|
|
เช้าวันนี้เป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตของ "มิลา" เพราะเธอกำลังจะเข้าพิธีแต่งงานกับ "วายู" หนุ่มชาวบาหลีคนที่เธอคบหามาเป็นเวลาร่วมสองปีแล้ว
คิด ๆ ดูแล้ว เธอกับวายูช่างมีอะไรที่แตกต่างกันหลายอย่าง เขาเป็นชาวบาหลี ส่วนเธอมาจากสุราบายา ครอบครัวของเธอเป็นคนเมือง พ่อของเธอเป็นเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ในสุราบายา
ในขณะที่พ่อแม่ของชาย
ที่เธอกำลังจะร่วมชีวิตด้วยเป็นคนชนบท เป็นชาวไร่ชาวนาจากเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของบาหลีเท่าไรนัก
|
|
|
และในบรรดาความแตกต่างทั้งหลายทั้งปวงนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความแตกต่างทางศาสนา
มิลาเป็นคาทอลิก ในขณะที่วายูนับถือศาสนาฮินดู
มันเป็นความแตกต่างอันยิ่งใหญ่
ที่จะต้องมีใครสักคนเป็นผู้เสียสละ และเธอกำลังเลือกที่จะเป็นบุคคลคนนั้น
พิธีกรรมในช่วงเช้าวันนี้
จะดำเนินไปโดยมีเธอเป็นผู้เข้าร่วมเพียงคนเดียวเท่านั้น
จะไม่มีพ่อแม่พี่น้องของเธอ
มาร่วมเป็นสักขีพยานเลยแม้แต่คนเดียว มันช่างเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวโดยแท้
แต่ในเมื่อเธอได้เลือกแล้ว ที่จะยอมเปลี่ยนศาสนาจากคาทอลิก
มานับถือฮินดู
ตามอย่างชายผู้จะเป็นสามีของเธอในอนาคต
มิลาก็จะต้องผ่านกระบวนการ
ที่จะทำให้เธอเป็นฮินดูอย่างสมบูรณ์แบบ
และพิธีกรรมนั้นจะดำเนินไปโดยมีเธอเพียงคนเดียวเท่านั้น
เป็นผู้เล่นบทบาทตามที่พราหมณ์ทางศาสนาฮินดูเป็นผู้กำกับ
ในสังคมของชาวบาหลีนั้น กระบวนการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีห้าขั้นตอน จากแรกเกิด ๓๐ วัน ๖๐ วัน ๑๒๐ วัน จนกระทั่งเติบโตเต็มที่ก็จะมีพิธีตัดฟัน ซึ่งถือเป็นการทำความสะอาด กำจัดความชั่วร้ายที่ครอบงำร่างกายหกอย่าง คือ ความต้องการ ความโกรธ ความโลภ ความเมามาย ความทะนงถือดี และความอิจฉาริษยา ดังนั้นช่วงเช้าก่อนที่พิธีแต่งงานจะเริ่มขึ้น มิลาซึ่งเพิ่งเปลี่ยนมานับถือฮินดู
จึงเปรียบเสมือนเด็กทารกแรกเกิด
ที่จะต้องเข้าร่วมพิธีกรรมห้าขั้นตอนนี้
เพื่อให้กลายเป็นฮินดูอย่างสมบูรณ์เสียก่อน
เสร็จจากขั้นตอนการทำให้เป็นฮินดูทั้งห้าขั้นตอนแล้ว มิลาก็จะได้รับชื่อใหม่ตามแบบของฮินดู
และต่อไปนี้ครอบครัวของฝ่ายเจ้าบ่าว
ก็จะเรียกเธอด้วยชื่อใหม่นี้
ตัวตนของเธอที่เคยเป็นคาทอลิก
จะไม่อยู่ในความทรงจำของครอบครัวนี้อีกต่อไป
|
|
|
เสร็จจากพิธีกรรมการเปลี่ยน "มิลา" ให้เป็นฮินดูแล้ว
พิธีแต่งงานจึงจะเริ่มขึ้น
และดำเนินไปโดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี
มีหญิงอีกสี่ห้าคน
คอยช่วยประกอบพิธีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งชั่วร้าย
หญิงกลางคนเหล่านี้
จะคอยร้องเพลงเพื่อเชิญชวนให้เหล่าเทพยดา
และปีศาจมารับของเซ่นไหว้
