Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ ท้าทายความเชื่อเรื่อง "เจดีย์ยุทธหัตถี"
คั ด ค้ า น

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร
  • การสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อระลึกถึงผู้ตาย ของคนไทยสมัยโบราณ จะไม่สร้างเป็นเจดีย์โดด ๆ แต่จะสร้างเป็นวัด ซึ่งประกอบไปด้วย โบสถ์ เจดีย์ วิหาร ศาลา ฯลฯ

  • พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ, คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ไม่ได้กล่าวถึงการที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ยุทธหัตถี แต่อย่างใด

  • เอกสารของชาวต่างประเทศ ที่เขียนถึงเจดีย์ยุทธหัตถีนั้น ไม่น่าเชื่อถือ เพราะผู้บันทึก ได้รับข้อมูลมาจากคนไทย ที่เล่าเรื่องในลักษณะตำนาน ที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมา หลังจากสงครามยุทธหัตถี นานถึง ๘๘ ปี

    "ก่อนจะมาถกเถียงกันว่าเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน ต้องเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า เจดีย์ยุทธหัตถีมีอยู่จริงหรือไม่เสียก่อน ซึ่งจากการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ และพิจารณาถึงแนวความคิดเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ ของคนไทยในสมัยโบราณแล้ว ทำให้เชื่อว่าพระนเรศวร ไม่ได้โปรดให้สร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ ตรงที่ทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชาแต่อย่างใด 
    "พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไป ว่าเป็นพงศาวดารฉบับที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ก็บันทึกถึงแค่เรื่องพระนเรศวรชนช้างชนะ พระมหาอุปราชาเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้เลย ส่วน คำให้การขุนหลวงหาวัด และ คำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเป็นคำบอกเล่าของเชลยไทยที่ไปอยู่พม่า ก็เล่าแต่เรื่องการทำยุทธหัตถีของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไว้ และจบลงที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เท่านั้น 
    "แม้แต่ในหนังสือ นิทานโบราณคดี ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่เล่าเรื่องราวตอนที่พระยาสุพรรณบุรี ไปสอบถามชาวสุพรรณบุรีเกี่ยวกับเจดีย์ร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เข้าใจว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีนั้น ปรากฏว่าไม่มีใครรู้เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีเลย ชาวบ้านรู้แต่ว่าพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ชนช้างกันที่ตรงนั้นเท่านั้นเอง
    "แสดงว่าเรื่องราวการทำสงครามยุทธหัตถี เป็นเหตุการณ์ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยในสมัยต่าง ๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่น่าแปลกที่เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี กลับไม่อยู่ในเอกสารเหล่านั้นเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความจริงพระนเรศวรไม่เคยสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้นั่นเอง
    "เรื่องที่พระนเรศวรโปรดให้สร้างเจดีย์สวมพระศพพระมหาอุปราชาไว้ ปรากฏอยู่แต่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มที่ผมเรียกว่า "ฉบับพิสดาร" คือ พงศาวดารที่มีการแต่งเรื่องเพิ่มเข้าไป มีการใช้ศิลปะทางภาษาที่ให้ภาพเกินจริง พงศาวดารประเภทนี้ นับว่าเป็นวรรณกรรมอย่างหนึ่ง เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, ฉบับพันจันทนุมาศ และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน เป็นต้น ซึ่งต่างจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่ย่อเรื่อง และลำดับเวลาจากหนังสือในหอหลวง มีความระมัดระวังในการใช้ภาษา มิให้เกิดความลำเอียง จึงเป็นเอกสารที่เที่ยงตรงที่สุด
    "เจดีย์ยุทธหัตถีที่พงศาวดารฉบับพิสดารเหล่านี้ กล่าวถึงมีลักษณะเป็นอนุสาวรีย์โดด ๆ เหมือนกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรืออนุสาวรีย์สมัยใหม่อื่น ๆ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิด เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ หรือบุคคลของคนไทยสมัยโบราณ ที่นิยมสร้างเป็นวัด ไม่สร้างเป็นเจดีย์โดด ๆ เช่น เจ้าสามพระยา ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา ที่สิ้นพระชนม์จากการชนช้างกันแล้ว สถาปนาตรงที่ถวายพระเพลิงขึ้นเป็นวัดราชบูรณะ ถือว่าทั้งวัดนี้เป็นอนุสาวรีย์ หรือการที่พระมหาจักรพรรดิสร้างวัดสวนหลวงสบสวรรค์ขึ้น ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพของพระสุริโยทัย เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระสุริโยทัยไสช้างเข้าไปช่วยพระองค์ ให้พ้นจากอันตราย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ทั้งวัด ก็เป็นอนุสาวรีย์ เป็นต้น
    "โดยสรุป การสร้างเจดีย์เดี่ยว ๆ โดด ๆ อย่างเช่นเจดีย์ยุทธหัตถี ตามที่พงศาวดารฉบับความพิสดารพูดถึงนั้น ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ไทย เจดีย์ยุทธหัตถีจึงไม่ใช่ของจริง เพราะขัดกับแนวคิดเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ ของคนไทยโบราณ เจดีย์ยุทธหัตถีที่สร้างไว้เป็นที่ระลึก เหตุการณ์ที่พ่อขุนรามคำแหงสู้กับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ก็ขัดกับแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน และไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะทำให้เชื่อได้เลยว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีจริง
    "เราจึงจำเป็นต้องหาคำอธิบายว่า เรื่องราวที่พระนเรศวรทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถี ครอบพระศพของพระมหาอุปราชา บริเวณที่ทำสงครามกันนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าผู้เรียบเรียงหรือเขียนพงศาวดาร ที่พูดถึงเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมลังกา ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยนั้น คือ หนังสือมหาวงศ์ (พงศาวดารของลังกา) และหนังสือเรื่อง รสวาหินี เนื่องจากมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกับตำนานเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีมาก วรรณกรรมลังกาทั้งสองเล่มนี้ เล่าถึงเรื่องที่พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย วีรบุรุษที่ชาวลังกายกย่องกันมาก ยกทัพไปปราบทมิฬซึ่งมาครอบครองสิงหล สุดท้ายพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยชนช้างชนะพระเจ้าเอเฬละของทมิฬ แล้วก็สร้างเจดีย์สวมพระศพให้ ประวัติของพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย ก็คล้ายกับของพระนเรศวรมาก จึงเป็นไปได้ว่าคนเขียนพงศาวดารจะลอกเค้าโครงเรื่องมา 
    "ส่วนเอกสารของชาวต่างประเทศที่บันทึกไว้ว่า พระนเรศวรทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีก็มีเพียงแค่ของ Dr. Engelbert Kaempfer แพทย์ประจำคณะทูตเนเธอร์แลนด์ ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์นานถึง ๘๘ ปี โดยบันทึกไว้ว่าพระเจดีย์ภูเขาทอง (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) นั้นสร้างขึ้นไว้เป็นที่ระลึก ที่ได้ชัยชนะแก่กษัตริย์หงสาวดี แต่อย่าลืมว่า Kaempfer ไม่ใช่คนที่รู้เห็นเหตุการณ์จริง เขาบันทึกสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็ไม่รู้ ซึ่งคงเป็นคนไทยที่บอกเล่าเรื่อง ที่จำต่อ ๆ กันมา ถูกบ้างผิดบ้าง ประวัติของเจดีย์ที่หมอรับรู้มา จึงเป็นเพียงตำนานที่ควรได้รับการพิจารณาความหมายที่แท้จริง ก่อนนำมาใช้เป็นข้อมูล
    "ส่วนข้อมูลในสารานุกรมพม่าที่ระบุว่า ณ บริเวณที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ พระนเรศวรโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งนั้น ก็ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะสารานุกรมพม่า เขียนขึ้นโดยนักวิชาการชาวพม่ารุ่นปัจจุบัน ซึ่งอ้างอิงจากหลักฐานความเชื่อทางประวัติศาสตร์ของไทยอีกทีหนึ่ง ทั้งยังมีความสับสนอยู่มาก เช่น ทางพม่ายังไม่ยอมรับด้วยซ้ำ ว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์จากของ้าว ของสมเด็จพระนเรศวร แต่เขาบันทึกไว้ว่าถูกยิง 
    "อาจเป็นไปได้ว่าเจดีย์ยุทธหัตถีนี้ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา ในยุคของการสร้างชาติ ซึ่งก็มีประโยชน์มากสำหรับช่วงเวลานั้น แต่ตอนนี้หมดเวลาสำหรับการอุปโลกน์อย่างนั้นแล้ว ตอนนี้เราอยู่ในยุคของการที่จะต้องใช้เหตุผล และวิจารณญาณมาก ๆ เจดีย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ ควรจะเป็นอนุสาวรีย์ที่คนไทยในสมัยปัจจุบันสร้างขึ้น เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษเท่านั้นก็พอแล้ว
    "การที่คนไทยบางกลุ่มเชื่อเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเป็นคนเชื่อ และสรุปอะไรง่าย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นลักษณะนิสัย ที่ไม่ชอบเผชิญกับความจริง ที่อาจเจ็บปวดบ้างก็ตาม
    "คนดี ๆ ในยุคสมัยของเราที่สมควรจะยกย่องอย่างเช่น ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ไม่มีแล้ว หรือบุคคลอื่น ๆ ที่ล้มหายตายไปในเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖, ๒๕๑๙ หรือพฤษภาคม ๒๕๓๕ ไม่มีแล้วหรือ ถึงต้องไปขุดโคตรเหง้าบรรพบุรุษของเราขึ้นมา ที่อันตรายก็คือ ผู้คนจะยิ่งเชื่อหนักขึ้น เมื่อตำนานเหล่านั้นออกมาจากปากของส่วนราชการ นำไปสู่การแห่กันสร้างอนุสาวรีย์ ผลิตวัตถุบูชา ปั๊มเหรียญขาย ฯลฯ เพื่อหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ อย่างที่เกิดขึ้นกับอนุสาวรีย์อื่น ๆ อีกหลายแห่งในปัจจุบัน"

อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
เทพมนตรี ลิมปพยอม
อาจารย์ประจำศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
เป็นชาวจังหวัด:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*

 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
ท้าทายความเชื่อเรื่อง "เจดีย์ยุทธหัตถี"
"โพล" (การเมือง) : เครื่องมืออันตราย ?
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | สงครามส้วม | โรงเรียนกาแฟ | ทอมัส ฮอบส์ ผู้ค้นคิดทฤษฎีสัญญาประชาคม | ลิตเทิลอินเดีย กำยาน มาซาลา และภารตวิถีในตรอกพาหุรัด | เจ็ดวันในอาร์เจนไทน์ปาตาโกเนีย | โอลิมปิกสีเขียว แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมจาก Sydney 2000 | คำพูดและความเงียบใน ฟ้าบ่กั้น | เมื่อคนสองคนรักกัน ที่อินโดนีเซีย | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา

Little India | Seven Days in Argentine Patagonia | Nature's Secret Treasures
สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]
ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail