|
|
ในวันที่ ๑ กันยายนของทุกปี หากไม่ติดภารกิจอื่นใด ผมมักไปร่วมงานรำลึกคุณสืบ นาคะเสถียร ในป่าห้วยขาแข้ง
ปีนี้ครบ ๑๐ ปีที่คุณสืบเสียชีวิต
ดูเหมือนบรรยากาศที่ป่าห้วยขาแข้ง
จะคึกคักมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา
เริ่มตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ผู้มาร่วมงานนับร้อยคน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เยาวชนจากพื้นที่รอบ ๆ ป่า ครู นักธุรกิจในจังหวัดอุทัยธานีและกรุงเทพฯ องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มต่าง ๆ ได้ทำพิธี "ไปเยี่ยมพี่สืบ"
ด้วยการมาร่วมชุมนุมที่อาคารอนุสรณ์สถาน
และร่วมใจกันจุดเทียนรำลึกถึงคุณสืบ เปลวไฟเล็ก ๆ
นับร้อยดวงสว่างไสวขึ้นในคืนที่ไม่มีทั้งแสงดาว
และแสงจันทร์เนื่องด้วยเมฆฝนที่ตั้งเค้ามาแต่เย็น
ผู้มาร่วมพิธีเดินออกจากอาคารอนุสรณ์สถาน
ไปยังอนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล
ลมที่กรรโชกแรงขึ้นทุกขณะ
พัดเอาเปลวเทียนดับลงเป็นระยะ ต้องคอยจุดขึ้นใหม่ตลอดเวลา
จนเมื่อผู้มาร่วมงานทั้งหมดมาหยุดยืนล้อมรอบอนุสาวรีย์ และอาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นตัวแทนกล่าวว่า "พวกเรามาเยี่ยมพี่สืบค่ะ" พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนนำเทียนมาปักรอบ ๆ อนุสาวรีย์ ลมที่กรรโชกแรงตลอดเวลาได้สงบลง เปลวเทียนนับร้อยดวงสว่างไสวขึ้นพร้อมกัน ก่อนที่จะค่อย ๆ หรี่ดับลงจากเม็ดฝนที่เริ่มโปรยปรายลงมา
รุ่งเช้าวันที่ ๑ กันยายน มีตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ มาวางหรีดหน้าอนุสาวรีย์ และร่วมทำบุญตักบาตร ยิ่งสาย ผู้คนยิ่งทยอยมาร่วมงานมากขึ้น บางคนมาไกลจากภาคใต้ บางคนขับรถมาไกลจากอำเภอชายแดนที่สังขละบุรี คนเหล่านี้เดินทางมาเกือบสิบชั่วโมง เพียงเพื่อมาร่วมพิธีไม่กี่ชั่วโมง
สิบปีผ่านไป สืบ นาคะเสถียร ยังคงอยู่ในจิตใจของผู้คน
|
|
|
ช่วงเวลาเดียวกัน ลึกเข้าไปในป่าห้วยขาแข้ง
บ้านของผืนป่าและสัตว์ป่า
ที่คุณสืบยอมเอาชีวิตเข้าแลก
เพื่อปกป้อง งานวิจัยด้านสัตว์ป่าซึ่งเริ่มต้นขึ้นนับแต่ปี ๒๕๓๑ ก็สำเร็จลุล่วง
รศ.ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งทำการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของขนาด
และการกระจายตัวของประชากรกระทิง
และวัวแดงในประเทศไทย โดยเฉพาะป่าห้วยขาแข้งเป็นเวลาต่อเนื่องกันกว่า ๑๐ ปี
ได้เปิดเผยผลการวิจัยจากการเก็บข้อมูลในป่าห้วยขาแข้ง
ด้วยการเดินเท้าและนับกองมูลของสัตว์ทั้งสองชนิดที่พบในปี ๒๕๓๑, ๒๕๓๕, ๒๕๓๘ และ ๒๕๔๑ ผลการวิจัยพบว่า ความหนาแน่นของวัวแดงและกระทิง
(ตัว/ตารางกิโลเมตร) คือ ๑.๖, ๑.๒, ๑.๔ และ ๑.๒ ตามลำดับ
|
ฉบับหน้า
ชีวิต เหม เวชกร จิตรกรไร้สำนัก |
|
แม้จะมีนัยว่า ภายหลังการตายของคุณสืบ
จำนวนวัวแดงและกระทิง
ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทว่าข้อมูลนี้ก็มีปัจจัยสนับสนุนที่น่าสนใจ
ดร. สมโภชน์กล่าวว่า "ตัวการที่ทำให้ปริมาณของกระทิงและวัวแดงไม่เพิ่มขึ้นก็คือผู้ล่า ซึ่งได้แก่เสือโคร่งและเสือดาว
เพราะในมูลของเสือโคร่งและเสือดาว
พบขนของวัวแดงบ่อยขึ้น จากเมื่อก่อนที่มักเป็นขนของเก้งและกวางเท่านั้น อีกกรณีหนึ่งคือ แม้จำนวนของกระทิงและวัวแดงจะเพิ่มขึ้น แต่การที่คนไปรบกวนมันน้อยลง ทำให้พื้นที่หากินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ตัวเลขที่เราได้จึงน้อยกว่าความเป็นจริง ทั้งสองกรณีสะท้อนความจริงที่ว่า สมดุลของห้วยขาแข้งเริ่มกลับมาแล้ว" ปัจจุบันในประเทศไทย เหลือกระทิงอยู่ราว ๑,๐๐๐ ตัวและวัวแดงราว ๔๕๐ ตัว และสถานที่ที่มีสัตว์ทั้งสองชนิดมากที่สุดก็คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
กว่าสิบปีของการลงพื้นที่ห้วยขาแข้ง รวมไปถึงการเก็บข้อมูลในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ ดร. สมโภชน์มีความเห็นว่า
ห้วยขาแข้งเป็นสถานที่สำคัญที่มีศักยภาพ
ในอันที่จะเป็นแหล่งอาศัย
และสืบลูกหลานของกระทิงและวัวแดง ทั้งอาจเป็นพื้นที่อาศัยหากินแหล่งสุดท้ายของวัวแดงในประเทศไทย
"ในพื้นที่อื่น ๆ
เราพบว่าปริมาณของสัตว์ทั้งสองชนิด
มีน้อยจนน่าจะหมดไปในไม่ช้า แต่ห้วยขาแข้งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ มีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม
ทั้งได้รับการจับตาจากประชาชน
และการดูแลจากภาครัฐค่อนข้างดี หากมีการจัดการอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องแล้ว กระทิงและวัวแดงตลอดจนสัตว์และพืชชนิดอื่น ๆ ก็จะมีโอกาสดำรงชีวิตในสภาพธรรมชาติและสืบลูกหลานต่อไปได้"
สืบ นาคะเสถียร เคยพูดเสมอว่า หากเราไม่ไปรบกวนป่า สภาพธรรมชาติของมันก็จะฟื้นฟูกลับมาเอง
สิบปีผ่านไป คำพูดของเขาได้รับการพิสูจน์แล้ว
|
|
|
วันชัย
ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com
|