การเสนอของไหว้ให้เหล่าเทพยดานั้น
เป็นไปอย่างนอบน้อม
เมื่อเสนอแล้วก็จะนำสิ่งของเหล่านั้น
มาแตะตัวคู่บ่าวสาวเพื่อเป็นสิริมงคล ในขณะที่การเสนอของเซ่นไหว้ปีศาจ คู่บ่าวสาวจะต้องเอาเท้าเหยียบลงไปที่ของเซ่นเหล่านั้น
จากนั้นก็มีการแลกเปลี่ยนไข่ อันเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิด มีการนำเชือกที่มีเหรียญห้อยมาประกอบพิธี เชือกนั้นเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และเหรียญเป็นดั่งอุปสรรคของชีวิต
โดยมีหญิงคนหนึ่งทำหน้าที่พาคู่บ่าวสาว
วิ่งฝ่าเชือกออกไป เสมือนการก้าวฝ่าปราการแห่งชีวิต
พิธีกรรมดำเนินไปเรื่อย ๆ
ท่ามกลางเสียงร้องประสานของนางร้องเพลง
และเสียงขับกล่อมของดนตรีกาเมลัน
โดยระหว่างนั้นญาติฝ่ายเจ้าสาว
จะรอคอยอยู่ที่บ้านของตน
หรือหากใครมาถึงงานก่อน
ก็จะนั่งคอยอยู่นอกวง โดยไม่เข้าร่วมพิธี
ฟังดูออกจะเป็นเรื่องแปลกที่ครอบครัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
จะต้องถูกกันออกไปจากงานพิธี
เพียงเพราะงานแต่งงานนั้น
กระทำในนามของศาสนาที่แตกต่างจากพวกเขา
พวกเขาจะมาที่นี่
หลังพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้นลง เพื่อร่วมเป็นเจ้าภาพในงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน
และร่วมอวยพร
ให้คู่บ่าวสาวเพียงเท่านั้น
|
|
|
เรื่องราวที่ยกมานี้ฟังดูเผิน ๆ
เหมือนเป็นเรื่องของงานแต่งงานแบบพื้นเมือง
อันน่าตื่นตาตื่นใจ มีการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์
คู่บ่าวสาวและแขกผู้มาร่วมงาน
สวมใส่เครื่องแต่งกายสวยงามเต็มยศ เป็นอะไรแบบ "เก่า ๆ" ที่หาชมไม่ได้แล้วในสังคมอื่น ๆ ของโลก
แต่มองให้ลึกลงไปแล้ว
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของความอิหลักอิเหลื่อ
ในการที่คนสองคนจะใช้ชีวิตร่วมกัน
ในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก ประเทศที่มีประชากรถึง ๒๐๐ ล้านคน แต่ใน ๒๐๐
ล้านคนนั้น
ช่างมีความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา
มากมายหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง
ลองนึกดูว่าหากคนสองคนรักกัน
และต้องการที่จะร่วมชีวิตกันในประเทศไทย คนทั้งคู่ก็จะต้องคิดถึงบ้าน คิดถึงรถ คิดถึงอาชีพการงานที่มั่นคง
และลักษณะนิสัยของทั้งสองฝ่าย
ที่จะพึ่งพากันได้ในอนาคต
แล้วจึงตกลงปลงใจ
ที่จะแต่งงานร่วมเป็นคู่ชีวิตกัน
แต่ถ้าคนสองคนนั้นอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เรื่องราวจะมากไปกว่านั้น
พวกเขาอาจจะไม่คิดถึงบ้าน
หรือรถเท่าไรนัก แต่สิ่งที่พวกเขาต้องคำนึงถึงก่อนอื่นก็คือเรื่องของศาสนา
จริงอยู่ที่ประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียถึงร้อยละ ๙๐ นับถือศาสนาอิสลาม แต่อีกร้อยละ ๑๐
ที่เหลือที่นับถือศาสนาอื่นนั้น
จะว่าไปแล้วก็คิดเป็นตัวเลขได้ถึง ๒๐ ล้านคนเลยทีเดียว
ตัวเลขนี้นับว่าไม่น้อยเลย
ที่จะจินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่คนสองคนจะมาพบกัน รักกัน และพบว่าทั้งคู่นับถือศาสนาต่างกัน
|
|
|
และหากเป็นเช่นนั้นอนาคตของความรัก
ก็ดูจะมีอุปสรรคขึ้นมาทันที
อันที่จริงเรื่องอย่างนี้ฟังดูไม่ใช่ปัญหาใหญ่ คนสองคนนั้นก็แค่ไปจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอ แล้วต่างฝ่ายต่างก็ไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา
ส่วนลูกออกมา
จะเลือกนับถือศาสนาใด
ก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจของครอบครัว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
มันก็กลับไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎไว้ว่า
พิธีแต่งงานในประเทศอินโดนีเซียนั้น
จะต้องดำเนินไปภายใต้รูปแบบของ "ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง" เท่านั้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ
การแต่งงานจะสมบูรณ์โดยกฎหมาย
ก็ต่อเมื่อคู่บ่าวสาว "เลือก" แต่งงานภายใต้พิธีการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
กฎนี้อาจจะฟังดูแปลก ๆ สำหรับคนไทย ที่ถือคติที่ว่า ทำอะไรตามใจคือไทยแท้
งานแต่งงานของคนไทย
จึงฟรีสไตล์หลากหลายรูปแบบ ตอนเช้าอาจจะแต่งแบบพุทธ เสริมด้วยพิธีไหว้เจ้าแบบจีน บ่ายเข้าโบสถ์ แล้วพอตกเย็นก็เลี้ยงแบบฝรั่งได้เป็นเรื่องปรกติ
แต่ที่อินโดนีเซีย โดยทั่ว ๆ
ไปแล้ว
การแต่งงานจะประกอบไปด้วยพิธีการสองส่วน คือ
ส่วนที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนา
และส่วนงานเลี้ยงต้อนรับแขกเหรื่อ
ส่วนที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนานั้น
เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้การแต่งงานนั้น
มีผลสมบูรณ์ภายใต้กฎหมาย
|
|
|
ดังนั้นในการจัดงานแต่งงานทุกครั้ง เจ้าภาพจึงจะต้องบอกเจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับรู้ว่า การแต่งงานนั้นจะดำเนินไปโดยพิธีการของศาสนาใด
โดยในวันแต่งงานเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำตำบล
หรืออำเภอซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านการศาสนา
จะเป็นผู้รับรองการแต่งงานให้แก่คู่บ่าวสาว
ใบประกาศรับรองการแต่งงานทางศาสนานี้
จะเป็นผลให้ใบทะเบียนสมรส
มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย พูดอีกอย่างก็คือจดทะเบียนกัน "ทางกฎหมาย" เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องจดทะเบียน "ทางศาสนา" ด้วย การแต่งงานนั้นจึงจะถูกต้องสมบูรณ์
แต่หลังการแต่งงานทางศาสนาแล้ว
งานเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อ
จะจัดขึ้นด้วยพิธีการใด จะแต่งชุดพื้นเมือง มีระบำพื้นเมืองต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบอย่างไรก็ไม่มีใครว่า
ช่างเป็นเรื่องตลกขำไม่ออก
ที่โลกนี้มีความแตกต่างทางศาสนา
และเป็นเรื่องตลกที่รัฐบาลอินโดนีเซีย
ออกกฎให้การแต่งงานจะถูกกฎหมายได้
ด้วยการทำพิธีกรรมการแต่งงานให้ "ถูกต้อง" ทางศาสนา โดยจะต้องเป็นศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น จะมาจัดแบบไทย พุทธผสมคริสต์ ผสมจีนอะไรเช่นนั้นไม่ได้
ดังนั้นคู่บ่าวสาวที่ตัดสินใจจะแต่งงานกัน หากเป็นการแต่งงานข้ามศาสนา ใครสักคนจะต้องยอมที่จะเปลี่ยนศาสนา เพราะไม่เช่นนี้พิธีแต่งงานก็จะไม่เกิดขึ้น
เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งซึ่งเป็นคาทอลิกที่เคร่งมาก
แต่ก็ให้บังเอิญไปพบรักกับหนุ่มมุสลิม
ที่เคร่งพอ ๆ กัน
และตอนนี้เธอก็กำลังกลุ้มใจว่างานแต่งงานของเธอ
จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อเธอไม่ยินดีที่จะเปลี่ยนศาสนา เหมือนเช่นที่ฝ่ายชายก็ไม่ต้องการเช่นนั้น และในเมื่อการแต่งงานในอินโดนีเซียนั้น จะต้องเลือกพิธีแต่งงานตามศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งหากเลือกจัดแบบมุสลิม พ่อแม่ของเธอก็หมดสิทธิ์เข้าร่วม หากเลือกที่จะแต่งแบบคาทอลิก พ่อแม่ของฝ่ายชายก็จะไม่สามารถเข้าร่วมพิธีด้วยได้
|
|
|
เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอจึงคิดถึงขั้นที่ว่าจะต้องบินไปแต่งงานในต่างประเทศเลยทีเดียว เพราะในต่างประเทศนั้น เพียงแค่จัดงานเลี้ยงสมรส จากนั้นก็ไปจดทะเบียนที่สถานทูตอินโดนีเซียในประเทศนั้น ๆ ก็เป็นอันเสร็จพิธี การแต่งงานถือว่ามีผลทางกฎหมายสมบูรณ์
ความอิหลักอิเหลื่อของการแต่งงาน
ในประเทศอินโดนีเซียนั้น
มิได้มีผลต่อตัวคู่บ่าวสาวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อไปถึงรุ่นลูกของคู่บ่าวสาวในอนาคตอีกด้วย กรณีอย่างเช่น หากพ่อเป็นคาทอลิก แม่ไม่ได้เป็นคาทอลิก
ตอนที่ทั้งคู่แต่งงานกัน
ก็ไม่ได้จัดพิธีตามแบบคาทอลิก
แต่เมื่อลูกเกิดมา
ทั้งคู่ต้องการที่จะให้ลูกนับถือคาทอลิกตามพ่อ
แต่การจะเป็นคริสต์ที่สมบูรณ์ได้นั้น
จะต้องทำพิธีศีลจุ่ม (Baptize) ให้แก่เด็กคนนั้น
ในกรณีอย่างนี้
บาทหลวงจะไม่สามารถประกอบพิธีศีลจุ่มให้เด็กคนนี้ได้
เพราะการแต่งงานของคนทั้งคู่
มิได้กระทำในนามของคาทอลิก
ฟังแล้วเหนื่อยแทนคนอินโดว่า ทำไมมันช่างดูยุ่งยากวุ่นวายเช่นนี้ ไม่ว่าจะแต่งงานหรือจะเลือกนับถือศาสนาของตัวเองสักอย่าง
|
|
|
นี่อาจเป็นเรื่องตลกร้ายซับซ้อน
ที่คนต่างเชื้อชาติศาสนาอย่างเรา
ขบคิดไม่เข้าใจว่า
ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วคนอินโดนีเซียอยู่กันมาได้อย่างไร
กับกฎเกณฑ์ที่ฟังดูเรื่องมากเช่นนี้
คำตอบก็คือ ถ้ารักที่จะร่วมชีวิตกันแล้ว ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ยอมเสียสละ ครอบครัวของมิลานั้นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด พ่อของเธอมีลูกสาวสองคน ทั้งคนโตและคนเล็กต่างก็แต่ง "ออก" จากศาสนาเดิมคือคาทอลิก ไปเข้าฮินดูทั้งคู่
ในขณะที่บางคู่ก็ถึงกับเลิกกันไปเลยก็มี เพราะความแตกต่างทางศาสนาเป็นเหตุ
กฎแปลก ๆ ของการแต่งงานในอินโดนีเซียนี้
เกิดขึ้นมาสืบเนื่องจากหลักการ
ที่ค้ำจุนรัฐชาติอินโดนีเซียมาโดยตลอด นั่นคือหลักการ "ปัญจศิละ" (Pancasila) อันมีข้อที่สำคัญข้อหนึ่งที่ระบุว่า คนอินโดนีเซียทุกคน
จะต้องเลือกนับถือในพระเจ้าองค์เดียว (Belife in one God) คำว่า God นั้นหมายถึง God ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งในห้าศาสนาใหญ่ของโลก คือ อิสลาม คริสต์คาทอลิก คริสต์โปรเตสแตนต์ พุทธ และฮินดู
ปัญจศิละนั้นเกิดขึ้นมาหลังจากที่อินโดนีเซียประกาศอิสรภาพ
ในปี ค.ศ. ๑๙๔๕ ซูการ์โน
ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย
ก็ประกาศหลักห้าประการ
หรือ ปัญจศิละ ขึ้นเพื่อใช้เป็นปรัชญาพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หลักห้าประการของปัญจศิละนั้นประกอบด้วย การนับถือในพระเจ้าองค์เดียว ความรักชาติ หลักมนุษยธรรม ความยุติธรรม และหลักแห่งประชาธิปไตย
หลักการนี้เป็นไปเพื่อรวบรวมคนที่แตกต่างหลากหลาย
ของอินโดนีเซียให้มาอยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน
แต่ในส่วนของศาสนานั้น หลักการข้อนี้ก็กลับทำให้เกิดข้อขัดแย้งอย่างมาก
เพราะมันเป็นการจำกัดสิทธิของคน
ที่นับถือศาสนาที่บูชาพระเจ้าหลายองค์ อย่างเช่นคนจีนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม นับถือเทพต่างๆ มากมาย รวมทั้งยึดหลักปฏิบัติตามลัทธิขงจื๊อ
ก็จำต้องเปลี่ยนศาสนา
ให้มาเข้ากับศาสนาใดศาสนาหนึ่งในห้าศาสนาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าต่าง ๆ อีกจำนวนมากในอินโดนีเซีย ที่ยังคงนับถือภูตผี บูชาภูเขาไฟ นับถือศาสนาเฉพาะชนเผ่าของตน
ศาสนาของชนเผ่าเหล่านี้
ก็ถูกผลักออกไปนอกวงของศาสนาฉบับทางการนี้ด้วย
|
|
|
ศาสนาในอินโดนีเซียจึงถูกแยกออกเป็นสองส่วน
ระหว่างศาสนาของคนเมือง
คือศาสนาที่ได้รับการรับรองจากทางการ กับศาสนาแบบชาวบ้าน
คนที่ไม่นับถือศาสนาหนึ่งศาสนาใดในห้าศาสนาหลัก จะถูกเรียกว่า "คนที่ยังไม่นับถือศาสนา" people who do not yet possess a religion คำว่า not yet นั้นจึงกลายเป็นคำที่มีปัญหา เพราะมันดูจะบอกเป็นนัย ๆ ว่า
คนคนนั้นท้ายที่สุดแล้ว
จะต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ขณะนี้ not yet
หลักการปัญจศิละนี้ทำให้เกิดกฎเพิ่มเติมตามมา
ในยุครัฐบาลซูฮาร์โตว่า
คู่แต่งงานจะต้องเลือกศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ในการประกอบพิธีแต่งงานนั้น ๆ
อินโดนีเซียนั้นเป็นประเทศกว้างใหญ่ซับซ้อน มีความแตกต่างหลากหลายมากมาย
อย่างที่คงไม่มีใครกล้าที่จะกล่าวว่า
รู้จักอินโดนีเซียได้หมดทุกส่วน
การที่จะปกครองประเทศที่กว้างใหญ่ขนาดนี้ไว้ได้
ในท่ามกลางประชาชนที่แตกต่าง ในท่ามกลางความหลากหลายนับร้อยพันนั้น กฎเกณฑ์ต่าง ๆ
จึงเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ไม่น้อย
ที่จะควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในระเบียบเรียบร้อย
ภายใต้อำนาจการปกครองของซูฮาร์โต กฎเกณฑ์ต่าง ๆ จึงถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรัฐชาติอินโดนีเซียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
กฎเกณฑ์เรื่องการแต่งงานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบใหม่ที่รัฐสร้างขึ้น ในอันที่จะควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในสายตาของรัฐ
ควบคุมแม้แต่เรื่องพื้นฐานของชีวิต
อย่างเช่นการแต่งงานให้ดำรงอยู่อย่างถูกต้อง
เป็นระเบียบเรียบร้อย
|
|
|
ความ "ยุ่งยาก" แต่ก็เป็น "ระเบียบ" เช่นนี้ดำเนินอยู่เนิ่นนานในอินโดนีเซีย ตลอดยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โต แต่เมื่อซูฮาร์โตต้องหล่นจากบัลลังก์อำนาจในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่ผ่านมา อะไรๆ ในอินโดนีเซียก็ดูจะผ่อนคลายลง รวมทั้งระเบียบเรื่องการแต่งงานนี้ด้วย
ดูเหมือนรัฐบาลชุดปัจจุบัน
พยายามที่จะสลายกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดแบบเดิมๆ ลง
ปัจจุบันคู่แต่งงาน
อาจจะไปจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอได้โดยตรง
ถ้าคู่แต่งงานนั้น
ไม่ประสงค์จะจัดงานพิธี
ภายใต้ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
แต่เรื่องนี้แม้แต่คนอินโดนีเซียเองก็ยังสับสนว่า
ขั้นตอนใหม่เป็นอย่างไรกันแน่ ตกลงมันเปลี่ยนแล้วหรือยัง หรือเป็นเพียงแค่ความคิดที่จะเปลี่ยน
มิใช่เพียงเท่านี้ หลายๆ อย่างในอินโดนีเซียทุกวันนี้ก็ดูจะสับสน คนอินโดนีเซียบอกว่า
การใช้ชีวิตอยู่ในอินโดนีเซียทุกวันนี้
คือการตกอยู่ในความสับสน
เพราะหลังการเก็บกดทุกอย่างมานาน
ภายใต้ระเบียบการปกครองในยุคซูฮาร์โต เวลานี้อะไรๆ ในอินโดนีเซียดูเหมือนต้องการหาทางออก เหมือนปลาที่อยากจะว่ายไปหาน้ำใหม่
แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าน้ำใหม่ที่จะว่ายไปนั้นเป็นน้ำดี
หรือน้ำเน่ากันแน่
เรื่องราวการแต่งงานในอินโดนีเซียนั้นคงเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของยุคสมัยที่คนอินโดฯ ต้องถูกขีดให้เดินมานาน เวลานี้อะไรๆ ก็ดูจะผ่อนคลายลง
ในความผ่อนคลายนั้น
ก็คงต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง ที่พร้อมจะพาอินโดนีเซียไปสู่น้ำใหม่
ไม่ว่าน้ำนั้นจะดีหรือเน่า ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องดูกันต่อไป
|