เทพมนตรี ลิมปพยอม
อาจารย์ประจำศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
เอกสารของนายแพทย์
ประจำคณะทูตเนเธอร์แลนด์
ซึ่งได้ข้อมูล จากขุนนาง
ในราชสำนักอยุธยาโดยตรง
ระบุชัดว่า
เจดีย์ภูเขาทอง
คือเจดีย์ที่
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทรงสร้างเพื่อระลึกถึงชัยชนะ
ในสงครามชนช้าง
กับพระมหาอุปราชา
เจดีย์ภูเขาทอง
ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ
ที่เกิดสงครามยุทธหัตถี
และคนไทยในสมัยอยุธยา
ให้ความสำคัญ
กับเจดีย์ภูเขาทองมาก เช่น ใน คำให้การชาวกรุงเก่า
ยกย่องว่าเจดีย์ภูเขาทอง
เป็นหนึ่งในมหาเจดีย์สำคัญ
เจ็ดแห่ง จึงเป็นไปได้ว่า
เป็นเจดีย์องค์นี้
เกี่ยวข้องกับ
สงครามยุทธหัตถี
เจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในวัด ไม่ใช่เจดีย์โดด ๆ
จึงสอดคล้องกับคติ
การสร้างอนุสาวรีย์
ของคนไทยสมัยโบราณ
ที่มักจะสร้างวัด
หรือสร้างเจดีย์
ในวัดให้เป็นอนุสาวรีย์
|
|
"ข้อถกเถียงที่ว่าเจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือไม่ จะยุติได้ก็ต่อเมื่อเราหาสถานที่ตั้งของเจดีย์เจอ
ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลายฉบับ
ที่บันทึกไว้ทั้งโดยชาวไทย
และชาวต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า
พระนเรศวรโปรดให้สร้างเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้น
ตรงที่ทำสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ จริง แต่เป็นเจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ใช่เจดีย์โบราณที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
หรืออนุสรณ์ดอนเจดีย์ในปัจจุบัน เนื่องจากสงครามชนช้างเกิดขึ้นใกล้ ๆ กับพระนครศรีอยุธยา ไม่ใช่ที่สุพรรณบุรีอย่างแน่นอน
"ยุทธวิธีการรบแบบเอาพระนครเป็นที่ตั้งรับนั้น
เป็นยุทธวิธีเก่าแก่ของอยุธยา
เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่า
พระนเรศวรจะยกทัพออกไปนอกเมือง พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ เองก็ไม่เคยบอกว่า
ตำบลหนองสาหร่าย
ที่พระนเรศวรสู้กับพระมหาอุปราชา
อยู่ที่สุพรรณบุรี ส่วนเอกสารที่เขียนโดยนายวัน วลิต
ผู้อำนวยการ
สถานีการค้าของดัตช์ประจำอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ห่างจากเหตุการณ์ชนช้าง
ระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาเพียง ๔๘ ปีก็บอกชัดเจนว่า สถานที่ที่รบกันนั้นชื่อ
"หนองสาหร่าย" หรือ "เครง" ซึ่งอยู่ห่างจากพระนครไปทางตอนเหนือประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร นอกจากนี้ พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วและฉบับอูกาลา
ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับสงครามยุทธหัตถี
ไว้ตรงกันด้วยว่า เกิดขึ้นไม่ไกลจากพระนครศรีอยุธยา
และพระนเรศวรทรงใช้พระนคร
เป็นที่ตั้งรับข้าศึก ทั้งยังยืนยันว่ามีการสร้างเจดีย์ขึ้นที่สถานที่นั้นด้วย
"เมื่อสถานที่กระทำยุทธหัตถีเกิดขึ้นใกล้พระนครศรีอยุธยา ไม่ใช่ที่สุพรรณบุรี
เจดีย์ที่พระนเรศวรทรงให้ก่อขึ้น
เพื่อสวมพระศพพระมหาอุปราชา
จึงต้องเป็นเจดีย์ภูเขาทอง
ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัญหาก็คือ การที่คนไปสร้างกิจกรรม สร้างอนุสาวรีย์ จัดงานแสง สี เสียงที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์อย่างทุกวันนี้
ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้คนเชื่อว่า
สถานที่แห่งนั้น
คือที่เกิดสงครามยุทธหัตถี
และเป็นจุดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
ไม่ผิดอะไรที่เราจะยกย่องว่า
พระนเรศวรทรงเป็นวีรบุรุษของคนไทย
แต่การที่มีคนไปสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านแบบนี้
ทำให้เราละเลยที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทางประวัติศาสตร์ไป
"สำหรับเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น
สันนิษฐานว่า
เดิมเป็นเจดีย์ที่บุเรงนองสร้างขึ้น
เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พม่าเคยมาตีหงสาวดีของมอญได้ แต่สร้างเสร็จแค่ฐาน
ต่อมาบังเอิญว่า
กองทัพไทยกับพม่ามาชนช้างกันบริเวณนี้พอดี พระนเรศวรก็อาจจะทรงมีใจอยากสร้างเจดีย์ต่อให้เสร็จ
โดยสร้างเจดีย์ไทย
ต่อจากฐานที่สร้างแบบพม่า
ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ว่า
ไทยมีชัยชนะเหนือพม่า
ที่บริเวณนี้ด้วยก็ได้
"เจดีย์ภูเขาทองเป็นเจดีย์ที่อยู่ในวัด ไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างโดด ๆ
จึงไม่ได้ขัดแย้งกับสิ่งที่นักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกต
ว่าการสร้างเจดีย์โดด ๆ
เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคนตาย
ไม่มีอยู่ในคติของคนไทยสมัยโบราณ
นอกจากนี้การที่คนในสมัยอยุธยา
ให้ความสำคัญกับเจดีย์ภูเขาทองมาก เช่น คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่า เจดีย์ภูเขาทองเป็นหนึ่งในมหาเจดีย์สำคัญเจ็ดแห่งของพระนคร
ก็เพราะว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี
ที่พระนเรศวรสร้างขึ้น
เพื่อระลึกถึงการกอบกู้เอกราช
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความหมาย
สำหรับคนสมัยอยุธยามาก
"หลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่าเจดีย์ภูเขาทอง
คือเจดีย์ยุทธหัตถีจริง คือ เอกสารชื่อ The History of Japan Together With a Description of Siam ของ Dr. Engelbert Kaempfer
นายแพทย์ประจำคณะทูตเนเธอร์แลนด์
ที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา
สมัยสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ห่างจากเหตุการณ์จริงเพียง ๘๘ ปี อธิบายเรื่องราวของพระเจดีย์ภูเขาทองไว้ว่า
พระนเรศวรโปรดให้สร้างขึ้น
เพื่อฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี
โดยวาดภาพเจดีย์ภูเขาทอง
พร้อมทั้งแผนผังบอกเส้นทางที่จะไปถึง
ไว้อย่างละเอียด แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับมันมาก
"ถ้าเราใช้แต่หลักฐานของไทย
ก็ย่อมจะคิดว่าเจดีย์ยุทธหัตถีไม่มีอยู่จริง เพราะหลักฐานของไทยไม่ได้บันทึกไว้
ยกเว้นพงศาวดารของไทยบางฉบับ
ที่บอกว่าพระนเรศวรทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้น
ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมลังกา
โดยโยงเอาเรื่องของพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเข้ามาก็จริง
แต่ในเมื่อเอกสารที่เก่าแก่กว่าพงศาวดาร
ที่ถูกชำระขึ้นในภายหลัง
ระบุชัดเจนว่ามีเจดีย์ที่พระนเรศวรสร้างขึ้น
เพื่อระลึกถึงชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เราก็ควรจะเชื่อหลักฐานนั้น แม้ว่าจะเป็นเอกสารของชาวต่างประเทศก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเอกสารประเภทนี้
เพราะเราคิดว่าฝรั่งอาจฟังข้อมูลผิดพลาด
หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน
เนื่องจากไม่เข้าใจภาษาไทย แต่เมื่อ Kaempfer
ลงทุนถึงขนาดวาดลายเส้น
และแผนที่ของเจดีย์องค์นี้ขึ้นมา ก็แสดงว่าต้องเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญมากจริง ๆ
หลักฐานของฝรั่งนั้น
ค่อนข้างน่าเชื่อถือ
เพราะเขาได้รับข้อมูล
และคำบอกเล่าจากคนในราชสำนักอยุธยาโดยตรง
"Kaempfer เป็นคนที่มีชื่อเสียงในประเทศของเขา มีการศึกษาดี เป็นที่ยอมรับของผู้คนและเป็นถึงแพทย์ประจำคณะทูต
เพราะฉะนั้นคนที่พาเขาไปเยี่ยมชมเจดีย์
และให้ข้อมูลในเรื่องนี้
ย่อมต้องเป็นขุนนางชั้นสูงระดับเสนาบดีที่มีความรู้ ด้วยเหตุนี้เอกสารของ Kaempfer
จึงอาจเชื่อถือได้มากกว่าพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ถูกชำระใหม่
ในสมัยรัตนโกสินทร์
ซึ่งมีการเพิ่มเติมเรื่องราวเข้าไป
โดยคนที่ไม่ได้อยู่ในราชสำนักโดยตรง
"สาเหตุหนึ่งที่เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีไม่มีอยู่ในหลักฐานไทยมากนัก
อาจเป็นอย่างที่มีผู้บันทึกไว้ว่า
พระเจ้าปราสาททอง
ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ชิงราชสมบัติมา
ได้เผาพงศาวดารทิ้งไปเป็นจำนวนมาก
หรืออาจเป็นเพราะเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว คนในสมัยนั้นจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องบันทึกก็ได้ แล้วก็ไม่แปลกอะไรที่ในหนังสือ นิทานโบราณคดี ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
จะระบุว่าชาวบ้านที่สุพรรณบุรี
ไม่รู้เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี
เพราะว่าชาวสุพรรณบุรีเพิ่งอพยพไปอยู่ที่นั่น
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง ถ้าชาวบ้านที่สุพรรณฯ
เป็นชาวบ้านที่อยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
แล้วไม่รู้เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีถึงจะน่านำมาพิจารณา
"ส่วนเอกสารบางฉบับ เช่น คำให้การชาวกรุงเก่า
ที่บันทึกแต่เรื่องพระนเรศวรชนช้าง
แต่ไม่เอ่ยถึงการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถี
เป็นเพราะ คำให้การชาวกรุงเก่า
เป็นเอกสารที่เขียนจากคำบอกเล่าของเชลยศึกชาวไทย
ที่ถูกพม่าจับไป
ถ้าคนเหล่านี้พูดถึงการที่พระนเรศวรทรงสร้างเจดีย์
ตรงที่กษัตริย์พม่าสิ้นพระชนม์ ก็อาจจะทำให้พม่าไม่พอใจได้ เพราะเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดของพม่าในอดีต อย่างไรก็ตาม เราควรจะกลับไปตรวจสอบ คำให้การชาวกรุงเก่า ในฉบับภาษาพม่าใหม่
เพราะฉบับที่แปลเป็นไทย
อาจจะผิดเพี้ยนจากฉบับภาษาพม่า ผู้แปลอาจจะไม่แปลข้อความบางอย่างทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ซึ่งหอสมุดแห่งชาติไม่เคยเปิดให้คนได้อ่านฉบับจริง เราได้อ่านกันแต่ฉบับที่พิมพ์เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าถ้าต้นฉบับพงศาวดารฉบับนี้ถูกเปิดเผย ประวัติศาสตร์ไทยจะต้องถูกชำระอีกหลายเรื่อง
"เราต้องตรวจสอบอย่างนี้ทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีอย่างเดียว เราอาจต้องตรวจสอบด้วยซ้ำไปว่า
พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์จากการถูกยิง
หรือจากพระแสงของ้าว
ของสมเด็จพระนเรศวร คำถามก็คือ คนไทยกล้าที่จะตรวจสอบพงศาวดารที่เชื่อ ๆ กันมาหรือไม่ ถ้าเรากล้าก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น ประวัติศาสตร์ก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ
เพราะเป็นเรื่องของการสืบหาความจริงในอดีต
และขบวนการเหล่านี้
ก็จะทำให้คนไทยฉลาดขึ้น"
|