ปี
|
|
|
ช่วงที่ฮอบส์ศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น
ตรงกับระยะที่ราชวงศ์สจ็วต (Stuart)
ซึ่งมีพื้นเพจากสก็อตแลนด์
เริ่มเข้ามาปกครองอังกฤษ
เหตุการณ์นี้
ส่งผลกระทบต่อการเมืองของประเทศอย่างมหาศาล
เนื่องจากกษัตริย์ในราชวงศ์ดังกล่าว
ทรงมุ่งมั่น ที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นในอังกฤษ
โดยอ้างอิงถึงความเชื่อเรื่องเทวสิทธิ์ (Divine Right) ของกษัตริย์ซึ่งแพร่หลายอยู่ในยุโรปภาคพื้นทวีป อันมีหลักการว่า กษัตริย์รับสนองโองการจากพระผู้เป็นเจ้า จึงทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในทุกเรื่องเพียงผู้เดียว
แนวคิดนี้
ขัดกับประเพณีการปกครองของอังกฤษที่มีมาช้านาน
ซึ่งยึดหลักปฏิบัติว่า
กษัตริย์ต้องบริหารราชการแผ่นดิน
ร่วมกับรัฐสภา (Parliament)
อันประกอบด้วย
กลุ่มตัวแทนของขุนนาง
และของสามัญชนอย่างใกล้ชิด
|
|
|
ความพยายามของกษัตริย์ในราชวงศ์สจ็วต
ที่จะบรรลุเป้าหมายของพระองค์
ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงอยู่เนือง ๆ
ระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์
กับฝ่ายนิยมรัฐสภา
จนปะทุเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่
ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (The English Civil War, ค.ศ. ๑๖๔๒-๑๖๔๙) สงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์สจ็วต
แล้วต่อมาได้สถาปนา
การปกครองในลักษณะสาธารณรัฐกึ่งเผด็จการขึ้น
เป็นระยะเวลา ๑๐ ปี โดยมีโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) เป็นประมุข หลังจากนั้นได้มีการรื้อฟื้นราชวงศ์สจ็วตขึ้นมาใหม่
ซึ่งปกครองประเทศ
จวบจนเข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษ
รัฐสภาจึงก่อการปฏิวัติ
ด้วยการลักลอบไปอัญเชิญกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์
มาแย่งชิงราชบัลลังก์จากราชวงศ์สจ็วต
โดยเสนอเงื่อนไขแลกเปลี่ยนว่า
กษัตริย์จะต้องยอมรับธรรมนูญปกครอง
ที่ลดพระราชอำนาจลงอย่างมาก
รวมทั้งเพิ่มอำนาจแก่รัฐสภา
และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น
ตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้
ฮอบส์ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์
อยู่ในตระกูลแคเวนดิชในชนบทอันห่างไกล แต่เขาเฝ้าติดตามข่าวเหตุวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด ประวัติศาสตร์การเมืองอันวุ่นวายของอังกฤษในศตวรรษที่ ๑๗
นี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ฮอบส์คิดใคร่ครวญ
เกี่ยวกับธรรมชาติของการเมืองการปกครอง
และสาวลึกต่อไปถึง
ธรรมชาติของมนุษย์
เขาแสดงทัศนะทางวิชาการออกมา
ในช่วงที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ดังนั้น แม้จะมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหลายโดยตรง
เขาย่อมตกเป็นเป้าของการมุ่งร้ายหมายขวัญ
จากหลายฝ่ายอยู่นั่นเอง
ทว่าบารมีของตระกูลแคเวนดิชอันยิ่งใหญ่
ก็ช่วยคุ้มกันภัยให้ฮอบส์ได้ดีพอสมควร
|
|
|
ฮอบส์ดำเนินชีวิตอันราบเรียบ
ตามแบบฉบับผู้อุทิศตนให้กับวิชาความรู้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงชีวิตการทำงาน
เขาได้เดินทางไปพำนักในยุโรปภาคพื้นทวีปหลายครั้งด้วยกัน
และมักจะเป็นครั้งละนาน ๆ โดย ๓ ครั้งแรก (ค.ศ. ๑๖๑๐-๑๕, ๑๖๒๙-๓๐ และ ๑๖๓๔-๓๖)
เป็นการพาลูกศิษย์ไปท่องเที่ยว
และทัศนศึกษา
และตัวเขาเอง
ก็ถือโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
กับนักปราชญ์สำคัญ ๆ ของยุโรปมากหน้าหลายตา (ในการเยือนยุโรปครั้งที่ ๓
ฮอบส์ได้เดินทางไปเยี่ยมกาลิเลโอ
ซึ่งถูกจองจำอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์
ตามประกาศิตของศาลศาสนาด้วย)
การได้สัมผัสบรรยากาศทางภูมิปัญญาในภาคพื้นทวีป
กระตุ้นให้เขาสนใจคณิตศาสตร์
และวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก
อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญ
ให้เขาพัฒนาแนวคิดวัตถุนิยมทางการเมืองขึ้นมา ในช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๖๔๐-๕๑
ฮอบส์ได้หลีกหนีความขัดแย้งในอังกฤษ
ไปพำนักอย่างยาวนานในกรุงปารีส ณ ที่นั้น
เขาได้สร้างสายสัมพันธ์กับนักคิด
ในสกุลเหตุผลนิยม (rationalism) ของฝรั่งเศส
และยังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญคนหนึ่ง
ของ เดการ์ตส์ (Descartes)
เจ้าตำรับแนวคิดในสกุลดังกล่าวอีกด้วย
|
|
|
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗
ของยุโรป
ได้ชื่อว่าเป็นยุคแห่งการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (The Age of Scientific Revolution)
อันสืบเนื่องจาก
การตื่นตัวขนานใหญ่ของภูมิปัญญาทางโลก
ซึ่งหลับใหลมายาวนาน
ด้วยเสียงกล่อมของบทสวด แม้ยังธำรงไว้ซึ่งศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้า
แต่นักคิดในโลกตะวันตก
ก็เริ่มผละออกจากคำอธิบายสรรพสิ่ง
ด้วยปัจจัยทางจิตวิญญาณ
หรือเจตจำนงที่มาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ
พวกเขาหันมามองโลก
และจักรวาล
ว่าแท้จริงแล้วดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของวัตถุสสาร
ซึ่งมนุษย์สามารถทำความเข้าใจได้ด้วย
การสังเกตข้อเท็จจริง
และการคิดด้วยเหตุผล ทัศนะเช่นนี้เรียกในทางปรัชญาว่า
"วัตถุนิยม" (materialism)(คลิกอ่านเชิงอรรถ ๑) ในชั้นแรกเริ่มนั้น ทัศนะดังกล่าวแสดงออกในการค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับจักรวาล โดยเฉพาะในด้านดาราศาสตร์ (คอเปอร์นิคัส, เคปเลอร์, กาลิเลโอ)
ต่อมาจึงขยายมาสู่สรรพวัตถุในโลกของเรา
ดังที่ปรากฏในงานบุกเบิกด้านฟิสิกส์ (นิวตัน, เดการ์ตส์)
ส่วนฮอบส์นับเป็นคนแรก
ที่นำทัศนะแบบวัตถุนิยม
มาใช้ทำความเข้าใจมนุษย์และสังคม พร้อมไปกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
ในสายตาของคนปัจจุบันอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า
ปรัชญาการเมืองของฮอบส์
มีความเป็นอนุรักษนิยม (conservatism) สูงมาก
งานวิชาการชิ้นแรกของเขา
ซึ่งตีพิมพ์ในปี ๑๖๒๙ คือ
ผลงานแปลหนังสือ
ว่าด้วยสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา
เรื่อง The Peloponnesian War (สงครามแห่งเพโลพอนนีซัส) ของทูซีดิดิส (Thucydides) นักประวัติศาสตร์กรีกโบราณ
เป็นที่ทราบกันดีว่าหนังสือเล่มนี้
แฝงการวิพากษ์ระบอบประชาธิปไตย
ในยุคทองของเอเธนส์
เมื่อหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล
ว่าเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย
เพราะผลประโยชน์แอบแฝง
และการแก่งแย่งกัน
ใช้คารมเล่นลิ้นหลอกลวงฝูงชน
จนในที่สุดระบอบดังกล่าว
ก็นำสังคมเอเธนส์ไปสู่ความหายนะ
|
|
|
หลังจากนี้
ผลงานค้นคว้าและข้อคิดเห็นของฮอบส์
ในเรื่องต่าง ๆ จะทยอยปรากฏออกมาอย่างไม่ขาดระยะ มีทั้งหนังสือด้านคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ตลอดจนฟิสิกส์ (เช่น Tractatus Opticus หรือ ตำราวิชาแสง) และแน่นอนที่สุด ข้อเขียนอันมากมายด้านปรัชญาการเมือง เล่มที่เด่นเล่มแรกคือ
Elements of Law (พื้นฐานกฎหมาย) ซึ่งในปี ๑๖๔๐ ฮอบส์พิมพ์แจกจ่ายในวงแคบ (และพิมพ์เผยแพร่อย่างจริงจัง ๑๐ ปีต่อมา) ตามด้วย De Cive (ว่าด้วยพลเมือง) ทว่าผลงานชิ้นเอกที่ถือกันว่าสมบูรณ์ที่สุด ก่อให้เกิดปฏิกิริยาร่วมสมัยรุนแรงที่สุด
และทำให้ชื่อของฮอบส์
ติดอยู่ในความทรงจำของนักคิดรุ่นต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันคือ
Leviathan (ลีวายอะทัน) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ๑๖๕๑ ต่อจากนี้ไป
ความคิดของฮอบส์
ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องของการเมืองการปกครอง จนกระทั่งเข้าสู่บั้นปลายของชีวิต เขาจึงได้หวนกลับมาทำงานประเภทที่ยังความเจริญใจให้แก่เขามาก่อน นั่นคือ การแปลหนังสือโบราณ คราวนี้เขาแปล Odyssey (พิมพ์ปี ๑๖๗๓) และ Illiad (พิมพ์ปี ๑๖๗๖) ซึ่งถือเป็นสุดยอดวรรณกรรมอมตะของโฮเมอร์
ในปี ๑๖๗๙ ฮอบส์ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย ๙๑
ปี ีทิ้งผลงานไว้เป็นมรดกแก่โลกทั้งสิ้น ๔๒ เล่ม
|
|
|
ธรรมชาติมนุษย์ สัญญาประชาคม และอำนาจปกครอง
หัวใจของหนังสือเรื่อง ลีวายอะทัน อยู่ที่การเสนอแนวคิดว่าด้วย
"สัญญาประชาคม" (social contract)(คลิกอ่านเชิงอรรถ ๒)
เพื่อตอบคำถามว่าสังคมมนุษย์
และรัฐก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร อันที่จริง
ศาสนจักรและอาณาจักรในสมัยนั้น
มีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับคำถามนี้แล้วว่า สังคมเกิดจากการสถาปนาโดยองค์พระผู้สร้าง
ซึ่งประทานอำนาจของพระองค์แก่กษัตริย์
เพื่อให้ปกครองมนุษย์
แต่ฮอบส์ซึ่งไม่พอใจกับคำตอบแนวจิตนิยมนี้
ต้องการค้นหาคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์
เขาจึงต้องเริ่มต้นด้วย
การพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์อย่างถ้วนถี่
เช่นเดียวกับนักคิดในแนววัตถุนิยมหลายคนในยุคนั้น
ฮอบส์มองสรรพสิ่งในโลกว่า
ล้วนดำเนินไปตามกลไกที่อาศัยแรงขับเคลื่อน (movement) ทางกายภาพ ซึ่งตัวมนุษย์ก็อยู่ในข่ายของกฎสากลดังกล่าว และมิใช่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับร่างกาย (แรงขับเคลื่อนจากการไหลเวียนของโลหิต) แต่ยังรวมถึงส่วนที่เรียกว่า "จิตใจ" (mind) อีกด้วย สำหรับฮอบส์
การรับรู้ด้วยผัสสะ
และอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์
เป็นการตอบสนองด้วยแรงขับเคลื่อนภายใน
ต่อแรงกระทำจากภายนอก
แรงขับเคลื่อนภายในนี้
ส่งทอดต่อไปยังสมอง ก่อเกิดเป็นความคิด (idea) และทิ้งร่องรอยไว้เป็นภาพ (image) ในความทรงจำ สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความนึกคิด (thought) ความปรารถนา (desire) หรือเจตจำนง (will)
