Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ

 

ค  น  กั  บ  ห  นั  ง  สื  อ
คำพูดและความเงียบใน ฟ้าบ่กั้น
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

 

    วรรณกรรมไทยสามารถจำแนกได้หลายประเภท ขึ้นอยู่ว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการจัดแบ่ง เช่น วรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมประโลมโลกย์ วรรณกรรมสัจนิยม วรรณกรรมแนวทดลอง วรรณกรรมสร้างสรรค์ วรรณกรรมน้ำเน่า ฯลฯ
ปกหนังสือ "ฟ้าบ่กั้น" (คลิกดูภาพใหญ่)     แต่ถ้าใช้ "เสียงและการพูด" เป็นเกณฑ์ วรรณกรรมไทยสามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ "วรรณกรรมแนวสนทนานิยม" กับ "วรรณกรรมแนวเทศนานิยม" 
    วรรณกรรมแนวสนทนานิยม คือวรรณกรรมที่นิยมใช้บทสนทนาเป็นกลวิธีหลัก ไม่ว่าจะเพื่อเป็นตัวเดินเรื่อง แนะนำตัวละคร แสดงอารมณ์ความรู้สึกตัวละคร สร้างปมความขัดแย้ง หรือคลี่คลายปมต่าง ๆ ฯลฯ ตลอดทั้งเรื่องตัวละครจะผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาพูด พูด พูด และพูด วรรณกรรมประเภทนี้สามารถหาอ่านได้ทั่วไปตามนิตยสารผู้หญิง
    วรรณกรรมแนวเทศนานิยม คือวรรณกรรมที่ผู้เขียนชอบขึ้นธรรมาสน์ นั่งเทศนาสั่งสอนผู้อ่านในแทบทุกหน้า โดยไม่ใคร่จะให้ความสนใจกับพล็อตเรื่อง 
    หรือการสร้างบุคลิกตัวละครมากนัก วรรณกรรมประเภทนี้ พบได้ในงานแนวเพื่อชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบัน และในงานบางส่วนของนักเขียนที่ว่ากันว่าเป็น "คนรุ่นใหม่ ไฟแรง" 
    ไม่ว่าจะเป็นแนวสนทนานิยม หรือแนวเทศนานิยม การพูดและเสียงดูจะเป็นองค์ประกอบหลัก อันขาดเสียไม่ได้ในวรรณกรรมไทย 
    ถ้าพิจารณาเฉพาะวรรณกรรมแนวเทศนานิยม เรายังพบว่ากลวิธีในการใช้คำพูดและเสียง ในงานแนวนี้ไม่ได้พัฒนาไปมากนัก โดยทั่วไปยังคงยึดติดอยู่กับ การยัดคำพูดเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน ใส่ปากตัวละคร หรือไม่ก็ผู้เขียนก็ออกมาเทศนาเสียเอง จนทุกวันนี้แทบจะกลายเป็นขนบนิยมไปเสียแล้วว่า ถ้าเป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ นำเสนอปัญหาสังคม จะต้องมีการเทศนาและสอดแทรกความคิดเห็น และทัศนคติของผู้เขียนที่มีต่อปัญหาต่าง ๆ 
      รวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม ดูจะเป็นข้อยกเว้นที่น่าจะพูดถึง
    แม้จะได้รับการสดุดียกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอก ของวรรณกรรมเพื่อชีวิตไทย แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่น แตกต่างจากงานในแนวเดียวกันก็คือ 
    เรื่องสั้นส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ (โดยเฉพาะงานที่ ลาว คำหอม ประพันธ์ในช่วงปี ๒๕๐๑) ไม่พยายามลุกขึ้นมาเทศนาสั่งสอนผู้อ่าน 
    หรือยัดเยียดอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการเล่าเรื่องด้วยสูตรสำเร็จ
    ลาว คำหอม ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการเขียนเรื่องสั้นส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ว่า "ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าตนเองกำลังเขียนคำร้องทุกข์ โดยตั้งใจจะเสนอสภาพความยากไร้ ความเสื่อมโทรม และความล้าหลังของชาวไร่ชาวนา ...ด้วยเจตนาจะเรียกขานมโนธรรมของชาวเมือง ชนชั้นผู้ปกครองและนายเงินที่มั่งคั่งบรรดามี" จุดมุ่งหมายที่แถลงนี้ไม่แตกต่างจากงานเขียนส่วนใหญ่ในแนววรรณกรรมเพื่อชีวิตแต่อย่างใด จะผิดกันก็ตรงที่งานของ ลาว คำหอม มิได้ให้ชาวไร่ชาวนา ลุกขึ้นมาคร่ำครวญถึงความทุกข์ยากของพวกเขา อย่างตรงไปตรงมา ทั้งผู้เขียนเองก็มิได้ทำตัวเป็นกระบอกเสียง ออกมาเรียกหาความเห็นใจ และความยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง 

      ในทางตรงกันข้าม งานหลายชิ้นในรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น กลับอาศัยความเงียบ เป็นเครื่องปลุกมโนธรรมของผู้อ่าน 

    "ความจริงมัน (นก) มีคำพูดอยู่ไม่กี่คำเลย แกคิด แต่มันก็อยู่กันเรียบร้อย คนเสียอีกมีคำสำหรับพูดมากมาย  แต่ก็อดจะเบาะแว้งยุ่งเหยิงกันไม่ได้" ข้อสังเกตของชายชราในเรื่องสั้น "ชาวนาและนายห้าง" ของ ลาว คำหอม เปิดประเด็นเกี่ยวกับภาษาและการพูดไว้ได้อย่างน่าสนใจ ด้วยความเชื่ออันไร้เดียงสาว่าคำพูดสามารถเสริมสร้างความรักความเข้าใจระหว่างมนุษย์ ชายชราจึงอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมมนุษย์มีคำพูดมากมาย แต่กลับทะเลาะเบาะแว้งกันยิ่งกว่าสัตว์อย่างนก 
    แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำพูดมิได้เป็นเพียงเครื่องมือ เพื่อใช้ในการสื่อสาร หรือเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์แต่ประการเดียว ดังเช่นที่ชายชราเข้าใจคำพูด ยังเป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจอันทรงประสิทธิภาพอีกด้วย มนุษย์สามารถใช้คำพูดและความเงียบ (รูปแบบหนึ่งของการพูด) เพื่อบังคับ กำราบ และสยบ ผู้อื่น ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือเพื่อขัดขืน แข็งข้อ และต่อต้านผู้มีอำนาจได้เช่นเดียวกัน จนอาจกล่าวได้ว่า เพราะมนุษย์มีคลังของคำอยู่มากมายกว่าสัตว์ต่าง ๆ นี้เอง ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์จึงรุนแรง และหนักหน่วงยิ่งกว่าสัตว์ทุกชนิดบนพื้นโลก
    เราจะพบว่า เรื่องสั้นหลายเรื่องใน ฟ้าบ่กั้น การพูดและการไม่พูด (ความเงียบ) ได้กลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่มีผลกระทบต่อตัวละคร และเปิดเผยให้เห็นถึงสถานภาพทางอำนาจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างตัวละครในเรื่อง 
    ในเรื่องสั้น "ชาวนาและนายห้าง" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหมาชื่อ "สำริด" ที่เนรคุณชาวนาเจ้าของของมันเอง โดยหันไปเอาอกเอาใจนายห้างฝรั่ง ที่ครั้งหนึ่งเคยพามันไปรักษาตัวในกรุงเทพฯ จุดหักเหสำคัญของเรื่องสั้นเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อเจ้าสำริดแสดงอาการประจบประแจงฝรั่งแปลกหน้าสองคน จนออกนอกหน้าถึงกับครางหงิง ๆ เพียงเพราะฝรั่งเอ่ยปากทักมันเป็นภาษาอังกฤษว่า "เฮลโหล ด๊อกกี้" ลุงคงเจ้าของหมาหวังจะให้เจ้าสำริดหันกลับมาออดอ้อนตนเองบ้าง แกจึงเลียนแบบฝรั่งโดยพูดขึ้นว่า "เฮนโหล เฮนโหล" แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ เจ้าสำริด "กลับแว้งงับตรงหัวไหล่" ของชายชรา

      จากเหตุการณ์ข้างต้นเราพบว่า คำพูดเป็นมากกว่าคำพูด แต่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงสถานะของผู้พูด คำพูด "เฮลโหล" ของฝรั่งเป็นเครื่องแสดงความเป็นฝรั่ง และยืนยันสถานะ "ความเป็นนาย" ที่เจ้าสำริดหันไปสวามิภักดิ์ด้วย เมื่อลุงคงชาวนาชรา ต้องการจะช่วงชิงสถานะ "ความเป็นนาย" ที่ตนเองสูญเสียให้แก่ฝรั่งกลับคืนมา โดยการเลียนแบบคำพูดฝรั่ง ผลก็คือแกถูกเจ้าสำริดลงโทษด้วยการหันมาแว้งกัด
    ในเรื่อง "ชาวไร่เบี้ย" การพูดในสิ่งที่ห้ามพูด ส่งผลให้ผู้พูดต้องถูกลงโทษ เช่นเดียวกับกรณีของลุงคงใน "ชาวนากับนายห้าง" จะต่างกันก็ตรงที่จุดประสงค์ในการพูด ของเฒ่ามีนั้นแตกต่างกับของลุงคง
   "ชาวไร่เบี้ย" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐีบุญนายทุนหน้าเลือด และเฒ่ามีชาวนาผู้ต้องจำยอมกู้เงินจากเศรษฐีบุญ ด้วยดอกเบี้ยแพงลิบลิ่ว ในท้ายที่สุดบ้านช่องไร่นา และที่ดินทำกินทั้งหมด ก็ตกเป็นสมบัติของเศรษฐีบุญ และตัวเฒ่ามี ต้องกลายเป็นชาวนารับจ้างขายแรงงานประทังชีวิต
    ในช่วงต้นของเรื่อง การรีดนาทาเร้นที่เศรษฐีบุญ กระทำต่อเฒ่ามี ดำเนินไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างพูดในสิ่งที่ถูกคาดหวังให้พูด เศรษฐีบุญเล่นบทคนใจบุญสุนทานตามชื่อ "เฒ่ามี แกน่ะเป็นคนขยัน ... ฉันเห็นหัวอกเฒ่ามีมาก เอาอย่างนี้แล้วกัน หนี้สินที่เฒ่ามีค้างอยู่พันหนึ่งฉันจะผ่อนผันให้ ... เรื่องหนี้สินนี้ก็รู้กันเพียงเราสองคน ลูกหลานมันไม่รู้เรื่องคงยุ่ง บาปกรรมจะติดไปถึงตัวเรา ที่ของเฒ่ามี ก็มีใบเหยียบย่ำกรรมสิทธิ์เรียบร้อยไม่ใช่หรือ ?" ส่วนเฒ่ามี ก็เล่นบทชาวนาคนซื่อผู้ซาบซึ้งในพระคุณ ของเศรษฐีบุญ "เป็นพระคุณ เป็นพระคุณเหลือที่สุด สุดแล้วแต่ท่านเถอะ จะเอาใบอะไรทำยังไงข้ายอมหมด ...ท่านเป็นคนอยู่ในศีล กินในธรรม เมตตาคนยากคนจน"
    ความสัมพันธ์ระหว่างเฒ่ามีกับเศรษฐีบุญ มาแตกปะทุขึ้นในวันทำบุญฉลองกุฏิใหม่ เมื่อเฒ่ามีโพล่งขึ้นกลางงานต่อหน้าพระและผู้มาร่วมงานว่า "ดูเอาเถิด 
    พระท่านก็ไม่รู้ นั่นเงินข้า เศรษฐีบุญมันเอามาจ้างขึ้นสวรรค์"
    ผลจากการที่เฒ่ามีนำสิ่งที่คิดอยู่ในใจเงียบ ๆ มาพูดดัง ๆ ในที่สาธารณะก็คือ เศรษฐีบุญ นำสิ่งที่กระทำอยู่เงียบๆ มาเผยให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง เมื่อแกพาตำรวจ และเจ้าอำเภอบุกไปบ้านเฒ่ามี และใช้กฎหมาย และกลไกอำนาจรัฐยึดพืชผล บ้าน และที่ดิน ตลอดจนขับไล่เฒ่ามี ออกจากที่ทำกินของตนเอง 
      "ชะช้า เฒ่ามี ด่าข้าได้ลงคอนะ ไอ้เฒ่าเนรคุณ ฮึ่ม ดีแล้วแก วันนี้แกต้องไปอำเภอ โอนที่ดินให้ข้า ข้าวโพด ถั่ว งา ขายให้ใครไม่ได้ และต้องออกจากที่ข้าวันพรุ่งนี้" (การเน้นข้อความเป็นของผมเอง) จากถ้อยคำของเศรษฐีบุญข้างต้น เราพบว่าสิ่งที่ทำให้เศรษฐีบุญแค้นเคืองเฒ่ามีนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะถูกเฒ่ามี ด่าประจานต่อหน้าสาธารณะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรู้สึกว่าเฒ่ามีเป็นคนเนรคุณ
    อาจกล่าวได้ว่า นัยสำคัญของคำพูดของเฒ่ามีกลางศาลาวัดนั้น ด้านหนึ่งเป็นการพูดเพื่อเปิดโปง ความหน้าไหว้หลังหลอกของเศรษฐีบุญ และเผยให้เห็นตัวตนอันแท้จริงของเศรษฐีหน้าเลือด ผู้ทำนาบนหลังคนจน แต่ในอีกด้านหนึ่งการพูดของเฒ่ามีคือการเปิดเผยสถานะของตัวแก ทั้งในเชิงข้อเท็จจริงที่ว่า แกเองก็มีส่วนร่วมในเนื้อนาบุญครั้งนี้ และที่สำคัญกว่าคือ ในแง่ตัวตนอันแท้จริงของแก เพราะการพูดความในใจของเฒ่ามี เป็นการลุกขึ้นมาปฏิเสธ ที่จะพูดในสิ่งที่แกถูกคาดหวังให้พูดตามบท "ชาวนาผู้ซาบซึ้งในพระคุณ" เช่นที่แกทำมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ด้วยเหตุนี้นี่เองแกจึงถูกตีตราว่าเป็น "ไอ้เฒ่าเนรคุณ" 
    จากเรื่องสั้น "ชาวนาและนายห้าง" และ "ชาวไร่เบี้ย" เราเห็นว่าการพูดในสิ่งต้องห้าม จนทำให้ผู้พูดต้องประสบกับเคราะห์กรรมต่าง ๆ นานา จะปรากฏในสอง ลักษณะคือ การพูดเลียนแบบผู้มีอำนาจ เพื่อหวังเปลี่ยนสถานะตนเอง จากผู้ไร้อำนาจไปเป็นผู้มีอำนาจ และการพูดเพื่อเปิดเผยสถานะอันแท้จริงของของผู้อื่น และเพื่อยืนยันตัวตนของผู้พูด
    การพูดอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น คือการพูดในสิ่งที่เหนือความคาดหมาย อันนำไปสู่ความเงียบอันแสนอึดอัด ความเงียบที่ทำให้ผู้ฟังต้องหยุด เพื่อสดับตรับฟังเสียงแห่งมโนธรรมในใจตนเอง
      ในเรื่องสั้น "เขียดขาคำ" เมื่อนาค และเพื่อนชาวนาไปขอรับเงินสงเคราะห์ผู้มีลูกมาก จากทางการ พวกชาวบ้านได้กลายเป็นตัวตลกที่ "เรียกเสียงหัวเราะอย่างชอบใจจากหมู่เจ้านาย" เพราะต้องงก ๆ เงิ่น ๆ ตอบคำถามว่าทำไมจึงมีลูกมาก แต่นาคได้สร้างความประหลาดใจแก่ทุกคน บนที่ทำการอำเภอ เมื่อเขาตอบว่า "มันจน มันจน ไม่มีเงินจะไปซื้อผ้าห่ม ถึงจะเหม็นสาบเหม็นคาวทั้งปีทั้งชาติ ก็ได้ใช้เมียนั้นแล้วต่างผ้าห่ม ลูกมันก็หลั่งไหลมา" ผลจากคำพูดที่เหนือความคาดหมายของนาคก็คือ "แทนเสียงหัวเราะ ทุกคนเงียบงันไปครู่หนึ่ง"
    คำพูดของนาคสะกดให้ทุกคนเงียบ และอึ้งไปได้ชั่วขณะหนึ่ง ทั้งนี้มิใช่เพราะนาคกลับตาลปัตรคำอธิบาย ของทางการที่ว่า "มีลูกมากจะยากจน" มากลายเป็นว่า "ยากจนจะมีลูกมาก" แต่เป็นเพราะว่าคำตอบของนาคนั้น ใช้ชุดของคำอธิบาย ที่ไม่อยู่ในสารบบความคิดใด ๆ ที่พวกข้าราชการคุ้นเคย นาคไม่ได้พูดในสิ่งที่พวกข้าราชการคาดหวังว่า "ชาวนาผู้โง่เง่าเต่าตุน" จะพูดกัน ในขณะเดียวกัน คำพูดของเขาก็มิได้เป็นการลอกเลียนจดจำคำพูดของ "ทางการ" มาพูด (เหมือนกับที่ลุงคง พูด "เฮนโหล" เลียนแบบฝรั่ง) ทั้งยังมิใช่คำพูดที่จะลุกขึ้นมาประจานความล้มเหลวของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาลูกมากแต่อย่างใด (ในทำนองเดียวกับที่เฒ่ามี ที่ลุกขึ้นมาด่าเศรษฐีบุญกลางวัด) 
    ความเงียบในหมู่ข้าราชการหลังจากได้ยินคำพูดของนาค ในแง่หนึ่งแล้ว เป็นความเงียบอันเกิดจากความอับจน ที่จะโต้ตอบหรือรับมือกับคำพูดของนาค คำพูดของปลัดอำเภอ ที่จะทำให้คำตอบของนาคกลายเป็นเรื่องตลก เมื่อเขาพูดอย่าง "ปร่าๆ" ว่า "บ๊ะ อ้ายหมอนี่ เอาเมียทำผ้าห่ม" ไม่เพียงแต่จะเป็นความพยายามอันน่าสมเพชเวทนาเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นเหมือนศรที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงปลัดอำเภอ เพราะกลายเป็นว่า เขาต้องมารับบทเป็นตัวตลกเสียเอง
      แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความเงียบในชั่วขณะนั้น คือความเงียบที่ทำให้ผู้ฟังต้องหยุดตรึกตรอง ทบทวนชุดของคำอธิบายสำเร็จรูปทั้งปว งที่เคยได้ยินได้ฟังมา และหันมาฟังเสียงแห่งมโนธรรมในใจผู้ฟัง ใน ฟ้าบ่กั้น มีเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง ที่ใช้เสียงแห่งความเงียบ เช่นว่านี้เป็นตอนจบของเรื่อง เป็นต้นว่า ใน "คนพันธุ์" เรื่องจบลงด้วยบทสนทนาของตายาย เกี่ยวกับพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ตลอดจนที่ปรึกษาชาวฝรั่ง ที่ทางการไทยรับมาจากอเมริกา