จึงมิใช่อะไรอื่น
นอกจากแรงขับเคลื่อนในสมองล้วน ๆ
แรงขับเคลื่อนดังกล่าวนี้เอง
ที่ไปกระตุ้นให้เกิดอากัปกิริยา การกระทำ และคำพูดต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีความพึงพอใจส่วนตนเป็นเป้าหมาย
|
|
|
ในความพยายามของฮอบส์ที่จะเข้าใจถึงธาตุแท้ของมนุษย์
ในขั้นต่อไปนั้น เขาได้ตั้งสมมุติฐานถึงสิ่งที่เรียกว่า "สภาพธรรมชาติ" (state of nature) ขึ้นมา
ซึ่งหมายถึงสภาพที่เผ่าพันธุ์มนุษย์เคยดำรงอยู่
ก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งสังคมใดๆ ขึ้น แม้ว่าภาวะดังกล่าว หากเคยมีอยู่จริง จะเป็นสิ่งที่เราไม่มีวันล่วงรู้ได้อีกแล้วก็ตาม
แต่จินตนาการทางทฤษฎีนี้
ก็จำเป็นต่อการคิดพิจารณาว่า ถ้าปราศจากอารยธรรม มนุษย์จะอยู่ในสภาวะเช่นไร (จะว่าไปแล้ว
ก็ไม่จำเป็นถึงกับต้องสาวย้อนไปสู่สภาพธรรมชาติ
เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปอย่างของฮอบส์ เพียงเราพินิจดูมนุษย์ใน "สภาพอารยะ" ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ก็น่าจะได้ภาพที่ใกล้เคียงกันไม่น้อย) จากการสันนิษฐานดังกล่าว
ฮอบส์พบว่ามนุษย์ในสภาพธรรมชาติ
มิใช่สิ่งที่โสภาน่าชื่นชม หากกล่าวเปรียบด้วยภาษาแบบปัจจุบัน
มนุษย์ก็เป็นเหมือนหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์
ที่ถูกตั้งโปรแกรมให้มุ่งแสวงหาความพึงพอใจใส่ตนอย่างไม่มีขีดจำกัด มนุษย์จึงเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ต่างคนต่างมุ่งเอาเปรียบผู้อื่น บังคับให้ผู้อื่นทำตามใจตน และถือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ในสภาพธรรมชาติ
ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
จึงแสดงออกมาอย่างเต็มที่ ดังฮอบส์กล่าวว่า
|
|
|
"หากมนุษย์สองคนปรารถนาในสิ่งเดียวกัน ซึ่งไม่มีวิธีใดที่เขาทั้งสองจะแบ่งปันกันได้ เขาก็ย่อมกลายเป็นศัตรูกัน และในอันที่จะบรรลุเป้าหมายของแต่ละคน ซึ่งได้แก่การธำรงรักษาตน (their own conservation)
เป็นหลัก
และบางครั้งเพียงเพื่อความสุขสมอารมณ์หมายของตน (their delectation only)
ทั้งคู่ก็จะเพียรพยายามทำลายล้าง
หรือสยบซึ่งกันและกัน" (ข้อความแปลทั้งหมดในบทความนี้ ผู้เขียนแปลจาก Leviathan ฉบับของสำนักพิมพ์ Basil Blackwell, Oxford ไม่ระบุปีพิมพ์ มีแจ้งเพียงว่าได้แก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดในฉบับพิมพ์ปี ๑๖๕๑ แล้ว)
ตามตรรกะของป่าดงดิบนี้ ย่อมไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ทั้งสิ้นว่าอะไรถูก อะไรผิด สิ่งใดเป็นธรรม สิ่งใดไม่เป็นธรรม หรือหากแม้นว่ามีการแยกแยะดังกล่าว ก็คงไม่มีเกณฑ์ที่ใช้เป็นมาตรฐานร่วมกันได้เลย ทั้งนี้เพราะ
"ตราบใดที่มนุษย์ยังดำรงอยู่ในสภาพธรรมชาติอย่างแท้จริง (ซึ่งก็คือภาวะการมุ่งทำลายล้างกัน)
เขาก็จะใช้ความปรารถนาเฉพาะตนของเขา
เป็นมาตรวัดว่าอะไรดี อะไรเลว"
การยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้
เป็นเหตุให้เกิดการพิพาทกันในทุกๆ
เรื่อง
ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์
และศักดิ์ศรี
มนุษย์จะใช้กำลังแก่งแย่งชิงดี
และเบียดเบียนกันอยู่ตลอดเวลา
จนหาความสงบสุขมิได้
ความขัดแย้งอันไม่มีที่ยุติดังกล่าว
จึงเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความหายนะของทุกคนร่วมกัน กล่าวคือ
|
|
|
"หากพฤติกรรมของมนุษย์ถูกชี้นำด้วยความคิดเห็นส่วนตน
และความปรารถนาส่วนตนเพียงถ่ายเดียว
พวกเขาจะไม่มีทางปกป้องคุ้มครองตนเอง
จากศัตรูภายนอก
หรือจากการเบียดเบียนกันเองได้เลย"
ในภาวะมิคสัญญีที่ "มนุษย์กลายเป็นหมาป่าสำหรับมนุษย์ด้วยกัน" (Homo homini lupus) นี้ มีเพียง "ความรักตัวกลัวตาย" (fear of death)
เท่านั้น
ที่ทำให้มนุษย์ได้คิด สำหรับฮอบส์แล้ว
มนุษย์มิได้ต่างจากสัตว์ในแง่ที่มีจิตใจประเสริฐกว่า
หากแต่มนุษย์เป็นจักรกลที่รู้จักคำนวณผลได้ผลเสีย
จากการกระทำต่างๆ ของตน นั่นคือ รู้จักคิดด้วยเหตุผลมากกว่าสัตว์อื่น มนุษย์จึงเห็นพ้องต้องกันว่า
ควรจะแสวงหาสันติภาพร่วมกัน
มากกว่าที่จะเบียดเบียน
ทำลายล้างกันอยู่เช่นนี้ ในความคิดดังกล่าว ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม แต่เปลี่ยนเป็น "ความเห็นแก่ตัวแบบยั่งยืน" เพราะกำกับไว้ด้วยสติปัญญา มิใช่เห็นแก่ตัวอย่างโง่เขลา เอาแต่ได้ จนในที่สุดไม่มีใครได้อะไรเลยอย่างแต่ก่อน
ฮอบส์เชื่อว่าทางออกของปัญหาที่มนุษย์ค้นพบคือ
การตกลงกันมอบอำนาจแก่คนกลาง
ให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ และจัดระบบระเบียบของการอยู่ร่วมกัน
ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสินใจก้าวออกจากสภาพธรรมชาติ
มาสู่การก่อตั้งสังคมขึ้น ดังที่ฮอบส์กล่าวว่า
"วิธีการเดียวที่จะสถาปนาอำนาจหนึ่งเดียวร่วมกัน (commom power)
ในอันที่จะปกป้องพวกเขา
จากการรุกรานของคนภายนอก
และจากการเบียดเบียนกันเองภายใน
และในอันที่จะประกันว่า
พวกเขาจะสามารถประกอบสัมมาชีพ
และเก็บเกี่ยวพืชผลจากแผ่นดิน
เพื่อดำรงชีวิตอย่างพึงพอใจได้ ก็คือ
มอบอำนาจ
และกำลังทั้งหมดของแต่ละคน
ให้แก่บุคคลเพียงคนเดียว (one man) หรือกลุ่มคนคณะเดียว (one assembly of men)
ผู้จะสามารถลดทอนเจตจำนงอันหลากหลายของผู้คน
ให้เหลือเพียงเจตจำนงหนึ่งเดียว (one will)"
|
|
|
บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากทุกคน
ดังที่กล่าวมาก็คือ ผู้ปกครอง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อธิปัตย์ (sovereign)
ซึ่งจะทำหน้าที่หลักในการวางกฎระเบียบ
เพื่อแยกแยะว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด
และบังคับใช้กฎระเบียบเหล่านั้น
โดยมีอำนาจลงโทษผู้ฝ่าฝืน รวมทั้งวางนโยบายสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของส่วนรวม
สิ่งที่มนุษย์ได้รับตอบแทน
จากการสละ "อำนาจ และกำลัง" ของตนให้แก่อธิบัตย์คือ ประชาสังคม (civil society) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สหไพบูลย์ (commonwealth) ซึ่งฮอบส์เชื่อว่าจะเป็นภาวะที่ช่วยบรรเทาการพิพาท ประกันความสงบสุข และพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น สำหรับรูปแบบของสหไพบูลย์นี้
ก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนระหว่างผู้ปกครอง
กับผู้ถูกปกครอง ดังฮอบส์ได้แบ่งไว้ง่าย ๆ ดังนี้
"เมื่ออธิปัตย์เป็นบุคคลคนเดียว สหไพบูลย์จะเป็นระบอบราชาธิปไตย (monarchy)
เมื่ออธิปัตย์คือ
ที่ประชุมของทุกคนที่มารวมกัน จะเป็นระบอบประชาธิปไตย (democracy) หรือสหไพบูลย์ปวงชน (popular commonwealth) หากอธิปัตย์ประกอบด้วยสมาชิกบางส่วนของสหไพบูลย์ ก็จะเป็นระบอบอภิชนาธิปไตย (aristocracy)"
แต่ไม่ว่าสหไพบูลย์จะเป็นรูปแบบใด (ตัวฮอบส์นั้นแสดงความพอใจ
ในระบอบราชาธิปไตยมากที่สุด) เขาก็เน้นย้ำอย่างมากว่า
อำนาจปกครองของอธิปัตย์มีที่มาจากการตกลงทำสัญญากันเอง
ระหว่างผู้อยู่ใต้ปกครอง มิได้มาจากมหิทธานุภาพเหนือธรรมชาติใด ๆ ทั้งสิ้น ดังเขาบรรยายรายละเอียดของการทำสัญญาว่า
"การกระทำดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการตกลงยินยอม (consent) แต่เป็นการหลอมรวมทุกคนไว้เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง (a real unity of them all)
ด้วยการที่ ทุกคนทำสัญญา (covenant) ต่อกัน เสมือนหนึ่งทุกคนกล่าวแก่ทุกคนว่า
'ข้าพเจ้าได้ยินยอมมอบสิทธิในการปกครองตนเอง
ให้แก่บุคคลผู้นี้
หรือแก่บุคคลคณะนี้
โดยมีเงื่อนไขว่า
ท่านเองก็ต้องยินยอมมอบสิทธิของท่านแก่เขาเช่นกัน' "
|
|
|
นี่คือการยืนยันว่า อำนาจปกครองเป็นผลผลิตของมนุษย์
รัฐเป็นองค์กรเทียม
ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจากการตกลงร่วมกัน
คำยืนยันนี้ดูเหมือนสามารถส่งผลสืบเนื่องต่อไปได้อีก
ในหลายทิศทาง แต่ฮอบส์กลับเลือกใช้ตรรกะที่จะดึงข้อสรุปในขั้นต่อไปว่า
แหล่งกำเนิดจากเบื้องล่างของอำนาจปกครองนี้เอง
เป็นปัจจัยสนับสนุนให้อำนาจดังกล่าวสมบูรณ์เด็ดขาด (เพราะมีความชอบธรรม
เสียยิ่งกว่าอำนาจที่มาจากเทวโองการ) ดังนั้น "ผู้ใต้ปกครองจะต้องเคารพเชื่อฟังอธิปัตย์ในทุกๆ สิ่ง
โดยมีเงื่อนไขว่า
การเคารพเชื่อฟังนั้น
ไม่ขัดกับกฎของพระผู้เป็นเจ้า" และต่อข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้น (ดังที่ผู้เขียนบทความเอง
ก็คิดโต้แย้งทฤษฎีสัญญาประชาคมทุกรูปแบบมาโดยตลอด) ในทำนองว่า เมื่อตอนเราลืมตาขึ้นมาดูโลกในสังคม
เรามิได้ไปทำสัญญาตกลงกับผู้ใด
ว่าจะยอมรับอำนาจของอธิปัตย์ หรือแม้เมื่อบรรลุนิติภาวะ ก็มิได้รับการสอบถามความสมัครใจใด ๆ ต่อข้อโต้แย้งที่ว่ามานี้ ฮอบส์ก็ได้เตรียมคำตอบเอาไว้แล้วว่า "หากบุคคลผู้นั้นใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของอธิปัตย์อย่างเปิดเผย
ถือได้ว่าเขายอมรับเงื่อนไข
ของการถูกปกครองนั้น"
ซึ่งในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนบทความนี้
เห็นว่า เป็นการอนุมานที่หละหลวมอยู่มากทีเดียว
อันที่จริงแล้ว ในสายตาของฮอบส์ สถานะของอธิปัตย์ซึ่งมาจากสัญญาประชาคมก็คือ มรรตัยเทพ (mortal god) ผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์
และฮอบส์ยังนำเอาชื่อของปลายักษ์เจ้าสมุทร
ในตำนานของพวกฟีนิเชียน
ตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล นั่นคือ Leviathan มาใช้เรียกอธิปัตย์อีกด้วย
การที่ฮอบส์เสนออำนาจเด็ดขาดให้แก่อธิปัตย์นั้น
น่าจะเกิดจากทัศนะมองมนุษย์ในแง่ร้ายอย่างสุดขั้ว กล่าวคือ
เขาไม่เชื่อถือในความมุ่งมั่นจริงจังของมนุษย์
ที่มาทำสัญญากัน ความโลเลอาจทำให้มนุษย์ผิดสัญญาได้ทุกเมื่อ ดังที่ฮอบส์กล่าวว่า "สัญญาที่ไม่มีคมดาบคอยกำกับ
ก็เป็นเพียงลมปาก" (Covenants, without the Sword, are but words.)
เราลองมาดูกันว่าฮอบส์เสนออำนาจล้นฟ้าแก่อธิปัตย์อย่างไร
|
|
|
"เนื่องจากเป้าหมายของสถาบันดังกล่าวคือ
ความสงบสุข
และความปลอดภัยของทุกคน และเนื่องจากผู้มีสิทธิธรรมในเป้าหมายดังกล่าว (right to the end) ย่อมต้องมีสิทธิธรรมในวิถีทาง (right to the means) ที่จะใช้ให้บรรลุเป้าหมายด้วย ดังนั้น
บุคคล
หรือคณะบุคคลที่ถืออำนาจปกครองอยู่
ย่อมมีอำนาจตัดสินใจว่า
จะใช้วิธีการใด
เพื่อสร้างความสงบสุข
และปลอดภัย
และเพื่อขจัดอุปสรรค
และภยันตรายทั้งปวง
และย่อมสามารถกระทำสิ่งใดก็ตาม
ที่เขาคิดว่าจำเป็นต้องกระทำเพื่อการดังกล่าวได้"
พอจะเห็นได้ว่า ณ จุดนี้
ทฤษฎีของฮอบส์
เบนออกจากการวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ไปสู่การแสดงทัศนะส่วนตัวทางการเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตรรกะเกี่ยวกับ "เป้าหมาย" และ "วิธีการ" ที่ฮอบส์ใช้ดึงข้อสรุปออกมานั้น
ทำให้เราแว่วยินสำเนียงแบบอำนาจนิยม
เหมือนในประโยคอันโด่งดังของมาเคียเวลลี (Machiavelli) นักคิดในยุคเรอเนสซองซ์ ที่ว่า "เป้าหมายย่อมให้ความชอบธรรมแก่วิธีการที่ใช้" (The end justifies the means)
ซึ่งปรากฏในตำราการปกครอง
อันเป็นที่นิยมในหมู่กษัตริย์แนวสมบูรณาญาสิทธิราช
ในยุโรปภาคพื้นทวีปมาจนถึงเผด็จการยุคปัจจุบัน
หนังสือเรื่อง ลีวายอะทัน ของฮอบส์นี้ตีพิมพ์ออกมาในปี ๑๖๕๑ ซึ่งต้องนับว่าผิดกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง
เพราะการเมืองอังกฤษขณะนั้น
อยู่ในช่วงวิกฤตสุดขีด นั่นคือ การสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์สจ็วตเพิ่งจะผ่านพ้นไป
และฝ่ายรัฐสภาที่ได้รับชัยชนะ
ในสงครามกลางเมืองอังกฤษ
ก็ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศ
ฝ่ายรัฐสภาจึงไม่สนใจมองเจตนา
ต่อต้านทฤษฎีเทวสิทธิราช
ที่อยู่ในหนังสือ หากสนใจแต่เพียงส่วนที่สนับสนุนอำนาจกษัตริย์ ส่วนฝ่ายของกษัตริย์ก็ไม่นิยมชมชอบฮอบส์
เพราะถือว่านักปราชญ์ผู้นี้
มาบ่อนเซาะอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายตน
ด้วยแนวคิดแบบวัตถุนิยม ฮอบส์จึงตกอยู่ในสถานการณ์ "หว่างเขาควาย" อย่างช่วยไม่ได้
และผู้อ่านในสมัยของเขาย่อมอดไม่ได้
ที่จะอ่านหนังสือของเขาด้วยอคติ ตราบจนวิกฤตต่าง ๆ ผ่านพ้นไปแล้ว
คุณค่าทางวิชาการของหนังสือนี้
ในแง่ที่เป็นแรงกระตุ้นให้คิดต่อ (ไม่ว่าจะต่อเติมหรือต่อต้าน) จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น
|
|
|
สำหรับการสานต่อแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมของฮอบส์นั้น กรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ รุสโซ (Rousseau) ซึ่งนำงานของฮอบส์มาคิดต่อได้อย่างมีสีสันเร้าใจ
จนคนทั้งหลายมักเข้าใจกันไปว่า
เขาเป็นต้นคิดเรื่องสัญญาประชาคมเสียเอง
รุสโซยืนยันคล้ายคลึงกับฮอบส์ว่า
สังคมมนุษย์เกิดขึ้นจากการทำสัญญาตกลงร่วมกัน
ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์
ทว่ารุสโซมองการเปลี่ยนสภาพของมนุษย์
จากเหตุการณ์ดังกล่าวในทิศทางกลับกันกับฮอบส์ กล่าวคือ สำหรับรุสโซ ความชั่วร้ายต่าง ๆ
นานาของมนุษย์นั้น
เกิดขึ้นภายหลังสัญญาประชาคม
และเป็นผลโดยตรง
จากการที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันในสังคมนั่นเอง รุสโซจินตนาการกลับด้านกับฮอบส์ว่า ในสภาพธรรมชาติ มนุษย์จะมีอุปนิสัยเรียบง่าย สมถะ รักสงบ แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกัน
ตรรกะของสังคม
จะสอนให้มนุษย์แก่งแย่งชิงดี
และเอารัดเอาเปรียบกัน
สิ่งที่ทำให้เราต้องยอมรับว่า
รุสโซก้าวหน้ากว่าฮอบส์ก็คือ
รุสโซถือว่าการทำสัญญาประชาคมครั้งที่ผ่านมานั้น
เป็นความผิดพลาด เนื่องเพราะเป็นการทำสัญญาระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง
และยังเป็นการมอบอำนาจให้แก่อธิปัตย์อย่างถาวร
ชนิดที่เรียกคืนไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเลวร้ายในสังคมอย่างที่เราเห็น ๆ กัน รุสโซจึงเสนอให้มนุษย์กลับไปทำสัญญาประชาคมกันใหม่ โดยในคราวนี้ มนุษย์จะต้องทำสัญญามิใช่ระหว่างกันเอง หากแต่ละคนจะต้องทำสัญญากับ "เจตจำนงร่วมกัน" (general will) ซึ่งทอนมาจากเจตจำนงของแต่ละคน
เพื่อให้คนทั้งหมดมีสถานะ
เป็นทั้งผู้ถูกปกครอง
และผู้ปกครองพร้อมกันไป ระบบของรุสโซจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เมื่อมีเหตุอันควร
ผู้ถูกปกครองย่อมมีสิทธิโต้แย้งอำนาจปกครอง (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นของตนเอง)
ได้ (คลิกอ่านเชิงอรรถ ๓)้
แม้ผู้เขียนบทความนี้จะไม่เคยเชื่อว่า รัฐเกิดขึ้นจากการตกลงกันอย่างยินยอมพร้อมใจของผู้คน และค่อนข้างคล้อยตามคาร์ล มาร์กซ์ว่า
รัฐเกิดจากการที่คนกลุ่มน้อย
คิดค้นวิธีการที่จะมอมเมา
และเอาเปรียบคนกลุ่มใหญ่
เพื่อประโยชน์ของตนเสียมากกว่า
แต่ผู้เขียนก็เห็นว่า
แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมเป็นจินตนาการทางทฤษฎี
ที่น่าสนใจในเชิงภูมิปัญญา และในทางปฏิบัติ
ภาพมายาทางความคิดนี้
ก็อาจจุดประกาย
ให้แวบเห็นทางออกจากวังวนของปัญหา
การเมืองสมัยใหม่ได้บ้าง แม้จะเห็นอย่างสลัวรางก็ตามที
|
|
|
เชิญอรรถ
๑ เมื่อต้องการสื่อถึงความหมายที่กล่าวมานี้ บางท่านหันไปใช้ศัพท์บัญญัติอีกตัวหนึ่งว่า "สสารนิยม" เพื่อมิให้ปะปนกับ "วัตถุนิยม" ในความหมายสามัญที่หมายถึง ความชื่นชอบในวัตถุอันแสดงออกด้วยพฤติกรรมแบบบริโภคนิยม และเป็นความหมายในทางทรามของคำคำนี้
(คลิกอ่านต่อ)
๒ คำว่า "สัญญาประชาคม" ในที่นี้ ใช้ในความหมายเที่ยงแท้ทางรัฐศาสตร์ นั่นคือ "ข้อตกลงที่มนุษย์กระทำร่วมกันเพื่อก่อตั้งสังคม"
มิใช่ตามนัยยะผิดเพี้ยน
ที่นักการเมืองไทยปัจจุบันนิยมหยิบฉวยคำนี้ไปใช้
เพื่อให้เกิดความขรึมขลังหรือโก้เก๋ โดยใช้ในความหมายว่า "สัญญาที่นักการเมืองให้ไว้แก่ประชาชน" คำอีกคำหนึ่งที่นักการเมืองไทยชอบใช้อย่างผิด ๆ คือ "สัตยาบัน"
(คลิกอ่านต่อ)
๓ หากท่านสนใจความคิดทางการเมืองของรุสโซ โปรดดูในบทความอีกบทหนึ่งของผู้เขียน "รุสโซ : อุดมคติแห่งธรรมชาติ" ใน สารคดี ฉบับ ๑๒๓ (พฤษภาคม ๒๕๓๘)
(คลิกอ่านต่อ)
|