    "เอ้อ สงสาร สงสารวัวไทยนะตานะ" นางพูดตะกุกตะกัก
    "หือ-อือ คนไทยด้วย" ประโยคสุดท้ายแผ่วเบา และเงียบงันไปในราตรีอันมืดมน

    หรือใน "คนหมู" เมื่อโพธิ์หวนนึกถึงชะตากรรมของครอบครัวตนเอง ที่ต้องหันไปกินรำแทนข้าว เขาเปรยขึ้นในตอนท้ายเรื่องว่า

    "โลกโว้ย เมียของกูเป็นหมู ลูกของกูเป็นอูฐ ฮ่า ๆ ๆ ๆ"
    เสียงตะโกนซ้ำซาก และหัวเราะดังติดต่อกันไป และค่อยแห้งลงทุกที จนแหบหายไปกับลมหนาวเฮือกสุดท้ายที่อู้มาเมื่อค่อนรุ่ง

    ในตอนจบของเรื่องทั้งสองดังที่ยกมาข้างต้น เราจะพบว่าการพูดของตัวละครเอก เป็นการพูดที่คล้ายคลึงกับคำตอบของนาค ใน "เขียดขาคำ" และผลที่ตามมาจากคำพูดดังกล่าวก็คือ ความเงียบในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตามในขณะที่เรารู้ชัดเจนว่า ผู้ฟังที่นิ่งเงียบใน "เขียดขาคำ" คือบรรดาข้าราชการบนที่ว่าการอำเภอ  แต่ในเรื่องสั้นทั้งสองนี้ ใครคือผู้ฟังคำพูดดังกล่าว และความเงียบที่ทิ้งท้ายไว้เป็นความเงียบของผู้ใด 
    เมื่อพิจารณาจากคำพูดของ ลาว คำหอม ที่พูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เขา "จงใจที่จะเสนอปัญหาเหล่า (นี้) กับพวกปัญญาชน ซึ่งแม้จะเป็นชนส่วนน้อย แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสูง" เราพอจะอนุมานได้ว่า "ผู้ฟังโดยนัย" (implied listener) ในตอนจบของเรื่องสั้นทั้งสอง คือปัญญาชนที่ลาว คำหอม คาดหวังว่า จะเป็นผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ และความเงียบที่ทิ้งท้ายไว้ จึงน่าจะเป็นความเงียบของผู้อ่าน ที่จะต้องหยุดคิด เพื่อทบทวนและสำเหนียกฟังเสียงแห่งมโนธรรม

      หากเราถือว่าการเขียนวรรณกรรม จัดเป็น "การพูด" แบบหนึ่งเช่นกัน วรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทยเท่าที่ผ่านมา ดูจะมีวิธีการพูดถึงปัญหาสังคม และความทุกข์ยากของคนจน ในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากการพูดแบบต่างๆ ของตัวละครใน ฟ้าบ่กั้น ดังที่วิเคราะห์มาข้างต้น นั่นคือ วรรณกรรมเพื่อชีวิตจำนวนมาก จะใช้วิธีพูดแบบเฒ่ามี ที่ลุกขึ้นมาประณามความชั่วร้ายของระบบสังคม และชนชั้นปกครองอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่บางส่วนของวรรณกรรมเพื่อชีวิต จะหันไปใช้วิธีพูดแบบลุงคง ที่พยายามเลียนแบบคำพูดของ "เจ้านาย" ทั้งนี้จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที ส่วน ฟ้าบ่กั้น เลือกที่จะพูดถึงปัญหาของคนยากจน ในลักษณะเดียวกับคำตอบนาคใน "เขียดขาคำ" ที่ทำให้ผู้ฟังถึงกับอึ้ง และตกอยู่ในภวังค์แห่งความเงียบ
    ความเงียบที่มีความหมาย และพลังมากกว่าคำพูดทั้งปวงนับพันเท่าทวีคูณ

 
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ท้าทายความเชื่อเรื่อง "เจดีย์ยุทธหัตถี"
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สงครามส้วม | โรงเรียนกาแฟ | ทอมัส ฮอบส์ ผู้ค้นคิดทฤษฎีสัญญาประชาคม | ลิตเทิลอินเดีย กำยาน มาซาลา และภารตวิถีในตรอกพาหุรัด | เจ็ดวันในอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย | โอลิมปิกสีเขียว แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมจาก Sydney 2000 | คำพูดและความเงียบใน ฟ้าบ่กั้น | เมื่อคนสองคนรักกัน ที่อินโดนีเซีย | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา

Little India | Seven Days in Argentine Patagonia | Nature's Secret Treasures
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail